เคยคิดเคยฝันอยากจะให้จิตรกรผู้มีชื่อเสียงมาวาดภาพเหมือนของเราเก็บไว้เป็นมรดกสักภาพหนึ่งไหมครับ ผมเองก็เคยนึกฝันแบบนี้แต่ยังทำไม่ได้จริงสักที ด้วยข้อขัดข้องหลายประการ

ยังจำได้ดีครับว่า เมื่อตอนที่ตัวเองเป็นเด็กเรียนชั้นประถม มัธยม พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ พ่อแม่ก็จะพาผมกับน้องชายไปเยี่ยมคุณย่าที่บ้านรองเมือง บ้านนั้นอยู่กันหลายครอบครัวตามลักษณะสังคมแบบครอบครัวขยายของไทยดั้งเดิม จากเรือนไม้ซึ่งเป็นที่พำนักของคุณย่า มีหลังคาเชื่อมต่อไปยังอาคารที่เป็นตึก ซึ่งเป็นที่อยู่ของคุณลุงผู้เป็นพี่ชายคนใหญ่ของพ่อ บนตึกหลังนั้นมีห้องรับแขกหน้าตาโอ่อ่าหรูหราพอสมควร สมแก่ฐานะของคุณลุงซึ่งเป็นปลัดกระทรวงคมนาคมอยู่ในเวลานั้น ระหว่างที่ผู้ใหญ่นั่งพูดคุยกันด้วยเรื่องสารพัด เด็กอย่างผมจะมีอะไรทำได้เล่า นอกจากการหยิบหนังสือจากตู้หนังสือของคุณย่าออกมาอ่าน หรือมิเช่นนั้นก็เดินเข้าห้องโน้นออกห้องนี้ เป็นการแก้เหงาตามประสาเด็ก

ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ นักวาดภาพเหมือน จิตรกรอินโดนีเซียในพระราชสำนักไทย

ในห้องรับแขกของคุณลุง ฝาผนังด้านหนึ่งประดับรูปเขียนขนาดใหญ่ เป็นรูปของคุณลุงและคุณป้าแต่งเต็มยศสวยงามคู่กัน ในความรู้สึกของเด็กวัยนั้น ผมรู้สึกประทับใจมากกับรูปนี้ ทุกอย่างดูลงตัวไปหมด ในภาพเขียนนั้น คุณลุง ดร.สิริลักขณ์ จันทรางศุ แต่งเต็มยศประดับสายสะพายประถมาภรณ์ช้างเผือก ยืนซ้อนข้างหลังคุณป้า คุณหญิงสงวนศรี จันทรางศุ แต่งชุดไทยสีชมพูสวยงาม ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานครบถ้วน

ผมถามผู้ใหญ่ว่ารูปนี้ใครเป็นคนวาด ก็ได้คำตอบว่าเป็นจิตรกรหรือศิลปินที่ชาวอินโดนีเซียผู้กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่เมืองไทยช่วงนั้น ชื่อว่า ระเด่นบาซูกิ

ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ นักวาดภาพเหมือน จิตรกรอินโดนีเซียในพระราชสำนักไทย
ภาพ : https://www.wikiart.org/en/basuki-abdullah

ผมฟังและจดจำไว้แค่นั้น พลางนึกในใจว่า มีคำนำหน้านามว่า ‘ระเด่น’ แบบนี้ น่าจะเป็นคนมีเชื้อมีแถวอยู่เหมือนกัน ชะดีชะร้ายอาจจะเป็นญาติกับอิเหนาก็เป็นได้ เพราะครูสอนภาษาไทยบอกว่า เจ้านายเมืองชวานั้นมีคำนำหน้านาม 2 แบบ ถ้าเป็นชั้นสูงหน่อยก็ใช้คำว่าระเด่น เช่น ระเด่นมนตรี ซึ่งหมายถึงอิเหนา หรือระเด่นบุษบา แต่ถ้าเป็นเจ้านายชั้นรองลงไปจะใช้คำนำหน้านามว่า ระตู เช่น ระตูจรกา เป็นต้น

อีก 4 – 5 ปีต่อมา เป็นช่วงเวลาที่ผมเรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยแล้ว หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ
ศ. 2516
ไม่นาน ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง ผมได้ข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชินีนาถ (คือ สมเด็จพระพันปีหลวง ในปัจจุบัน) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการภาพเขียนฝีมือระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี ในวันที่ 2 ธันวาคม และจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวได้ระหว่างวันที่ 3 – 8 ธันวาคม

นี่ต้องเป็นระเด่นบาซูกิคนเดียวกันกับที่ผมเคยเห็นฝีมือมาแล้วแน่นอน

เป็นเช่นนี้แล้วผมจะยอมพลาดหรือครับ จากอาคารเรียนของผมภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใกล้กันกับถนนอังรีดูนังต์มากแล้ว การเดินเท้าไปโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งอยู่ที่แยกศาลาแดงจึงใช้เวลาเพียงนิดเดียว อาคารของโรงแรมดุสิตธานีเวลานั้นเป็นอาคารที่มีการจัดอันดับว่ามีความสูงเป็นที่ 2 ของประเทศไทย ขณะที่อันดับหนึ่งเป็นของตึกโชคชัย ตั้งอยู่ระหว่างซอยสุขุมวิท 24 กับซอย 26 ห้องจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ของโรงแรมดุสิตธานีที่ชื่อว่าห้องนภาลัย ก็เป็นห้องจัดเลี้ยงที่งดงามหรูหรา จัดงานเชิญเสด็จพระราชดำเนินได้ไม่อายใครเลยทีเดียว

ในความทรงจำของนิสิตปีหนึ่งเมื่อเกือบ 50 ปีมาแล้ว การได้ไปเดินชมนิทรรศการของจิตรกรหรือศิลปินฝีมือระดับนานาชาติคราวนั้นทำให้หัวใจเบิกบานแจ่มใสมาก ภาพที่นำไปจัดแสดงมีจำนวนรวมกันถึง 230 ภาพ เป็นภาพที่พระราชทานยืมมาให้จัดแสดงจำนวน 11 ภาพ เป็นพระสาทิสลักษณ์หรือภาพของผู้มีฐานานุรูปในสังคมไทยเวลานั้นอีกหลายสิบรูป ซึ่งรวมทั้งภาพของคุณลุงคุณป้าของผมด้วย แต่นอกจากนั้น อีกกว่าครึ่งก็เป็นภาพวิวทิวทัศน์และเรื่องราวของเมืองไทย มีตั้งแต่ชีวิตชาวเขาทางภาคเหนือ ท้องทะเลสวยงามที่พังงา รวมตลอดไปจนถึงชีวิตชาวนาชาวไร่ มีวัวควายเดินอยู่ในทุ่ง รูปหญิงชาวนาหน้าตาสะสวยสวมงอบและถือรวงข้าวอยู่ในอุ้งมือ

นิทรรศการครั้งนั้นใช้ชื่อว่า Beautiful Thailand และเป็นงานที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย

ผมยังมีโอกาสได้สูจิบัตรมาจากงานนั้น แต่ยังเก็บรักษาไว้อย่างดี รวมกับสมบัติพระศุลีรายการอื่นในห้องสมุดของผม

ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ นักวาดภาพเหมือน จิตรกรอินโดนีเซียในพระราชสำนักไทย

ระเด่นบาซูกินี้ ตามประวัติที่สืบค้นได้ก็เป็นเชื้อสายเจ้านายอินโดนีเซียตามที่คาดไว้ไม่ผิด ท่านเป็นผู้มีใจรักในงานด้านนี้มาตั้งแต่เป็นเด็ก และเมื่อเติบใหญ่เป็นหนุ่มขึ้นก็ได้ไปเรียนต่อด้านจิตรกรรมที่กรุงเฮก ปารีส และโรม ได้สร้างผลงานหลากหลายและมีชื่อเสียงเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ ด้วยฝีมือและกิตติศัพท์ที่แพร่หลายไปในหลายประเทศ ท่านจึงมีโอกาสได้เข้ามาทำงานในประเทศไทย ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสูจิบัตรเล่มดังกล่าว แสดงข้อเท็จจริงว่า ท่านได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลาถึง 13 ปีแล้วก่อนงานนิทรรศการ หักกลบลบตัวเลขแล้วอนุมานได้ว่า ท่านเข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ประมาณพุทธศักราช 2503 เป็นต้นมา และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลายาวนานไม่น้อยกว่า 10 ปี

การพำนักอยู่ในเมืองไทยของระเด่นบาซูกิ หากจะกล่าวว่าท่านเป็นศิลปินหรือจิตรกรประจำพระราชสำนัก ก็น่าจะตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเป็นไป

จำได้ไหมครับว่า บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท บริเวณท้องพระโรงหน้าก่อนเดินผ่านพระทวารเข้าไปสู่ท้องพระโรงกลางที่อยู่ชั้นใน บนฝาผนังสองข้างซ้ายขวาของพระทวารนี้เอง ประดับพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภาพหนึ่ง และพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกภาพหนึ่ง ภาพทั้งสองนี้เป็นภาพที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะประดับอยู่ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทดังที่ว่าแล้ว ยังเป็นภาพที่มีการเผยแพร่ตามสื่อสาธารณะอยู่เป็นประจำ เพราะมีความงดงามสมบูรณ์แบบด้วยประการทั้งปวง

ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ นักวาดภาพเหมือน จิตรกรอินโดนีเซียในพระราชสำนักไทย

นอกจากพระบรมสาทิสลักษณ์และพระสาทิสลักษณ์สองภาพนั้นแล้ว ตามบัญชีรายการที่ปรากฏในหนังสือสูจิบัตรนิทรรศการ ยังทบทวนความทรงจำของผมด้วยว่า มีพระบรมสาทิสลักษณ์และพระสาทิสลักษณ์ของเจ้านายอีกหลายพระองค์ เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมมราชชนนี และ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา เป็นต้น

เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า งานเขียนภาพเหมือนของท่านย่อมเป็นที่ต้องการ และอยู่ในความนิยมของเมืองไทยในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างยิ่ง ผมขออนุญาตยกตัวอย่างบัญชีรายการภาพเหมือนที่จัดแสดงคราวนั้นมาให้เห็นรายชื่อท่านผู้เป็นเจ้าของภาพมาให้ได้เห็นกันนะครับ

หม่อมหลวงบัว กิติยากร, ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค, ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา, พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์, เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่, ดร.ถนัด คอมันตร์, คุณอุเทน เตชะไพบูลย์, คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย, คุณชาตรี โสภณพนิช, คุณกลอเรีย มหาดำรงค์กุล และคุณโชคชัย บูลกุล

ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ นักวาดภาพเหมือน จิตรกรอินโดนีเซียในพระราชสำนักไทย
ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ นักวาดภาพเหมือน จิตรกรอินโดนีเซียในพระราชสำนักไทย

จากตัวอย่างรายชื่อเช่นนี้ คงทำให้เราเข้าใจได้แล้วนะครับว่า ระเด่นบาซูกิขณะนั้นฝีมือโด่งดังและเป็นที่ชื่นชอบของสังคมไทยขนาดไหน

ไม่ทราบว่าจะเป็นการผิดถูกหรือก้ำเกินประการใดหรือไม่ ถ้าผมจะกล่าวต่อไปว่า ค่านิยมการวาดภาพเหมือนที่แพร่วงกว้างออกไปในยุคสมัยนั้นเอง เป็นการเปิดทางให้กับศิลปินไทยในเวลาต่อมาได้แสดงฝีมือการวาดภาพเหมือนในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

ในความหมายนี้ ระเด่นบาซูกิกับผลงานที่ฝากฝีมือไว้ในเมืองไทย ก็ต้องถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญชิ้นหนึ่งของวงการศิลปะในบ้านเรา แม้เจ้าตัวเองจะเป็นคนต่างชาติ ต่างภาษา แต่ก็ได้เข้ามาทำงานอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลานาน รู้จักเมืองไทยดี และเจ้าตัวได้แถลงไว้ในสูจิบัตรงานนิทรรศการครั้งสำคัญคราวนั้นว่า

“… ข้าพระพุทธเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาพต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นสื่อกลางที่ทำให้โลกได้มีโอกาสเห็นสภาพอันสงบสุขและสวยงามของประเทศไทย”

ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ นักวาดภาพเหมือน จิตรกรอินโดนีเซียในพระราชสำนักไทย

ในขณะเดียวกันกับที่ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักพระราชวังในเวลานั้น กล่าวเสริมความว่า

“ระเด่นบาซูกิหวังว่าการเปิดนิทรรศการเขียนภาพสีของท่านครั้งนี้ เป็นการอุทิศให้กับประเทศไทยทั้งสิ้น ประเทศไทยอันสวยสดงดงามจะเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางยิ่งขึ้นแก่ประชาชนของโลก และพร้อมกันนี้ ท่านพยายามที่จะสร้างสรรค์ความเข้าใจอันดีให้กับประชาชนชาวไทยและประเทศอื่นๆ และจะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยสืบไปด้วย”

หลังจากการแสดงนิทรรศการครั้งสำคัญเมื่อปลายปีนี้พุทธศักราช 2516 แล้ว ระเด่นบาซูกิได้เดินทางกลับมาที่เมืองไทยบ้างเป็นครั้งคราว แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซียอย่างสุขสบาย สมกับฐานะจิตรกรผู้มีฝีมือระดับนานาชาติ จนกระทั่งมีอายุได้ 78 ปี กลางดึกคืนวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2536 ระเด่นบาซูกิ ได้ยินเสียงกุกกักในบ้านจึงตื่นขึ้นมาดูเหตุการณ์ พบว่าคนสวนในบ้านของท่านเองกำลังพยายามขโมยของออกไปจากบ้าน เมื่อเผชิญหน้ากันแล้วแทนที่จะหลบหนี คนสวนกลับทำร้ายจิตรกรเอกท่านนี้จนถึงเสียชีวิต เป็นการปิดฉากตำนานจิตรกรผู้มีชื่อเสียงแบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะลงเอยแบบนี้

คงทิ้งไว้เบื้องหลังแต่เพียงผลงานที่จรรโลงใจผู้พบเห็น ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่อไปอีกนานแสนนาน

Writer

Avatar

ธงทอง จันทรางศุ

คนวัยเกษียณจากอาชีพครูและการทำราชการหลายกระทรวง ผู้รักการอ่านและงานเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ใช้เวลาทุกวันคืนอยู่กับหนังสือ ของกระจุกกระจิก และสมบัติพระศุลีทั้งปวง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน