หากคนคนหนึ่งกำลังหลงทางและหาซอยหนึ่งอยู่ สิ่งที่จำได้มีเพียงยายชราใส่เสื้อคอกระเช้าและผ้าถุงลายไทยนั่งขายกล้วยทอดอยู่ปากซอย

พูดมาเพียงเท่านี้ หลายคนคงร้องอ๋อ และพอจะเดาจุดหมายปลายทางของเขานั้นได้ 

ใช่แล้วครับ เขากำลังตามหา ‘ซอยเถิดเทิง’

สถาปัตยกรรม ‘ซอยเถิดเทิง’ กับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในชุมชนขนาดย่อมตลอด 25 ปี

‘ชุนชมเถิดเทิง’ คือฉากในซิตคอมเกมโชว์อมตะจากรายการ ระเบิดเถิดเทิง ที่ไม่ว่าดารารุ่นใหญ่หรือรุ่นเล็ก หลายยุคหลายสมัย ก็ต่างเคยแวะเวียนมาสร้างสีสันและเสียงหัวเราะที่ซอยแห่งนี้ 

รายการ ระเบิดเถิดเทิง เริ่มออกอากาศบนจอทีวีครั้งแรกใน พ.ศ. 2539 ต่อเนื่องจนมาถึงวันนี้ใน พ.ศ. 2564 เป็นเวลารวมกว่า 25 ปี 

สถาปัตยกรรม ‘ซอยเถิดเทิง’ กับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในชุมชนขนาดย่อมตลอด 25 ปี

ตัวละครและฉากใน ‘ซอยเถิดเทิง’ เองก็มีการเปลี่ยนแปลงผ่านยุคสมัยจากรุ่นสู่รุ่น แบบที่เรียกได้ว่าไม่เคยตกยุค บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนในชุมชนอย่างตรงไปตรงมา ภายใต้มุกตลกขบขันที่แฝงไปด้วยข้อเท็จจริงของปัญหาทางสังคมในขณะนั้น

รูปแบบของฉากที่ยึดโยงกับคาแรกเตอร์ตัวละคร เป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่ไม่เพียงสร้างเสียงฮาให้กับผู้ชม แต่ยังช่วยให้ผู้ชมจดจำสภาพแวดล้อมของซอยเถิดเทิงได้ดีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านรถเข็นกล้วยแขกหน้าซอยของยายชา ผู้รับรู้เรื่องราวทุกอย่างที่เกิดขึ้นในซอย โดยพักหลังๆ แกจะเริ่มมีการหูตึง ได้ยินอะไรผิดๆ ถูกๆ หรือจะเป็นร้านขายของชำของเจ๊หม่ำ ผู้มีนิสัยขี้บ่นและชอบสั่งการให้อาโกวทำโน่นทำนี่ ไปจนถึงบทบาทคุณนายสะอาดเจ้าของบ้านเช่าในซอยเถิดเทิง และทนายประสิทธิ์ที่คอยตามเก็บค่าเช่าจากผู้คนในชุมชน เป็นต้น

สถาปัตยกรรม ‘ซอยเถิดเทิง’ กับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในชุมชนขนาดย่อมตลอด 25 ปี

ซอยเถิดเทิงเป็นซอยที่ไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนา ขยับขยาย และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

ส่วนชุมชนถ่ายทอดรูปแบบของคนทำมาหากินหลังกำแพงวัด บางบ้านหาเช้ากินค่ำ บางบ้านเปิดร้านค้าขายของ และบางบ้านทำกิจการเล็กๆ คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนในชุมชน 

ผู้คนในชุมชนเช่าบ้านอยู่ โดยตัวบ้านในละแวกนั้นทำจากไม้หุ้มด้วยหลังคาสังกะสีสูง มี 1 – 2 ชั้น ผนังภายนอกของตัวบ้านบ่งบอกถึงร่องรอยและการต่อเติมซ่อมแซมด้วยวัสดุที่แตกต่างกันไปตามจุดต่างๆ

จากฉาก ระเบิดเถิดเทิง รุ่นที่ 1 ใน พ.ศ. 2539 – 2546 ไปยังฉากรุ่นที่ 2 ใน พ.ศ. 2548 – 2552 จะเห็นได้ชัดว่าซอยเถิดเทิงนั้นขยายใหญ่ขึ้น เริ่มต้นจากแผงลอยเล็กๆ และร้านรถเข็นหน้าซอยในตอนแรก ภายหลังพัฒนาเป็นร้านค้า บริเวณที่ผู้อยู่อาศัยแบ่งพื้นที่ส่วนตัวของตัวบ้าน ขยายออกมาทำเป็นพื้นที่ค้าขาย ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่โครงการตึกแถว 3 ชั้นขยายเข้ามาเชื่อมต่อกับซอย 

ต่อมาใน ระเบิดเถิดเทิง รุ่นที่ 3 ใน พ.ศ. 2552 – 2553 ร้านสะดวกซื้อเครือใหญ่ได้เข้ามาเปิดกิจการในซอยเป็นที่เรียบร้อย 

20 ปีให้หลัง เนื้อเรื่องดำเนินต่อมาในวันที่เท่ง-โหน่ง อดีตสองนักเลงประจำซอยหวนกลับมาที่ซอยเถิดเทิงอีกครั้ง หลังจากเดินทางออกไปเพื่อทำตามฝันของตัวเอง ใน ระเบิดเถิดเทิงซอยข้าใครอย่าแตะ (พ.ศ 2561 – 2563) เมื่อซอยที่พวกเขารู้จักพัฒนาไปจนแถบจำไม่ได้ 

สถาปัตยกรรม ‘ซอยเถิดเทิง’ กับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในชุมชนขนาดย่อมตลอด 25 ปี

โดยผิวเผินแล้วความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนเถิดเทิง ไม่ว่าจะผ่านสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนไป วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ประเภทของร้านค้าที่เพิ่มขึ้น พร็อพและสิ่งของต่างๆ ที่นำมาประกอบถนนหนทางในฉาก อาจเป็นเพียงธรรมชาติของซิตคอมที่มาควบคู่กับโฆษณา ผลิตภัณฑ์ และสปอนเซอร์ ทำให้ฉากของรายการต้องมีปรับเปลี่ยนและขยายเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็ทำให้ฉากในซอยเถิดเทิงนั้นเติบโตไปพร้อมกับผู้ชมและสภาพของสังคมนอกจอทีวี

ซอยเทิดเถิงระหว่าง พ.ศ. 2539 – 2553

สถาปัตยกรรม ‘ซอยเถิดเทิง’ กับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในชุมชนขนาดย่อมตลอด 25 ปี
ผังแปลนซอยเถิดเทิง พ.ศ. 2539 – 2553 โดย ลภัสรฎา ปั้นดี

ฉากของซอยเถิดเทิงนั้นมีหลายสำเนา ตัวแปลนที่เห็นอยู่ด้านบนเป็นเพียงแปลนลูกผสมรวมฉากในรุ่นที่ 1 – 3 ซึ่งเป็นส่วนหน้าของซอยเถิดเทิงที่เป็นหัวใจของชุมชน ประกอบไปด้วยร้านขายของชำของเจ้หม่ำ คลังเสบียงและห้องอาหารสำหรับคนในชุมชน ร้านซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า วิทยุ ทีวี พัดลม เฉื่อยการช่าง ร้านตัดผมเสริมสวยของเจ้ตุ่ม ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ ร้านขายหนังสือพิมพ์ และร้านยาดองที่ภายหลังถูกรื้อถอน และสร้างเป็นร้านสะดวกซื้อเปิดตลอด 24 ชั่วโมงขึ้นมาแทน ตลอดจนร้านรถเข็นของยายชา ซึ่งเป็นแหล่งรวมข่าวมั่วและข่าวลือของคนในชุมชน

ผังแปลนซอยเถิดเทิง พ.ศ. 2561 - 2563 โดย ลภัสรฎา ปั้นดี
ผังแปลนซอยเถิดเทิง พ.ศ. 2561 - 2563 โดย ลภัสรฎา ปั้นดี

ผังแปลนซอยเถิดเทิงในยุคคลาสสิกเผยให้เราเห็นถึงความเชื่อมต่อที่คลุมเครือ ระหว่างพื้นที่ภายในตัวบ้านกับพื้นที่สาธารณะนอกตัวบ้าน ประตูบ้านเปิดโล่ง อาณาเขตของบ้านขยายออกไปบนท้องถนนและพื้นที่สาธารณะ การนำกระถางต้นไม้ เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ แผงขายของ ถังขยะ และข้าวของต่างๆ ไปวางเพื่อกำหนดอาณาเขตใหม่ในครอบครอง เพื่อเพิ่มที่ใช้สอยในการค้าขาย แต่ในทางกลับกัน สิ่งเหล่านั้นก็ทำให้พื้นที่สาธารณะเข้าไปเชื่อมต่อกับพื้นชั้นล่างของตัวบ้านเช่นกัน ทำให้รู้สึกเหมือนว่า ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องนั่งเล่น กลายเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะไปด้วย 

ผังแปลนซอยเถิดเทิง พ.ศ. 2561 - 2563 โดย ลภัสรฎา ปั้นดี

ซอยเทิดเถิงซอยข้าใครอย่าแตะ (พ.ศ. 2561 – 2563)

ฉากของซอยเถิดเทิงใน พ.ศ. 2561 ตัดมาในส่วนท้ายของซอย มีบ้านของพ่อมหา พ่อบุญธรรมของเท่ง ผู้ยกบ้านหลังนี้เป็นมรดกให้เขา บ้านหลังนี้กลายมาเป็นศูนย์กลางของรายการ โดยแต่เดิม ฉากของบ้านหลังนี้ในยุคคลาสสิกไม่ได้อยู่รวมกับร้านขายของชำ จากการคาดเดาแล้ว หากเราเดินเลียบซอยข้างวัดหลังร้านขายของชำไปทางขวาเรื่อยๆ แล้วข้ามสะพานข้ามคลองมา เราจะพบกับบ้านไม้ของพ่อมหาหลังนี้

ผังแปลนซอยเถิดเทิง พ.ศ. 2561 - 2563 โดย ลภัสรฎา ปั้นดี
ผังแปลนซอยเถิดเทิง พ.ศ. 2561 - 2563 โดย ลภัสรฎา ปั้นดี

ภาพรวมซอยเถิดเทิงในยุคนี้ดูสะอาดและเป็นระเบียบมากขึ้น ถนนหนทางถูกปรับปรุง มีฟุตปาธเพิ่มเข้ามาไว้ สำหรับวินมอเตอร์ไซค์จอดรอคิวรับผู้โดยสารที่ลงมาจากรถไฟฟ้า ท่อระบายน้ำที่สื่อให้ถึงการพัฒนาระบบระบายน้ำในชุมชน ขยะลดน้อยลง 

ส่วนร้านค้าในชุมชนที่ครั้งหนึ่งเราเคยจดจำได้ ถูกแทนที่ด้วยพลาซ่า ร้านค้าในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งมีการจัดสรรสัดส่วนชัดเจน มีโซนร้านค้าของใครของมัน โซนทานอาหาร และโซนตลาดนัดตรงลานส่วนกลาง 

ที่อยู่อาศัยก็เริ่มมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ประตูหน้าต่างปิดมิดชิดแตกต่างกับฉากในยุคแรก ที่ตัวบ้านและร้านค้าจะเปิดโล่ง เพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะภายนอก 

หากดูจากแปลนทั้งสอง จะพบว่าฉากในยุคปัจจุบันมีพื้นที่สีเทาเพิ่มขึ้น หมายถึงความต้องการความเป็นส่วนตัวที่มากขึ้นในชุมชน เมื่อจำนวนประชากรในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะไว้ใจทุกคนได้ เหตุผลด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการลักขโมย อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่แต่ละบ้านเริ่มกั้นรั้ว กั้นกำแพง ปลูกต้นไม้บังสายตากันและกัน ประหนึ่งสัญลักษณ์ของการเรียกร้องขอความเป็นส่วนตัว

ผังแปลนซอยเถิดเทิง พ.ศ. 2561 - 2563 โดย ลภัสรฎา ปั้นดี
ผังแปลนซอยเถิดเทิง พ.ศ. 2561 – 2563 โดย ลภัสรฎา ปั้นดี
ชวนดูการเติบโตของซอยเถิดเทิงจากซิตคอมในตำนาน ตั้งแต่วันที่ปากซอยคือร้านรถเข็นขายกล้วยทอด จนถึงวันนี้ที่มีสถานีรถไฟฟ้าในชุมชนตัวเอง

บางครั้ง ความเจริญที่เข้ามาในชุมชนก็เป็นดาบสองคมซึ่งไม่ใช่จะมีแต่เรื่องดีเสมอไป อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนผ่าน ซอยเถิดเทิงซอยข้าใครอย่าแตะ คือการเวนคืนพื้นที่บางส่วนของชุมชน เพื่อเชื่อมต่อทางออกของรถไฟฟ้าที่ยื่นขวางทางเข้าในซอย 

ความเจริญที่ตามมากับรถไฟฟ้าก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชุมชน ในฉาก เราจะเห็นว่าตึกรามบ้านช่องบางส่วนเริ่มติดป้ายประกาศเซ้งหรือหาผู้เช่ารายใหม่ สะท้อนให้ถึงการทยอยย้ายออกของคนในพื้นที่ ซึ่งคาดคะเนว่าเกิดจาก 2 สาเหตุ

หนึ่ง พวกเขาสู้ค่าเช่าที่สูงขึ้นไม่ไหว หรือสอง เจ้าของตึกต้องการขายเพื่อเก็งกำไร เพราะที่ดินราคาสูงขึ้น 

และนั่นก็เป็นสิ่งเดียวกับที่เท่งคิดในวินาทีแรก เมื่อเขาทราบว่าตัวเองได้รับมรดกเป็นบ้านไม้หลังนี้จากพ่อมหา เขาคิดไปถึงการขายให้เสี่ยหมี เพื่อเอาทำที่จอดรถของพลาซ่า แต่ท้ายที่สุด บ้านก็ไม่ได้ถูกทุบและยังคงสภาพอยู่คู่ซอยเถิดเทิงต่อไป

ชุมชนหยุ่นตัว

ชวนดูการเติบโตของซอยเถิดเทิงจากซิตคอมในตำนาน ตั้งแต่วันที่ปากซอยคือร้านรถเข็นขายกล้วยทอด จนถึงวันนี้ที่มีสถานีรถไฟฟ้าในชุมชนตัวเอง
บ้านพ่อมหาในซอยระเบิดเทิดเถิงคลาสสิก
ชวนดูการเติบโตของซอยเถิดเทิงจากซิตคอมในตำนาน ตั้งแต่วันที่ปากซอยคือร้านรถเข็นขายกล้วยทอด จนถึงวันนี้ที่มีสถานีรถไฟฟ้าในชุมชนตัวเอง
บ้านพ่อมหาในระเบิดเทิดเถิงซอยข้าใครอย่าแตะ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในซอยเถิดเทิง หากมองผิวเผินอาจเป็นแค่ฉากในละคร เป็นมุกตลกที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างเสียงฮาอย่างเดียวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นมุกตลกและเนื้อหาโดยรวมของซิตคอม มักจะหยิบยกสถานการณ์ เทรนด์ วลี และคำศัพท์ใหม่ๆ ที่กำลังอยู่ในกระแสเข้ามาใช้ในการดำเนินเรื่อง เวลาที่เราย้อนกลับไปดูฉากเก่าๆ เหล่านั้น ก็แอบสะดุ้งเหมือนกันที่ปัญหาเก่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วยังคงวนเวียนในปัจจุบัน 

มีอยู่ตอนหนึ่งที่ซอยข้างๆ กำลังถูกเวนคืนที่เพราะทางด่วนกำลังจะมาลง ชาวเถิดเทิงเริ่มตื่นตระหนก กลัวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามาขอเวนคืนที่ซอยนี้บ้าง สร้างความวุ่นวายให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านไม่อยากย้ายออกจากที่รกรากของตน ซึ่งท้ายที่สุด ซอยเถิดเทิงก็มีสถานีรถไฟฟ้ามาลงในซอยจนได้

สถาปัตยกรรม ‘ซอยเถิดเทิง’ กับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในชุมชนขนาดย่อมตลอด 25 ปี

หากพูดกันอย่างเป็นกลางแล้ว สังคมและเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยธรรมชาติ ผังแปลนของชุมชนเถิดเทิงในยุคแรกอาจสะท้อนให้เห็นถึงชุมชนที่กำลังเติบโต ชุมชนที่ผู้บริหารเมืองและพลเมืองกำลังเล็งศรธนูไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยความเร็วที่เท่ากัน เร่งพัฒนาความเป็นอยู่ควบคู่ไปการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การค้าขายและการทำธุรกิจ สะท้อนออกมาในสถาปัตยกรรมในรูปแบบตึกแถวแบบอาคารพาณิชย์ การแบ่งพื้นที่ตัวบ้านมาเปิดเป็นร้านค้าต่างๆ

สถาปัตยกรรม ‘ซอยเถิดเทิง’ กับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในชุมชนขนาดย่อมตลอด 25 ปี

ต่อมาในช่วงหลัง ในยุค ซอยเถิดเทิงซอยข้าใครอย่าแตะ เมื่อสังเกตว่าความสัมผัสระหว่างคาแรกเตอร์ของตัวละครกับฉากยึดโยงกันน้อยลง รูปแบบชุมชนมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น รูปแบบร้านค้าแบบพลาซ่า คอมมูนิตี้มอลล์ มีความเป็นกิจการเครือข่ายมากขึ้น อัตลักษณ์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชุมชนลดน้อยลง หากนำมาพิเคราะห์แล้ว เหมือนกับว่าลูกศรของผู้บริหารและพลเมืองกำลังวิ่งไปคนละทิศคนละทางกัน ด้วยความเร็วที่ไม่สัมพันธ์กันอีกต่อไป

เมื่อพลเมืองไม่ได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในการส่งเสียงของตัวเองออกมา ว่าจริงๆ แล้วคุณภาพชีวิตที่ดีที่พวกเขามองหาคืออะไรกันแน่ แต่การพัฒนาเมือง ณ ขณะนี้ยังคงมุ่งไปในทิศทางที่เหมือนจะไม่เข้าใจถึงระบบนิเวศและสุขภาวะของเมือง เหมือนโยนของเป็นชิ้นๆ ส่งเข้าเข้าไปในกล่อง โดยที่ไม่มีความเชื่อมโยงกันในระบบภาพรวม 

ลูกศรของพลเมืองกำลังเล็งหาเป้าหมายของระบบเมืองและชุมชนที่มีความหยุ่นตัว เมืองที่พร้อมจะปรับตัวและฟื้นฟูตามระบบนิเวศและกลไกทางธรรมชาติ และพร้อมจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในระยะสั้นและยาว 

ขอบคุณภาพจาก Workpoint

Citation and Image References:

ระเบิดเถิดเทิง, ศิรโรจ บุญไชย (2542-2552) กฤษณะ จิตรเนาวรัตน์ (2561-2563) (Director) บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (Producer)

ผังแปลนซอยเถิดเทิง พ.ศ. 2539-2553 และ พ.ศ. 2561-2563 โดย (มิลค์) ลภัสรฎา ปั้นดี

ติดตามผลงานได้ที่ Instagram : lprd.studios และ Lprdd

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ