ความร่วมมือคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ผู้คนทั้งในและนอกประเทศ หนึ่งในความร่วมมือที่ผลผลิตได้เติบโตงอกงาม เก็บเกี่ยว และเปลี่ยนเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย คือพืชจากดินแดนในทวีปอเมริกาใต้ที่ชื่อว่า คีนัว (Quinoa) 

จากการหารือกันของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency – TICA) กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตชิลีประจำประเทศไทย ทำให้เมล็ดพันธุ์คีนัวที่ได้มาจากประเทศชิลีถูกยกระดับการวิจัยไปไกลกว่าเก่า โดยสองประเทศจับมือกันนำผลลัพธ์อันภาคภูมิใจส่งต่อไปให้กับประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนและภูฏาน เพื่อสร้างรายได้และสร้างความเป็นไปได้ในอาชีพอื่น ๆ ต่อ

ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2565 จะมีการจัดงานออนไลน์ ‘Workshop on Chilean Quinoa in Thailand for ASEAN Member States’ ให้แก่สมาชิกอาเซียนและภูฏาน เพื่อถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ภายใต้แผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-ชิลี ระยะ 3 ปี (พ.ศ.​ 2562 – 2564) นอกจากนี้ยังพูดถึงการขยายผลความร่วมมือด้านคีนัวต่อไปยังด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และความร่วมมือด้านการเกษตรสาขาอื่น ๆ ที่ชิลีเชี่ยวชาญ ภายใต้แผนความร่วมมือฯ ระยะ 3 ปี ฉบับใหม่ (พ.ศ.​ 2565 – 2567) เรียกได้ว่าผลลัพธ์ของโครงการวิจัยคีนัวครั้งนี้เหมาะสมจะเป็น Flagship ในการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 60 ปี ไทย-ชิลี ใน พ.ศ. 2565 ที่สุด

ความร่วมมือไทย-ชิลี ผ่านฟาร์มควินัว Super Food จากชิลีที่พัฒนาจนได้สายพันธุ์ของตัวเอง
ความร่วมมือไทย-ชิลี ผ่านฟาร์มควินัว Super Food จากชิลีที่พัฒนาจนได้สายพันธุ์ของตัวเอง

ในตอนนี้ คีนัวขึ้นชื่อว่าเป็นพืชเชื่อมสัมพันธ์ที่ไม่ใช่แค่ไทย-ชิลี แต่ขยายไปสู่อาเซียนและภูฏาน หากใครเป็นสายรักสุขภาพคงจะทราบกันดีว่า คีนัวคือ Super Food ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกเยอะ ทั้งยังรายได้ดี การปลูกคีนัวในประเทศไทยจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ประเทศชิลีมอบให้กับประเทศไทย เพื่อนำไปศึกษาและทดลองปลูก ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South cooperation) ที่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ โครงการวิจัยคีนัวไทยยังขยายผลต่อไปในภูมิภาคอาเซียน และยกระดับเป็นความร่วมมือแบบไตรภาคีด้วย

จนถึงปัจจุบัน ทีมวิจัยไทยได้ขึ้นทะเบียนคีนัวไปแล้ว 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แดงห้วยต้ม และ สายพันธุ์เหลืองปางดะ โดยยังมีอีก 2 สายพันธุ์ที่กำลังรอขึ้นทะเบียนคือ นิลเกษตรหลวงและโกเมนเกษตรหลวง ซึ่งเป็นเมล็ดสีดำและแดง แต่ความน่าสนใจและความสำเร็จของความร่วมมือดังกล่าวไม่ได้หยุดลงเพียงเท่านั้น เพราะ รศ.ดร.ปิติพงษ์ โตบันลือภพ หัวหน้าแผนกวิจัยคีนัวและอาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้บอกกับเราว่า คีนัวที่ปรับตัวได้แล้วในประเทศไทยให้ผลผลิตที่ดีเกินคาด ถึงขนาดที่มากกว่าประเทศต้นกำเนิดอย่างชิลี จนเรากลายเป็น Key of Success ที่พร้อมจะส่งความรู้และความร่วมมือให้กับประเทศอื่น ๆ ต่อไป

ความร่วมมือไทย-ชิลี ผ่านฟาร์มควินัว Super Food จากชิลีที่พัฒนาจนได้สายพันธุ์ของตัวเอง
H.E. Alex Geiger Soffia เอกอัครราชทูตชิลี ประจำประเทศไทย และ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

Food from Chile

อาจารย์ปิติพงษ์เริ่มต้นเส้นทางนักวิจัยจากการศึกษาปริญญาตรีด้านปฐพีวิทยา ศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและพืช แต่ในช่วงแรกของการทำงาน เขาไม่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือเกษตรกรมากนัก เขาจึงตระหนักได้ว่า นอกจากเรื่องดินแล้ว การแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญต้องใช้ความรู้เรื่องอื่นด้วย ต่อจากนั้นอาจารย์ปิติพงษ์จึงเริ่มเรียนปริญญาโทด้านเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ และปริญญาเอกด้านสรีรวิทยาการผลิตพืชที่ประเทศเยอรมนี ด้วยความเชื่อมั่นว่า “ภาคการเกษตรสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงได้ หากบริหารดี”

กระทั่งโอกาสครั้งใหม่มาถึงในวันที่ 4 – 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556 นายเซบัสเตียน ปิเญรา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชิลี (ขณะนั้น) เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย และมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในรูปแบบไตรภาคีระหว่างประเทศไทยและชิลี ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองประเทศ แต่สิ่งสำคัญที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นงานวิจัยคีนัวของอาจารย์ปิติพงษ์ คือการที่ประธานาธิบดีชิลีมอบเมล็ดพันธุ์คีนัวให้แก่ประเทศไทย เพื่อทำการศึกษาวิจัยและทดลองปลูก

ความร่วมมือไทย-ชิลี ผ่านฟาร์มควินัว Super Food จากชิลีที่พัฒนาจนได้สายพันธุ์ของตัวเอง

อาจารย์ปิติพงษ์ได้รับมอบหมายจาก ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝ่ายกิจการพิเศษ (ขณะนั้น) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของมูลนิธิโครงการหลวง ให้เริ่มต้นงานวิจัยคีนัวในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2557

“ย้อนกลับไป เรายังไม่รู้จักควิีวดี เราเจอข้อมูลว่าคีนัวอยู่แถวเปรู โบลิเวีย ชิลี ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมองหานักวิจัยที่มีประสบการณ์กับพืชชนิดนี้ ปรากฏว่าไม่มี แต่เรามีประสบการณ์วิจัยพืชที่ใกล้เคียงกับคีนัวคือ กลุ่มพืช Amaranthus หรือกลุ่มผักโขม ซึ่งคำถามแรกที่เราได้รับจากผู้ใหญ่คือ คุณคาดหวังในความสำเร็จระดับไหน เราก็เรียนท่านตามตรงว่า เราอาจจะเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้เลย เพราะตามหลักการคือ ต้องให้เวลาคีนัวในการที่จะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ก่อน”

ประเทศชิลีเป็นที่รู้จักจากการส่งออกไวน์ ผลไม้ และแซลมอน กระทั่งสถานเอกอัครราชทูตชิลีประจำประเทศไทยมีความประสงค์ที่จะเผยแพร่ความเป็นชิลีผ่านคีนัว ซึ่งเป็นพันธุ์พืชที่ขึ้นอยู่บริเวณเทือกเขาแอนดีส ครอบคลุม 7 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ เวเนซุเอลา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย ชิลี และอาร์เจนตินา ทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมของคีนัวตามแต่ละภูมิประเทศ นั่นคือความโดดเด่นที่ทำให้นักวิจัยสนใจ

“จากความหลากหลายทางภูมิประเทศ แปลว่าเขาปรับตัวได้กว้าง เราจะมีฐานพันธุกรรมให้ใช้ประโยชน์ได้เยอะ เราทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยพันธุศาสตร์แห่งชาติชิลี เขาอนุญาตให้เราใช้ฐานพันธุกรรมดังกล่าวในการวิจัยและใช้เพื่อการค้าได้ จนเราคัดเลือกพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีในประเทศไทยและขึ้นทะเบียนในนามมูลนิธิโครงการหลวงได้สำเร็จคือ สายพันธุ์แดงห้วยต้มและสายพันธุ์เหลืองปางดะ”

ความร่วมมือไทย-ชิลี ผ่านฟาร์มควินัว Super Food จากชิลีที่พัฒนาจนได้สายพันธุ์ของตัวเอง

นอกจากเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับมา ทีมวิจัยไทยยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศชิลี ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการแปรรูปคีนัวมาเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาจารย์ปิติพงษ์เล่าว่า ในประเทศไทยยังนำคีนัวไปหุงเพื่อบริโภคเบื้องต้น แต่ภาคเอกชนของต่างประเทศมีการลงทุนข้ามทวีป จากยุโรปไปยังชิลี เพื่อประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมคีนัวโดยเฉพาะ การแปรรูปในต่างประเทศจึงไม่ใช่แค่การแปรรูปเบื้องต้น แต่เป็นการนำไปสกัดเป็นกลุ่มอะมิโนจำเป็น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน เช่น กรดอะมิโนสำหรับเด็กวัยกำลังเติบโต กรดอะมิโนสำหรับวัยชรา หรือกรดอะมิโนสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องในการดูดซึมโปรตีน โดยทั้งหมดถูกแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารว่าง นมสำหรับเด็ก หรือ Ready-to-Eat-Quinoa 

สำหรับคีนัวสายพันธุ์ไทย อาจารย์ปิติพงษ์กล่าวอย่างภูมิใจว่า ผลผลิตจากเกษตรกรที่ปลูกคีนัวถือว่าดีเกินตัวเลขอ้างอิงจากงานวิจัยถึง 2 เท่า ทั้งยังสูงกว่าประเทศต้นทางอย่างชิลีด้วย หากคำนวณผลผลิตต่อไร่ของประเทศชิลีอยู่ที่ประมาณ 250 กิโลกรัม ขณะที่ประเทศไทยได้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 620 กิโลกรัม ส่วนงานวิจัยได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 380 – 420 กิโลกรัม โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของคีนัวมีหลายประการ ตั้งแต่การใส่ปุ๋ย ภูมิอากาศ (แปลงของเกษตรกรอยู่สูงกว่าแปลงวิจัย ส่งผลให้อุณหภูมิเย็นลง) รวมไปถึงความใส่ใจของเกษตรกรเอง

ความร่วมมือตลอด 9 ปีของไทย-ชิลี ทำให้อุตสาหกรรมคีนัวในประเทศไทยเติบโตเป็นอย่างดี และยังช่วยสร้างงาน สร้างอนาคตให้กับคนในประเทศ เนื่องจากคีนัวเป็นพืชที่ไม่ต้องลงทุนมาก แต่ผลตอบแทนดี ซึ่งนั่นเป็นการแก้ไขหนึ่งในหลายปัญหาที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญ

ความร่วมมือไทย-ชิลี ผ่านฟาร์มควินัว Super Food จากชิลีที่พัฒนาจนได้สายพันธุ์ของตัวเอง

Super Food and Super Friend

บางครั้งความเข้าใจผิดต่อคีนัวก็เกิดขึ้น เมื่อหลายคนเรียกคีนัวว่าเป็น ธัญพืชเทียม แต่คุณประโยชน์ของคีนัวไม่ได้เทียมดั่งชื่อ เพราะอาจารย์ปิติพงษ์ได้ไขข้อข้องใจให้เราฟังว่า คีนัวภาษาอังกฤษคือ Pseudocereal โดย Pseudo แปลว่าเทียม รวมกันจึงแปลว่า ธัญพืชเทียม จากปกติที่ธัญพืชจะเก็บเกี่ยวจากพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ เพื่อนำเมล็ดมาใช้ประโยชน์ แต่คีนัวเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ เมื่อนำมาจัดกลุ่มจึงอยู่ในกลุ่มธัญเทียมแทน

อย่างไรก็ตาม คุณประโยชน์ของคีนัวได้รับการยกย่องเป็น Super Food เนื่องจากคีนัวมีน้ำตาลต่ำ มีคาร์โบไฮเดรตในเมล็ดน้อย จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ Low-Carb หรือ Low Carbohydrate แต่มี High-Fiber ช่วยในการย่อย นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุ อย่างธาตุเหล็ก สังกะสี และแมกนีเซียม รวมถึงไขมันจำเป็นและกรดอะมิโนจำเป็นสำหรับร่างกายมนุษย์อย่างครบถ้วนและสมดุล

หากบอกว่าคีนัวเป็นเพื่อนแท้ของคนรักสุขภาพก็คงไม่เกินจริงนัก ขณะเดียวกัน คีนัวก็ก้าวเข้าสู่การเป็นเพื่อนใหม่และทางเลือกใหม่ของเกษตรกร ซึ่งอาจารย์ปิติพงษ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยได้

“คีนัวใช้เวลาปรับตัวในประเทศไทยประมาณ 1 ปี ในปีที่ 2 เริ่มเติบโต และปีที่ 3 หลังการวิจัยก็พร้อมนำไปผลิตและจำหน่าย เมื่อเรารู้ช่วงเวลาในการปลูกและเก็บเกี่ยว เกษตรกรก็จะไม่เสียผลผลิต ซึ่งสายพันธุ์ที่ปรับตัวในไทยแล้วมีอายุการเก็บเกี่ยวอยู่เพียง 90 – 100 วัน 

ตอนนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของมูลนิธิโครงการหลวง มีความสนใจปลูกคีนัวค่อนข้างมาก เพราะคีนัวเป็นพืชในระบบส่งเสริมเกษตรที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างดี ปัจจัยการผลิตต่ำ รวมทั้งมีศัตรูพืช โรค และแมลงน้อย ยกตัวอย่าง เกษตรกรท่านหนึ่งที่ร่วมบุกเบิกงานปลูกคีนัวของมูลนิธิโครงการหลวงปีที่ 1 เขามีรายได้จากคีนัวร่วม 3 แสนบาท จากระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน แล้วเขาปลูกเพียงแค่ 1 ไร่ครึ่ง จากตัวอย่างนี้เป็นผลให้เขาไม่จำเป็นต้องปลูกพืชในพื้นที่ปริมาณมากเหมือนในอดีต เช่น ปลูกพืชผักที่บางครั้งราคาก็ตกต่ำ ถ้าอนาคตเรามีการบริโภคคีนัวในปริมาณมากขึ้นในประเทศไทย เราจะช่วยลดปัญหาคือ การบุกรุกพื้นที่เพื่อการเกษตรและการสร้างรายได้ให้เกษตรกร”

ปัจจุบัน อาจารย์ปิติพงษ์ยังระบุราคาคีนัวต่อกิโลกรัมที่ชัดเจนไม่ได้ แต่ราคาอยู่ที่ประมาณ 100 – 150 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เทียบกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ข้าว เฉลี่ยอยู่ที่ประมาน 9,000 บาทต่อ 1,000 กิโลกรัม ตกประมาณกิโลกรัมละ 9 บาท นอกจากนี้ คีนัวยังเป็นผู้เล่นสำคัญในแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากพวกเขามีภาวะบกพร่องทางโภชนาการ คือได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต สิ่งที่อาจารย์อยากขับเคลื่อนจึงเป็นการผลักดันให้คีนัวเป็นตัวอย่างนำร่องในส่วนผสมของอาหารกลางวันสำหรับเด็ก เพื่อเสริมโปรตีนคุณภาพสูง และเสริมคุณค่าทางโภชนาการอื่น ๆ ที่มีอยู่ในเมล็ดพันธุ์ชนิดนี้

จากพืชท้องถิ่นในประเทศชิลี สู่พืชทางเลือกใหม่ในประเทศไทย ผลลัพธ์ที่ทีมวิจัยไทยร่วมกับประเทศชิลี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ มูลนิธิโครงการหลวง และเกษตรกรไทย ได้กลายเป็น Key of Success อันน่าภาคภูมิใจที่จะถูกส่งต่อจากความร่วมมือทวิภาคีเป็นความร่วมมือแบบไตรภาคีและพหุภาคีในอนาคตด้วย

การเดินทางสู่ความสำเร็จของเมล็ดพันธุ์ควินัว ความร่วมมือไทย-ชิลี ที่ถูกส่งต่อเป็นเกษตรทางเลือกและอาหารเพื่อสุขภาพ

Food for Friends

“ทีมวิจัยของเราได้รับเชิญไปแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เราส่งเสริมเขาได้ตั้งแต่ต้นน้ำคือการวิจัยพื้นฐาน หรือการพัฒนาสายพันธุ์คีนัวในประเทศของเขา ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เราผ่านการวิจัยและประสบความสำเร็จมาแล้ว รวมถึงแนวทางการใช้ประโยชน์ของคีนัว นำคีนัวเข้าไปส่งเสริมด้านสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทีมงานเราพร้อมที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับ TICA”

อาจารย์ปิติพงษ์กล่าวถึงอนาคตว่า เขาอยากจะนำคีนัวมาสร้างประโยชน์สูงสุดทั้งด้านการเกษตร สร้างรายได้ สร้างสุขภาพที่ดีในกลุ่มผู้บริโภคที่มีข้อจำกัดและภาวะบกพร่อง รวมถึงสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศ โดยการเป็นพี่เลี้ยงของภาคีเพื่อนบ้างในการขยายองค์ความรู้จากประเทศไทยสู่ประเทศอื่น ๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขาเองต้องการขยายขอบเขตองค์ความรู้เรื่องคีนัวให้กับคนไทยเช่นกัน เพื่อให้คนไทยหันมาบริโภคเพื่อสุขภาพและสนับสนุนผลผลิตทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยเอง

ขณะนี้ คีนัวมีพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเป็นหลัก แต่เริ่มมีการกระจายเมล็ดพันธุ์ไปหลายพื้นที่มากขึ้น เช่น จังหวัดสกลนคร นครราชสีมา และตอนใต้คือ สุราษฎร์ธานี 

“ความเสร็จของชิลีคือทำให้คีนัวกลายเป็นที่รู้จักและยอมรับในภูมิภาคของเรามากขึ้น และความสำเร็จของเราก็คือ การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และการเกษตรของชาติ ซึ่งงานนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราต้องขอขอบพระคุณผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยทุกสถาบัน ตั้งแต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้ให้ทุนเริ่มต้น มูลนิธิโครงการหลวงผู้ให้ทุนวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี และสำนักงานวิจัยแห่งชาติที่ให้ทุนสนับสนุน พ.ศ. 2564 – 2565 ทำให้เราขับเคลื่อนงานวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง”

เส้นทางการปลุกปั้นพืชต่างประเทศที่น้อยคนจะรู้จักไม่ได้โรยด้วยปุ๋ยที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโต แต่คีนัวเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งในวงการสุขภาพและการเกษตรจากปุ๋ยแห่งความร่วมมือที่หลายฝ่ายช่วยกัน

การเดินทางสู่ความสำเร็จของเมล็ดพันธุ์ควินัว ความร่วมมือไทย-ชิลี ที่ถูกส่งต่อเป็นเกษตรทางเลือกและอาหารเพื่อสุขภาพ

ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดของการวิจัยครั้งนี้ทำให้ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และ H.E. Alex Geiger Soffia เอกอัครราชทูตชิลี ประจำประเทศไทย เดินทางไปดูความสำเร็จด้านการวิจัยและปลูกพืชคีนัวด้วยกันที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยมีอาจารย์ปิติพงษ์เป็นผู้ช่วยอธิบายเส้นทางการพัฒนาดังกล่าว

 ปัจจุบัน ความร่วมมือไทย-ชิลี ไม่ได้จำกัดเพียงแค่พืชคีนัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำไปสู่การวิจัยเรื่องอื่น ๆ ทั้งพืชไร่ ข้าว ไม้ผลขนาดใหญ่อย่าง มะม่วง ไม้ผลขนาดเล็กอย่างเชอร์รี่และเบอร์รี่ รวมถึงกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ และการประมง ส่วนอนาคตที่มาถึงแล้วและอยากให้ขยายต่อไปอีก คือการแบ่งปันความสำเร็จสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น

ภาพ : TICA

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global South-South Development Expo 2022 หรือ GSSD Expo 2022 ร่วมกับสหประชาชาติ (สำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ หรือ UNOSSC และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ ESCAP ) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ นับเป็นการจัดงาน GSSD Expo ครั้งที่ 11 และเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

หัวข้อหลักของงานปีนี้คือ Advancing South-South and Triangular Cooperation for Sustainable COVID-19 Recovery: Towards a Smart and Resilient Future เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ รวมทั้งแบ่งปันความสำเร็จและโครงการด้านการพัฒนาที่โดดเด่นของไทย อาทิ

(1) แนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีส่วนช่วยประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  

(2) โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย ที่คนหนุ่มสาวร่วมส่งเสริมความเข้าใจอันดีและกระชับมิตรภาพระดับประชาชน

(3) ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับมือ ป้องกันและควบคุมสถานการณ์โควิด-19  และ (4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การฝึกอบรมและจัดสรรทุนการศึกษาในสาขาต่าง ๆ ที่เป็นจุดแข็งของไทยและเป็นประโยชน์แก่ประเทศผู้รับ ทั้งนี้ สามารถเข้าชมนิทรรศการออนไลน์ได้จาก : https://bit.ly/3JVqZGT

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า