QueQ (อ่านว่า คิว-คิว) เป็นสตาร์ทอัพที่ไม่ได้เก่งแค่เพียงระบบการจัดการคิวเหมือนที่ปรากฏบนชื่อบริษัทเท่านั้น

พวกเขาถือเป็นมืออาชีพด้านการช่วยธุรกิจและผู้คนในการบริหารเวลาอย่างคุ้มค่าและชาญฉลาด ผ่านเทคโนโลยีและระบบที่สามารถแก้ไขปัญหาสารพัด โดยเริ่มต้นจากการรอคิว

QueQ สตาร์ทอัพไทยที่ช่วยธุรกิจและคนหลักล้านบริหารเวลาได้อย่างชาญฉลาดมากกว่าแค่เรื่องคิว

“เราทำให้คนและธุรกิจไม่ต้องทิ้งเวลากับอะไรที่ไม่จำเป็น ที่ไหนที่จริงๆ บริหารจัดการเวลาได้ดีกว่านี้ คนเอาเวลาไปทำอะไรอย่างอื่นได้ เราจะเป็นคนเข้าไปแก้ไข” ชายในเสื้อยืดกางเกงยีนส์ตรงหน้าผมกล่าวอย่างเป็นกันเอง เขาคือคนต้นคิดแอปพลิเคชันที่ช่วยร้านอาหาร ธนาคาร หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่ซับซ้อนอย่างโรงพยาบาลในการจัดการคิวและนัดหมายออนไลน์ล่วงหน้า รวมถึงต่อยอดด้วยการนำข้อมูลมหาศาลมาวิเคราะห์ช่วยองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มรายได้ และสร้างบริการใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องรออะไรนานๆ อย่างไร้ความหมายเปล่าประโยชน์อีกต่อไป

รวมถึงเป็นโปรแกรมเมอร์ที่พาแบรนด์ QueQ แตะจำนวนผู้ใช้งานรวมกว่า 2 ล้านคนใน 4 ประเทศ ประกอบด้วยไทย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน โดยใช้งบการตลาดเพียงเดือนละไม่กี่หมื่นบาท

ผมกำลังสนทนาอยู่กับ โจ้-รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ กัปตันทีมวัย 42 ปีของสตาร์ทอัพอายุ 5 ขวบขนาดร้อยคน เจ้าของสโลแกน ‘Spend your time wisely’ ที่ปลุกปั้น QueQ และเปลี่ยนวัฒนธรรมการเข้าคิวให้ไม่เหมือนเช่นเคย

QueQ สตาร์ทอัพไทยที่ช่วยธุรกิจและคนหลักล้านบริหารเวลาได้อย่างชาญฉลาดมากกว่าแค่เรื่องคิว

แต่กว่าจะถึงวันนี้ โจ้ผ่านเหตุการณ์ชวนนอนไม่หลับมานับไม่ถ้วน การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใดเลย

คำถามคือโจ้ทำได้อย่างไร เขาคิดต่างหรือมองเห็นอะไรที่คนอื่นคาดไม่ถึงหรือ

เพื่อหาคำตอบ นี่เป็นเหตุผลที่เราอยู่กับโจ้วันนี้

คุณพอมีเวลาสัก 10 นาทีหรือเปล่า

ผมเชื่อว่าเนื้อหาตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป จะไม่ทำให้คุณเสียดายเวลาอันมีค่าแน่นอน

01

ถึงเวลาผันตัวเป็นสตาร์ทอัพ

ก่อนผันตัวเป็นสตาร์ทอัพเช่นทุกวันนี้ บริษัทของโจ้เคยเป็นผู้รับผลิตซอฟต์แวร์ (Software House) ให้องค์กรอื่นมาก่อนเป็นเวลา 7 ปี

ทุกอย่างเหมือนจะดี แต่บริษัทเริ่มเติบโตถึงจุดที่ต้องแข่งรับงานระดับร้อยล้านบาทกับบริษัทมหาชนที่มีทรัพยากรครบถ้วน ซึ่งแน่นอนว่าสู้ไม่ไหว

และทุกปีที่ผ่านมาแทบคล้ายกันหมด คือรับโจทย์จากคนอื่นและทำตามให้สำเร็จ ไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไรแปลกใหม่เท่าไหร่

โจ้จึงเกิดความคิดในพ.ศ 2557 ว่าถึงเวลาตั้งโจทย์ขึ้นใหม่ และสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองผ่านเทคโนโลยีที่พวกเขาถนัด

“เราตั้งทีมพิเศษขึ้นมาคิดไอเดียใหม่ โดยระหว่างนี้ยังรับโปรเจกต์พัฒนาซอฟต์แวร์อื่นไปด้วยเพื่อหาเงินเลี้ยงบริษัท บางทีต้องทำงานนอกเวลาและวันเสาร์อาทิตย์ด้วย เป็นอย่างนี้อยู่เกือบปีที่ไม่มีรายได้จากทีมนี้ แต่นี่เป็นวิธีแบบสตาร์ทอัพที่ต้องลงทุนสร้างให้เกิดขึ้นก่อน ถ้าได้ผลก็ไปต่อ ถ้าไม่ได้ก็เลิกแล้วไปทำอย่างอื่น” โจ้เล่าย้อนกลับไปช่วงแรกที่ตระหนักว่าต้องปรับตัว

เกิดไอเดียขึ้นหลากหลายในช่วงปีนี้ QueQ คือหนึ่งในนั้นที่โจ้ได้ไอเดียจากการมองเห็นความเบื่อหน่ายของคนที่ต้องต่อคิวธนาคารและโรงพยาบาล เขาจึงเลือกเรื่องคิวที่ใกล้ตัว เป็นหมัดฮุกไว้เปิดตัวให้คนรู้จัก

“ปัญหาเรื่องคิวไม่ใช่เรื่องใหม่ เห็นกันได้ประจำ มีคนพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีการต่างๆ เยอะเช่น ใช้เครื่องแจกกระดาษ เพียงแต่ตอนเริ่มเราจับจุดถูก โดยดูที่พฤติกรรมของคนว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้ควรแก้ตรงไหน จนเกิดวิธีแก้ที่คนรู้จัก ยอมใช้ และขยายออกเป็นวงกว้างได้” โจ้อธิบาย

จุดเริ่มต้นที่ถูกของ QueQ คือ การเลือกตลาดแรกอย่างร้านอาหาร ไม่ใช่ธนาคารหรือโรงพยาบาล

เพราะโจ้เข้าใจดีว่าคนไม่ไปโรงพยาบาลหรือธนาคารกันบ่อยนักหรอก สิ่งที่ตามมาคือ คนจะไม่ค่อยอยากดาวน์โหลดแอปลิเคชันเพราะวุ่นวาย

แต่ถ้าอยากให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมและนึกถึง QueQ เมื่อใดที่เจอปัญหาเรื่องคิวแล้ว ต้องเริ่มจากสถานที่ที่มีความถี่การใช้งานสูง จนการมีแอปพลิเคชันเพิ่มเป็นความคิดที่คุ้มค่าและเข้าท่า

พวกเขาจึงเริ่มพัฒนา QueQ ที่ตอบโจทย์การเข้าคิวที่ร้านอาหารอยู่ครึ่งปี ก่อนออกไปทดลองจริงกับลูกค้ารายแรก

QueQ สตาร์ทอัพไทยที่ช่วยธุรกิจและคนหลักล้านบริหารเวลาได้อย่างชาญฉลาดมากกว่าแค่เรื่องคิว

02

แอบอยู่ร้านชาข้างๆ เพื่อเข้าใจผู้ใช้งานและชนะใจลูกค้ารายแรก

โจ้และทีมเริ่มพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือสำหรับผู้ใช้งาน รวมถึงซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่เป็นตู้สกรีนแสดงคิวหน้าร้านอาหารตั้งแต่วันแรก ๆ

“เราเดินห้างและเกิดคำถามว่า คนจะรู้ได้อย่างไรว่าร้านใช้ QueQ จากนั้นเราเห็นภาพเลยว่ามันต้องเป็นจอใหญ่ๆ ตั้งอยู่หน้าร้านเป็นสัญลักษณ์ให้คนเห็นคิว และเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน” โจ้อธิบายภาพที่เคยปรากฏในหัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพทั่วไปอาจไม่ค่อยอยากทำนัก เพราะฮาร์ดแวร์มีราคาต้นทุนสูงกว่า แต่โจ้เชื่อว่านี่คือคำตอบ

ความยากไม่ได้อยู่ที่ไอเดียหรือเทคโนโลยี แต่กลายเป็นการหาลูกค้ารายแรกให้ได้

“ทุกที่ถามเหมือนกันหมดว่ามีใครเคยใช้ของคุณหรือยัง เขากลัวพลาด ถ้ามีรายแรกใช้แล้วเลิก อันนี้จะอันตรายมาก แต่ถ้ารายแรกใช้แล้วเวิร์ก มันจะตอบคำถามคนอื่นได้หมดเลย ลูกค้ารายแรกจึงสำคัญมาก”

โชคดี พวกเขาพบ Shabushi สาขาเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าวที่ยอมให้ติดตั้งระบบและตู้สกรีนเพื่อทดลอง และเข้าใจว่าของใหม่อาจมีผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา

สิ่งที่โจ้ทำเพื่อให้ร้านมั่นใจคือการนำทีมงานลงไปอยู่ข้างๆ ร้านเสียเลย

“เรากับทีมโปรแกรมเมอร์และดีไซน์ไปนั่งแอบอยู่ที่ร้านชาข้างๆ ร้าน รวมถึงมีทีมการตลาดไปเชิญชวนให้คนดาวน์โหลด QueQ และคอยสังเกตพฤติกรรมลูกค้าว่าไม่เข้าใจตรงไหนบ้าง เพื่อวิเคราะห์ว่าหน้าตาระบบควรเป็นอย่างไร มันใช่แบบที่เราคิดหรือเปล่า ถ้าเจอปัญหาก็แก้เตรียมไว้ รอร้านปิดตอนสี่ทุ่มค่อยไปลงโปรแกรมใหม่แล้วทดสอบพรุ่งนี้เช้า วนอย่างนี้อยู่ห้าเดือน” โจ้อธิบาย รวมทั้งหมดแล้วพวกเขาใช้เวลา 1 ปีก่อนมีรายได้อย่างเป็นรูปธรรม

ความพยายามในการเข้าใจผู้ใช้งาน ทำให้พวกเขาพัฒนาจนได้ระบบจัดการคิวร้านอาหารที่เสถียรในเชิงเทคโนโลยี รองรับผู้ใช้งานจำนวนมากได้พร้อมกัน และตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้

ลูกค้าร้านอาหารสามารถจองคิวออนไลน์ร้านที่อยู่ในระยะ 2 กิโลเมตร ระบบจะแสดงว่าต้องรออีกกี่คิว ใกล้ถึงคิวเมื่อไหร่ ระบบจะแจ้งเตือนทางแอปพลิเคชัน ซึ่งผู้ใช้งานไม่ต้องเสียเวลานั่งรอ

ส่วนร้านอาหารก็รองรับลูกค้าได้มากขึ้น ธุรกิจไม่เสียประโยชน์จากความเบื่อหน่ายในการรอคอย มีกำไรเพิ่มขึ้น สิ่งที่ร้านต้องจ่ายคือค่าเช่าระบบและตู้รายเดือน ซึ่งถูกกว่าการจ้างพนักงาน 1 คนมาดูแลคิวเสียอีก

ในพ.ศ 2558 QueQ เจอคำตอบที่ชนะใจทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว บริษัทจึงค่อยๆ เลิกรับโปรเจกต์อื่น และย้ายทีมทั้งหมดมาทุ่มสุดตัวกับ QueQ

QueQ สตาร์ทอัพไทยที่ช่วยธุรกิจและคนหลักล้านบริหารเวลาได้อย่างชาญฉลาดมากกว่าแค่เรื่องคิว

03

จากพฤติกรรมสู่วัฒนธรรม

ความเก่งกาจของ QueQ คือการสร้างแบรนด์อันเป็นที่จดจำจนธุรกิจและผู้คนบอกต่อให้เอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยใช้งบการตลาดเพียงเดือนละไม่กี่หมื่นบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนฐานผู้ใช้งานที่มี

“เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ลอกกันได้ไม่ยาก แต่นวัตกรรมจะเกิดได้ คนต้องเข้าใจและใช้งานจริง อันนี้เป็นเรื่องที่ยากกว่า ซึ่งตอนแรกทีมเรามีแต่โปรแกรมเมอร์ทั้งนั้น ทำการตลาดไม่เป็นหรอก แต่เรียนรู้ระหว่างทางว่าแบรนด์สำคัญมากในการจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนเป็นล้าน ถ้าคนเชื่อในแบรนด์ว่าตอบโจทย์ได้จริง เขาจะนึกถึงเรา”

สาเหตุที่ตลาดยินดีโอบรับ QueQ เป็นเพราะการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดอย่างถูกเวลา

“ตอนแรกเราคิดว่าร้านคงไม่ยอมให้มีตู้ที่ติดโลโก้ QueQ แปะอยู่หน้าร้าน แต่ปรากฏว่าคนถามพนักงานตลอดว่าจองคิวอย่างไรจนพนักงานเบื่อ เราเลยเสนอให้เอาชื่อ QueQ ไปแปะพร้อมบอกวิธีการ คนจะได้เข้าใจและจำได้ พอร้านแรกตกลง ร้านต่อไปก็ทำตาม กลายเป็นได้โปรโมตไปในตัว แถมเป็นช่วงที่ร้านต่างๆ เริ่มตามหาเทคโนโลยีมาทำให้ประสบการณ์ผู้บริโภคดีขึ้นพอดี พอมีร้านในระบบเยอะขึ้น คนก็เริ่มรู้จักและใช้งานมากขึ้น ถือว่าถูกจังหวะมาก” 

อีกวิธีการที่ QueQ ทำคือการสร้างตัวการ์ตูนให้น่ารักเป็นที่จดจำ ซึ่งเกิดจากการดูข้อมูลว่ากลุ่มผู้ใช้งานเป็นใคร ปรากฏว่าเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงเท่าตัว

“เพราะร้านอาหารที่ต้องรอคนเยอะ ผู้ชายมักจะเปลี่ยนร้าน แต่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะรอมากกว่า” โจ้เฉลย เป็นสาเหตุที่เขาทำตัวการ์ตูนให้เข้าถึงคนง่าย โดยใช้แนวคิดแบบเดียวกับสติกเกอร์ใน LINE ที่คนชื่นชอบ

เมื่อผู้ใช้งานมากขึ้น QueQ ก็สามารถสร้างอิทธิพลในระดับวัฒนธรรมได้

นึกถึงเรื่องรอคิวเมื่อไหร่ คุณจะนึกถึง QueQ

04

ข้อมูลและบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ยิ่งกว่าเดิม

พอผู้ใช้งานมากขึ้น สิ่งที่ QueQ มีเหนือใครคือข้อมูลที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้

“ระบบคิวแบบดั้งเดิมวิเคราะห์เป็นตัวเลขไม่ได้เลยว่าเฉลี่ยเวลารอคิวในแต่ละร้านนานเท่าไหร่ ช่วงที่คนเยอะคือกี่โมง เป็นผู้ชายผู้หญิงเท่าไหร่ แต่ QueQ ทำได้”

โจ้เองก็วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น เพื่อคิดค้นฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์และสร้างรายได้มากขึ้น

เช่น การสั่งอาหารล่วงหน้า เกิดจากการเห็นพฤติกรรมพนักงานออฟฟิศที่ต้องเร่งรีบกินข้าวตอนเช้ากับตอนเที่ยง แต่คนมักจะหนาแน่นมากในช่วงเวลานี้ พอคนเยอะก็ต้องนั่งรอ

QueQ จึงทำให้สั่งรายการอาหารจากในออฟฟิศได้เลย จ่ายเงินออนไลน์แล้วค่อยมาหยิบตอนได้อาหารทีเดียว ร้านอาหารรับคนได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานเสิร์ฟหรือแคชเชียร์เยอะเกินความจำเป็น ส่วนผู้บริโภคก็เอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้

QueQ จึงไม่ได้มุ่งแก้เรื่องคิวอย่างเดียวแล้ว แต่แก้ปัญหาประสิทธิภาพการทำงานของร้าน ผ่านเทคโนโลยีและข้อมูลที่มี 

QueQ สตาร์ทอัพไทยที่ช่วยธุรกิจและคนหลักล้านบริหารเวลาได้อย่างชาญฉลาดมากกว่าแค่เรื่องคิว

05

แก้ปัญหาที่ใหญ่และแตกต่าง ด้วยแก่นแนวคิดแบบเดียวกัน

หลังจากฝั่งร้านอาหารเติบโตได้ดี QueQ ตัดสินใจกระโดดลงมาช่วยเหลืออีกหนึ่งสถานที่ที่คนเยอะมากเป็นพิเศษอย่างโรงพยาบาล

โรงพยาบาลแรกที่ยินดีให้ทดลองอยู่ที่จังหวัดระยอง โจ้จึงนำทีมงานลงพื้นที่ คลุกคลีและช่วยแก้ไขปัญหาเหมือนเดิม โดยทำงานประสานงานระยะไกลกับทีมที่กรุงเทพฯ

สิ่งที่ QueQ พยายามแก้คือ การทำให้คนไข้ที่ไม่ได้นัดหมาย (Walk-in) หายไป เพราะเป็นสาเหตุให้ระบบการจัดการคิวมีการเปลี่ยนแปลง และต้องรอแพทย์ให้บริการคนที่มากขึ้น ผู้ป่วยเอาแน่เอานอนกับเวลานัดตรวจไม่ได้

แต่ถ้าทุกคนนัดหมายล่วงหน้าออนไลน์ก่อน 100 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสสูงมากที่จะได้รับบริการตามเวลานัดหมาย

ด้วยระบบของ QueQ จะทำการแยกประเภทผู้ป่วย คนไข้นัดหมายจะได้รับสิทธิ์เข้าตรวจก่อนตามเวลา ส่วนคนไข้ที่ไม่ได้นัดหมายต้องรอตรวจทีหลัง ซึ่งแน่นอนว่าการนัดหมายก่อนประหยัดเวลากว่า

เป็นสาเหตุให้คนจะยอมเปลี่ยนมานัดหมายก่อนพบแพทย์ผ่านทาง QueQ จนสุดท้ายกลายเป็นเรื่องปกติของชีวิต

เท่านี้ ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการตรวจที่ตรงเวลา

แต่ความยากอีกประการของโรงพยาบาล คือแต่ละที่มีกระบวนการดูแลผู้ป่วยไม่เหมือนกันและซับซ้อน ทั้งมีจุดคัดกรอง พบแพทย์ จ่ายเงิน รับยา หรือบางทีแต่ละแผนกของโรงพยาบาลยังใช้ระบบที่แตกต่างกัน

หน้าที่ของ QueQ คือการออกแบบระบบที่รองรับทุกรูปแบบ โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาล

“เราไม่สามารถปรับให้เหมาะกับโรงพยาบาลแต่ละที่โดยเฉพาะ เพราะไม่สามารถขยายต่อไปที่อื่นได้ เราเลยสร้างระบบมาตรฐานจากการวิเคราะห์รูปแบบการให้บริการทั้งหมด แล้วค่อยๆ เพิ่มรูปแบบเข้าไปในตัวมาตรฐานที่มีอยู่ให้ครอบคลุม” โจ้เล่าแนวคิดที่ทำให้เขาแก้ปัญหาความซับซ้อนได้

นอกจากช่วยจัดการนัดหมายให้โรงพยาบาลได้มีเวลามุ่งเน้นกับการรักษามากขึ้น QueQ ยังสามารถเสนอวิธีจัดระบบที่มีประสิทธิภาพกว่าจากข้อมูลที่มี เหมือนในกรณีร้านอาหารได้อีกด้วย

“ลองนึกภาพว่าเราเก็บข้อมูลหลายโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน เราจะวิเคราะห์ได้ว่าระบบโรงพยาบาลแบบนี้ จุดไหนมีปัญหา มีจำนวนคนไข้เท่าไหร่ ผู้บริหารมีข้อมูลรองรับ ช่วยตัดสินใจแก้ไขปัญหาบุคลากรและอุปกรณ์ได้อย่างตรงจุด มันจะเป็นข้อมูลทางสาธารณสุขส่วนหนึ่งของประเทศเลย”

พ.ศ 2563 QueQ จะมุ่งเน้นที่การแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลอย่างเต็มรูปแบบ

QueQ สตาร์ทอัพไทยที่ช่วยธุรกิจและคนหลักล้านบริหารเวลาได้อย่างชาญฉลาดมากกว่าแค่เรื่องคิว

06

เปิดตลาดต่างแดน

หลังได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง ถึงเวลาของการขยายอาณาเขตสู่ต่างแดน

ปัจจุบัน QueQ เข้าไปเปิดตลาดระบบจัดการคิวร้านอาหาร และมีทีมงานประจำอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่น และไต้หวันอย่างเป็นทางการ โดยปรับแต่งภาษาบนระบบเรียบร้อย

นอกจากนี้ ยังนำผลิตภัณฑ์ไปทดลองกับร้านอาหารที่ฟิลิปปินส์ ธนาคารที่ลาว และโรงพยาบาลที่กัมพูชา โดยพิจารณาจากปัญหาที่แต่ละประเทศมี

ปรากฏว่าเสียงตอบรับดีมากในพื้นที่ที่เข้าไป แม้แต่ในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมการต่อคิวเป็นระเบียบอย่างญี่ปุ่น

“คนญี่ปุ่นชอบมากและพูดถึงเราในทวิตเตอร์เยอะจนน่าตกใจ จริงๆ เขาไม่ได้มีวัฒนธรรมเป็นการเข้าคิวนะ แต่เป็นการไม่เอาเปรียบคนอื่น เพียงแต่ยังไม่มีทางเลือกอื่นให้เขานอกจากการเข้าคิว ซึ่งจริงๆ หน้าร้านญี่ปุ่นหลายร้านก็เล็กไม่เหมาะที่จะเข้าคิว เราเลยคิดว่าเราเป็นทางเลือกนั้นได้” โจ้เล่าถึงปรากฏการณ์ที่ทำให้ประหลาดใจ เขามองว่าบริการนี้ยังมีโอกาสขยายต่อในต่างประเทศได้อีกเยอะมาก

และหากใครคิดจะเข้ามาตีตลาดแข่งกับ QueQ คงต้องขอบอกว่ายาก

เพราะ QueQ มีระบบ องค์ความรู้ และประสบการณ์ราว 5 ปีจากการพัฒนาที่ไทยเรียบร้อย และการขยายตัวไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานเยอะ อย่างที่มาเลเซีย สร้างธุรกิจได้โดยใช้พนักงานเพียง 3 คนเพื่อดูแลการขายและติดตั้งเท่านั้น

ถือเป็นข้อได้เปรียบของสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีบริหารต้นทุนได้อย่างชาญฉลาด

07

เติบโตไปด้วยกัน เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศ

“ความจริงอันโหดร้ายคือ ปัจจุบันการระดมทุนในไทยเป็นไปได้ยากมาก เพราะนักลงทุนหันไปลงทุนที่ประเทศอื่นหมดแล้ว ถ้าคุณทำสตาร์ทอัพในไทยอย่างเดียว อาจไม่พอนะ ต้องหาทางออกไปต่างประเทศให้ได้” โจ้เล่าความน่ากังวลของวงการสตาร์ทอัพไทยให้เราฟัง

ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพสัญชาติอื่นจำนวนมากเข้ามารุกตลาดไทย ผ่านการผลาญเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้ลูกค้ามหาศาล ผลคือเม็ดเงินไหลออกนอกประเทศ ยิ่งสตาร์ทอัพเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ต้องใช้เงินทุนสูงในการสร้างโรงงานเหมือนธุรกิจแบบเมื่อก่อน แต่สร้างผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมได้มากมาย เช่น โซเชียลมีเดียที่พลิกวงการสื่อ ทำให้ไทยยิ่งไม่ได้รับผลประโยชน์ทางภาษีและการจ้างแรงงานท้องถิ่น

หากสตาร์ทอัพไทยยังคงเป็นฝ่ายรอตั้งรับอยู่แบบนี้ มีแต่จะถูกควบซื้อกิจการหรือไม่ก็พ่ายแพ้ทางเศรษฐกิจระดับประเทศ

นี่จึงกลายเป็นเป้าหมายระยะยาวของ QueQ ในการเติบโตร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการและขยายตลาดเข้าสู่ต่างประเทศ เพื่อให้นักลงทุนเห็นศักยภาพและกลับมาลงทุนในประเทศไทย สตาร์ทอัพรายย่อยจะได้มีโอกาสเติบโตขึ้นมาแก้ปัญหาใหม่ๆ

“เรามองภาพว่าต่อไปนี้ไม่ใช่การโตคนเดียว แต่จะช่วยพัฒนาสตาร์ทอัพตัวอื่นภายใต้แบรนด์ QueQ ด้วย เช่น ดูแล Makub ที่ทำด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ follovv ที่ทำด้านการท่องเที่ยว หรือลงทุนในบริษัทอื่นอย่าง Daywork ที่ทำเรื่องการจ้างงานพาร์ตไทม์ เพราะเราทำทุกอย่างในโลกไม่ได้ ต้องจับสิ่งที่เราเก่งที่สุดแล้วหาพาร์ตเนอร์ที่เก่งด้านนั้นมาร่วมมือกัน”

“แต่ถ้าไม่เริ่มทำอะไรของตัวเอง เราอาจตกรถกระแสดิจิทัลอีกครั้ง หลังจากตกรถสมัยเปิดนิคมอุตสาหกรรม โดยการผลิตสินค้าให้ประเทศอื่นจนไม่สร้างอะไรของตัวเอง ถึงตอนนั้นเมื่อไหร่ คนรุ่นหลังเราจะมีปัญหาทันที”

แล้วคนทั่วไปอย่างเราสามารถสนับสนุนภารกิจของ QueQ หรือสตาร์ทอัพไทยได้อย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้ลำบากคนรุ่นต่อไป เราสงสัย

“ลองสนับสนุนผลิตภัณฑ์ประเทศเรา แน่นอนตอนแรกมันจะยังห่วย QueQ เดือนแรกก็ห่วยเหมือนกัน แต่พอมีคนใช้ เลยมีรายได้กลับมาพัฒนาต่อจนดีขึ้นเรื่อยๆ”

QueQ สตาร์ทอัพไทยที่ช่วยธุรกิจและคนหลักล้านบริหารเวลาได้อย่างชาญฉลาดมากกว่าแค่เรื่องคิว

08

โปรดลดอีโก้ เพื่อเติบโตให้ทันองค์กรของตัวเอง

แค่ฟังโจ้เล่า เรายังรู้สึกว่าการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพช่างกดดันเสียเลยเหลือเกิน

ซึ่งโจ้ยอมรับว่า ทุกคนในวงการนี้ต่างผ่านเรื่องราวเหล่านี้กันทั้งนั้น มีเหตุการณ์วัดใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะผ่านไปได้หรือเปล่า

จะเติบโตทันกับรอบการลงทุนไหม จะขยายฐานผู้ใช้งานต่อไปอย่างไร จะดูแลทีมได้ไหม เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่เกิดขึ้นเสมอ

สิ่งที่โจ้ทำเพื่อจัดการความรู้สึกภายในคือการรวมกลุ่มพบปะกับผู้ประกอบการคนอื่น เพื่อปรึกษาและช่วยเหลือปรับทุกข์กัน ซึ่งช่วยได้ค่อนข้างมาก เพราะต่างต้องร่วมชะตากรรมคล้ายกัน

แต่ที่สำคัญสุดคือ การไม่ยอมหยุดเรียนรู้โดยเด็ดขาด

“อีโก้เราหายตั้งแต่ตอนเริ่มเปลี่ยนเป็นสตาร์ทอัพเลย ช่วงแรกเราเป็นผู้บริหารที่ต้องไปแข่งประกวดสตาร์ทอัพกับเด็กมหาวิทยาลัย ซึ่งบางครั้งแพ้ด้วย ทำให้เรายอมเปิดรับสิ่งใหม่หมด ตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่าตอนนี้ต้องเรียนรู้เรื่องอะไร จะไปหาความรู้นี้ได้จากใคร”

“แต่ละปีจะมีโจทย์ต่างกันเสมอ ทำให้ตัวเราต้องเปลี่ยนและเรียนรู้ทุกปี เช่นปีแรกตอนไปแอบอยู่ร้านชา เราตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดี แต่ปีต่อมาต้องทำเรื่องแบรนด์กับขยายตลาดมากขึ้น ซึ่งไม่เคยทำ แต่ก็ต้องทำ พอขยายทีมไปต่างประเทศ ก็มีเรื่องดูแลคน บัญชี กฎหมาย เคยทำไหม ไม่เคย แต่ก็ต้องเรียนรู้และขวนขวายเองอย่างถ่อมตัว ไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จ”

“ถ้าจะเป็นผู้ประกอบการ ต้องโตตามองค์กรตัวเองให้ทันด้วย หยุดเรียนรู้ไม่ได้เลย” โจ้กล่าวทิ้งท้าย ก่อนเราต่างแยกย้ายกันกลับไปตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองอย่างรู้คุณค่าเวลา

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan