ตลอด 27 ปีที่ผ่านมา ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จัดงานไปแล้ว 22,709 งาน

ในฐานะศูนย์การประชุมระดับนานาชาติแห่งแรกของไทย ศูนย์นี้ให้การต้อนรับคนจากประเทศต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยส่วนใหญ่เมื่อผู้คนเหล่านี้ลงเครื่อง ณ เมืองไทยแล้ว ก็มักไม่มีโอกาสได้ก้าวไปไหนนอกจากก้าวเข้ามาในศูนย์การประชุม โรงแรม ศูนย์การประชุม และกลับบ้าน

นั่นคือสาเหตุที่ในตอนสร้างศูนย์การประชุม ผู้บริหารจึงชวนศิลปินแนวหน้าของไทยมาร่วมสร้างงานศิลปะตกแต่งทั่วอาคาร ทำให้ศูนย์การประชุมเป็นมากกว่าห้องประชุมสี่เหลี่ยมสีเรียบๆ ที่หน้าตาเหมือนกันทุกประเทศ เมื่อใครก้าวเข้ามาก็จะตระหนักได้ทันทีว่า นี่แหละเมืองไทย

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

มาถึงวันนี้ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ที่สร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 27 ปีที่แล้วดูเล็กลงทันตาเมื่อเทียบกับศูนย์ประชุมใหม่ๆ ที่เปิดตามมา แถมการใช้งานก็ขยายจากแค่เป็นศูนย์ประชุมไปเป็นทั้งจัดนิทรรศการ จัดเลี้ยง และอีกมาก เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ ปีนี้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จึงมีโครงการปรับปรุงเพื่อขยายพื้นที่ให้สามารถรองรับการจัดงานได้อย่างเต็มศักยภาพ

The Cloud เลยอยากชวนทุกคนมาศูนย์ฯ สิริกิติ์ ก่อนจะเจอกันอีกทีในศูนย์ใหม่ ไม่ได้เพื่อมาดูงานที่จัดแสดงหรืองานประชุมอะไร แต่เพื่อมาดูตัวศูนย์เองนี่แหละ ว่ามีงานศิลปะล้ำค่าอะไรซ่อนอยู่บ้าง

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ผู้ที่ให้เกียรติมาเป็นไกด์ให้เราคือ ม.ร.ว.สวัสดิวุฒิ สวัสดิวัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารของศูนย์ฯ สิริกิติ์ท่านบอกเราว่า “พวกเราอยู่ที่ศูนย์กันตลอด ก็เดินผ่านไปผ่านมาไม่ได้สนใจ แต่พอลองไปยืนดูงานศิลปะพวกนี้ดีๆ ก็จะทึ่งทุกที”

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ขอเชิญเดินดูไปด้วยกัน

00

สถาปัตยกรรม

ก่อนจะเข้าไปในอาคาร ขอให้ลองมองดูอาคารจากภายนอกก่อน

เมื่อ พ.ศ. 2534 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46 (46th Annual Meeting of the Boards of Governors of the World Bank Group and the International Monetary Foud) ทำให้ต้องสร้างอาคารรับรองการประชุมขึ้น

หากดูเผินๆ ในปัจจุบันอาคารนี้อาจธรรมดาไปแล้ว แต่เมื่อ 27 ปีที่แล้ว อาคารแห่งนี้คือกรณีศึกษาเรื่องศูนย์ประชุมที่เหล่านักศึกษาและสถาปนิกทั่วประเทศต้องมาดูงาน เพราะใช้เทคโนโลยีในการสร้างที่ล้ำยุคมาก มีการจัดสัดส่วนทางเข้าออกที่ถูกต้องตามหลักทุกประการ แถมยังเป็นอาคารแห่งแรกในไทยที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมด้วย

ความจริงแล้วพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสวนเบญจกิติมาก่อน ตัวทะเลสาบขนาดใหญ่ 150 ไร่ อยู่ใกล้ศูนย์กลางของเมืองในตอนนั้นคือสีลม จึงเป็นที่ที่เหมาะจะสร้างศูนย์อย่างยิ่ง ทะเลสาบจึงถูกถมไปประมาณ 50 ไร่ แล้วสร้างอาคารแนวราบเพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพ และกลมกลืนไปกับธรรมชาติรอบด้าน

ส่วนแผนผังอาคารจำลองมาจากหมู่เรือนไทยโบราณที่มีหลายส่วนแล้วเชื่อมกันด้วยโถงทางเดิน โดยแต่ละส่วนจะตกแต่งเป็นภาคกลาง เหนือ อีสาน ใต้ ทำให้ผู้ที่เข้าประชุมสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมของไทยได้ในระยะเวลาอันสั้น

01

โลกุตระ

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นี่คืองานศิลปะชิ้นที่น่าจะคุ้นตามากที่สุด เพราะตั้งอยู่บริเวณจุดรับส่งทางเข้าศูนย์เพื่อเป็นเหมือนมือพนมต้อนรับผู้ที่มาเยือน

ประติมากรรมขนาดใหญ่สร้างสรรค์โดย อ.ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติปี 2541 โดยนำคำว่า โลกุตระ มาจาก โลกุตระปัญญา แปลว่า ปัญญาที่เหนือโลก ในเชิงพุทธศาสนาหมายถึงการหลุดพ้นจากทางโลก แต่ อ.ชลูด ได้กล่าวว่า ผู้มาเยือนจะตีความประติมากรรมนี้เป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะมือพนม ดอกบัว หรือเปลวไฟ

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

02

เสาช้าง ลูกโลก

เมื่อก้าวเข้ามาในศูนย์จะพบสัญลักษณ์นี้เป็นอย่างแรก เสาต้นนี้ประกาศตัวตนของศูนย์ในฐานะตัวแทนเมืองไทยที่รองรับคนจากทั่วโลก เหมือนช้างสี่เศียรที่แบกโลกไว้ งานศิลปะชิ้นนี้สร้างสรรค์โดย ธานี กลิ่นขจร ผู้บอกว่า ปกติแล้วประติมากรรมขนาดนี้ต้องใช้เวลาหล่อนาน แต่เวลาที่จำกัดทำให้ท่านเลือกใช้เอสเตอร์เรซิ่นหล่อตัวช้าง และใช้เหล็กดัดทำลูกโลก งานจึงเสร็จออกมาได้ในเวลา 2 – 3 เดือน

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

03

พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์

เมื่อเดินผ่านโถงที่มีเสาช้างลูกโลกเข้ามาถึงโถงทางเดินหลัก ซึ่งเป็นบริเวณธีมภาคกลาง จะพบพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นี่คือจิตรกรรมภาพสีน้ำมันบนผ้าใบที่วาดโดย สนิท ดิษฐพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติปี 2532 รายละเอียดภายในงานถูกต้องตามหลักพระราชประเพณีทุกอย่าง เพราะได้รับคำแนะนำจาก คุณเศวต ธนะประดิษฐ์ ที่ปรึกษาจากสำนักพระราชวัง เกี่ยวกับการทรงเครื่องใหญ่ เครื่องราชูปโภค และเครื่องราชกกุธภัณฑ์

การติดงานศิลปะไว้สูงเหนือหัวเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ให้สูงกว่าประชาชนทั่วไป และทุกทางเดินทั่วศูนย์จะมาเจอกันตรงนี้ เพื่อสื่อสารว่าพระองค์ทรงเป็นศูนย์กลางของทั้งประเทศ

04

พระราชพิธีอินทราภิเษก

เงยหน้ามองพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์เสร็จแล้ว อย่าลืมหันไปด้านซ้ายเพื่อดูงานมาสเตอร์พีซอีกชิ้นหนึ่ง

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

งานแกะสลักไม้ชิ้นนี้เป็นของ จรูญ มาถนอม ศิลปินคนเดียวกับที่สร้างปราสาทสัจธรรมที่พัทยา ไม้ทั้งหมด 56 แผ่นประกอบกันออกมาแล้วมีความยาวเกือบ 23 เมตร เล่าเรื่องการสถาปนาพระอินทร์ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองทวยเทพ เรียกว่าเป็นการเทิดพระเกียรตินั่นเอง

เพราะต้องทำงานให้เสร็จทันเปิดใช้ศูนย์ งานนี้จึงใช้เวลาแกะสลักเพียง 4 เดือน และอบไม้ต่ออีก 2 เดือน แม้โดยทั่วไปจะต้องอบไม้เป็นปีก็ตาม เมื่อนำงานมาจัดแสดงไว้ในห้องแอร์นานๆ ไม้จึงหดตัวและเกิดช่องว่างระหว่างชิ้นไม้ ซึ่งเมื่อ อ.จรูญ มาเห็น ก็กล่าวว่าปัญหานี้ซ่อมแซมได้ไม่ยาก เพียงแค่ต้องหาจังหวะที่จะถอดออกมาประกอบใหม่เท่านั้น

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

05

ประตูกัลปพฤกษ์และมือจับพญานาค

ใต้พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ก็มีงานศิลปะซ่อนอยู่อีกหลายชิ้น ตามตู้กระจกรอบเพลนนารี ฮอลล์ ที่เก็บงานหัตถกรรมจากพื้นถิ่นต่างๆ ไว้ แต่ที่โดดเด่นกว่างานเหล่านั้น คือประตูของฮอลล์เองนี่แหละ

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ประตูทั้ง 16 บานเป็นผลงานของ ไพเวช วังบอน จำลองแบบมาจากประตูของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วัดประจำวังหน้า โดยแต่ละบานเกิดจากการลงรักปิดทองด้วยมือตามวิธีโบราณ เป็นลวดลายต้นกัลปพฤกษ์และสัตว์หลากหลายชนิด ทั้งนก เสือ สิงห์ มังกรไทย มังกรจีน แต่ละบานมีสัตว์ไม่ซ้ำกันเลย

อย่าแปลกใจหากคุณไม่คุ้นกับงานชิ้นนี้ เพราะเมื่อมีการจัดนิทรรศการใหญ่ๆ ทางศูนย์จะเปิดประตูฮอลล์ค้างไว้ ทำให้เรามองไม่เห็นลวดลายบนบานประตู และยังคงรักษาสภาพดีมาได้ตลอด 27 ปี

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

06

นาคฮดสรง

ตัดภาพมาโซน A ที่ปัจจุบันเป็นร้านแบล็กแคนยอน ขอให้นึกย้อนกลับไปตอนศูนย์เปิดใหม่ๆ บริเวณนี้มีไว้รับรองแขกให้ได้พักผ่อนระหว่างงาน โดยตกแต่งให้อยู่ภายใต้ธีมภาคอีสาน

ในตอนนี้ ศิลปะที่ยังเหลือประดับอยู่เป็นหลักฐานของภาคอีสาน คือนาคฮดสรง โดย จรูญ มาถนอม เจ้าของเดียวกับภาพแกะสลักพระราชพิธีอินทราภิเษก โดยนาคฮดสรงนี้ทำจากไม้จำปา จำลองมาจากต้นแบบในรูปถ่ายโบราณที่ใช้เป็นที่สรงน้ำแก่ภิกษุผู้ใหญ่ที่ได้เลื่อนยศ

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

07

เทวรูปพระศิวะและพระนารายณ์

นอกจากงาน 2 ชิ้นที่กล่าวไปแล้ว อ.จรูญ ยังฝากงานศิลปะไว้อีก 2 ชิ้น คือเทวรูปไม้สูงเกือบ 3 เมตรที่ยืนอยู่ซ้ายขวาของทางขึ้นไปยังโซน D จำหลักไม้ตามรูปแบบทวารบาลทางขึ้นลานประทักษิณที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช คาดว่าสาเหตุที่ตั้งตรงนี้ เพราะแต่ก่อนใช้เป็นห้องรับรองแขกพิเศษ และวางเทวรูปไว้เป็นเชิงปกปักรักษาแขกทุกท่านให้ปลอดภัย

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

08

หนังใหญ่เรื่อง รามเกียรติ์ และเรือกอและ

เมื่อเดินผ่านเทวรูปไม้เข้ามา ในโซน D ตกแต่งเป็นธีมภาคใต้ โดยมีงานมาสเตอร์พีซอีกชิ้นที่ชาวต่างชาติมักตื่นตาตื่นใจและชอบมาถ่ายรูปด้วย

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นี่คือหนังใหญ่ขนาด 11×4 เมตร ที่ไม่ได้ทำจากหนัง! ประพันธ์ สุวรรณ ศิลปินชาวใต้ มองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้หนังทำงานชิ้นใหญ่ขนาดนี้ เพราะหาหนังผืนใหญ่ไม่ได้และไม่อาจแขวนให้ตึงได้ ท่านเลยเลือกใช้เหล็กอัลลอยแทน โดยเอาสว่านมาเจาะแทนการใช้สิ่ว ต้องหาวิธีเจาะอยู่นานกว่าจะออกมาพลิ้วไหวชดช้อยเหมือนหนังใหญ่ งานชิ้นนี้จึงพิเศษสุดๆ แบบที่น่าจะหาการทำเทคนิคนี้ที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

หน้าหนังใหญ่มีเรือกอและตั้งอยู่ ทำโดย กวี ศิริธรรม ล้อกับเรือจับปลาชายฝั่งของแท้ที่ใช้ในภาคใต้ โดยปกติแล้วศูนย์จะใช้เป็นที่จัดดอกไม้ต้อนรับแขก

09

ปราสาทธรรมาสน์

ในบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างโซน C โซน D และเพลนนารี ฮอลล์ ยกให้เป็นธีมภาคเหนือ และชูโรงด้วยปราสาทธรรมาสน์ งานศิลปะชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดในศูนย์ เพราะคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับผิดชอบเป็นผู้เชิญธรรมาสน์ไม้โบราณลงมาจากวัดกู่ดำน้อยในลำปาง

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ตัวธรรมาสน์มาพร้อมฐานที่รายล้อมด้วยรูปสัตว์หิมพานต์แกะไม้ลอยตัวด้วยไม้เนื้ออ่อน ปิดทองประดับกระจก ส่วนตัวปราสาทเป็นไม้เนื้อแข็งย้อมสีแดง ปิดทองเป็นลวดลายประดับ รอบๆ มีตุงแขวนอยู่ คือผ้าที่คนเหนือใช้ประดับงานมงคลเฉลิมฉลอง

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

10

ศาลาไทย

ไม่ใช่แค่ภายในตัวอาคารเท่านั้น เมื่อเดินออกด้านนอกจะพบไฮไลท์สุดท้ายที่รออยู่

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศาลาไทยที่ทำจากไม้ ติดกระจก และปิดทอง ตั้งตระหง่านสู้แดดฝนมาเกือบ 30 ปี นี่คือมาสเตอร์พีซของ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติปี 2537 ผู้ที่ฝากงานสถาปัตยกรรมไทยไว้หลายชิ้น ส่วนที่บอกว่าชิ้นนี้เป็นมาสเตอร์พีซ เพราะหลังจากทำเสร็จไม่นานท่านก็ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ตัวศาลาสร้างจากแนวคิดว่าไม่ได้ทำเพื่อชนชั้นสูง สังเกตได้จากลวดลายแกะสลัก ที่เลือกทำเป็นลายดอกพุดตาน เป็นการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองจากทุกที่อย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้ ศูนย์ยังมีงานศิลปะเก็บอยู่อีกกว่า 1,500 ชิ้น แต่ก่อนผลงานศิลปะทั้งหมดจัดแสดงตามพื้นที่ต่างๆ แต่เมื่อมีการปรับพื้นที่ให้สามารถรองรับการจัดงานได้มากขึ้น ผลงานศิลปะจึงถูกโยกย้ายไปจัดแสดงตามห้องประชุมต่างๆ โดยมีบางส่วนที่ถูกจัดเก็บไว้

เมื่อศูนย์เปิดใหม่ สัญญาว่าคุณจะได้เห็นผลงานศิลปะต่างๆ อีกครั้ง พร้อมกับงานชิ้นใหม่ๆ ที่จะรังสรรค์ขึ้นใหม่ด้วย โดยการจัดวางก็จะเหมาะสมลงตัวและยิ่งใหญ่กว่าเดิม ไม่ว่าจะจัดงานอะไร ศิลปะเหล่านี้ก็จะยังเป็นไฮไลท์อยู่เสมอ

“วันนี้เราอาจไม่ใช่ศูนย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่เราจะกลับมาเป็นอย่างนั้นให้ได้” ม.ร.ว.สวัสดิวุฒิ สัญญาปิดท้าย

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographers

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน