5 กุมภาพันธ์ 2019
18 K

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์แนวหน้าของประเทศไทย มีวัตถุจัดแสดงที่สวยงาม มีวิธีการจัดเก็บและจัดแสดงที่ได้มาตรฐานสากล และมีความเพียบพร้อมด้วยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจำนวนมาก ทำให้การเปิดนิทรรศการใหม่ในแต่ละครั้งของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการพิพิธภัณฑ์ของบ้านเราอยู่เสมอๆ

ล่าสุดนี้เราจึงถือโอกาสแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมนิทรรศการใหม่แกะกล่อง ‘ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา’ อีกทั้งได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่การศึกษา คุณพรรณฑิรา สุวรรณสถิตย์ ผู้ให้ความกรุณาแบ่งปันเรื่องราวการทำงานเบื้องหลังงานด้านการศึกษาสำหรับนิทรรศการนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ผ่าน 2 ส่วนที่สำคัญ คือ ‘ห้องจัดแสดง’ ที่นำเสนอความสวยงามของผืนผ้าบาติกอันน่าตื่นตาตื่นใจจากประเทศอินโดนีเซียและ ‘ห้องกิจกรรมบาติก’ เป็นห้องที่ต่อยอดความสำคัญของผ้าบาติกมาสู่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างน่าสนใจ

พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก

การปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล

อาจจะต้องเกริ่นให้ฟังก่อนว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2555 ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมุ่งหวังให้เป็นแหล่งความรู้ที่ยั่งยืนเกี่ยวกับผ้า ตลอดจนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของไทย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีนิทรรศการหมุนเวียนจัดแสดงทุกปี ประกอบกับวัตถุจัดแสดงประเภทผ้านั้นมีความอ่อนไหวกว่าวัตถุจัดแสดงประเภทอื่น จึงต้องมีการสลับหมุนเวียนวัตถุจัดแสดง ทางทีมงานกระซิบบอกกับเราว่า กว่าจะนำผ้าแต่ละผืนมาจัดแสดงได้นั้นต้องผ่านกระบวนการมากมาย ทั้งการตรวจสอบสภาพวัตถุ การทำบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด  การแช่แข็งวัตถุด้วยอุณหภูมิลบ 20 องศาเซลเซียส เพื่อกำจัดเชื้อราและแมลงที่ติดมากับตัววัตถุก่อนจัดเก็บในห้องคลัง

บางชิ้นมีการซ่อมแซมโดยเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ และตู้จัดแสดงจะต้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ ตลอดจนเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ไร้กรดเพื่อไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีทั้งในส่วนการจัดเก็บและจัดแสดงอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก

นิทรรศการ ‘ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา’

หลังจากที่ซื้อบัตรด้านล่างเสร็จสรรพ (ผู้ใหญ่ 150 บาท / ผู้สูงอายุ 80 บาท / นักเรียนนักศึกษา 50 บาท) เราขึ้นไปชั้นสองผ่านบันไดหินอ่อนสีขาวแล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ห้องนิทรรศการ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไป เราเห็นผ้าบาติกหลากหลายสไตล์ถูกจัดแสดงไว้อย่างสวยงาม ผ้าแต่ละผืนมีลวดลายวิจิตรแปลกตา ชวนให้ตื่นเต้นและตั้งคำถามไปพร้อมๆ กัน เพราะโดยปกติแล้ว ถ้าเรามาชมนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เราจะได้ชื่นชมผ้าไหมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ แต่ครั้งนี้ทำไมถึงเลือกจัดแสดงผ้าบาติกที่มาจากประเทศอินโดนีเซียกันเล่า?

พอได้อ่านเนื้อหาในนิทรรศการเราจึงถึงบางอ้อว่า นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนชวาและเพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงรวบรวมวิทยาการและศิลปวัฒนธรรมมาปรับใช้ในการวางรากฐานพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนชวาอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2413 ซึ่งนับเป็นการเสด็จฯ ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเป็นครั้งแรกของราชวงศ์จักรี จากนั้นยังได้เสด็จเยือนชวาอีก 2 ครั้งใน พ.ศ. 2439 และ พ.ศ. 2444 เพื่อศึกษาความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ รวมทั้งแบบอย่างการปกครอง ธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

ระหว่างการเสด็จฯ เยือนชวา พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโรงเขียนผ้าบาติกอันเป็นหัตถศิลป์ที่เลื่องชื่อ ทรงซื้อผ้าบาติกและมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 300 ผืน!

ผ้าทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาหมุนเวียนจัดแสดง แบ่งออกเป็น 2 ห้องด้วยกัน ห้องแรกมีผ้าจากเมืองต่างๆ เช่น ผ้าจากเมืองเซมารังมีการใช้สีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งลวดลายได้รับอิทธิพลแบบตะวันตก ผ้าจากเมืองบันยูมัส (ชวาตอนกลาง) มีความโดดเด่นในการใช้สีน้ำตาลกับสีน้ำเงิน ผ้าจากเมืองลาเซ็ม ที่มีการย้อมด้วยสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์และวาดลายมงคลแบบจีน เช่น แจกันดอกไม้ ผีเสื้อ เสือ เป็นต้น

ผ้าจากเมืองการุต (ชวาตะวันตก) มีความโดดเด่นด้วยการใช้สีแดงอมน้ำตาล รวมถึงผ้าที่เราชอบมากที่สุดคือ ผ้าจากเมืองเปอกาลองงัน เป็นเมืองชายฝั่งตอนเหนือของเกาะชวา เมืองนี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาก เจ้าของโรงเขียนผ้ามีทั้งชาวชวา ชาวดัตช์ ชาวจีน ทำให้เราสนุกกับการแกะรอยวัฒนธรรมที่หลากหลายผ่านลายผ้า ผ้าจากเมืองนี้ที่จัดแสดงอยู่มีการใช้สีแบบพาสเทลและมีลายดอกไม้กระจายเต็มผืน จึงเชื่อว่าเจ้าของโรงเขียนผ้าเป็นชาวตะวันตกเพราะได้อิทธิพลการออกแบบสไตล์ยุโรป

ห้องที่ 2 เป็นผ้าจากเมืองยอกยาการ์ตาและสุราการ์ตาในเกาะชวาตอนกลาง ทั้งสองเมืองนี้ยังคงรูปแบบการปกครองแบบราชสำนัก มีผู้ปกครองสูงสุดเป็นสุลต่านและสุสุฮูนัน ห้องนี้มีไฮไลต์คือฉลองพระองค์แบบชวาจำลอง ซึ่งมีต้นแบบมาจากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระปิยมหาราชที่ทรงฉายในเมืองยอกยาการ์ตา และการจัดแสดง ‘ป้าย’ ที่ติดมากับผ้าบาติกของพระองค์ โดยป้ายเล็กๆ เหล่านี้มีการบันทึกชื่อเมืองที่ผลิตและราคาของผ้าด้วยภาษาไทย อังกฤษ และดัตช์ ทำให้เรารู้ว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ให้เก็บผ้าชุดนี้ไว้เพื่อการศึกษาในสยามอย่างแท้จริง

ห้องกิจกรรมแสนสนุก

คุณพรรณฑิราบอกกับเราว่า “การจัดการการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญของพิพิธภัณฑ์ ดังนั้น เราจะต้องทำงานร่วมกันกับภัณฑารักษ์ เพื่อให้งานด้านการศึกษาสอดคล้องไปกับเนื้อหาของนิทรรศการตั้งแต่ช่วงแรกของการทำนิทรรศการไปจนปิดนิทรรศการเลยก็ว่าได้”

พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก

หลังจากที่ชมนิทรรศการเสร็จ เราจึงเดินลงมาดูงานในห้องกิจกรรมที่อยู่ด้านล่าง คุณพรรณฑิราเล่าว่า “ห้องกิจกรรมนี้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวที่ไม่ได้กล่าวถึงภายในห้องจัดแสดง เช่น อุปกรณ์การทำผ้าบาติก ได้แก่ ผ้าฝ้าย ขี้ผึ้ง จันติง แม่พิมพ์ การออกแบบลายผ้าบาติกมีทั้งผ้าโสร่งและผ้ากายน์ ปันจัง หรือการแต่งกายแบบชวา และสามารถถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เราได้เรียบเรียงเนื้อหาไว้ในห้องกิจกรรมบาติก ภายใต้แนวคิดที่ว่าห้องนิทรรศการจะเล่าเรื่องรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนชวาผ่านผ้าบาติก ส่วนห้องกิจกรรมจะเล่าเรื่องพระองค์ท่านทรงนำวิทยาการที่ได้รับกลับมาพัฒนาประเทศอย่างไร พร้อมสอดแทรกกิจกรรม Interactive เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้ไปพร้อมๆ กับความสนุกสนาน”

พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก

พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก

พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก

“เรื่องราวดังกล่าวเล่าผ่านภาพสถานที่สำคัญของเมือง 7 เมืองบนเกาะชวา เริ่มตั้งแต่ท่าเรือตันจุงเปรียกในเมืองบัตตาเวีย (ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา) ไปจนถึงเมืองยอกยาการ์ตา สุราการ์ตา การุต เซมารัง เปอกาลองงัน และลาเซ็ม เราจะเห็นว่าในการเสด็จเยือนฯ ชวาทั้งสามครั้งนั้น พระองค์เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรวิทยาการต่างๆ อย่างใกล้ชิดและนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในสยาม เช่น การนำวิธีการสร้างสะพานข้ามคลองในเมือง บัตตาเวียมาเป็นต้นแบบการสร้างสะพานหกในสยาม หรือศาลาสหทัยสมาคมซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทย แต่ก่อนหน้านั้นอาคารหลังนี้เคยใช้เป็นสโมสรทหารมหาดเล็กเช่นเกียวกับคลับคองคอร์เดียในเมืองบัตตาเวีย นอกจากนี้ พระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรการทำรถรางและการบริหารจัดการรถไฟ โรงเรียนสอนภาษา ศาลยุติธรรม เป็นต้น” คุณพรรณฑิรากล่าว

พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก

ข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะถูกดัดแปลงให้เป็นเกมตอบคำถามง่ายๆ ในห้องกิจกรรมแล้ว ยังมีการทำหนังสือนิทานที่เล่าเรื่องผ่านตัวละครชาวไทยเชื้อสายชวาหรือยะวาที่เข้ามารับราชการในสยามเพื่อดูแลการจัดสวนในพระราชอุทยานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวชวาเหล่านั้นตั้งชุมชนในพื้นที่เขตสาทร มีการสร้างมัสยิดแบบยะวาที่มีรูปแบบเฉพาะ และในเดือนมีนาคมนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จะจัดกิจกรรมพาผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์เดินชมชุมชนมัสยิดยะวาและร่วมพูดคุยกับทายาทผู้สืบเชื้อสายชวาด้วย

งานการศึกษาต้องเชื่อมโยงกับโรงเรียนให้ได้

ในช่วงสุดท้ายก่อนกลับ เรานั่งคุยกับคุณพรรณฑิราเกี่ยวกับงานการศึกษาอื่นๆ นอกเหนือจากห้องกิจกรรม คุณพรรณฑิรากล่าวว่า ตอนนี้กำลังพัฒนาบทนำชมนิทรรศการโดยใช้รูปแบบภาษาที่เหมาะสมกับช่วงวัย และยังได้อธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนการทำสมุดกิจกรรมประกอบนิทรรศการว่า “สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กแต่ละวัยจะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน สำหรับพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เราใช้สมุดกิจกรรมที่แบ่งตามช่วงชั้นเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ อันดับแรกเราต้องศึกษาจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็กแล้วจึงออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ

พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก

“ถ้าอยากให้สมุดกิจกรรมมีคุณค่ามากขึ้นก็จะใช้วิธีการตั้งโจทย์แบบบูรณาการหลายๆ วิชาเข้าด้วยกัน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ก็มีโจทย์เลขให้คิด วิชาภาษาไทยก็จะสอนคำราชาศัพท์ วิชาภาษาอังกฤษเราจะสอนคำศัพท์ที่มีอยู่ในนิทรรศการ หรือวิชาศิลปะก็ให้เด็กๆ ออกแบบตามจินตนาการ ซึ่งนักการศึกษาจะต้องเชื่อมโยงเนื้อหาของนิทรรศการให้เป็นเรื่องใกล้ตัวนักเรียน นักศึกษา ที่มาชมได้”

คุณพรรณฑิราบอกเราว่า “พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ถึงแม้จะไม่มีพื้นที่หรือห้องกิจกรรมโดยเฉพาะก็สามารถทำงานแบบนี้ได้ อาจจะแทรกเป็นมุมหรือโต๊ะเล็กๆ ไว้ในห้องนิทรรศการก็ได้ แค่ต้องเห็นว่าการเชื่อมโยงนี้คือเรื่องสำคัญ”

วันนี้จึงเป็นอีกครั้งที่เราเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ แล้วเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ ทั้งด้านการจัดแสดงและการทำงานการศึกษาในพิพิธภัณฑ์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะส่งต่องานดีๆ นี้ไปให้คนทำงานการศึกษาและพิพิธภัณฑ์ที่อื่นๆ ได้ไม่มากก็น้อย

พิพิธภัณฑ์ผ้า, ผ้าบาติก

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล