รับน้องขึ้นดอยที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แต่อย่างใด

น้องที่ว่านี้เป็นเฟรชชี่ที่ไม่ใช่คน และแน่นอนอยู่แล้วว่าถ้าเราเล่าเรื่องนี้น้องใหม่ที่ว่าก็คือรถไฟ

เรื่องมีอยู่ว่า ตามธรรมเนียมปฏิบัติกันจะเป็นระเบียบแล้ว หากมีการสร้างหรือผลิตรถไฟขึ้นมาใหม่ จะต้องเอารถไฟน้องใหม่ไปทดสอบสมรรถนะในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ถ้าทดสอบสมรรถนะแล้วไม่ผ่าน ก็ถือว่าน้องใหม่ไม่ได้ไปต่อ ต้องไปปรับปรุงตัวใหม่ให้ผ่านด่านทดสอบไปให้ได้

ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง

แล้วทำไมต้องเป็นสายเหนือ

เพราะเส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยถือได้ว่าเป็นด่านความโหดที่สุด ทรหดกว่าทุก ๆ สาย ด้วยทางโค้งรัศมีแคบที่มีกันอย่าง Non stop หลายจุด บวกกับความลาดชันของทางรถไฟที่มากที่สุดในประเทศ แถมด้วยสถานีที่ตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 500 กว่าเมตร และไม่ว่ายังไงแล้วทางรถไฟสายเหนือคือด่านทดสอบของน้องใหม่ที่เข้ามาประจำการในประเทศ

การออกแบบต้องคำนึงถึงการใช้งานในระดับสูงสุด และดอยขุนตาลก็ดูเหมือนว่าจะเป็นขอบเขตที่สุดที่ใช้ในการออกแบบเพื่อได้มาซึ่งรถไฟที่มีคุณภาพการใช้งานที่ดี สเปกรถทุกอย่างจะมีค่าสูงสุดที่กำหนดไว้เพื่อใช้ในการผลิตเสมอ รวมถึงการทดสอบหลังจากผลิตแล้ว ทางรถไฟสายเหนือกับดอยขุนตาลคือด่านสำหรับการทดสอบสมรรถนะ และการนำขบวนรถไฟเข้ามาทดสอบในเส้นทางนี้ก็ถูกเรียกชื่อกันลำลองว่า ‘รับน้องขึ้นดอย’

ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง
ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง
ฝูงรถจักร QSY 20 หัวแรก เก็บไว้ที่สถานีชุมทางศรีราชา

พ.ศ. 2565 รถจักรน้องใหม่ชื่อว่า ‘QSY’ จะมาประจำการที่ประเทศไทย หลังจากรุ่นพี่ที่ชื่อว่า CSR Qishuyan ที่เป็นพี่ใหญ่ลากรถสินค้าเดินทางนำหน้ามาก่อน 7 ปี ถ้าเรียกให้ถูกคือ ‘คิว เอส วาย’ ถ้าเรียกเอาง่ายก็ ‘คิวซี่’ แต่ก็มีชื่ออื่นถูกเรียกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ‘อุลตร้าแมน’ เพราะสีสันเหมือนอุลตร้าแมน หรือแม้กระทั่งบางคนก็เรียก ‘แพนด้าแดง’ เพราะเป็นรถจักรที่สั่งผลิตจากบริษัทของจีนและมีสีแดง อะ ก็จินตนาการและว่ากันไป ใครใคร่เรียกแบบไหนตามสะดวก

รถจักร QSY มีสมาชิก 50 หัว

20 หัวแรกข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงไทยแล้ว และจะเข้าคลาสทดสอบพร้อมรับน้องขึ้นดอย ก่อนที่ทีมถัดไปอีก 30 หัวจะเดินทางตามมา

รถจักร QSY มีหน้าตาที่แตกต่างจากรถจักรรุ่นอื่น ๆ ที่วิ่งกันขวักไขว่ หน้าตาของมันมีส่วนโค้งมนไม่เหลี่ยมเหมือนรุ่นพี่ ๆ เรือนร่างที่ใหญ่โตกำยำ หน้าตาที่จะดุดันก็ไม่ใช่ บ้องแบ๊วก็ไม่เชิง แถมเป็นรถจักรรุ่นแรกในช่วงหลัง พ.ศ. 2530 เลยก็ว่าได้ที่หน้ารถไม่ได้เป็นสีเหลือง รถก่อนหน้านั้นเกือบทั้งหมดของไทยถูกเพนต์หน้ารถเป็นสีเหลืองเป็นหลัก ด้วยเหตุผลว่าสีเหลืองมองเห็นได้จากระยะไกลในทุกสภาพสายตา ทั้งตาปกติ ตาบอดสี และตาฝ้าฟาง ตัวบอดี้ของเจ้าน้องใหม่ยืนหลักที่สีเงินและมีแถบสีแดงสดพาดทั้งหน้าและข้าง พร้อมตัวอักษร SRT ขนาดจัมโบ้ ย่อมาจาก State Railway of Thailand (การรถไฟแห่งประเทศไทย) เป็นการบอกว่า ‘ฉันเป็นรถจักรของการรถไฟนะ’

ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง

อีกหนึ่งความพิเศษที่เจ้าน้องใหม่นี้มี คือการติดตั้งระบบการควบคุมรถไฟแบบยุโรป (European Train Control System Level 1: ETCS lv.1) มากับรถเลย ซึ่งรุ่นอื่น ๆ ไม่มี ต้องติดตั้งเพิ่ม ความพิเศษของระบบ ETCS lv.1 คือช่วยให้การเดินรถไฟมีความปลอดภัยมากขึ้น ควบคุมและหยุดขบวนรถได้หากสูญเสียการควบคุม วิ่งความเร็วเกินที่ Speed Target กำหนด หรือแม้แต่การฝ่าสัญญาณไฟ ซึ่งวิ่งร่วมทางกับรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ เพราะเขาคุยกันรู้เรื่องด้วยภาษา ETCS lv.1 เหมือนกัน

สำหรับพละกำลังของน้อง QSY ก็ไม่เบา ด้วยพลังขนาด 3,218 แรงม้า มากกว่ารถจักรรุ่นพี่ที่ลากรถโดยสารอยู่เป็นนิจอย่างฮิตาชิที่และยีอีเอมีกำลัง 2,500 แรงม้า แต่ก็ยังเป็นรอง CSR Qishuyan ที่มีพลัง 3,800 แรงม้า รวมถึงความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มากกว่ารถจักรอื่น ๆ ที่สปีดสุด ๆ แค่ 100

ด้วยพละกำลังมหาศาลขนาดนี้ จึงเป็นขุมพลังสำคัญที่จะใช้ลากขบวนรถไฟได้ยาวขึ้น ลดการใช้หัวรถจักร 2 คันลากขึ้นเขาได้ หรือแม้แต่อัตราการขัดข้องระหว่างทางก็ที่ต่ำกว่ารถจักรที่ใช้งานมาก่อนหน้า

แต่น้องใหม่จะออกทำงานไม่ได้จนกว่าจะผ่านบททดสอบ และการขึ้นดอยคือหนึ่งในบททดสอบนั้น

ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง
สองพี่น้อง CSR (ซ้าย) และ QSY (ขวา) มีต้นแบบเดียวกันแต่ต่างกันที่รายละเอียด โดยรถจักร CSR ใช้เฉพาะรถสินค้า มีแรงม้าและน้ำหนักกดเพลาที่มากกว่า

ก่อนวันรับน้อง

ตั้งแต่น้อง QSY เดินทางถึงไทย (เราจะเรียกรถไฟว่าน้อง แม้ว่าจะแก่แค่ไหนตาม) น้องพักผ่อนอยู่ที่สถานีชุมทางศรีราชา เพื่อทดสอบสมรรถนะตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ไปจนถึงระดับการวิ่งด้วยหัวเดียวด้วยความเร็วสูงสุด การทดสอบลากตู้โดยสารจำนวนสูงสุด 26 ตู้ ซึ่งการทดสอบบนทางราบนั้นผ่านฉลุยอย่างไม่มีข้อสงสัย ด่านต่อไปคือการรับน้องขึ้นดอยขุนตาล และทดสอบการลากจูงในเส้นทางที่เต็มไปด้วยภูเขาอย่างสายเหนือ

การทดสอบแบ่งออกเป็น 2 เงื่อนไข

เงื่อนไขแรกคือการทดสอบวิ่งหัวเดียวที่ภาษารถไฟเรียกว่า ‘ตัวเปล่า’ ขึ้นทางลาดชัน รวมถึงการทดสอบหยุดระหว่างทางบนทางลาดชัน เงื่อนไขที่สองคือการลากตู้รถพ่วงในหน่วยลากจูงที่เต็มพิกัดแบบเต็มเมตรเต็มหน่วยด้วยหัวเดียว ซึ่งโดยปกติแล้วขบวนรถไฟที่ปุเลง ๆ ขึ้นดอยขุนตาลจะต้องบวกหัวรถจักรเพิ่มมาอีกหนึ่งเสมอสำหรับรถที่มีหน่วยลากจูงสูง (ตู้ยาว น้ำหนักเยอะ) ด้วยค่าความลาดชันของดอยนี้ที่มีค่าสูงสุดอยู่ที่ 26 เปอร์มิล (ระยะทาง 1 กิโลเมตร ยกสูงขึ้น 26 เมตร) ถือว่าลาดชันมากเกินกว่าหัวเดียวจะลากรถหนัก ๆ ขึ้นได้ แม้แต่ด่วนพิเศษอุตราวิถีที่วิ่งอยู่ประจำก็ต้องต่อหัวอีก 1 หัวลากขึ้นดอยเหมือนกันเพื่อแรงส่งที่ดี ไม่ติดทางลาดชันหรือภาษาบ้าน ๆ ที่เรียกว่าติดเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหน้าฝนที่ติดเขากันเป็นว่าเล่น

ก่อนวันรับน้อง เจ้า QSY สองหน่อหมายเลขรถ 5207 จับมือกับ 5217 ลากตู้โดยสารสำหรับการทดสอบความยาว 17 คันเดินทางจากกรุงเทพฯ​ ไปนครลำปาง เพื่อทดสอบการลากขบวนรถจริง ๆ ผ่านเส้นทางสายเหนือไปลำปาง จากนั้นก็จะแยกออกเป็น 2 ทีม 

ทีมแรกคือขบวนเต็มลากด้วยรถจักรหมายเลข 5217 เดินทางจากนครลำปาง-ขุนตาน-ทาชมภู สำหรับทีมที่ 2 เป็นรถจักรหมายเลข 5207 ทดสอบแบบบินเดี่ยวบนทางลาดชันในเส้นทางเดียวกัน ก่อนจะผลัดให้รถจักรหมายเลข 5207 ลากทั้งขบวนทดสอบในเส้นทางเดิมมุ่งหน้ากลับไปลำปาง แล้วให้รถจักรหมายเลข 5217 ทดสอบตัวเปล่าตามกลับไป เหมือนผลัดกันทำข้อสอบชุดเดียวกันคนละรอบ เมื่อทั้ง 2 ทีมถึงลำปางแล้ว ก็จะวิ่งเป็นขบวนเต็ม ๆ ไปนอนค้างที่เชียงใหม่

ญาติสนิทมิตรสหายคนรักรถไฟเดินทางมาพร้อมกันที่สถานีกรุงเทพโดยนัดหมายบ้างไม่นัดหมายบ้าง ทุกคนพกกล้องกันมาด้วยเพราะอยากเห็นน้อง QSY ตัวเป็น ๆ เจ้าน้องเลยเหมือนเป็นดาราหน้าปกหนังสือมีคนรายล้อมพร้อมถ่ายรูปก่อนที่แสงตะวันยามเย็นจะหมดลง

พอค่ำขบวนพิเศษทดลองก็ออกจากสถานีกรุงเทพ ด้วยความที่เราเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของการรับน้องขึ้นดอยด้วย เลยจับรถไฟไปขุนตานขบวนที่ออกตามหลัง ด้วยความที่อยากเห็นน้องแบบชัด ๆ เลยนั่งรถไฟสายสีแดงไปดักรอดูที่สถานีรังสิต เพราะคิดว่าคนน่าจะไม่เยอะ

ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง

ผลคือผิดคาด มีชาว Railfan (แฟนรถไฟ) ตั้งกล้องรออยู่เพียบ สถานีรังสิตก็คับคั่งไปด้วยคนที่มารอดูเจ้าน้องใหม่ ไม่นานนัก ไฟหน้าสีขาวสว่างจ้าก็ค่อย ๆ ปรากฏขึ้นจากฝั่งดอนเมือง เจ้า QSY ค่อย ๆ วิ่งเข้ามาเทียบชานชาลาสถานีรังสิต

เหล่า Railfan ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสียงเครื่องเงียบมาก”

ใช่ มันเงียบจริง ๆ ไม่แผดคำรามจนหนวกหูเหมือนรถจักรรุ่นพี่ มีเสียงคำรามต่ำ ๆ ดังหึ่ง ๆ ผสมกับเสียงวี้ ๆ ของพัดลมระบายอากาศขนาดยักษ์เท่านั้น เอาจริง ๆ เสียงเครื่องแอร์ของรถนอนรุ่นเก่า หรือเสียงล้อบดรางยังดังกว่าเลย วิศวกรของรถไฟเคยเล่าให้ฟังว่า ที่ออกแบบห้องเครื่องมีขนาดใหญ่ มีตะแกรงระบายอากาศกว้าง พร้อมพัดลมขนาดยักษ์ช่วยให้การระบายความร้อนมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม

เสียงหวีดดังกังวาน ไฟหน้าสาดแสงจนสว่างไปทั่วชานชาลา เสียงเครื่องเริ่มดังขึ้นอยู่ในระดับสบายหู ขบวนรถพิเศษทดลองค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากสถานีรังสิต ด้วยความเร็วที่รู้สึกได้ว่าการออกตัวต่างจากของเดิมมาก ท้ายยังไม่ทันพ้นชานชาลาก็วิ่งฉิวก่อนจะค่อย ๆ ลับสายตาไปในความมืด ไม่นานนักขบวนรถด่วนพิเศษ 13 กรุงเทพ-เชียงใหม่ ที่เราต้องเดินทางก็ตามมาเทียบที่ชานชาลาเดียวกัน คืนนี้ขอนอนไปกับรถไฟบนเตียงนุ่ม ๆ กับผ้าอุ่น ๆ ให้เต็มที่ก่อนใช้พลังงานเยี่ยงช้างสารกับการดูกิจกรรมรับน้อง QSY ขึ้นดอยในวันถัดไป ซึ่งรถของเราแซงขบวนทดลองไปตั้งแต่ตอนไหนไม่รู้ มารู้อีกทีตอนเช้าว่าขบวนทดลองตามหลังขบวนของเรามา

ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง
ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง

วันรับน้องขึ้นดอย

รถด่วนพิเศษขบวน 13 จอดเทียบชานชาลาสถานีขุนตาน พร้อมกับเหล่าน้องหมาที่อยู่กันเต็มดอยออกมารับผู้โดยสารกันหน้าสลอน

สถานีขุนตานคือการปักหลักแรกในวันนี้ พรายกระซิบบอกมาว่าขบวนรถทดลองถึงนครลำปางแล้ว กำลังจะแยกร่างออกมาเตรียมการทดสอบ ตัวขบวนเต็มจะออกมาก่อนแล้วตามมาด้วยหัวรถจักรเปล่าไล่กันมา ในหัวเราต้องคอยหามุมถ่ายรูปและคลิปที่คิดว่าสวยที่สุด เพราะไม่ใช่โอกาสบ่อยนักที่จะเห็นรถไฟขบวนยาวขึ้นเขามาด้วยหัวเดียว และซ้ำยังเป็นน้องใหม่เครื่องแรงนี่อีก คนน่าจะตื่นเต้นกันน่าดูถ้าโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย

มุมแรกที่เราเลือกเป็นมุมโคตรมหาชน นั่นคือหน้าอุโมงค์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นที่หมายปองของเหล่า Railfan ที่มารับเจ้าน้องใหม่ เราทุกคนตกลงกันว่าใครจะอยู่มุมไหนหรืออยากได้ภาพแบบไหนเพื่อไม่ให้แย่งมุมกันหรือบังกัน ซึ่งเป็นมารยาทของ Railfan ที่เราต้องถ่ายรูปกันด้วยความเคารพและไม่รบกวนกัน พอประจำจุดก็จะตะโกนถามกันเป็นระยะ ๆ ว่าตรงนี้บังไหม ตรงนี้เข้าไปในเฟรมไหม จะได้หลีกเลี่ยงเพื่อไม่ต้องขวางกันให้ภาพเสีย

ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง
ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง

สัญญาณจากสถานีดังขึ้น เป็นนิมิตหมายอันดีว่ารถพิเศษออกจากสถานีแม่ตานน้อยซึ่งเป็นสถานีก่อนหน้ามาแล้วหลังจากที่รอกันมาเป็นชั่วโมง สายตาของทุกคนจับจ้องไปที่ต้นไม้หน้าอุโมงค์ หากต้นไม้หน้าอุโมงค์ไหวเอนเหมือนยืนกลางลมพายุ นั่นหมายความรถไฟเข้ามาในอุโมงค์แล้ว ยิ่งลมแรงเท่าไหร่แสดงว่ารถใกล้ถึงหน้าอุโมงค์มากขึ้น อึดใจเดียวแสงสว่างจากไฟหน้ารถก็ชัดขึ้นแล้วน้อง QSY ก็ปรากฏตัวมาจากความมืดนั้น

เสียงชัตเตอร์ระรัวยิ่งกว่าเสียงล้อกระทบราง น้องหยุดนิ่งสนิทบนสถานีที่สูงที่สุดในประเทศไทยเพื่อเช็กระบบเบรก ก่อนจะได้สัญญาณให้เดินทางต่อไปปลายทางแรกของการทดสอบคือสถานีทาชมภู น่าทึ่งที่นะหัวเดียวลาก 17 ตู้ขึ้นทางลาดชันได้อย่างสบาย ๆ แรงไม่ตก แถมสัมผัสได้ถึงความชิลล์ ๆ ในการลากอีกต่างหาก

รถจักร QSY  : ตามทริปรับน้องขึ้นดอยไปรู้จัก 'หัวรถจักรอุลตร้าแมน' หัวรถจักรรถไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย
รถจักร QSY  : ตามทริปรับน้องขึ้นดอยไปรู้จัก 'หัวรถจักรอุลตร้าแมน' หัวรถจักรรถไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย
รถจักร QSY  : ตามทริปรับน้องขึ้นดอยไปรู้จัก 'หัวรถจักรอุลตร้าแมน' หัวรถจักรรถไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย

สถานีบอกเราว่ารถด่วน 51 จะมาถึงก่อนแล้วรอหลีกกับรถท้องถิ่น 408 เชียงใหม่-นครสวรรค์ หัวรถจักรตัวเปล่าถึงจะตามมา ช่วงนี้ก็จะได้พักเบรกกันหน่อย เหล่า Railfan เริ่มตั้งวงสนทนากัน เพื่อนบางคนรู้จักกันมานับสิบปี และบางคนที่เพิ่งได้มาเจอหน้ากัน บทสนทนาทั่วไปก็ไม่พ้นเรื่องรถไฟ เรามีความเห็นเหมือนกันว่าอยากเห็นรถโดยสารใหม่ ๆ เข้ามาประจำการแล้ว โดยเฉพาะรถนั่งที่ส่วนใหญ่ตอนนี้มีแต่รถพัดลมหัวโกรกฟู แถมลงจากรถไฟแล้วต้องตัวเหม็นกลิ่นเหล็กอีก

จริง ๆ แล้วรถไฟมันได้เปรียบมากกับการเดินทางระยะกลางที่ไม่ยาวมาก ถ้ามีรถนั่งแบบชั้นประหยัดกับแบบเอนได้พร้อมระบบปรับอากาศ ที่นั่งที่รองรับกายภาพของคนนั่งไม่ต้องหลังตรง 90 องศา มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ และระบบแจ้งเตือนข้อมูลที่ดี แค่นี้คนก็เลือกใช้รถไฟกันมากโขแล้ว

รถไฟเจ้าถิ่น 2 ขบวนผ่านไป ก็ถึงเวลาไปตั้งป้อมถ่ายเจ้าหัวเปล่า ต่างคนต่างแยกย้ายไปประจำมุมของตัวเองเพื่อเก็บภาพเจ้าน้องขึ้นดอย เมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วเราก็ไปหามุมใหม่สำหรับรอขบวนขากลับ ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายบนขุนตานก่อนที่จะไปสถานที่ต่อไป

รถจักร QSY  : ตามทริปรับน้องขึ้นดอยไปรู้จัก 'หัวรถจักรอุลตร้าแมน' หัวรถจักรรถไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย

เราเลือกไปที่ปลายสุดของสถานีด้านทิศเหนือซึ่งไม่เคยใช้มุมตรงนี้ถ่ายรูปมาก่อน มุมนี้ถือว่าดีเพราะเป็นทางโค้งขึ้นเนินมา และอย่างน้อยมุมก็จะไม่จำเจกับรอบแรก พระพิรุณโปรยฝนลงมาบาง ๆ สถานีส่งสัญญาณมาอีกครั้งว่ารถเที่ยวกลับขึ้นดอยมาแล้ว เราปักหลักรออยู่ตรงหัวโค้งพอดี พร้อมระรัวชัตเตอร์ต้อนรับน้องใหม่ด้วยมุมที่ไม่เคยถ่ายมาก่อน

เวลาผ่านไประยะหนึ่งพร้อมกับความเงียบ มีเพียงเสียงฝนเปาะแปะและเสียงลมหวีดหวิวเท่านั้น ใจหนึ่งอยากเดินกลับไปไปถามที่สถานีว่ารถมันขึ้นดอยมาได้ใช่ไหม กับอีกใจหนึ่งก็กลัวว่าถ้าเดินไปแล้วจังหวะรถมาพอดีก็จะสูญสิ้นทุกอย่างที่ตั้งใจไว้

“แป๊น!” ราวกับตอบคำถาม เสียงหวีดของน้องดังผ่านเหลี่ยมเขามา หันหน้าไปอีกที เห็นน้องตีโค้งเข้ามาเสียงคำรามของเครื่องยนต์ที่เรียกได้ว่าเบากว่าที่คิดมาก สำหรับความเร็วนั้นถือว่ายอดเยี่ยมทีเดียว การที่หัวรถจักรหัวเดียวลากรถยาว 17 ตู้ด้วยความเร็วในระดับแรงไม่ตกมาเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรจากตีนดอย ถือได้ว่าการทดสอบครั้งนี้มีแนวโน้มความสำเร็จสูง

รถจักร QSY  : ตามทริปรับน้องขึ้นดอยไปรู้จัก 'หัวรถจักรอุลตร้าแมน' หัวรถจักรรถไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย
รถจักร QSY  : ตามทริปรับน้องขึ้นดอยไปรู้จัก 'หัวรถจักรอุลตร้าแมน' หัวรถจักรรถไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย

สถานที่ต่อไปที่เราจะเดินทางไปเพื่อรอถ่ายภาพขบวนทดสอบรอบบ่าย นั่นคือ สะพานทาชมภู

จากสถานีขุนตานไปสะพานทาชมภู ไม่มีขนส่งสาธารณะใด ๆ นอกจากมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนที่ต้องขับลงจากดอยผ่านเขตอุทยาน หมู่บ้าน เพื่อมุ่งหน้าไปที่จุดหมายที่สอง

Tetris Cafe คือสถานที่ปักหลักการรับน้องประจำวันนี้ คาเฟ่ที่นี่เป็นตึกสูง 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านกาแฟน่ารัก ๆ พร้อมสวนให้นั่งพักผ่อน ชั้นที่สองเป็นแกลเลอรี่ศิลปะ และชั้นที่สามเป็น Rooftop ที่เหมาะเหม็งกับการส่องรถไฟเป็นอย่างมาก ภาพทางรถไฟเข้าโค้งเป็นตัว S มีสะพานทาชมภูสีขาวอยู่ตรงกลางสีตัดกับทุ่งหญ้าและขุนเขาสีเขียวที่เป็นฉากหลังพร้อมปอยหมอกจากฝนที่ลอยตัวเอื่อย ๆ อยู่บนยอดดอย ลองนึกภาพว่าถ้ารถไฟเลื้อยผ่านมามันจะสวยขนาดไหนกัน

ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง

ที่เลือกสะพานทาชมภูเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพการทดสอบรถจักรฮิตาชิเมื่อ พ.ศ. 2536 และภาพรถไฟในการ์ดชุดความรู้วันเด็กของธนาคารออมสิน อีกอย่างสะพานทาชมภูเองเป็นจุดสุดท้ายของดอยขุนตาลที่เรียกได้ว่าอยู่ตีนดอยพอดี เหมือนกับเส้นชัยของน้อง QSY ที่ถ้าผ่านมาถึงตรงนี้ได้ก็เท่ากับน้องได้เข้าเส้นชัยแล้ว

จากลำปางกลับมาทาชมภูใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ๆ การฆ่าเวลาของชาว Railfan ที่ยึดทาชมภูเป็นป้อม คือการนั่งไขว่ห้างจิบกาแฟดูวิวทางรถไฟสวย ๆ พร้อมกับส่องรถขนปูนซีเมนต์กับรถท้องถิ่นวิ่งผ่านมา บ้างก็นั่งคุยกัน บ้างก็งีบหลับเอาแรง อากาศดี มีฝนปรอย ๆ ลงมาให้คลายร้อน จะว่าไปแล้วร้าน Tetris Cafe เหมือนสร้างมาเพื่อสนองนี้ดคนรักรถไฟเลยก็ว่าได้ ด้วยโลเคชันอยู่ตรงโค้งรูปตัว S แบบพอดิบพอดี แถมถ่ายรูปขบวนรถไฟได้มุมสวยอีกต่างหาก เอาจริง ๆ ถ้าเป็นขาจรที่แวะมาเที่ยวสะพาน ก็น่าจะเป็นอีกที่หนึ่งที่พักแรงชมวิวชมรถไฟได้สบาย ๆ

ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง

แต่จะว่าไปการรอดูรถไฟนอกเขตสถานีก็ทำให้พวกเราคลาดสายตาไม่ได้เหมือนกัน ไม่มีใครบอกกล่าวล่วงหน้าได้เลยว่า ขบวนพิเศษทดลองจะโผล่มาตอนไหน นอกจากการใช้ประสาทสัมผัสที่ไวกับรถไฟเป็นพิเศษของพวกเราแทน ตาคอยจับจ้องตรงหัวโค้งที่มีต้นไม้บังทางรถไฟ หูคอยฟังเสียงเครื่องหรือเสียงล้อบดรางที่อาจจะดังก้องสะท้อนในป่า

เหมือนน้องรู้งานว่ามีคนคอย จู่ ๆ เสียงดัง “แป๊น!” ก็ดังมาจากในป่า ทุกคนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้เด้งตัวขึ้นมาประจำที่ หัวรถจักรสีเทา/แดง ค่อย ๆ ปรากฏตัวผ่านแผงต้นไม้ของดอยขุนตาล สาดโค้งเบา ๆ ข้ามสะพานสีขาว แล้วค่อย ๆ ผ่านโค้งสุดท้ายที่ด้านหน้าคาเฟ่เป็นรูปตัว S สวยงาม

มันสวยจริง ๆ สวยขนาดเรารัวชัตเตอร์ไม่หยุด และคนข้าง ๆ ก็เช่นกัน อารมณ์ตอนนี้เหมือนกับเรากำลังรอน้องใหม่ที่ผ่านพิธีกรรมรับน้องที่มีด่านทดสอบสารพัดระหว่างทาง และน้องใหม่ก็ผ่านด่านนั้นมาได้อย่างฉลุยจนอยากจุดพลุฉลองการเข้าเส้นชัย

รถจักร QSY  : ตามทริปรับน้องขึ้นดอยไปรู้จัก 'หัวรถจักรอุลตร้าแมน' หัวรถจักรรถไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย
ทำความรู้จักหัวรถจักรรุ่นใหม่เอี่ยมของรถไฟไทย QSY หรือ คิวซี่ อุลตร้าแมน แพนด้าแดง
รถจักร QSY  : ตามทริปรับน้องขึ้นดอยไปรู้จัก 'หัวรถจักรอุลตร้าแมน' หัวรถจักรรถไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย

ความอิ่มเอมของภาพที่เห็น (ซึ่งสวยกว่าในภาพถ่ายมาก) ทำให้พวกเรายืนคุยกันอยู่นานมาก ต่างคนต่างแชร์ความรู้สึกของตัวเองที่ได้เห็นเจ้าน้องใหม่ ก่อนที่จะแยกย้ายกัน โดยเราต้องรีบเข้าเมืองเชียงใหม่เพื่อไปอาบน้ำ หาของกิน และไปสนามบินเพื่อบินกลับกรุงเทพฯ ในค่ำวันนี้เลย

จากการถามไถ่ข้อมูลนั้น จะมีการทดสอบที่สำคัญที่สุดอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม นั่นคือการทดสอบเดินรถจักร QSY บนทางเดียวกับรถไฟสายสีแดงเพื่อทดสอบระบบ ETCS lv.1 ซึ่งเป็นคีย์สำคัญที่จะทำให้การเดินรถไฟจากสถานีกลางบางซื่อร่วมกับสายสีแดงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย

ในขณะเดียวกัน ตามที่มีการอัปเกรดทางรถไฟเดิมให้กลายเป็นทางคู่ก็จะมีการติดตั้งระบบ ETCS นี้เข้าไปด้วย เพื่อให้การเดินรถไฟของไทยในอนาคตมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากเจ้า QSY ที่มีระบบ ETCS แล้ว รถจักรและดีเซลรางรุ่นก่อนหน้าที่ยังไม่มีแผนปลดระวาง ก็ต้องติดตั้งระบบนี้เข้าไปด้วยเพื่อให้การเดินรถมีความคล่องตัว และปลอดภัยภายใต้ระบบป้องกัน เหลือเพียงแค่รอรถโดยสารใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเสริมกำลังในวันที่โครงสร้างพื้นฐานของรถไฟอัปเกรดเป็นทางคู่ที่มีระยะทางมวกกว่าเดิม รวมถึงทางสายใหม่ที่จะไปเชียงราย เชียงของ และไปมุกดาหาร นครพนม เสร็จเรียบร้อย หวังว่าเราจะได้มารับน้องรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นดอยบ่อยขึ้น

ขอฝากน้องใหม่ไว้ในอ้อมใจด้วย

รถจักร QSY  : ตามทริปรับน้องขึ้นดอยไปรู้จัก 'หัวรถจักรอุลตร้าแมน' หัวรถจักรรถไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย
รถจักร QSY ในพื้นที่ย่านสถานีเก็บรถสถานีกลางบางซื่อ 
ภาพ : นราธิป แสงน้อย

เกร็ดท้ายขบวน

1. รถจักร QSY จะใช้งานกับขบวนรถโดยสารเป็นหลัก และจะวิ่งในทุกเส้นทางหลักทั่วประเทศไทย

2. รถโดยสารที่จะใช้รถจักร QSY ลากก่อนเป็นพวกแรก ๆ คือรถด่วนพิเศษซีรีส์ชื่อยาว ทั้งอุตราวิถี (เชียงใหม่) อีสานวัตนา (อุบลราชธานี) อีสานมรรคา (หนองคาย) และทักษิณารัถย์ (หาดใหญ่)

3. รถจักร CSR Qishuyan เป็นรถจักรเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่ได้ทดสอบบนเส้นทางขุนตาน เพราะมีบางสะพานยังไม่รองรับน้ำหนักของน้องที่มีแรงกด 20 ตัน ต่อเพลา

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ