16 กันยายน 2019
135 K

เป็นครั้งแรกที่คนไทยจะได้รับชมนิทรรศการโบราณวัตถุจากสุสานจักรพรรดิจิ๋นซีแบบใกล้ชิด

เบื้องหลังกว่าจะมาถึงวันนี้ คือการทำงานร่วมกันของภัณฑารักษ์ทั้งฝ่ายจีนและไทยที่กินเวลากว่า 3 ปี เพื่อนำวัตถุโบราณล้ำค่ากว่า 133 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์ 14 แห่ง ในมณฑลส่านซี ออกเดินทางสู่ประเทศไทยเพื่อมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้อย่างราบรื่นและปลอดภัยที่สุด

คุณฝ้าย-จุฑารัตน์ เจือจิ้น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คือหนึ่งในทีมภัณฑารักษ์ที่ดูแลด้านเนื้อหาและประสานการขนย้ายจากประเทศจีน เล่าให้ฟังถึงเส้นทางการเดินทางของทหารดินเผาและวัตถุโบราณล้ำค่าทั้งหมด ว่ามีความพิเศษและซับซ้อนอย่างไรบ้าง

เบื้องหลังทุกขั้นตอนของการขนย้ายโบราณวัตถุล้ำค่า ทหารดินเผาจิ๋นซี จากจีนสู่ไทย
นิทรรศการ จิ๋นซี ฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา

ต้องใช้นักเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุประเภทดินเผามืออาชีพ

“ทางไทยและจีนประสานงานกันมาตั้งแต่ปี 2559 ค่ะ หลังจากตกลงความร่วมมือกันได้แล้ว ทางจีนก็ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบสถานที่และระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ แล้วเราก็จะต้องเสนอแผนขนส่งให้เขาว่าเราจะขนส่งด้วยวิธีไหน 

นิทรรศการ จิ๋นซี ฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา
นิทรรศการ จิ๋นซี ฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา

“ต้องสรรหาบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือและมีประสบการณ์ในการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุที่เป็นดินเผา เราเลือกบริษัทเดียวกับที่ดูแลการขนย้ายนิทรรศการชุดนี้ไปอังกฤษและอเมริกา แล้วก็ต้องส่งโปรไฟล์บริษัทให้ทางจีนดู บริษัทประกันก็เช่นกันค่ะ เป็นประกันที่ครอบคลุมราคาประเมินโบราณวัตถุแบบเต็มจำนวน แม้กระทั่งแบบลังที่บรรจุหีบห่อและแบบตู้จัดแสดงก็ต้องส่งให้ทางจีนดูก่อน เมื่อทางจีนตกลงเราถึงจะดำเนินการขั้นต่อไปได้

“จากนั้นก็ต้องลงรายละเอียดในแผนการเคลื่อนย้ายว่าเราจะเคลื่อนย้ายด้วยพาหนะอะไร ไปขึ้นเครื่องบินที่ไหน ต้องบอกเส้นทางอย่างละเอียด เราจะเอาของจากพิพิธภัณฑ์สิบสี่แห่งไปรวมกันแล้วแพ็กให้เสร็จในที่เดียว คือที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ส่านซี ภัณฑารักษ์และเจ้าหน้าที่ทั้งทางฝ่ายจีนและไทยจะต้องตรวจสภาพของแต่ละชิ้นร่วมกัน ฝั่งไทยมีภัณฑารักษ์และนักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ไปร่วมตรวจเช็กสภาพร่วมกันก่อนจะบรรจุลงหีบห่อ แล้วเซ็นใบซีลลังร่วมกันค่ะ”

เบื้องหลังทุกขั้นตอนของการขนย้ายโบราณวัตถุล้ำค่า ทหารดินเผาจิ๋นซี จากจีนสู่ไทย

ห้ามขนของทั้งหมดขึ้นเครื่องบินลำเดียว

“การขนย้ายโบราณวัตถุชุดนี้จะต้องแยกการขนส่งออกเป็นสองรอบ เป็นข้อกำหนดของทางจีน เพื่อกระจายความเสี่ยงในกรณีเครื่องบินสูญหาย และต้องส่งด้วยเครื่องบินขนส่ง ซึ่งสนามบินที่ซีอานไม่มีคาร์โก้ เราเลยต้องบรรทุกขึ้นรถจากซีอานไปเซี่ยงไฮ้ เป็นระยะทางที่ไกลมาก ประมาณหนึ่งพันสามร้อยกิโลเมตร ใช้เวลาสองวันเต็มๆ รถก็ต้องมีระบบ Air Suspension (ระบบกันสะเทือน) ควบคุมอุณหภูมิตลอดเวลา มี GPS ติดตามตัว และต้องมีคนขับสองคนผลัดกัน เนื่องจากกำหนดไม่ให้ขับติดต่อกันเกินสี่ชั่วโมง

“ในช่วงพักค้างคืนหนึ่งคืนที่เจิ้งโจว เราจอดในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ของเขา ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและภัณฑารักษ์ตามติดไปด้วยตลอด ต้องอยู่ในสายตาเราตลอดเวลา หลังจากค้างหนึ่งคืน เราก็เดินทางต่อไปเซี่ยงไฮ้เพื่อขึ้นเครื่องบิน จากนั้นไปลงที่สิงคโปร์เพื่อเปลี่ยนเครื่องมาถึงสุวรรณภูมิ”

ถึงเมืองไทยต้องใช้ตำรวจนำ

การเดินทางในจีนว่ายากแล้ว เมื่อเดินทางมาถึงไทย การพาวัตถุโบราณจากสนามบินมาสู่สถานที่จัดแสดงให้ได้อย่างปลอดภัยคืองานที่ท้าทายยิ่งกว่า ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ท้ายที่สุดถึงกับต้องมีตำรวจนำขบวนกันเลยทีเดียว

“พอมาถึงเมืองไทย เมื่อดำเนินพิธีการทางศุลกากรเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากในเมืองไทยเรามีรถคอนเทนเนอร์ที่ควบคุมอุณหภูมิได้ แต่ไม่มีระบบ Air Suspension ทำให้เราต้องต่อรองกับทางจีนว่าเราจะเลือกใช้เส้นทางที่เป็นไฮเวย์ และเราจะมีรถตำรวจนำขบวน เขาเลยยอมตกลงให้ทำได้ ตลอดเส้นทางการเดินทางทั้งหมดนี้ ภัณฑารักษ์ต้องติดตามไปทุกขั้นตอน ว่าของขึ้นเครื่องแล้ว ลงเครื่องแล้ว นับลังทุกชิ้นให้ครบ ไม่มีการเปลี่ยนลัง ใบซีลปิดลังที่เจ้าหน้าที่เซ็นร่วมกันจะต้องยังอยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาด”

เบื้องหลังทุกขั้นตอนของการขนย้ายโบราณวัตถุล้ำค่า ทหารดินเผาจิ๋นซี จากจีนสู่ไทย

เจ้าหน้าที่จากจีนเดินทางตามมาดูแลอย่างใกล้ชิด

“ถึงแม้จะขนของเข้าพื้นที่เราแล้ว เราก็ยังเปิดลังไม่ได้ เราต้องรอเจ้าหน้าที่จากทางจีนมาเปิดลังเพื่อเช็กสภาพร่วมกันอีกครั้งเหมือนตอนอยู่ที่จีน ซึ่งเปิดเช็กของไปเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา

เบื้องหลังทุกขั้นตอนของการขนย้ายโบราณวัตถุล้ำค่า ทหารดินเผาจิ๋นซี จากจีนสู่ไทย

“จากนั้นจึงเริ่มเอาของมาจัดวางตามแบบที่ตกลงกันไว้ ทางเจ้าหน้าที่จีนที่มากับเราจะช่วยตรวจสอบว่ามุมมองในการวางถูกต้องแล้วหรือยัง บางทีเราไม่เข้าใจวัตถุโบราณมากเท่าเขา เช่นบางอย่างที่มีตัวอักษรต้องวางกลับหัวกลับหาง หรือเขาอยากจะเล่าเรื่องคนจูงม้า ก็ไม่ควรวางสองชิ้นนี้ห่างจากกันมาก ดังนั้น การเล่าเรื่องก็จะมากำหนดการจัดวางอีกที”

เบื้องหลังทุกขั้นตอนของการขนย้ายโบราณวัตถุล้ำค่า ทหารดินเผาจิ๋นซี จากจีนสู่ไทย

จับตาม้าดินเผา

ในการจัดแสดงครั้งนี้ ภัณฑารักษ์ไทยต้องดูแลวัตถุโบราณหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ชิ้นเล็กเท่าปลายนิ้ว ไปจนถึงชิ้นใหญ่สูงท่วมหัว แต่ชิ้นที่ลุ้นและท้าทายที่สุดตลอดการเดินทางนั่นก็คือ ม้าดินเผา

นิทรรศการ จิ๋นซี ฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา

“ที่กลัวที่สุดเลยคือม้าตัวนี้ เพราะใหญ่ หนักมาก สามร้อยกว่ากิโล และเป็นดินเผาที่เปราะบาง รายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะตรงหางม้าอาจจะหักได้ อย่างตรงขาก็จะเห็นว่ามันมีรอยซ่อมมาหมดแล้วค่ะ เราก็ต้องทำตัวซัพพอร์ตไว้ค่ะ”

รถม้าสำริดจำลอง

ในนิทรรศการครั้งนี้ ของทุกชิ้นคือของจริงที่ขุดค้นขึ้นมาจากสุสานและแหล่งโบราณคดีในส่านซี มีเพียงรถม้าสำริดชิ้นเดียวเท่านั้นที่ไม่เคยมีโอกาสเดินทางออกนอกประเทศเลย เนื่องจากชิ้นงานค่อนข้างบอบบางและเสี่ยงต่อการเสียหาย การจัดแสดงในต่างประเทศทุกครั้งจึงเป็นการจัดแสดงของจำลองในขนาดเล็กกว่าของจริงครึ่งหนึ่ง ซึ่งทางภัณฑารักษ์ยืนยันว่าแม้จะเป็นงานจำลอง แต่ก็มีรายละเอียดประณีตเทียบเท่าของจริงเลยทีเดียว

นิทรรศการ จิ๋นซี ฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา

“ชิ้นนี้ของจริงขนย้ายยากมากค่ะ เพราะตอนที่เจอในไซต์มันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หลังคาสำริดก็แตกเป็นเศษหมด เขาใช้เวลาต่อกลับอยู่หลายปีเลย รถม้าจำลองก็จำลองแม้กระทั่งภาพเขียนสี ทั้งด้านในและด้านนอกตัวรถ และใช้สำริดเหมือนชิ้นงานจริง ซึ่งเป็นวัสดุที่ค่อนข้างเซนซิทีฟ เราจึงต้องควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดของทางจีน สเปกตู้ที่เราออกแบบก็ต้องทำตามที่เขาอนุมัติแล้ว ระหว่างติดตั้ง ทีมงานของจีนก็จะมาให้คำแนะนำทุกขั้นตอน อย่างรถม้า ทางจีนก็จะมาควบคุมการประกอบ เพราะมันแยกมาเป็นส่วนๆ ค่ะ ดุมล้อ เพลา มาประกอบกันที่นี่”

อย่าลืมดูตู้

หากใครมีโอกาสได้มาชมนิทรรศการ นอกจากจะตื่นตาไปกับความประณีตของวัตถุโบราณแต่ละชิ้นแล้ว เราอยากชวนให้ลองสังเกตตู้จัดแสดงแต่ละตู้ ที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามประเภทของวัตถุจัดแสดง เพื่อดูแลรักษาให้วัตถุโบราณทุกชิ้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดตลอด 3 เดือน ของการจัดแสดงที่ไทย

เบื้องหลังทุกขั้นตอนของการขนย้ายโบราณวัตถุล้ำค่า ทหารดินเผาจิ๋นซี จากจีนสู่ไทย
เบื้องหลังทุกขั้นตอนของการขนย้ายโบราณวัตถุล้ำค่า ทหารดินเผาจิ๋นซี จากจีนสู่ไทย

“ในตู้มีมอนิเตอร์ควบคุมความชื้นค่ะ ส่วนนี่คือระบบสัญญาณกันขโมย ในขณะที่ช่องระบายด้านล่างเอาไว้ใส่ตัวควบคุมความชื้นที่เรียกว่า Art Sorb ซึ่งระดับความเข้มข้นของมันขึ้นอยู่กับวัตถุจัดแสดง ถ้าเป็นดินเผาเขียนสี ก็จะต้องครอบกระจกแล้วใส่วัสดุควบคุมความชื้น เพราะถ้าอากาศแห้งมากสีจะหลุด ในไซต์จริงเอาขึ้นมาแค่ไม่กี่วันสีก็จางแล้ว แต่ลองสังเกตดูหุ่นทหารดินเผาตัวที่มาจัดแสดงดูสิคะ ยังมีบางจุดที่มีสีติดอยู่ที่ผ้าผูกผมทั้งที่ผ่านมาแล้วสองพันกว่าปี

“เรื่องไฟเราก็ใช้ไฟที่ไม่มีความร้อนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะส่งผลกระทบคืออัลตราไวโอเลต เรามีนักวิทยาศาสตร์ช่วยดูแบบไฟให้ก่อนว่าต้องใช้ไฟกี่ลักซ์ถึงจะเหมาะสมกับวัตถุแต่ละชิ้น”

นิทรรศการนี้มี 4 โซน

นิทรรศการ ‘จิ๋นซี ฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา’ ประกอบไปด้วยโซน 4 โซนที่จัดแสดงโบราณวัตถุทั้งที่ค้นพบในสุสานและแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ไล่มาตั้งแต่ 

โซนที่ 1 พัฒนาการก่อนการรวมชาติ ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก ซึ่งจะปูที่มาที่ไปก่อนเข้าสู่ยุคจักรพรรดิจิ๋นซี รวมไปถึงความเชื่อหลังความตายที่มีมาตั้งแต่ยุคนั้น

โซนที่ 2 จักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีน ผู้ผนวกโลกมนุษย์และสวรรค์ เล่าถึงการรวมชาติให้เป็นปึกแผ่น และการพัฒนาวิทยาการต่างๆ ที่นำพาจีนยุคโบราณสู่ความยิ่งใหญ่

โซนที่ 3 สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ มหาอาณาจักรใต้พิภพ จัดแสดงวัตถุโบราณที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของงานจากสุสานจิ๋นซี เช่น หุ่นทหารดินเผา รถม้าสำริดจำลอง ชุดเกราะหินและหมวกหิน

นิทรรศการ จิ๋นซี ฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา
เบื้องหลังทุกขั้นตอนของการขนย้ายโบราณวัตถุล้ำค่า ทหารดินเผาจิ๋นซี จากจีนสู่ไทย

เมื่อเดินมาถึงโซนสุดท้าย โซนที่ 4 สืบสานความรุ่งโรจน์: ยุคราชวงศ์ฮั่น ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้เรื่องราวมรดกทางวัฒนธรรมจากราชวงศ์ฉินที่สืบทอดมาสู่ราชวงศ์ฮั่น และความรุ่งเรืองของเส้นทางสายไหมที่ถ่ายทอดผ่านวัตถุโบราณที่ค้นพบในยุคฮั่น เป็นบทสรุปที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงว่า แม้รายละเอียดในการสร้างสุสานจะคลายความยิ่งใหญ่ลง แต่ความเชื่อที่มีต่อโลกหลังความตายยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

เบื้องหลังทุกขั้นตอนของการขนย้ายโบราณวัตถุล้ำค่า ทหารดินเผาจิ๋นซี จากจีนสู่ไทย

เราจะได้อะไรจากการดูโบราณวัตถุเหล่านี้

“ในฐานะภัณฑารักษ์ ประทับใจทุกชิ้นค่ะ แต่ว่าชอบโซนราชวงศ์ฮั่นที่สุด เพราะเป็นงานที่มีรายละเอียด สีสันยังอยู่ครบ เป็นของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่คนสมัยนั้นได้ดีมาก

“คนจีนเชื่อว่าโลกหลังความตายกับโลกที่มีชีวิตอยู่เหมือนกัน เขาจึงสร้างของจำลองขึ้นมาว่า โลกนี้มีกินมีใช้แบบนี้ โลกหน้าฉันก็จะต้องมีสิ่งนี้ไว้ใช้หลังความตาย เลยเกิดการจำลองบ้าน ปศุสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในโลกนี้ หรือแม้กระทั่งกองทัพทหารสำหรับจักรพรรดิ ก็เอาไปไว้ในสุสานเพื่อเอาไว้ใช้ในชีวิตหลังความตาย อย่างยุ้งฉางจำลอง ก็เป็นการจำลองว่าโลกหลังความตายจะต้องมีข้าว อาหาร ธัญพืช เอาไปทั้งยุ้งเลย และส่วนใหญ่ก็จะเจอเมล็ดข้าวจริงๆ ใส่เข้าไปในยุ้งจำลองนี้ด้วย

“เราพยายามสื่อเรื่องความเชื่อและความประณีตในการสร้างงานศิลปะของคนจีน ก็เลยมีการจัดทำเนื้อหาเพิ่มเติมเพื่อแสดงขั้นตอนในการทำ คนไทยอาจไม่รู้ว่าหุ่นทหารจริงๆ หัวกับตัวแยกกันนะคะ เขาปั้นเป็นส่วนๆ แล้วเผา จากนั้นจึงค่อยเอาหัวมาเสียบทีหลัง เราทุ่มเทกันมากเพื่อที่จะให้คนได้มาเรียนรู้ เพราะเป็นโอกาสที่ดีมากที่เราจะได้ดูของจีนที่เมืองไทย อยากให้คนที่มาดูได้รับความรู้ความเข้าใจในศิลปะวัฒนธรรมจีนเพิ่มมากขึ้น และเห็นความเชื่อมโยงในเรื่องคติความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในภูมิภาคนี้ค่ะ”

นิทรรศการ จิ๋นซี ฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา

นิทรรศการ จิ๋นซี ฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา จะเปิดให้เข้าชม ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ไปจนถึง 15 ธันวาคม 2562

ภาพเบื้องหลังการขนย้าย : กรมศิลปากร

Writer

Avatar

แก้วขวัญ เรืองเดชา

โปรดิวเซอร์สารคดีโทรทัศน์ นักเขียน และนักออกแบบนิทรรศการ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan