25 พฤษภาคม 2019
13 K

ลมพัดแรงสู้แดดจ้า ผลที่ออกมาคืออากาศเย็นกำลังดี

ฉันยืนตื่นตะลึงกับทัศนียภาพตรงหน้า ตึกสูงเรียงรายเบียดเสียดกันจนกลายเป็นเส้นขอบฟ้าของย่านธุรกิจเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ทางเดินริมน้ำมีผู้คนออกมาใช้เวลาว่างในวันอากาศดีด้วยกัน ฉันเดินไปตามทางพลางคิดในใจว่า ที่นี่ดูไม่เหมือนประเทศตะวันออกกลางที่เคยจินตนาการไว้สักนิด

ในฐานะคนที่เคยมาภูมิภาคนี้เป็นครั้งแรก ขอบอกเลยว่าประทับใจมาก

ไม่ใช่แค่การได้ขี่อูฐ ดูทะเลทราย นอนริมทะเลเท่านั้น อีกด้านที่ชวนให้ตื่นเต้นคือเมืองโดฮา จุดหมายปลายทางล่าสุดในโลกอาหรับ เมืองนี้เกิดมาจากกองทราย และใช้เวลาเพียงไม่ถึง 50 ปี ก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นอาณาจักรอย่างที่เห็นทุกวันนี้

กาตาร์เพิ่งค้นพบน้ำมันในปี 1939 แต่ก็ยังไม่ได้รับการนำมาใช้อย่างเต็มที่ จนกระทั่งเป็นอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรในปี 1971 ทำให้ประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว และตอนนี้ก็กำลังมุ่งหน้าสู่สิ่งที่เรียกว่า Qatar National Vision 2030 เพื่อให้การเจริญเติบโตนั้นยั่งยืน

ในความรวดเร็วนั้นมีอะไร แล้วจะมั่นคงได้อย่างไร

นี่คือเรื่องราวการพัฒนาประเทศแห่งนี้ ที่เราอยากชวนทุกคนมาศึกษาเรียนรู้

ใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืนที่สุด

กาตาร์เป็นประเทศที่รวยมาก

สิ่งที่ทำให้ประเทศนี้สร้างบ้านสร้างเมืองได้อย่างรวดเร็ว มีแต่ตึกสูงๆ เต็มไปหมด คือน้ำมัน แต่เมื่อมองไปอีกแง่หนึ่งจะเห็นว่าทรัพยากรด้านอื่นๆ ของกาตาร์นั้นช่างมีจำกัด เพราะเป็นประเทศกลางทะเลทรายที่ถูกล้อมรอบด้วยทะเลทุกทิศทาง

พวกเขาจึงต้องบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้ยั่งยืนที่สุด

กาตาร์พยายามใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า ที่จะติดแผงโซลาร์เซลล์บนตึกสูง เป็นพลังงานสำหรับหล่อเลี้ยงไฟฟ้าในตึกนั้นๆ และสำหรับสนามกีฬาที่รองรับงาน FIFA ปี 2022 ก็จะใช้เทคโนโลยีทำความเย็นจากพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย

อีกปัญหาที่ตามมากับการมีน้ำมันเยอะ นั่นคือสภาวะรถติดสุดๆ ภายในเมือง เพราะรถราคาถูก น้ำมันก็ยิ่งถูก แถมอากาศกลางทะเลทรายในช่วงเวลาส่วนใหญ่ จะร้อนขึ้นไปถึง 50 องศาเซลเซียสเลย

เมืองโดฮาจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการทำระบบขนส่งสาธารณะ ในรูปของรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่จะมีสถานีกว่า 100 สถานี เพื่อให้เดินทางไปที่ไหนก็ถึงเลย ไม่ต้องเดินเท้าฝ่าอากาศร้อนต่อ

ถ้ารถไฟใต้ดินเปิดเมื่อไร โดฮาก็จะก้าวไปอีกขั้นอย่างแน่นอน

ดูแลทั้งคนในและคนนอก

ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางมักถูกมองว่าโด่งดังเรื่องการปิดกั้นทางความคิด และการจำกัดสิทธิ์เพศหญิง ฉันเองก็หวาดหวั่นอยู่นิดๆ เหมือนกันตอนก่อนจะเดินทางมา

แต่พอได้เจอเข้าจริงแล้วกลับพบว่าไม่ต้องเกร็งเลยแม้แต่น้อย

เนื่องจากจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน กาตาร์จึงถูกประเทศเพื่อนบ้านตัดสัมพันธ์ พวกเขาพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส โดยการหันมาเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้โดยไม่พึ่งพาประเทศเพื่อนบ้าน ในแง่หนึ่งคือการดูแลคนในประเทศเองให้ดี และอีกแง่คือการเชื้อเชิญคนจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศ

เรื่องการดูแลคนในประเทศ รัฐบาลกาตาร์ออกกฎหมายเงินเดือนพื้นฐาน ที่จะช่วยอุดหนุนให้ส่วนหนึ่งของเงินเดือน ทำให้คนกาตาร์ใช้ชีวิตอยู่ได้แบบสบายๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานแบบที่ได้เงินเดือนน้อยหรือมาก รวมถึงลดของนำเข้า เพิ่มการผลิตเองภายในประเทศ โดยหนึ่งในงานแรกๆ คือการนำเข้าวัวหลายพันตัวมาด้วยเครื่องบิน Qatar Airways เพื่อสร้างฟาร์มผลิตนมเนยเองในกาตาร์

ส่วนเรื่องการเชิญคนทั่วโลกเข้ามา สถิติที่น่าประหลาดใจคือคน 88 เปอร์เซ็นต์ในกาตาร์เป็นคนต่างชาติ (ข้อมูลล่าสุดปี 2017 และมีแนวโน้มว่าจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ) เราได้คุยกับทั้งคนสเปน ฟิลิปปินส์ อินเดีย บังกลาเทศ และพบว่าสาเหตุที่ใครๆ ก็อยากมาอยู่เมืองนี้ คือกาตาร์ยกเว้นการทำวีซ่าให้ประเทศมากถึง 80 ประเทศ และมีกฎหมายว่าพนักงานไม่ต้องจ่ายภาษี ให้เป็นภาระของบริษัทผู้จ้างแต่ผู้เดียว

มุ่งสู่ความเท่าเทียม

แน่นอนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังมีอยู่

ประเทศที่กำลังสร้างให้เห็นต่อหน้าต่อตา หมายความว่าหันไปทางไหนก็มีแต่เขตก่อสร้าง และในเขตก่อสร้างย่อมหมายถึงพนักงานก่อสร้างจำนวนมาก ผู้คนเหล่านี้ เมื่อเข้ามาทำงานแล้วต้องอยู่ใต้ระบบ Sponsorship หมายถึงว่าจะต้องมีคนกาตาร์คอยอนุมัติเวลาจะทำอะไร จะไปที่ไหน และที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื้อรัง เช่น ผู้จ้างไม่ยอมให้พนักงานหยุดงาน และให้ทำงานหนักเกินเวลา

กาตาร์ไม่เคยคิดจะปกปิดเรื่องนี้ หลักฐานที่เห็นชัดเป็นรูปธรรมคือ Msheireb Museums พิพิธภัณฑ์ที่สร้างจากเรือนทาสเก่า โดยภายในเล่าเรื่องระบบทาส และประวัติศาสตร์การใช้แรงงานทาสอย่างกดขี่ในกาตาร์ ก่อนตบท้ายด้วยวิธีการพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ เช่น เรื่องการแข่งอูฐ ที่มักจะใช้เด็กเป็นผู้แข่ง และนำไปสู่การซื้อขายทาสเด็ก ในปัจจุบัน กาตาร์จึงสร้างหุ่นยนต์สำหรับแข่งอูฐแทน

นอกจากกลุ่มชนชั้นแรงงานแล้ว คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกกดขี่คือผู้หญิง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีทั่วไปในประเทศมุสลิมอยู่แล้ว

Moza bint Nasser Al Missned พระมารดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบันของกาตาร์ทรงเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลง พระองค์ทรงมีชื่อเสียงจากการสวมใส่ชุดแบบโอกูตูร์ที่ทั้งสวยสะดุดตาและยังถูกต้องตามหลักศาสนา รวมถึงทรงเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมสภาการศึกษาของ UN อย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นการวางพระองค์ที่ทำลายกรอบของภาพผู้หญิงอาหรับที่ต้องเดินตามหลังสามีไปอย่างสิ้นเชิง

พระองค์มีพระราชดำริว่า ผู้หญิงจะมีสิทธิพื้นฐานในสังคมอย่างแข็งแรงมั่นคงได้ ต้องเริ่มจากมีการศึกษาก่อน และทรงผลักดันเรื่องความเท่าเทียมผ่านการสร้างโอกาสทางการศึกษาเสมอมา

หยั่งรากด้วยการศึกษา

กาตาร์รู้ตัวดีว่ารวยขึ้นมาได้เพราะน้ำมัน และน้ำมันจะไม่อยู่ไปตลอดกาล

ประเทศจึงต้องหาทางอื่นในการสร้างรายได้ ซึ่งจะมีอะไรยั่งยืนไปกว่าความรู้

นี่คือสาเหตุที่เขากำลังสร้าง Education City เมืองย่อมๆ ขนาด 14 ตารางกิโลเมตรบริเวณชานเมืองโดฮา ที่มีมหาวิทยาลัยมากถึง 9 แห่ง เป็นสาขาของมหาวิทยาลัยอเมริกัน 6 แห่ง จากสหราชอาณาจักร 1 แห่ง จากฝรั่งเศส 1 แห่ง และของกาตาร์เอง 1 แห่ง โดยมีสาขาของ Georgetown University, Carnegie Mellon University และ UCL มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกด้วย

แต่ละมหาวิทยาลัยที่เข้ามาอยู่ในชุมชนขนาดย่อมนี้ องค์พระราชินี Moza เป็นผู้ทรงติดต่อเข้ามาด้วยพระองค์เอง และคนที่เรียนอยู่มีอัตราส่วนผู้หญิง-ผู้ชายประมาณ 50-50 เลย

ประเทศเติบโตเร็ว อาจมีอีกข้อเสียหนึ่งคือประชาชนอาจหลงลืมความยากลำบากกว่าจะมาถึงวันนี้

วิธีแก้ปัญหานี้คือ แต่งแต้มโดฮาด้วยพิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากมาย เช่น Museum of Islamic Art พิพิธภัณฑ์อุทิศเพื่อศิลปะอิสลามแห่งเดียวในตะวันออกกลาง และล่าสุด National Museum of Qatar ที่ยืมเสียงของชาวกาตาร์รุ่นก่อนๆ บอกเล่าเรื่องราว ย้ำเตือนให้คนรุ่นใหม่ภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง

ในวันเปิดพิพิธภัณฑ์ ฉันมองดูประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกาตาร์กำลังก่อร่างสร้างตัว แล้วร่วมลุ้นให้ประเทศนี้เติบโตไปได้ไกลอย่างยั่งยืน

ถ้าอยากไปดูโดฮาให้เห็นกับตาตัวเองว่าเจ๋งอย่างไร เราขอแนะนำให้บินไปด้วย Qsuite ของ Qatar Airways อีกหนึ่งความพยายามที่จะพัฒนาไปเป็นที่สุดของกาตาร์ ด้วยที่นั่งชั้น Business ที่ให้อารมณ์คล้าย First Class เป็นอีกส่วนหนึ่งของประสบการณ์ความเป็นกาตาร์ที่เมื่อได้ลองแล้ว จะไม่มีวันลืม

Writer & Photographer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ