ตลอดชีวิตการมีประจำเดือน เราทดลองใช้สิ่งรองรับประจำเดือนไปกว่า 4 ชนิด เพื่อหาทางเลือกที่เป็นมิตรกับน้องสาวและโลกของเราที่สุด วิธีการเหมือนการตามหาคนที่ใช่ คือลองคบหากันสักพัก แล้วมาตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ แต่บอกตรง ๆ ว่ายังไม่มีทางเลือกไหนที่เราเทใจให้หมดหน้าตัก 

ครั้นจะใส่ผ้าอนามัย รอว่าประจำเดือนตัวดีจะมาตอนไหน ก็แสนจะเปลืองทั้งเงินและยังทำร้ายโลก พอเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยซักได้ ก็รู้สึกไม่กระฉับกระเฉง แถมยังขี้เกียจซักมือจนต้องแช่ทิ้งหลายวัน พอหันมาลองใส่ถ้วยอนามัย ทรงและขนาดของแบรนด์ที่ซื้อมาก็ดันไม่เข้ากับสรีระภายในของเราเสียอย่างนั้น แล้วทางเลือกของคนที่อยากรักตัวเอง รักเงินในกระเป๋า แถมยังรักษ์โลกด้วยอยู่ตรงไหน? 

ไม่นานมานี้เราเพิ่งได้รู้จัก Pynpy’ แบรนด์กางเกงในอนามัยสัญชาติไทยของคู่รักอย่าง กานต์-อรกานต์ สายะตานันท์ นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ PARA สินค้าในชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ Tomas Prochazka เจ้าของธุรกิจโยคะออนไลน์ที่เมืองปราก สาธารณรัฐเช็ก ความพิเศษที่เราร้องว้าวไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกเหมือนกำลังเจอคนที่ใช่ คือ Pynpy’ เป็นกางเกงในอนามัยที่ใช้นวัตกรรมการถักทอเส้นใยแบบพิเศษ จึงซึมซับประจำเดือนได้มากโดยไม่อับชื้น แถมให้ความรู้สึกเหมือนใส่กางเกงในทั่วไป ชนิดที่ถ้าไม่ปวดท้องก็แทบลืมไปเลยว่าเคยมีเมนส์

พูดแค่นี้ก็รู้สึกตื่นเต้นไม่ไหว เราจึงถือโอกาสชวนคู่รักคู่นี้มาพุดคุย ว่าพวกเขาเก็บทุกปัญหาของคนมีประจำเดือนมาแก้ไขด้วยนวัตกรรมยังไง ในมุมมองของนักออกแบบอย่างกานต์ เธอเริ่มต้นจากจุดไหน แล้วในมุมมองของแฟนหนุ่มผู้ไม่มีประจำเดือน อะไรทำให้เขาอยากให้โปรเจกต์ครั้งนี้สำเร็จ 

Pynpy' กางเกงในอนามัยสัญชาติไทย ตัวเลือกใหม่แก้ปัญหาผู้มีประจำเดือนและสิ่งแวดล้อม

Pain Point แสนเจ็บปวดที่ผู้มีประจำเดือนต่างรู้ดี

เรื่องราวของ Pynpy’ เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน ครั้งที่กานต์และโทมัสไปเที่ยวด้วยกันที่เชียงใหม่ กานต์รู้อยู่แก่ใจว่าประจำเดือนของเธอจะมาช่วงที่ทั้งคู่ไปเที่ยวพอดี เธอจึงเตรียมผ้าอนามัยธรรมดาไป 8 แผ่น แต่วันแล้ววันเล่าที่เธอใส่ผ้าอนามัยรอเผื่อประจำเดือนจะมาระหว่างทริป ประจำเดือนเจ้ากรรมก็ดันมาในคืนที่ผ้าอนามัยของเธอหมดไปแล้ว จุดนั้นเองที่กานต์และโดยเฉพาะโทมัสปิ๊งไอเดียแรกเริ่มว่าต้องทำอะไรสักอย่าง 

“ผมจำได้ว่าตอนนั้นกานต์ดูลำบากมาก ผมอยากทำอะไรสักอย่างที่จะได้เห็นว่ากานต์มีความสุขและสบายใจมากขึ้น บวกกับธุรกิจโยคะออนไลน์ที่ทำอยู่ ทำให้ผมรู้อยู่ตลอดว่าผู้มีประจำเดือนทุกคนรู้สึกไม่สบายตัวแค่ไหน ทั้งยังทำในสิ่งที่รักได้ไม่เต็มที่ เราจึงคิดเหมือนกันว่าควรทำอะไรสักอย่างที่ช่วยให้ผู้มีประจำเดือนรู้สึกมีความสุขและเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่านี้” โทมัสบอกความตั้งใจนั้น แม้เขาจะเป็นผู้ชายที่ไม่มีประจำเดือนเลยก็ตาม

ในมุมมองของนักออกแบบอย่างกานต์และคนทำธุรกิจมาก่อนอย่างโทมัส เมื่อคิดจะทำแบรนด์ขึ้นมาสักอย่าง การเลือกผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ตนเอง แต่ไม่อาจแก้ไขปัญหาให้คนอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายทางร่างกาย จึงไม่ใช่ทางออกที่ดี ทั้งคู่จึงเริ่มจากเก็บรวบรวม Pain Point ของผู้มีประจำเดือนรอบข้างว่าประสบปัญหาอะไรมาบ้าง แล้วจึงนำมาประมวลผลอีกที

“เพื่อนเราคนหนึ่งแพ้ผ้าอนามัย บางคนที่พยายามใช้ถ้วยอนามัยเขาบอกว่ามันไม่ถนัด วันท้าย ๆ ของการมีประจำเดือนก็ไม่ค่อยอยากใส่แล้ว ส่วนเราเองมักจะใส่ผ้าอนามัยรอประจำเดือนมา แต่มันค่อนข้างสิ้นเปลือง และมักจะตื่นตอนกลางคืนเพราะรู้สึกไม่สบายตัว ส่วนผ้าอนามัยซักได้ก็ค่อนข้างตุงจนรู้สึกทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเรื่องความไม่สบายตัวจนทำให้ทำอะไรได้ไม่ถนัดนี้เป็นปัญหาของทุกคนเลย

“ทั้งที่ประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มันกลับเป็นปัญหาที่ทำให้เราใช้ชีวิตยากขึ้น เราเลยตัดสินใจเลือกทำสิ่งที่ทำให้ทุกคนใช้ชีวิตได้ปกติมากที่สุด นั่นคือกางเกงในอนามัยที่ใส่ได้เหมือนกางเกงในทั่วไป เราจะใส่รอประจำเดือนบ่อยแค่ไหนก็ไม่สิ้นเปลือง” นักออกแบบอย่างกานต์อธิบายกระบวนการทำงานให้ฟัง

Pynpy' กางเกงในอนามัยสัญชาติไทย ตัวเลือกใหม่แก้ปัญหาผู้มีประจำเดือนและสิ่งแวดล้อม
Pynpy' กางเกงในอนามัยสัญชาติไทย ตัวเลือกใหม่แก้ปัญหาผู้มีประจำเดือนและสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมซึมซับแถมซักง่ายโดยวิศวกรสิ่งทอ

หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วกางเกงในอนามัยของทั้งคู่ แตกต่างจากแบรนด์กางเกงในอนามัยต่างประเทศที่มีมาก่อนแล้วยังไง จากประสบการณ์การใช้กางเกงอนามัยแบรนด์ต่างชาติ กานต์ขอบอกเลยว่า Pynpy’ นั้นแตกต่างสุด ๆ 

“ประจำเดือนเป็นเรื่องสุขภาพที่เราควรให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย เราจึงอยากปรึกษาสูตินรีแพทย์ให้มั่นใจ แล้วก็ทำงานร่วมกับวิศวกรสิ่งทอด้วย กางเกงอนามัยของเราจึงไม่ใช่การเอาผ้ามาซ้อนทับกันแล้วเย็บเฉย ๆ แต่มันคือเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม

“เราใช้เส้นใยที่ผ่านมาตรฐาน OEKO-TEX ของยุโรปมาถักทอเป็นโครงสร้างพิเศษ ที่ทำให้เส้นใยสูบประจำเดือนเข้าไปได้มากเท่าการใส่ผ้าอนามัย 2 แผ่นในรุ่น Classic Cut และ 3 แผ่นในรุ่น Seamless ทั้งยังกักเก็บประจำเดือนไม่ให้ไหลย้อนกลับได้ด้วย ซึ่งทั้ง 2 รุ่นจะใส่ได้นาน 8 – 12 ชั่วโมงต่อวัน” กานต์อธิบาย ก่อนลงลึกให้ฟังว่า เพราะเธอเข้าใจความกังวลเรื่องการซึมเปื้อนเป็นอย่างดี การวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้าชิ้นนี้จึงละเอียดกระทั่งลักษณะการไหลของประจำเดือน ว่ามักจะไปในทิศทางใด มากน้อยแค่ไหน 

แต่กักเก็บได้ดีขนาดนี้ การทำความสะอาดจะยากขนาดไหน เมื่อเราเอ่ยคำถามที่สงสัย กานต์ก็เบรกเราทันทีว่า กางเกงในอนามัยของเธอไม่จำเป็นต้องขัดด้วยสบู่และแช่ทิ้งไว้ เช่นที่หลายคนเจอปัญหาจากการใช้ผ้าอนามัยซักได้ เพราะ Pynpy’ มีเทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องการซักทำความสะอาด แค่นำไปผ่านน้ำเฉย ๆ ของเหลวที่ซึมซับก็จะออกมาได้โดยง่าย หลังจากนั้นก็โยนเข้าเครื่องซักผ้าได้เลย 

“หลายคนฟีดแบ็กกลับมาว่าว้าวมากและเหมือนมีเวทมนตร์” เธอเล่า

คุณสมบัติชวนตาลุกวาวตรงนี้จะอยู่ได้นานถึง 2 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าหลังจากนั้น เราจะโยนเจ้ากางเกงในตัวนี้ลงถังขยะ เรายังคงนำมาใส่แทนกางเกงในปกติได้ หรือหากจะนำมาใส่ในวันท้าย ๆ ของการมีประจำเดือนก็ยังปัง และเมื่อใช้ไปนานจนเปื่อยก็ส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธีได้เช่นกางเกงในทั่วไป 

Pynpy' กางเกงในอนามัยสัญชาติไทย ตัวเลือกใหม่แก้ปัญหาผู้มีประจำเดือนและสิ่งแวดล้อม
Pynpy' กางเกงในอนามัยสัญชาติไทย ตัวเลือกใหม่แก้ปัญหาผู้มีประจำเดือนและสิ่งแวดล้อม

กางเกงในอนามัยสัญชาติไทยเพื่อคนไทย

แค่นวัตกรรมที่ทั้งคู่เกริ่นไปก็รู้สึกตื่นเต้นมากแล้ว แต่กานต์ยังบอกอีกว่าเธอและโทมัสไม่ได้หยุดแค่นั้น ทั้งคู่ยังลงลึกเรื่องสภาพอากาศและสรีระไปอีกขั้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนไทยและคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จริง ๆ 

“ตอนใส่กางเกงอนามัยแบรนด์ต่างชาติที่ประเทศเขา เราไม่รู้สึกอะไรหรอก แต่พอกลับมาที่ไทยเท่านั้นแหละ โอ้โห มันอับชื้นและแห้งยากมาก พอทำกางเกงในอนามัยของตัวเอง เราจึงแก้ไขตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน คือเลือกใช้เส้นใยไผ่ ซึ่งมีคุณสมบัติซึมซับและระงับกลิ่นได้ดีกว่าใยอื่น จากนั้นก็พัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้แห้งสบาย และมีแอนตี้แบคทีเรียเพื่อลดต้นตอการเกิดกลิ่น เราทำจริงจังชนิดที่ทดลองในห้องแล็บว่าที่ความชื้นเท่านี้ เทคโนโลยีของเราจะตอบโจทย์ไหม 

“อีกปัญหาที่เราเจอตอนใส่กางเกงอนามัยแบรนด์อื่น คือมันไม่พอดีกับสรีระของคนเอเชียอย่างเรา จึงใส่แล้วรู้สึกไม่มั่นใจ เราเลยออกแบบรูปทรงของ Pynpy’ ให้บางเบา เข้ากับส่วนเว้าโค้งของคนไทย และเลือกทำไซส์ให้หลากหลาย ตั้งแต่ไซส์ 3XS จนถึง 5XL เพราะอยากให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับความสบาย” 

บอกตรง ๆ ว่าเมื่อฟังกานต์อธิบายถึงตรงนี้ คนเอวเล็กแต่สะโพกใหญ่อย่างเรารู้สึกเนื้อเต้นทันที แต่ด้วยไซส์ที่กว้างขนาดนี้ แน่นอนว่าต้นทุนการผลิตจะต้องมากกว่าการทำไซส์น้อย ๆ เราจึงสงสัยว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่จะทำให้ Pynpy’ ตอบโจทย์ทุกคน

“เราต้องจ่ายเงินมากกว่า แต่มันทำให้ลูกค้ารู้สึกเป็นตัวของตัวเอง และรู้สึกได้ว่ามีคนใส่ใจพวกเขา ซึ่งก็เหมือนการลงทุนและการสร้างแบรนด์ที่ต้องการให้ผู้มีประจำเดือนทุกคนมีความสุข” โทมัสไขข้อข้องใจ

หรือนี่จะคือคนที่ใช่?

ธุรกิจกางเกงในอนามัยที่ตั้งต้นจากนักออกแบบ พัฒนาโดยวิศวกรสิ่งทอ และเก็บฟีดแบ็กมาปรับปรุงไม่หยุดหย่อน

Feedback is a gift

300 ตัว คือจำนวนสินค้าที่ทั้งคู่วางขายในครั้งแรก หลังพัฒนาร่วมกับชาวไทยและต่างชาติร่วม 2 ปี 

1 เดือน คือระยะเวลาที่ทั้งคู่ขายสินค้าล็อตแรกนี้หมด โดยแทบไม่ได้ทำการตลาดอะไร แต่สินค้าตอบโจทย์ลูกค้าได้จริงจนเกิดการตลาดแบบปากต่อปาก 

อินฟินิตี้ คือจำนวนที่ทั้งคู่หยิบฟีดแบ็กจากลูกค้ามาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ทั้งคู่มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Pynpy’ เติบโตอย่างรวดเร็ว ยั่งยืน และมั่นคง

“คอมมูนิตี้ผู้มีประจำเดือนและลูกค้าของเราสำคัญมาก เราไม่ได้มโนทำสินค้าแล้วขาย แต่เราเริ่มจากการถามคนกลุ่มเล็ก ๆ ว่าเขาอยากได้อะไรแล้วจึงวางขาย จากนั้นก็เก็บฟีดแบ็กจากลูกค้า เพื่อพัฒนาให้ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ” กานต์ว่า 

“เรา 2 คนใช้วิธีการพัฒนาวิธีการทำงานที่เรียกว่า Agile Process มาปรับใช้ นั่นคือเมื่อพัฒนาสินค้าแล้ว เราจะปล่อยสินค้าให้คนได้ลองทันที เพื่อฟังฟีดแบ็กแล้วนำกลับมาพัฒนาต่อ ไม่อย่างนั้นถ้าเราวิจัยวันนี้แต่วางขายปีหน้า ซึ่งสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เวลาเปลี่ยน ความต้องการของคนเปลี่ยน กระทั่งนวัตกรรมเปลี่ยน สินค้าของเราก็อาจไม่ตอบโจทย์แล้ว” โทมัสเสริม

ตัวอย่างง่าย ๆ ของการพัฒนาสินค้าของทั้งคู่ คือหลังจากออกรุ่น Classic Cut ที่ทำจากผ้าเส้นใยไผ่ทรงสบายออกมาได้สักพัก เมื่อลูกค้าเริ่มถามถึงรูปทรงที่ดูทันสมัยและไร้รอยต่อเรื่อย ๆ ทั้งคู่ก็ทดลองทำรุ่นที่ 2 อย่าง Seamless ออกมาขายแบบลิมิเต็ดอิดิชัน เพื่อเก็บฟีดแบ็กมาพัฒนาก่อนวางขายจริงจัง

สำหรับโทมัส ความท้าทายในการทำ Pynpy’ ในไทยแลนด์ ดินแดนของการปกปิด คือวิธีการสื่อสารเรื่องประจำเดือนให้คนไทยได้รู้ว่านี่คือเรื่องธรรมชาติ แต่สำหรับกานต์แล้ว การต้องพัฒนาสินค้าให้ปังกว่าเดิมแบบน็อนสต็อปนี้เอง คือสิ่งที่เธอต้องรับมือ

“มันเหนื่อยนะ แต่พออ่านคอมเมนต์แล้วเห็นว่าทุกคนแฮปปี้ บางคนบอกว่ากางเองในอนามัยของเราเปลี่ยนชีวิตเขา เราก็อยากเก็บฟีดแบ็กเหล่านี้มาพัฒนาต่อเรื่อย ๆ”

ธุรกิจกางเกงในอนามัยที่ตั้งต้นจากนักออกแบบ พัฒนาโดยวิศวกรสิ่งทอ และเก็บฟีดแบ็กมาปรับปรุงไม่หยุดหย่อน

นวัตกรรมทางเลือกที่แก้ปัญหาหลากหลายให้คนได้ทุกเพศทุกวัย

บรรยายสรรพคุณของกางเกงในอนามัยนวัตกรรมสุดปังมาขนาดนี้ จนหลายคนอาจจะอยากกดสั่งซื้อทันที แต่กานต์กับโทมัสก็ย้ำกับเราหลายครั้งว่า ทั้งคู่เชื่อเรื่องความหลากหลายของผู้มีประจำเดือน Pynpy’ จึงไม่เคยบอกให้เลิกใช้อย่างอื่น แต่ยังสนับสนุนสิ่งรองรับประจำเดือนทางเลือกที่ช่วยลดขยะเสมอ ไม่ว่าจะผ้าอนามัยย่อยสลายได้ ผ้าอนามัยซักได้ หรือถ้วยอนามัย ฯลฯ

“เราไม่เคยบอกว่านี่คือสิ่งที่ดีและเหมาะกับทุกคนที่สุดในโลก เราไม่เคยพูดว่ามาใช้เราสิ อย่าใช้อย่างอื่นเลย เราอยากให้มีทางเลือกเยอะ ๆ ด้วยซ้ำ เพราะปลายทางของเราคือการทำให้ทุกคนที่มีประจำเดือนมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นมันควรมีทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาที่หลากหลายของคนมีประจำเดือน” กานต์บอก

“บางคนมีประจำเดือนไม่มาก บางทีการใช้แค่ผ้าอนามัยซักได้ก็อาจจะเวิร์กสำหรับเขาแล้ว แต่กับคนที่มีประจำเดือนเยอะและค่อนข้างกังวล ก็อาจจะใช้ถ้วยประจำเดือนร่วมกับกางเกงในอนามัยของเราได้ ทุกครั้งที่มีลูกค้าใหม่ เรามักจะบอกเสมอว่าคุณต้องลองก่อน แล้วถึงจะหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณได้” โทมัสช่วยยกตัวอย่างให้เข้าใจ

การคำนึงถึงความหลากหลายของทั้งคู่ไม่ได้หยุดแค่นั้น แต่ยังแทรกซึมและแตกแขนงไปยังการสื่อสารอื่น ๆ รวมถึงการออกแบบด้วย เช่น สีประจำของแบรนด์ก็เป็นสีม่วง ไม่ได้สื่อถึงเพศชายหรือหญิงอย่างสีฟ้าหรือชมพูที่สังคมกำหนด เพื่อสื่อสารว่ากางเกงอนามัยของพวกเขาไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงกลุ่ม LGBTQ+ หรือหมายถึงคุณย่าคุณยายที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดได้ด้วย

“เราพยายามแก้ปัญหาเรื่องความสบายทางกายและทางใจให้กับทุกเพศ ทุกวัย เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า แบรนด์ของเราจึงมีทั้งลูกที่ซื้อให้แม่ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง แทนการใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่ทำให้เขารู้สึกป่วย มีทั้งแม่ที่ซื้อให้ลูกที่เริ่มเป็นวัยรุ่น หรือกระทั่งสามีซื้อให้ภรรยา เพราะมันสื่อสารได้ว่าเขาแคร์คนรักของตัวเองจริง ๆ พอใคร ๆ ก็ซื้อกางเกงอนามัยให้กันได้ ในที่สุดเรื่องของประจำเดือนมันก็จะเป็นเรื่องที่พูดได้มากขึ้นในสังคมไทย” โทมัสกล่าว

“เราคิดว่า Pynpy’ จะไม่ได้อยู่แค่เรื่องประจำเดือน แต่เรายังอยากพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมสิ่งทอสำหรับซึมซับของเหลวที่ออกจากตัวมนุษย์ เช่น สินค้าสำหรับ LGBTQ+ ที่ทำศัลยกรรมแล้วจะมีน้ำออกจากช่องคลอด เพราะความตั้งใจของเราคือ การทำให้ทุกคนที่มีปัญหา รู้สึกว่าเขามีคุณค่าในตัวเองและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติมากที่สุด” กานต์ทิ้งท้าย

ธุรกิจกางเกงในอนามัยที่ตั้งต้นจากนักออกแบบ พัฒนาโดยวิศวกรสิ่งทอ และเก็บฟีดแบ็กมาปรับปรุงไม่หยุดหย่อน

Lesson Learned

  • ฟีดแบ็กจากคอมมูนิตี้สำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ ธุรกิจไม่ได้เติบโตจากสินค้า แต่เติบโตจากปัญหาของผู้ใช้จริง
  • ถ้าคิดจะทำสินค้าอะไรสักอย่าง อย่าคิดว่าจะทำสินค้าสำหรับทุกคน เพราะทุกคนนั้นแตกต่างหลากหลาย แต่ควรจะคิดวิธีว่าจะทำสินค้าอย่างไรให้แก้ปัญหาของคนได้ และขายวิธีแก้มากกว่าสินค้า

Website : www.pynpy.com/th/

Facebook : Pynpy’

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน