“ทำไมถึงยังอยากทำอาร์ตสเปซอีกทั้งที่ก่อนหน้านี้ล้มไปแล้วตั้งสามครั้ง”

“เพราะว่ามันต้องมีไง”

จะว่าคำตอบห้วนเกินไปก็ไม่ผิด แต่หลังจากพูดคุยกันร่วม 3 ชั่งโมง ผมสัมผัสได้ว่า ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ เป็นคนตรงไปตรงมา อย่างที่เรียกว่าจริงใจมากกว่าขวานผ่าซาก

ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ PYE Space อาร์ตสเปซหนึ่งเดียวของพะเยา ฝันของครูผู้ดื้อดึงในย่านโรงหนังเก่าพะเยารามา

หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อของอาจารย์หนุ่มประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คนนี้มากนัก แต่ใครพอติดตามข่าวสารในแวดวงศิลปะอยู่บ้างก็อาจเคยผ่านตาโปรเจกต์สร้างสรรค์ อย่าง ‘พะเยารามา ๒๕๑๖-๒๕๖๔’ และ ‘กรรมศิลป์’ ที่เขาเป็นโต้โผหลักเนรมิตสีสันบรรยากาศของ 2 โรงภาพยนตร์เก่าแก่ในความทรงจำชาวพะเยา ‘พะเยารามา’ และ ‘เมืองทองรามา’ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการจัดนิทรรศการศิลปะ เวทีปล่อยของสำหรับนักศึกษา สร้างพื้นที่พบปะสังสรรค์ของบรรดาศิลปิน และพาศิลปะให้ขยับมาใกล้ชิดชุมชน

นอกจากนี้ยังเป็นผู้บุกเบิกทำอาร์ตสเปซแห่งแรกและแห่งเดียวของพะเยา ตั้งแต่ ‘อย่าเห็นแก่ตัวสถาน’ จนเปลี่ยนผ่านมาถึง ‘PYE Space’ เพื่อจุดประกายทางศิลปะพร้อมสนับสนุนศิลปิน ซึ่งเขาพยายามปลุกปั้นมันขึ้นมาตลอดช่วงเวลากว่า 10 ปี

ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ PYE Space อาร์ตสเปซหนึ่งเดียวของพะเยา ฝันของครูผู้ดื้อดึงในย่านโรงหนังเก่าพะเยารามา

จำเป็นอย่างไรจึงต้องมี ผมอมคำถามนี้ไว้ไม่ซักไซ้ต่อ เพราะดูเหมือนคำตอบจะอยู่ในเรื่องราวความมุ่งมั่นตั้งใจ ความคาดหวังต่อการผลักดันศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ในเมืองสงบริมกว๊านที่เขาเล่าให้ผมฟังก่อนหน้านั้นแล้ว

1

ปวินท์เป็นหนุ่มเชียงใหม่ที่เติบวัยมาพร้อมกับความสนใจด้านการออกแบบกราฟิก จึงเลือกเข้าเรียนต่อสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ กระนั้นในเทอมสุดท้ายที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีฉีกกรอบการแสดงงานศิลปนิพนธ์ ด้วยการขนไปจัดแสดงกลางห้างสรรพสินค้า ก็ทำให้ฝ่ายส่งเสริมการขายของห้างเห็นแววความสามารถ แล้วทาบทามร่วมงานทันทีที่เรียนจบ

ในอายุของการจัดกิจกรรมดึงดูดลูกค้า ผลิตโปรโมชัน และสรุปรายงานประจำสัปดาห์ เขาได้เรียนรู้ทักษะการตลาดเข้มข้น ทว่าไม่ช้าก็รู้สึกอิ่มตัว เลยหันมาเรียนต่อปริญญาโท สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ซึ่งขยับขยายพรมแดนความหลงใหลของเขาสู่สื่อศิลปะ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างเสียงกอปรกับความชื่นชอบฟังเพลงเป็นทุนเดิม ท้ายสุดจึงลงเอยบนเส้นทางอาชีพดีเจเปิดแผ่นตามคลับ รับจัดงานปาร์ตี้ กระทั่งเปิดโรงเรียนสอนดีเจ ก่อนจะจับพลัดจับผลูไปเป็นอาจารย์พิเศษอยู่มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา ตามเพื่อนรุ่นพี่ที่กำลังมองหาเพื่อนร่วมทีมและร่วมลงขันความคิดพัฒนาหลักสูตรใหม่ รองรับการเปลี่ยนแปลงจากมหาวิทยาลัยวิทยาเขต สู่มหาวิทยาลัยเอกเทศในเวลาต่อมา

2

“ครั้งหนึ่งเราเคยเจอลูกศิษย์ถามว่า อาจารย์จบอะไรมา สมัยเรียนอาจารย์ทำงานอะไรบ้าง อยากเห็นงานของอาจารย์บ้าง เราก็คิดว่า เฮ้ย ไอ้นี่มันกวนฉิบหายเลยส่งพอร์ตโฟลิโอให้ดู แต่พอมานั่งนึกๆ ดู มันเหมือนเราเมื่อก่อนเลยนี่หว่า เราก็เคยถามอาจารย์แบบนั้นเหมือนกัน เพราะแค่อยากรู้ว่าเก่งแค่ไหนมาสอนกู แล้วกวนกว่านี้อีก เราถามจนอาจารย์ร้องไห้ เคยถึงขั้นที่ว่านั่งอ่านหนังสือจริงจังมาก เพื่อเตรียมไปโต้แย้งกับอาจารย์จนชนะ”

จากอาจารย์พิเศษปวินท์ ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำในช่วงแรกเริ่มของการจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา สถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งเดียวของจังหวัดที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านศิลปะ แน่นอนว่าด้วยความสดใหม่ไฟแรงย่อมต้องถูกทดสอบความเหมาะสมเป็นธรรมดา และจากความเคลือบแคลงของนักศึกษาก็จุดไอเดียให้เขาสร้าง ‘อย่าเห็นแก่ตัวสถาน’ อาร์ตสเปซแห่งแรกของเมืองนี้ขึ้นมาบนชั้นสองของบ้านพักเก่าโทรมบริเวณชุมชนริมกว๊าน ที่เขาลงมือแปลงโฉมเพื่อใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานของบรรดาคณาจารย์ รวมทั้งเป็นสนามเรียนรู้ ทดลอง และเผยแพร่งานศิลปะของนักศึกษา

สนทนากับ ‘ปวินท์ ระมิงค์วงศ์’ อาจารย์สอนศิลปะผู้ก่อตั้งอาร์ตสเปซแห่งเดียวในพะเยาแม้ล้มไปแล้ว 3 ครั้ง เพราะเชื่อว่าจังหวัดต้องการสิ่งนี้

“เพราะอาจารย์ทุกคนเก่งและมีความสามารถเฉพาะด้าน เราจึงคิดว่าน่าจะต้องทำอะไรสักอย่างให้เด็กเห็นว่าพวกเราทำงานอะไรกันบ้าง เลยช่วยกันกับ พี่หวาน (เฉลิมชนม์ จิตจินดา) รุ่นพี่ที่ชวนเรามาเป็นอาจารย์ปรับแต่งชั้นสองของบ้านพักเป็นอาร์ตสเปซเล็กๆ เปิดตัวด้วยนิทรรศการแสดงผลงานของอาจารย์ทุกคน ชวนนักศึกษามาดูและล้อมวงเสวนา จากนั้นทุกเดือนก็จะมีเวิร์กช็อปและกิจกรรมศิลปะต่างๆ ซึ่งในหลักสูตรใหม่ที่กำหนดให้ทุกรายวิชาต้องเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ เราก็ใช้ตรงนี้เป็นเวทีให้นักศึกษาได้มานำเสนอ เรียนรู้การออกแบบ และจัดการนิทรรศการในพื้นที่จริงด้วย”

แต่แล้วเมื่อเปิดทำการได้เพียงปีเศษ อาร์ตสเปซแห่งนี้ก็ปิดตัวลงจากอุปสรรคขลุกขลักเรื่องสัญญาเช่า กระนั้นเขาก็ยังเข็นมันให้ฟื้นมาอีก 2 หน พลางค่อยๆ นำเอาศิลปะขยับจากรั้วมหาวิทยาลัยออกสู่ชุมชน และเคยเบ่งบานจนเกิดเป็นเทศกาลศิลปะที่มีศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมแสดงงานกันอย่างคึกคัก อย่างไรก็ตาม อย่าเห็นแก่ตัวสถานก็มีเหตุให้ต้องพักยาว โดยอาจารย์ปวินท์หมายใจว่าจะเก็บมันไว้เป็นโปรเจกต์ใหญ่ในอนาคต เขายังไม่เข็ด ไม่ยอมเลิกล้ม และเดินหน้าเปิดอาร์ตสเปซแห่งที่สี่ ‘PYE Space

3

ล่วงผ่าน 2 ปีหลังการปิดตัวของอย่าเห็นแก่ตัวสถาน อาจารย์ปวินท์ก็ผุด PYE Space ขึ้นมาในตึกแถว 2 คูหาใจกลางย่านอดีตโรงหนังเก่าแก่ของเมือง ‘พะเยารามา’ โดยชั้นล่างเขาตั้งใจแบ่งสรรพื้นที่ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นบาร์กาแฟเล็กๆ เคล้าบรรยากาศวินเทจ มีบริการกาแฟดริปและขนมหวาน เพื่อรับรองแขกที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมงาน ส่วนถัดมาอีกฟากเป็นห้องโทนสีขาวสว่าง สำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งยังคงแนวคิดและความตั้งใจเดิม คือจัดแสดงผลงานของนักศึกษาเป็นหลักเพื่อให้พวกเขาได้ฝึกฝนทักษะ ทั้งเรื่องการประสานงาน การขอสปอนเซอร์ การคำนวณ ค่าใช้จ่าย หรือติดตั้งผลงานจากประสบการณ์ตรง

สนทนากับ ‘ปวินท์ ระมิงค์วงศ์’ อาจารย์สอนศิลปะผู้ก่อตั้งอาร์ตสเปซแห่งเดียวในพะเยาแม้ล้มไปแล้ว 3 ครั้ง เพราะเชื่อว่าจังหวัดต้องการสิ่งนี้

รองลงมาคือการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มศิลปินท้องถิ่นและต่างจังหวัดได้มาจัดแสดงงาน ซึ่ง PYE Space ยึดมั่นแนวทางสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกทุกรูปแบบ แถมตลอดทั้งปียังมีการขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์หลายหลาก อาทิ จัดโปรแกรมฉายหนัง งานเสวนา เวิร์กช็อปสอนทำอาหาร หรือเวิร์กช็อปดีเจ เพื่อเชื้อชวนผู้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพื้นที่ด้วย

“อาจเพราะแถวนี้เป็นย่านโรงเรียนและแหล่งกวดวิชา หลังๆ มาเลยเริ่มมีนักเรียนชั้นมัธยมปลายแวบเข้ามาดูนิทรรศการกันเยอะ แล้วด้วยความที่มันเป็นสิ่งใหม่ เด็กบางคนเลยไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวยังไงเวลาเข้ามา เคยมีบางคนถามเราว่าจ่ายเงินตรงไหน ทีแรกก็งงว่าจ่ายอะไรวะ จะซื้องานเหรอ แต่คือเขาจะจ่ายค่าเข้าชม พอเราตอบกลับไปว่าไม่เก็บ เขาถามต่อทันทีเลยว่า พี่ทำไปทำไมคะ (หัวเราะ) เราก็ใช้โอกาสนี้แหละให้ความรู้กับเขา”

ส่วนชั้นบนเป็นพื้นที่โปร่งโล่ง เรียบง่าย และมีห้องพักขนาดกะทัดรัด ซึ่งอาจารย์ปวินท์ตั้งใจทำไว้เป็นที่พำนักสำหรับนักศึกษาศิลปะปี 4 ที่มุ่งมั่นอยากเดินต่อในเส้นทางสายนี้ โดยเขาจะคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแล ตั้งแต่การให้คำปรึกษา แนะนำการส่งผลงานเข้าร่วมเทศกาลศิลปะ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ หรือแม้แต่เสาะหาคิวเรเตอร์มาช่วยรังสรรค์นิทรรศการให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

“เรามองว่าทุกสถาบันที่สอนศิลปะตอนนี้ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม เปอร์เซ็นต์ของคนที่จะเติบโตไปในสายศิลปินจริงๆ มีน้อยมาก ด้วยปัจจัยหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะสังคมหรือเศรษฐกิจ จนไม่สามารถมาเสี่ยงยืนเป็นศิลปิน ดำรงชีวิตด้วยการทำงานและหาเงินจากศิลปะได้ ผมเห็นงานทีสิสของเด็กนักศึกษาบางคนโคตรดี มีโอกาสขายและสร้างตัวได้เลย แต่สุดท้ายก็ต้องตัดใจกลับไปทำงานในระบบ เนื่องจากเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ครั้นเราจะควักเงินลงทุนให้ก็ไม่ไหว เลยมองว่าอย่างน้อยพื้นตรงนี้อาจจะผลักให้คนที่อยากเป็นศิลปินไปต่อได้

“ทุกวันนี้ถ้าเราเห็นแววเด็กคนไหน เราจะทาบทามขอเขาแสดงงานกับเราต่อ หรือถ้าอยากไปแสดงที่เชียงใหม่ก็จะหาเครือข่ายให้ ล่าสุดเพิ่งจัดสรรพื้นที่ชั้นสองเปิดเป็น Residency ไว้ให้พักและพัฒนาผลงาน เพราะเรารู้จักเขามาสี่ปี มั่นใจว่าไปต่อได้แน่ เพียงแต่ต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ตัวเขาเองเกิดความมั่นใจด้วย

น้ำเสียงของอาจารย์หนุ่มแจ่มใส เมื่อแย้มว่าย่างก้าวสู่ปีที่ 3 ของ PYE Space ดูมีแนวโน้มดีขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นมันยังมีส่วนช่วยเชื่อมประสานนักคิด นักสร้างสรรค์ และกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ ให้ได้มาเจอะเจอและร่วมพลังทำโปรเจกต์สนุกสนาน เพื่อส่งท้ายความทรงจำอันงดงาม แด่อดีตโรงภาพยนตร์สุดคลาสสิกของเมืองเมื่อต้นปีผ่านมา

4

หากถอยเวลากลับไปราว 40 ปีก่อน หนึ่งในแหล่งความบันเทิงยอดฮิตของชาวพะเยาย่อมมีชื่อของ ‘พะเยารามา’ โรงภาพยนตร์แห่งแรกที่ยกขบวนหนังดังและหนังฮอลลีวูดมาจัดฉายให้ชมตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ก่อนผู้ดูแลกิจการจะเปลี่ยนมือและปรับโฉมใหม่เป็น ‘ธนาซีนีเพล็กซ์’ โรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายของจังหวัด ที่ลาลับไปพร้อมกับความนิยมอย่างแพร่หลายของเครื่องเล่นวีซีดี

สนทนากับ ‘ปวินท์ ระมิงค์วงศ์’ อาจารย์สอนศิลปะผู้ก่อตั้งอาร์ตสเปซแห่งเดียวในพะเยาแม้ล้มไปแล้ว 3 ครั้ง เพราะเชื่อว่าจังหวัดต้องการสิ่งนี้
สนทนากับ ‘ปวินท์ ระมิงค์วงศ์’ อาจารย์สอนศิลปะผู้ก่อตั้งอาร์ตสเปซแห่งเดียวในพะเยาแม้ล้มไปแล้ว 3 ครั้ง เพราะเชื่อว่าจังหวัดต้องการสิ่งนี้

หลังปิดตัวลงอย่างถาวร อาคารแห่งนี้ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างกลายเป็นซากปรักความทรงจำที่รอวันจางหาย ทว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นคุณค่า ลุกขึ้นมาปลุกพื้นที่ให้ฟื้นคืนชีวิตชีวาอีกหน แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และหนึ่งในนั้นคืออาจารย์ปวินท์ หัวเรือใหญ่ของโปรเจกต์ ‘พะเยารามา ๒๕๑๖-๒๕๖๔’

“ไอเดียเกิดจากการที่เรามองว่า คนพะเยาส่วนใหญ่ต่างมีความทรงจำผูกพันกับพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งก่อนมันจะถูกแปรสภาพเป็นอาคารสำนักงานประมาณกลางปี เราเลยอยากชวนคนมาร่วมรำลึกและอำลา”

จากอาคารทรุดโทรมถูกแต่งแต้มสีสันให้คึกคักครื้นเครงด้วยประดากิจกรรมน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการฉายหนังจากฟิล์ม 16 มม. ประกอบการพากย์สด ฉายภาพยนตร์ในความทรงจำของคนพะเยา นิทรรศการหนังไทย เสวนาเกี่ยวกับภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์พะเยารามา ทั้งยังผสมผสานสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ สาธิตการทำลาบจากสามนักลาบยอดฝีมือ เวิร์กช็อปหนังสั้นมือถือ ตลอดจนเวิร์กช็อปภาพพิมพ์กระเบื้องยาง นำเศษกระเบื้องยางปูพื้นโรงภาพยนตร์มาให้ผู้ร่วมงานทำภาพพิมพ์เก็บไว้เป็นที่ระลึก

PYE Space อาร์ตสเปซหนึ่งเดียวของพะเยา ฝันของครูผู้ดื้อดึงในย่านโรงหนังเก่าพะเยารามา
PYE Space อาร์ตสเปซหนึ่งเดียวของพะเยา ฝันของครูผู้ดื้อดึงในย่านโรงหนังเก่าพะเยารามา

“เสียงตอบรับดีเกินคาดมากๆ ครับ” อาจารย์ปวินท์เล่าอย่างอารมณ์ดี พลางเสริมต่อ “ถ้าคุณลองตามไปดูภาพใน #พะเยารามา หลายโพสต์คุณจะเห็นว่ามีพ่อแม่พาลูกมาวิ่งเล่น ดูหนัง ทำเวิร์กช็อป หรือถ่ายเซลฟี่กับงานศิลปะกันเยอะเลย ซึ่งเพื่อนทุกคนบอกเราว่าในมุมนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก หลังจากที่เขาเห็นเราล้มลุกคลุกคลานกับการพยายามสร้างพื้นที่แบบนี้มานาน แล้วมันเริ่มเห็นผลชัดว่าไม่ได้มีแค่พวกเดียวกันมาดู”

มรรคผลของงานนี้ทำให้เขาได้รับการติดต่อวานไปช่วยเป็นพ่องานสร้างสรรค์โปรเจกต์ในโรงภาพยนตร์เก่าจังหวัดแพร่และน่าน แต่ก่อนจะสบโอกาสนั้น เฮียหมู (คงศักดิ์ ธรานิศร) ก็ตอบรับคำขอยินดีให้เขาใช้พื้นที่จัดนิทรรศการครั้งต่อมา ในอดีตโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดของพะเยา ‘เมืองทองรามา’

5

“พอเกิดสถานการณ์ COVID-19 ปีที่แล้ว เราเลยลองให้นักศึกษาจัดแสดงนิทรรศการศิลปนิพนธ์รูปแบบออนไลน์ ผลคือน่าเสียดายมาก เพราะงานเจ๋งๆ ของเด็กหลายชิ้น พอนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ปุ๊บมันง่อยมาก ซึ่งเราเองก็ผิดหวัง จึงคัดงานมาแสดงต่อที่ PYE Space เผอิญมีรุ่นน้องแนะนำว่าถ้าอยากได้พื้นที่สวยๆ จัดนิทรรศการ ให้ลองไปปรึกษาเฮียหมูเจ้าของโรงหนังเมืองทองรามา พูดคุยกันเสร็จสรรพเฮียบอกเต็มที่เลย ถ้าจะนำไปใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม”

นอกจากผลงานศิลปะหลากรูปแบบและมุมมองที่สะท้อนแนวคิดของหลักสูตรว่า ศิลปะไม่จำกัดกรอบและใครก็ทำงานศิลปะได้ เสน่ห์อีกอย่างของนิทรรศการคือบรรยากาศพื้นที่จัดแสดงท่ามกลางห้องสโลป ซึ่งครั้งหนึ่งเคยจุผู้คนกว่า 800 ชีวิต รูเจาะสกรูยึดจับเก้าอี้ยังทิ้งร่องรอยเรียงรายฝากไว้บนพื้น ผ้าม่านสีทองประดับผนังรอบด้าน เป็นหลักฐานบ่งบอกถึงความโก้หรูในวันวาน ของโรงภาพยนตร์ที่ชาวพะเยาเคยเหมารถพากันมาเสพความบันเทิงเปี่ยมอรรถรสจากระบบเสียง Dolby อันทันสมัย ผู้ใหญ่บางคนโตมาพร้อมกับการใช้ตั๋วนักเรียนราคา 10 บาท เข้าชม ซูเปอร์แมน ภาคแรกที่นี่ และอาจเคยจูงมือหลานมาดูการต่อสู้ของชาวบ้านจาก บางระจัน หนังเรื่องสุดท้ายก่อนอำลาโรง

อาจารย์ปวินท์บอกกับผมว่า น่าเสียดายที่กิจกรรมประกอบนิทรรศการ อย่างการฉายหนังและการแสดงคอนเสิร์ตต้องยกเลิกไปเพราะเกรงเรื่อง COVID-19 แต่สิ่งน่ายินดีก็คือ ทันทีที่สถานการณ์คลี่คลาย กิจกรรมเหล่านั้นจะถูกนำกลับมาบรรเลงอีกครั้ง โดยมีเฮียหมูเป็นผู้ให้การสนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์เช่นเดิม

เขาระบายภาพฝันของการจับคู่วงดนตรีโพสต์ร็อกกับโรงภาพยนตร์ขรึมขลังให้ผมฟังอย่างตื่นเต้น พลันหล่นความรู้สึกทิ้งท้าย

“จริงๆ เราเพิ่งมาพบว่าตัวเองเป็นคนชอบสร้างพื้นที่ อาร์ตสเปซสำหรับเราก็มีความหมายทำนองเดียวกัน แต่หลายคนไม่เข้าใจ บอกว่าเราทำอะไรก็เจ๊ง คือถ้าหวังผลในเชิงธุรกิจ โอเค มันเจ๊งแหละ แต่เราไม่ได้คิดแบบนั้น เราหวังเพียงทำให้มันเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อสนองความต้องการตัวเอง อีกส่วนคืออยากสร้างพื้นที่บางอย่างสำหรับศิลปะกับผู้คน ซึ่งเท่านี้ก็ถือว่าสำเร็จมากแล้วในมุมของเรา”

PYE Space อาร์ตสเปซหนึ่งเดียวของพะเยา ฝันของครูผู้ดื้อดึงในย่านโรงหนังเก่าพะเยารามา

ภาพ : Kata Supa

PYE Space

ที่ตั้ง : เลขที่ 28 ถนนประตูชัย ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา 56000 (แผนที่)

โทร : 089 635 4585

Email : [email protected]

Facebook : PYE Space

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ