10 พฤศจิกายน 2022
3 K

ดอกไม้แผ่กลีบสะพรั่ง ใบพืชเกี่ยวกระหวัด ผีเสื้อหลายสี ปักษานานาชนิด คือสิ่งละอันพันละน้อยที่นักวาดภาพสาวชาวอำเภอแม่จันหลงใหล จนหยิบเอามาถ่ายทอดลงบนจิตรกรรมฝีมือเธอแทบทุกชิ้น สมกับที่ได้ชื่อจริงละม้ายชื่อบุปผางามมาแต่กำเนิด

อิ๋ม-พุทธรักษ์ ดาษดา คือชื่อจริงเสียงจริงที่มารดาตั้งให้เธอ มิใช่ชื่อในวงการที่หลายคนเข้าใจ

“ถ้ามี ‘ษา’ มันจะเหมือนดอกไม้ใช่ไหม ตั้งแต่เวลาใครประกาศชื่อเรา เขาจะเติม ‘ษา’ ให้ กลายเป็น ‘พุทธรักษา’ แม่บอกว่าอิ๋มเกิดวันพุธ เลยเป็นพุทธรักษ์”

แม่ญิงเจียงฮายในชุดเดรสลายดอกชี้แจง ท่ามกลางกรอบรูป เฟรมผ้าใบ แจกันดอกไม้ แมลงสตัฟฟ์ในขวดโหล และสารพัดของกระจุกกระจิกที่คับคั่งอยู่ในห้องทำงานของ ‘ดาษดาสตูดิโอ’

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

ในรอบสิบปีหลัง ชื่อของ พุทธรักษ์ ดาษดา เป็นที่รู้จักมากขึ้นทุกทีในฐานะศิลปินหญิงดาวรุ่งผู้สร้างงานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์จากธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเธอ

แม้กระนั้น เจ้าของชื่อ-นามสกุลแสนไพเราะกลับไม่เคยเรียกตัวเองว่า ‘ศิลปิน’ เลยสักครั้ง เธอยังเห็นตนเองเป็นหญิงสาวติดบ้านคนเดิมที่รักจะได้เห็นต้นไม้ใบหญ้า เสพความสุขจากไออุ่นในถิ่นเกิด ตลอดจนเรียนรู้วิทยาศาสตร์และสัจธรรมชีวิตจากพืชพันธุ์และสรรพสัตว์เช่นที่เคยเป็นเสมอมา

ก่อนจะพูดถึงวันที่ไม้งามผลิดอก ขอนำทุกท่านย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ในวันที่พุทธรักษ์ต้นนี้เพิ่งแตกหน่อจากราก เพื่อให้ได้รู้จักตัวตน ‘คนทำงานศิลปะ’ ผู้นี้ดียิ่งขึ้น

วาดรูปเป็นก่อนเขียน ก ไก่

ย้อนไปในวัยอนุบาลที่คุณครูหรือผู้ใหญ่แจกกระดาษพร้อมดินสอคนละแท่ง เด็กบางคนเลือกเขียนตัวหนังสือก่อน แต่เด็กอีกจำนวนมากก็เลือกที่จะวาดภาพก่อนเป็นอย่างแรก

อิ๋มเป็นสมาชิกกลุ่มหลัง เธอไม่ได้แค่ชอบวาดภาพธรรมดา แต่รักเป็นชีวิตจิตใจ

“ก็เหมือนเด็กที่ชอบศิลปะทั่วไป ชอบวาดรูป จำได้ว่าเราเขียนรูปก่อนที่จะเขียน ก ไก่ เขียนเป็นรูปไก่ออกมาเลย” เธอใช้นิ้วร่างภาพไก่ตัวนั้นให้เราดูในอากาศ “แม่ขอให้เขียนรูป ซื้อสีซื้อกระดาษมาให้ พาไปโรงเรียนฝากเลี้ยง เราก็จะรอเขียนรูปอย่างเดียว เขานอนกัน เราเขียนรูป กลับบ้านไปก็เขียนอีก”

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

แม่จัน อำเภอเหนือเกือบสุดขอบประเทศซึ่งอิ๋มเรียกว่า ‘บ้าน’ ได้เต็มปาก เป็นภูมิลำเนาของคุณแม่ผู้ทำอาชีพช่างเย็บผ้าและช่างเสริมสวย ส่วนคุณพ่อที่รับราชการทหารเป็นชาวนครราชสีมา ท่านเกษียณอายุตั้งแต่เธอเพิ่ง 7 ขวบ ก่อนจะถึงแก่กรรมไปตั้งแต่เธอยังจำความไม่ได้มาก

อิ๋มมีพี่สาว 1 คน แม้จะใช้ชีวิตอยู่คนละจังหวัดมาแทบทั้งชีวิต แต่เธอก็เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่ใฝ่ใจมาทางศิลป์ คงเป็นเพราะได้เห็นตัวอย่างจากพี่สาวผู้ใช้ชีวิตอยู่กับญาติฝั่งพ่อเป็นส่วนใหญ่

“พี่สาวเขาเขียน เรารู้สึกว่าเขาทำสวยจัง ไปแอบดูแล้วก็เขียนตาม หลังจากนั้นก็เริ่มเขียนตัวหนังสือ ตัวหนังสือของพี่สวย พอเราโตขึ้นก็ไปถามเขาว่าทำไมถึงชอบเขียน เพราะเราดูเขาเขียนเนี่ยแหละ เราถึงชอบและเขียนมาจนถึงวันนี้”

แต่บุคคลที่เป็นแรงผลักดันให้เธอก้าวมาเดินบนเส้นทางสายศิลปะเต็มตัวนั้นจะเป็นใครไปอีกไม่ได้นอกเสียจากแม่ ซึ่งเป็นญาติสนิทที่สุด

“แม่เขาน่าจะชอบความสวยความงามค่ะ เขาชอบวาดปลาปักเป้า วาดไก่ สมัยเรียนอิ๋มแกะสลักไม้ส่งอาจารย์แล้ววางทิ้งไว้ แม่ก็จะมาเติมหน้าให้ เขาชอบเขียนชื่อติดทุกอย่าง หรือตุ๊กตาของเรา แม่เราเขาก็เอาสีมาแต้มหัว อิ๋มว่าเขามีหัวศิลป์ มีศิลปะในตัวเขานะ”

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

พุทธรักษ์ ดาษดา เล่าว่าแม่ของเธอชอบที่ได้เห็นลูกสาววาดรูป ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของแม่ เธอผ่านเวทีประกวดงานศิลปะตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงประถม ภาพวาดของเธอได้รับการแปะขึ้นบนกระดาน เป็นความภูมิใจที่เด็กหญิงจำได้ไม่รู้ลืม ครั้นเข้าเรียนชั้นมัธยม เธอก็เริ่มหารายได้จากการเขียนภาพประกอบ มีคุณครูเป็นผู้จ้าง ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งเธอยังได้รับการว่าจ้างจากเพื่อนฝูงให้วาดรูปการ์ตูนตาหวานแบบที่เด็กสาววัยรุ่นคลั่งไคล้กัน ช่วยให้อิ๋มมีรายได้สำหรับจับจ่ายเองแต่เด็ก

“เราก็ชอบอ่านการ์ตูน เริ่มมาจากการ์ตูน เช่าหนังสือ ซื้อหนังสือการ์ตูนมาอ่าน แล้วก็เขียนตาม ถ้าเจอในหนังสือวิชาต่าง ๆ ก็ลอกลาย เขียนการ์ตูน มาจากการ์ตูนก่อน เขียนให้เหมือน”

ถึงจะมีใจรักทางด้านนี้มาตั้งแต่เพิ่งหัดคัดอักษรไทย อิ๋มในวัยนั้นกลับไม่เคยคิดจะเป็นศิลปินอาชีพสักครั้ง เพราะเธอไม่เคยรู้จักคนที่ทำงานวาดเขียนเป็นอาชีพมาก่อน

“ไม่คิดจะเป็นศิลปินเลย ไม่รู้จักเลยว่ามีอาชีพแบบนี้ด้วย รู้จักแต่นักเขียนการ์ตูน เพราะเราชอบอ่านการ์ตูน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอามาเป็นอาชีพได้อย่างไร”

ก้าวสู่สถาบันศิลปะ

แล้วมาวันหนึ่ง อิ๋มก็ได้รู้ว่าสิ่งที่เธอชอบมีสาขาให้ศึกษาต่อได้ในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป

“ตอนอยู่มัธยมที่แม่จัน มีครูแนะแนวดูแววว่านักเรียนคนไหนไปเรียนทางไหนได้ ครูบอกอิ๋มว่าที่อำเภอเมืองเชียงรายมีโรงเรียนอาชีวศึกษาที่สอนศิลปะ เป็นสายอาชีพ ให้ไปลองเรียนที่อาชีวศึกษาเชียงราย แม่เข้าใจประมาณหนึ่ง ก็บอกว่าให้ลองไป”

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

จากคำแนะนำของอาจารย์ที่โรงเรียน เด็กสาวจากแม่จันจึงตบเท้าเข้ามาเรียนในตัวเมือง โรงเรียนใหม่ของเธอมีแผนกศิลปกรรมซึ่งให้เลือกสาขาได้ตามอำเภอใจผู้เรียน แต่ด้วยแรงกดดันจากฝีมืออันเอกอุของเพื่อนร่วมชั้นวาดภาพ ทำให้ พุทธรักษ์ ดาษดา เกือบอดแจ้งเกิดในโลกจิตรกรรม

“อิ๋มเกือบจะเบนไปทางถ่ายภาพ รู้สึกว่าเราไม่เคย เคยเห็นแต่การ์ตูน เพื่อน ๆ พวกนี้เขามาจากไหนกัน เขาเขียนหุ่นนิ่งได้มาก่อนแล้วด้วยซ้ำ เรายังไม่เคยเลย”

ความท้อแท้เกือบดลใจให้เธอถอยไปเรียนสาขาวิชาถ่ายภาพ ด้วยเห็นว่ามีเครื่องมือช่วยให้เบาแรง แต่เมื่อนำความตั้งใจนี้ไปรายงานให้แม่และพี่สาวฟัง ทั้งคู่กลับส่งแรงใจให้เธอสู้ต่อในสาขาวิชาเดิม

“สรุปก็เลยได้ไปต่อ ทีนี้ก็สนุกแล้ว ไม่กลัวเลย อิ๋มเหมือนเด็กบ้านนอกที่ไม่เคย มันเลยทำให้เรากระหาย ตื่นเต้นกับทุก ๆ เรื่องที่ได้ลอง พอได้ลองทำมันก็ดีกับเรา แล้วเราก็ทำได้ดีด้วย”

เมื่อจบจาก ปวช. ต่อด้วย ปวส. อิ๋มได้รับข่าวสารจากรุ่นพี่ปีก่อน ๆ ว่าพวกเขาหลายคนได้โบกมือลาเชียงราย ลงไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรบ้าง โรงเรียนเพาะช่างบ้าง แต่อิ๋มยังไม่คิดจะตามไปด้วยความเป็นคนติดบ้านของเธอประการหนึ่ง กอปรกับ 2 ปีที่เรียนอยู่ในระดับ ปวส. เธอเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าศิลปะหาเลี้ยงชีพได้อย่างไร และอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องกระเสือกกระสนไปต่างเมืองเลย

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

“ระหว่างนั้นมันมีบรรยากาศที่ทำให้เรารู้ว่าศิลปะเป็นยังไง ใครทำงานศิลปะ ได้ไปดูแกลเลอรี่ ไปดูผู้คน ดูศิลปินที่เขาทำงานเป็นอาชีพที่เชียงรายก็มาจัด Exhibition กัน เชียงรายเมื่อก่อนมีแกลเลอรี่ที่เดียว ตรงห้าแยกใกล้ ๆ วิทยาลัยอาชีวะนี่เอง อาจารย์ก็ให้เดินไปดู ก็ตื่นเต้นไปอีก นี่แหละความเป็นเรา ตื่นเต้นไปกับทุกเรื่อง อยากไปฟังเขาพูด อยากไปดูว่าเขาทำอะไรกัน

“ย้อนไปตอนประถม ตอนมัธยม อิ๋มเขียนภาพประกอบ Illustrator 5 บาท 10 บาท มาเป็นหลักสิบหลักร้อย ทำให้อิ๋มมีเงิน เวลาไปแกลเลอรี่ เห็นภาพศิลปะวางขายก็จะช่วยซื้อ เลยได้เห็นบรรยากาศในแกลเลอรี่ และค่อย ๆ เข้าใจคำว่า ‘ศิลปิน’ เข้าใจว่าศิลปินเป็นอาชีพได้”

อยู่ในเมืองศิลปะ

ยอดดอยสูง พรรณไม้สวย ไร่ชาคุณภาพดี อาณาจักรล้านนา พระธาตุดอยตุง… อีกหนึ่งเรื่องที่พาคนทั่วหล้าเมืองไทยให้ประหวัดใจถึงเชียงรายบ้านเกิดของอิ๋ม ก็คือความเป็นบ้านเกิดของศิลปินชั้นครู

“เพราะบรรยากาศค่ะ คนเหนือเราไม่ดุ อย่างน้อยอยู่แล้วสบายใจ” พุทธรักษ์แสดงทัศนะถึงปัจจัยที่เชียงรายเป็นแหล่งเพาะคนสร้างงานศิลป์ระดับแถวหน้าของชาติหลายท่าน 

“คนเชียงรายมีบรรยากาศดี ถ้าอยากได้ความรู้ก็จะไปเรียนที่อื่น แล้วบางทีบรรยากาศที่อื่นให้ความกดดันต่าง ๆ ก็ทำให้กลับมาอยู่ที่บ้าน กลับมาใช้ชีวิต ทำอาชีพที่เชียงราย มี อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี กับ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ทำให้คนเชียงรายรู้สึกว่าเรากลับบ้านได้ ทำสตูดิโอ ทำแกลเลอรี่ที่นี่มันก็อยู่ได้ มันมีคนมาหาอยู่นะ ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนพูดถึงเชียงรายไป คนไม่รู้จักด้วยซ้ำ พูดถึงเชียงใหม่อย่างเดียว แต่เพราะอาจารย์ทั้ง 2 ท่านนี่แหละที่ทำให้ความมั่นใจเรากลับมา

“แล้วด้วยวัฒนธรรมของเชียงรายที่อยู่กันแบบประนีประนอม ถึงคนในชุมชนจะไม่ชอบกันก็ต้องไปร่วมงาน ไปด้วยมารยาท อยู่กันได้ด้วยขนบแบบนี้ มีอะไรก็รวมตัวกันง่าย เลยกลายเป็นว่าอยู่กันได้เยอะ ๆ”

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

ตั้งแต่อยู่วิทยาลัยอาชีวศึกษา จนกระทั่งไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สาขาทัศนศิลป์ อิ๋มได้พบปะศิลปินรุ่นพี่มากหน้าหลายตา แทบทุกชื่อที่เราได้ยินได้รู้จักในฐานะศิลปินชาวเชียงราย ล้วนแล้วแต่เคยพบหน้า ทักทาย หรือรู้จักมักคุ้นกับเธอมาแล้ว

“เราก็เริ่มได้เห็นอาจารย์เฉลิมชัย ได้เจออาจารย์ถวัลย์ ไปร่วมเวิร์กชอปที่วัดขาววัดดำ เราก็ไปฟังเขา ชอบบรรยากาศ เจอหลาย ๆ คนตาม Exhibition เราก็ชอบที่จะไป ไปดูอะไรใหม่ ๆ อยากรู้อะไรเราก็ถาม เขาก็คุยกับเรา ใช้ภาษาบ้านเรา เจอประสบการณ์ตรง เจอวิถีที่เราอยากรู้ตรง ๆ เหมือนห้องสมุด”

ศิลปินรายแรก ๆ ที่อิ๋มได้รู้จัก คือ ทรงเดช ทิพย์ทอง ซึ่งเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงกับเธอ

“อาจารย์เราเคยแนะว่าให้ไปคุยกับศิลปิน เคยได้ยินแม่บอกว่าแถวบ้านเรามีศิลปินอยู่ แม่ใช้คำนี้มานานแล้วนะ แม่เห็นเขาเขียนรูปอยู่ ส่วนเราไม่เคยเพราะเขาไปใช้ชีวิตอยู่ที่ศิลปากรแล้ว เขาอยู่ที่นั่น เราก็ไม่เคยเจอ แต่อยากถามเขา อยากไปหาเขา

“แล้วมีวิชาหนึ่งอาจารย์ให้ไปคุยกับพี่ ๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เรา ตอนนั้นเลยได้เจอพี่ทรงเดช เขาเขียนงานพุทธศิลป์เชิงศิลปะไทยร่วมสมัย แต่ผสมกลิ่นอายของเชียงรายลงไปในนั้นด้วย ตอนไปเจอกันเขาก็ให้ความรู้ว่าที่ไหนมีเรียน ซึ่งอิ๋มไม่เคยรู้มาก่อนว่ามี หรือการพัฒนาทักษะความคิด กระบวนการที่เขาทำ เขาก็เอามาเล่าให้เราฟัง เราก็รู้ที่มาที่ไป รู้ว่ากระบวนการจากอันนี้ไปอันนี้เป็นอย่างไร แล้วเขาก็แนะนำให้รู้จักศิลปินคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นคนเชียงราย ให้เข้าไปดูคนนี้คนนั้น เราก็รู้สึกว่าดีจัง ชอบวิธีการของเขา”

ส่วนอีกคนที่อิ๋มประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อ คือ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ

“เราเห็นงานของหลาย ๆ คน แต่ประทับใจอยู่คนเดียว ประทับใจชื่อก่อนแล้ว พี่อังกฤษเป็นคนเชียงราย เราไปเจองานเขาตอนไปทัศนศึกษาที่กรุงเทพฯ เลยอยากค้นหาว่าพี่คนนี้คือใคร เราชอบความคิดกับวิธีการทำเสนอของเขา”

สาวแม่จันเริ่มเข้าสู่โลกศิลปะเต็มตัวในช่วงนั้น ได้พบเห็นวิธีการทำงานของศิลปินตัวจริง และคิดอยากทำงานศิลป์อย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะได้รับการจุดประกายไฟฝันจากครูบาอาจารย์หลายท่าน ซึ่งคำถามที่เธอเคยตั้งกับอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ผู้ล่วงลับ ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในใจเธอตลอดมา

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

“ไปเวิร์กชอปกับลุงถวัลย์ ก็เลยถามแกว่าผู้หญิงเป็นศิลปินได้มั้ย เพราะศิลปินเชียงรายมีแต่ผู้ชาย” อิ๋มแทนเจ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านดำด้วยสรรพนามเป็นกันเอง 

“ลุงก็ตอบว่าได้สิ แกก็พาไปดูงาน จำไม่ได้ว่าของใคร เป็นศิลปินต่างชาติคนฝรั่ง เห็นแล้วก็ว้าว มีความรู้สึกว่าผู้หญิงก็เป็นศิลปินได้เหมือนกันนะ”

ช่างศิลป์ในสวนพฤกษ์

พุทธรักษ์จบมหาวิทยาลัยบนวัย 26 ปี ค่าที่ต้องเริ่มเรียนปี 1 ใหม่หลังจบ ปวส. ชีวิตของเธอก็มาถึงทางสามแพร่งที่ต้องเลือกเดินอีกรอบ

อาจารย์ของเธอขอพอร์ตโฟลิโอไปยื่นให้อธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายพิจารณา เนื่องเพราะเวลานั้นทางมหาวิทยาลัยกำลังขาดบุคลากรในตำแหน่งช่างศิลป์อยู่ ทว่าขณะเดียวกัน ศิลปินที่เธอนับถืออย่างพี่ทรงเดชก็เสนอตำแหน่งครูศิลปะโรงเรียนสามัคคีวิทยาคมมาให้ เธอจึงยื่นสมัครเผื่อไว้ทั้ง 2 งาน ก่อนจะถามใจตนเองอีกทีว่างานใดแน่ที่เหมาะสมกับตัวเธอที่สุด

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

“จะเป็นครูหรือเป็นอะไรดี เราก็มานั่งคิด นั่งถามตัวเองและคนทางบ้านว่าถ้าเราไปเป็นครูจะดีไหม เขาก็โอเคกับทั้งสองทาง ทั้งช่างศิลป์ในมหาวิทยาลัยและครูโรงเรียน เขาบอกว่าเป็นครูก็ดีนะ สบาย มั่นคง ทีนี้ก็อยู่ที่ตัวเราที่ต้องเลือกทางของเราเอง”

แววตาของอิ๋มบ่งบอกว่าเธอเลือกถูก ไม่เช่นนั้น พุทธรักษ์ ดาษดา คงไม่มีลายเซ็นของตัวเอง

“เราคิดว่าใช้ตรรกะนี้แล้วกัน เราเริ่มอยากทำงานศิลปะที่เป็นของตัวเอง อยากเอาผลงานของเราไปแสดงในแกลเลอรี่ ก็เลยเลือกงานที่ราชภัฏฯ ได้เข้าไปทำที่นั่นอยู่ 6 ปี”

หน้าที่ของช่างศิลป์คือการบันทึกพันธุ์ไม้ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ รวมถึงในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นงานกินเงินเดือน เริ่มงาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น มีห้องทำงานให้ แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ให้อิสระโดยยินยอมให้กลับไปสร้างสรรค์งานศิลป์ที่บ้านนอกเวลางานได้

“วาดรูปอย่างเดียว ใช้สีน้ำบนกระดาษ ต้นฉบับต้องส่งให้มหาวิทยาลัยทุกเดือน เขียนประมาณ 3 ถึง 4 ชิ้นต่อเดือน แล้วแต่เรา อิ๋มทำงานอยู่กับอธิการบดี เป็นการเขียนภาพเพื่อความงาม ใช้ในการประชาสัมพันธ์ หรือของที่ระลึก” เธออธิบายงานที่ได้รับมอบหมายในไม่กี่ประโยค

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

ทักษะแรกที่เธอได้ฝึกฝนจากการทำงานที่นี่ คือการหัดเขียนสีน้ำซึ่งเป็นยาขมหม้อใหญ่ของเธอเมื่อคราวเรียนในมหาวิทยาลัย คนเรียนทัศนศิลป์เล่าว่าสีน้ำจะเป็นสิ่งที่นักศึกษาทุกคนกลัว เพราะแต่ละคนนิยมยึดติดวิธีการในการวาด แต่เมื่อเป็นหน้าที่หลักของช่างศิลป์สวนพฤกษศาสตร์ อิ๋มก็จำเป็นต้องทำและนำผลการทดสอบไปให้ผู้พิจารณาตรวจ ผลที่ออกมาคือผ่าน แม้ว่าเธอจะไม่มั่นใจในงานชิ้นนั้นก็ตาม

วารวันในสวนสมเด็จย่าของเธอเคลื่อนคล้อยไปด้วยความสุนทรีย์ ที่นั่นมีตึกให้ช่างศิลป์อย่างเธอใช้ทำงาน หากต้องการแม่แบบหรือแรงบันดาลใจก็เที่ยวจรไปสรรหาจากสวนได้ทุกเมื่อ พรรณไม้แต่ละต้นเธอได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปได้ หรือจะเด็ดมาดูเป็นตัวอย่างในการวาดภาพก็ได้ ซึ่งอิ๋มกล่าวว่าแรก ๆ เธอต้องเด็ดดอกและใบมาเขียนทุกที เพราะตัวอย่างมีเยอะจนเลือกไม่ถูก

“ทำมาเป็นปี พอทำนาน ๆ ไปก็เริ่มรู้สึกว่ามันเป็นงานของเรา ชั่วโมงที่เขียนให้เขาก็เขียนเก็บไว้ เหมือนได้พักผ่อน ไม่ได้เคร่งเครียดมาก แต่ก็ต้องมีวินัย เลยมีเวลาได้ลองเขียนในสิ่งที่อยากเขียน ช่วงเช้าเขียนสี ๆ ไปแล้ว ตอนเย็นก็ลงสีดำ หรือสีที่ยังไม่มี ทำแบบนี้มาตลอด”

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

งานที่นี่เพาะนิสัยให้เธอตกหลุมรักธรรมชาติ พุทธรักษ์รู้สึกราวกับได้หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมวลไม้และสิงสาราสัตว์ทุกตัวที่ได้พบเจอ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่หญิงสาวได้เรียนรู้ใหม่ เพราะแม้เธอจะเกิดและโตที่จังหวัดนี้ แต่กลับมีหลายเรื่องที่เธอไม่เคยรับทราบหรือเข้าใจมันมาก่อน

“เวลาเราไปหาดอกไม้ เราก็จะเจออย่างอื่น เจอผีเสื้อ เจอรังนกที่ตกลงมา ก็ตามไปดู เจอไข่ เจอตัวนก มันก็สนุกดี เหมือนมีอะไรให้เราได้ประทับใจ ให้เราได้คิดบ้าง เรื่องของธรรมชาติที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้นทำให้เราใส่ใจ แต่ยิ่งเราเป็นผู้หญิง ก็จะมีคนบอกว่า เธอเขียนสิ มันเหมาะกับเธอ เราก็เลยต่อต้าน ปฏิเสธที่จะเขียน ดราฟต์ในช่วงนั้นก็เขียนตามไอดอลของเรา

แววตาของอิ๋มทอประกายตื่นเต้นราวกับมันเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด

พุทธรักษ์ ดาษดา สาวเจียงฮายผู้ใช้ศิลปะระบายความงามในธรรมชาติผ่านภาพดอกไม้-คน-สัตว์

“แต่เราก็แพ้มัน อย่างต้นมะค่าที่ล้อมเราอยู่ เราเคยได้เห็นว่าเพื่อนมาเล่น แต่เราก็ไม่เคยทดลอง ก็ไปลองเอามันออกจากฝัก มันแข็งมาก เราก็พยายาม มีครั้งหนึ่งพายุถล่มหนักที่เชียงราย แผ่นดินไหว ทำให้ฝักมะค่าตกลงมา อยากให้มาเห็นมากเลย พื้นที่มันกว้างมาก เราไปเห็นแล้วตกใจกับมะค่าที่แบเต็มพื้นมากกว่าหลังคาที่แตก เราตกใจปนดีใจ ตื่นเต้นเหมือนเด็กเลย ไปลองแกะดู ฝักสด ๆ น่ารักมาก”

จากฝักมะค่าที่ตกแตก อดีตช่างศิลป์ได้ต่อยอดมันไปสู่ความเข้าใจในหลักธรรมของพระพุทธองค์

“ธรรมชาติมันมีนวัตกรรมอะไรบางอย่างที่ปกป้องสิ่งที่อยู่ข้างในให้สมบูรณ์และพอถึงเวลาของมันก็งอกขึ้นมากลายเป็นต้นแบบนี้ สลับหมุนเวียน เหตุการณ์นั้นทำให้เราคิด อยู่คนเดียวก็เห็นมะค่าตก พอมันตกเราเก็บไม่ไหวก็ปล่อย แล้วพอพื้นชื้นแฉะ มันก็จะงอกกลับขึ้นมาอีก เรารู้สึกประทับใจ เหมือนเราได้อ่านหนังสือธรรมะที่คิดได้ด้วยตัวเอง ให้เราได้ใกล้และเข้าใจธรรมะมากขึ้น”

และจากเคยคิดว่าธรรมะเป็นเรื่องเข้าใจยาก เธอได้เข้าใจคำสอนเหล่านี้อย่างถ่องแท้ และได้ข้อสรุปแก่ตนเองว่า “ธรรมะกับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน”

เริ่มจัดแสดงผลงาน

ทำงานวาดเขียนภาพในสวนพฤกษ์นานถึง 6 ปี พุทธรักษ์ ดาษดา ค่อย ๆ สรรสร้างผลงานอันเป็นอัตลักษณ์ของตัวเธอเอง ยามมีเวลาว่างจากงานประจำ เธอก็สลับมาเขียนงานส่วนตัว กระทั่งมาถึงจุดที่เธอต้องไตร่ตรองอนาคตของตนเองในสายอาชีพนี้

เมื่อมีการจัดตั้ง ‘ขัวศิลปะ’ เป็นสมาคมและแกลเลอรี่แห่งใหม่ขึ้นไม่ใกล้ไม่ไกลจากสวนสมเด็จย่า บรรดาศิลปินรุ่นพี่ ๆ ที่อิ๋มเคารพอย่างพี่ทรงเดช พี่อังกฤษ ต่างมาเชิญชวนให้สาวรุ่นน้องนำงานที่เคยวาดไปจัดแสดงที่นั่น เป็นเหตุให้อิ๋มต้องพัฒนาฝีมือและหมั่นสร้างผลงานส่วนตัวเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมหาศาล บางครั้งเบียดบังเวลาทำงานหลัก เธอเลยต้องเลือกทางไปต่อที่ดีกับตัวเองมากที่สุด

“ระหว่างนั้นมีการแสดงงานเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าปีที่ 6 อิ๋มก็ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำ ต้องต่อสัญญาไปเรื่อย ๆ แต่ปีที่ 6 ถ้าเซ็นสัญญาแล้วต้องอยู่ยาว ก็เคยคิดไว้ว่าอยู่สักอายุ 30 ก็พอแล้ว เราอยากไปทำที่อื่น ไม่ใช่ว่าตรงนั้นบรรยากาศไม่ดีนะ งานที่นั่นดี แต่เราอยากไปต่ออีก”

อิ๋มเผยสาเหตุที่เธอเลือกจะไม่จรดปลายปากกาต่อสัญญา และหันมาสร้างงานส่วนตัวอย่างเดียว

“พอออกมาเราก็กล้าทดลอง เราไปโซโล่ครั้งแรกที่ขัวศิลปะเลย กล้ามาก จัดแสดงงานเดี่ยวครั้งแรก ลองดู ไม่ได้คิดว่าจะต้องเพอร์เฟกต์ เพราะเคยพลาดโอกาสกับพี่อังกฤษในระหว่างที่เราทำงานอยู่ 

“เขาเห็นงาน Botanical ของเราก็เลยอยากให้ไปลองดู แต่เราก็บอกไปว่ายังไม่มีต้นฉบับค่ะ เพราะว่าต้นฉบับต้องให้เขาไป แต่เป็นโชคดีของเรา เพราะเราเป็นคนไม่ได้ปลื้มกับงานของตัวเองนะ แต่เราชอบดูพัฒนาการของตัวเอง เกิดปัญหาอะไรก็ไปพัฒนาเอา เลยได้เจอผู้คนอีกมากมาย”

อดีตช่างศิลป์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายไม่อายที่จะพูดความจริงกับเราว่า เธอต้องใช้ความกล้าและความเข้มแข็งมากเพียงใดในการแสดงผลงานเดี่ยวช่วงต้น ทั้งด้วยวุฒิการศึกษาที่แลดูด้อยกว่าศิลปินอีกหลายคน และจำนวนผลงานที่ยังมีไม่มาก 

“อิ๋มจบจากมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่ง ก็เลยต้องเข้มแข็งมากเวลามีคนถาม เราไม่เคยคิดเปรียบเทียบด้วย พอเราจบออกมาแล้ว เราก็ต้องพูดว่าเราจบที่นี่ ก็มีปฏิกิริยาบ้าง มีคุยแล้วถอยบ้าง แต่ก็ไม่ได้โหดร้าย

“เรารู้สึกว่าใครก็ได้ที่คุยกับเราในวันงาน เราโอเคหมด เราก็ไปทุกวันเลย ไปจัดงานทุกวัน ก็เลยได้เจอคนเยอะ เขาถามเราเรื่องงาน ตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เราคิดมาแล้วว่าเราจะพูดประมาณนี้แหละ แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะโอเคกับพวกคุณหรือเปล่า”

หากเป็นความจริงดังสำนวนว่า ‘เหรียญมีสองด้านเสมอ’ ในทุกปัญหาที่อิ๋มต้องเจอกลับสร้างความแข็งแกร่งเป็นผลตอบแทนเสมอ เธอรู้ตัวว่าตนเองพูดเก่งขึ้น โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเยอะจากการแสดงงานศิลป์

“พูดคุยกับคนรู้เรื่องขึ้น คือเมื่อก่อนเราไม่ค่อยคุย เงียบ ๆ เขียนรูปแล้วปกปิด กลัวการพูดคุย สื่อสารผ่านงานเท่านั้น แต่ตอนนี้งานเราทำให้เราคุยกับผู้คนมากขึ้น เหมือนที่พี่อังกฤษเคยบอกว่า อิ๋ม ออกมาจากป่าได้แล้ว เขาก็บอกให้เราออกมาเจอผู้คน ได้เปลี่ยนตัวเอง”

ภาพเขียนของ พุทธรักษ์ ดาษดา

หากสายตาสอดส่ายไปทั่ว ‘ดาษดาสตูดิโอ’ จะพบว่าตัวอย่างผลงานที่จัดแสดงแทบทุกชิ้นจะมีรูปแบบและเค้าโครงองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกันเกือบทุกภาพ คือรูปหน้าตรงของมนุษย์ที่ดูค่อนไปทางสตรี ครึ่งบนของใบหน้าถูกบดบังด้วยกลีบดอกหรือใบไม้คล้ายเรือนผมหรือหมวก บนลำตัวมีเถาวัลย์พันร้อย หลายรูปมีสัตว์ตัวจ้อยเช่นนกและแมลงเกาะหรือบินว่อน

“ถ้าคนเห็นง่าย ๆ ก็อาจจะมองว่าเป็นผู้หญิงกับดอกไม้”

เจ้าของผลงานเกริ่นถึงความเข้าใจของคนอื่น ก่อนพูดในมุมมองของเธอเอง

“หลัก ๆ คือเขียนสิ่งที่อยากเขียน” พุทธรักษ์ยิ้มเอียงอายเมื่อได้รับคำถามถึงสไตล์และแรงบันดาลใจในงานเหล่านี้ “แค่คิดว่าสิ่งที่เราได้ทำเช่นงานประจำ เป็นแรงกระตุ้นให้เราทำมาจนถึงทุกวันนี้ เราเขียนพืชเขียนสัตว์อะไรก็ตาม บนโลกนี้ก็มีตัวเรา มนุษย์ อิ๋มให้เป็นสัญลักษณ์มากกว่า ไม่ได้บ่งบอกว่าคนนี้เพศไหน เราลืมสิ่งนี้ไปเลย คือระบบนิเวศตรงนี้เหมือนกัน

ภาพวาดโดย พุทธรักษ์ ดาษดา มีสารพัดขนาด ตั้งแต่ผ้าใบที่ค่อนข้างกว้างจนถึงภาพวาดกระดาษแผ่นเล็ก ส่วนสีที่ใช้ระบายบนชิ้นงานทุกชิ้น เธอใช้แต่สีอะคริลิกหรือสีน้ำซึ่งเหมาะกับภาพที่มีเนื้อที่น้อย แต่ในอนาคตข้างหน้า ไม่แน่ว่าอาจจะขยับไปใช้สีน้ำมันเพื่อรองรับผลงานใหม่ที่ใหญ่เป็นพิเศษ

ในการเขียนงานแต่ละรูป อิ๋มจะบันทึกเป็นลายเส้นร่างคร่าว ๆ ระหว่างสเก็ตช์ไปก็จะระบุเสมอว่าบริเวณไหนควรลงสีใด เธอทำงานทุกชิ้นเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำในเวลานั้น

“เราขับรถออกไปแถวบ้าน เราเห็นทุ่งหญ้าทุ่งนา แค่แวบแรกก็ประทับใจอยากเขียน แค่นั้นเลย พอผ่านไปสักเดือนมันไม่มีแล้ว ก็กลายเป็นเหมือนบันทึก… งานสเก็ตช์เป็นงานที่จริงที่สุดของเรา เพราะเราเขียนทั้งสี ความรู้สึก บรรยากาศต่าง ๆ นานาไว้ แต่พอเสร็จสมบูรณ์มันก็เปลี่ยนไป บรรยากาศตรงนั้นหายไปเยอะ”

แค่ ‘คนทำงานศิลปะ’

“ผู้หญิงเป็นศิลปินได้ไหม?” 

คำถามที่ได้รับคำตอบจาก ‘ลุงถวัลย์’ เมื่อหลายปีก่อน มาวันนี้ ผู้คนมากมายทั้งในและต่างจังหวัดพากันเรียกนักศึกษาสาวผู้ตั้งคำถามด้วยชื่ออาชีพดังกล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำ

แต่ถึงอย่างนั้น พุทธรักษ์ ดาษดา ผู้แสดงงานศิลปะจากปลายดินสอและด้ามพู่กันของตนเองมานักต่อนักก็ยังไม่คิดที่จะนิยามตนเองด้วยคำนี้เลย

“เราทำงานศิลปะอย่างเดียว ไม่รู้เหมือนกันว่า ‘ศิลปิน’ จะจัดหมวดหมู่อย่างไรดี ดูเขิน ๆ เหมือนกันนะ เพราะศิลปินตัวจริงที่เราอยู่ใกล้ท่าน ท่านทำงานตลอด ไม่เคยขี้เกียจเลย การใช้ชีวิตและงานที่ออกมามันคือสิ่งเดียวกันไปหมดเลย นี่แหละศิลปินตัวจริง

“ส่วนเรานี่ก็คงต้องเรียนรู้อะไรอีกมาก เราไม่ได้ถ่อมตัว แต่รู้สึกจริง ๆ ว่าเราเป็นคนที่ทำงานศิลปะ อะไรก็ตามที่เป็นงานศิลปะ เพราะเราถนัด อย่างอื่นก็ไม่ถนัด” 

อิ๋มเปิดยิ้มขำขัน เธอให้คำจำกัดความตนเองว่า ‘คนทำงานศิลปะ’ มาแต่ไหน จนบัดนี้ก็ยังพอใจในคำนี้ ไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนเป็นอื่นไป

“ก็คงจะทำงานแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ค่ะ” สาวเจียงฮายหัวใจศิลป์ให้เหตุผล “เราอยู่ได้โดยที่ไม่ขัดใจตัวเอง ไม่ตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่เป็นแบบอื่น ก็วิถีเราเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าปิดกั้น สุดท้ายแล้วเราก็กลับมาอยู่กับตัวเอง ไม่พยายามพลิกหรือแปลงโฉมเป็นสิ่งอื่น”

แน่นอนว่าชีวิตของอิ๋มคงไม่ได้มาไกลถึงเพียงนี้ ไม่ได้พบอาจารย์ถวัลย์ อาจารย์เฉลิมชัย พี่ทรงเดช พี่อังกฤษ และใครต่อใคร รวมทั้งไม่ได้วาดเขียนรูปอย่างใจรัก หากไม่มีลมใต้ปีกของแม่คอยค้ำจุน

“ที่จริงอิ๋มก็ไม่คิดว่าแม่จะเข้าใจ เคยได้ยินมาว่าคนเคยมาคุยกับแม่ว่าลูกเรียนอะไร แม่ก็ตอบว่าลูกเรียนศิลปะ ก็ได้ยินเขาถามว่าทำไมไม่เรียน หมอ พยาบาล หรือครู แม่ก็บอกไปว่าเขาก็ดูแลตัวเองได้ อยากเรียนอะไรก็ปล่อยเขาเรียน แม่ไม่เคยถามว่าจะเปลี่ยนคณะเรียนไหม ไม่เคยพูดเลย ซึ่งเราก็รู้สึกว่าแม่ปกป้องเราประมาณหนึ่ง ฟังแล้วก็รู้สึกดีที่แม่ไม่เคยว่าการเรียนศิลปะ

“เราดูแลตัวเองได้ ดูแลเขาได้ ทีแรกเขาก็คงแอบกลัวว่าเราจะดูแลตัวเองได้ไหม แต่เขาก็มั่นใจในตัวเราตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เราให้เงินเขาได้ด้วยการเขียนการ์ตูนตั้งแต่เด็ก ไม่ขอเลย อยากได้อะไรก็มาจากตรงนั้นแหละ จนตอนนี้ก็ยังมุ่งมั่นเป็นอาชีพ เขาก็รับรู้ว่านี่เป็นอาชีพ แม่ก็อยู่ในส่วนของแม่ ก็โอเค สบายใจ”

อีกคนที่อิ๋มรักและรู้สึกขอบคุณไม่แพ้กัน ก็คือแฟนหนุ่มแสนดีผู้ยืนหยัดเคียงข้างเธอ

“พี่โน้ตคอยอยู่ข้าง ๆ เรา รู้ว่าเรารู้สึกนึกคิดอย่างไร ถ้ามีคำถามก็จะคุยกับเขาก่อน เขารู้ทุกเรื่อง”

คนสร้างงานศิลปะย้ำอีกว่างานศิลปะเป็นมากกว่าแค่ของประดับไว้ดูด้วยตา คุณค่าของมันมีอเนกอนันต์ ซึ่งเธอยังต้องทำความเข้าใจกับงานที่ทำอยู่ตลอด

“อิ๋มชอบศิลปะ เพราะมันครบองค์ประกอบทั้งตัวงานและคนทำ ทั้งตัวตน วิถีชีวิต และงาน เป็นแรงบันดาลใจที่เราเชื่อสุดใจ”

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล