เติบโตอย่างมีหนาม

Thistle คือ หนามที่แหลมคมของดอกไม้ 

Purple Thistle Center เป็นพื้นที่ศิลปะและกิจกรรมที่ดำเนินการโดยเยาวชนขบถ หรือ Dropout ที่เขาเชื่อว่า ทุกคนต่างมี ‘หนาม’ เป็นของตัวเอง แต่บางคนซ่อนมันไว้ บางคนก็กางหนามออกมาเพื่อป้องกันตัวและปกปิดตัวเองอยู่ตลอดเวลา ที่นี่อยากให้ทุกคนมาแบ่งปันหนามของตัวเองให้กันและกัน ในความสัมพันธ์แนวราบและเป็นมิตร

Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง
Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง
Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง

“ทุกวันนี้ไม่ง่ายเลยที่จะเป็นเด็ก โดยเฉพาะการเติบโตเป็นวัยรุ่น เกือบเป็นเรื่องเจ็บปวดและราคาแพงมากกว่า กดดันมากกว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขา แต่ความเจ็บปวดและราคาที่ต้องจ่ายมากกว่านั้น กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาไม่ยอมแพ้ และเป็นความหมายที่ควรค่ากับการต่อสู้เพื่อเติบโต” 

ข้อความจากหนังสือ Stay Solid!: A Radical Handbook for Youth (‘เข้มแข็งเข้าไว้’ หนังสือคู่มือการใช้ชีวิตสำหรับเยาวชนขบถ) เขียนรวบรวมและเรียบเรียงโดย แมตต์ เฮิร์น (Matt Hern) นักการศึกษาทางเลือกและขบถ ผู้ก่อตั้งศูนย์เยาวชน Purple Thistle Center ใจกลางเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา 

ในหนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการกับเพื่อนๆ ของคุณในโรงเรียนและชุมชน ทั้งปัญหาความสัมพันธ์ไปจนถึงยาเสพติด เรื่องเพศ เรื่องการจัดการกับตำรวจ ชนชั้น อาชีพ รายได้ สุขภาพจิต และการบำบัด เพื่อให้วัยรุ่นเหล่านั้นกลับมายึดมั่นและเห็นคุณค่าในการใช้ชีวิตกันอีกครั้ง แค่พอเห็นเนื้อหาในหนังสือที่แมตต์เรียบเรียงเล่มนี้ ก็พอจะบอกได้ว่า ประสบการณ์การทำงานของพวกเขากับวัยรุ่นในศูนย์โน้มเอียงไปทางไหน และทำไมเขาถึงเชื่อว่า ทุกวันนี้เด็กๆ และวัยรุ่นของเราจึงต้องผลิหนาม และกางเขี้ยวเล็บออกมาป้องกันตัวกันมากกว่ายุคสมัยใดๆ 

นอกจากนั้น แมตต์ยังเป็นผู้เขียนหนังสืออีกหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น Deschooling Our Lives; Getting Society Out of School, Field Day, Why Safer Isn’t Always Better

Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง
Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง
Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง

ไม่อนุญาตให้ทำลายความรักการเรียนรู้ 

ครั้งแรกที่เราได้พบ แมตต์ ฮาร์น เขามีชื่อเป็นอาจารย์บรรยายเรื่องเกี่ยวกับเยาวชนที่ต้องผลิหนามและกางเขี้ยวเล็บที่เรียกว่า Dropout ผู้ชายร่างใหญ่ โกนหัว เจาะหูใส่ห่วงติ่งใหญ่ ใส่เสื้อแขนกุดโชว์กล้าม ขึ้นไปบรรยายบนเวทีการประชุมการศึกษาทางเลือกได้อย่างมีชีวิตมีลีลา ราวกับว่ากำลังแสดงคอนเสิร์ตแร็ป บนเวทีการประชุมการศึกษาทางเลือกในนิวยอร์ก 

ใครจะรู้ว่าครั้งที่สองที่เราได้พบกับเขา ก็เป็นที่บ้านของเขาในแวนคูเวอร์ แคนาดา ปีถัดมา เสียงผู้ชายกำลังเล่านิทานให้ลูกสาวสองคนในห้องใต้บันไดตรงมุมหน้าต่างที่เรามองย้อนแสงไป ราวกับโรงละครหุ่นเงายามบ่าย เป็นภาพจำที่เราไม่เคยลืม ผู้ชายตัวใหญ่คนนั้นดูอบอุ่นขึ้นมาทันที

หนังสือชื่อ Field Day (วันภาคสนาม) ที่เขาเขียนมีคำถามพื้นฐาน 2 ข้อ คือการสร้างสถาบันอันใดอันหนึ่งให้เด็กไปอยู่เป็นเวลา 6 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 12 ปี เป็นสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งเราทำให้เด็กๆ ของเราหรือไม่ และเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ที่คิดว่าเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ในหนังสือเล่มนี้แมตต์โต้แย้งว่าเราเปลี่ยนแปลงโรงเรียนได้ โดยต้องมองให้โรงเรียนเป็นสถาบันที่มีประชาธิปไตย หมายความว่าเราต้องได้ยินเสียงของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนในโรงเรียนนั้นอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เราไม่จำเป็นต้องสร้างวงล้อขึ้นมาใหม่ ถ้าเราจัดให้โรงเรียนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ไม่ทำลายความรักในการอยากเรียนรู้ของเด็กได้ 

การศึกษาภาคบังคับที่มีหลักสูตรที่แข็งตัว มาจากพื้นฐานการผลิตซ้ำทางสังคม การเรียนรู้ที่ผู้เรียนและชุมชนสร้างหลักสูตรขึ้นมาเองได้เฉพาะตน เป็นการสะท้อนความกล้าหาญที่จะแหวกแนวล้อมจากการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้เกิดพื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กๆ ผู้เรียน ด้วยความคิดที่เป็นอิสระและนับถือตัวเอง 

Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง

Dropout – Drop In 

เมื่ออ่านนิทานให้ลูกสาวทั้งสองคนและพาเข้านอนเรียบร้อย แมตต์ก็มานั่งคุยกับเรา เราขอลายเซ็นหนังสือก่อนอื่นใด เพราะพลาดลายเซ็นของเขาไปที่นิวยอร์ก แมตต์จัดที่นอนให้เราในห้องรับแขก เขาพาไปดูห้องหนังสือในบ้านของเขา แล้วบอกว่าพรุ่งนี้จะพาไปที่ศูนย์ Purple Thistle Center ตอนบ่ายๆ 

แมตต์ตั้งศูนย์การเรียนนี้เพราะเด็กวัยรุ่น 7 คนซึ่งต้องการพื้นที่ทางเลือกสำหรับเยาวชน ผู้รู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาแสดงออกสิ่งที่พวกเขาคิดเห็นและเป็นอยู่ พวกเขาไม่อยากได้โรงเรียน ศูนย์เยาวชน สถาบัน หรือแม้แต่สตูดิโอ เลยพากันคิดว่าพื้นที่ที่พวกเขาต้องการควรเป็นแบบไหน เป็นอะไรดี 

ระหว่างนั้นความคิดต่างๆ ก็ผุดขึ้นมามากมาย พวกเขาเริ่มพูดคุยถึงกิจกรรมที่อยากทำ ไม่ว่าการเขียนบทภาพยนตร์ การวาดภาพ การสร้างเว็บไซต์ การแสดงบทกวี การเขียนการ์ตูน ซึ่งใช้ความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นพวกเขาจึงคิดว่าเรามาเริ่มจากสิ่งที่พวกเราอยากทำกันก่อน 

จากนั้นพื้นที่ 2,500 ตารางฟุต มีอุปกรณ์เครื่องมือวัสดุการเรียนรู้ การทำเวิร์กช็อปต่างๆ มากมาย และฟรีทั้งหมด มีห้องสมุด มีมุมซ่อมจักรยาน ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องซิลค์สกรีน ห้องเย็บผ้า ห้องมืด ทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยกลุ่มเยาวชนที่พวกเขาชักชวนกันมา มีกิจกรรมทำกันทั้งวัน 

จากเยาวชนที่เอาแต่เตร็ดเตร่อยู่นอกโรงเรียน บนท้องถนน เพราะไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่เขาสนใจให้ทำอย่างเป็นอิสระ พวกเขามีพื้นที่แสดงออกอย่างเป็นอิสระ และดำเนินการเองอย่างมีอิสระ จากที่เคยเป็นเด็ก Dropout กลายเป็นเด็ก Drop In 

พวกเขาอยากเรียกที่นี่ว่าบ้านหรือศูนย์ทรัพยากรที่พวกเขารู้สึกปลอดภัย ถอดเขี้ยวเล็บและสลัดหนามออกได้บ้าง 

Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง
Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง
Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง

การเป็นเจ้าของ มีราคาที่ต้องจ่าย 

Purple Thistle Center ดำเนินการโดยกลุ่มเยาวชนอาสาสมัคร 12 – 20 คน (อายุ 15 – 30 ปี) ซึ่งแต่ละคนมีกุญแจสำคัญของแต่ละช็อป เปิดพื้นที่ให้เข้ากะ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สมาชิกกลุ่มจะพบกันทุกคืนวันจันทร์​เวลาหนึ่งทุ่ม เพื่อร่วมกันตัดสินใจเรื่องพื้นที่ สร้างตารางเวลา สร้างโครงการ สร้างเวิร์กช็อป รวมถึงรับฟังสิ่งที่ต่างฝ่ายต้องการพูดและแลกเปลี่ยน เปิดให้ทุกคนที่มามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน และตัดสินใจอย่างเปิดกว้าง

ใครสนใจอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ก็เพียงแต่เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมวันจันทร์ 2 – 3 ครั้ง และทำความรู้จักกับทุกคน กับสถานที่ วิธีการเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร เป็นอิสระที่แต่ละคนมี โดยกลุ่มจะถามในที่ประชุมรวม เพื่อให้เกิดการสื่อสาร รับฟัง ยินยอม ยอมรับ และเปิดรับในทุกเสียงที่แตกต่าง 

กลุ่มจะไม่ใช้วิธีการลงมติเสียงข้างมาก แล้วทิ้งเสียงของคนข้้างน้อยไว้ข้างหลัง เพราะเขาเชื่อว่านั่นเป็นการกดขี่ข่มเหงเสียงข้างน้อย พวกเขาเคารพในเสียงทุกเสียง ไม่มีใครเหนือใคร แต่เท่าเทียม และเชื่อว่าพื้นที่นี้มีช่องว่างและทรัพยากรเพียงพอให้ทุกคนเรียนรู้ในแบบที่ตัวเองเป็น 

แมตต์เล่าว่าที่นี่ยินดีมาก เวลามีคำถามมากมายจากคนหนุ่มสาว แต่เขาจะขอให้คุณคิดก่อนเริ่มพูดคุยกันในที่ประชุม เพื่อกระชับและเคารพเวลาของทุกคน หากใครมีความคิดเกี่ยวกับโครงการ ต้องการพื้นที่ อุปกรณ์และที่ปรึกษา ทุกคนที่นี่พร้อมสนับสนุนให้ราบรื่นที่สุด แต่ละคนจะสร้างโปรแกรมของตัวเองก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำตอบทั้งหมด หรือรู้ทั้งหมดว่าต้องเริ่มจากตรงไหน 

Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง
Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง
Purple Thistle Center พื้นที่ศิลปะของเยาวชนขบถแคนาดา ที่เชื่อว่าเราต่างมี ‘หนาม’ ของตัวเอง

ทุนดำเนินการ ค่าเล่าเรียน 

ศูนย์ต้องต่อสู้กับเรื่องเงินทุนตลอดเวลาที่ดำเนินการ แน่นอนว่าค่าเล่าเรียนต้องฟรี พวกเขาเชื่อว่ามีทรัพยากรและแรงสนับสนุนมากมาย มีคนพร้อมแบ่งปันเพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ของเยาวชนอย่างแท้จริง หน้าที่ของพวกเขาคือหาให้เจอ และเชื่อมโยงให้ตัวละครที่พร้อมสนับสนุนนั้นพบเวทีที่พวกเขาจะแบ่งปันได้ ตั้งแต่เจ้าของอาคารที่รักพวกเขา แม่ค้าในตลาดสดที่พร้อมแบ่งผักฟรีให้ตลอด เจ้าของห้างร้านกิจการที่อยากให้อุปกรณ์ดำเนินการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหลานของพวกเขาเตร็ดเตร่ในท้องถนน 

กลุ่มเปิดกว้างเสมอให้กับคนที่มีเวลาและใจอยากช่วยระดมทุนเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายอุปกรณ์การเรียนต่างๆ และในบางครั้งพวกเขาเองก็แบ่งเงินจากการทำงานพิเศษเข้ากองกลางเพื่อดำเนินการในศูนย์

 พบปะและใฝ่ฝัน

Purple Thistle Center ไม่เคยตั้งธงเป็นสถาบันหรือโรงเรียนทางเลือกใดๆ แต่เป็นพื้นที่ที่ผู้คนได้พบปะและใฝ่ฝันที่จะทำอะไรร่วมกันแล้วได้ลงมือทำ กว่า 14 ปีครึ่งที่พื้นที่เปิดตัว สิ่งที่น่าภาคภูมิใจและจดจำ คือเรื่องราวของวัยรุ่นคนแล้วคนเล่าที่ก้าวเข้ามากับหนามที่แหลมคม พร้อมทิ่มแทงใครคนใดคนหนึ่ง สังคม หรือแม้แต่ตัวเอง ค่อยๆ สลัดหนามในต้นไม้ดอกไม้ของพวกเขาออกด้วยความรู้สึกปลอดภัย และปล่อยให้กลีบดอกไม้บางได้เบ่งบานล้อเล่นกับลมอย่างเป็นอิสระ 

ภาพ : www.purplethistle.ca

Writer

Avatar

เสาวนีย์ สังขาระ

Film Maker, Farmer, Facilitator ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีอิสระ บินสิ! โปรดักส์ชั่นเฮาส์ และรายการบินสิ! ผู้ก่อตั้งและอำนวยการเรียนการสอน ที่สวนศิลป์บินสิ Films Farm School