เติบโตอย่างมีหนาม
Thistle คือ หนามที่แหลมคมของดอกไม้
Purple Thistle Center เป็นพื้นที่ศิลปะและกิจกรรมที่ดำเนินการโดยเยาวชนขบถ หรือ Dropout ที่เขาเชื่อว่า ทุกคนต่างมี ‘หนาม’ เป็นของตัวเอง แต่บางคนซ่อนมันไว้ บางคนก็กางหนามออกมาเพื่อป้องกันตัวและปกปิดตัวเองอยู่ตลอดเวลา ที่นี่อยากให้ทุกคนมาแบ่งปันหนามของตัวเองให้กันและกัน ในความสัมพันธ์แนวราบและเป็นมิตร



“ทุกวันนี้ไม่ง่ายเลยที่จะเป็นเด็ก โดยเฉพาะการเติบโตเป็นวัยรุ่น เกือบเป็นเรื่องเจ็บปวดและราคาแพงมากกว่า กดดันมากกว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขา แต่ความเจ็บปวดและราคาที่ต้องจ่ายมากกว่านั้น กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาไม่ยอมแพ้ และเป็นความหมายที่ควรค่ากับการต่อสู้เพื่อเติบโต”
ข้อความจากหนังสือ Stay Solid!: A Radical Handbook for Youth (‘เข้มแข็งเข้าไว้’ หนังสือคู่มือการใช้ชีวิตสำหรับเยาวชนขบถ) เขียนรวบรวมและเรียบเรียงโดย แมตต์ เฮิร์น (Matt Hern) นักการศึกษาทางเลือกและขบถ ผู้ก่อตั้งศูนย์เยาวชน Purple Thistle Center ใจกลางเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา
ในหนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการกับเพื่อนๆ ของคุณในโรงเรียนและชุมชน ทั้งปัญหาความสัมพันธ์ไปจนถึงยาเสพติด เรื่องเพศ เรื่องการจัดการกับตำรวจ ชนชั้น อาชีพ รายได้ สุขภาพจิต และการบำบัด เพื่อให้วัยรุ่นเหล่านั้นกลับมายึดมั่นและเห็นคุณค่าในการใช้ชีวิตกันอีกครั้ง แค่พอเห็นเนื้อหาในหนังสือที่แมตต์เรียบเรียงเล่มนี้ ก็พอจะบอกได้ว่า ประสบการณ์การทำงานของพวกเขากับวัยรุ่นในศูนย์โน้มเอียงไปทางไหน และทำไมเขาถึงเชื่อว่า ทุกวันนี้เด็กๆ และวัยรุ่นของเราจึงต้องผลิหนาม และกางเขี้ยวเล็บออกมาป้องกันตัวกันมากกว่ายุคสมัยใดๆ
นอกจากนั้น แมตต์ยังเป็นผู้เขียนหนังสืออีกหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น Deschooling Our Lives; Getting Society Out of School, Field Day, Why Safer Isn’t Always Better



ไม่อนุญาตให้ทำลายความรักการเรียนรู้
ครั้งแรกที่เราได้พบ แมตต์ ฮาร์น เขามีชื่อเป็นอาจารย์บรรยายเรื่องเกี่ยวกับเยาวชนที่ต้องผลิหนามและกางเขี้ยวเล็บที่เรียกว่า Dropout ผู้ชายร่างใหญ่ โกนหัว เจาะหูใส่ห่วงติ่งใหญ่ ใส่เสื้อแขนกุดโชว์กล้าม ขึ้นไปบรรยายบนเวทีการประชุมการศึกษาทางเลือกได้อย่างมีชีวิตมีลีลา ราวกับว่ากำลังแสดงคอนเสิร์ตแร็ป บนเวทีการประชุมการศึกษาทางเลือกในนิวยอร์ก
ใครจะรู้ว่าครั้งที่สองที่เราได้พบกับเขา ก็เป็นที่บ้านของเขาในแวนคูเวอร์ แคนาดา ปีถัดมา เสียงผู้ชายกำลังเล่านิทานให้ลูกสาวสองคนในห้องใต้บันไดตรงมุมหน้าต่างที่เรามองย้อนแสงไป ราวกับโรงละครหุ่นเงายามบ่าย เป็นภาพจำที่เราไม่เคยลืม ผู้ชายตัวใหญ่คนนั้นดูอบอุ่นขึ้นมาทันที
หนังสือชื่อ Field Day (วันภาคสนาม) ที่เขาเขียนมีคำถามพื้นฐาน 2 ข้อ คือการสร้างสถาบันอันใดอันหนึ่งให้เด็กไปอยู่เป็นเวลา 6 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 12 ปี เป็นสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งเราทำให้เด็กๆ ของเราหรือไม่ และเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ที่คิดว่าเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ในหนังสือเล่มนี้แมตต์โต้แย้งว่าเราเปลี่ยนแปลงโรงเรียนได้ โดยต้องมองให้โรงเรียนเป็นสถาบันที่มีประชาธิปไตย หมายความว่าเราต้องได้ยินเสียงของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนในโรงเรียนนั้นอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เราไม่จำเป็นต้องสร้างวงล้อขึ้นมาใหม่ ถ้าเราจัดให้โรงเรียนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ไม่ทำลายความรักในการอยากเรียนรู้ของเด็กได้
การศึกษาภาคบังคับที่มีหลักสูตรที่แข็งตัว มาจากพื้นฐานการผลิตซ้ำทางสังคม การเรียนรู้ที่ผู้เรียนและชุมชนสร้างหลักสูตรขึ้นมาเองได้เฉพาะตน เป็นการสะท้อนความกล้าหาญที่จะแหวกแนวล้อมจากการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้เกิดพื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กๆ ผู้เรียน ด้วยความคิดที่เป็นอิสระและนับถือตัวเอง

Dropout – Drop In
เมื่ออ่านนิทานให้ลูกสาวทั้งสองคนและพาเข้านอนเรียบร้อย แมตต์ก็มานั่งคุยกับเรา เราขอลายเซ็นหนังสือก่อนอื่นใด เพราะพลาดลายเซ็นของเขาไปที่นิวยอร์ก แมตต์จัดที่นอนให้เราในห้องรับแขก เขาพาไปดูห้องหนังสือในบ้านของเขา แล้วบอกว่าพรุ่งนี้จะพาไปที่ศูนย์ Purple Thistle Center ตอนบ่ายๆ
แมตต์ตั้งศูนย์การเรียนนี้เพราะเด็กวัยรุ่น 7 คนซึ่งต้องการพื้นที่ทางเลือกสำหรับเยาวชน ผู้รู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาแสดงออกสิ่งที่พวกเขาคิดเห็นและเป็นอยู่ พวกเขาไม่อยากได้โรงเรียน ศูนย์เยาวชน สถาบัน หรือแม้แต่สตูดิโอ เลยพากันคิดว่าพื้นที่ที่พวกเขาต้องการควรเป็นแบบไหน เป็นอะไรดี
ระหว่างนั้นความคิดต่างๆ ก็ผุดขึ้นมามากมาย พวกเขาเริ่มพูดคุยถึงกิจกรรมที่อยากทำ ไม่ว่าการเขียนบทภาพยนตร์ การวาดภาพ การสร้างเว็บไซต์ การแสดงบทกวี การเขียนการ์ตูน ซึ่งใช้ความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นพวกเขาจึงคิดว่าเรามาเริ่มจากสิ่งที่พวกเราอยากทำกันก่อน
จากนั้นพื้นที่ 2,500 ตารางฟุต มีอุปกรณ์เครื่องมือวัสดุการเรียนรู้ การทำเวิร์กช็อปต่างๆ มากมาย และฟรีทั้งหมด มีห้องสมุด มีมุมซ่อมจักรยาน ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องซิลค์สกรีน ห้องเย็บผ้า ห้องมืด ทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยกลุ่มเยาวชนที่พวกเขาชักชวนกันมา มีกิจกรรมทำกันทั้งวัน
จากเยาวชนที่เอาแต่เตร็ดเตร่อยู่นอกโรงเรียน บนท้องถนน เพราะไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่เขาสนใจให้ทำอย่างเป็นอิสระ พวกเขามีพื้นที่แสดงออกอย่างเป็นอิสระ และดำเนินการเองอย่างมีอิสระ จากที่เคยเป็นเด็ก Dropout กลายเป็นเด็ก Drop In
พวกเขาอยากเรียกที่นี่ว่าบ้านหรือศูนย์ทรัพยากรที่พวกเขารู้สึกปลอดภัย ถอดเขี้ยวเล็บและสลัดหนามออกได้บ้าง



การเป็นเจ้าของ มีราคาที่ต้องจ่าย
Purple Thistle Center ดำเนินการโดยกลุ่มเยาวชนอาสาสมัคร 12 – 20 คน (อายุ 15 – 30 ปี) ซึ่งแต่ละคนมีกุญแจสำคัญของแต่ละช็อป เปิดพื้นที่ให้เข้ากะ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สมาชิกกลุ่มจะพบกันทุกคืนวันจันทร์เวลาหนึ่งทุ่ม เพื่อร่วมกันตัดสินใจเรื่องพื้นที่ สร้างตารางเวลา สร้างโครงการ สร้างเวิร์กช็อป รวมถึงรับฟังสิ่งที่ต่างฝ่ายต้องการพูดและแลกเปลี่ยน เปิดให้ทุกคนที่มามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน และตัดสินใจอย่างเปิดกว้าง
ใครสนใจอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ก็เพียงแต่เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมวันจันทร์ 2 – 3 ครั้ง และทำความรู้จักกับทุกคน กับสถานที่ วิธีการเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร เป็นอิสระที่แต่ละคนมี โดยกลุ่มจะถามในที่ประชุมรวม เพื่อให้เกิดการสื่อสาร รับฟัง ยินยอม ยอมรับ และเปิดรับในทุกเสียงที่แตกต่าง
กลุ่มจะไม่ใช้วิธีการลงมติเสียงข้างมาก แล้วทิ้งเสียงของคนข้้างน้อยไว้ข้างหลัง เพราะเขาเชื่อว่านั่นเป็นการกดขี่ข่มเหงเสียงข้างน้อย พวกเขาเคารพในเสียงทุกเสียง ไม่มีใครเหนือใคร แต่เท่าเทียม และเชื่อว่าพื้นที่นี้มีช่องว่างและทรัพยากรเพียงพอให้ทุกคนเรียนรู้ในแบบที่ตัวเองเป็น
แมตต์เล่าว่าที่นี่ยินดีมาก เวลามีคำถามมากมายจากคนหนุ่มสาว แต่เขาจะขอให้คุณคิดก่อนเริ่มพูดคุยกันในที่ประชุม เพื่อกระชับและเคารพเวลาของทุกคน หากใครมีความคิดเกี่ยวกับโครงการ ต้องการพื้นที่ อุปกรณ์และที่ปรึกษา ทุกคนที่นี่พร้อมสนับสนุนให้ราบรื่นที่สุด แต่ละคนจะสร้างโปรแกรมของตัวเองก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำตอบทั้งหมด หรือรู้ทั้งหมดว่าต้องเริ่มจากตรงไหน



ทุนดำเนินการ ค่าเล่าเรียน
ศูนย์ต้องต่อสู้กับเรื่องเงินทุนตลอดเวลาที่ดำเนินการ แน่นอนว่าค่าเล่าเรียนต้องฟรี พวกเขาเชื่อว่ามีทรัพยากรและแรงสนับสนุนมากมาย มีคนพร้อมแบ่งปันเพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ของเยาวชนอย่างแท้จริง หน้าที่ของพวกเขาคือหาให้เจอ และเชื่อมโยงให้ตัวละครที่พร้อมสนับสนุนนั้นพบเวทีที่พวกเขาจะแบ่งปันได้ ตั้งแต่เจ้าของอาคารที่รักพวกเขา แม่ค้าในตลาดสดที่พร้อมแบ่งผักฟรีให้ตลอด เจ้าของห้างร้านกิจการที่อยากให้อุปกรณ์ดำเนินการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหลานของพวกเขาเตร็ดเตร่ในท้องถนน
กลุ่มเปิดกว้างเสมอให้กับคนที่มีเวลาและใจอยากช่วยระดมทุนเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายอุปกรณ์การเรียนต่างๆ และในบางครั้งพวกเขาเองก็แบ่งเงินจากการทำงานพิเศษเข้ากองกลางเพื่อดำเนินการในศูนย์
พบปะและใฝ่ฝัน
Purple Thistle Center ไม่เคยตั้งธงเป็นสถาบันหรือโรงเรียนทางเลือกใดๆ แต่เป็นพื้นที่ที่ผู้คนได้พบปะและใฝ่ฝันที่จะทำอะไรร่วมกันแล้วได้ลงมือทำ กว่า 14 ปีครึ่งที่พื้นที่เปิดตัว สิ่งที่น่าภาคภูมิใจและจดจำ คือเรื่องราวของวัยรุ่นคนแล้วคนเล่าที่ก้าวเข้ามากับหนามที่แหลมคม พร้อมทิ่มแทงใครคนใดคนหนึ่ง สังคม หรือแม้แต่ตัวเอง ค่อยๆ สลัดหนามในต้นไม้ดอกไม้ของพวกเขาออกด้วยความรู้สึกปลอดภัย และปล่อยให้กลีบดอกไม้บางได้เบ่งบานล้อเล่นกับลมอย่างเป็นอิสระ
ภาพ : www.purplethistle.ca