ในฐานะคนจันทบุรีที่เกิดและโตในชุมชนริมน้ำจันทบูรแต่กำเนิด ริมน้ำจันทบูรในความทรงจำของเราคือถนนเก่าสายเล็กๆ ที่มีแม่น้ำจันทบูรเลียบข้าง ตลอดถนนและแม่น้ำสายแคบแห่งนี้มีคนในชุมชนอาศัย ทั้งในตึกสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. 2533 อาคารไม้และตึกฉลุลายชิโน-ยูโรเปียน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสมัยฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันท์ รวมถึงอาคารเก่าทรงเก๋งจีนที่ยืนเด่นเป็นสง่า เหล่านั้นล้วนธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ และไร้ผู้คนสนใจ

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

ทั้งยามอรุณรุ่งและลาลับ เสียงที่ดังที่สุดคือเสียงนกร้องเจื้อยแจ้ว เรือหางยาวแล่นฉิว และลมหวีดหวิวจากว่าวดุ๊ยดุ่ย แต่เมื่อเกือบ 10 ปีมานี้ จู่ๆ ถนนเล็กๆ สายนี้ก็เปลี่ยนไป คนต่างถิ่นมากหน้าหลายตาเริ่มเข้ามาเยี่ยมชมความงามแสนธรรมดาของชุมชน ร้านรวงของคนในและนอกพื้นที่เปิดกันเบิกบาน (มากมายในภาษาจันท์) ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เริ่มขึ้นโดย บริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ที่อยากฟื้นคืนชีวิตถนนแห่งประวัติศาสตร์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ไม่ใช่ในแง่เม็ดเงิน แต่ในแง่วัฒนธรรมที่อยากให้คนในชุมชนรุ่นหลังเห็นว่า ความธรรมดาเหล่านั้นมีคุณค่าควรแก่การรักษาเพียงใด

หนึ่งในวิธีการสำคัญที่จะฟื้นฟูชุมชนแห่งนี้ คือการบูรณะอาคารเก่าแก่อายุกว่า 150 ปีให้กลายเป็นบ้านเรียนรู้ อย่างบ้านเรียนรู้เลขที่ 69 แถวศาลเจ้าที่ตลาดล่าง บูรณะที่อาศัยของ หลวงราชไมตรี แถบท่าหลวงให้กลายเป็นบ้านพักประวัติศาสตร์ กระทั่งล่าสุด อาคารเก๋งจีนหนึ่งเดียวริมน้ำที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ก็ได้กลายเป็นบ้านพักอีกหลังที่บริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด และเจ้าของบ้านเห็นว่าจะช่วยชุบชูจิตวิญญาณชุมชนให้กลับมามีลมหายใจ

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

จึงเป็นเหตุให้เรามาเคาะประตูบ้านเก๋งจีนวันนี้ ในวันที่พร้อมเปิดให้บริการหลังการบูรณะกว่า 4 ปี เพื่อพูดคุยถึงความสำคัญของบ้านหลังนี้ และความละเอียดในการบูรณะบ้านเก่าให้กลายเป็นที่หย่อนใจแห่งใหม่ 

เนื่องจากเราเป็นคนริมน้ำจันทบูรแต่กำเนิด บอกไว้ก่อนว่าบทสนทนาต่อจากนี้อาจเต็มไปด้วยการชื่นชมบ้านเกิดไม่น้อยทีเดียว

ริมน้ำจันทบูรที่ไม่เคยหลับใหล

ก่อนจะพูดคุยถึงบ้านบุณยัษฐิติทรงเก๋งจีนสุดเก๋า กรรมการผู้จัดการบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด อย่าง ปัทมา ปรางพันธ์ ที่คนริมน้ำจันทบูรเรียกว่า พี่หมู ขอพาเราย้อนกลับไปถึงความสำคัญของถนนเลียบริมน้ำ แต่ก่อนริมน้ำจันทบูรมีขนาดกว้างและลึกกว่านี้มาก ชนิดที่เรือสำเภายังเข้ามาขายของได้ ที่นี่จึงเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างคนพื้นเมืองและคนในเมืองที่สำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยา

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

“คนชองจะล่องแพไม้ไผ่มาขายของป่าให้กับคนในเมือง ซึ่งเป็นคนจีนและคนญวนที่ทำอาชีพค้าขายและรับราชการ เสร็จแล้วก็เดินกลับเขาคิชฌกูฏด้วยการเดินเท้า เพราะแพไม้ไผ่ที่นั่งมาก็ยังขายได้” 

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 – 5 ที่นี่เปลี่ยนจากศูนย์กลางระหว่างคนในและนอกเมือง เป็นเมืองท่าค้าของป่าและสมุนไพรระหว่างสยามกับชาติตะวันตก

“เรียกว่าที่นี่เจริญมาก ครั้งที่สยามเริ่มตัดถนนสายแรกๆ ถนนสุขาภิบาลแห่งนี้หรือที่สมัยก่อนเรียกว่า ‘เลียบนที’ คือถนนสายแรกในเมืองจันท์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสที่นี่ถึงสองครั้ง จนความเป็นเมืองเริ่มขยายออก รวมถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ พ.ศ. 2532 และเหตุการณ์น้ำท่วม ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนจากประตูบานเฟี้ยมเป็นประตูเหล็กเพื่อป้องกันน้ำพัด ที่นี่เริ่มซบเซาและความสัมพันธ์ในชุมชนเบาบางลง แต่คนไม่ได้หายไปไหนนะ เขาก็ยังอาศัยกันอยู่ เพียงแต่ไม่ได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแล้ว” 

พี่หมูเล่าเรื่องราวคราวอดีตให้ฟัง ชวนให้เราพยักหน้าเห็นด้วย เพราะในความทรงจำครั้งยังเด็ก บ้านไม้เก่าแก่ของเราก็ถูกไฟไหม้ แถมเหตุการณ์น้ำท่วมยังเป็นเรื่องคุ้นชินที่เมื่อใครพูดว่า ‘น้ำมาแล้ว’ คนในชุมชนก็ไม่ตื่นตระหนกสักเท่าไหร่ 

จันทบูรรักษ์ดี

ชีวิตผู้คนยังดำเนินตามปกติ ตื่นเช้ามาทานข้าวและตักบาตร บ้างค้าพลอย บ้างค้าอาหาร บางกลุ่มไหว้ศาลเจ้าจีนที่กระจายตลอดทาง บางกลุ่มก็เข้าโบสถ์คาทอลิกเพื่อทำพิธีมิสซา แขกไปใครมาก็มีแต่คนคุ้นหน้าทั้งนั้น กระทั่งนักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันอาศรมศิลป์ที่เกิดและโตที่จันทบุรี เข้ามาทำวิจัยเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเก่าแก่ในชุมชน ประกอบกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอยากฟื้นฟูย่านการค้าเก่าเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคัก ชีวิตคนในชุมชนก็เริ่มได้รับความสนใจ

“โจทย์ที่คนในชุมชนคุยกันไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องการทำให้คนในชุมชนกลับมาตระหนักถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ชุมชน เขาเริ่มเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ไม่ใช่อาคารเก่าโทรมๆ แต่คืออาคารทรงคุณค่าควรส่งต่อให้รุ่นหลัง และคือเส้นทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯ มา แถมยังเป็นจุดกำเนิดของตระกูลใหญ่ๆ ในปัจจุบัน”

จากข้อตกลงที่ว่า ‘วัฒนธรรมนำการค้า’ จึงเป็นวิสัยทัศน์สำคัญของการฟื้นฟูชุมชน โดยมีบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ที่มีสมาชิกคือคนในชุมชนเข้ามาดูแล การฟื้นฟูค่อยๆ เริ่มจากการเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของชุมชน ทั้งแบบไทย จีน และชิโน-ยูโรเปียน มีการจัดประกวดภาพถ่ายวิถีชีวิตชุมชน จัดงาน ‘เปิดบ้านริมน้ำ’ เพื่อประกาศว่าริมน้ำกำลังจะกลับมามีชีวิต และสร้างสิ่งที่เป็นรูปธรรมขึ้นอย่างการบูรณะบ้านเก่า อย่างบ้านเรียนรู้ทางประวัติศาสต์เลขที่ 69 และบ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี โดยใช้เงินตั้งต้นจากการรวมหุ้นของคนในชุมชนและคนนอกชุมชนที่ต้องการร่วมอนุรักษ์มาบูรณะและดำเนินการ 

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

แน่นอนว่าบ้านของเราก็เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนนั้นด้วยเงิน 1,000 บาท (ไม่มาก แต่ก็ขออวดสักหน่อย)

“เราอยากทำให้คนอื่นเห็นว่า ถ้าคุณจะเข้ามาทำธุรกิจในชุมชน คุณควรรักษาสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เดิมให้ได้มากที่สุด และหาประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้ โดยไม่ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตคนในชุมชน ดังนั้น ชุมชนริมน้ำจันทบูรจึงเป็นชุมชนที่ร้านค้าไม่มาก เมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น เพราะส่วนใหญ่คือร้านของคนใน ไม่มีการปิดถนนเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินสะดวก เพราะชุมชนนี้ยังมีชีวิต ผู้คนยังอาศัยอยู่เกือบทุกหลัง” 

จากการบูรณะบ้านทั้งสองหลังในครั้งนั้น โดยเฉพาะบ้านหลวงราชไมตรีที่ได้รับการตอบรับดีมาก ไม่ว่าแขกไปใครมาก็ต้องลองพักที่นี่สักครั้ง วิถีชีวิตคนในชุมชนก็เริ่มเป็นที่กล่าวขาน เมื่อ 4 ปีก่อน อาจารย์กนิช บุณยัษฐิติ ลูกหลานตระกูลบุณยัษฐิติผู้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่บ้านอายุกว่า 150 ปีของตระกูลควรค่อยๆ ฟื้นคืนชีพพร้อมๆ กับชุมชนที่ยังคงหายใจ

คืนลมหายใจให้บ้านบุณยัษฐิติ

พี่หมูชวนเราคุยถึงจันทบูรรักษ์ดีสักพัก จึงเริ่มพูดคุยถึงอดีตอันไกลโพ้นของบ้านเก๋งจีนหนึ่งเดียวในริมน้ำจันท์ ว่ากันตามพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2419 ครอบครัวบุณยัษฐิติรุ่นที่ 6 ทราบว่าบ้านเก๋งจีนอายุกว่า 150 ปีแห่งนี้สร้างโดย หลวงอนุรักษ์พานิช หรือ จีนกั๊ก-บุญมาก บุณยัษฐิติ บุตรของนายบุญคงและนางอยู่ ทั้งสกุล ‘บุณยัษฐิติ’ ของจีนกั๊กยังได้รับพระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2459 อีกด้วย

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

เมื่อเห็นควรว่าต้องฟื้นชีวิตให้บ้าน ครอบครัวบุณยัษฐิติจึงเริ่มเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมก่อนบูรณะจากภาพถ่ายและจดหมายต่างๆ ในหอจดหมายเหตุจังหวัด เริ่มการบูรณะโดยมีสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ที่บูรณะบ้านหลวงราชไมตรีมาช่วยดูแล และตกแต่งภายในโดยมัณฑนากรประจำตระกูล ส่วนบริษัทจันทบูรรักษ์ดีคอยดูแลเรื่องเครื่องนุ่งห่มและการบริการ 

สิ่งสำคัญของการรีโนเวตบ้านหลังนี้ คือการทำให้บ้านจีนกั๊กกลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด ทั้งสัดส่วนอาคาร โครงสร้าง รายละเอียดสถาปัตยกรรมแบบจีน ไทย และฝรั่ง ในมุมต่างๆ โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นหลัก และใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมสมัยใหม่มาช่วยให้โครงสร้างแข็งแรง

“สภาพก่อนบูรณะของที่นี่หนักหนาสาหัสกว่าบ้านหลวงราชไมตรีมาก ตอนนั้นบ้านไม้ฝั่งริมน้ำมีแนวโน้มที่จะเอียงลงแม่น้ำ การบูรณะจึงต้องใช้เวลานานถึงสี่ปี ทั้งเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรม หาช่างที่เหมาะกับการบูรณะนั้นๆ”

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

บ้านหลังนี้เป็นอาคารเก่าที่ใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก สภาพก่อนการบูรณะ บริเวณกำแพงเหนือวงกบประตูมีรอยร้าว ผนังอิฐบางจุดเปื่อยยุ่ย จึงต้องกรีดผนังและเสริมเหล็กเข้าไปให้โครงสร้างแข็งแรง จากนั้นจึงกะเทาะปูนที่เปื่อยยุ่ยออกแล้วฉาบทับด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ด้วยฝีมือช่างปูนจากจังหวัดอยุธยาที่เรียกว่า ‘ฉาบปูนหมัก ขัดปูนตำ’ ที่ช่วยให้ผนังหายใจได้ และลดการสะสมความชื้นในผนังได้ดีกว่าการฉาบปูนสมัยใหม่ 

แถมขณะที่ศึกษาโครงสร้างยังขุดพบพื้นดินเดิมของบ้าน เสาแต่ละต้นจะมีครกหินรองด้านล่างสำหรับป้องกันปลวกและความชื้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวจีนโบราณ เจ้าของบ้านและสถาบันอาศรมศิลป์จึงตั้งใจไม่เทปูนทับ เพื่อเผยลักษณะอันหาได้ยากนี้ให้แขกทุกคนได้เห็น

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง
บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

ส่วนงานตกแต่งอย่างปูนปั้นและลายฉลุไม้ ลูกกรงเหล็กหล่อแบบฝรั่ง เชิงชายคาสังกะสีฉลุ และจั่วหลังคาที่ผุพัง ก็นำส่วนที่ยังคงสภาพดีไปหล่อเป็นพิมพ์และทำใหม่ให้เหมือนเก่าด้วยฝีมือช่างไม้จากอ่างทอง โดยวัสดุก่อสร้างประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์เป็นวัสดุเดิมที่นำไปปรุงแต่งใหม่ ชายคาสังกะสีฉลุซึ่งเป็นสังกะสียุคแรกที่นำเข้ามาในประเทศไทย จึงยังอยู่ในบ้านหลังนี้ ไม่มลายหายไปเช่นบ้านอื่น

“เจ้าของบ้านบอกว่า ถ้าหลวงอนุรักษ์พานิชหรือจีนกั๊กที่สร้างบ้านหลังนี้ฟื้นกลับมาได้อีกครั้งแล้วเห็นบ้านหลังนี้ ก็จะจำได้ว่านี่คือบ้านฉัน” พี่หมูบอกอย่างภูมิใจ

ฐิติศตวรรษที่ 21

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

หลังศึกษาการบูรณะบ้านหลังนี้จนถ้วนถี่ พี่หมูเริ่มแนะนำส่วนต่างๆ ของบ้านให้เราฟัง บ้านบุณยัษฐิติแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนอาคารเก๋งจีนด้านหน้ากับเรือนไม้ริมน้ำด้านหลัง แต่ครอบครัวบุณยัษฐิติอยากให้บ้านหลังนี้สร้างประโยชน์ต่อชุมชนมากที่สุด แทนที่จะสร้างห้องพักทั้งอาคารทั้งสองหลังเพื่อได้กำไรเยอะๆ กลับอุทิศอาคารเก๋งจีนด้านหน้าเป็นนิทรรศการจัดแสดงทั้ง 3 ชั้น 

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง
บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

ชั้นแรกบอกเล่าการบูรณะอาคารหลังนี้ ชั้นที่สองกล่าวถึงประวัติบ้านบุณยัษฐิติ อันมีรูปครอบครัวและข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ รวมถึงโต๊ะหมู่บูชาแบบจีนตั้งอยู่ หากตรงขึ้นไปยังชั้นสามผ่านบันไดชันอย่างโบราณ จะพบกาลานุกรมจันทบุรีที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองจันท์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนปัจจุบัน เทียบกับความเป็นไปของโลกและประเทศไทย โดยผู้จัดนิทรรศการคือนักประวัติศาสตร์อย่าง อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ

ถัดจากเก๋งจีนเป็นเรือนไม้ริมน้ำ ระหว่างกลางคือลานโล่งกว้างรับแสงแดด อันเป็นพื้นที่ซักล้างและทำอาหารของชาวจีนในอดีต ปัจจุบันเป็นพื้นที่เสิร์ฟอาหารท้องถิ่นให้แขกผู้เข้าพัก มีทั้งอาหารเช้าอย่างอเมริกัน ข้าวต้มจันทบูร ปาท่องโก๋ทานคู่กับน้ำจิ้มรสเด็ดอย่างชาวจันท์ เลือดหมูต้มเจ้วัลย์หลังโบสถ์คริสต์ และผักผลไม้สดจากตลาด ไม่เพียงเพื่อนำเสนอความเป็นจันทบุรีให้แขกผู้เข้าพักรู้จัก แต่ยังสนับสนุนร้านอาหารและกิจการท้องถิ่นของคนในชุมชนด้วย

ห้องตลาดล่าง

หลังเดินชมนิทรรศการทั้งหมดและพื้นที่ส่วนล่างเรียบร้อย ถึงเวลาที่พี่หมูจะพาเรากลับสู่ 150 ปีที่แล้วของบ้านเก๋งจีนหลังนี้ เริ่มจากห้องหนึ่งเดียวของบ้านที่อยู่ชั้นล่างซึ่งมีนามว่า ‘ตลาดล่าง’ เพื่อล้อกับส่วน ‘ตลาดล่าง’ ของถนนสุขาภิบาลที่บ้านตั้งอยู่

ด้วยความที่ห้องนี้นำเสนอความเป็นตลาดล่าง ภายในจึงตกแต่งให้ได้กลิ่นอายการค้าขายและข้าวปลาอาหาร ทั้งภาพหัวเตียงที่จับภาพพ่อค้าแม่ขายเอาไว้ กระทั่งกิมมิกสุดน่ารักที่เราอยากกรี๊ดทันทีที่เหลือบไปเห็น นั่นคือตู้เสื้อผ้าที่รองขาตู้ด้วยถ้วยเล็กๆ คล้ายตู้กับข้าวอย่างไทย

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

แม้จะอยู่ชั้นล่างที่พลุกพล่านผู้คน ก็ไม่ต้องตกใจว่าจะเสียความเป็นส่วนตัว เพราะเจ้าของบ้านออกแบบให้มีประตูกั้นถึง 2 ชั้น เพื่อไม่ให้เสียงคนเดินขวักไขว่รบกวนการพักผ่อน แถมระเบียงริมน้ำก็ไพรเวตสุดๆ เพราะแม้จะอยู่ระนาบเดียวกับระเบียงสาธารณะของร้านกาแฟในอาคารก็กั้นด้วยผนังปูนเรียบร้อย เงียบเชียบ โปร่งสบาย แถมได้วิวริมน้ำจันท์ฝั่งโบสถ์คริสต์คาทอลิกไปครอง

ห้องกำปั่น

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

ออกจากห้องตลาดล่างได้สักพัก พี่หมูพาเราชมห้องกำปั่นที่อยู่ระหว่างอาคารเก๋งจีนกับเรือนไม้ อันเป็นห้องเดียวที่ไม่มีระเบียงริมน้ำแต่ได้ความเก๋ไก๋อีกแบบ ทั้งหน้าต่างห้องที่เปิดรับแสงสว่างตรงลานซักล้างเก่า ทรงห้องที่ผสมผสานความเป็นเก๋งจีน แถมยังเป็นห้องที่สมัยก่อนนั้น เคยเชื่อมโยงกับส่วนชั้นสองที่จัดนิทรรศการของครอบครัว

และที่ได้ชื่อว่ากำปั่นและตกแต่งได้จีนสุดๆ ก็เพราะภายในห้องมีไฮไลต์อย่างกำปั่นเก็บสมบัติอายุกว่า 150 ปีแสนหนักอึ้ง ชนิดที่คนสองคนก็ยกไม่ไหวประดับอยู่นั่นเอง 

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

ห้องไพ่ตอง

ห้องถัดมาคือห้องไพ่ตอง เป็นห้องด้านขวาสุดของอาคารชั้นสอง ชื่อไพ่ตองนั้นมาจากไพ่ของชาวจีนที่คนไทยและจีนนิยมเล่นกัน กิมมิกของห้องนี้จึงคือลวดลายหมอนมุ้ง ผ้านุ่งห่ม กระทั่งห้องน้ำที่เป็นลายไพ่ตองสีขาวดำ 

เราขอยกให้เป็นห้องที่ดูโมเดิร์นที่สุดในบ้านหลังนี้ 

และเช่นเดียวกับห้องอื่นๆ ของบ้าน ยกเว้นห้องกำปั่น ห้องไพ่ตองก็มีวิวริมน้ำจันท์เหมือนกันนะ

ห้องเสื่อสานจันทบูร

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

ถัดมาที่ห้องที่ 4 ห้องเสื่อสานจันทบูร แอบกระซิบว่าเราชอบห้องนี้เป็นที่สุด เพราะแม้จะไม่ใหญ่โตมโหฬาร แต่น่ารักน่าอาศัย ภายในตกแต่งด้วยเสื่อกกพื้นเมืองของดีของเด็ดที่ใครมาก็ต้องซื้อเป็นของฝาก 

ทั้งตู้เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ กระทั่งพรมปูพื้น ก็ตกแต่งด้วยเสื่อสีละมุน 

ถ้าเรามีโอกาสเข้าพัก ก็อยากจะนอนดมกลิ่นกกที่คนจันท์ไม่ค่อยซื้อมาใช้ง่ายๆ เพราะราคาแพงโขเชียว

ห้องคุณหลวง

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

มาถึงห้องสุดท้ายอันเป็นห้องไฮไลต์ของบ้านบุณยัษฐิติ นั่นคือห้องคุณหลวง ตกแต่งด้วยภาพกรณีพิพาท รศ.112 ระหว่างจันทบุรีและฝรั่งเศส ซึ่งถ่ายถอดจากต้นฉบับหนังสือพิมพ์จริงที่เจ้าของบ้านเก็บไว้ แถมยังเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้แบบโบราณอย่างตู้และเตียงจากไม้เก่า เลียนแบบเฟอร์นิเจอร์เดิมของบ้านซึ่งเจ้าของนำไปใช้จริงที่กรุงเทพฯ

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

ความอลังการของห้องนี้คือ ระเบียงนอกชานที่เปิดให้ชมวิวริมน้ำจันท์ได้ทั้งฝั่งท่าหลวงทางซ้ายซึ่งฉายภาพเจดีย์วัดกลาง และฝั่งตลาดล่างที่เผยให้เห็นยอดโบสถ์คาทอลิกสวยงาม ตั้งตระหง่านมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสบุกยึดจันทบุรี 

ซึ่งวิวหลักล้านและสายลมพัดฉิวตรงนี้จะแบ่งปันกับแขกห้องเสื่อสานจันทบูร 

ไม่ต้องกังวลว่าจะหมดความเป็นส่วนตัว เพราะเลื่อนฉากตรงกลางได้ ส่วนใหญ่แขกมากันเป็นกลุ่มเพื่อนและครอบครัว มักจะสังสรรค์ร่วมกันทั้งยามตะวันทักทายและลาลับฟ้า ณ ระเบียงรับลมตรงนี้

บุณยัษฐิติ จากเก๋งจีน 150 ปีริมน้ำจันทบูร สู่มิวเซียมและบ้านพักที่ชุบชีวิตเมืองอีกครั้ง

หลังชมห้องทั้ง 5 อย่างละเอียดและศึกษานิทรรศการทั้ง 3 ชั้นอย่างลึกซึ้ง เราเชื่อเหลือเกินว่า บ้านบุณยัษฐิติหลังนี้ที่แต่ก่อนเป็นบ้านโทรมๆ ในสายตาเรา จะเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูริมน้ำจันทบูรให้กลับมาสง่างามได้จริงๆ 

บุณยัษฐิติ วิลล่า

ที่ตั้ง : 148 ถนนสุขาภิบาล ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี 22000 (แผนที่)

เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น.

โทรศัพท์ : 09 4858 0880

เว็บไซต์ : www.punyashthitivilla.com

Facebook : Punyashthiti villa บุณยัษฐิติ วิลล่า

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Photographers

Avatar

ปริญญา ชัยสิทธิ์

จบอักษรฯ ทำงานสายพัฒนา Digital platform - เชื่อว่าการมีอะไรที่ไม่สมบูรณ์แบบบ้าง เป็นเรื่องน่ารัก

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล