กิ๊ง-ธนิสรา เรืองเดช พาเรามานั่งรอที่โซฟารับแขก แดดส่องจากด้านนอกผ่านกระจกใสของออฟฟิศชั้น 6 บอกเวลาบ่ายคล้อยเย็น วันนี้เรามาอยู่ที่ Punch Up Studio ออฟฟิศเล็ก ๆ ในย่านบางรักที่ตอนนี้ทุกคนกำลังขะมักเขม้นกับการทำงาน ใช้เวลารอไม่นานกิ๊งก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับ ฝ้าย-ภัทชา ด้วงกลัด ในชุดสบาย ๆ ด้วยเสื้อยืดที่สกรีนชื่อทีม ‘Punch Up’

กิ๊งและฝ้าย คือสองผู้ก่อตั้งทีมนักเล่าเรื่องด้วยข้อมูล หรือ Data Storyteller โลกปัจจุบันที่สื่อออนไลน์มีบทบาทต่อชีวิตคนในสังคม และผู้คนก็รับข้อมูลข่าวสารปริมาณทุกวัน ทำให้เข้าใจแก่นของสารแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องสังคม เศรษฐกิจและการเมือง Punch Up จึงอยากลุกขึ้นมาจัดระเบียบข้อมูล แล้วนำสารเหล่านั้นมาสร้างเป็นเรื่องราวให้เข้าใจและเข้าถึงง่าย เพื่อให้คนในสังคมได้ติดอาวุธทางข้อมูล แล้วนำอาวุธเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อทั้งกับตัวเองและเป็นกระบอกเสียงในระดับสังคมได้

การสื่อสารด้วยข้อมูลจะสร้างสังคมดีได้อย่างไรพวกเธอมีคำตอบ

Punch Up กลุ่มแก้ปัญหาสังคมมุมใหม่ด้วย Data Storytelling ตั้งแต่การจราจร ถึงรัฐสภา

We – Build Up

กิ๊งและฝ้ายต่างใช้ชีวิตบนเส้นทางสายสื่อเหมือนกัน กิ๊งเคยทำนิตยสารแล้วขยับเข้ามาทำสื่อออนไลน์ที่ The MATTER และ Salmon ส่วนฝ้ายเคยทำสื่อโทรทัศน์ ก่อนเปลี่ยนมาทำสื่อออนไลน์ที่ The101.world และย้ายมาร่วมงานกับกิ๊งที่ Salmon

ตอนอยู่ Salmon ช่วงปลาย พ.ศ. 2561 พวกเธอร่วมกันทำโปรเจกต์ ELECT สื่อสารข้อมูลผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อมูลพรรคการเมือง พัฒนาการประชาธิปไตย และการเลือกตั้งของไทย เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สังคมก่อนเลือกตั้งจริงในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพราะสังคมไทยห่างเหินการเลือกตั้งมานาน และการเลือกตั้งมีความซับซ้อน รวมไปถึงมีผู้สมัครหน้าใหม่ พรรคการเมืองใหม่ ถ้าทุกคนมีความเข้าใจก็จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

กิ๊งเล่าว่าพวกเธอทำงานร่วมกับ Boonmee Lab ทีมเล็ก ๆ ที่อยากเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวด้วยข้อมูล ผ่านการทำ Data Visualization และ Data Journalism

“มันเป็นงานที่ทำแบบอาสาสมัคร มีหลายกลุ่มมาช่วยกันทำ พอเลือกตั้งผ่านไป เราพบว่าไอเดียนี้ดี ช่วงนั้นมีคนเข้ามาใช้งานและมาแชร์ข้อมูลเยอะมาก เราเลยเห็นว่านี่คือโอกาสที่ยังไม่มีคนทำในประเทศไทย ก็เลยลองชวนกันทำประเด็นอื่น”

การนำข้อมูลมาทำเป็นเรื่องราวให้เข้าใจง่ายด้วย Data Visualization เป็นสิ่งที่ยังใหม่สำหรับเมืองไทย

“ก็ไม่มีอุปสรรคอะไรนะ” ฝ้ายตอบพร้อมเสียงหัวเราะ จะบอกว่าไม่มีอุปสรรคเลยก็คงไม่ใช่ เพียงแต่เธอมีประสบการณ์จากการทำ ELECT มาก่อน จึงเห็นระบบและแนวทางของการทำงานกับข้อมูล ดังนั้น การเริ่มต้น Punch Up จึงไม่ใช่เรื่องยากนัก

“การทำงานในปีแรกคือทดลอง ทั้งประเด็น ข้อมูล เทคนิค วิธีการทำงาน รวมถึงการก่อตั้งทีมด้วย ยังมีพื้นที่ที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย”

แน่นอนว่าการเริ่มต้นของ Punch Up แม้จะไม่มีอุปสรรคที่ยากลำบาก แต่ทุกคนในทีมต้องเรียนรู้และเริ่มสิ่งใหม่ไปพร้อมกัน จากพื้นของตัวเองที่มีอยู่ในสาขาที่แตกต่างกันไป

ส่วนกิ๊งพบกับคำถามที่อยากก้าวข้ามมันไปให้ได้ เพื่อส่งต่อข้อมูลแก่สังคม

“พอต้องทำงานกับข้อมูลเยอะ ๆ ก็มีคำถามว่า จะมีสิ่งที่เราอยากได้ไหม เราจะได้สิ่งนั้นมาได้อย่างไร แล้วจะจัดการอย่างไรดี”

Punch Up กลุ่มแก้ปัญหาสังคมมุมใหม่ด้วย Data Storytelling ตั้งแต่การจราจร ถึงรัฐสภา
Punch Up กลุ่มแก้ปัญหาสังคมมุมใหม่ด้วย Data Storytelling ตั้งแต่การจราจร ถึงรัฐสภา

We – Change Up

ฝ้ายให้สถานะ Punch Up เป็นสตูดิโอคล้ายกับ Production House ทำงานกับพันธมิตรและลูกค้า แต่ไม่ได้ทำงานในเชิงการค้ามากเกินไป เพราะงานที่จะผลิตออกมา ทั้งทีมต้องเห็นร่วมกันว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจและให้ประโยชน์บางอย่างแก่คนในสังคม

ฝ้ายเล่าถึงแก่นในการเลือกทำงานว่า “ทีมสนใจเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกว้างมาก แก่นคือเราต้องคิดว่ามันมีคุณค่ามากพอที่จะลงแรงกับสิ่งนี้ ถ้าเป็นประเด็นที่มีความหมายกับคนในสังคม เราก็จะชวนมาทำด้วยกัน”

กิ๊งเสริมว่าสิ่งที่พวกเขาทำมีงานส่วน WeVis ที่อยากให้เป็น Non-commercial ภายใต้แนวคิด Data for Democracy

“WeVis ย่อมาจาก We visualize data for democracy เราอยากทำข้อมูลที่ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศนี้เพิ่มขึ้น อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน กฎหมาย งบประมาณ ใช้ข้อมูลในอีกแบบคือเป็นข้อมูล Civic Technology หรือเทคโนโลยีภาคประชาชน นำ Open Data มาใช้กับเทคโนโลยี เพื่อสร้างเครื่องมือสื่อสารที่คนมีส่วนร่วมพูดคุย ตั้งคำถามต่อ และเอาไปพัฒนาได้” เธอย้ำว่าการสร้างบทสนทนาในสังคมเป็นความตั้งใจและจุดประสงค์ของ Punch Up

ผลงานตลอดระยะเวลา 3 ปีของ Punch Up มีจำนวนกว่า 50 ชิ้น งานแต่ละชิ้นมีทั้งประเด็นเก่าที่คนเคยพูดถึงแต่ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจนหรือสร้างความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ และประเด็นใหม่ที่สังคมกำลังมองหาข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์

หลังจบงาน ELECT พวกเขาเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่เพียงแค่การเลือกตั้งเสร็จแล้วทุกอย่างก็จบไป พวกเขาจึงคิดโปรเจกต์ They Work For Us ขึ้นมา โดยได้แรงบันดาลใจจาก They Work For You ของประเทศอังกฤษที่ได้ทำมานานกว่า 20 ปีแล้ว สิ่งที่เขาทำคือ การรายงานผลการทำงานของนักการเมืองและพรรคการเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามผลงานจากนักการเมืองและพรรคที่ตัวเองลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไป

They Work For Us เป็นการรายงานผลการทำงานหลังเลือกตั้ ของนักการเมืองและพรรคการเมือง ประชาชนทุกคนติดตามผลงานเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากข้อมูลสรุปผลโหวตในการประชุมสภาและตรวจสอบนักการเมืองที่เข้า-ออกการการประชุมสภาแต่ละครั้งได้

“คำว่า They หมายถึง Member of Parliament คือคนที่อยู่ในสภาทั้งหลาย เช่นนักการเมืองที่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นการแสดงข้อมูลให้เห็นพวกเขาทำอะไรให้พวกเราบ้าง พอเลือกตั้งเสร็จ คนชอบมองว่าก็แค่รอเลือกตั้งใหม่ แต่เราในฐานะประชาชน มีสิทธิ์ส่งเสียงได้ว่า บางอย่างไม่ตรงตามที่เขาเคยบอกไว้ก่อนเลือกตั้งเลย ทำไมวันหนึ่งพวกเขากลายเป็นงูเห่า”

กิ๊งอธิบายต่อว่าชิ้นเป็นงานที่วางแบบและแผนการทำงานไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2562 แต่ปัจจุบันทั้งทีมก็ยังคอยอัปเดตข้อมูลให้ประชาชนติดตาม

“เราเห็นว่านักการเมืองเข้าออกสภาบ่อยยิ่งกว่า 7-Eleven เดี๋ยวคนนั้นออก เดี๋ยวคนนี้หาย ปีที่แล้วมีคนเข้ามาใช้งานเกือบ 2 แสน User แปลว่ามันเป็นสิ่งที่รัฐสภาควรทำ เพื่อรายงานผลประกอบการของตัวเอง เอาข้อมูลมาเปิดให้ทุกคนดู แต่ไม่เป็นไร ถ้าคุณไม่ทำ เดี๋ยวเราทำให้”

นักสื่อสารข้อมูลผู้เชื่อว่าเราเปลี่ยนประเทศได้ด้วยการนำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ ตั้งแต่เรื่องบนท้องถนนถึงในรัฐสภา

การทำงานในโปรเจกต์นี้สำหรับกิ๊งถือว่ายากพอสมควร เพราะต้องขอเอกสารจากรัฐสภา มีทั้งข้อมูลในรูปแบบ PDF และเอกสารแบบที่เขียนด้วยลายมือ การคัดเลือกและคัดลอกข้อมูลต้องใช้ทั้งพลังงานและเวลามหาศาล

ฝ้ายเสริมต่อเรื่องข้อมูลว่า ทีมได้เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาช่วยกรอกข้อมูลด้วย ซึ่งมีคนสนใจและเข้ามาช่วยแชร์ข้อมูลเยอะอย่างคาดไม่ถึง

“ทำให้เห็นว่าคนไทยกระหายข้อมูลและอยากมีส่วนร่วมในการสร้างข้อมูล การที่รัฐไม่มีข้อมูลให้ ไม่ได้แปลว่าประชาชนไม่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น”

หลักจาก They Work For Us ใน พ.ศ. 2562 พวกเขาเริ่มทำงานกับกลุ่มอื่น ๆ มากขึ้น อย่าง ‘Cyberbulling’ ที่ทำร่วมกับ dtac ในปี 2563 โดยยกประเด็นเรื่อง การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มาให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้ลองถาม-ตอบ ทั้งในฐานะที่ตัวเองเคยเป็นเหยื่อ หรือในฐานะที่เคยเป็นผู้กระทำ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนและสร้างความเข้าใจมากขึ้นว่า สังคมไทยมีการกลั่นแกล้งกันเรื่องแบบไหนบ้าง มีเหยื่ออยู่ในช่วงวัยใด หรือผู้กระทำการกลั่นแกล้งมักมีความสัมพันธ์ไหนกับเหยื่อ

พ.ศ.​ 2564 Punch Up ได้ร่วมงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการ โชคดี…ที่ได้เกิดเป็นคนไทย?’ พูดถึงปัญหาเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็ก เพราะน้อยคนจะรู้ว่าคนไทยไม่มีสวัสดิการของเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ขณะที่กลุ่มช่วงวัยอื่นในประเทศไทยได้รับสวัสดิการอุดหนุน และความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้หลายครอบครัวเดือดร้อนในการประคับประคองชีวิตให้อยู่รอด ฝ้ายเล่าว่า ถ้าเธอไม่ได้ทำโปรเจกต์นี้ เธอเองก็คงไม่ทราบเช่นกันว่าวัยเด็กเล็กไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ

“ประเทศนี้ไม่มีสวัสดิการที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตรอดพ้นในช่วงวัยนี้ได้ งานนี้จึงอยากผลักดันนโยบายว่าวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน เด็กทุกคนควรได้ 600 บาทถ้วนหน้าต่อเดือน อย่างน้อยก็เอาไว้ซื้อนม ซื้อของ ซึ่งต้องสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ด้วย สำหรับทีมเรามันท้าทายมาก เพราะคนรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่อยากมีและไม่คิดจะมีลูก เราต้องมาคิดว่าทำยังไงเขาจะสนใจเรื่องสวัสดิการเด็กเล็ก”

เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในงานชิ้นนี้ พวกเขาต้องสร้างข้อมูลที่สร้างสรรค์และเข้าใจง่าย การออกแบบ Data Visualization จึงออกมาเป็นรูปแบบที่ให้ผู้เข้าใช้เว็บไซต์เสี่ยงเซียมซี เพื่อเปรียบเปรยว่าชีวิตเลือกเกิดไม่ได้และความเหลื่อมล้ำมีตั้งแต่วัยแรกเกิด ต้องเสี่ยงดวงว่าชีวิตในวัยแรกเกิดจะต้องไปตกอยู่ในครอบครัวแบบไหน แล้วหลังจากนั้นชีวิตวัยแรกเกิดที่อยู่กับครอบครัวนั้นจะต้องเจอกับสิ่งใดบ้าง เป็นการจุดประเด็นชวนให้คนคิดและตั้งคำถามต่อ

Punch Up ยังมีงานที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองอย่าง ‘What’s On Shelf’ งานเชิง Culture Data เกิดจากการอยากลองคิดนอกกรอบของทั้งทีม โดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือในช่วงปี 2020 – 2021 ว่า มีแนวทางหรือคาแรกเตอร์อย่างไร หนังสือขายดีในแต่ละร้านเป็นหนังสือประเภทไหน หนังสือที่ผู้คนมักอ่านในช่วงปีนั้นคือประเภทใดบ้าง เป็นงานที่กิ๊งอยากให้คนได้เห็นว่า Punch Up ไม่ได้ทำแค่เรื่องการเมืองหรือสังคม

“ชิ้นนี้เป็นงานที่หลายคนไม่ค่อยทำ เพราะอาจจะไม่ใช่ปัญหาของใคร แต่พอทำออกมาแล้ว เราเห็นแนวโน้มบางอย่างที่อาจจะดีต่อคนในวงการหนังสือในอนาคต เห็นว่าหนังสือไทยจะกองไปทางไหน เรามองว่างาน Culture Data ข้อมูลไม่ต้องซีเรียสก็ได้ เพราะเราถูกมองว่าทำแต่เรื่องหนัก ๆ เท่านั้น แต่เราอยากทำเนื้อหาทั้งเรื่องหนักเรื่องเบา”

งานล่าสุดที่คนพูดถึงมากในปีนี้ คือ ‘Better Road Better Life’ ซึ่งทำร่วมกับสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) เสนอถึงความปลอดภัยและอุบัติเหตุบนท้องถนน พร้อมเสนอทางแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุเหล่านั้น ซึ่งคนไทยมักเคยชินกับวิธีแก้ปัญหาโดยการรณรงค์เมาไม่ขับ โทรไม่ขับ แชตไม่ขับ หรือ 7 วันอันตราย มักพุ่งประเด็นไปที่ความประมาทของคน ด้วยเหตุผลว่าคนในสังคมมีความประมาทขณะใช้รถ อุบัติเหตุบนท้องถนนจึงเกิดขึ้น แต่กิ๊งให้ความเห็นและมองในอีกมุมที่ต่างออกไป

“คนมักคิดว่าเพราะประมาทก็เลยเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส ความประมาทมีผลจริง แต่มันยังมีอีกมิติอื่นอีก Thailand Future มีผลการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า จริง ๆ แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคบนท้องถนน เช่น ทางม้าลายอยู่ถูกที่ไหม อุโมงค์อยู่ผิดที่หรือเปล่า สัญญาณไฟจราจร ป้ายเตือนต่าง ๆ หรือโค้งองศาของสะพานทำให้รถลื่นได้ง่ายหรือไม่ รวมถึงกฎกติกาที่ใช้ควบคุมดูแลได้จริง ๆ เหรอ แล้วการรณรงค์เมาไม่ขับแค่เฉพาะเทศกาลสงกรานต์กับปีใหม่ มันได้ผลจริงไหม เราก็ยังเชื่อว่าการไม่ประมาทก็ดีที่สุดอยู่แล้ว แต่เรามีความเชื่ออีกอย่างว่า คนเรามีสิทธิ์ผิดพลาดได้ Machine Error ยังมีเลย แล้วทำไม Human Error ทำไมจะมีไม่ได้”

Punch Up นำข้อมูลของ Thailand Future มาทำเป็น Visualization เพื่อให้เห็นว่าจุดที่เคยเกิดอุบัติเหตุช่วงวันหยุดประจำปี ถ้ามาศึกษาจุดนั้นในช่วงวันธรรมดาจะยังมีอุบัติเหตุอยู่หรือไม่ แล้วก็พบว่าอุบัติเหตุยังคงเกิดซ้ำอยู่ที่เดิม หากปักหมุดอุบัติเหตุคล้ายกับการหมุดบน GPS จะเห็นว่าหมุดสีแดงเหล่านั้นรวมใจกันไปปักที่เดียวกันซ้ำ ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ

“เราสรุปมันออกมา แล้วก็ทำให้คนแชร์ไปถึงการปกครองส่วนท้องถิ่นของตัวเอง ให้บอกเขาว่าหยุดเถอะ ต่อไปไม่ต้องผูกผ้า 7 สีหรือตั้งต้นไทร แต่ลองออกกติกา เปลี่ยนรูปแบบท้องถนนให้ดีขึ้นดีกว่า

“งานนี้เพิ่งทำเสร็จต้นปี แล้วก็มีวาระให้เห็นกันพอดีคือเรื่องของคุณหมอกระต่าย ประเด็นนี้เลยร้อนขึ้นมา ซึ่งมันไม่ควรร้อนขึ้นเพราะใครเสียชีวิต แต่มันควรร้อนทุกวัน เพราะคนเสียชีวิตมีแทบทุกวัน งานนี้ทำให้เรามีบทสนทนากับเรื่องเดิม ๆ ที่เคยพูดถึงพฤติกรรมของคน เมื่อมีปัญหามักแก้ด้วยความเชื่อก่อน แต่ไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่ป้องกันได้”

นักสื่อสารข้อมูลผู้เชื่อว่าเราเปลี่ยนประเทศได้ด้วยการนำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ ตั้งแต่เรื่องบนท้องถนนถึงในรัฐสภา

We – Don’t give up

เราคุยกันจนน้ำที่เคยปริ่มแก้วลดระดับลงเหลือครึ่งหนึ่ง งานเปี่ยมคุณภาพทั้ง 5 ชิ้น ทำให้เห็นว่าทุกงานผ่านการคิดมาอย่างดี เพื่อส่งต่อสารให้ไปถึงและสร้างบทสนทนากับคนในสังคม สิ่งเหล่านั้นย่อมแลกมาด้วยแรงกายแรงใจ

กิ๊งเล่าว่าสิ่งที่ช่วยเติมเต็ม Punch Up จากความเหนื่อยล้าเหล่านั้น คือการที่มีคนเข้ามาใช้งานจริงอย่างมหาศาล นั่นแปลว่างานของพวกเธอช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่นและเขานำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อได้

“เวลาคนพูดถึงเรา ว่าเราทำให้ข้อมูลที่มีอยู่เข้าใจง่ายขึ้นและเขาเอาข้อมูลนี้ไปคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง เกิดบทสนทนาที่เข้าใจกันบนพื้นฐานเหตุผล เรารู้สึกว่าเป็นฟีดแบ็กที่ดีมาก”

การทำข้อมูลให้ง่ายสำหรับ Punch Up ไม่ใช่การยกตัวเลขหรือสถิติมากมายมาใช้ ไม่มีกราฟที่เข้าถึงยาก แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลด้วยการคุยกันอย่างมีเหตุผล สร้างบทสนทนาถาม-ตอบ ที่เชื่อมต่อกับชีวิตจริงของผู้คน เสนอข้อมูลด้วยเหตุผลเพื่อสร้างความเข้าใจ และจุดประเด็นสนทนาใหม่ให้แก่สังคม นี่คือแก่นหลักของทีม Punch Up รวมถึงการทำให้โลกของวิชาการที่เต็มไปด้วยข้อมูลมีประโยชน์ เข้าถึงโลกของผู้อ่านได้ง่าย ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Data Storytelling พวกเธอเชื่อว่าหากผู้คนมีความเข้าใจถ่องแท้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาจะหยิบข้อมูลที่ได้ไตร่ตรองเหล่านั้นไปทำต่อ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการนำข้อมูลไปบอกต่อ หรือการออกไปเรียกร้องด้วยตัวเองก็ทำได้ กิ๊งทิ้งทวนถึงสิ่งที่อยากให้สังคมได้รับจากการโลกของข้อมูลที่พวกเธอทำ

“เราทำให้คนตั้งคำถามมากขึ้น แทนที่บางเรื่อง เมื่อเขารู้แล้วอาจจะจบทุกอย่างด้วยจุดฟูลสต็อป แต่ถ้าได้ดูงานของ Punch Up คุณจะกลับไปด้วยเครื่องหมายคำถาม เราจะรู้จักเหลือพื้นที่ไว้สำหรับการตั้งคำถามเสมอ การอยู่กับข้อมูลมันสอนเราให้เป็นแบบนั้น เพราะข้อมูลที่เยอะ ก็อาจไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมด”

“คนมักคิดว่างานของเรา ทำให้ใครสักคนต้องออกมาทำอะไรบางอย่าง หรือต้องเป็นเดือดเป็นร้อน แต่เราคิดว่า เราเป็นแค่ก้อนสารตั้งต้นที่มีเนื้อหา มีข้อมูลใส่มือให้คนได้ถือไปพูดต่อ สุดท้ายแล้วเรายังต้องการเครื่องขยายเสียงอย่างคนในสังคมอยู่ดี

“อีกแง่หนึ่งคือเราอยากทำให้คนเข้าใจและรู้สึกว่า ข้อมูลบางอย่างมันไม่ได้สูงส่งเลยสักนิด อีกสิ่งที่เราสร้างอิมแพคได้ คือการทำให้ข้อมูลสำหรับใครบางคน ไม่เป็นข้อมูลสูงส่งไกลตัวสำหรับใครหลาย ๆ คนอีกต่อไป”

นักสื่อสารข้อมูลผู้เชื่อว่าเราเปลี่ยนประเทศได้ด้วยการนำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ ตั้งแต่เรื่องบนท้องถนนถึงในรัฐสภา

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน