เวลาเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก หมาแมวบาดเจ็บ และอีกหลายกรณีที่น่าเห็นใจ สิ่งแรกที่เกิดกับคนส่วนใหญ่คือ อยากจะช่วย แต่หลายครั้งที่ความอยากนั้นไม่ได้กลายเป็นการลงมือทำสักที
สาเหตุหลักข้อหนึ่งคือ คนจำนวนมากเคยชินกับการเดินทางไปมอบเงินหรือของด้วยตัวเองที่มูลนิธิ เพราะกลัวโดนมิจฉาชีพหลอก สุดท้ายก็รอหาเวลาว่าง รอไปรอมาจนไม่ได้ช่วยสักที
ปันบุญ คือเว็บไซต์ที่ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb จัดทำขึ้น เพื่อเป็นช่องทางที่น่าเชื่อถือให้เราบริจาคเงินแบบง่ายๆ ให้องค์กรการกุศลกว่า 70 แห่ง

ในการจะสื่อสารให้คนทั่วไปรับรู้ถึงช่องทางนี้ ttb จึงชวนเอเจนซี่โฆษณาอย่าง ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ มาช่วย จนเกิดเป็นแคมเปญ #PunboonForChange เพื่อบอกให้พี่น้องชาวไทยเห็นว่าการช่วยเหลือทุกความยากลำบากนั้นทำได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอวันว่างหรือวันพิเศษ ขอแค่คุณกล้าเปลี่ยน
จะทำยังไงให้หนังโฆษณางบประมาณ 2,220,000 บาท เรื่องนี้ ก่อให้เกิดการบริจาคเงินผ่านปันบุญมากกว่างบที่ลงไป
ชูใจฯ ตัดสินใจเอาเงินทั้งหมดที่ได้รับบริจาคให้ปันบุญ แล้วทำหนังโฆษณาราคา 0 บาท ดังนั้น แค่มีคนทั่วไปเห็นหนังโฆษณาเรื่องนี้แล้วกดบริจาคเงิน พวกเขาก็ทำสำเร็จแล้ว
แล้วเขาจะทำหนังโฆษณาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ยังไง ลองดูหนังโฆษณาเรื่องนี้ แล้วไปฟังเบื้องหลังวิธีคิดกัน
เมื่อธนาคารอยากช่วยสังคม
“ปันบุญไม่ใช่แค่เว็บไซต์ที่มีมูลนิธิให้คนเลือกบริจาคอย่างเดียว แต่เป็น Total Foundation Solution ที่ช่วยมูลนิธิ ที่มีกำลังคนน้อยและมีปัญหาเรื่องการระดมทุน ให้มีระบบจัดการเอกสาร และการบริหารรายรับ-รายจ่ายดีขึ้น เพราะสิ่งที่ ttb มองเห็น คือมูลนิธิเหล่านั้นไม่ได้ถูกรับการช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่เขาก็อยากช่วยเหลือสังคมไม่แพ้องค์กรใหญ่ๆ”
คุณพรรณวลัย อินทราพิเชฐ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารการตลาดลูกค้าธุรกิจ ของ ttb พูดถึงเว็บไซต์การกุศลที่เกิดขึ้นจากมือของธนาคาร

ttb ยึดหลักการเปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น โดย ttb มองว่าองค์กรการกุศลจำนวนมากที่ทำหน้าที่สร้างความการเปลี่ยนแปลง ผู้เป็นตัวแทนของผู้คนเข้าไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก กำลังมีปัญหาด้านการระดมทุน ซึ่งไม่ค่อยมีคนเข้ามาช่วยเหลือ ttb จึงสร้าง ‘ปันบุญ’ ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้
ในหน้าเว็บไซต์ punboon.org แบ่งองค์กรการกุศลกว่า 70 องค์กรออกเป็นหมวดหมู่ตามงานที่ทำ เช่น เด็ก สตรี การศึกษา ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้บริโภค โบราณสถาน รวมไปถึงสัตว์ป่าและธรรมชาติ มีการให้ข้อมูลของทุกองค์กรพร้อมช่องทางการบริจาค โดยที่องค์กรต่างๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

การบริจาคก็ทำได้ง่ายและหลายช่องทาง เช่น กดโอนเงินผ่านระบบ E-banking ของทุกธนาคารในโทรศัพท์มือถือ หรือจะใช้การสแกน QR Code ก็ได้ แล้วก็ยังทำได้ผ่านการใช้บัตรเครดิตและ Rabbit LINE Pay เรียกว่าพร้อมบริจาคได้ทุกที่ทุกเวลา
คุณพรรณวลัยเล่าว่า “เงินทุกบาทที่เราบริจาคจะถูกส่งตรงสู่มูลนิธิ ซึ่งรับประกันความน่าเชื่อถือด้วยชื่อเสียงของธนาคาร ttb เราเข้าเว็บไปบริจาคได้ทุกวันโดยไม่ต้องรอวาระสำคัญใดๆ บางวันตื่นมาอยากทำบุญก็เข้าไปโอนเงินร้อยสองร้อยบาทก็ได้ เราอยากให้คนไทยรู้จักและเปิดใจ ก็เลยชวนชูใจฯ เข้ามาช่วยสื่อสารเรื่องนี้”

ชูใจฯ กะ ปันบุญ
ชูใจ กะ กัลยาณมิตร คือครีเอทีฟเอเจนซี่ที่ปันบุญอยากเป็นกัลยาณมิตรด้วย
ถ้าไม่ใช่ชูใจฯ ก็จะไม่หากัลยาณมิตรอื่นมาช่วยเรื่องนี้
คุณพรรณวลัยเล่าว่า ttb อยากทำวิดีโอสักตัวที่แชร์ออกไปแล้วปันบุญจะเป็นที่รู้จัก เพื่อให้ทุกมูลนิธิในเว็บไซต์ได้รับเงินบริจาคมากขึ้น ชื่อแรกที่เธอนึกถึงคือ คุณเม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของชูใจฯ เพราะเขาให้ความสำคัญกับองค์กรสาธารณกุศล ทำผลงานด้านนี้มาหลายชิ้น และอยากช่วยคนยากลำบากเหมือนกัน

เมื่อคนคอเดียวกันมาเจอกัน จึงเกิดโจทย์แรกที่ ttb มอบให้ชูใจฯ
“พี่มีเงินให้สองล้านสองแสนสองหมื่นบาท สิ่งที่พี่อยากได้คือ ทำยังไงก็ได้ให้มูลนิธิที่อยู่ในปันบุญทั้งหมดได้รับเงินบริจาค วิดีโอไม่ต้องเลิศหรูก็ได้ พี่มีงบเท่านี้ จะทำยังไงก็ได้” คุณพรรณวลัยเล่าถึงบรีฟแรก
เม้งหายไป 2 อาทิตย์ แล้วกลับมาพร้อมคำตอบที่ทำให้เธอมั่นใจว่าเลือกคนไม่ผิด เพราะเม้งเอาเงินทั้งหมดมาคืนแล้วบอกเธอว่า
“พี่มีเท่านี้ ผมก็มีให้พี่เท่านี้ พี่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม งั้นผมขอเปลี่ยนก่อนเลย ผมไม่ทำหนังแล้ว ผมจะเอาเงินทั้งหมดนี้คืนให้ปันบุญ เพื่อจะบอกว่าการเปลี่ยนเริ่มต้นที่ตัวเรา เริ่มต้นที่เพื่อนพี่คนแรกก็คือผม”
ตีโจทย์ให้ขาด
เม้งคิดอะไรถึงขายงานแบบนั้นกลับไป จนทำให้คุณพรรณวลัยร้องว้าว
“ตอนแรกจะไม่ทำด้วย” เม้งหัวเราะ “เพราะมันยาก”
ยากตรงผลลัพธ์ที่ต้องทำให้มีคนบริจาคเยอะๆ เพราะไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าจะมีคนบริจาคมากกว่าเงิน 2,220,000 บาท ที่ลงไป ขนาดวิดีโอที่เคยทำดังจนดังเป็นไวรัล ยอดบริจาคยังได้ไม่ถึงเป้า ถ้าทำไปแล้วได้เงินกลับมาแค่ล้านเดียว จะทำไปทำไม
“ความจริงมันก็ตลกนะ เป้าหมายของเราคือ อยากทำประโยชน์ อยากช่วยมูลนิธิ แต่เราเอาเงินไปเสียกับค่าโปรดักชันเยอะกว่าคนที่เข้ามาบริจาค ผมก็นั่งคุยกับเพื่อนแบบกำปั้นทุบดินว่า กูเอาเงินสองล้านไปบริจาคคืนเขา เขายังได้เยอะกว่าทำหนังอีก”
เม้งเล่าวิธีคิดที่หลายคนมองว่าประหลาด แต่พวกเขามองว่าเป็นการทำบุญ ที่ผ่านมาชูใจฯ ทำบุญผ่านโครงการแบบนี้เสมอ เพราะอยากช่วยให้สังคมดีขึ้น แต่นี่ยังไม่ใช่ความคิดแรกที่เขาจะเสนอกับ ttb

ช่วงแรก เขานั่งระดมความคิดกับทีมว่า วิดีโอของปันบุญจะพูดกับสังคมแบบไหนให้คนอยากทำบุญ ทั้งคนที่ไม่มีโอกาสทำบุญ คนเมืองที่ยุ่งมาก หรือคนที่ชอบบ่นแต่ไม่ทำ เขาคิดแนวทางของหนังได้ 5 แบบ แต่สุดท้าย สงสัยว่ามันจะเวิร์กจริงหรือ เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำแคมเปญรับบริจาคเงิน ถึงจะได้ออกสื่อมากมาย แต่กลับได้เงินไม่มากนัก เขากลัวจะเกิดเหตุการณ์จะซ้ำรอยเดิม จึงเปลี่ยนแผน
“จากที่เราเคยทำหนังโฆษณามา เราอาจจะได้เงินบริจาคหรือไม่ได้ก็ได้ เราเลยคิดว่าจะทำยังไงดีให้มูลนิธิได้เงินจากเราแน่ๆ แบบไม่ต้องลุ้น เราก็เลยเลือกวิธีใหม่ เอาเงินทั้งหมดไปบริจาคให้ทุกองค์กร องค์กรละสามหมื่นบาท แต่เราก็ต้องรับผิดชอบกับลูกค้าด้วย เพราะถ้าบริจาคอย่างเดียวเขาคงงงว่าจะมาจ้างเราทำไม เราก็เลยทำหนังเหมือนเดิม แต่เป็นหนังที่ใช้งบโปรดักชันศูนย์บาท” เม้งเล่าถึงเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้
กระบวนการที่บ้าบิ่น แต่อิ่มใจ
เมื่อเสนอความคิดนี้กับ ttb แล้วผ่าน เม้งรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะถ้าเลือกทำหนังแล้วยังต้องหาเงินบริจาคให้ได้เกิน 2 ล้านบาท เขาคงเครียดมาก แต่ตอนนี้ยังไงยอดเงินบริจาคก็เกินแน่ๆ
เม้งเริ่มทำงานนี้เหมือนหนังโฆษณาทั่วไป คือโทรไปชวนผู้กำกับ (รอบนี้เป็น พี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง) โปรดิวเซอร์ คนทำเสียง ตากล้อง นักแสดง ฯลฯ แต่สิ่งที่ต่างไปคือเขาโทรไปบรีฟว่า


“ผมกำลังทำสิ่งนี้อยู่ อยากให้พี่ต้อมมากำกับให้หน่อย แต่วิธีกำกับของพี่ง่ายๆ เลย คือกดมือถือแล้วโอนเงินเข้ามูลนิธิ จบ เสร็จงาน งานพี่สั้นมาก ไม่กินแรงใคร”

เขาโทรไปชวนทุกคนด้วยประโยคลักษณะนี้ ไม่ว่าจะกี่คนก็ตอบตกลง เพราะไม่มีใครเสียเวลากับเรื่องนี้เลย คนวาดสตอรี่บอร์ดก็ไม่ต้องวาด ตากล้องก็ไม่ต้องถ่าย แถมได้ร่วมบุญจากเงินที่เป็นค่าตัวในส่วนของเขา เขาแบ่งค่าตัวจากงบประมาณที่ได้มาจ่ายให้แต่ละฝ่ายตามความเป็นจริง และให้ทีมงานเหล่านั้นโอนเงินเข้าบัญชีมูลนิธิในเว็บปันบุญตามที่แต่ละคนสนใจ บางคนโอนให้เรื่องเด็ก บางคนโอนให้คนพิการ หรือบางคนก็โอนให้หน่วยกู้ภัย (The Cloud ก็โอนให้มูลนิธิรักษ์ไทยกับโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ในฐานะพื้นที่สื่อ)


เม้งขอแวะไปหาทีมงานทุกคนเพื่อเอากล้องหรือโทรศัพท์มือถือไปถ่ายคลิปง่ายๆ ว่าพวกเขาโอนเงินจริงๆ นะ แล้วก็เอากลับมาตัดต่อด้วยโปรแกรมธรรมดาๆ จะได้ไม่เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม

สังคมเปลี่ยนได้ แม้คุณไม่มีเวลา
เม้งพูดถึงสิ่งที่เขาได้รับจากงานนี้ว่า ไม่ใช่แค่ตัวเขาคนเดียวที่ได้ แต่ได้ทั้งออฟฟิศ เพราะทุกคนช่วยกันคิดช่วยกันทำได้ประโยชน์พร้อมกัน ถึงจะไม่ได้เงิน แต่ก็ไม่ได้เสียอะไร อย่างน้อยก็ได้ช่วยบริจาคเงินเป็นล้าน น่าจะทำให้สังคมดีขึ้นได้

“ผมกลับมาคิดถึงความรู้สึกของวันแรกที่อยากช่วยเหลือมูลนิธิ แล้วถามตัวเองว่ามูลนิธิจะได้ประโยชน์จากงานที่เราทำจริงไหม จะเป็นหนังที่รับเงินแล้วคนก็ลืมมันไปอย่างนั้นหรอ การเอาเงินมาบริจาคแทนการทำหนังเห็นผลดีที่สุด ผมเลยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่คิดว่าการทำแบบนี้ก็เหมือนได้ทำแทนเงินที่เรารอในอนาคตแล้ว ในฐานะนักโฆษณา ผมชอบบอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี บางครั้งคนที่ทำงานรณรงค์งดสูบบุหรี่ แต่คนทำงานจริงๆ บางคนอาจจะทำสูบบุหรี่ก็ได้ เพราะฉะนั้น ทีมงานทุกคนในชูใจฯ ก็ควรทำให้คนอื่นเห็นก่อนว่าเราบริจาคจริงๆ” เม้งทิ้งท้าย
ความตั้งใจที่ทางชูใจฯ และ ttb มีทำร่วมกัน คือต้องการให้คนเข้าไปร่วมบริจาคเงินเยอะๆ แม้ทั้งสองฝ่ายจะไม่ได้อะไรจากตรงนั้น แต่คนที่ได้แน่ๆ คือมูลนิธิที่พร้อมจะช่วยเหลือทุกความยากลำบากในสังคม
เมื่อมีช่องทางดีๆ เป็นสะพานเชื่อมในการยื่นมือไปช่วยได้แล้ว แม้เวลาของแต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน แต่เราเชื่อว่าทุกคนทำให้อีกหลายชีวิตมีความสุขที่ยิ่งใหญ่ได้เสมอ
หรือคุณว่าไม่จริง
Creative Team : ชูใจ กะ กัลยาณมิตร
ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์
ปัณณวิชณ์ แซ่โง้ว
อารัมภ์ ศรีสมาน
AE Team : ชูใจ กะ กัลยาณมิตร
ณัฐวัฒน์ ขันโททอง
ภัทรภร ศรีถาวร
ภาพ : ชูใจ กะ กัลยาณมิตร