เสียงฉึบฉับสลับกับเสียงพูดคุยยิ้มหัว ฝักเขียวลูกอวบถูกจัดแจงปอกเปลือกและหั่นท่อนโยนลงตะกร้าล้างผักสีฉูดฉาด เบื้องหลังพ่อครัว แม่ครัว และลูกมืออาสา เป็นชั้นวางของที่มีขบวนฝักเขียวปนมะละกอ นอนเรียงซ้อนยึดครองช่องว่างทั่วทั้งชั้น

เหล่านี้คือผักผลไม้บางส่วนซึ่งเดินทางมาถึงร้านสนิมทุนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน กองพะเนินบนท้ายกระบะคันแกร่งส่งตรงจากท้องไร่หมุนเวียนของเกษรกรหมู่บ้านแม่หมีและแม่ต๋อม จังหวัดลำปาง ชุมชนที่มีผลิตผลเพียงพอเอื้อเฟื้อแบ่งปัน อีกส่วนมาจากชุมชนกะเบอะดิน จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ กอปรกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 บีบบังคับให้จำต้องปิดหมู่บ้าน ทุกคนจึงยินดีแลกเปลี่ยนสินทรัพย์บนผืนดินทำกินกับเกลือ เครื่องปรุงรส ที่ต้องการมากสุดในยามนี้

ปั๋นอิ่ม อาสาสมัครภาคเหนือที่สร้างโมเดลแบ่งปันอาหาร กลไกแลกกันเพื่อปากท้องยั่งยืน
ปั๋นอิ่ม อาสาสมัครภาคเหนือที่สร้างโมเดลแบ่งปันอาหาร กลไกแลกกันเพื่อปากท้องยั่งยืน

แม้พืชผลที่หอบหิ้วมาจนเต็ม 2 คันรถอาจไม่ได้มีมูลค่ามากมายเท่าใดนักในมุมของผู้ให้ แต่สำหรับ ‘ปั๋นอิ่ม’ นี่คือสิ่งมีค่าและความหมาย ซึ่งกำลังจะกลายไปเป็นอาหารช่วยเหลือหลายชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ยากลำบากจากโควิด-19 ในเมืองเชียงใหม่

มองผิวเผิน ภารกิจของอาสาสมัครเล็กๆ กลุ่มนี้ อาจดูคล้ายกับผู้คนอีกมากมายที่ลุกขึ้นมาแจกอาหารปันน้ำใจในช่วงเกิดภาวะวิกฤต แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างคือ แนวทางการหยิบยื่นอันเน้นย้ำเรื่อง การไม่แจกฟรีและไม่ขอรับบริจาค 

ทว่าให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนแบ่งปันอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างกลไกระบบหมุนเวียนอาหารสำหรับรับมือภาวะวิกฤต พร้อมเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภคบนพื้นฐานของความเข้าใจ โดยมีปลายทางคือความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

ปั๋นอิ่ม อาสาสมัครภาคเหนือที่สร้างโมเดลแบ่งปันอาหาร กลไกแลกกันเพื่อปากท้องยั่งยืน

ปั๋นหา

ผมมาถึงร้านสนิมทุนตามนัดหมายในเวลาบ่ายคล้อย ที่นี่คือพื้นที่ที่กลุ่มปั๋นอิ่มปักหมุดเป็นจุดรวบรวมวัตถุดิบจากชุมชน ครัวกลางสำหรับแปรรูปอาหาร เปิดแผงจำหน่ายพืชผักราคาถูก และก่อนนั้น เอ็น-นันทชาติ หนูศรีแก้ว เจ้าที่หน้ามูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย หนึ่งในโต้โผหลักของกลุ่มเล่าว่า ยังเคยอาศัยใช้เป็นสถานผลิตอาหารแจกจ่ายพี่น้องคนไร้บ้านเชียงใหม่ บริเวณกาดหลวง ช้างเผือก และท่าแพ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์กิจการร้านค้า ซึ่งพลอยให้ขาดรายได้และเข้าถึงอาหารยากลำบาก ปรากฏว่าไม่ได้มีแค่คนไร้บ้าน ทว่ายังมีบรรดาแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ผู้อยู่อาศัยในห้องเช่าราคาถูกและชุมชนแออัด มารับบริการด้วย

จุดนี้เองเป็นเสมือนการเริ่มตั้งไข่ปั๋นอิ่ม โดยการลงขันความคิดของคนหลากสาขาอาชีพ ตั้งแต่นักพัฒนาสังคม นักเคลื่อนไหวด้านความมั่นคงทางอาหารท้องถิ่น ผู้ประกอบการ อาจารย์ นักศึกษา รวมทั้งอาสาสมัครรุ่นใหม่ ผู้ตระหนักถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต ซึ่งขยับขยายใหญ่และใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น

“เมื่อก่อนเวลาพูดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เราจะนึกถึงการเข้าถึงอาหารที่ดี ปลอดภัย ในราคาเป็นธรรม แต่สถานการณ์ตอนนี้มันไม่ใช่ เพราะคนเริ่มไม่มีจะกินกันแล้ว ความหมายของความมั่นคงจึงหมายถึงการมีกินในแต่ละวันจริงๆ” อู๊ด-ชวิศา อุตตะมัง นักเคลื่อนไหวด้านความมั่นคงทางอาหารท้องถิ่นและแม่ครัวปั๋นอิ่ม ขยายมุมมองด้านความมั่นคงทางอาหารยุคโควิด-19

ปั๋นอิ่ม อาสาสมัครภาคเหนือที่สร้างโมเดลแบ่งปันอาหาร กลไกแลกกันเพื่อปากท้องยั่งยืน
ปั๋นอิ่ม อาสาสมัครภาคเหนือที่สร้างโมเดลแบ่งปันอาหาร กลไกแลกกันเพื่อปากท้องยั่งยืน

ประจวบเหมาะกับทางมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งทำงานกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่สูง กำลังมีแผนช่วยเหลือปัญหาปากท้องของคนในเมือง ทั้งหมดจึงรวมตัวกันสร้างสรรค์ ‘กลไกระบบหมุนเวียนอาหาร’ โดยทางกลุ่มจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมประสาน แลกวัตถุดิบ และส่งต่ออาหาร ระหว่างเกษตรกรที่อยากแบ่งปันหรือได้รับผลกระทบจากกรณีผลิตผลล้นตลาด กับผู้บริโภคในเมืองที่ขาดแคลนอาหาร 

ควบคู่กับพยายามสร้างกลไกเชื่อมโยงทั้งสองฝ่าย ให้แลกเปลี่ยนความช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้โดยตรง เพื่อจุดประกายโมเดลความร่วมมือสำหรับเตรียมพร้อมรับวิกฤตการณ์วันข้างหน้า ตลอดจนต่อยอดสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคต โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การไม่แจกและไม่ขอรับบริจาคเช่นผ่านมา

“แนวคิดของปั๋นอิ่มคือการแลกเปลี่ยน โอเค โควิด-19 รอบแรกเราอาจจะเห็นว่าคนยังพอมี สามารถบริจาคได้ แต่ถึงตอนนี้ คนที่พอจะช่วยบริจาคก็ลำบากไปตามๆ กัน เห็นได้ชัดเลยว่าจำนวนการบริจาคลดลง เพราะมันไม่ใช่แค่วิกฤตโควิด แต่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ สาเหตุที่เราไม่มองไปที่การให้เปล่า เนื่องจากเราพยายามทลายการสังคมสงเคราะห์ เพราะมันไปต่อไม่ได้ เช่น พอเกิดวิกฤตทีหนึ่งก็ระดมกันทีหนึ่งแล้วจบไป ดังนั้น เราจึงเลือกการแลกเปลี่ยน มีเยอะ มีน้อย หรือไม่มี ก็ใช้อย่างอื่นแลกเปลี่ยนได้ เพื่อให้เกิดเป็นกลไกที่ยั่งยืน” โจ้-อนุชา ตาดี ทีมสื่อปั๋นอิ่ม อธิบายแนวทางของกลุ่มอย่างชัดถ้อยชัดคำ

พลัน อาจารย์ฮาย-อาจารย์ ดร.ปิยะมาศ ใจไฝ่ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รับบทบาทแม่ครัวปั๋นอิ่มนอกชั่วโมงสอน ช่วยเพิ่มเติมว่า “อีกอย่าง การแจกมันไม่ตอบโจทย์ที่เราต้องการ คือเราอยากให้ทุกคนเข้าถึงอาหารอย่างมีศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจด้วย”

ปั๋นคัว

สัปดาห์ละครั้งที่ครัวปั๋นอิ่มจะได้รับพืชผักผลไม้นานาชนิด ซึ่งเก็บเกี่ยวจากท้องไร่ของเกษตรกรพื้นที่สูง โดยผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนภารกิจอันถือว่ามีความสำคัญลำดับต้นๆ นี้ เรียกว่า ‘ทีมต้นน้ำ’

เมย์-เมษยา เสมอเชื้อ สมาชิกทีมต้นน้ำเล่าว่า ด้วยความที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ หน่วยงานที่เธอสังกัดอยู่ทำงานร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งมีเครือข่ายเกษตรกร 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เธอจึงอาสารับประสานงานกับชุมชนที่พร้อมแบ่งปันผลผลิต และเข้าใจในแนวคิดของกลุ่มปั๋นอิ่ม ต่อมาทางทีมจะสำรวจความต้องการของเกษตรกร ก่อนออกเดินทางนำข้าวของนั้นๆ ไปแลกเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบ โดย ณ วันนี้ พวกเขาทำสำเร็จลุล่วงไปแล้วกว่า 17 ชุมชน ภายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน และตาก

ปั๋นอิ่ม อาสาสมัครภาคเหนือที่สร้างโมเดลแบ่งปันอาหาร กลไกแลกกันเพื่อปากท้องยั่งยืน
ปั๋นอิ่ม อาสาสมัครภาคเหนือที่สร้างโมเดลแบ่งปันอาหาร กลไกแลกกันเพื่อปากท้องยั่งยืน

“ที่ผ่านมาเราเอาแมสก์ เอาเจลแอลกอฮอล์ขึ้นไปแลก แต่ก็มีบางชุมชนต้องการเกลือมากกว่า เพราะเขาปิดหมู่บ้านอยู่แล้ว จึงไม่ห่วงเรื่องโควิด-19 เท่าไหร่ ซึ่งทางเราก็จะประสานกับเครือข่ายที่ผลิตเกลือทางภาคใต้ เพื่อซื้อหาไปให้ตามตกลง หรือล่าสุดเราขนมุ้งจำนวนสองร้อยยี่สิบสองหลัง ไปแลกเปลี่ยนกับวัตถุดิบของชุมชนในอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะทราบมาว่า ช่วงนี้ไข้เลือดออกระบาดหนัก และมุ้งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่เขาต้องการอย่างเร่งด่วน

บางที่แลกเกลือ บางที่ก็แลกมุ้ง แล้วเรากำหนดยังไงให้การแลกเปลี่ยนมันคุ้มค่า-ผมสงสัย

“พวกเรามองว่าความจำเป็นคือคุณค่าที่เขาควรได้รับ และเราจะพยายามหามาให้ได้มากที่สุด เพราะผลผลิตที่ทางชุมชนให้มาก็จำเป็นสำหรับเราเช่นกัน ซึ่งเขาไม่ได้คิดมูลค่าด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงไม่มีการกำหนดว่าจะต้องแลกกับวัตถุดิบอะไร ปริมาณเท่าไหร่ เราให้เขาจัดสรรตามต้นทุนที่มีเลย” อาจารย์ฮาย ตอบ

“ทีมต้นน้ำของเราไปกันถึงอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มันไกลก็จริงนะ แต่เราไม่ได้คิดเรื่องมูลค่า เพราะมองเรื่องคุณค่าของการไปได้เยี่ยมเยียนกัน ที่นี่เราก็เอามุ้งไปแลกข้าวสาร หน่อไม้ กับมะละกอ แล้วได้มาเยอะมาก จนสัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกค้าปั๋นอิ่มเจอแต่เมนูแกงส้มมะละกอ ทอดมะละกอ ผัดมะละกอ” อู๊ดปล่อยหัวเราะ

“ถ้านึ่งขายได้นี่นึ่งขายไปแล้ว” โจ้ฉวยจังหวะแซวเล่นเอาทุกคนหัวร่องอหาย ก่อนเอ็นจะกล่าวสรุปความตั้งใจของกลุ่มว่า เหนือกว่ามูลค่า คือการได้เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน

ปั๋นอิ่ม

“วันนี้รับอาหารไหม” เสียงใครบางคนทักทายลูกค้าอย่างสนิทสนม

“มีอะไรกินบ้างนี่” ไม่ทันรอฟังคำตอบ ชายหนุ่มผิวเข้มก็สัพยอกเมื่อแลเห็นของที่พูนกองอยู่เต็มตะกร้า “ฟักอีกแล้ว โธ่ กินจนหน้าจะเป็นฟักอยู่แล้ว” ฉับพลันบรรยากาศขะมักเขม้นก็แปรเปลี่ยนเป็นครื้นเครงด้วยมุกขำขันของลูกค้า

“กินอะไรก็ได้ เราสั่งเพราะแนวคิดคุณมันโอเค” มีลูกค้ารายหนึ่งเคยกล่าวกับโจ้ไว้เช่นนี้ และคงจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่ชายผิวเข้มหิ้วเมนูจากวัตถุดิบเดิมๆ กลับไปกินอยู่เป็นประจำ

เที่ยงวันจันทร์ผมแวะมาสนิมทุนอีกครั้ง อาจารย์ฮายประจำการอยู่หน้าโต๊ะตัวที่เราล้อมวงคุยกันวันก่อน ซึ่งบัดนี้เปลี่ยนเป็นมุมทำงานของทีมครัว หลังจากทักทายกัน เธอก็หันกลับไปเร่งมือตระเตรียมวัตถุดิบ ก่อนต้องปลีกตัวไปสอนออนไลน์ต่อในเวลาบ่าย 2 โมงครึ่ง อีกมุมหนึ่ง อู๊ดกำลังสาละวนอยู่กับการเคี่ยวหัวกะทิกับเครื่องแกง เพื่อนำมารังสรรค์เมนูเด็ดประจำวัน อย่างแกงกะทิฟักเขียวไก่ ฟักเขียวผัดไข่น้ำมันหอย และต้มจืดหน่อไม้ซี่โครงหมู

ทันทีที่รับวัตถุดิบจากทีมต้นน้ำ ก็ถึงคิวบรรเลงของทีมครัว เริ่มจากการแบ่งสันปันส่วนสำหรับแจกจ่ายในรูปแบบของวัตถุดิบสด คัดวางขายในราคา 5 – 10 บาท และเก็บไว้ทำอาหาร จากนั้นทุกคนจะช่วยกันออกแบบวิธีการแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ 

ปั๋นอิ่ม อาสาสมัครภาคเหนือที่สร้างโมเดลแบ่งปันอาหาร กลไกแลกกันเพื่อปากท้องยั่งยืน

โดยใน 1 สัปดาห์ ปั๋นอิ่มจะเปิดครัวปรุงอาหารกันทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เฉลี่ยวันละ 150 ชุด ซึ่ง 50 ชุดแรกจับจองได้ในราคาชุดละ 25 บาท ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ที่มี บี-กุศล ยี่จันทร์ สมาชิกทีมครัวควบตำแหน่งประชาสัมพันธ์มากฝีมือ คอยอัปเดตความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ถ่ายทอดแนวคิด ที่มาของอาหาร และแจ้งรายละเอียดเมนูให้ทราบกันตั้งแต่ยามสาย กระทั่งประมาณบ่าย 4 โมงครึ่ง ก็จะทยอยนำส่งอาหารตามออเดอร์ โดยไม่คิดค่าบริการเฉพาะรอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง

ส่วนอาหารอีก 100 ชุดที่เหลือจะจัดสรรเป็น 2 ชุด สำหรับจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะและคนไร้บ้านในราคา 5 บาท และกลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง กลุ่มห้องเช่าราคาถูก รวมถึงกลุ่มชุมชนแออัด ในราคา 15 บาท ซึ่งอาจารย์ฮายอธิบายให้ฟังว่า เกณฑ์การตั้งราคานี้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของคนแต่ละกลุ่ม เกี่ยวกับราคาอาหารที่พอจ่ายไหวในแต่ละมื้อ ประกอบกับเป็นมูลค่าที่คำนวณแล้วว่า สามารถหมุนเวียนมาเป็นต้นทุนแลกวัตถุดิบและการผลิตได้พอดี นอกจากนี้ ยังมีระบบแลกคูปองสำหรับคนขัดสนรายได้ เช่น จัดกิจกรรมชวนพี่น้องคนไร้บ้านทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ เพื่อแลกคูปองรับอาหาร หรือใครจะนำขยะรีไซเคิลมาแลกเปลี่ยนก็ทำได้เช่นกัน

เบื้องหลังการทำงานของสาสมัครภาคเหนือที่ไม่แจกฟรี ไม่ขอรับบริจาค แต่ค่อยๆ สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
เบื้องหลังการทำงานของสาสมัครภาคเหนือที่ไม่แจกฟรี ไม่ขอรับบริจาค แต่ค่อยๆ สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

ถัดมาทีมพื้นที่จะรับไม้ต่อ นำอาหาร 100 ชุดหลังตระเวนไปส่งตามจุดที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน โดยอิงตำแหน่งจากข้อมูลของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งทำงานคลุกคลีกับคนกลุ่มนี้มายาวนาน ส่วนกลุ่มอื่นๆ ทางปั๋นอิ่มได้ข้อมูลมาจากการลงพื้นที่แจกจ่ายอาหารในช่วงแรก

“ตอนที่เรายังแจกอาหารบริเวณจุดประสานงานท่าแพ แล้วพบว่ามีคนหน้าใหม่เข้ามารับบริการ ทางทีมก็เริ่มสอบถามเก็บข้อมูลจำเป็นต่างๆ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ” ยูร-วิเชียร ทาหล้า สมาชิกทีมพื้นที่จากกลุ่ม Green Ranger กล่าว “ปัจจุบันกลุ่มคนที่เราดูแล มีตั้งแต่บริเวณท่าแพซอย 3 เป็นกลุ่มห้องเช่าราคาถูก บริเวณชุมชนหัวฝาย เป็นกลุ่มคนอพยพโยกย้ายมาจากชุมชนคลองเงินที่ถูกไล่รื้อ บริเวณชุมชนขนส่งซอย 9 เป็นกลุ่มชุมชนแออัดเมือง และแคมป์แรงงานอำเภอสันกำแพง ซึ่งสภาพโดยรวมของทุกคนคือ ตกงาน ขาดรายได้ และอาหารไม่เพียงพอ แถมหลายคนยังหลุดจากระบบการช่วยเหลือของท้องถิ่น เนื่องจากเป็นเพียงประชากรแฝง รวมถึงแรงงานข้ามชาติ”

เบื้องหลังการทำงานของสาสมัครภาคเหนือที่ไม่แจกฟรี ไม่ขอรับบริจาค แต่ค่อยๆ สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

ปั๋นญา

ควบคู่ภารกิจแบ่งปันอาหาร ปั๋นอิ่มพยายามพัฒนากลไกระบบหมุนเวียนอาหาร โดยเข้าไปชักชวนชาวชุมชนคลองเงินทดลองก่อตั้งกองทุนข้าวสาร พร้อมสนับสนุนให้ชุมชนบริหารจัดการแลกเปลี่ยนซื้อหาผลผลิตกับเกษตรกรพื้นที่สูงได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง เพื่อสร้างโมเดลการรับมือที่ยั่งยืนในภาวะวิกฤต

เหนืออื่นใด เป้าหมายสูงสุดของพวกเขาคือ อยากผลักดันกลไกให้เชื่อมร้อยพี่น้องในเมืองกับพื้นที่สูงเข้าหากัน เพื่อสานความเข้าใจ สร้างทัศนคติใหม่ต่อภาพลักษณ์ของคนอยู่กับป่า และบ่มเพาะการร่วมมือแก้ไขปัญหาจากโครงสร้างเดียวกัน

โจ้ขยายให้ฟังว่า “ประเด็นบนดอยกับพื้นที่ในเมืองมีปัญหาบนฐานเดียวกัน คือเรื่องความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน มีพี่น้องเกษตรกรที่ช่วยเหลือเราจำนวนมากอยู่ในชุมชนที่ได้รับปัญหาจากนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน อาทิ จากการประกาศเขตป่าสงวนทับพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หรือจากนโยบายทวงคืนผืนป่า แถมบางชุมชนยังมีปัญหาทับซ้อน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารไม่ต่างไปจากหลายชีวิตในเมืองเวลานี้ เช่น ชุมชนกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งผลิตมะเขือเทศ ฟักทอง และกะหล่ำ ซึ่งกำลังจะถูกเล็งแปรสภาพเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ถ่านหิน ใต้ดินจะถูกขุดอุโมงค์ผันน้ำ และบนฟ้าจะรยางค์ด้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

“เช่นเดียวกับพี่น้องชุมชนแออัดในเมืองที่ถูกไล่รื้อ กลุ่มคนไร้บ้าน หรือกลุ่มห้องเช่าราคาถูก ล้วนมีปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ยิ่งกว่านั้นคือไม่มีพื้นที่ผลิตอาหารเองด้วย ดังนั้น จะเห็นว่าปัญหามันเชื่อมโยงกันมาก เราจึงพยายามหากลไกเพื่อเชื่อมคนในเมืองกับคนพื้นที่สูงให้เข้าใจตรงกันถึงประเด็นนี้ โดยเป้าสูงสุดของเราคือ อยากคุยกันไปถึงเรื่อง ‘ความมั่นคงด้านที่ดิน’ เพราะถ้าทุกคนมีที่ดิน ก็จะมีที่อยู่อาศัย มีพื้นที่การผลิต และจึงมีความมั่นคงทางอาหารตามมา”

“ใช่ เราไม่สามารถพูดได้เลยว่าพวกเขามีความมั่นคงทางอาหาร ทั้งที่ไม่มีความมั่นคงทางที่ดิน” เมย์ระบาย

“ตอนนี้เราจินตนาการเล็กๆ ว่า อยากทำปั๋นอิ่มต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แล้วค่อยปรับพัฒนากลไกให้เดินไปสู่เป้าหมาย ก็ไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จรึเปล่านะ แต่ประเด็นคือเราต้องลงมือทำก่อน ทำวันละนิด ดีกว่าคิดแต่จะทำ” อู๊ดทิ้งท้าย

เบื้องหลังการทำงานของสาสมัครภาคเหนือที่ไม่แจกฟรี ไม่ขอรับบริจาค แต่ค่อยๆ สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

ปั๋นอิ่ม

โทรศัพท์ : 08 2172 6053

Facebook : ปั๋นอิ่ม : Pun-Im

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ