ไม่มีใครรู้ว่าตึกเรียนหน้าตาสุดแปลกหลังนี้ตั้งใจออกแบบมาให้เหมือนฟักทองหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ หลายเสียงของคนที่นี่ก็เรียกว่า ‘ตึกฟักทอง’ จนกลายเป็นชื่อเล่นของอาคารที่ทุกคนในมหาวิทยาลัยล้วนรู้จักกันดี ส่วนนามอันเป็นทางการนั้นตั้งขึ้นภายหลังว่า ‘อาคารศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ เชยจิตร คณบดีคนแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมงานกับ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้แห่งนี้ ต่อมามหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ว่า สงขลานครินทร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เดิมตึกฟักทองคืออาคารเรียนรวมของมหาวิทยาลัย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประกอบไปด้วยห้องบรรยาย 5 ห้อง ล้อมเรียงตัวกันเป็นวงกลมคล้ายผลฟักทอง แวดล้อมด้วยกลุ่มอาคารเรียนแขนงต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ เช่น อาคารเคมี อาคารฟิสิกส์ มีลานหินแตกเชื่อมต่อถึงกัน เดินผ่านบันไดโค้งลงมาชั้นล่างสุดเป็นใต้ถุนโล่งไม่กั้นผนัง สระน้ำด้านหน้าอาคาร บางวันอาจเปิดน้ำพุ สร้างความชุ่มชื่นด้วยละอองน้ำที่ปลิวไปตามลม และเสียงน้ำพุกระทบลงสระ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ห้องเลกเชอร์ภายในอาคารสร้างเป็นเก้าอี้ให้นั่งเป็นขั้นบันไดขึ้นไป มีกระดานดำเลื่อนได้แบบโบราณอยู่ในส่วนที่ต่ำสุดเพื่อให้นักศึกษาทุกคนมองเห็นทั่วถึง ห้องเลกเชอร์ใหญ่จุคนได้มากถึง 500 คน และห้องเล็กจุได้ 250 คน

ด้วยรูปร่างที่น่าจดจำและสังเกตได้ง่ายเช่นนี้ จึงไม่แปลกใจที่อาคารหลังนี้จะกลายเป็นไอคอนของที่นี่ ถูกสร้างเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นโลโก้การแข่งขันกีฬา รวมไปถึงเกิดตำนานเล่าขานกันรุ่นต่อรุ่นสร้างมนตร์ขลังให้สถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ตำนานตึกฟักทอง

ว่ากันว่าหากนักศึกษาคนไหนไปตั้งหน้าตั้งตานับกลีบฟักทองว่ามีกี่กลีบ เผลอๆ จะโดนอาถรรพ์เรียนไม่จบ หรือเด็กมัธยมปลายที่เตรียมเอนทรานส์ก็อาจจะสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยได้เช่นกัน ร่ำลือจนกลายเป็นความเชื่อรุ่นต่อรุ่น นี่ยังไม่รวมตำนานของผ้าม่านในห้องบรรยายที่ใครฟังแล้วก็อาจจะขนหัวลุก

แต่หากใครต้องการนับกลีบฟักทองจริงๆ เรามีวิธีให้นับทางอ้อม โดยเริ่มจากเดินข้ามแผ่นปูนของสะพานข้ามสระน้ำด้านหน้า ที่ออกแบบความกว้างยาวได้เข้ากับช่วงจังหวะเดินแต่ละก้าวพอดี ก้าวไปนับไปก็ได้ 25 ก้าวหรือ 25 แผ่น เป็นตัวเลขที่พอดีกับกลีบฟักทองทั้งหมดของห้องบรรยาย แอบเป็นดีเทลเล็กๆ น้อยที่ผู้ออกแบบซ่อนเอาไว้อย่างจงใจ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สถาปนิกนอกระบบ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ย้อนกลับไปราวปี พ.ศ. 2510 ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้บุกเบิกก่อตั้งมหาวิทยาลัย ได้มอบหมายให้ อมร ศรีวงศ์ สถาปนิกคู่ใจผู้ออกแบบตึกกลมหรืออาคารเรียนรวมของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (เดิมคือโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์) ให้ออกแบบวางผังมหาวิทยาลัยภาคใต้แห่งนี้ อมร ศรีวงศ์ ไม่ได้เรียนจบจากโรงเรียนสถาปัตยกรรมโดยตรง เขาอาศัยฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากการทำงานจริงในบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ถึงขนาดที่เคยพาตัวเองไปเป็นกรรมกรเมื่อคราวสร้างสนามบินดอนเมือง จนได้รู้จักวิชาช่าง และเคี่ยวกรำตัวเองจากการทำงานร่วมกับวิศวกรเก่งๆ จนฉายแววออกแบบอาคารได้อย่างโดดเด่น ใช้ทักษะทางวิศวกรรมอย่างมีชั้นเชิง คำนึงถึงความงดงามของโครงสร้างวิศวกรรมและรูปแบบสถาปัตยกรรมจนออกมาเป็นอาคารที่ล้ำยุค ยากจะลอกเลียนแบบได้ในปัจจุบัน

ผลงานการออกแบบของอมร ศรีวงศ์ แสดงออกถึงความคิดที่ก้าวหน้า ไม่ยึดติดในกรอบเดิมๆ กล้าทดลองกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังเช่นตึกฟักทองหลังนี้ เพื่อหลีกหนีจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมแบบเดิมๆ ก็กลายเป็นห้องเรียนที่ขยายสัดส่วนออกมาจากศูนย์กลาง ทุกพื้นที่มีความเท่าเทียมกัน ให้ทุกเก้าอี้ได้มองเห็น ฟังเสียงอาจารย์ได้เท่าๆ กัน ไม่มีมุมมองบังกัน จัดวางเก้าอี้แบบขั้นบันไดคล้ายโรงหนัง มองเพียงภายนอกก็จะทราบว่าสอดคล้องกับแนวคิด Form Follows Function เป็นอย่างดี

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับวงการก่อสร้าง สถาปนิกผู้นี้จึงให้ความสำคัญกับเรื่องโครงสร้างเป็นพิเศษ หากอาคารใดมีโครงสร้างที่งดงาม อาคารนั้นแทบจะไม่ต้องประดับประดาใดๆ อาคารหลังนี้ถ้าเราได้เฉือนแก่นแท้ของมัน จะพบว่ามีโครงสร้างคานคอนกรีตเสริมเหล็กม้วนตัวจากก้นอาคารขึ้นมาตามแนวโค้งของแต่ละกลีบ แล้วย้อนกลับมาบรรจบกันที่ปลายขั้วฟักทอง รวมกันกลายเป็นแนวเสาศูนย์กลางวงกลมแทงทะลุลงสู่พื้นดินอย่างสมบูรณ์แบบ อวดชั้นเชิงของการออกแบบสถาปนิกผู้มากฝีมือ

Writer & Photographer

Avatar

วีระพล สิงห์น้อย

ช่างภาพสถาปัตยกรรม และเจ้าของเพจภาพถ่ายอาคารเปี่ยมเสน่ห์ชื่อ FOTO_MOMO