ปัญหาที่ธุรกิจครอบครัวหลายแห่งเผชิญ คือความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัว ซึ่งในหลายกรณีนั้น ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นที่จบลงด้วยการแยกธุรกิจที่ต่างคนต่างไปเปิดกิจการของตนเอง

แต่การแยกกิจการไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวของธุรกิจครอบครัวเสมอไป และในที่สุดแล้วอาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความขัดแย้งในครอบครัวส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่ต้องทำร่วมกัน

ตัวอย่างหนึ่งก็คือพี่น้องตระกูล Dassler ที่คลานตามกันมา ร่วมก่อร่างสร้างธุรกิจด้วยกัน แต่ในที่สุดแล้วทะเลาะกัน แยกกิจการกัน จนแทบจะไม่พูดกันอีกจนทั้งคู่เสียชีวิต เรียกได้ว่าไม่เผาผีกันเลยทีเดียว

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สุดท้ายแล้วกิจการของทั้งคู่เติบโตจนเป็นธุรกิจรองเท้ากีฬาระดับโลก ซึ่งก็คือ PUMA และ adidas นั่นเอง

adidas และ PUMA แบรนด์ที่เกิดจากการแตกหักของพี่น้อง ถึงขั้นไม่ขอฝังในหลุมศพใกล้กัน

ธุรกิจพี่น้อง

ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มก่อนว่า ‘PUMA’ เป็นบริษัทของพี่ชายที่ชื่อว่า Rudolf หรือ Rudi Dassler ส่วน ‘adidas’ เป็นบริษัทของน้องชายที่ชื่อว่า Adolf หรือ Adi Dassler ทั้ง 2 บริษัทนี้ต่างตั้งอยู่ในเมือง Herzogenaurach แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี

ธุรกิจรองเท้ากีฬาของพี่น้อง Dassler นี้มีต้นตอมาจากพ่อแม่ของเขา โดยพ่อ Christoph Dassler เป็นคนงานทำรองเท้า ส่วนแม่ Paulina ทำธุรกิจซักผ้าเล็ก ๆ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 Adi เริ่มเรียนรู้การทำรองเท้าจากพ่อ และใช้ห้องซักผ้าของแม่ผลิตรองเท้าขาย

ต่อมาปี 1924 Rudi ได้มาช่วยน้องชาย และร่วมกันก่อตั้งธุรกิจชื่อว่า ‘Gebrüder Dassler Schuhfabrik’ ซึ่งแปลว่า Dassler Brothers Shoe Factory

adidas และ PUMA แบรนด์ที่เกิดจากการแตกหักของพี่น้อง ถึงขั้นไม่ขอฝังในหลุมศพใกล้กัน

บุคลิกของพี่น้องคู่นี้แตกต่างกันมาก แต่เป็นบุคลิกที่เติมเต็มให้กันและกันในการดำเนินธุรกิจ เพราะ Adi เป็นคนขี้อาย แต่ช่างคิดช่างประดิษฐ์ ส่วน Rudi ชอบเข้าสังคม พูดคุยโฉ่งฉ่าง เป็นนักการตลาด ขายของเก่ง

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจของสองพี่น้อง Dassler เติบโตอย่างรวดเร็วคือการที่เขาชักชวนให้ Jesse Owens นักกรีฑาชาวอเมริกันใส่รองเท้าของพวกเขาเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินในปี 1936 และได้เหรียญทอง 4 ถึงเหรียญ

adidas และ PUMA แบรนด์ที่เกิดจากการแตกหักของพี่น้อง ถึงขั้นไม่ขอฝังในหลุมศพใกล้กัน

ความขัดแย้งที่เกินเยียวยา

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ Dassler ที่เติบโตเร็วและดูเข้มแข็งจากภายนอกนั้นกลับมีรอยร้าวภายในที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง Rudi และ Adi ที่มีพื้นฐานบุคลิกต่างกันมาก จนในที่สุด Rudi เริ่มหมดความอดทนกับความหมกมุ่นในรายละเอียดของน้องชาย ในขณะที่ Adi ก็ไม่พอใจการแสดงออกที่โผงผางของพี่

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่า 2 พี่น้องจะเป็นสมาชิกพรรคนาซี แต่ทั้งคู่กลับมีความแตกต่างในแนวคิดทางการเมือง Rudi สนับสนุนแนวคิดของพรรคอย่างชัดเจนและเปิดเผย ส่วน Adi ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวทุ่มเทมากนัก ซึ่งทำให้บรรยากาศในบ้านตึงเครียด

บุคลิกและนิสัยของภรรยาของทั้งคู่ยิ่งเพิ่มความแตกแยกในครอบครัว โดยเฉพาะการที่ทั้งคู่ยังอาศัยอยู่บ้านเดียวกันหลังแต่งงาน Rudi แต่งงานกับ Friedl ที่เป็นคนง่าย ๆ และเข้ากันได้ดีกับพ่อแม่สามี ส่วน Adi แต่งงานกับ Käthe ที่ค่อนข้างหัวแข็ง ไม่ลงรอยกับญาติของสามี และเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจซึ่งทำให้ Rudi ไม่พอใจ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Rudi ถูกเรียกไปประจำการในกองทัพนาซี ในขณะที่ทางรัฐบาลปลดประจำการให้ Adi เพื่อให้เขาดูแลการผลิตรองเท้าที่ถือเป็นสินค้ายุทธภัณฑ์ที่จำเป็น ทำให้ Rudi อิจฉาและโมโหน้องชาย เพราะเขาคิดว่า Adi เป็นคนจัดการอยู่เบื้องหลัง เพื่อกีดกันให้เขาออกไปจากโรงงานของครอบครัว

ในช่วงท้ายของสงครามโลก เมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้นั้น Rudi ถูกทหารอเมริกันจับและจำคุกด้วยข้อหาว่าฝักใฝ่พรรคนาซี ซึ่งเขาคิดว่า Adi เป็นคนแจ้งเบาะแส ในขณะที่ Adi รอดพ้นการจับกุมได้ แต่ Käthe กลับได้ยินข่าวลือว่า Rudi พยายามให้ข้อมูลเท็จกับทางการเพื่อให้ Adi โดนแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งทำให้เธอไม่พอใจมาก

ข้อสงสัยเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ก็ไม่มีใครยืนยันได้ แต่อย่างน้อยแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อใจกันระหว่างพี่น้อง Dassler 2 คนนี้ได้หมดสิ้นจนไม่เหลือเยื่อใยใด ๆ อีกต่อไปแล้ว

adidas และ PUMA แบรนด์ที่เกิดจากการแตกหักของพี่น้อง ถึงขั้นไม่ขอฝังในหลุมศพใกล้กัน

ในที่สุดทั้ง 2 คนจึงจัดการแยกธุรกิจในปี 1948 แบ่งทรัพย์สินและคนงาน โดย Rudi และภรรยาเป็นฝ่ายเก็บข้าวของ ย้ายไปเปิดโรงงานใหม่ในเมืองเดียวกัน แต่อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ

Paulina แม่ของ 2 พี่น้องเลือกที่จะย้ายไปกับ Rudi ในขณะที่ Marie พี่สาวของทั้งคู่เลือกที่จะอยู่กับ Adi เพราะ Marie เคียดแค้น Rudi มากที่ปฏิเสธไม่จ้างลูกชาย 2 คนของเธอให้เข้าทำงานในโรงงาน ทำให้ลูกของเธอต้องออกไปรบและจบชีวิตในสมรภูมิทั้งคู่

หลังจากแยกธุรกิจกันแล้ว Adi Dassler ตั้งชื่อธุรกิจเขาว่า adidas ซึ่งมาจากชื่อ Adi กับนามสกุล Dassler ส่วน Rudi Dassler ตั้งชื่อธุรกิจว่า Ruda แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น PUMA

แค้นกันจนวันตาย

หลังจากแยกธุรกิจกันแล้ว PUMA กับ adidas ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาห้ำหั่นกันทางธุรกิจ เช่น ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศสวีเดนในปี 1958 นั้น PUMA ก็ได้ยื่นทักท้วงสโลแกนโฆษณาของ adidas

ความขัดแย้งระหว่าง Rudi กับ Adi ไม่ได้เป็นแค่ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องนักธุรกิจ 2 คนเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปทั้งเมือง Herzogenaurach

ผู้คนในเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย หากใครทำงานกับบริษัทหนึ่งก็จะไม่สุงสิงกับคนในอีกบริษัท ไม่จับจ่ายซื้อของในร้านที่ตั้งอยู่ฟากเดียวกับโรงงานของบริษัทคู่แข่ง ยิ่งไปกว่านั้น การแต่งงานข้ามกลุ่มก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมในเมืองนี้อีกด้วย

ว่ากันว่าคนในเมืองนี้เวลาเจอกันมักจะก้มหน้ามองต่ำ เพราะต้องมองรองเท้าของอีกฝ่ายว่าใส่ยี่ห้ออะไรก่อนที่จะเริ่มสนทนาคุยกัน

ศึกสายเลือดตระกูล Dassler และการแตกหักที่ทำให้เกิดสองแบรนด์รองเท้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการกีฬา adidas และ PUMA

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าบริษัท PUMA และ adidas ไม่ถูกกันอย่างรุนแรง แต่ก็ยังมีคนวอนหาเรื่อง

ในการแข่งกีฬาโอลิมปิกปี 1960 นักวิ่งชาวเยอรมันชื่อ Armin Hary ใส่รองเท้า PUMA ลงแข่งขันและคว้าชัยชนะ แต่เขาดันไปเปลี่ยนรองเท้าเป็น adidas เมื่อขึ้นรับเหรียญรางวัล เพราะอยากได้เงินค่าสปอนเซอร์จากทั้ง 2 บริษัท ทำให้ Adi โกรธมากและไม่ทำสัญญาธุรกิจใด ๆ กับ Armin อีกเลย

พี่น้อง Rudi และ Adi ขัดแย้งกันรุนแรงขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้ง 2 คนแทบจะไม่พูดกันอีกเลยตลอดชีวิต ตราบจน Rudi เสียชีวิตในปี 1974 และ Adi เสียชีวิตตามไปในอีก 4 ปีถัดมา

ขนาดเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว หลุมศพของ 2 พี่น้อง Dassler ก็อยู่คนละฟากฝั่งของสุสานและห่างไกลกันที่สุดเท่าที่จะไกลได้

ทายาทธุรกิจ

หลังจาก Rudi และ Adi Dassler เสียชีวิตแล้ว กิจการรองเท้ากีฬาของทั้งคู่ก็ดำเนินต่อไปโดยทายาท

สำหรับ PUMA นั้น ในสมัยที่ Rudi บริหารก็เป็นเพียงธุรกิจท้องถิ่นเล็ก ๆ จนกระทั่ง Armin Dassler ลูกชายของ Rudi มาขยายกิจการจนเติบโตเป็นธุรกิจระดับโลก แต่ในที่สุดแล้ว Armin และ Gerd Dassler ทายาทรุ่นสอง ลูกของ Rudi ก็ขาย PUMA ให้นักลงทุนจากนอกครอบครัว Dassler ไปในปี 1989

ศึกสายเลือดตระกูล Dassler และการแตกหักที่ทำให้เกิดสองแบรนด์รองเท้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการกีฬา adidas และ PUMA

ส่วน Adi Dassler มีลูก 4 คน โดยทายาทที่รับช่วงกิจการ adidas ต่อจาก Adi คือ ลูกชายที่ชื่อว่า Horst Dassler

Horst เริ่มต้นการทำงานที่ฝรั่งเศส และในปี 1973 ได้สร้างแบรนด์ชุดว่ายน้ำของตัวเอง ซึ่งก็คือแบรนด์ ‘Arena’ เมื่อ Adi เสียชีวิตและ Käthe แม่ของเขาเป็นประธานบริษัทต่อ Horst จึงกลับมาช่วยกิจการ adidas และต่อมาขึ้นเป็นประธานบริษัทต่อจากแม่

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วเพียง 3 ปีหลังจากที่ Horst เสียชีวิต ทายาทของ Adi Dassler ที่เหลือก็ขายธุรกิจ adidas ให้แก่นักธุรกิจชาวฝรั่งเศสไปในปี 1990

ศึกสายเลือดตระกูล Dassler และการแตกหักที่ทำให้เกิดสองแบรนด์รองเท้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการกีฬา adidas และ PUMA

สรุปว่าในปัจจุบัน ทั้ง PUMA และ adidas ไม่ได้เป็นธุรกิจครอบครัวของตระกูล Dassler อีกต่อไปแล้ว

จุดจบของความขัดแย้ง

เมื่อเวลาผ่านไป นอกเหนือจากการแข่งขันทางธุรกิจแล้ว การแบ่งฝักฝ่ายระหว่าง PUMA และ adidas ก็น้อยลงตามกาลเวลา เพราะ Rudi กับ Adi ต่างก็เสียชีวิตไปร่วม 50 ปีแล้ว นอกจากนี้ ทั้ง 2 บริษัทก็ไม่ได้เป็นธุรกิจครอบครัวของทายาทพี่น้อง Dassler อีกต่อไป

ในที่สุด ความขัดแย้งระหว่าง 2 พี่น้อง ระหว่าง 2 บริษัท และระหว่างผู้คนในเมือง Herzogenaurach ก็จบลงอย่างเป็นทางการในปี 2011 เมื่อ PUMA และ adidas จัดกิจกรรมให้พนักงานมาเตะฟุตบอลกระชับมิตรกัน

ส่วนทายาทคนสุดท้ายที่ทำงานในธุรกิจที่ก่อตั้งโดย 2 พี่น้อง Dassler คือ Frank Dassler ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าที่ปรึกษากฎหมายให้ adidas จนกระทั่งเขาเกษียณในปี 2018 และเสียชีวิตในอีก 2 ปีถัดมา

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ Frank เป็นหลานปู่ของ Rudi แต่กลับไปทำงานให้ adidas บริษัทคู่อริของปู่เขาเอง ซึ่งตอนแรกพ่อแม่ของ Frank ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้คัดค้าน

ศึกสายเลือดตระกูล Dassler และการแตกหักที่ทำให้เกิดสองแบรนด์รองเท้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการกีฬา adidas และ PUMA

เมื่อทางแยกคือทางออก

ในปี 2017 adidas มียอดขายรวมประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญ ส่วน PUMA มียอดขาย 2 พันล้านเหรียญ นับเป็นบริษัทรองเท้ากีฬาขนาดใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของโลก

ในขณะที่บริษัทที่ใหญ่ที่สุดคือ Nike มียอดขายมากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญ

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าถ้าหาก PUMA และ adidas ไม่แยกกันแล้ว กิจการอาจจะแข็งแกร่งจนใหญ่กว่า Nike ก็เป็นได้

แต่ในทางกลับกัน การแยกกันก็อาจจะดีกว่าการอยู่ด้วยกันแบบไม่เชื่อใจกัน ขัดแย้งกัน เพราะความเชื่อใจหรือ Trust ถือเป็นสินทรัพย์หรือ Asset ที่สำคัญของธุรกิจครอบครัว เมื่อความเชื่อใจระหว่างพี่น้อง Dassler ไม่หลงเหลือแล้ว ความไม่เชื่อใจกันกลับกลายเป็นภาระหรือ Liability ที่ทำให้การดำเนินกิจการไม่ราบรื่นและอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจ

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าการแยกกิจการของพี่น้อง Dassler จะไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งยุติลงเพราะทั้งคู่ยังทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่การที่ทั้ง 2 บริษัทพยายามแข่งกันเองนั้นกลับช่วยให้ทั้งคู่เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างนวัตกรรม จนท้ายที่สุดแล้วส่งผลดีต่อทั้ง 2 ธุรกิจ

ประสบการณ์จากธุรกิจของพี่น้อง Dassler เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า หากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัวมีความรุนแรงจนไม่เหลือความไว้เนื้อเชื่อใจกันอีกต่อไปแล้ว การฝืนทำธุรกิจร่วมกันต่อไปก็อาจไม่ใช่สิ่งดี

ในทางตรงกันข้าม การแยกกิจการอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับทั้งครอบครัวและธุรกิจก็ได้

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.globalonet.com/2018/01/13/los-dassler-una-familia-de-tradicion
  • www.fashionoutcom.wordpress.com/2019/09/09
  • www.n-tv.de/reise/Die-Heimat-des-Turnschuhs-article609175.html
  • www.gameplan-a.com/2020/11
  • eu.wikipedia.org/wiki/Herzogenaurach
  • en.wikipedia.org/wiki/Armin_Dassler
  • www.ispo.com/en/people/frank-dassler-died-age-64

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต