19 มิถุนายน 2019
47 K

“ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” คือคำกล่าวตอนหนึ่งในบทความ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทยตั้งแต่ในช่วง พ.ศ. 2516

เป็นคำพูดที่ไม่ใช่เรื่องเกินจริงไปเลยแม้แต่น้อย เพราะเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (หากว่ายังไม่ลืมกันไป) เรายังทนทุกข์ทรมานจากปัญหามลพิษกันอยู่เลย อากาศบริสุทธิ์นั้นมีคนยึดเอาเป็นเจ้าของเสียแล้ว หากอยากจะมีไว้ในครอบครองก็จำเป็นต้องซื้อหากันผ่านหน้ากากหรือเครื่องฟอกอากาศราคาสูง

ถึงแม้ตอนนี้มลพิษจะดีขึ้นบ้างแล้วด้วยลมและฝนตามฤดูกาล แต่คงดูไร้เดียงสาเกินไปถ้าคิดว่ามันจะไปแบบไม่กลับมาอีก อาจจะไม่ต้องคิดไปไกลถึงเรื่องของนโยบายหรือมาตรการอะไรขนาดนั้น แค่เพียงพื้นที่สีเขียวที่พอจะให้ร่มเงาและบรรเทามลพิษเหล่านี้นั้นก็หาได้ยาก ยิ่งในวันที่เราตัดต้นไม้และปลูกคอนโดฯ ในเมืองกันเป็นว่าเล่น

คุณภาพชีวิตของคนในเมืองนั้นก็ว่ายากแล้ว คุณภาพชีวิตของคนในย่านเมืองเก่านั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะผังเมืองเก่าที่ถูกก่อร่างมาเมื่อกว่าร้อยปีก่อนนั้น เมื่อผสมกับกาลเวลาที่เปลี่ยนไป และรูปแบบการทำงาน การใช้ชีวิต ซึ่งยากเหลือเกินที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวขึ้นมา

เมื่อคุณภาพชีวิตในเมืองเก่าไม่ได้สะดวกหรือมีคุณภาพ ความเป็นอยู่ก็แออัด พื้นที่สีเขียวที่จะช่วยให้รื่นรมย์บ้างในแต่ละวันก็ไม่มี คนรุ่นใหม่ๆ ที่โตขึ้นมาก็ไม่รู้จะทนอยู่ต่อไปทำไมเลยเริ่มย้ายออกไปอยู่แถบชานเมืองแทน เมื่อย้ายออกไปกันมากเข้า ความคิดสร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาวในพื้นที่ก็ค่อยๆ จางไป เศรษฐกิจก็ถดถอยลง เมืองเก่าก็ซบเซาและกลายเป็นย่านเสื่อมโทรมไปในที่สุด หลายคนอาจจะคิดไม่ถึงว่าพื้นที่สีเขียวนั้นจะมีผลกระทบกับเมืองได้มากถึงขนาดนี้

และคำถามคือถ้าไม่มีพื้นที่สีเขียวอันนั้นในชุมชนแล้วจะทำยังไงดี ? วันนี้ผมกำลังจะพาทุกคนไปชมพื้นที่สีเขียวใจกลางย่านตลาดน้อยที่ถูกรีโนเวตจากโรงกลึงเก่า ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นด้วยมือของเหล่าชาวบ้านในชุมชนที่มารวมตัวกันในชื่อ ‘กลุ่มคนรักตลาดน้อย’ และทีมสถาปนิกจาก บจ.สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมอาศรมศิลป์ สถาบันอาศรมศิลป์โดยมี โจ-จุฤทธิ์ กังวานภูมิ และ ภา-ประภาพร บำรุงไทย เป็นตัวแทนทีมสถาปนิก มาเล่าถึงการประสานสร้างความร่วมมือจากกรมธนารักษ์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่โครงการ จนเกิดพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ที่นอกจากจะช่วยให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังจะช่วยพัฒนาให้ย่านตลาดน้อยมีอนาคตที่ยืนยาวต่อไปอีกด้วย

นี่คือเรื่องราวที่น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนได้เห็นว่าพลังของคนตัวเล็กๆ นั้นสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริงๆ ผมจึงขอเชิญให้ทุกคนได้มีโอกาสเดินทางมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นจากท่าแล้วได้เดินชมบรรยากาศย่านตลาดน้อยสักนิดหนึ่ง ทั้งศาลเจ้าและร้านเซียงกง ก่อนจะค่อยๆ เดินเข้าซอยท่าน้ำภานุรังษีนี้เข้ามาและรับฟังเรื่องราวนี้ไปพร้อมกัน

1

เขตที่มีพื้นที่สีเขียวต่ำที่สุด

เราถามถึงเรื่องราวของจุดเริ่มต้นโครงการนี้กับโจ สถาปนิกผู้ซึ่งเกิดในย่านตลาดน้อยและได้มีโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่บ้านตัวเอง

“โครงการเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ตอนนั้นเริ่มมีกระแสตื่นตัวเรื่องของ Healthy City หรือเมืองสุขภาวะ และ สสส. ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมก็คือตัวพื้นที่ที่รองรับสุขภาวะ

“ผมทำงานอยู่ที่อาศรมศิลป์ ตอนนั้นพูดคุยกันในทีมว่าที่ไหนที่ถ้าทำให้มันเกิดพื้นที่ขึ้นมาแล้วจะสร้างผลกระทบในวงกว้างมากที่สุด ก็ดูกันหลายพื้นที่ก่อนจะมาสรุปที่ย่านเยาวราช  พื้นที่เยาวราชที่หมายถึงคือเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายไปจนถึงสัมพันธวงศ์

“เขตนี้เป็นเขตที่มีพื้นที่สีเขียวต่อพื้นที่น้อยที่สุดในประเทศ ซึ่งมันกำลังมีการเปลี่ยนแปลงจากหลายๆ สิ่ง ทั้งรถไฟฟ้า ผังเมือง และยังเป็นเมืองเก่าที่มีคนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง มีมิติเรื่องของประวัติศาสตร์ มีเรื่องของเศรษฐกิจและการค้า

“ตอนนั้นทางอาศรมศิลป์ก็มองว่าพื้นที่นี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะกระตุ้นทั้งผู้อยู่อาศัยในย่านนี้ ภาครัฐ และเหล่านักลงทุน ให้พื้นที่มันคึกคักขึ้นมาได้หลังจากที่กำลังค่อยๆ ซบเซาลง แต่พอมาลงพื้นที่พูดคุยจริงๆ ก็พบว่าในบริเวณเยาวราชมันยากมาก เพราะบริเวณนั้นมันเป็นย่านการค้าที่ยุ่งมากทุกช่วงวันจนคนแทบจะไม่มีเวลาว่างมาหยุดคิดอะไรเลย

“อาศรมศิลป์ก็เลยหันมามองตลาดน้อยแทน เพราะการค้าขายในย่านนี้มันไม่วุ่นวายเท่าเยาวราช แล้วถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่อะไรก็ตามคนละแวกนี้พร้อมที่จะปรับตัว และอีกเรื่องก็คือพื้นที่ตลาดน้อยนั้นเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่คนดั้งเดิมยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่กันเยอะมาก ต่างจากเยาวราชที่เจ้าของบ้านจำนวนมากย้ายออกไปข้างนอกหมดแล้วทิ้งลูกจ้างอยู่เฝ้าร้าน ความผูกพันกับพื้นที่ของตลาดน้อยเลยอาจจะมีดีกรีที่เข้มข้นกว่า” โจเล่าถึงที่มาที่ไปในการเลือกพื้นที่ย่านตลาดน้อย

“ในวงการสถาปนิก ภูมิสถาปนิกเราเริ่มแอ็คทีฟเรื่องพื้นที่สีเขียวมากขึ้นในประเทศไทย แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทั่วไปในกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วคนทั่วไปหมดหวังกับการจะมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่แล้ว เพราะผังเมืองมันเปลี่ยนแปลงยากมาก ดังนั้น อย่างน้อยถ้าเราจุดประกายให้มันเกิดพื้นที่สีเขียวเล็กๆ หลายๆ จุดจนมันเชื่อมกันเป็นพื้นที่ใหญ่ โดยแต่ละจุดเราก้าวเท้าออกจากบ้านในเวลา 5 – 10 นาทีได้นั้น มันก็พอจะให้ชื่นใจได้บ้าง

“เราเลยคิดว่าอย่างน้อยการจุดประกายอย่างนี้มันยังทำให้ชุมชนที่มีพื้นที่สีเขียวเล็กๆ มันได้มีความหวังว่า เราก็เป็นคนตัวเล็กๆ ที่สามารถขับเคลื่อนให้ชุมชนตัวเองมีพื้นที่สีเขียว แล้วถ้าสมมติคนทำแบบนี้ได้อีกสักหมื่นจุด พันจุด ทั่วกรุงเทพฯ เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริงๆ” ภาอธิบายเสริมถึงอนาคตของวงการภูมิสถาปัตย์

2

ตลาดน้อยเมื่อก่อนไม่ใช่ตลาด

พี่ๆ กลุ่มคนรักตลาดน้อยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ย่านตลาดน้อยว่า ที่นี่คือพื้นที่ซ่อมเรือที่แรกของกรุงเทพฯ เพราะท่าเรือแรกของกรุงเทพฯ นั้นคือแถวสำเพ็ง ก่อนที่จะย้ายไปคลองเตย และแหลมฉบังในปัจจุบัน

เมื่อก่อนตัวเมืองคือเกาะรัตนโกสินทร์ เวลาที่เรือสินค้าเดินทางมาจะผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาจากทางทะเล ผ่านป้อมเก่าตรงวังเดิม ล่องเข้ามาถึงเจริญกรุงจ่ายภาษีตรงโรงภาษี (สถานีดับเพลิงบางรักในปัจจุบัน) แล้วก็มาลงของที่ท่าเรือซึ่งก็คือแถวบริเวณตลาดสำเพ็ง ซึ่งตอนนี้กลายเป็นถนนไปแล้ว

หลังจากที่ลงสินค้าเสร็จเรือก็จะแวะไปซ่อมชิ้นส่วนที่เสียหายกันที่ตลาดน้อย และเพราะเรือมีชิ้นส่วนที่ประกอบด้วยเหล็กอยู่มาก พื้นที่ตลาดน้อยจึงมีร้านค้าที่ทำหน้าที่ทั้งตีเหล็ก กลึงชิ้นส่วนต่างๆ การซ่อมเครื่องยนต์ ไปจนถึงเตรียมอะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ ก่อนที่กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงให้กลายมาเป็นเซียงกง หรือย่านค้าเครื่องยนต์เก่าในปัจจุบัน

3

ตามหาที่ว่าง

เราหันมาหาทางกลุ่มคนรักตลาดน้อยบ้างว่า อะไรทำให้เราตัดสินใจว่าจะมาร่วมกับทางสถาปนิกชุมชนทั้งสองคนนี้

“เมื่อสักเจ็ดแปดปีที่แล้วพวกเราก็ได้เจออาศรมศิลป์เข้ามาสำรวจพื้นที่พอดี ในช่วงนั้นย่านตลาดน้อยมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเดินอยู่เยอะมาก แต่เราก็ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางหรือแลนด์มาร์ก ไปจนถึงพื้นที่สีเขียวอะไรเลย ถ้าจะมีคนใช้งานอะไรบ้างก็มีแม่บ้านบางคนมาเต้นแอโรบิกที่ท่าน้ำภานุรังษีตอนเย็นแค่นั้น

“เราก็เลยคิดว่าถ้ามีพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นปอดของคนตลาดน้อย ให้คนในชุมชนได้มาเดิน มาพักผ่อนหรือเป็นที่พบปะกันก็น่าจะดี” พี่สุภาพร ตัวแทนจากกลุ่มคนรักตลาดน้อย เล่าให้เราฟังถึงแรงบันดาลใจในการร่วมมือกับทางอาศรมศิลป์ในครั้งแรก

วิธีการทำงานของอาศรมศิลป์และเหล่าชาวบ้านในชุมชนนั้นเกิดขึ้นด้วยการพูดคุยกันเองในชุมชน ซึ่งประเด็นที่แทบทุกคนหยิบยกมาตรงกันก็มีอยู่ 2 ประเด็น อย่างแรกคือ การไม่มีพื้นที่สาธารณะที่สามารถเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้อีกแล้ว สถานที่ที่พอจะเข้าถึงได้ก็มีห้างริมน้ำที่ก็มีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่พอสมควร อย่างวัด ศาลเจ้า และโรงเรียน ทั้งหมดก็ยินดีแต่ก็เห็นด้วยกับเรื่องของกฎระเบียบด้านความปลอดภัยอยู่ จึงไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง ทั้งที่เขตนี้เป็นเขตที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยายาวกว่า 2 กิโลเมตร แต่กลับไม่เหลือพื้นที่ที่จะให้คนในชุมชนสามารถไปยืน ไปเห็น ไปสัมผัสรับลมแม่น้ำได้เลย

“พื้นที่ริมน้ำเมื่อก่อนทุกซอยถึงริมน้ำหมดเลย แต่ละบ้าน อย่างบ้านป้าวันนี่ก็มีทางลงน้ำ เพราะสมัยก่อนเวลาน้ำไม่ไหล พวกเราก็เคยมาอาบน้ำ แล้วสมัยนั้นมันมีเรือไว้ขนถ่ายสินค้า เป็นเรือที่ขึ้นตรงนั้น ก็จะมีเด็กว่ายน้ำ แต่พอสังคมเปลี่ยนแต่ละบ้านก็เริ่มตีกรอบทำรั้ว ความรู้สึกที่อยู่กันเหมือนญาติก็จางลงไป” กลุ่มคนรักตลาดน้อยเล่าความหลังในอดีตถึงการเข้าถึงริมน้ำ

“ส่วนปัจจัยอย่างที่สองคือ เรื่องของความน่าอยู่อาศัยของชุมชน ที่ตอนนี้คนเก่าๆ ในชุมชนก็ยังอาศัยอยู่กัน แต่ในอนาคตมันมีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่ๆ อาจจะย้ายออกไป เพราะเขตเมืองเก่ามันก็ไม่ได้สะดวกสบายตอบรับชีวิตยุคใหม่เท่าไหร่ ไม่ว่าจะเรื่องที่จอดรถ ห้างร้านอะไร และอีกอย่างหนึ่งก็คือสมัยผมยังเด็กๆ ผู้ใหญ่จะชอบบอกว่าอย่าออกไปเดินข้างนอกบ้าน มันอันตราย คือย่านเซียงกงเนี่ยมันก็มีทั้งเศษเครื่องยนต์ เครื่องจักร น้ำมันกองอยู่เต็มถนน เดินก็ลื่นหกล้มได้

“ไหนจะพวกคนงานมากมายอีก อย่างถ้าคนในชุมชนมีลูกสาวเขาก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัยที่จะให้ลูกเดินเข้าซอยมาคนเดียวมืดๆ พอมารวมกันในหลายๆ ประเด็นมันก็ทำให้บางทีคนก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ค่อยน่าอยู่ อยู่ไม่สบาย วันหนึ่งเขาก็อาจจะย้ายออกไป แล้วความเป็นชุมชนที่คนข้างในรู้จักกัน เห็นอกเห็นใจกัน มีน้ำใจให้กัน มันก็จะค่อยๆ หายไป คนก็จะยิ่งย้ายออกไปอีก พื้นที่สาธารณะที่ทำให้ชุมชนนั้นน่าอยู่ขึ้นจึงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นคำตอบของทุกปัญหาที่ว่ามา” โจเสริมในเรื่องของพื้นที่สาธารณะที่จะช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างในชุมชน

ผมถามพี่ๆ กลุ่มคนรักตลาดน้อยว่า ถ้าลูกๆ หลานๆ ของพี่ๆ ทุกคนจะย้ายออกไปอยู่ที่อื่นนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ไหม

“ไม่โอเค เราไม่โอเค (ตอบทันที) ยังไงเราก็ยังอยากอยู่ที่นี่ อย่างที่บอก ที่นี่มันเป็นวิถีชีวิตชุมชนที่ยังเหมือนเดิม และสะดวกสบายมาก ไปที่ไหนก็ใกล้ เดินทางสะดวก คนที่อยู่ในซอยบ้านเดียวกันนี่ก็รู้จักกันหมด ถ้าเราเลือกได้เราก็อยากอยู่ที่เดิม” พี่สุภาพรตอบมาทันที

อาศรมศิลป์เลยลองชวนให้ชาวชุมชนมาลองนึกถึงพื้นที่ริมน้ำที่เคยใช้สมัยอดีตจากความทรงจำ ทาบกับแผนที่ในปัจจุบัน และได้พื้นที่ริมน้ำมาหลายๆ จุดในย่านนี้ โดยจุดที่มีความน่าสนใจและเป็นไปได้มากที่สุดก็คือพื้นที่โรงกลึงเก่าริมท่าน้ำภานุรังษี ซึ่งทุกคนเคยเดินผ่านโรงกลึงแห่งนี้เข้ามาถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในสมัยก่อน

“ก็พอดีว่าในตอนนั้นทางมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปของกลุ่มอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ และ อ. ปองขวัญ ลาซูส (ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง bangkok 1899) มาคุยกับทางเราถึงเรื่องวาระร้อยปีชาตกาลอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งท่านก็เป็นคนตลาดน้อย และทางลูกศิษย์ของอาจารย์ป๋วยก็มีวาระร่วมกันคือ อยากจะทำอนุสรณ์ถึงอาจารย์ป๋วยสักอย่าง ซึ่งแง่มุมที่หลายคนไม่รู้เกี่ยวกับท่านก็คือ ความเป็นคนมีสุนทรียะ มีศิลปะ อยู่ในหัวใจ

“เราจึงคิดว่ามันน่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง และถ้ามันจะมีพื้นที่สักที่หนึ่งที่สื่อถึงมุมมองด้านสุนทรียะและศิลปะของอาจารย์ป๋วย และสร้างประโยชน์ต่อชุมชนในเวลาเดียวกัน มันก็จะเป็นอนุสรณ์แก่ท่านได้ดีมาก เราก็เลยได้ไอเดียในการผสานรวมเข้าด้วยกันกับพื้นที่โรงกลึงเก่าที่เราสนใจอยู่ขึ้นมา” โจเล่าให้ฟังถึงโอกาสที่ผ่านเข้ามาแบบไม่คาดฝัน

4

ขอ

หลังจากนั้นทุกคนจึงเริ่มการขอพื้นที่จากกรมธนารักษ์ให้กลับมาเป็นของสาธารณะ ซึ่งวิธีการขอพื้นที่นั้นช่างเรียบง่ายไม่ซับซ้อนแต่มีพลัง นั่นคือ การเขียนจดหมายขอ

“เราใช้วิธีเขียนจดหมายเป็นลายมือไปหากรมธนารักษ์ เพราะด้วยความที่มันเป็นกระดาษที่เขียนโดยลายมือคน เรารู้สึกว่ามันแสดงถึงความจริงใจ เราค่อยๆ เขียนไปทีละครั้งสองครั้ง ครั้งหนึ่งก็ 4 – 5 ฉบับ บางฉบับก็มีการร่วมลงนามในจดหมายด้วย ทางมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เข้ามาช่วยสนับสนุนในนามของโครงการ 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” โจเล่าย้อนความหลังถึงการได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามของโครงการ 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

บังเอิญที่ตอนนั้นมีลูกศิษย์ของ อ.ป๋วย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก็คือ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่สนใจโครงการนี้อย่างมาก เพราะเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์กับชุมชน เงื่อนไขเรื่องที่ดินก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เพราะมันเป็นที่ของรัฐเอง จนถึงค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้ใช้เงินที่สูงมากมาย จึงเกิดการประสานภายในกระทรวงมาจนถึงกรมธนารักษ์ ในช่วงที่ อ.นริศ ชัยสูตร เป็นอธิบดีอยู่ ซึ่งท่านก็เห็นถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ จึงเจรจากับผู้เช่าเดิมและทำให้เกิดการมอบพื้นที่คืนมาแก่ชุมชน พร้อมกับเงินค่าก่อสร้างเพื่อจัดทำเป็นพื้นที่สาธารณะตามที่พูดคุยกันได้สำเร็จ

ในตอนที่กรมธนารักษ์เจรจากับผู้เช่าเดิมที่มีพื้นที่อยู่ 400 ตารางวา ก็สรุปกันมาเป็นการขอแบ่งพื้นที่กลับมาทำพื้นที่สาธารณะกันได้ที่ 200 ตารางวา หรือครึ่งเดียวของพื้นที่ทั้งหมด

“พื้นที่ทั้งหมดคือ 400 ตารางวา สุดท้ายแล้วได้มา 200 ตารางวา แต่ถ้าทำแล้วเกิดประโยชน์แก่ชุมชนจริงๆ คนสามารถเข้ามาใช้ได้ รองรับกิจกรรม และชุมชนได้รับอากาศดีๆ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว” โจเล่าถึงความรู้สึกหลังจากที่รู้ผลการส่งมอบพื้นที่

5

เปลี่ยนโรงกลึงสู่พื้นที่สาธารณะ

หลังจากที่ได้พื้นที่มาแล้ว ก็ถึงเวลาที่สถาปนิกจะได้วางรูปแบบการใช้งานให้กับพื้นที่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะด้วยเงื่อนไขใหม่ที่ได้พื้นที่มาครึ่งเดียวของที่ตั้งใจไว้แต่แรก

“ชื่อของโครงการนี้ตอนที่เสนอกับทางกรมธนารักษ์คือ ‘สวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (พิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อย)‘ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราทำพิพิธภัณฑ์เพียงอย่างเดียว คนก็จะมาที่นี่แค่ครั้งเดียวในชีวิต ดังนั้น มันเลยจำเป็นต้องมีฟังก์ชันการใช้งานอย่างอื่นที่สร้างให้เกิดกิจกรรม ให้มีคนมาใช้งาน หรือแม้แต่ใครอยากมาเยี่ยมเราก็จะได้มีที่ต้อนรับและพูดคุยกัน ตรงนี้น่าจะเป็นโปรแกรมหลักที่ทางชุมชนและคนออกแบบคิดว่ามันควรจะเป็นพื้นที่หลักมากกว่าพิพิธภัณฑ์ เราก็เลยคิดว่าพื้นที่หลักของอาคารควรจะเป็นพื้นที่เอนกประสงค์สำหรับทุกคน พื้นที่สีเขียวสาธารณะริมน้ำ และร้านค้าสำหรับธุรกิจชุมชนนี้ ส่วนพื้นที่รองคือพิพิธภัณฑ์ป๋วย” โจอธิบายถึงการแบ่งพื้นที่ใช้สอยใหม่ในโครงการ

ตัวอาคารโรงกลึงเก่าที่ติดอยู่ในพื้นที่มาด้วยนั้นเป็นอาคารเก่าแก่เกือบร้อยปี แต่โครงสร้างค่อนข้างทรุดโทรม อาศรมศิลป์ซึ่งเคารพและเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์ในตัวอาคารโรงกลึงแห่งนี้จึงตัดสินใจสร้างอาคารใหม่โดยอิงรูปทรงและสัดส่วนจากอาคารโรงกลึงเดิม รวมถึงเก็บชิ้นส่วนของอาคารเดิมไว้ก่อนนำกลับมาประกอบกลับเข้ามาให้อยู่ในอาคารหลังใหม่ด้วย เพื่อที่ว่าในอนาคตถ้าย่านเซียงกงอาจจะไม่อยู่ที่ตลาดน้อยแล้ว แต่คนรุ่นหลังก็จะรับรู้ถึงอดีตของพื้นที่แห่งนี้ได้ผ่านทางโรงกลึงแห่งนี้

“ทีแรกสุดทีมก็เข้ามารังวัดและสำรวจตัวอาคารว่ามีองค์ประกอบไหนพอจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยตอนที่เราสร้างอาคารใหม่ขึ้นมา เราก็ถอดสัดส่วนมาจากอาคารโรงกลึงเก่า ตำแหน่งเสาแต่ละต้นก็ยึดเอาจากตำแหน่งเดิม ก่อนที่จะนำเอาเสาจากอาคารเดิมมาติดเข้าไปในอาคารใหม่โดยเป็นการประดับตกแต่งเพื่อให้เห็นถึงบรรยากาศอาคารหลังนี้ในสมัยก่อน”

และในด้านของพื้นที่ซึ่งเล็กกว่าที่คาดไว้ ทางสถาปนิกก็เกิดความคิดที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยให้เกิดความรู้สึกถึงพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น และทำให้โรงกลึงนั้นถูกเห็นจากในพื้นที่อย่างโดดเด่น อาคารส่วนหน้าสุดริมแม่น้ำที่ทอดตัวยาวตามความลึกของพื้นที่ที่ตั้งใจจะให้เป็นร้านค้าของธุรกิจในชุมชน จึงถูกออกแบบให้กรุปิดผิวอาคารด้วยกระจกเงาที่จะสะท้อนต้นไม้และทำให้พื้นที่ทั้งหมดดูเขียวและใหญ่ขึ้นนั่นเอง

ส่วนต้นไม้ใหญ่ทั้งสามต้นในพื้นที่นั้นชาวบ้านบางคนก็ว่าเป็นต้นไม้ดั้งเดิมที่อยู่มาตั้งแต่สมัยโรงกลึงยังเปิดทำงานอยู่ อายุของทั้งสามต้นนั้นจึงไม่น่าจะต่ำกว่า 50 ปี ซึ่งก็ได้มอบร่มเงาแสนร่มรื่นให้กับทั้งพื้นที่เป็นอย่างดี แม้ผมจะยืนอยู่ตอนเที่ยงวันแต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงลมแม่น้ำแสนเย็นสบายที่พัดโชยเข้ามา

6

ชุบชีวิต

หลังจากที่การก่อสร้างของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง คนในชุมชนต่างก็เริ่มมองเห็นอนาคตใหม่ของตลาดน้อย โดยสะท้อนผ่านออกมาทางการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเก่าในละแวกรอบๆ พิพิธภัณฑ์ป๋วย

“มันเป็นโดมิโนตัวแรกที่ค่อยๆ ขยับและทำให้คนแถวนี้เกิดแรงจูงใจที่อยากจะทำอะไรสักอย่างกับบ้านหรือตึกที่เขามีอยู่” โจเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เรารู้สึกว่าทุกคนในชุมชนได้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้ร่วมกันจริงๆ อย่างหลายๆ บ้านที่อยู่รอบๆ โครงการนี้ พอเขาเห็นการก่อสร้างใกล้เสร็จก็เห็นคุณค่าที่จะเกิดขึ้น และเริ่มมีการขยับตัวนำพื้นที่รกร้างมาทำเป็นอะไรบางอย่าง ซึ่งก็ทำให้เขาและชุมชนได้ประโยชน์ เพราะทำให้พื้นที่ที่ดูเสื่อมโทรมกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมหน้าของชุมชนนี้ไปได้เลย” ภาเสริมถึงการตื่นตัวของผู้คนในละแวกนี้

ทั้งสองคนยังอธิบายให้เราฟังอีกด้วยว่าในระยะยาวทางกรุงเทพมหานครมีแผนอยากจะทำแผนแม่บทใหม่ของกรุงเทพฯ ที่หยิบเอาพื้นที่ลักษณะนี้มาสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ กระจายไปในหลายๆ ชุมชน และหาทางเชื่อมพื้นที่สีเขียวเล็กๆ เหล่านั้นมันเข้าด้วยกันให้กลายเป็นเหมือน Green Link และพื้นที่พิพิธภัณฑ์ป๋วยแห่งนี้ก็เหมือนเป็นเคสที่จะถูกหยิบไปให้ชาวชุมชนอื่นๆ ได้ดูอีกด้วย

ในตอนนี้พื้นที่พิพิธภัณฑ์ป๋วยแห่งนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการส่งมอบงานจากผู้รับเหมา หลังจากส่งมอบกันเสร็จสิ้น กลุ่มคนรักตลาดน้อย สถาบันอาศรมศิลป์ และกรมธนารักษ์ จะหารือร่วมกันเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ อาจจะมีการก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่างมูลนิธิโดยมีกรรมการมาจากเจ้าของที่อย่างกรมธนารักษ์ ชุมชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้มาช่วยกันบริหารจัดการพื้นที่ ทั้งในส่วนของการดูแลความเรียบร้อย จัดกิจกรรม และหารายได้จากค่าเช่าที่และค่าจัดกิจกรรม เพื่อให้สถานที่แห่งนี้สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จการตั้งเป็นมูลนิธิในลักษณะที่ว่ามา โมเดลการจัดการพื้นที่แบบนี้ก็น่าจะถูกหยิบไปพัฒนาต่อในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปอีกเช่นกัน

สุดท้ายก่อนที่จะร่ำลากันจากพิพิธภัณฑ์ป๋วยแห่งนี้ ผมถามทางสถาปนิกผู้เริ่มทำโครงการนี้ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้วถึงความรู้สึกว่า ตัวสถาปนิกเองทำหน้าที่เกินความเป็นนักออกแบบอาคารไปรึเปล่า

“เรารู้สึกว่าสถาปนิกมันไม่ใช่อาชีพที่จะมาสร้างตึกใหญ่โตเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เราเหมือนเป็นคนตัวเล็กๆ ที่รับฟังอย่างตั้งใจ ว่าปัญหาของชุมชนคืออะไร แล้วสามารถประสานหาความร่วมมือกับใครได้บ้าง แม้เราจะเป็นแค่คนตัวเล็กๆ แต่ด้วยความเชื่อมโยงและการเอาจริง มันทำได้

“วันหนึ่งบทบาทของสถาปนิกมันอาจจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่สร้างตึกสวยๆ แต่สามารถสร้างความร่วมมือ เชื่อมโยงเครือข่าย แล้วก็ผลักดันโครงการดีๆ จากข้างล่างขึ้นข้างบน เพื่อให้มันเกิดประโยชน์ได้จริงๆ อย่างโครงการนี้แหละ” ภาทิ้งท้ายถึงหน้าที่ของสถาปนิกชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากวันวาน

ขอบคุณ บจ.สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ สถาบันอาศรมศิลป์

สวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (พิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อย)

ที่อยู่  : https://goo.gl/maps/eoJiXvVFcEjafyDj7

สถานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่สามารถเดินไปชมบรรยากาศด้านในได้

ระยะเวลาดำเนินงาน 8 ปี

สถาปนิกโครงการ ทีมสถาปนิก จาก บจ.สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ สถาบันอาศรมศิลป์

ภูมิสถาปัตย์ บริษัท ฉมาโซเอ็น จำกัด

เจ้าของที่ดิน กรมธนารักษ์

 

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan