18 กันยายน 2018
31 K

เมื่อมองจากสถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต เราจะเห็นพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่สุดลูกหูลูกตา ซึ่งประกอบไปด้วย 3 สวนสาธารณะ ได้แก่ สวนจตุจักร ขนาด 155 ไร่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ขนาด 196 ไร่ และสวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟ ขนาด 375 ไร่ รวมแล้วเป็นพื้นที่กว่า 726 ไร่ ขนาดเท่ากับสวนลุมพินีถึง 2 สวน

กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวใหญ่โตขนาดนี้ด้วยหรือ? หลายคนที่อ่านถึงตรงนี้คงตั้งคำถามในใจ ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใหญ่โตเท่าไหร่ หากเทียบกับ Central Park ณ มหานครนิวยอร์กซึ่งมีพื้นที่ถึง 2,000 ไร่

คำตอบคือ ไม่เสียทีเดียว สวนสาธารณะทั้งสามไม่ได้เชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียว เพราะถูกตัดขาดความต่อเนื่องของการใช้งานออกจากกันด้วยคูระบายน้ำและถนนใหญ่ที่จอแจไปด้วยการสัญจร

ทั้งที่จริงแล้ว ‘กรุงเทพมหานคร’ หรือ BMA มีแผนแม่บทในการรวมสวนสาธารณะทั้งสามแห่งเข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อ ‘อุทยานสวนจตุจักร’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 แต่จนแล้วจนรอด แผนที่ว่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเสียที เพราะความซับซ้อนและปัญหายุ่งยากที่จะตามมามากมาย เนื่องจากความแตกต่างด้านแนวคิด และการบริหารจัดการสวนสาธารณะแต่ละแห่ง

หลายปีผ่านไป ความฝันที่จะได้เห็นพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่อันชอุ่มชุ่มชื่นเริ่มจางหายไปจากความคิด จนเมื่อไม่นานมานี้ โปรเจกต์เล็กๆ โปรเจกต์หนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในจุดที่เงียบสงบที่สุดของทั้งสามสวนสาธารณะ พาเรากลับสู่ความหวังนี้อีกครั้ง

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

The Bird Wave Bridge คือสะพานไม้หน้าตาเรียบง่าย ความยาวเพียง 50 เมตร ที่ทอดตัวข้ามคู่น้ำที่กั้นกลางระหว่างสวนวชิรเบญจทัศ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สะพานแห่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มันเชื่อมสวนสาธารณะเข้าหากันด้วยวิธีไหน เรามีโอกาสไปสนทนาเพื่อหาคำตอบกับ คุณนำชัย แสนสุภา ภูมิสถาปนิกแห่ง Shma สตูดิโอ Landscape Architect เจ้าของโปรเจกต์นี้

ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของ The Bird Wave Bridge เราอยากชวนคุณทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ กันสักหน่อย

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

จากเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่แต่ละเมืองควรมีอัตราพื้นที่สีเขียวมากกว่า 9 ตารางเมตรต่อคน

แต่จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล พบว่า พื้นที่สวนสาธารณะปัจจุบันของกรุงเทพฯ มีจำนวน 7,642 แห่ง เนื้อที่ 22,134 ไร่ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของกรุงเทพฯ นับรวมประชากรแฝงซึ่งคาดว่ารวมแล้วจะมีประมาณ 10 ล้านคน ทำให้อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO มาก

และที่สำคัญ 3 ตารางเมตรกว่าๆ ที่ว่า นับรวมทุกหย่อมพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ทั้งหมด ตั้งแต่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ไปจนถึงเกาะกลางถนนทั่วกรุงเทพฯ ดังนั้น จะเห็นได้ทันทีว่ามหานครแห่งนี้ไม่ได้ขาดแค่พื้นที่สีเขียวในแง่ของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังขาดพื้นที่รองรับความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในเมืองอีกด้วย

นี่คือปัญหาระดับเมืองที่หลายฝ่ายกำลังเร่งหาทางแก้ไข เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคน สัตว์น้อยใหญ่ และพืชพรรณต่างๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งก็นับเป็นเรื่องน่าชื่นใจที่ได้ยินเช่นนั้น

ถ้าคุณพร้อมแล้ว ตามเราไปพบเรื่องราวความพิเศษที่ซ่อนอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ของสะพานไม้เล็กๆ ในสวนสาธารณะขนาดมหึมาแห่งนี้กัน

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

คุณนำชัยเริ่มเล่าให้เราฟังถึงเหตุผลที่ทำให้โครงการเชื่อมต่อสวนสาธารณะทั้งสามเข้าหากันเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วไม่ประสบผลสำเร็จ “แบบที่ออกมาในตอนนั้นจะต้องมีการต่อเติมสิ่งต่างๆ เข้าไปในพื้นที่สวนค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะการสร้างแกนด้วยสะพานลอยฟ้ามากมายระหว่างสวน ทำให้ถูกต่อต้านอย่างเนืืองๆ เพราะต้องตัดต้นไม้เพื่อก่อสร้างเยอะ

“ต่อมาแนวความคิดในการรวมสวนสาธารณะทั้งสามเข้าหากันจึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป จริงๆ แล้ววิธีการเชื่อมต่อการใช้งานในสวนให้ต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเชื่อมด้วยเรื่องกายภาพเสมอไป แต่สามารถเชื่อมต่อด้วยการเข้าถึงและกิจกรรม หรือที่เรียกว่า Soft Approach แทนได้”

จึงเป็นที่มาของโปรเจกต์ The Bird Wave Bridge สะพานเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความต่อเนื่องด้านการใช้งานของผู้คนระหว่างสวน สะพานแห่งนี้ถูกออกแบบด้วยหลักคิดการสร้าง Landmark นั่นคือต้องมีคาแรกเตอร์โดดเด่น เป็นที่สนใจ น่าจดจำ และสามารถดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้งานได้จริงๆ

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

คุณนำชัยเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของสวนสาธารณะทั้งสามแห่งว่า สวนจตุจักรเกิดขึ้นจากรัฐบาล พ.ศ. 2518 น้อมเกล้าฯ ถวายพื้นที่ 100 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อสร้างสวนสาธารณะ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ และเปิดให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ใน พ.ศ. 2523

ทุกวันนี้สวนจตุจักรตั้งชิดติดสถานีรถไฟใต้ดิน MRT และสถานีรถไฟฟ้า BTS ทำให้มีการใช้งานที่คึกคักตลอดทั้งสัปดาห์

สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ ได้รับมอบพื้นที่สนามกอล์ฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยเดิมจากกระทรวงคมนาคม เพื่อจัดสร้างเป็นสวนสาธารณะ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 โดยได้รับพระราชทานชื่อ สวนวชิรเบญจทัศ จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระชนมายุครบ 50 พรรษา

สวนรถไฟเป็นที่นิยมในช่วงสุดสัปดาห์ ด้วยเส้นทางวิ่งและปั่นจักรยานขนาดยาว ที่คดเคี้ยวไปกับทัศนียภาพที่สวยงามสมบูรณ์

สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เกิดขึ้นจากรัฐบาล พ.ศ. 2534 น้อมเกล้าฯ ถวายพื้นที่ 200 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อจัดสร้างสวนสาธารณะ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ครบ 5 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535

แม้จะเป็นสวนที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดในทั้งสามสวน แต่กลับได้รับความนิยมในการมาเยี่ยมชมน้อยที่สุด เพราะไกลจากระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และถูกตัดขาดจากอีกทั้งสองสวน มีเพียงคูระบายน้ำเล็กๆ ที่เชื่อมต่อสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เข้ากับสวนรถไฟเท่านั้น

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

คูระบายน้ำนี้เองคือที่ตั้งของ The Bird Wave Bridge หมู่แมกไม้ที่เงียบสงบดึงดูดนกหลายชนิด จากการสำรวจของ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดกิจกรรมดูนกบริเวณนี้อยู่บ่อยๆ

“ดังนั้นฟังก์ชันรองนอกเหนือจากการเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกิจกรรมระหว่างสวนสาธารณะของสะพานไม้แห่งนี้ คือการเป็นพื้นที่ด้อมๆ มองๆ นกหลากหลายสายพันธ์ุที่แวะเวียนกันมา จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมีที่นั่งพร้อมช่องเปิดที่เจาะไว้เป็นระยะตลอดความยาวของสะพาน ช่องเหล่านั้นเอาไว้แอบส่องนกอย่างไรล่ะ” คุณนำชัยกล่าวยิ้มๆ

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

คอนเซปต์หลักในการออกแบบ The Bird Wave Bridge นั้นเรียบง่ายมาก คือทำอย่างไรให้สิ่งปลูกสร้างใหม่ไม่ไปรบกวนและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดิม

“สภาพน้ำในคูจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ถ้าช่วงหน้าฝน น้ำเยอะ ทางสวนจะปล่อยให้น้ำระบายเข้าออก น้ำก็จะสะอาดขึ้นมาหน่อย ปกติน้ำในคูก็จะมีแหนบ้าง มีซากต้นไม้เก่าที่หักตกลงไปบ้าง ตอนออกแบบ เราปรึกษาสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย จึงได้ทราบว่าความระเกะระกะเหล่านี้ คือองค์ประกอบที่ทำให้พื้นที่เป็น Bird Friendly Area”

คุณนำชัยอธิบายเพิ่มว่า ไม่เฉพาะนกเท่านั้น แต่พื้นที่แถวนี้เป็นมิตรและเชื้อเชิญสัตว์หลากหลายสายพันธ์มาอยู่อาศัย เพราะมีปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ในธรรมชาติอย่างครบถ้วน ได้แก่ แหล่งอาหารและน้ำ ที่กำบังที่ปลอดภัย และที่อยู่อาศัยให้สัตว์ได้เลี้ยงดูลูกของตน ตั้งแต่นกที่อาศัยบนยอดไม้ ไปจนถึงฝูงปลาและสัตว์เลื้อยคลานที่แหวกว่ายอยู่ในสระ

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

“สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยแนะนำให้เราปรับระดับตลิ่งให้ลาดขึ้น เพื่อให้คูระบายน้ำมีส่วนน้ำตื้นไว้ให้นกน้ำบางชนิดสามารถเดินไปหากินได้ อย่างนกกระเต็นจะชอบโฉบหาปลาแถวๆ ซากต้นไม้เก่า ที่หมิ่นเหม่อยู่เหนือระดับน้ำ วันไหนอากาศดีๆ จะเห็นเต่าและตัวเงินตัวทองขึ้นมานอนอาบน้ำอีกด้วย” คุณนำชัยเสริม

เมื่อมองไกลๆ หรือมองภาพแปลนมุมสูง สะพานแห่งนี้มีรูปร่างเหมือนลูกคลื่น จึงเป็นที่มาของชื่อ The Bird Wave Bridge อันมีความหมายตรงตัวแบบคำต่อคำเป๊ะ

“ทุกการออกแบบมีฟังก์ชัน เหตุผล ที่มาที่ไปทั้งหมด แม้แต่ Curve หรือความคดโค้งของรูปทรงสะพาน เพราะบางจุดต้องหักเลี้ยวอ้อมต้นไม้เดิมที่มีอยู่ นอกจากนี้หากมองภาพกว้างขนาดใหญ่ของสวนสาธารณะทั้งสาม จะสามารถเห็นความอ่อนช้อยของเส้นสายการวางผังเดิม

“ดังนั้น เมื่อเราต้องออกแบบสะพานที่เป็นตัวเชื่อมความต่อเนื่องระหว่างสวน ความโค้งเหล่านี้จะช่วยให้บรรยากาศ อารมณ์ ในการใช้งานต่อเนื่องจากเส้นสายเดิมที่มีอยู่ ทั้งยังให้ความรู้สึกเป็นกันเองและผ่อนคลาย”

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

อีกสิ่งน่าสนใจที่คุณนำชัยเล่าให้ฟัง คือเรื่องวัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้าง The Bird Wave Bridge “ไม้ทุกชิ้นที่ใช้ในโปรเจกต์นี้เป็นไม้เก่าทั้งหมด เป็นไม้รีไซเคิลที่ถูกนำมา Reuse ซึ่งผู้รับเหมาได้มาจากการไปรื้อโครงสร้างเก่าที่ต้องการทำลาย”

มันน่าทึ่งมาก เพราะเมื่อมองเผินๆ เราแทบไม่เห็นร่องรอยความเก่าของไม้เหล่านี้เลย ทั้งที่จริงทุกชิ้นผ่านการใช้งานมาแล้วอย่างโชกโชน “คุณสมบัติพิเศษของไม้เก่าคือความทนทานและความสามารถในการยืดหดตัว เพราะผ่านแดด ลม ฝน แมลง และกาลเวลา มาแล้วครั้งหนึ่ง”

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

“โครงการที่กำลังจะเกิดตามมาเร็วๆ นี้ คือการเปลี่ยนที่จอดรถ JJ Green เป็นสวนขนาด 26 ไร่ นอกจากนี้ยังมีโครงการปิดหัวท้ายถนนที่ผ่ากลางสวนสาธารณะทั้งสามแห่ง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่สวนทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยไม่ได้รื้อถนนออก หรือตัดต้นไม้เพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มแบบแผนเดิมเมื่อหลายปีก่อน แต่กั้นประตูและเชื่อมทางเดินเป็นช่วงๆ ให้กิจกรรมระหว่างสวนเชื่อมต่อกันเท่านั้น

“หลังจากเชื่อมสวนผืนยักษ์เข้าหากันแล้ว คนเมืองจะมีเส้นทางวิ่งมินิมาราธอน ความยาว 10.5 กิโลเมตร ผ่านทั้งสามสวนที่มีวิวทิวทัศน์สีเขียวที่ไม่ซ้ำกันเลย แต่โปรเจกต์เหล่านี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นนะ ทาง BMA มีแผนที่จะเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวกรุงเทพฯ ก่อน จึงจะสามารถดำเนินการต่อได้”

คุณนำชัยอธิบายเรื่องอนาคตพื้นที่สีเขียวเมืองกรุงทิ้งท้ายว่า “กรุงเทพฯ ยังขาดพื้นที่สีเขียวที่พอเพียง ทั้งในแง่ขนาดพื้นที่และคุณภาพ สิ่งที่เราทำได้เร็วและง่ายที่สุดอันดับแรก คือปรับปรุงพื้นที่สาธารณะเดิมที่มีอยู่แล้ว และเพิ่มศักยภาพที่จะทำให้มันถูกใช้งานได้อย่างเต็มที่ 

“อันดับต่อไปคือหาพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ที่ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์ มาออกแบบพัฒนาให้เกิดการใช้งานสำหรับผู้คน ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่าพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สีเขียว (Green Space) เท่านั้น แต่เป็นที่ๆ คนได้ออกมาพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน

“ยุคปัจจุบันคนส่วนใหญ่มี awareness เรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ดังนั้นการจะผลักดันเรื่องพื้นที่สาธารณะและคุณภาพชีวิตผู้คนในกรุงเทพฯ มันมีทางเป็นไปต่อได้แน่นอน หากเราร่วมมือกัน”

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan