8 กุมภาพันธ์ 2018
5 K

เทรนด์การเปลี่ยนพื้นที่เก่าที่ไม่ใช้แล้วมาเป็นศูนย์ศิลปะสำหรับชุมชนเป็นกระแสการพัฒนาพื้นที่ที่แพร่หลายไปทั่วโลก ศูนย์สร้างสรรค์อย่าง Huashan 1914 Creative Park ในไต้หวันเกิดจากสวนสาธารณะเก่า แหล่งรวมดีไซเนอร์ฮ่องกงอย่าง PMQ เกิดจากอดีตโรงเรียนและแฟลตตำรวจ หรือ 59 Rivoli แกลเลอรี่และสตูดิโอศิลปินสุดชิกในปารีสก็เกิดจากตึกร้าง

หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก็เริ่มปรับปรุงที่เก่าให้สาธารณชนเข้าไปใช้งาน เช่น การปรับปรุงท่าเรือกลไฟริมน้ำเจ้าพระยาเป็น ล้ง 1919 หรือ การเปลี่ยนโรงพิมพ์ธนบัตรเก่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องน่าดีใจ แต่ไม่น่าแปลกใจนักสำหรับเมืองหลวง ในฐานะคนกรุงเทพฯ ฉันรู้ตัวว่าเรามักได้รับโอกาสทันสมัยก่อนชาวบ้านชาวช่องเขาเสมอ

Public Space ที่ฉันอยากจะเล่าให้คุณฟังครั้งนี้แตกต่างจากกรณีอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ศูนย์การเรียนรู้ศิลปะนี้เก๋มาก แม้ไม่ได้เกิดจากอิทธิพลเมืองนอกเมืองนา ไม่ได้เกิดจากการลงทุนมหาศาล และไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง

พื้นที่สาธารณะนี้อยู่ในจังหวัดมหาสารคาม เกิดจากกระติ๊บข้าว มูลควาย กับเงินเพียง 7,000 บาท

และกลุ่มคนเล็กๆ ที่ไม่นั่งรอโอกาส แต่ลงมือทำเพื่อชุมชนนาดูน

โรงละครโฮมทองศรีอุปถัมภ์

ตำบลนาดูนมีชื่อเสียงเรื่องพระบรมธาตุนาดูน นอกจากโบราณสถานอายุมากกว่า 1,300 ปี ที่นี่ไม่มีจุดเด่นอื่น

นาดูนไม่ใช่ตัวเมือง ไม่ใช่แหล่งเศรษฐกิจฟู่ฟ่า ประชากรทำการเกษตร ไม่ก็เข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำงาน คนที่อยู่บ้านเกิดมักเป็นคนแก่และเด็กๆ ซึ่งมีเวลาว่างหลังเลิกเรียน กิจกรรมที่พวกเขานิยมมักอยู่หลังหน้าจอ ไม่ก็อาจรวมกลุ่มแข่งรถ

ปรีชา การุณ

ครูเซียง-ปรีชา การุณ นักการละครหุ่นที่เดินทางเข้ามาทำละครโรงเรียนมองเห็นปัญหานี้ เขารู้สึกผูกพันกับเด็กๆ บ้านหนองโนใต้ และเชื่อว่าศิลปะดีกับเด็กๆ ในระยะยาว แต่การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ถ้าทำให้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ผ่านมาแล้วผ่านไป ชายหนุ่มจึงตัดสินใจปักหลักที่นี่เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตัวเอง

“ผมใช้กระบวนการศิลปะและละครมาพัฒนาเด็กๆ ในพื้นที่ กว่าจะได้ละครเรื่องหนึ่ง เด็กต้องอ่าน คิด เขียน ฝึกทักษะหลายด้าน แต่ศาสตร์ละครเป็นเรื่องใหม่สำหรับเด็กอีสาน เขารู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเล่น พ่อแม่บางคนเขาก็ไม่เข้าใจ มองว่าการแสดงคืออาชีพเต้นกินรำกิน”

ปัญหานี้เริ่มละลายหายไปในวันที่ครูเซียงผสมความเป็นอีสานเต็มขั้นในงานของตัวเอง

“วันหนึ่งเราไปเจอคุณตานั่งสานกระติ๊บข้าวอยู่ในชุมชน แล้วหลานวิ่งเข้ามาบอกว่าหิวข้าว พอเขาเปิดกระติ๊บแล้วเราหันไปเห็นพอดี มันเหมือนคนขยับปาก เลยเกิดไอเดียว่าไม่ทำหุ่นแบบเดิมแล้ว เราจะรับบริจาคกระติ๊บข้าวมาทำหุ่น ทำกระติ๊บเล็กเป็นลำตัว กระติ๊บใหญ่เป็นส่วนหัว แล้วก็ใช้ไม้ไผ่ที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นโครงสร้าง ข้อดีคือมันเบามากเพราะข้างในกลวง

หุ่นกระติ๊บข้าว หุ่นกระติ๊บข้าว หุ่นกระติ๊บข้าว หุ่นกระติ๊บข้าว หุ่นกระติ๊บข้าว

“หุ่นออกมาแบบอีสาน จะทำเป็นละครทั่วไปก็ไม่เหมาะแล้ว งั้นเราทำหมอลำดีกว่า เรารู้จักพ่อครูทองจันทร์ ปลายสวน ที่อยากสอนหมอลำแต่ไม่มีโอกาสและพื้นที่ ก็เลยเชิญมาสอน พอเป็นหมอลำปุ๊บ เด็กๆ ก็คุ้นเคยกับภาษา คุ้นเคยกับการแสดง พ่อแม่ก็เข้าใจและสอนลูกหลานได้ ผลคือพวกเขาเรียนรู้ได้เร็วมาก มาเล่นหุ่นได้ไม่เขินอาย เพราะเขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของมัน เด็กๆ ที่ขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก พอได้เล่นหุ่นเขาก็รู้สึกปลอดภัย เพราะเขาไม่ได้เป็นคนแสดง หุ่นต่างหากที่เป็นคนเล่าเรื่อง มีอะไรอยากเล่าก็พูดผ่านหุ่นได้”

ครูเซียงดึงเรื่ององคุลีมาล บุญบั้งไฟ พญาแถน พญาคันคาก พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าเทวทัต ดึงตัวละครและปริศนาธรรมจากฮูปแต้ม ภาพฝาผนังจากวัดท้องถิ่น ไปจนถึงเรื่องราวในชุมชนที่เด็กๆ ถ่ายทอดมาสร้างบทละครหมอลำหุ่น โดยจัดกิจกรรมพร้อมเสียงกลองเสียงแคนตามโรงเรียนต่างๆ

เมื่อการทำละครกลายเป็นกิจวัตรประจำวันหลังเลิกเรียนที่ประสบความสำเร็จมาก คณะละครเล็กๆ นี้ก็ต้องการพื้นที่ของตัวเองอย่างจริงจัง ถึงตอนนี้นักการละครหุ่นไม่ได้โดดเดี่ยวอีกต่อไป พลังที่ส่งให้ชุมชนเริ่มออกดอกออกผล พ่อแม่ที่เคยไม่สบายใจเมื่อลูกออกจากบ้านเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กเล็กเด็กโต คุณตาบุญโฮม และ คุณยายสมศรี พาดีจัน เลยบริจาคโรงรถเก่า พื้นที่ติดถนนข้างที่นาของตัวเอง ให้คณะศิลปินรุ่นเยาว์ที่ตั้งชื่อให้ตัวเองว่า ‘เด็กเทวดา’

“พอได้ที่ตรงนี้มาเราก็มาลงแขก พาเด็กๆ ไปเกี่ยวหญ้าคา เอาขี้ควายกับดินเหนียวมาผสมแล้วก็ฉาบแทนปูนซีเมนต์ สร้างเป็นโรงละครโฮมทองศรีอุปถัมภ์ ทุนเริ่มต้น 7,000 บาท”

เด็กเทวดา โรงละครโฮมทองศรีอุปถัมภ์ โรงละครหุ่นหมอลำ โรงละครหุ่นหมอลำ

ครูเซียงพาเดินชมโรงละครเล็กๆ ที่มีเวทีง่ายๆ ด้านหน้า ห้องเก็บหุ่นด้านหลัง ขยับขยายจนมีห้องจัดแสดงหุ่นมาสเตอร์พีซจากนิทานพื้นบ้านเรื่องสินไซให้คนทั่วไปเข้าชม ตัวละครกระติ๊บข้าวเกิดจากจินตนาการของเด็กๆ ที่เห็นภาพบนสิมหรือโบสถ์อีสาน ทั้งสาทพี่น้อง สินไซรูปหล่อ สีโหครึ่งสิงห์ครึ่งช้าง และสังข์ทองก้นหอย จนถึงงูซวงตัวใหญ่ที่มีหัวเป็นยักษ์ หุ่นเหล่านี้เป็นหุ่นยุคแรกๆ ที่ต้องใช้ 3 คนเชิด รูปแบบคล้ายหุ่นดั้งเดิมของญี่ปุ่น

ส่วนในห้องเก็บหุ่นด้านหลัง ศิลปินหนุ่มพาเราไปดูหุ่นยุคต่อมาที่พัฒนากลไกให้มีด้ามจับหลังลำตัว เช่น หุ่นที่มีรอยสักเต็มตัวมาจากเด็กคนหนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจจากคุณปู่ที่เป็นนักมวยเก่าจากศรีสะเกษ หุ่นนักเป่าแคนได้แรงบันดาลใจพ่อสมบัติ สิมหล้า นักเป่าแคนตามือหนึ่งของประเทศไทยที่เป็นคนตาบอด หุ่นตัวนี้มีเรื่องราวพิเศษ เพราะรุ่งสุริยา บุญสิงห์ ลูกศิษย์รุ่นแรกของครูเซียงชื่นชมพ่อสมบัติมากขนาดเดินทางไปเรียนเป่าแคนจนเชี่ยวชาญ จนตอนนี้กลับมาเป็นครูสอนหมอลำที่บ้านเกิด

หุ่นกระติ๊บข้าว หุ่นกระติ๊บข้าว

“เรื่องราวคติธรรม ธรรมะ ศิลปะ กล่อมเกลาเขา เขามาอยู่กับผมตอนปอสาม ตอนนี้อยู่มอหก เป็นผู้นำเยาวชนตั้งแต่เด็กเลย เขาตั้งชมรมหมอลำในโรงเรียนดงยางตั้งแต่มอสาม ตอนนี้มีหลักสูตรท้องถิ่น ทุกวันพุธบ่ายสามจะเรียนเรื่องหุ่น โดยที่เขาเป็นวิทยากร”

ครูเซียงเล่าอย่างภาคภูมิใจ ปัจจุบันคณะเด็กเทวดาจากชุมชนเล็กๆ นี้เดินสายพาหุ่นหมอลำไปรับงานเล่นละครทั่วประเทศ ทุกๆ วันหลังเลิกเรียน ศิลปินจิ๋วจะเข้ามาอ่านนิทาน ร้องหมอลำ และซ้อมละคร ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นช่างสานกระติ๊บก็มารวมตัวที่นี่เหมือนกัน เพราะทักษะสานหุ่นตัวจ้อยไปจนถึงไดโนเสาร์ตัวยักษ์กลับมาสร้างงานให้ประชากรอย่างสม่ำเสมอ

คณะเด็กเทวดา

“พอหุ่นดูแลชุมชน ชุมชนก็กลับมาดูแลหุ่น” นักการละครกล่าวพร้อมรอยยิ้มจริงใจ

โครงสร้างและระบบของโฮมทองศรีอุปถัมภ์แห่งตำบลนาดูนสุดแสนเรียบง่าย ดีไซน์อีสานถักทอกลมกลืนอยู่ในทุกส่วนของโรงละคร แม้ Public Space นี้เล็กมาก แต่ฟังก์ชันการทำงานนั้นเกินร้อย

เหตุผลที่เล่าเรื่องนี้ให้คุณฟัง เพราะฉันคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ไม่ใช่พื้นที่ และไม่ใช่ตุ๊กตา

หัวใจคนธรรมดาที่คิดถึง Public ต่างหาก ที่ทำให้ Space นี้งดงาม

ครูเซียง ปรีชา การุณ

Facebook : หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล