‘สวนเจริญประเทศ’ คือชื่อสวนสาธารณะแห่งใหม่ของเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 9 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวาของถนนชื่อเดียวกัน สิ่งน่าสนใจของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ไม่ใช่ขนาดใหญ่ยักษ์ ดีไซน์จัดจ้าน หรือนวัตกรรมล้ำที่สุด

แต่คือการเป็น ‘ปอด’ ผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของเมืองเชียงใหม่ที่คงอยู่ได้ด้วยพลังมวลชน

ผศ.ดร.เขมกร ไชยประสิทธิ์ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ผู้เป็นเรี่ยวแรงหลักของสวนเล่าให้ฉันฟังว่า เมื่อช่วงปลาย พ.ศ. 2559 กรมธนารักษ์ได้จัดการประมูลเพื่อนำที่ดินผืนนี้ซึ่งรกร้างมานานหลายสิบปีไปสร้างเป็น ‘บ้านธนารักษ์ประชารัฐ’ หรือบ้านพักสำหรับข้าราชการผู้มีรายได้น้อย

แน่นอนว่าโครงการนี้เป็นความคิดที่ดี แต่สิ่งชวนวิตกคือการสร้างโครงการซึ่งประกอบด้วยคอนโดขนาด 900 ยูนิตและร้านค้าบนที่ผืนนี้

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

อย่างแรกคือที่ดินผืนนี้ตั้งอยู่ริมถนนเจริญประเทศ พื้นที่กลางเชียงใหม่ซึ่งมีผู้คนหลากศาสนาตั้งรกรากอยู่เป็นชุมชนหนาแน่น ไม่ใช่แค่จำนวนผู้อยู่อาศัย ถนนสายนี้ยังมีโรงเรียนอีก 6 แห่งตั้งอยู่ ตั้งแต่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยจนถึงโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

ยังไม่ต้องมีคอนโดอีกแห่ง ถนนสายนี้ก็ทั้งคนเยอะและรถติดหนักหน่วงที่สุดในเชียงใหม่

มากกว่านั้น ถ้ามองจากมุมบน จะเห็นที่ดินผืนนี้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่บนแผนที่ เพราะที่นี่เป็นพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของเมืองเชียงใหม่ เปรียบเหมือนปอดฟอกอากาศขนาดใหญ่แห่งสุดท้าย

ทั้งหมดคือสาเหตุที่ชาวเจริญประเทศไม่อยากเห็นที่แห่งนี้แปรเปลี่ยนเป็นคอนโด

แต่แค่บ่นกันบนเฟซบุ๊กคงไม่อาจแก้ไขอะไรได้ ผู้คนทั้งในชุมชนและจากโรงเรียนจึงเริ่มเคลื่อนไหว โดยมีหนึ่งในผู้มีบทบาทหลักคือเหล่าศิษย์เก่าที่วันนี้เติบโตเป็นผู้รู้หลายแขนง มีเครือข่ายกว้างขวาง

การต่อสู้ระหว่างภาครัฐและประชาชนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลายหนมวลชนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

แต่ไม่ใช่ครั้งนี้

“ถ้าคนรวมตัวกันก็เอาชนะโครงการของรัฐที่เรารู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผลได้ แต่ต้องมียุทธวิธี” ผศ.ดร.เขมกรอธิบาย แล้วเล่าว่าเธอและกลุ่มผู้เคลื่อนไหวตั้งใจต่อสู้ด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริง

นอกจากกระบวนการที่เราคุ้นตา เช่น การยื่นหนังสือคัดค้าน เราจึงได้เห็นการเสาะหาข้อมูลน่าสนใจและมีน้ำหนักมานำเสนอ ตั้งแต่การหาสถิติว่าถนนเจริญประเทศมีปริมาณรถอยู่แล้วกี่คัน จนถึงการนำหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าสำรวจจนพบว่าพื้นที่นี้มีต้นไม้ถึง 29 ชนิด ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 16.68 ตัน และพาชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนามาเก็บข้อมูลยืนยันความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่

อีกเครื่องมือที่พวกเขาใช้คือ ‘สื่อ’ เหล่าข้อเท็จจริง รวมถึงเรื่องราวการเคลื่อนไหว เช่น การถือป้ายผ้าประท้วง การวาดภาพของเด็กนักเรียนจึงถูกนำเสนอผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กและสื่อมวลชน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดให้ลงชื่อคัดค้านผ่านเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งไต่ถึง 5,000 รายชื่ออย่างรวดเร็ว

ด้วยการเคลื่อนไหวอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ ในที่สุด กรมธนารักษ์ก็ประกาศยกเลิกการประมูลที่ดินผืนนี้และอนุญาตให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์

การคัดค้านของคนตัวเล็กกลุ่มนี้ลุล่วงในเวลาเพียง 10 วัน

แล้วพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ก็กลายเป็นว่าที่ ‘สวนเจริญประเทศ’ เพราะผู้คนลงความเห็นให้ที่นี่เป็นสวนสาธารณะซึ่งชุมชนและนักเรียนตัวน้อยได้ใช้ประโยชน์ แต่เนื่องจากทางภาครัฐให้ประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ กลุ่มผู้ขับเคลื่อนจึงจัดการประกวดแบบตั้งต้นของสวนขึ้นเอง โดยมีข้อกำหนดคือขอให้มีสิ่งปลูกสร้างน้อย เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ก็เพื่อรักษาสีเขียวของพื้นที่ไว้

การประกวดนี้มีประชาชนสนใจร่วมประกวดแบบมากมาย ตั้งแต่สถาปนิกจนถึงเหล่านักศึกษา จนได้ผู้ชนะคือ บริษัท แปลงกาย จำกัด จากจังหวัดเชียงราย 

จุดเด่นของแบบตั้งต้นนี้ คือเน้นให้คนอยู่ร่วมกับป่า โดยคงสภาพพื้นที่และระบบนิเวศไว้ให้มากที่สุด แล้วเสริมด้วยการจัดสัดส่วนให้เกิดระดับการเรียนรู้หลากหลาย โดยยึดแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 เช่น สวนสมรม ที่เน้นปลูกต้นไม้ผสมผสานให้ธรรมชาติเกื้อกูลกัน นอกจากนั้น ยังเสนอการจัดสัดส่วนพื้นที่โล่งให้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์และยืดหยุ่น รองรับผู้ใช้ที่หลากหลาย และสุดท้ายคือจัดทางสัญจรอย่างทางจักรยานให้รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด

 จากแบบสวนฝีมือประชาชน กลุ่มผู้ขับเคลื่อนพบว่า ต้องใช้เงินเพื่อจ่ายค่าการเขียนแบบจริงเป็นจำนวนเงิน 280,000 บาท แม้นับเป็นราคาถูกมากแล้วเพราะบริษัทผู้เขียนแบบลดให้เป็นกรณีพิเศษ แต่ลำพังทางกลุ่มเองคงสู้ไม่ไหว

การอาศัยพลังประชาชนจึงเกิดขึ้นอีกครั้งในรูปแบบ ‘การระดมทุน’

เงินหลั่งไหลมาเข้าบัญชีที่เปิดไว้ เมื่อดูภาพการอัพเดตบัญชีในเพจของสวนเจริญประเทศ ก็เห็นว่ามีจำนวนหลากหลาย เรียกว่าใครมีเท่าไหร่ก็ช่วยเท่านั้น

ในที่สุด ภารกิจนี้ก็สำเร็จได้ใน 4 วัน

เรี่ยวแรงมวลชนส่งสวนขนาดกว่า 9 ไร่นี้สู่การก่อสร้างระยะที่ 1 ซึ่งใช้งบจากรัฐจำนวน 14 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย โดยตามกำหนดการ สวนจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2561

ถึงตอนนี้ ถ้ามองผ่านประตูสังกะสีที่กั้นปอดผืนสุดท้ายของเมืองเชียงใหม่กับถนนเข้าไป คุณอาจยังเห็น ‘สวนเจริญประเทศ’ เป็นเพียงพื้นที่ว่างรกร้าง

หากสิ่งที่มองไม่เห็นแต่คงอยู่ คือเรื่องของ ‘สวนมหาชน’ ซึ่งพิสูจน์ว่าประชาชนมีพลังเพียงใด

Facebook : ร่วมสร้างสรรค์มหัศจรรย์กลางเมือง

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล