2 พฤศจิกายน 2017
9 K

ทำไมเราถึงไม่มีพื้นที่สีเขียวกินได้?

อันที่จริง สวนสมุนไพรหรือต้นกะหล่ำริมทางเท้าที่สวยแปลกตาไม่ใช่เรื่องใหม่ ในนิวยอร์กมีพื้นที่สาธารณะสีเขียวมากมาย และหลายที่ก็ปลูกพืชพันธุ์ที่กินได้ แต่มีกฎว่าห้ามเด็ด แตะต้อง หรือเคลื่อนย้าย ต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ  แล้วทำไมเราถึงปลูกต้นไม้ที่กินได้ในพื้นที่ที่เราแตะต้องต้นไม้ไม่ได้? นี่อาจดูเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่จะตอบ แต่แล้วก็มีแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์เมื่อ Mary Mattingly (แมรี่ แมททิงลีย์) วิชวลอาร์ติสท์ชาวนิวยอร์ก ไปเจอว่า ไม่มีกฎข้อไหนห้ามแตะต้องของที่อยู่ในน้ำ

งั้นเราก็เอาของกินได้ไปลอยน้ำซะเลยสิ!

“ศิลปะมันมักจะตั้งคำถามกับคน ความแตกต่างของศิลปินกับนักออกแบบคือ นักออกแบบออกแบบเพื่อตอบคำถาม ขณะที่ศิลปินสร้างงานศิลปะเพื่อตั้งคำถาม”

แมรี่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ของคน สิ่งของ และธรรมชาติ ผลงานของเธอเลยมักจะพูดถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ เธอเชื่อว่า พื้นที่สาธารณะนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อทุกคน และมันจะยั่งยืนได้ดีที่สุดด้วยการจัดการของคนในพื้นที่ซึ่งพึ่งพาอาศัยกัน เชื่อใจกัน และทำงานร่วมกันเพื่อดูแลพื้นที่ของพวกเขาเอง รวมถึงเชื่อว่า อาหารก็ควรเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะ

เทรนด์พื้นที่สีเขียวกินได้กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ พอได้ข่าวว่า Swale โครงการพื้นที่สีเขียวกินได้ในรูปแบบเรือลอยน้ำของแมรี่จัดดินเนอร์ปาร์ตี้ในสวนผัก แถมเจ้าสวนนี้มันลอยน้ำเเละเคลื่อนที่ไปรอบตัวเมืองนิวยอร์ก ก็ยิ่งทำให้เราตื่นเต้นขึ้นไปอีก สารภาพว่าภาพแรกในหัวตอนที่ได้ยินนั้นคิดว่าเป็นแคมเปญเก๋ๆ ของร้านอาหารที่จัดดินเนอร์ผักออร์แกนิกบนเรือ มีสวนผักเล็กๆ สำหรับทำสลัด และนั่งชมวิวตึกสูงในแมนฮัตตันบนแม่น้ำฮัดสัน โห โคตรฮิป!

เราไม่ได้ไปดินเนอร์เพราะติดเรียนค่ะ แต่เข้าไปส่องดูโปรเจกต์นี้ ก่อนจะตามไปจุดจอดล่าสุดที่ South Bronx เซาธ์บรองซ์) พอไปถึงของจริงนั้น ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับที่คิดเลยยยยย ไม่ใช่ไม่ดี แต่มันฮิปกว่านั้นมากต่างหาก!

เรานั่งรถไฟไปเกือบสุดสาย The Bronx ลงที่สถานี Whitlock ave. เป็นที่รู้กันดีว่าย่านบรองซ์นั้นขึ้นชื่อเรื่องอาชญากรรมและอันตราย แต่นอกจากนั้นย่านเซาธ์บรองซ์ ยังได้ชื่อว่าเป็นทะเลทรายของอาหาร (food desert) ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของอเมริกา ซึ่งเมื่อระบบตอบสนองความต้องการพื้นฐานไม่แข็งแรงก็ย่อมส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนไม่แข็งแรงไปด้วย ซึ่งนำไปสู่อาชญากรรมไงเล่า เราเดินมุ่งหน้าไป Concrete Plant Park สวนริมน้ำเล็กๆ ที่แม้เช้านี้ฝนตกและท้องฟ้ายังคงเป็นสีเทาๆ แต่ก็มีผู้คนออกมานั่งเล่น ตกปลา และทำกิจกรรม กันพอสมควร

Swale ซึ่งดัดแปลงมาจากเรือบรรทุกสินค้าเก่าจอดเทียบท่าอยู่ เนื่องจากช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูใบไม้ร่วงแล้ว ต้นไม้เลยแลดูบางตาไปบ้าง Amanda (อะแมนด้า) ภัณฑารักษ์ของที่นี่ พาเราเดินดูต้นไม้ต่างๆ เด็ดนั่นนี่มาให้ดม พอรู้ว่าเป็นคนไทย เธอก็เดินไปเด็ดใบโหระพามาให้ แล้วก็ปีนไปเก็บใบโหระพาอิตาเลียนมาให้ดมเปรียบเทียบ หลังจากเธอเดินไปเดินมา มุดโน่นเก็บนี่มาให้เราดูสักพัก ก็คงเริ่มจับได้ว่ามีคนไทยสองคนยืนงงอยู่ว่ามันคืออะไร เธอเลยอธิบายว่า ต้นไม้ของที่นี่ปลูกแบบผสมกันเพื่อให้มันเติบโตไปแบบธรรมชาติที่สุด และคัดมาแล้วว่าพวกมันจะอยู่รอดได้ในช่วงฤดูหนาว ถ้าเป็นเด็กๆ มาใหม่ก็จะสนุกกับการหาต้นโน้นต้นนี่ ส่วนเธอทำงานที่นี่มานานจนจำได้แล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหน เด็กบางคนที่มาที่นี่ก็ได้มาเห็นต้นไม้ตัวจริงจากที่ปกติเคยเห็นแต่บนพิซซ่า อย่างเช่นออริกาโน (เราก็เพิ่งเคยเห็นครั้งแรก) ครึ่งหนึ่งของคนที่มาที่นี่เป็นคนในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวพาลูกๆ มาเรียนรู้ อีกส่วนเป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากย่านอื่น

เราอาจจะคุ้นเคยกับการเห็นป้ายห้ามเด็ด หรือห้ามเหยียบในสวน แต่ที่นี่กลับเชิญชวนให้เรามาเด็ด มาหยิบกลับบ้าน ไปจนถึงเอามาปลูก

ต้นไม้ของที่นี่หลากหลาย ตั้งแต่โหระพา มินต์ ออริกาโน กะหล่ำปลี บลูเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ เคล ต้นหอม ไปจนถึงแอปเปิ้ล (ที่จริงมันมีเยอะกว่านี้แหละ แต่หลายต้นเราก็ไม่รู้จัก) แม้ว่าต้นไม้ทุกต้นจะกินได้ เรื่องความปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้เช่นกันหากจะเปิดให้คนกิน ที่นี่จึงให้ความสำคัญในการทำป้ายเพื่อให้ความรู้ด้วย และ Swale ยังต้องหาคำตอบในเรื่องว่าถ้าเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนเข้ามาเก็บได้อย่างเสรีแล้วมันจะเป็นการทำลายต้นไม้ และส่งผลต่อระบบแลนด์สเคปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เขาก็กำลังหาคำตอบร่วมกันกับองค์กรผู้เชี่ยวชาญ และที่สำคัญ คือให้ความรู้คนในชุมชน เพื่อหาคำตอบร่วมกันในด้านการจัดการและดูแลด้วย นับว่า Swale ขยายนิยามคำว่า สวนสาธารณะ ออกไปกว้างกว่าการเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อนของทุกคน สู่การเป็นพื้นที่ที่เราทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา พัฒนา และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

หลังจากไปจอดที่ Governors Island และ Brooklyn Bridge Park Swale กลับมาจอดที่ Concrete Plant Park อีกครั้งเนื่องจากเสียงตอบรับที่ดีของโครงการ ทำให้หน่วยงานรัฐมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างสวนสาธารณะที่กินได้ขึ้นมาจริงๆ ปีนี้ Swale ร่วมมือกับ Bronx River Alliance, The Point และ the New York City Parks Department เป็นพี่เลี้ยงให้โครงการ Foodway ที่รัฐตั้งใจจะเปลี่ยนสวนริมแม่น้ำบรองซ์ให้กลายเป็นสวนครัวสาธารณะของชุมชน และไม่ใช่แค่สวนนี้นะ แต่ยาวไป 23 ไมล์ตลอดทั้งแม่น้ำเลย

เล่าแล้วก็นึกถึงตอนที่คุณป้ากั้นรั้วเพื่อไม่ให้มะม่วงตกไปบ้านข้างๆ หรือบางปีที่มะม่วงออกลูกดกจนไม่รู้จะเอาไปแจกใคร… ยิ่งคิดก็… ยิ่งอยากกินข้าวเหนียวมะม่วง

Swale จึงกลายเป็นสวนสาธารณะกินได้แห่งแรกของเมืองนิวยอร์ก เป็นพื้นที่ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมดูแลพื้นที่ของตัวเอง เป็นโมเดลที่ผลักดันให้เกิดสวนทดลองที่สนับสนุนโดยภาครัฐและกำลังผลักดันไปสู่นโยบายของรัฐ และขอพูดอีกครั้งว่า Swale เริ่มจากการเป็นงานศิลปะที่เกิดจากวิชวลอาร์ติสท์ผู้หญิงคนหนึ่งที่เชื่อและลงมือทำ ย้อนกลับไปที่คำถามว่า ทำไมเราถึงไม่มีพื้นที่สีเขียวกินได้? แมรี่อาจไม่มีอำนาจพอจะเปลี่ยนคำตอบบางอย่าง

แต่เธอทำให้เห็นว่า คำตอบมีได้หลากหลายกว่านั้น

“Swale is an artwork. Art is integral to imagining new worlds. By continuing to create and explore new ways of living, we hope that Swale will strengthen our ways of collaborating, of cooperating, and of supporting one another.” – Swale website

 

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปอ่านได้ที่

www.swaleny.org

 

ที่ตั้งของสวน

Writer

Avatar

ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาต่อสาขา design for social innovation ที่สถาบัน School of Visual Art ในนิวยอร์ก สนใจงานศิลปะ และการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม