30 กันยายน 2017
18 K

ในฐานะผู้ทำงานแถวทองหล่อหลายปี ฉันมองว่าบุคลิกโดดเด่นของย่านนี้คือ การเป็นย่านอุดมร้านเก๋และเป็นที่ซึ่ง night life งอกงาม แต่นอกจากบุคลิกที่เป็นภาพจำ ทองหล่อยังเป็น ‘บ้าน’ ของทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กันตามคอนโดสูง การอยู่ ‘บ้าน’ หลังนี้หมายถึงคุณได้อยู่กลางเมือง ใกล้รถไฟฟ้า มีคาเฟ่เก๋ให้นั่งหย่อนใจ มีห้างให้เดินเล่น เป็นวิถีน่าอิจฉาสำหรับใครหลายคน

แต่รู้ไหมว่ามีอะไรที่บ้านหลังนี้ยังขาดแคลน?

คำตอบคือ สวนสาธารณะและพื้นที่สร้างสรรค์ที่ทุกคนมาใช้งานร่วมกันได้

ที่จริงแล้ว ทองหล่อเคยมี Root Garden หรือพื้นที่ว่างตรงซอยทองหล่อ 3 ซึ่ง ‘โครงการพลิกฟื้นผืนดินไทยใจกลางเมือง’ หยิบมาแปลงร่างเป็นสวนและพื้นที่สร้างสรรค์กลางกรุงเทพฯ หากเมื่อหมดสัญญา Root Garden ก็ปิดตัวลงท่ามกลางความเสียดายของหลายคน

แต่ 1 ปีผ่านไป ฉันก็ได้ยินข่าวดีว่าพื้นที่ว่างตรง Root Garden เดิมจะฟื้นคืนชีพ

‘สวนครูองุ่น’ คือชื่อของสวนสาธารณะและพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่นี้

ฉันเข้าไปนั่งพูดคุย ชุตินาถ กาญจนกุล ผู้จัดการโครงการสวนครูองุ่นในพื้นที่สวนซึ่งมีขนาด 250 ตารางวา อาจฟังดูไม่ใหญ่โต แต่สำหรับทองหล่อซึ่งค่าที่แพงระยับ แน่นอนว่ามันมีราคาสูงลิบ

อย่างไรก็ตาม ชุตินาถบอกว่าที่ดินผืนนี้คือสิ่งที่ ครูองุ่น มาลิก ผู้ทำงานเพื่อสังคมมากมายมอบไว้เป็นพื้นที่สีเขียวของสาธารณะ เมื่อมูลนิธิกระจกเงาเข้ามาขอดูแลที่ผืนนี้ พวกเขาจึงตั้งใจทำให้ที่นี่เขียวชอุ่มอย่างที่ครูตั้งใจ และเน้นให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กๆ เพราะกระจกเงาทำกิจกรรมด้านนี้อยู่แล้ว ( ‘เด็ก’ ของชาวกระจกเงาไม่ใช่แค่เด็กในคอนโดหรือบ้านเดี่ยว แต่ยังหมายถึงเด็กจากชุมชนแออัดท้ายซอย จนถึงลูกๆ ของแรงงานก่อสร้างในเหล่าโครงการอสังหาฯ ย่านทองหล่อด้วย)

สวนครูองุ่นจึงมีพื้นที่หลักเป็น ‘สวนหน้าบ้านของชาวทองหล่อ’ หรือสวนสาธารณะที่ผู้ใหญ่ได้มาพักผ่อน ขณะที่เด็กๆ ก็ได้มาเรียนรู้ธรรมชาติและเล่นเครื่องเล่นที่ออกแบบเพื่อเด็กอย่างแท้จริง

แต่มากกว่านั้น สวนแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เต็มความหมาย เพราะประกอบด้วยพื้นที่อีกหลายส่วน ตั้งแต่  ‘ห้องเรียนมนุษย์’ ที่เน้นการศึกษาแบบนอกระบบ โดยจับคู่ผู้สอนและผู้เรียนตามความสนใจ ‘ร้านแบ่งปัน’ ที่ตั้งขึ้นเพื่อระดมทุน ลานจัดกิจกรรมเพื่อสังคม จนถึงพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่เล่าเรื่องราวของครูองุ่น และภายใน 5 ปี ชาวกระจกเงาตั้งใจจะสร้างโรงละครขนาด 100 ที่นั่ง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับละครหุ่นมือสำหรับเด็กที่ครูองุ่นริเริ่มขึ้น และยังคงมีลูกศิษย์สานต่อมาถึงปัจจุบัน

ความพิเศษของสวนยังไม่หมดเท่านี้ ชุตินาถบอกฉันว่า ในวันที่การก่อสร้างไหนๆ ก็ใช้เครื่องจักร สวนครูองุ่นกลับเป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยแรงคน ที่สำคัญ คนที่ว่านั้นคือจิตอาสา หรือผู้ที่มาช่วยโดยไม่ได้ค่าตอบแทนสักบาท

ตั้งแต่วันแรกที่สร้างสวน ทางมูลนิธิและเครือข่ายช่วยกันระดมแรงจิตอาสา ผลคือมีกระแสตอบรับดีเยี่ยม ด้านแรงงานนั้นมีตั้งแต่เด็กตัวจิ๋ว ผู้ใหญ่ทั่วไป จนถึงนักโทษชั้นดีจากกรมราชทัณฑ์ (ในวันที่ฉันไปนั่งคุย ยังมีคนเดินเข้ามาขอขุดดินอยู่พักใหญ่ก่อนจะกลับออกไป) ส่วนด้านการบริจาค ก็มีตั้งแต่การบริจาคสิ่งของอย่างไม้ต่อเครื่องเล่น จนถึงบริจาคทักษะและแนวคิด อย่างการเข้ามาช่วยออกแบบสวน และช่วยสอนวิธีชงกาแฟสำหรับชงขายในร้านแบ่งปัน

ทุกคนมาร่วมสร้างสวนแห่งนี้ ทั้งที่รู้ว่าจะมามือเปล่า กลับมือเปล่า

เพราะสิ่งที่พวกเขาได้ไม่ใช่เงินในมือ แต่เป็นบางอย่างที่งอกงามในใจ

“แรงงานอาสาไม่ใช่ได้มาง่ายๆ นะ อยู่ดีๆ เขาจะมาทำให้ตัวเองเหนื่อยทำไม แต่พอเขามา แล้วเราปฐมนิเทศว่าที่นี่คืออะไร เราทำไปเพื่ออะไร และคุณจะได้อะไรกลับไป ซึ่งอย่างน้อยก็จะได้ความรู้สึกที่มีคุณค่า ทุกคนเข้าใจเหมือนกันหมด เอาอัตตาทิ้งไว้แล้วเข้ามาทำงานด้วยใจ มีนักโทษชายชั้นดีคนหนึ่งบอกด้วยว่า ถ้าพ้นโทษ ผมขอมาที่นี่ได้มั้ย คือครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของอะไรสักอย่างที่เราคิดว่าดีจะสร้างคุณค่าในจิตใจเรา” ชุตินาถบอกฉัน ก่อนอธิบายต่อว่า ไม่ใช่แค่เกิดขึ้นด้วยแรงอาสา แต่มูลนิธิกระจกเงายังตั้งใจให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องงานอาสา รวมถึงรับบริจาคสิ่งของ ซึ่งเป็นอีกงานที่ทางมูลนิธิทำอยู่แล้วด้วย

สวนครูองุ่นมีกำหนดเปิดตัวในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 และคงกลายเป็นพื้นที่อันเป็นที่รักของชาวทองหล่อและเพื่อนบ้านได้ไม่ยาก หากชุตินาถกล่าวว่า ความหวังของมูลนิธิกระจกเงาคือ อยากให้ผู้คนไม่ใช่แค่แวะเวียนมาใช้พื้นที่ แต่เห็นคุณค่าและหยิบเอาไอเดียนี้ไปต่อยอดกับพื้นที่ตัวเองในทุกส่วนของเมือง

“พื้นที่สร้างสรรค์คือการใช้พื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์โดยไม่มีกรอบ ถ้าถามว่ากรุงเทพฯ ขาดสิ่งนี้อยู่มั้ย เราคิดว่าไม่เชิงขาดเสียทีเดียว แต่มันก็มีพื้นที่ซึ่งไม่ได้ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์จริงๆ อยู่ เช่น สวนสาธารณะก็มีไว้เพื่อออกกำลังกายและนั่งเล่น แต่ไม่ได้เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่ครบวงจรและเป็นไปตามธรรมชาติ การจัดกิจกรรมก็จัดเแล้วจบไป ไม่เกิดความต่อเนื่องและยาวนาน

“เราอยากให้สวนครููองุ่นเป็นต้นแบบหนึ่งซึ่งที่อื่นมาหยิบไปทำเป็นของตัวเองได้ เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนมีพื้นที่และเสียดายพื้นที่รกร้าง แทนที่จะสร้างคอนโดซึ่งมีเยอะแล้ว (หัวเราะ) เราคิดว่าพื้นที่สร้างสรรค์จะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลง อาจเป็นระดับเล็ก แต่อนาคตอาจกลายเป็นระดับใหญ่ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงประเทศไปเลยก็ได้”

ฉันเคยได้เรียนวิชาเกี่ยวกับเมือง บทเรียนหนึ่งสอนไว้ว่า เรามักมองว่าเมืองคือตัวสร้างปัญหา แต่ที่จริงเมืองคือเครื่องมือซึ่งใช้ไม่ดีย่อมส่งผลเสีย แต่ถ้าใช้ให้ดี ก็แน่นอนว่าย่อมก่อเกิดผลงดงาม

สวนครูองุ่นคือผลการเลือกของครูและชาวกระจกเงา ส่วนพื้นที่ว่างอื่นๆ ในเมืองของเรา ก็อยู่ที่คุณและฉันแล้วว่าจะเลือกใช้มันแบบไหน

Facebook : สวนครูองุ่น 

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan