ขอพูดอย่างไม่เก็บอาการว่าอิจฉา เมื่อได้ยินว่าชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กำลังจะมี อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี’ พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแบบ ในอาณาเขตกว่า 100 ไร่ของอุทยานฯ ประกอบด้วยสวนสาธารณะใหญ่ยักษ์ระดับเมือง และอาคารป๋วย 100 ปี ตึกเรียนสีเขียวรูปตัว H ใต้หลังคาที่โค้งเป็นเนินดินเก๋ล้ำ (ชื่อของอาจารย์ป๋วยแปลว่าพูนดิน) ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนมีแนวคิดชาญฉลาดอยู่เบื้องหลัง เพราะมีแรงขับเคลื่อนหลักอย่างอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บวกกับทีมออกผังแม่บทด้วยทีม CIDAR (Center of Innovative Design and Research) แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาปนิกสถาบันอาศรมศิลป์ และภูมิสถาปนิก LANDPROCESS

ถ้าให้นิยามอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ฉันมองว่านี่คือพื้นที่สาธารณะที่มีดีไซน์โดดเด่นเตะตา แถมยังคิดถึงสิ่งแวดล้อม คิดถึงผู้คน มองไปข้างหน้าแต่ยังเก็บรักษาจิตวิญญานดั้งเดิมเอาไว้ ฟังแล้วชวนอิจฉาตาร้อน และชวนคิดว่าจะดีแค่ไหนถ้าพื้นที่บ้านเราได้ถูกใช้อย่างสร้างสรรค์แบบนี้อีกเยอะๆ

เกริ่นมาเสียยาว ด้านล่างนี้คือสิ่งที่ฉันได้ไปนั่งคุยกับ อาจารย์ปริญญา และ อาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกแห่ง LANDPROCESS มา (อีกผลงานของอาจารย์กชที่กำลังฮอตคืออุทยานจุฬาฯ 100 ปีนั่นเอง) ไปดูดีกว่าว่าสวนนี้โอบกอดแนวคิดเท่และมีประโยชน์อะไรไว้บ้าง

1. สวนที่คิดถึงทั้งคนและต้นไม้

อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

จุดเริ่มต้นของอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ต้องเริ่มเล่าจากว่า เทรนด์มหาวิทยาลัยชั้นนำยุคนี้ขยับจากคำว่า ‘มหาวิทยาลัยสีเขียว’ มาเป็น ‘มหาวิทยาลัยยั่งยืน’ กันแล้ว ถ้าถามว่าต่างกันยังไง คำตอบคือ ความกรีนนั้นชวนให้เรานึกถึงสิ่งแวดล้อม แต่คำว่ายั่งยืนหมายรวมทั้งสิ่งแวดล้อมและผู้คน ทีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เองก็กำลังก้าวไปทางนี้ ด้วยการใส่การออกแบบที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวและบริการประชาชนลงไปในการวางผังแม่บท

“ธรรมศาสตร์มีประโยคว่า ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน ส่วนมหาวิทยาลัยสีเขียวเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนก็คือ 2 เรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เราจะดึง 2 คำมาทำให้กลายเป็นคำใหม่ของเราคือ People and Sustainability จากเดิมมี People นี่ก็ต้องมี Sustainability ด้วย” อาจารย์ปริญญาอธิบาย และการคิดถึงทั้งคนและต้นไม้นี่เอง คือคอนเซปต์ใหญ่สุดที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของอุทยาน

2. ในสวนนี้มี ‘ภูเขา’

อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

จากแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ชาวธรรมศาสตร์เห็นว่าพื้นที่บริเวณถัดจากอาคารยิมเนเซียม 2 ซึ่งตอนนี้ปรับปรุงกลายเป็นหอประชุมใหญ่นั้น เป็นพื้นที่สีเขียวที่ปล่อยไว้ไม่มีการจัดการ สมควรหยิบมาทำเป็นสวนสาธารณะ รวมถึงสร้างอาคารใหม่ด้วยเพื่อเชื่อมธรรมศาสตร์ระหว่างความเป็นชุมชนทางวิชาการกับผู้คนจริงๆ

และเนื่องจากมีวาระแสนพิเศษคือการครบรอบ 100 ปีของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปูชนียบุคคลของทั้งชาวธรรมศาสตร์และคนไทย อาคารใหม่จึงได้ชื่อว่า อาคารป๋วย 100 ปี เป็นอาคารพร้อมสวนสาธาณะ มีความพิเศษคือเป็นตึกรูปตัว  H สร้างอยู่ใต้หลังคาที่เป็น ‘พูนดิน’ ซึ่งมีความหมายสอดคล้องชื่ออาจารย์ป๋วย และพูนดินที่ว่าไม่ใช่แค่การจับดินมาถม แต่เป็นพื้นที่สีเขียวภายใต้คอนเซปต์ของ ‘ภูเขา’  ที่เราเดินขึ้นไปชมได้และมีห้องเรียน หรือพื้นที่ทรงครึ่งวงกลม (amphitheater) ที่เอื้อให้จัดกิจกรรมได้หลากหลาย

“ผมเสนอคอนเซปต์ว่าให้เป็นภูเขาได้มั้ย ขอให้เป็นต้นไม้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะใหญ่ได้ แต่แน่นอน จะปลูกต้นไม้บนอาคารก็มีข้อจำกัด แต่เราก็จะทำให้ใหญ่ที่สุด มันคือการอยู่ด้วยกันระหว่างอาคารสมัยใหม่กับต้นไม้ ซึ่งเป็นอนาคตของมนุษยชาติ จะเลือกเมืองโดยโค่นต้นไม้  มันเป็นไปไม่ได้แล้ว โลกร้อนเป็นเรื่องจริง และไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะดึงคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้วิเศษไปกว่าต้นไม้” อาจารย์ปริญญาบอก แล้วเล่าต่อว่านอกจากเป็น ‘หลังคาสีเขียว’ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและช่วยให้อาคารร่มเย็น หลังคาพูนดินนี้ยังมีพื้นที่สำหรับติดโซลาร์เซลล์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานด้วย

3. ไม่ใช่แค่สวนของเด็ก มธ. แต่คือสวนของทุกคน

ถ้าใครเคยไปธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จะรู้สึกได้ว่ามหาวิทยาลัยนี้อาจมีพื้นที่ไม่ใหญ่ แต่แสนจะเป็นกันเอง คือแม้จะเป็นคนนอกก็เดินเข้าไปได้อย่างไม่แปลกแยก แต่อาจารย์ปริญญาบอกว่า ธรรมศาสตร์ รังสิต อันกว้างขวาง แม้จะมีบริเวณอย่างโรงยิมหรือสระว่ายน้ำที่คนนอกเข้ามาใช้ได้ แต่ก็ยังไม่ให้ความรู้สึกเหมือนที่นั่น เมื่อถึงคราวออกแบบอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี อาจารย์ปริญญาจึงตั้งใจให้ที่แห่งนี้เป็นสวนของทุกคนจริงๆ ซึ่งจะว่าไป ความเท่าเทียมนี้ก็คือส่วนหนึ่งของความเป็นธรรมศาสตร์ที่ทุกคนรู้จักดี  

“การออกแบบสวนนี้จะเหมือนเอาจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยออกมา พื้นฐานของประชาธิปไตยตั้งมั่นอยู่บนหลักการว่าพลเมืองเสมอกัน เราแตกต่างกัน อาชีพก็หลากหลาย แต่เราเสมอภาคกันในการเป็นเจ้าของประเทศที่จะออกมาในสวนแห่งนี้” อาจารย์ปริญญาบอกความตั้งใจ

4. ห้องเรียนกลางแจ้งที่สอนวิชา ‘ประชาธิปไตย’

อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

มองในมุมหนึ่ง อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ประกอบด้วยอาคารใต้เนินดินที่สวยเท่และรักษ์โลก กับตัวพื้นที่สีเขียวรอบๆ แต่อีกมุมหนึ่ง อุทยานนี้ยังถูกออกแบบเพื่อให้เป็นห้องเรียนกลางแจ้งที่จะสอนผู้มาเยือนให้รู้จักคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ อันอยู่คู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเนิ่นนาน ถ้ามองมุมห้องเรียน พื้นที่ของอุทยานจะแบ่งได้เป็น 4 ส่วน แทนหัวใจของประชาธิปไตย นั่นคือ ประชาชน เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ

อันดับแรก ส่วน ‘ประชาชน’ คือลานโล่งติดกับถนนพหลโยธิน เป็นลานที่รองรับกิจกรรมและต้อนรับชุมชนให้เข้ามาใช้ ตั้งแต่จัดกิจกรรมกลุ่มทั้งเล็กใหญ่ ออกกำลังกาย จนถึงเป็นห้องเรียนที่นิสิตกับชุมชนได้มาเจอกัน เรียกว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมใช้พื้นที่อย่างแท้จริง

ถัดมาคือ ส่วน ‘เสมอภาค’ พื้นที่ส่วนนี้อยู่ตรงกลาง เป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ที่ทุกคนเดินเข้ามาใช้งานได้ พื้นที่เปิดโล่งนี้จะลาดขึ้นสู่ด้านบนเนินดินของอาคารป๋วย 100 ปี 

สำหรับส่วน เสรีภาพ’ คือ ขอบของสวนทั้งสองข้าง ที่มีพื้นที่จัดกิจกรรมหลากหลายประเภท เป็นพื้นที่ที่นักศึกษาและประชาชนสามารถใช้พื้นที่ร่วมกัน และเป็นพื้นที่ที่มีไว้ให้ผู้คนได้มาออกกำลังกาย

สุดท้ายคือส่วน ‘ภราดรภาพ’ พื้นที่ก่อนเข้าตัวอาคาร ภราดรภาพในที่นี้หมายถึงไมตรีระหว่างศิษย์ ครู หรือเพื่อน พื้นที่ส่วนนี้จึงมีทั้งลานกว้างทรงครึ่งวงกลมไว้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ จนถึงไฮด์ปาร์ก และก่อนเข้าอาคารยังมีรูปปั้นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่ 

นอกจากนี้ รอบอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ยังมีทางเดินที่ทำไว้เป็นเส้นทางศึกษาเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยอีกด้วย

การมาใช้พื้นที่ของอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีของทั้งนักศึกษาและผู้ใหญ่ จึงหมายถึงการมาเป็นนักเรียนรู้จักความหมายของประชาธิปไตยไปด้วยในตัว

5. สวนสาธารณะไร้พรมแดน

ขณะที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชื่อมร้อยอยู่กับเหตุการณ์ประชาธิปไตยเข้มข้น ธรรมศาสตร์ รังสิต ได้รับบทเป็นศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยสึนามิในปี 2547 และถัดมาก็ยังเป็นศูนย์พักพิงช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพราะฉะนั้น ถ้าฝั่งท่าพระจันทร์มักมีคำว่าประชาธิปไตยตัวใหญ่แปะอยู่ ทางฝั่งรังสิตก็มีคำว่าจิตอาสา ซึ่งอาจารย์ปริญญาบอกว่าเป็นสิ่งที่ข้ามพ้นเรื่องประเทศหรือชนชาติไป และแน่นอน จิตวิญญาณแบบธรรมศาสตร์ รังสิต ก็ถูกถ่ายทอดไว้ในอุทยานแห่งนี้ด้วย

“สวนเราไม่ได้เป็นเพียงสวนสาธารณะ แต่เราต้องการให้นักศึกษาคิดถึงมนุษยชาติ เพื่อบรรลุสิ่งนั้น สวนจะไม่ได้มีแต่ต้นไม้ แต่ต้องมีงานศิลปะ ต้องมีพื้นที่กิจกรรม” อาจารย์ปริญญากล่าว

6. พา ‘ทุ่งรังสิต’ กลับมา

อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

แม้ทุกวันนี้พื้นที่ย่านรังสิตจะมีกลิ่นอายความเป็นเมืองอบอวลขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าหันกลับไปมองอดีต พื้นที่ตรงนี้เคยเป็น ‘ทุ่งรังสิต’ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน (มีคนบอกว่าความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหลากหลายระดับเคยมีเสือ และสัตว์มากมายด้วย…)  อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีตั้งใจจะไม่ทิ้งคุณค่าเชิงนิเวศของพื้นที่นี้และฟื้นฟูมันกลับมา การออกแบบในเชิงนิเวศจึงมีกลิ่นอายของทุ่งหญ้าพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีน้ำกร่อยเต็มที่ ตั้งแต่เลือกใช้ต้นไม้ที่ทนสภาพน้ำกร่อยได้ การเพิ่บรรยากาศความเป็นทุ่ง จนถึงการส่งเสริมให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำทางธรรมชาติด้วยวิธีอย่างเก็บสระน้ำดั้งเดิมไว้    

และถ้าใครเคยติดตามผลงานของ LANDPROCESS จะรู้ว่าบริษัทภูมิสถาปนิกเจ้านี้โดดเด่นเรื่องน้ำ และให้ความสำคัญกับพื้นที่ชุ่มน้ำมาก สวนสาธารณะธรรมศาสตร์เพื่อประชาชนที่ตั้งอยู่ในเมืองชุ่มน้ำอย่างปทุมธานีจึงเชื่อมโยงกับเรื่องน้ำทั้งหมดของผังแม่บทเรื่องการระบายน้ำของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับตัวมหาวิทยาลัยและเมือง โดยให้ระบบคูและทางระบายน้ำของมหาวิทยาลัยเชื่อมกับสวน เมื่อมีน้ำมา สวนแห่งนี้จะรองรับน้ำ ซึมน้ำ และบำบัดน้ำ ด้วยพืชชนิดต่างๆ ก่อนปล่อยน้ำสู่ระบบคลองเดิม นอกจากนี้ ถ้าเกิดน้ำท่วม แล้วธรรมศาสตร์ต้องสามารถพลิกตัวเองไปเป็นศูนย์บำบัดหรือศูนย์ช่วยเหลืออย่างที่เคยเกิดขึ้น สวนนี้ก็จะไม่ใช่แค่ที่ช่วยรับน้ำ แต่จะกลายเป็นศูนย์พักพิงที่ผู้ประสบภัยมาใช้ประโยชน์กางเต็นท์นอนได้ มีหลังคาอาคารทรงเนินดินเป็นส่วนพื้นที่แห้งพ้นน้ำด้วย

7. เราจะเป็นสวนสาธารณะให้เมือง

อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

ย่านรังสิตมีชุมชนหนาแน่น แต่แทบไม่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ระดับเมือง ซึ่งหมายถึงสวนขนาดเกิน 50 ไร่ และรองรับกิจกรรมได้ขนาดหลักพัน หลักหมื่นคน อยู่เลย ดังนั้น อุทยาทเรียนรู้ป๋วย 100 ปีก็จะเข้ามารับบทนี้ โดยการเป็นสวนใหญ่ระดับเมืองหมายถึงช่วยตอบโจทย์กิจกรรมคนได้มากขึ้น เช่น มีสนามเด็กเล่น มีพื้นที่ออกกำลังกายจริงจัง แต่เมื่อสวนนี้ไม่ทิ้งลายความเป็นธรรมศาสตร์ คนที่มาใช้เลยไม่ใช่แค่ได้ออกกำลังกาย แต่น่าจะได้มุมมองด้านสังคมกลับไปด้วย (นึกภาพว่ามาวิ่งแล้วได้ผ่านเส้นทางเรียนรู้ประชาธิปไตยด้วย บรรยากาศก็น่าจะประมาณนั้นแหละ)

8. สวนที่ตั้งใจฟังเสียงของเรา

นอกจากต้องอาศัยความรู้ทางภูมิสถาปัตย์ การออกแบบสวนสาธารณะยังต้องคิดเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ สำหรับกรณีอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ผู้ออกแบบเห็นว่าชาวธรรมศาสตร์มีบุคลิกโดดเด่นคือ เป็นคนที่มีสิทธิ์เสียง มีส่วนร่วม การออกแบบครั้งนี้จึงตอบโจทย์ด้วยกระบวนการทำ ‘ประชาพิจารณ์’ เพื่อฟังเสียงว่าที่ผู้ใช้ว่าต้องการอะไรกันบ้าง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในการสร้างสวนสักแห่ง (เป็นสิ่งที่ฉันประทับใจมากและรู้สึกว่านี่มันแก่นของสวนสาธารณะของชาวธรรมศาสตร์สุดๆ) แน่นอนว่าความเห็นจะหลากหลายมาก และทำจริงไม่ได้ทั้งหมด แต่การมีคนฟังเสียงของเรานี่มันดีจริงๆ นะ

9. ต้นไม้ที่เติบโตพร้อมผู้คน

อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

เพราะรู้ว่าเมื่อเวลาผ่าน ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนแปลง อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีจึงถูกออกแบบด้วยการมองไปข้างหน้าอย่างรอบคอบและรอบด้าน

“เราจะไม่มองแค่ประชาคมธรรมศาสตร์ที่มีอยู่ในวันนี้ แต่ต้องคิดถึงความน่าจะเป็นในทุกมิติว่าถ้าน้ำท่วมอีกรอบนึงล่ะ ถ้ามีคนอยากไฮด์ปาร์กล่ะ ถ้าอยากจัดงานเฉลิมฉลอง พื้นที่สีเขียวแห่งนี้นี้จะรองรับอุดมคติของประชาชนและชาวธรรมศาสตร์ที่จะเกิดในยุคต่อไปได้ยังไง การออกแบบสวนสาธารณะคือการออกแบบด้วยวิสัยทัศน์ถึงอนาคต มันท้าทายตรงนี้” อาจารย์กชกร วรอาคม แห่ง LANDPROCESS อธิบาย แล้วเฉลยว่าทางออกคือการออกแบบให้อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีมีกรอบแนวคิดที่แสดงความเป็นธรรมศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ชัด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ออกแบบทุกอย่างชนิดจบบริบูรณ์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ อุทยานแห่งใหม่ของชาวธรรมศาสตร์ รังสิต จึงเป็นพื้นที่ที่ถูกคิดมาเพื่อวันนี้ และแน่นอน เพื่อวันข้างหน้า

เหมือนปลูกต้นไม้เฉพาะถิ่นลงในพื้นที่ที่เหมาะสม แล้วจากนั้นก็ปล่อยให้มันเติบโตไปพร้อมสภาพแวดล้อม สังคมและผู้คน-กชกรเปรียบเทียบไว้แบบนั้น

ขอขอบคุณ : LANDPROCESS

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN