ขอพูดอย่างไม่เก็บอาการว่าอิจฉา เมื่อได้ยินว่าชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กำลังจะมี ‘ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี’ พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแบบ ในอาณาเขตกว่า 100 ไร่ของอุทยานฯ ประกอบด้วยสวนสาธารณะใหญ่ยักษ์ระดับเมือง และอาคารป๋วย 100 ปี ตึกเรียนสีเขียวรูปตัว H ใต้หลังคาที่โค้งเป็นเนินดินเก๋ล้ำ (ชื่อของอาจารย์ป๋วยแปลว่าพูนดิน) ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนมีแนวคิดชาญฉลาดอยู่เบื้องหลัง เพราะมีแรงขับเคลื่อนหลักอย่างอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บวกกับทีมออก ผังแม่บทด้วยทีม CIDAR (Center of Innovative Design and Research) แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาปนิก สถาบันอาศรมศิลป์ และภูมิสถาปนิก LANDPROCESS
ถ้าให้นิยามอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ฉันมองว่านี่คือพื้นที่สาธารณะที่มีดีไซน์โดดเด่นเตะตา แถมยังคิดถึงสิ่งแวดล้อม คิดถึงผู้คน มองไปข้างหน้าแต่ยังเก็บรักษาจิตวิญญานดั้งเดิมเอาไว้ ฟังแล้วชวนอิจฉาตาร้อน และชวนคิดว่าจะดีแค่ไหนถ้าพื้นที่บ้านเราได้ถูกใช้อย่างสร้างสรรค์แบบนี้อีกเยอะๆ
เกริ่นมาเสียยาว ด้านล่างนี้คือสิ่งที่ฉันได้ไปนั่งคุยกับ อาจารย์ปริญญา และ อาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก แห่ง LANDPROCESS มา (อีกผลงานของอาจารย์กชที่กำลังฮอตคืออุทยานจุฬาฯ 100 ปีนั่นเอง) ไปดูดีกว่าว่าสวนนี้โอบกอดแนวคิดเท่และมีประโยชน์อะไรไว้บ้าง
1. สวนที่คิดถึงทั้งคนและต้นไม้
จุดเริ่มต้นของอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ต้องเริ่มเล่าจากว่า เทรนด์มหาวิทยาลัยชั้นนำยุคนี้ขยับจากคำว่า ‘มหาวิทยาลัยสีเขียว’ มาเป็น ‘มหาวิทยาลัยยั่งยืน’ กันแล้ว ถ้าถามว่าต่างกันยังไง คำตอบคือ ความกรีนนั้นชวนให้เรานึกถึงสิ่งแวดล้อม แต่คำว่ายั่งยืนหมายรวมทั้งสิ่งแวดล้อมและผู้คน ทีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เองก็กำลังก้าวไปทางนี้ ด้วยการใส่การออกแบบที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวและบริการประชาชนลงไปในการวางผังแม่บท
“ธรรมศาสตร์มีประโยคว่า ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน ส่วนมหาวิทยาลัยสีเขียวเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนก็คือ 2 เรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เราจะดึง 2 คำมาทำให้กลายเป็นคำใหม่ของเราคือ People and Sustainability จากเดิมมี People นี่ก็ต้องมี Sustainability ด้วย” อาจารย์ปริญญาอธิบาย และการคิดถึงทั้งคนและต้นไม้นี่เอง คือคอนเซปต์ใหญ่สุดที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของอุทยาน
2. ในสวนนี้มี ‘ภูเขา’
จากแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ชาวธรรมศาสตร์เห็นว่าพื้นที่บริเวณถัดจากอาคารยิมเนเซียม 2 ซึ่งตอนนี้ปรับปรุงกลายเป็นหอประชุมใหญ่นั้น เป็นพื้นที่สีเขียวที่ปล่อยไว้ไม่มีการจัดการ สมควรหยิบมาทำเป็นสวนสาธารณะ รวมถึงสร้างอาคารใหม่ด้วยเพื่อเชื่อมธรรมศาสตร์ระหว่างความเป็นชุมชนทางวิชาการกับผู้คนจริงๆ
และเนื่องจากมีวาระแสนพิเศษคือการครบรอบ 100 ปีของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปูชนียบุคคลของทั้งชาวธรรมศาสตร์และคนไทย อาคารใหม่จึงได้ชื่อว่า อาคารป๋วย 100 ปี เป็นอาคารพร้อมสวนสาธาณะ มีความพิเศษคือเป็นตึกรูปตัว H สร้างอยู่ใต้หลังคาที่เป็น ‘พูนดิน’ ซึ่งมีความหมายสอดคล้องชื่ออาจารย์ป๋วย และพูนดินที่ว่าไม่ใช่แค่การจับดินมาถม แต่เป็นพื้นที่สีเขียวภายใต้คอนเซปต์ของ ‘ภูเขา’ ที่เราเดินขึ้นไปชมได้และมีห้องเรียน หรือพื้นที่ทรงครึ่งวงกลม (amphitheater) ที่เอื้อให้จัดกิจกรรมได้หลากหลาย
“ผมเสนอคอนเซปต์ว่าให้เป็นภูเขาได้มั้ย ขอให้เป็นต้นไม้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะใหญ่ได้ แต่แน่นอน จะปลูกต้นไม้บนอาคารก็มีข้อจำกัด แต่เราก็จะทำให้ใหญ่ที่สุด มันคือการอยู่ด้วยกันระหว่างอาคารสมัยใหม่กับต้นไม้ ซึ่งเป็นอนาคตของมนุษยชาติ จะเลือกเมืองโดยโค่นต้นไม้ มันเป็นไปไม่ได้แล้ว โลกร้อนเป็นเรื่องจริง และไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะดึงคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้วิเศษไปกว่าต้นไม้” อาจารย์ปริญญาบอก แล้วเล่าต่อว่านอกจากเป็น ‘หลังคาสีเขียว’ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและช่วยให้อาคารร่มเย็น หลังคาพูน ดินนี้ยังมีพื้นที่สำหรับติดโซลาร์เซลล์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานด้วย
3. ไม่ใช่แค่สวนของเด็ก มธ. แต่คือสวนของทุกคน
ถ้าใครเคยไปธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จะรู้สึกได้ว่ามหาวิทยาลัยนี้อาจมีพื้นที่ไม่ใหญ่ แต่แสนจะเป็นกันเอง คือแม้จะเป็นคนนอกก็เดินเข้าไปได้อย่างไม่แปลกแยก แต่อาจารย์ปริญญาบอกว่า ธรรมศาสตร์ รังสิต อันกว้างขวาง แม้จะมีบริเวณอย่างโรงยิมหรือสระว่ายน้ำที่คนนอกเข้ามาใช้ได้ แต่ก็ยังไม่ให้ความรู้สึกเหมือนที่นั่น เมื่อถึงคราวออกแบบอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี อาจารย์ปริญญาจึงตั้งใจให้ที่แห่งนี้เป็นสวนของทุกคนจริงๆ ซึ่งจะว่าไป ความเท่าเทียมนี้ก็คือส่วนหนึ่งของความเป็นธรรมศาสตร์ที่ทุกคนรู้จักดี
“การออกแบบสวนนี้จะเหมือนเอาจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยออกมา พื้นฐานของประชาธิปไตยตั้งมั่นอยู่บนหลักการว่าพลเมืองเสมอกัน เราแตกต่างกัน อาชีพก็หลากหลาย แต่เราเสมอภาคกันในการเป็นเจ้าของประเทศที่จะออกมาในสวนแห่งนี้” อาจารย์ปริญญาบอกความตั้งใจ
4. ห้องเรียนกลางแจ้งที่สอนวิชา ‘ประชาธิปไตย’
มองในมุมหนึ่ง อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ประกอบด้วยอาคารใต้เนินดินที่สวยเท่และรักษ์โลก กับตัวพื้นที่สีเขียวรอบๆ แต่อีกมุมหนึ่ง อุทยานนี้ยังถูกออกแบบเพื่อให้เป็นห้องเรียนกลางแจ้งที่จะสอนผู้มาเยือนให้รู้จักคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ อันอยู่คู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเนิ่นนาน ถ้ามองมุมห้องเรียน พื้นที่ของอุทยานจะแบ่งได้เป็น 4 ส่วน แทนหัวใจของประชาธิปไตย นั่นคือ ประชาชน เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ
อันดับแรก ส่วน ‘ประชาชน ’ คือลานโล่งติดกับถนนพหลโยธิน เป็นลานที่รองรับกิจกรรมและต้อนรับชุมชนให้เข้ามาใช้ ตั้งแต่จัดกิจกรรมกลุ่มทั้งเล็กใหญ่ ออกกำลังกาย จนถึงเป็นห้องเรียนที่นิสิตกับชุมชนได้มาเจอกัน เรียกว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ ประชาชนมีส่วนร่วม ใช้พื้นที่อย่างแท้จริง
ถัดมาคือ ส่วน ‘เสมอภาค’ พื้นที่ส่วนนี้อยู่ตรงกลาง เป็นพื้นที่ โล่งขนาดใหญ่ที่ทุกคนเดินเข้ามาใช้งานได้ พื้นที่เปิดโล่งนี้จะลาดขึ้นสู่ด้านบนเนินดินของอาคารป๋วย 100 ปี
สำหรับส่วน ‘ เสรีภาพ’ คือ ขอบของสวนทั้งสองข้าง ที่มีพื้นที่จัดกิจกรรมหลากหลายประเภท เป็นพื้นที่ที่นักศึกษาและประชาชนสามารถใช้พื้นที่ร่วมกัน และเป็นพื้นที่ที่มีไว้ให้ผู้คนได้มาออกกำลังกาย
สุดท้ายคือส่วน ‘ภราดรภาพ’ พื้นที่ก่อนเข้าตัวอาคาร ภราดรภาพในที่นี้หมายถึงไมตรีระหว่างศิษย์ ครู หรือเพื่อน พื้นที่ส่วนนี้จึงมีทั้งลานกว้างทรงครึ่งวงกลมไว้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ จนถึงไฮด์ปาร์ก และก่อนเข้าอาคารยังมีรูปปั้นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่
นอกจากนี้ รอบอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ยังมีทางเดินที่ทำไว้เป็นเส้นทางศึกษาเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยอีกด้วย
การมาใช้พื้นที่ของอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีของทั้งนักศึกษาและผู้ใหญ่ จึงหมายถึงการมาเป็นนักเรียนรู้จักความหมายของประชาธิปไตยไปด้วยในตัว
5. สวนสาธารณะไร้พรมแดน
ขณะที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เชื่อมร้อยอยู่กับเหตุการณ์ประชาธิปไตยเข้มข้น ธรรมศาสตร์ รังสิต ได้รับบทเป็นศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยสึนามิในปี 2547 และถัดมาก็ยังเป็นศูนย์พักพิงช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพราะฉะนั้น ถ้าฝั่งท่าพระจันทร์มักมีคำว่าประชาธิปไตยตัวใหญ่แปะอยู่ ทางฝั่งรังสิตก็มีคำว่าจิตอาสา ซึ่งอาจารย์ปริญญาบอกว่าเป็นสิ่งที่ข้ามพ้นเรื่องประเทศหรือชนชาติไป และแน่นอน จิตวิญญาณแบบธรรมศาสตร์ รังสิต ก็ถูกถ่ายทอดไว้ในอุทยานแห่งนี้ด้วย
“สวนเราไม่ได้เป็นเพียงสวนสาธารณะ แต่เราต้องการให้นักศึกษาคิดถึงมนุษยชาติ เพื่อบรรลุสิ่งนั้น สวนจะไม่ได้มีแต่ต้นไม้ แต่ต้องมีงานศิลปะ ต้องมีพื้นที่กิจกรรม” อาจารย์ปริญญากล่าว
6. พา ‘ทุ่งรังสิต’ กลับมา
แม้ทุกวันนี้พื้นที่ย่านรังสิตจะมีกลิ่นอายความเป็นเมืองอบอวลขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าหันกลับไปมองอดีต พื้นที่ตรงนี้เคยเป็น ‘ทุ่งรังสิต’ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน (มีคนบอกว่าความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหลากหลายระดับเคยมีเสือ และสัตว์มากมายด้วย…) อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีตั้งใจ จะไม่ทิ้งคุณค่าเชิงนิเวศของพื้นที่นี้และฟื้นฟูมันกลับมา การออกแบบในเชิงนิเวศจึงมีกลิ่นอายของ ทุ่งหญ้าพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีน้ำกร่อยเต็มที่ ตั้งแต่เลือกใช้ต้นไม้ที่ทนสภาพน้ำกร่อยได้ การเพิ่บรรยากาศความเป็นทุ่ง จนถึงการส่งเสริมให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำทางธรรมชาติด้วยวิธีอย่างเก็บสระน้ำดั้งเดิมไว้
และถ้าใครเคยติดตามผลงานของ LANDPROCESS จะรู้ว่าบริษัทภูมิสถาปนิกเจ้านี้โดดเด่นเรื่องน้ำ และให้ความสำคัญกับพื้นที่ชุ่มน้ำมาก สวนสาธารณะธรรมศาสตร์เพื่อประชาชนที่ตั้งอยู่ในเมืองชุ่มน้ำอย่างปทุมธานีจึงเชื่อมโยงกับเรื่องน้ำ ทั้งหมดของผังแม่บทเรื่องการระบายน้ำของ มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับตัว มหาวิทยาลัยและเมือง โดยให้ระบบคูและทางระบายน้ำของมหาวิทยาลัยเชื่อมกับสวน เมื่อมีน้ำมา สวนแห่งนี้จะรองรับน้ำ ซึมน้ำ และบำบัดน้ำ ด้วยพืชชนิดต่างๆ ก่อนปล่อยน้ำสู่ระบบคลองเดิม นอกจากนี้ ถ้าเกิดน้ำท่วม แล้วธรรมศาสตร์ต้องสามารถพลิกตัวเองไปเป็นศูนย์บำบัดหรือศูนย์ช่วยเหลืออย่างที่เคยเกิดขึ้น สวนนี้ก็จะไม่ใช่แค่ที่ช่วยรับน้ำ แต่จะกลายเป็นศูนย์พักพิง ที่ผู้ประสบภัยมาใช้ประโยชน์กางเต็นท์นอนได้ มี หลังคาอาคารทรงเนินดิน เป็นส่วนพื้นที่แห้งพ้นน้ำด้วย
7. เราจะเป็นสวนสาธารณะให้เมือง
ย่านรังสิตมีชุมชนหนาแน่น แต่แทบไม่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ระดับเมือง ซึ่งหมายถึงสวนขนาดเกิน 50 ไร่ และรองรับกิจกรรมได้ขนาดหลักพัน หลักหมื่นคน อยู่เลย ดังนั้น อุทยาทเรียนรู้ป๋วย 100 ปีก็จะเข้ามารับบทนี้ โดยการเป็นสวนใหญ่ ระดับเมือง หมายถึงช่วยตอบโจทย์กิจกรรมคนได้มากขึ้น เช่น มีสนามเด็กเล่น มีพื้นที่ออกกำลังกายจริงจัง แต่เมื่อสวนนี้ไม่ทิ้งลายความเป็นธรรมศาสตร์ คนที่มาใช้เลยไม่ใช่แค่ได้ออกกำลังกาย แต่น่าจะได้มุมมองด้านสังคมกลับไปด้วย (นึกภาพว่ามาวิ่งแล้วได้ผ่านเส้นทางเรียนรู้ประชาธิปไตยด้วย บรรยากาศก็น่าจะประมาณนั้นแหละ)
8. สวนที่ตั้งใจฟังเสียงของเรา
นอกจากต้องอาศัยความรู้ทางภูมิสถาปัตย์ การออกแบบสวนสาธารณะยังต้องคิดเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ สำหรับกรณีอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ผู้ออกแบบเห็นว่าชาวธรรมศาสตร์มีบุคลิกโดดเด่นคือ เป็นคนที่มีสิทธิ์เสียง มีส่วนร่วม การออกแบบครั้งนี้จึงตอบโจทย์ด้วยกระบวนการทำ ‘ประชาพิจารณ์’ เพื่อฟังเสียงว่าที่ผู้ใช้ว่าต้องการอะไรกันบ้าง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในการสร้างสวนสักแห่ง (เป็นสิ่งที่ฉันประทับใจมากและรู้สึกว่านี่มันแก่นของสวนสาธารณะของชาวธรรมศาสตร์สุดๆ) แน่นอนว่าความเห็นจะหลากหลายมาก และทำจริงไม่ได้ทั้งหมด แต่การมีคนฟังเสียงของเรานี่มันดีจริงๆ นะ
9. ต้นไม้ที่เติบโตพร้อมผู้คน
เพราะรู้ว่าเมื่อเวลาผ่าน ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนแปลง อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีจึงถูกออกแบบด้วยการมองไปข้างหน้าอย่างรอบคอบและรอบด้าน
“เราจะไม่มองแค่ประชาคมธรรมศาสตร์ที่มีอยู่ในวันนี้ แต่ต้องคิดถึงความน่าจะเป็นในทุกมิติว่าถ้าน้ำท่วมอีกรอบนึงล่ะ ถ้ามีคนอยากไฮด์ปาร์กล่ะ ถ้าอยากจัดงานเฉลิมฉลอง พื้นที่สีเขียวแห่งนี้นี้จะรองรับอุดมคติของประชาชนและชาวธรรมศาสตร์ที่จะเกิดในยุคต่อไปได้ยังไง การออกแบบสวนสาธารณะคือการออกแบบด้วยวิสัยทัศน์ถึงอนาคต มันท้าทายตรงนี้” อาจารย์กชกร วรอาคม แห่ง LANDPROCESS อธิบาย แล้วเฉลยว่าทางออกคือการออกแบบให้อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีมีกรอบแนวคิดที่แสดงความเป็นธรรมศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ชัด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ออกแบบทุกอย่างชนิดจบบริบูรณ์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ อุทยานแห่งใหม่ของชาวธรรมศาสตร์ รังสิต จึงเป็นพื้นที่ที่ถูกคิดมาเพื่อวันนี้ และแน่นอน เพื่อวันข้างหน้า
เหมือนปลูกต้นไม้เฉพาะถิ่นลงในพื้นที่ที่เหมาะสม แล้วจากนั้นก็ปล่อยให้มันเติบโตไปพร้อมสภาพแวดล้อม สังคมและผู้คน-กชกรเปรียบเทียบไว้แบบนั้น
ขอขอบคุณ : LANDPROCESS