ผมเพิ่งเดินทางไปเที่ยวที่ไต้หวันเป็นระยะเวลาสั้นๆ เมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็เคยไปมาบ้างสองสามครั้ง จะเรียกว่าชอบหรือถูกชะตากับไต้หวันก็คงพอได้

นอกจากที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างๆ ที่ถือว่าโดดเด่นมากของไต้หวันแล้ว ผมมักสังเกตเห็นว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่แทบทุกเมืองใหญ่ๆ ของไต้หวันจะมี เวลาหาข้อมูลถึงสิ่งนี้ในเว็บไซต์การท่องเที่ยวก็มักมีคนมาให้ความเห็นในทางบวกเสมอ

ขอสารภาพเลยว่าทีแรกก็รู้สึกเหยียดนิดๆ ว่ามันช่างเป็นที่ของนักท่องเที่ยวซะจริงๆ แต่พอได้ลองไปก็พบว่าสนุกและประทับใจมากๆ ก็จะมีที่ไหนอีกที่เป็นทั้งที่ท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเช่นเรา ที่ท่องเที่ยวของคนไต้หวัน ที่แฮงเอาต์ของวัยรุ่น และยังเป็นที่ถ่ายรูปสุดฮิตของครอบครัว เรียกว่าเราจะเจอคนทุกเพศทุกวัยอยู่ที่นี่ครบหมด

ที่แห่งนี้คือ Creative Park นั่นเอง

Creative Park Taiwan Creative Park

ขึ้นชื่อว่าเป็น Creative Park หน้าที่ของมันก็เป็นทั้งสองอย่างตามชื่อจริงๆ นั่นคือเป็นทั้งสวนสาธารณะและสถานที่รองรับความคิดสร้างสรรค์ให้กับทุกคน ส่วนประกอบของ Creative Park นี้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่ตรงกลางสำหรับจัดแสดงดนตรี การแสดงต่างๆ รวมถึงสตรีทโชว์ อาคารสำหรับจัดนิทรรศการ โรงละคร ห้องซ้อมสำหรับศิลปิน ห้องเวิร์กช็อป ร้านค้าของนักออกแบบท้องถิ่น ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม กราฟิตี้ และสิ่งสุดท้ายก็คือจุดถ่ายรูปต่างๆ มากมาย ซึ่งในยุคแห่งการแชะ แชร์ โชว์ นั้นนี่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนมาสวนแห่งนี้กันอย่างมากมายล้นหลาม

การเกิดขึ้นของ Creative Park นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการสนับสนุนของทางภาครัฐ โดยกระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวันอยากสร้างสถานที่เพื่อพักผ่อนแก่ประชาชน และสร้างพื้นที่ปล่อยของให้กับเหล่าศิลปิน ช่างฝีมือ นักดนตรี และเหล่านักออกแบบ ให้มีที่ทางของตัวเอง เพราะมองเห็นถึงพลังของความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเหมือน Soft Power ซึ่งนำไปพัฒนาประเทศได้

ไตหวัน Creative Park Creative Park Taiwan Creative Park

ผสมกับนิสัยประหยัดที่ชอบหยิบจับเอาของเก่ามาใช้งานใหม่ของชาตินี้ กระทรวงวัฒนธรรมเลยเลือกใช้โรงงานไวน์เก่าที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยยุคอาณานิคมญี่ปุ่นซึ่งปิดทิ้งร้างมาปัดฝุ่น กลายเป็น Creative Park แห่งแรกของประเทศ (ตอนนี้คือ Huashan 1914 Creative Park) ตั้งแต่ปี 1999 หรือเกือบๆ 20 ปีมาแล้ว!

และเมื่อผลตอบรับออกมาค่อนข้างดี ทางกระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวันเลยขยายแฟรนไชส์ Creative Park ให้ออกไปในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันนี้ก็มีที่เมืองไทเป ไทจง ฮัวเหลียน ไทหนาน เจียอี้ ทั้งหมด 5 เมืองที่มีสิ่งนี้อยู่

แต่เรื่องมันยังไม่จบเพียงเท่านี้ครับ อย่างที่บอกไปว่าด้วยผลตอบรับที่ค่อนข้างดีมาก ทางรัฐบาลท้องถิ่นของหลายเมือง เช่น ไทเป ไทหนาน ไทจง เกาสง ก็เลยพัฒนา Creative Park ของตัวเองเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกทางนึงด้วย

Creative Park Creative Park Taiwan Creative Park Creative Park

เออ เอาเข้าไป อย่างไทเปก็หยิบเอาโรงงานบุหรี่เก่ามาปรับปรุงเป็น Songshan Cultural Park ไทหนานก็มีการหยิบเอาบ้านร้างมาทำเป็น Blueprint Culture & Creative Park หรืออย่างโกดังริมแม่น้ำเก่าสมัยยุคญี่ปุ่นของเมืองเกาสงก็ถูกพัฒนากลายเป็น Pier 2 Arts Center นอกจากนี้แล้ว ทางฝั่งเอกชนก็มีการพัฒนาทำ Creative Park เล็กๆ ขึ้นมาอีกทางนึงด้วย โดยกระจายไปอยู่หลายที่ในไต้หวัน

ตอนไปเดินใน Creative Park เหล่านี้ ผมเห็นความสนใจและใส่ใจในงานศิลปะของคนที่นี่อย่างชัดเจน จึงไม่แปลกใจที่เรามักจะเห็นการต่อคิวยาวมากเพื่อซื้อตั๋วราคาสูงเข้าชมนิทรรศการ พื้นที่แสดงดนตรีก็มีวัยรุ่นมาเล่นกันอยู่แทบจะทั้งวัน การแสดงรูปแบบต่างๆ ก็มักได้รับความสนใจจากคนดูเสมอ

อาจเพราะงานศิลปะทั้งหลายที่มาจัดแสดงไว้ใน Creative Park ถูกย่อยให้เสพง่ายและสนุก ผสมกับจุดถ่ายรูปมากมายและกราฟิตี้ที่อยู่แทบจะทุกมุมของสวน เหมือนหยิบจับเอางานศิลปะมาวางไว้ใกล้ตัวเรา ไม่ใช่วางอยู่เป็นหอคอยงาช้างแสนหรูหราห่างไกลจากชีวิตจริง

Creative Park Creative Park Creative Park Taiwan Public Space

แล้วเมื่อมันสนุก เราก็สนิทใจที่จะอยู่ด้วย เมื่ออยู่ด้วยกันบ่อย เราก็ค่อยๆ ซึมซาบรับเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา จากนั้นมันก็จะค่อยๆ ถูกส่งต่อไปยังคนอื่นในครอบครัวอย่างลูกหลาน เด็กๆ ที่ได้เล่นอยู่กับงานศิลปะมาตั้งแต่เล็ก พอโตขึ้นมาพวกเขาก็จะชอบและรักในงานศิลปะ

คนที่มีความสามารถด้านการสร้างสรรค์ก็จะมองเห็นอนาคตของอาชีพตัวเองและกล้าประกอบอาชีพนั้น คนชอบเต้นก็เป็นนักเต้นได้ นักออกแบบกราฟิกอาจไม่จำเป็นต้องออกแบบแต่นามบัตร นักเขียนการ์ตูนก็มีนิทรรศการใหญ่โตมีคนยอมรับได้ไม่ต่างจากศิลปินอื่นๆ เมื่อเป็นแบบนี้เราก็จะได้คนรุ่นใหม่ซึ่งประกอบอาชีพที่ตัวเองรัก มีความถนัด และภาคภูมิใจกับงานได้

ผมพยายามหาตัวเลขที่เชื่อมโยงระดับความคิดสร้างสรรค์ของคนกับจำนวน Creative Park แบบนี้ว่ามีความสัมพันธ์กันแบบไหน การมีพื้นที่สาธารณะแบบนี้เพื่มขึ้นช่วยให้คนไต้หวันสร้างสรรค์มากขึ้นรึเปล่า แต่ไม่ว่าจะหาตัวเลขยังไงก็ไม่สามารถจะหาได้ (ก็แหงล่ะ…มันวัดได้ที่ไหนกัน)

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะพออ้างอิงได้ก็คือ ไต้หวันยังคงมีแบรนด์สินค้าและบริการของตัวเองที่ยังคงแข่งขันกับคู่แข่งคนอื่นๆ ในตลาดโลกยุคที่ไม่มีใครกดต้นทุนให้ถูกไปกว่าจีนได้อีกต่อไปแล้วได้อย่างสง่างาม

นี่จึงพิสูจน์ว่าความคิดสร้างสรรค์ต่างหากคือสิ่งที่ทำให้สินค้าและบริการต่างๆ นั้นแตกต่างและคงอยู่ในท้องตลาดได้ต่อไป ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ก็คือ คนรุ่นใหม่ที่มีหัวสร้างสรรค์เหล่านี้ไงล่ะ

อาคารรกร้างอาจจะเป็นของไร้ประโยชน์สำหรับบางเมือง แต่สำหรับไต้หวันแล้ว พวกเขาเลือกใช้ความคิดสร้างสรรค์เปลี่ยนมันให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ที่จริงก็ไม่มีชื่อไหนเหมาะกับสิ่งนี้ไปกว่า Creative Park แล้วล่ะ

Creative Park

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan