13 มิถุนายน 2017
12 K

เวลาพูดถึงพื้นที่สาธารณะ ผมมักคิดถึงสวนสาธารณะเป็นอย่างแรก (ตามด้วยตู้โทรศัพท์ ซึ่งสูญพันธุ์ไปจากริมถนนกรุงเทพฯ หมดแล้ว) นอกจากนั้นเราแทบไม่คุ้นกับคำอื่นที่พ่วงคำว่าสาธารณะต่อท้ายเลย

แล้วพื้นที่สาธารณะคืออะไร ถ้าไม่ใช่แค่สวน?

คำตอบคือ พื้นที่ของทุกคนที่ใครก็ใช้งานได้ ถ้าไม่ใช่บ้าน ที่ทำงาน หรือโรงเรียน ทุกที่ก็แทบจะเป็นพื้นที่สาธารณะหมด อย่างฟุตปาทนี่ก็ใช่ ถนนนี่ก็ใช่ สวนก็ใช่ ป้ายรถเมล์ก็ใช่ ทางเดินริมน้ำก็ใช่ สนามเด็กเล่นนี่ก็ใช่ ลานกีฬาก็ใช่ ห้องสมุดก็ใช่ หอศิลป์ก็ใช่ พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่าสถานที่พวกนี้ไม่เห็นจะดีตรงไหน และไม่เห็นจะน่าไปใช้เลย

ไม่รู้ว่าที่เราไม่ได้ไปนั้น เป็นเพราะมันไม่ดีเราเลยไม่ไป หรือเพราะเราไม่ค่อยได้ไป สถานที่พวกนี้เลยไม่ดีสักทีกันแน่

การเรียนลัดด้วยการดูสิ่งที่คนอื่นทำเร็วกว่าทดลองทำเอง ดังนั้น มันคงจะดีกว่าถ้าเราได้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะที่ดีเป็นยังไง คอลัมน์นี้เลยนำเสนอเรื่องราวของพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เราได้เรียนรู้บางอย่าง และอาจได้มีที่พื้นที่สาธารณะดีๆ ในอนาคตกันบ้าง

ผมคิดว่าเรื่องปากท้องนั้นสำคัญ เพราะอย่างนั้น ก็คงจะเหมาะสมถ้าตอนแรกของคอลัมน์ Public Space จะเป็นเรื่องของพื้นที่สาธารณะที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในเมืองอย่างแผงลอย

สิ่งน่าเบื่อที่สุดของแต่ละวันสำหรับคนทั่วไปคงหนีไม่พ้นคำถามว่า วันนี้กินอะไรดี เพราะเราเป็นเมืองแห่งอาหารข้างทางหรือ street food แบบที่ฝรั่งชอบเรียก ทำให้มีตัวเลือกหลากหลายในด้านอาหารการกิน ไม่ว่าจะมื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น ไปจนถึงมื้อดึกดื่น ก็รับประกันได้ว่าเรามีของกินแน่ๆ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาร้านสะดวกซื้อ และด้วยความที่มีตัวเลือกมาก ก็ทำให้เราต้องคิดตัดสินใจมาก

แต่ในช่วงเวลาหลังจากนี้เราก็คงจะไม่ต้องกลัว และไม่ต้องเบื่อเรื่องนี้กันอีกต่อไป เพราะทางกรุงเทพมหานครกำลังอยู่ในช่วงจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยกันอยู่ ซึ่งจากการจัดระเบียบนี้ก็ทำให้หาบเร่แผงลอยที่หาทางเช่าพื้นที่ในบริเวณนั้นไม่ได้หายออกไปจากถนนเส้นนั้น

สิ่งน่าเบื่อที่สุดของแต่ละวันก็กลับกลายมาเป็น แล้วหลังจากนี้เราจะเหลืออะไรกินกันมั่ง?

พูดถึงเรื่องแผงลอย ใครหลายคนคงนึกถึงสิงคโปร์กันเป็นอันดับแรก ลองมาดูตัวอย่างการจัดการกับแผงลอยอย่างสร้างสรรค์กันดีกว่า

Hawker
Hawker

ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเฮี้ยบในกฎระเบียบอย่างสิงคโปร์นั้น เมื่อก่อน (ช่วงปี 1970) ก็เคยมีปัญหาหาบเร่แผงลอยเช่นเดียวกันกับเรา เพราะการอยู่อาศัยในเมืองนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่แพ้ที่อยู่อาศัยก็คงเป็นเรื่องอาหาร คนเมืองที่มีอาหารอร่อยและราคาไม่แพงคงเรียกได้ว่าเป็นคนโชคดี ซึ่งนี่คือสิ่งที่แผงลอยตอบโจทย์ให้ผู้อยู่อาศัยได้ ด้วยต้นทุนที่ปราศจากค่าเช่าทำให้ราคาอาหารถูกจนทุกคนในเมืองซื้อหาได้ แต่เหรียญก็มี 2 ด้านเสมอ เพราะเหล่าแผงลอยนี้ก็สร้างปัญหาให้เมืองไปพร้อมกัน ทั้งความสะอาดของถนนหนทาง ท่อระบายน้ำที่อุดตัน ความสะอาดของอาหาร การกีดขวางทางเดินและถนน และอาจลากยาวไปถึงการติดสินบนเจ้าพนักงานกันเลยทีเดียว (ที่พูดมานี่ผมหมายถึงประเทศสิงคโปร์นะครับ!)

ทางการสิงคโปร์ก็เห็นว่าเหล่าแผงลอยนี้เป็นปัญหา แต่ด้วยการคิดพิจารณาถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของเหล่าแผงลอยแล้ว ก็เลยเลือกที่จะหาวิธีอาศัยอยู่ร่วมกันกับหาบเร่แผงลอย โดยการจัดหาพื้นที่แล้วก่อสร้างอาคารขึ้นมา มีบริการทั้งไฟฟ้า น้ำประปา ห้องน้ำ และพื้นที่จัดเก็บขยะ จากนั้นจึงทำการย้ายพ่อค้าแม่ค้าแผงลอยเข้าไปอยู่ภายในศูนย์อาหารเหล่านี้ และควบคุมด้วยการออกใบอนุญาตและเก็บค่าเช่าโดยตรงโดยทางการเป็นผู้ออกใบอนุญาตและคิดราคาค่าเช่าเอง

ใช่แล้วครับ สิ่งนี้ก็คือ Hawker (ฮอว์กเกอร์) นั่นเอง

ฮอว์กเกอร์นั้นไม่ใช่ของแปลกใหม่อะไรสำหรับบ้านเรา ถ้าจะให้อธิบาย มันมีลักษณะหน้าตาคล้ายกับศูนย์อาหารตามย่านอาคารสำนักงานอย่างศาลาแดงหรืออโศก (ชาวออฟฟิศคงคุ้นเคยกับการเรียกกันว่าเต็นท์) โดยแทบทั้งหมดเป็นพื้นที่แบบเปิดโล่ง มีหลังคาแต่มักไม่มีแอร์ อยู่กระจายไปทั่วทั้งเมือง เช่น ใกล้ย่านออฟฟิศ ใต้แฟลตที่พักอาศัย แนวรถไฟฟ้า และตลาด ฟู้ดคอร์ทหรือศูนย์อาหารแบบนี้มีทั้งหมดกว่า 100 แห่งทั่วสิงคโปร์ มีร้านค้ารวมกว่า 6,000 ร้าน และคำว่า hawker ก็แปลว่าคนหาบเร่นั่นเอง

Hawker
Hawker

ถึงเตรียมที่เตรียมทางไว้พร้อม เหล่าพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ยอมย้ายกันเข้าไปแต่โดยดี เพราะเมื่อต้องออกห่างจากทำเลเดิม หลายคนจึงกลัวว่าจะขายไม่ออก ทางรัฐบาลที่ปกติเข้มงวดกับกฏเกณฑ์ก็ยอมผ่อนปรนความเข้มงวดลง แล้วก็มาช่วยเหลือทั้งในเรื่องค่าเช่าและทำเลที่ตั้งของฮอว์กเกอร์ให้เหมาะสม จนใช้เวลารวมเกือบ 10 ปีในการย้ายแผงลอยเข้าไปอยู่ในนั้นได้จนหมด ทำให้หาบเร่แผงลอยทั้งหมดหายไปจากถนน

หลังจากนั้น ฮอว์กเกอร์ก็กลายมาเป็นศูนย์กลางของเหล่าชุมชนแทน ด้วยราคาอาหารที่ถือว่าถูกมากสำหรับคนที่นี่ (ราคาอาหารเริ่มต้นที่ 50 บาท) ฮอว์กเกอร์จึงเป็นสถานที่ที่เห็นคนทุกชนชั้น ทุกอาชีพ มานั่งกินข้าวอยู่ด้วยกัน และยังกลายมาเป็นสถานที่ฝากท้องสุดฮิตของเหล่านักท่องเที่ยวอีกด้วย จนขนาดห้างอย่าง Marina Bay Sands และตัวสวน Gardens by the Bay ก็ยังมีฮอว์กเกอร์ไว้ให้บริการเช่นกัน

Hawker
Hawker

พีกหนักเข้าไปอีกก็ตรงที่ฮอว์กเกอร์บางที่นั้นผันตัวกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วยซ้ำ อย่างที่ Lau Pa Sat Festival Market (ตลาดเหล่าปาสัท) หรือ Telok Ayer Market (ตลาดทีล็อก อาเยอร์) ที่เป็นตลาดเก่าสร้างตั้งแต่ปี 1894 ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของสิงคโปร์นี้ โด่งดังจากการที่มีสถาปัตยกรรมยุควิกตอเรีย ตัวอาคารรูปทรงแปดเหลี่ยมทำจากหล็กทั้งหมดโดยมีลวดลายที่สวยงามมากๆ จนได้รับการประกาศเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ก็ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายมาเป็นฮอว์กเกอร์แบบ 24 ชั่วโมงอีกด้วย

จากแผงลอยที่เป็นปัญหาของเมือง สิงคโปร์เลือกที่จะจัดการและหาวิธีอยู่ร่วมกัน จนในที่สุดแผงลอยก็กลับกลายมาเป็นพื้นที่เลี้ยงปากท้องของชุมชน เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ จนมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในที่สุด

ถ้าไม่เรียกว่าพลิกวิกฤติเป็นโอกาสก็ไม่รู้จะเรียกอะไรแล้วล่า~

  • ฮอว์กเกอร์ไม่มีบริการกระดาษทิชชู่ให้ เราจึงควรซื้อติดมือไปด้วย นอกจากเช็ดมือเช็ดปากแล้ว เรายังวางห่อทิชชู่ไว้บนโต๊ะเพื่อจองโต๊ะได้อีกด้วย
  • ถึงจะเป็นแผงลอยแต่รสชาติก็ไม่ธรรมดา เพราะมิชลินสตาร์ได้มีการมอบดาวให้กับร้านอาหารในฮอว์กเกอร์ถึง 2 แห่ง คือ Hong Kong Soya Sauce Chicken Rice & Noodle ที่ฮอว์กเกอร์ชั้น 2 ตึกไชน่าทาวน์ คอมเพล็กซ์ (ด้วยราคาประมาณจานละ 60 บาท ทำให้ที่นี่มีเมนูของร้านมิชลินสตาร์ที่ถูกที่สุดในโลก) และ Hill Street Tai Hwa Pork Noodle ที่ฮอว์กเกอร์ตรงถนนครอว์ฟอร์ดเลน

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan