12 พฤศจิกายน 2018
3 K
The Cloud X SC Asset
01

ฟื้นฟูตั้งแต่ยุคโรมัน

รู้หรือเปล่าว่าประเทศฝรั่งเศสมีประวัติศาสตร์การวางผังเมืองมาตั้งแต่สมัยโรมัน แต่ผังเมืองยุคโบราณไม่ได้สวยงามเนี้ยบนิ้งแบบที่เราเห็นในปารีสทุกวันนี้หรอก เพราะสมัยก่อนเขาวางผังเมืองเพื่อฟังก์ชันล้วนๆ ความงามไม่ค่อยเกี่ยวสักเท่าไหร่

จนกระทั่งยุคเรเนซองส์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นผู้ริเริ่มการวางผังเมืองเพื่อความสวยงามเป็นครั้งแรก ทำให้เนื้อเมืองเก่าแก่ที่ถูกใช้งานมานานนมได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เกิดเป็นจัตุรัสและพื้นที่สาธารณะหลวงเก๋ไก๋ Jardin นั้น Jardin นี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วปารีส

แต่แล้วเมื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยจักรวรรดิฝรั่งเศส ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดันตรงกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมพอดิบพอดี ทำให้ความตั้งใจที่จะพัฒนาถนนสายสำคัญของเมืองหลายสายเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองอุตสาหกรรมไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้

ปัญหาเมืองจึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งปัญหาด้านสุขาภิบาลไม่เพียงพอ ตอบรับกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในเมือง ซึ่งนำมาสู่ปัญหาด้านคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่อันยากจนของผู้คน

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการฟื้นฟูเมืองแบบจริงๆ จังๆ ที่ทำให้ปารีสเป็นปารีสอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น อีกฟากฝั่งโลกกำลังพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ พัฒนาที่อยู่อาศัยราคาประหยัดสำหรับชนชั้นกรรมาชีพ และส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวรูปแบบต่างๆ ไปทั่วเมือง

ในช่วงแห่งการฟื้นฟูเมือง ในศตวรรษที่ 18 อาคารเก่าทั้งหลายที่ทรุดโทรมถูกทุบทิ้งเป็นว่าเล่น แต่ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะจนถึงตอนนี้ เราต่างรู้ดีว่าปารีสเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่จากหลากหลายยุคสมัย ที่ยังคงยืนหยัดอยู่ท่ามเมืองที่เติบโตและร่วมสมัยขึ้นทุกวัน

‘ปารีสเป็นเมืองอนุรักษ์ที่โคตรสนุก’ ใครบางคนบอกไว้อย่างนั้น มันจะมีเมืองไหนในโลกนี้อีกที่บ้าจี้สร้างแลนด์มาร์กเหล็กใหญ่ยักษ์ไปวางไว้กลางเมือง ในยุคที่คนยังอินกับลายเถาวัลย์ชดช้อยบนเสาดอริก

ปาริเซียงเปิดใจให้กับความแปลกใหม่เสมอ ดังนั้น เราจึงไม่แปลกใจที่ตึกร้างเล็กๆ แสนทรุดโทรมตึกหนึ่ง จะสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนทางศิลปะร่วมสมัย จนเกิดเป็นวัฒนธรรมที่แพร่กระจายไปทั่วปารีส

ตึกร้างแห่งนั้นมีชื่อว่า 59 Rivoli และนี่คือเรื่องราวการก่อสร้างวัฒนธรรมที่ไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจริงมาแล้ว

59 Rivol, ปารีส 59 Rivol, ปารีส

02

เฉลิมฉลองให้กับเสรีภาพ

ไม่กี่ช่วงถนนจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ห้องแถวสไตล์ฝรั่งเศสตั้งชิดติดขอบถนน แสงนีออนจากบานหน้าต่างช้อปปิ้งสโตร์ขนาดยักษ์ด้านข้างไม่สามารถบดบังสีสันสดใสจากริ้วริบบิ้นนับร้อยที่พาดผ่านห้องแถว 6 คูหาตรงหน้าเราได้เลย

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่านี่คือ 59 Rivoli

แตกต่างแต่ก็กลมกลืนไปกับกลิ่นอายแบบผู้ดีเมืองน้ำหอมได้อย่างน่าประหลาดใจ

จริงๆ แล้วอาคารในตำนานแห่งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Chez Robert Electron Libre ทุกวันนี้ 59 Rivoli ทำหน้าที่หลากหลายตั้งแต่สตูดิโอ แกลเลอรี่ พื้นที่แลกเปลี่ยน และบ้านของศิลปินที่แวะเวียนกันมาอยู่อาศัย

เหนือสิ่งอื่นใด เราคิดว่า 59 Rivoli เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองเสรีภาพทางความคิดสร้างสรรค์

59 Rivol, ปารีส 59 Rivol, ปารีส

ใน Lonely Planet เขียนไว้ว่า Facade หรือกำแพงด้านหน้าอาคารของ 59 Rivoli มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา กิจกรรม หรือข้อความที่อยากสื่อสารกับผู้คนในเมือง วันนี้คุณอาจเจอลูกโป่ง แล้ววันต่อมาเจอตุ๊กตาขยะรีไซเคิลนับร้อยประดับประดาอยู่บนกำแพงด้านหน้าอาคารก็ได้

ทุกพื้นที่ของ 59 Rivoli ตั้งแต่ด้านนอกเข้ามาด้านใน จากพื้นไปจนจรดเพดานเต็มไปด้วยตัวอักษร รอยสเกตช์และรอยเปื้อนสีที่ทับถมกันจนเป็นลวดลายไร้แพตเทิร์น มองแวบแรกอาจจะคิดว่ารกรุงรังอะไรขนาดนี้ แต่เมื่อมองแวบที่สองความคิดที่อยู่ในหัวคือ ‘สนุกอะไรขนาดนี้’

ก็บอกแล้วไงว่า ‘ปารีสเป็นเมืองอนุรักษ์ที่โคตรสนุก’

59 Rivol, ปารีส

03

เรื่องเล่า 3 สหาย

หน้าตาของแต่ละห้องใน 59 Rivoli นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะสะท้อนบุคลิกภาพและสไตล์ของศิลปินเจ้าของห้องที่มาอาศัยอยู่ เพื่อสร้างงานชิ้นงานศิลปะใจกลางปารีส การที่ศิลปินมาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างคอมมูนิตี้แบบนี้ เราเรียกว่า Artist in Residence

ที่มาที่ไปของ 59 Rivoli ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 ห้องแถวชุดนี้เป็นหนึ่งในห้องแถวโบราณที่หลงเหลือไม่ถูกทุบทิ้งไป ช่วงที่ปารีสมีนโยบายฟื้นฟูเมืองครั้งใหญ่ที่เราเล่าไปข้างต้น

ร้อยกว่าปีผ่านไป ห้องแถวทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ประกอบกับตั้งอยู่บนถนนเส้นรองของเมือง ทำให้ไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนเท่าไรนัก จนกระทั่ง ค.ศ. 1999 มีการกระทำอันอุกอาจเกิดขึ้น ณ ย่านทางผ่านที่ไม่เงียบเหงาแต่ก็ไม่ถึงกับคึกคักแห่งนี้

59 Rivol, ปารีส 59 Rivol, ปารีส

Kalex, Gaspard และ Bruno คือศิลปิน 3 สหายที่ถูกเรียกในแวดวงศิลปินชาวปาริเซียงว่า KGB พวกเขาเนียนเข้ามาอาศัยและทำงานศิลปะกันในห้องแถว 59 Rue de Rivoli ทรัพย์สินของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งานเป็นเวลากว่า 15 ปี

3 เดือนต่อมา ทันทีที่ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงศิลปินกลุ่มนี้ รัฐรีบรุดมาแจ้งเตือนให้ KGB เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ เหตุการณ์หลังจากนั้นคือสงครามย่อมอย่างสันติ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเข้าใช้พื้นที่ของรัฐที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อะไรอยู่แล้วให้ประชาชนมีสิทธิ์เข้าไปใช้งานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

59 Rivol, ปารีส 59 Rivol, ปารีส

04

เมืองอนุรักษ์ที่โคตรสนุก

ผู้เข้ามาเปลี่ยนเกมส์นี้อย่างแท้จริงคือ แบร์ทรองด์ เดอลาโนอี  (Bertrand Delanoë) ผู้สมัครตำแหน่งนายกเทศมนตรีปารีส ซึ่งให้ความสนใจและเห็นความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนห้องชุดรกร้างให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แบร์ทรองด์ให้คำมั่นกับ Kalex, Gaspard และ Bruno ว่าหากชนะการเลือกตั้ง เขาจะร่วมมือกับ KGB เนรมิตรให้ 59 Rivoli กลายเป็นแกลเลอรี่และสตูดิโอศิลปะในตำนานให้ได้! มีนาคม ค.ศ. 2001 แบร์ทรองด์ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกเทศมนตรีปารีส และทำตามคำมั่นที่ให้ไว้

59 Rivol, ปารีส 59 Rivol, ปารีส 59 Rivol, ปารีส

ทุกวันนี้ นอกจากศิลปิน 20 คนที่อาศัยอย่างถาวรอยู่ที่ 59 Rivoli แล้ว ยังมีอีก 10 ที่ว่างสำหรับศิลปินที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันมาพักอาศัยชั่วคราว 3 – 6 เดือนต่อครั้ง และกลายเป็นต้นแบบการปรับใช้อาคารรกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานศิลปะของศิลปิน

59 Rivol, ปารีส

ไม่เฉพาะงานศิลปะด้าน Visual Art แต่ 59 Rivoli ยังจัดคอนเสิร์ตเล็กๆ ให้คนเดินถนนแถวนั้นได้ฟังกันแบบฟรีๆ ทุกสุดสัปดาห์ แถมยังจัดเทศกาลดนตรีและศิลปะใหญ่ปีละ 2 ครั้ง

59 Rivol, ปารีส

ชาวปาริเซียงและคนที่เคยไปสัมผัสชีวิตชีวาของ 59 Rivoli จึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการมีอยู่คอมมูนิตี้ศิลปะร่วมสมัยแห่งนี้ ช่วยเปลี่ยนย่านข้างบ้านที่ถูกลืมให้กลายเป็นย่านที่คึกคักไปด้วยศิลปะและดนตรีที่ ‘สนุกโคตร’

59 Rivol, ปารีส

ขอขอบคุณ : 59 Rivoli

การเปลี่ยนตึกร้างไร้ประโยชน์เป็นพื้นที่ศิลปะของ 59 Rivoli คือหลักการที่เรียกว่า Adaptive-Reusing หมายถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นหนึ่งในแนวคิด Flexible Design ซึ่งไม่ได้ทำเฉพาะกับอาคารเท่านั้น

ทุกวันนี้ Flexible Design ของพื้นที่สาธารณะและที่อยู่อาศัย ก็เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนักออกแบบต้องนึกถึง เพื่อรองรับความต้องการและความสามารถของกลุ่มผู้อาศัยได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ให้หมุนตามโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

เพราะเมืองประกอบไปด้วยผู้คน ทำให้เมืองมีชีวิตและเติบโตได้เรื่อยๆ ความยืดหยุ่นในการใช้งานพื้นที่เมืองจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เราจึงได้เห็นการทำงานร่วมกันของการทำงานร่วมกันของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง SC ASSET และภาคการศึกษา Redek ศูนย์บริการงานวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ในการทำงานวิจัยเพื่อทำการศึกษาวิจัยเรื่องความต้องการของมนุษย์เกี่ยวกับการใช้งานพื้นที่ส่วนกลางภายในโครงการบ้านจัดสรร รวมถึงศึกษาเรื่องความต้องการใช้งานของพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนในชุมชนสามารถใช้ร่วมกันได้ ก่อนที่จะนำผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาพัฒนาบนที่ดินจริงภายในปี 2562 ต่อไปในโครงการ The Neighbourhood Bangkadi

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการนี้ เพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน