The Cloud X SC Asset
01
ฟื้นฟูตั้งแต่ยุคโรมัน
รู้หรือเปล่าว่าประเทศฝรั่งเศสมีประวัติศาสตร์การวางผังเมืองมาตั้งแต่สมัยโรมัน แต่ผังเมืองยุคโบราณไม่ได้สวยงามเนี้ยบนิ้งแบบที่เราเห็นในปารีสทุกวันนี้หรอก เพราะสมัยก่อนเขาวางผังเมืองเพื่อฟังก์ชันล้วนๆ ความงามไม่ค่อยเกี่ยวสักเท่าไหร่
จนกระทั่งยุคเรเนซองส์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นผู้ริเริ่มการวางผังเมืองเพื่อความสวยงามเป็นครั้งแรก ทำให้เนื้อเมืองเก่าแก่ที่ถูกใช้งานมานานนมได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เกิดเป็นจัตุรัสและพื้นที่สาธารณะหลวงเก๋ไก๋ Jardin นั้น Jardin นี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วปารีส
แต่แล้วเมื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยจักรวรรดิฝรั่งเศส ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดันตรงกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมพอดิบพอดี ทำให้ความตั้งใจที่จะพัฒนาถนนสายสำคัญของเมืองหลายสายเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองอุตสาหกรรมไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้
ปัญหาเมืองจึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งปัญหาด้านสุขาภิบาลไม่เพียงพอ ตอบรับกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในเมือง ซึ่งนำมาสู่ปัญหาด้านคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่อันยากจนของผู้คน
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการฟื้นฟูเมืองแบบจริงๆ จังๆ ที่ทำให้ปารีสเป็นปารีสอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น อีกฟากฝั่งโลกกำลังพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ พัฒนาที่อยู่อาศัยราคาประหยัดสำหรับชนชั้นกรรมาชีพ และส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวรูปแบบต่างๆ ไปทั่วเมือง
ในช่วงแห่งการฟื้นฟูเมือง ในศตวรรษที่ 18 อาคารเก่าทั้งหลายที่ทรุดโทรมถูกทุบทิ้งเป็นว่าเล่น แต่ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะจนถึงตอนนี้ เราต่างรู้ดีว่าปารีสเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่จากหลากหลายยุคสมัย ที่ยังคงยืนหยัดอยู่ท่ามเมืองที่เติบโตและร่วมสมัยขึ้นทุกวัน
‘ปารีสเป็นเมืองอนุรักษ์ที่โคตรสนุก’ ใครบางคนบอกไว้อย่างนั้น มันจะมีเมืองไหนในโลกนี้อีกที่บ้าจี้สร้างแลนด์มาร์กเหล็กใหญ่ยักษ์ไปวางไว้กลางเมือง ในยุคที่คนยังอินกับลายเถาวัลย์ชดช้อยบนเสาดอริก
ปาริเซียงเปิดใจให้กับความแปลกใหม่เสมอ ดังนั้น เราจึงไม่แปลกใจที่ตึกร้างเล็กๆ แสนทรุดโทรมตึกหนึ่ง จะสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนทางศิลปะร่วมสมัย จนเกิดเป็นวัฒนธรรมที่แพร่กระจายไปทั่วปารีส
ตึกร้างแห่งนั้นมีชื่อว่า 59 Rivoli และนี่คือเรื่องราวการก่อสร้างวัฒนธรรมที่ไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจริงมาแล้ว
02
เฉลิมฉลองให้กับเสรีภาพ
ไม่กี่ช่วงถนนจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ห้องแถวสไตล์ฝรั่งเศสตั้งชิดติดขอบถนน แสงนีออนจากบานหน้าต่างช้อปปิ้งสโตร์ขนาดยักษ์ด้านข้างไม่สามารถบดบังสีสันสดใสจากริ้วริบบิ้นนับร้อยที่พาดผ่านห้องแถว 6 คูหาตรงหน้าเราได้เลย
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่านี่คือ 59 Rivoli
แตกต่างแต่ก็กลมกลืนไปกับกลิ่นอายแบบผู้ดีเมืองน้ำหอมได้อย่างน่าประหลาดใจ
จริงๆ แล้วอาคารในตำนานแห่งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Chez Robert Electron Libre ทุกวันนี้ 59 Rivoli ทำหน้าที่หลากหลายตั้งแต่สตูดิโอ แกลเลอรี่ พื้นที่แลกเปลี่ยน และบ้านของศิลปินที่แวะเวียนกันมาอยู่อาศัย
เหนือสิ่งอื่นใด เราคิดว่า 59 Rivoli เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองเสรีภาพทางความคิดสร้างสรรค์
ใน Lonely Planet เขียนไว้ว่า Facade หรือกำแพงด้านหน้าอาคารของ 59 Rivoli มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา กิจกรรม หรือข้อความที่อยากสื่อสารกับผู้คนในเมือง วันนี้คุณอาจเจอลูกโป่ง แล้ววันต่อมาเจอตุ๊กตาขยะรีไซเคิลนับร้อยประดับประดาอยู่บนกำแพงด้านหน้าอาคารก็ได้
ทุกพื้นที่ของ 59 Rivoli ตั้งแต่ด้านนอกเข้ามาด้านใน จากพื้นไปจนจรดเพดานเต็มไปด้วยตัวอักษร รอยสเกตช์และรอยเปื้อนสีที่ทับถมกันจนเป็นลวดลายไร้แพตเทิร์น มองแวบแรกอาจจะคิดว่ารกรุงรังอะไรขนาดนี้ แต่เมื่อมองแวบที่สองความคิดที่อยู่ในหัวคือ ‘สนุกอะไรขนาดนี้’
ก็บอกแล้วไงว่า ‘ปารีสเป็นเมืองอนุรักษ์ที่โคตรสนุก’
03
เรื่องเล่า 3 สหาย
หน้าตาของแต่ละห้องใน 59 Rivoli นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะสะท้อนบุคลิกภาพและสไตล์ของศิลปินเจ้าของห้องที่มาอาศัยอยู่ เพื่อสร้างงานชิ้นงานศิลปะใจกลางปารีส การที่ศิลปินมาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างคอมมูนิตี้แบบนี้ เราเรียกว่า Artist in Residence
ที่มาที่ไปของ 59 Rivoli ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 ห้องแถวชุดนี้เป็นหนึ่งในห้องแถวโบราณที่หลงเหลือไม่ถูกทุบทิ้งไป ช่วงที่ปารีสมีนโยบายฟื้นฟูเมืองครั้งใหญ่ที่เราเล่าไปข้างต้น
ร้อยกว่าปีผ่านไป ห้องแถวทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ประกอบกับตั้งอยู่บนถนนเส้นรองของเมือง ทำให้ไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนเท่าไรนัก จนกระทั่ง ค.ศ. 1999 มีการกระทำอันอุกอาจเกิดขึ้น ณ ย่านทางผ่านที่ไม่เงียบเหงาแต่ก็ไม่ถึงกับคึกคักแห่งนี้
Kalex, Gaspard และ Bruno คือศิลปิน 3 สหายที่ถูกเรียกในแวดวงศิลปินชาวปาริเซียงว่า KGB พวกเขาเนียนเข้ามาอาศัยและทำงานศิลปะกันในห้องแถว 59 Rue de Rivoli ทรัพย์สินของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งานเป็นเวลากว่า 15 ปี
3 เดือนต่อมา ทันทีที่ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงศิลปินกลุ่มนี้ รัฐรีบรุดมาแจ้งเตือนให้ KGB เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ เหตุการณ์หลังจากนั้นคือสงครามย่อมอย่างสันติ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเข้าใช้พื้นที่ของรัฐที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อะไรอยู่แล้วให้ประชาชนมีสิทธิ์เข้าไปใช้งานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
04
เมืองอนุรักษ์ที่โคตรสนุก
ผู้เข้ามาเปลี่ยนเกมส์นี้อย่างแท้จริงคือ แบร์ทรองด์ เดอลาโนอี (Bertrand Delanoë) ผู้สมัครตำแหน่งนายกเทศมนตรีปารีส ซึ่งให้ความสนใจและเห็นความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนห้องชุดรกร้างให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
แบร์ทรองด์ให้คำมั่นกับ Kalex, Gaspard และ Bruno ว่าหากชนะการเลือกตั้ง เขาจะร่วมมือกับ KGB เนรมิตรให้ 59 Rivoli กลายเป็นแกลเลอรี่และสตูดิโอศิลปะในตำนานให้ได้! มีนาคม ค.ศ. 2001 แบร์ทรองด์ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกเทศมนตรีปารีส และทำตามคำมั่นที่ให้ไว้
ทุกวันนี้ นอกจากศิลปิน 20 คนที่อาศัยอย่างถาวรอยู่ที่ 59 Rivoli แล้ว ยังมีอีก 10 ที่ว่างสำหรับศิลปินที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันมาพักอาศัยชั่วคราว 3 – 6 เดือนต่อครั้ง และกลายเป็นต้นแบบการปรับใช้อาคารรกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานศิลปะของศิลปิน
ไม่เฉพาะงานศิลปะด้าน Visual Art แต่ 59 Rivoli ยังจัดคอนเสิร์ตเล็กๆ ให้คนเดินถนนแถวนั้นได้ฟังกันแบบฟรีๆ ทุกสุดสัปดาห์ แถมยังจัดเทศกาลดนตรีและศิลปะใหญ่ปีละ 2 ครั้ง
ชาวปาริเซียงและคนที่เคยไปสัมผัสชีวิตชีวาของ 59 Rivoli จึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการมีอยู่คอมมูนิตี้ศิลปะร่วมสมัยแห่งนี้ ช่วยเปลี่ยนย่านข้างบ้านที่ถูกลืมให้กลายเป็นย่านที่คึกคักไปด้วยศิลปะและดนตรีที่ ‘สนุกโคตร’
ขอขอบคุณ : 59 Rivoli
การเปลี่ยนตึกร้างไร้ประโยชน์เป็นพื้นที่ศิลปะของ 59 Rivoli คือหลักการที่เรียกว่า Adaptive-Reusing หมายถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นหนึ่งในแนวคิด Flexible Design ซึ่งไม่ได้ทำเฉพาะกับอาคารเท่านั้น
ทุกวันนี้ Flexible Design ของพื้นที่สาธารณะและที่อยู่อาศัย ก็เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนักออกแบบต้องนึกถึง เพื่อรองรับความต้องการและความสามารถของกลุ่มผู้อาศัยได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ให้หมุนตามโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
เพราะเมืองประกอบไปด้วยผู้คน ทำให้เมืองมีชีวิตและเติบโตได้เรื่อยๆ ความยืดหยุ่นในการใช้งานพื้นที่เมืองจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เราจึงได้เห็นการทำงานร่วมกันของการทำงานร่วมกันของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง SC ASSET และภาคการศึกษา Redek ศูนย์บริการงานวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในการทำงานวิจัยเพื่อทำการศึกษาวิจัยเรื่องความต้องการของมนุษย์เกี่ยวกับการใช้งานพื้นที่ส่วนกลางภายในโครงการบ้านจัดสรร รวมถึงศึกษาเรื่องความต้องการใช้งานของพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนในชุมชนสามารถใช้ร่วมกันได้ ก่อนที่จะนำผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาพัฒนาบนที่ดินจริงภายในปี 2562 ต่อไปในโครงการ The Neighbourhood Bangkadi
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการนี้ เพิ่มเติมได้ที่นี่