20 พฤศจิกายน 2018
48 K

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง

ช่วงนี้หลายคนคงจะตื่นเต้นรอคอยวันลอยกระทง วันแสนสนุกของวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ตั้งตารอจะได้ไปลอยกระทง ไม่ว่าจะเพื่อขอขมาพระแม่คงคา หรือเพื่อสานต่อความสัมพันธ์กันในค่ำคืนนี้ ถ้าคุณเบื่อไม่รู้จะไปลอยกระทงกันที่ไหนดี หรือเคยไปมาหมดทุกที่แล้ว เราก็ขอเสนอพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ที่แม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี แต่ก็จะเปิดให้เราๆ ไปใช้กันได้ในช่วงวันลอยกระทงนี้ (19 – 22 พ.ย. 61) ถ้าพลาดแล้วก็ต้องคอยไปถึงปีหน้ากว่าจะได้ใช้งานพื้นที่นี้แบบจริงจัง ที่แห่งนี้ก็คือ ทางเดินเลียบคลองโอ่งอ่างโฉมใหม่ 4.0 นั่นเอง

คลองโอ่งอ่าง
คลองโอ่งอ่าง

หลายคนอาจจะสงสัยว่าคลองโอ่งอ่างนี่มันคือที่ไหนกัน ถ้าเรียกกันให้เข้าใจก็คือย่านสะพานเหล็กนั่นเอง ประวัติแต่เดิมของคลองแห่งนี้คือเป็นคลองขุดตั้งแต่สมัยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อมต่อกับคลองบางลำพูตรงสะพานผ่านฟ้า สิ้นสุดที่เชิงสะพานพระปกเกล้า ก่อนจะไหลออกแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยขุดคลองนี้ใหม่ๆ ย่านนี้เป็นแหล่งค้าขายเครื่องปั้นดินเผาของทั้งชาวจีนและชาวมอญมาก่อน เลยเป็นที่มาของชื่อคลองโอ่งอ่างนั่นเอง ก่อนที่ต่อมาจะค่อยๆ พัฒนามากลายเป็นย่านขายอาหารตอนกลางคืนและแหล่งขายปลาสวยงาม

จนเมื่อ พ.ศ. 2526 หรือสามสิบกว่าปีที่แล้ว กรุงเทพมหานครนี่แหละที่จัดสัมปทานให้เช่าพื้นที่ว่างเหนือคลองโอ่งอ่าง หรือสะพานเหล็กที่เราคุ้นเคยกันขึ้นมา โดยให้เป็นที่ค้าขายรองรับพ่อค้าแม่ค้าที่ย้ายมาจากคลองถม (ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นว่าเกิดตลาดขึ้นมา 2 แห่ง) และสะพานเหล็กก็ค่อยๆ ถูกก่อสร้างพื้นที่ปิดทับและกลายมาเป็นย่านขายของเล่นและเครื่องเกมต่างๆ แบบในปัจจุบัน โดยแทบไม่มีใครเคยเห็นหรือรับรู้การเป็นคลองของมันอีกเลย

คลองโอ่งอ่าง
คลองโอ่งอ่าง

และก็เป็นทางกรุงเทพมหานครนี่เองที่เห็นการรุกล้ำแนวคลองประวัติศาสตร์นี้ (อ้าว…) และอยากจะจัดระเบียบ ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะแก่ประชาชนและเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป จึงทำการจัดระเบียบและรื้อถอนโครงสร้างสะพานเหล็กเหนือคลองออกไปทั้งหมดเมื่อตอนปลายปี 2558 ก่อนที่จะกลายเป็นพื้นที่เปิดโล่งแบบงงๆ ที่ไม่มีร้านค้า ไม่มีคนเดิน ไม่มีการจัดการ ไม่มีความร่มรื่น ไม่มีแม้กระทั่งราวกันตกอยู่เกือบ 2 ปี

คลองโอ่งอ่าง

จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาจึงเริ่มมีการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์กันอย่างจริงจังจนเป็นคลองโอ่งอ่างโฉมใหม่ไฉไล ในช่วงนี้จะเปิดให้ใช้งานแค่ส่วนเดียวก่อน คือจากช่วงถนนเจริญกรุงมาถึงถนนเยาวราช โดยพื้นที่ทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2562 

จากการไปลงพื้นที่สำรวจ เราเห็นถึงการออกแบบภูมิทัศน์ใหม่ให้เป็นถนนปูอิฐเช่นเดียวกับตัวตลิ่ง มีเสาไฟและราวกันตก ถ้าใครเคยไปเกาหลีใต้ก็น่าจะสังเกตได้ว่าคลองโอ่งอ่างตอนนี้มีความคล้ายกับคลองชองกเยชอน (Cheonggyecheon) ที่อยู่ใจกลางกรุงโซล ซึ่งเป็นผลงานการปรับเปลี่ยนคลองน้ำเน่ากลางเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะริมคลองที่มีน้ำใสสะอาดและมีต้นไม้มากมายแสนรื่นรมย์ จนกลายมาเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่

ความน่าสนใจของทางเลียบคลองโอ่งอ่างแห่งนี้มันอยู่ที่ทาง กทม. บอกว่าจะพัฒนาพื้นที่นี้ในสองการใช้งาน คือ เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนของประชาชนในละแวกนี้ และเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมในย่านประวัติศาสตร์ และในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นถนนคนเดินอีกด้วย 

มองในแง่ของพื้นที่สาธารณะนั้นก็ถือว่าค่อนข้างดีกับผู้คนในย่านนี้ เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าในบริเวณนั้นถือเป็นเขตค้าขายที่สร้างรายได้อย่างดีจนราคาที่ดินถีบตัวสูงไปไกลขนาดตึกแถว 1 คูหาก็มีราคาแตะ 8 หลักได้ แถมการมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินก็ยิ่งเพิ่มราคาที่ดินให้สูงขึ้นไปอีก ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยในละแวกนั้นมีขนาดเล็กมากและหนาแน่นยิ่งขึ้นไปอีก ทางเดินเลียบคลองโอ่งอ่างแห่งนี้จึงอาจเป็นคำตอบที่จะช่วยให้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้มีสถานที่ที่สามารถมาพักผ่อนหย่อนใจได้เพิ่มขึ้น แม้สถานะของต้นไม้เล็กๆ ที่ถูกนำมาปลูกจะยังห่างไกลจากคำว่าร่มรื่นอยู่มากก็ตาม

คลองโอ่งอ่าง
คลองโอ่งอ่าง

ในแง่ของการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวนั้นก็น่าสนใจว่าคลองความยาว 2 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อระหว่างตีนสะพานพระปกเกล้า (ซึ่งใกล้ย่านปากคลองตลาด และยังสามารถข้ามไปยังฝ่งชุมชนกะดีจีนได้) กับตลาดสำเพ็ง ตลาดสะพานหัน และถนนเจริญกรุงที่มีรถไฟฟ้าสถานีสามยอด (หรือชื่อเดิมคือวังบูรพา) อยู่ด้วย ซึ่งแปลว่าการเดินทางมายังเมืองเก่าจากแนวรถไฟฟ้า MRT ก็จะง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน เราอาจจะได้เห็นการท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าบูมขึ้นกว่านี้อีกก็ได้

ก่อนจะคิดไปไกลจนเคลิ้มนั้น ภาพตรงหน้าขณะที่ผมเดินสำรวจทางเลียบคลองนี้ก็โผล่ขึ้นมาทำให้หายเคลิ้มไปได้เหมือนกัน เพราะมันมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่บ้างในการที่จะทำให้โครงการนี้นั้นใช้จริงได้ยาก

อย่างแรกก็คือ ตึกรามบ้านช่องในบริเวณนั้นทั้งหมดหันหลังให้กับคลอง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาร้านค้าบนสะพานเหล็กนั้นมีทั้งที่ร้านอาหารและร้านค้าทั่วไปที่ติดแอร์ ทำให้อากาศร้อนจากทั้งคอมเพรสเซอร์แอร์และการประกอบอาหารลอยวนเวียนอยู่ทั่วบริเวณ เจ้าของบ้านเลยเลือกที่จะหันหน้าให้ถนนซอย แล้วก็หันหลังให้กับคลองแบบไม่มีทั้งประตูหรือหน้าต่างใดๆ เลย

พอพื้นที่ถูกปรับให้เป็นทางคนเดินแบบนี้โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ จากทางภาครัฐ และด้วยการลงทุนปรับปรุงบ้านนั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่าย หลายๆ บ้านจึงยังไม่ได้เปลี่ยนหลังบ้านให้เป็นหน้าบ้านอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการมาใช้งานอย่างแน่นอน เพราะการมาเดินเลียบคลองร้อนๆ โดยไร้อาหารและเครื่องดื่มจากร้านค้าใดๆ นั้นมันไม่ดึงดูดผู้คนในยุคนี้เอาเสียเลย ทีนี้ นอกจากการค้าขายแล้ว การมีคนมาเดินและการมีเจ้าของบ้านอยู่ด้วยก็จะช่วยให้พื้นที่นี้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย

คลองโอ่งอ่าง
คลองโอ่งอ่าง

โมเดลที่ใกล้เคียงที่สุดซึ่งผมเคยเจอมาก็คือเส้นทางจักรยานที่ถูกปรับปรุงจากทางรถไฟเก่าของเมืองเกาสง ไต้หวัน บ้านทุกหลังก็เคยหันหลังให้กับทางรถไฟเช่นกัน แต่เมื่อทางรถไฟถูกปรับให้กลายมาเป็นทางจักรยานเชื่อมส่วนต่างๆ ของเมือง การที่ชาวบ้านหันมาเปลี่ยนหลังบ้านเป็นหน้าบ้านและทำการค้าขายก็ช่วยให้เส้นทางจักรยานนี้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวได้อย่างไม่ยากนัก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในอนาคตเจ้าของบ้านในคลองโอ่งอ่างนี้จะคิดยังไงกันบ้าง

อย่างที่สองคือ ทางเดิน เนื่องจากคลองโอ่งอ่างนั้นมีสะพานและถนนคั่นอยู่เป็นช่วงๆ ตลอดความยาว ที่จริงๆ แล้วดูเหมือนเราจะสามารถเดินเชื่อมต่อกันได้รอบตลอดแนวคลอง แต่ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ เพราะเมื่อเดินมาจนถึงสะพานเราจะถูกคั่นด้วยถนนที่มีรถสัญจร (ด้วยความรวดเร็ว) ผ่านแทบจะตลอดเวลา การที่พื้นที่แห่งนี้ถูกทำมาเพื่อให้เป็นทางคนเดิน แต่กลับไม่สามารถเดินเชื่อมกันได้ และต้องข้ามถนนไปยังถนนคนเดินอีกฝั่งหนึ่ง มันก็ชวนให้เราตั้งคำถามถึงการเป็นถนนคนเดินที่ปลอดภัยของมันเหมือนกันนะครับ

ซึ่งคลองต้นฉบับอย่างชองกเยชอน คนที่เดินเท้าก็สามารถเดินลอดใต้สะพานข้ามฝั่งไปได้เลย แถมยังมีสะพานเล็กๆ สำหรับคนเดินข้ามไว้อยู่ตลอดเพื่อให้ไม่ต้องไปข้ามถนนใหญ่ หรือแม้แต่คลองกลางเมืองในลักษณะเดียวกันของลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็โชคดีที่สะพานต่างๆ นั้นมีความสูงมากพอให้คนสามารถเดินลอดได้โดยไม่ต้องมาเดินข้ามบนนถนนเช่นเดียวกัน

คลองโอ่งอ่าง
คลองโอ่งอ่าง

นี่เลยเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของทางเดินเลียบคลองโอ่งอ่างนี้เหมือนกันว่าหลังจากก่อสร้างจนเสร็จตามแผนงานแล้ว พื้นที่สาธารณะเลียบคลองโอ่งอ่างนี้จะกลายมาเป็นทางเดินเท้าที่สร้างความสุขให้กับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่สถานที่ที่ดูสวยดี แต่ใช้งานจริงลำบากจนไม่มีคนมาใช้ก่อนจะถูกทิ้งร้างไว้ เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการที่เคยเกิดขึ้นมา…

คลองโอ่งอ่าง
คลองโอ่งอ่าง

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan