11 กุมภาพันธ์ 2019
13 K

ทุกวันนี้สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ มีอยู่เพียง 35 สวน ครอบคลุมพื้นที่ 3,651 ไร่ เมื่อเทียบกับห้างสรรพสินค้าซึ่งมีอยู่ถึง 170 ห้าง จึงพอจะเดาได้ไม่ยากว่าชาวกรุงเทพฯ อย่างเราๆ ผูกขาดการใช้งานกับพื้นที่แบบไหน

เรื่องคุณภาพพื้นที่สาธารณะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้กรุงเทพฯ แม้จะได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับ 3 ของโลก แต่ในแง่ความเป็นเมืองน่าอยู่ เราถูกจัดอยู่ในอับดับ 129 เลยทีเดียว พูดง่ายๆ คือให้มาเที่ยวเดี๋ยวเดียวแฮปปี้ แต่ให้อยู่นานหลายปีคงต้องขอบาย

คนกรุงเทพฯ มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 6 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ในขณะที่ชาวสิงคโปร์เพื่อนบ้านของเรามีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวถึง 66 ตารางเมตรต่อคน

พื้นที่รกร้างในกรุงเทพฯ มีอยู่ถึง 75,320 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ทั้งหมด ในขณะที่พื้นที่สวนมีอยู่เพียง 3,651 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.387 พื้นที่รกร้างที่ว่า รวมไปถึงพื้นที่ใต้ทางด่วนยกระดับที่มีโครงข่ายอยู่ทั่วเมือง ครอบคลุมพื้นที่ 4,500 ไร่ เทียบเท่ากับพื้นที่สวนลุมพินีถึง 12 สวน แต่ที่ผ่านมาพื้นที่ใต้ทางด่วนจำนวนมหาศาลยังถูกทิ้งร้าง บางพื้นที่ถูกใช้งานผิดประเภท ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ตามศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น

ลานกีฬาพัฒน์ 2

คงจะดีไม่น้อยหากเราพัฒนาพื้นที่รกร้างใต้ทางด่วนเหล่านี้ให้กลายมาเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับเมืองและผู้คนในชุมชนได้

และนี่คือจุดเริ่มต้นของ โครงการลานกีฬาพัฒน์ 2 กับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนที่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในแง่การออกแบบ การใช้ประโยชน์ของชุมชน และสร้างการตระหนักที่ดีเรื่องพื้นที่รกร้างให้คนในสังคม

ลานกีฬาพัฒน์ 2
 
01

ที่ใต้ทางด่วน

โครงการลานกีฬาพัฒน์ 2 จัดทำโดยความร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักราชเลขาธิการ สสส. สถาบันอาศรมศิลป์ และบริษัทฉมาโซเอ็น โดยเริ่มมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้คนทั่วไปในชุมชนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยใช้กีฬาเป็นเครื่องมือให้ผู้คนในชุมชนพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน

โครงการตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ใต้ทางพิเศษศรีรัช บริเวณแยกอุรุพงษ์ ราชเทวี ล้อมรอบด้วย 5 ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลัก คือชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนบ้านครัวใต้ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก ชุมชนวัดบรมนิวาส และชุมชนคลองส้มป่อย

ลานกีฬาพัฒน์ 2
ลานกีฬาพัฒน์ 2

พื้นที่โครงการขนาด 12 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีซอยพญานาคตัดผ่านตรงกลาง เดิมเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกายเล่นกีฬาของชุมชนอยู่แล้ว แต่มีสภาพเสื่อมโทรมเนื่องจากขาดการบำรุงรักษา และไม่ได้แบ่งสรรการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเป็นสัดส่วน ทำให้บางพื้นที่กลายเป็นจุดเปลี่ยว

ด้วยความที่เป็นใต้ทางด่วน พื้นที่นี้จึงทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ทางด่วนจะช่วยเป็นร่มเงากำบังแดดและฝนได้ตลอดทั้งวัน ในขณะที่ข้อเสียคือ เรื่องมลภาวะทางอากาศและเสียงจากรถยนต์บนทางด่วน

ลานกีฬาพัฒน์ 2
ลานกีฬาพัฒน์ 2
 
02

ที่ร่วมกันของชุมชน

ความน่าสนใจประการสำคัญของโครงการลานกีฬาพัฒน์ 2 นอกจากเป็นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนแห่งแรกๆ ของประเทศไทยแล้ว โครงการนี้ยังออกแบบโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทั้งห้าชุมชนโดยรอบ โดยแบ่งกระบวนการออกแบบเป็น 2 ครั้งหลักๆ โดยมีสถาบันอาศรมศิลป์เป็นพี่เลี้ยง

ครั้งแรกเป็นการชวนคนในชุมชนมาร่วมกันวางผัง Zoning ว่าพื้นที่แต่ละส่วนของโครงการจะถูกใช้งานเป็นฟังก์ชันอะไรจึงจะตอบโจทย์การใช้งานของชุมชนมากที่สุด คนในชุมชนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ ถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาและช่วยกันสรุปผลการจัดวางผัง Zoning ร่วมกัน

ลานกีฬาพัฒน์ 2
ลานกีฬาพัฒน์ 2

ผลของการวางผัง Zoning ร่วมกันของคนในชุมชน ถูกส่งต่อไปยังทีมออกแบบ นั่นก็คือกลุ่มภูมิสถาปนิกจากบริษัทฉมา โซเอ็น เพื่อพัฒนาต่อไปเป็นผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และรายละเอียดการออกแบบพื้นที่ในแต่ละจุด

เมื่อการออกแบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว กระบวนการมีส่วนร่วมครั้งที่ 2 จึงถูกจัดขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้คนในชุมชนได้เข้ามาพิจารณา ทำความเข้าใจ และแสดงความคิดเห็นต่อแบบดังกล่าว ว่ามีความสอดคล้องกับภาพที่พวกเขาวาดเอาไว้หรือไม่ เพื่อให้ทีมออกแบบสามารถนำความคิดเห็นเหล่านั้น ไปพัฒนาและปรับปรุงรายละเอียดการออกแบบพื้นที่ต่อ

ลานกีฬาพัฒน์ 2
 
03

ที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คน

การใช้ประโยชน์ที่ดินใต้ทางด่วนของลานกีฬาพัฒน์ 2 ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วน Active ประกอบไปด้วยสนามกีฬาประเภทต่างๆ คือแบดมินตัน ลู่วิ่ง ฟุตซอล วอลเลย์บอล ปิงปอง มวยไทย และเครื่องออกกำลังกาย

ส่วน Passive ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่นันทนาการและพื้นที่สีเขียว คือลานทราย ลานศิลปวัฒนธรรม ลานสมุนไพร ลานสูงวัย และลานอเนกประสงค์ ที่คนในชุมชนลงความเห็นร่วมกันว่าต้องมีไว้ สำหรับชุมนุมและจัดกิจกรรมตามวาระต่างๆ ของชุมชนทั้งห้า

ลานกีฬาพัฒน์ 2
ลานกีฬาพัฒน์ 2

พืชพรรณที่ปลูก ทีมนักออกแบบตั้งใจใช้พันธุ์ไม้ที่ช่วยกรองฝุ่นละอองและเสียงจากถนนโดยรอบ และทางด่วนยกระดับด้านบน

โครงการลานกีฬาพัฒน์ 2 นอกจากเป็นการสร้างความเป็นธรรมชาติ ความมีชีวิตชีวา ของสังคมเมืองให้มีความร่มรื่น ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้มาใช้บริการได้ในฐานะพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของเมืองแล้ว

ลานกีฬาพัฒน์ 2
ลานกีฬาพัฒน์ 2

ที่นี่ยังถือเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับชุมชนโดยรอบซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม ถือเป็นพื้นที่รวมคนและพื้นที่สันทนาการระดับย่านที่มีผลลัพธ์ในระดับเมือง จากการเปลี่ยนพื้นที่ทรุดโทรมเดิมให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นเพื่อสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของผู้คน

ลานกีฬาพัฒน์ 2
ขอขอบคุณ : Panoramic Studio

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน