พนมสารคาม อำเภอหนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทราที่มีประชากรราว 85,000 คน เป็นอำเภอทางผ่านขนาดกลางที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก มีเรื่องราวของผู้ชายคนท้องถิ่นคนหนึ่งกับร้านค้าของเขาที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และเรื่องราวอันน่าสนใจ 

เรื่องราวการต่อสู้ของร้านกับคู่แข่งด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจอันแพรวพราว จนทำให้คู่แข่งจากต่างเมืองต้องยอมแพ้กลับไปทุกราย 

หากใครมีโอกาสไปเยี่ยมชมในร้านจะได้พบกับสินค้านับหมื่นรายการ มีแผ่นกระดาษคำกลอนแปดนับร้อยที่แต่งด้วยตัวเองทั้งหมดแปะเต็มผนังทุกด้าน ถือเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศในการเดินเลือกจับจ่ายอย่างกลมกลืน 

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี, เฮียเล็ก-พิสิษฐ์ วรรณีเวชศิลป์

ถ้าหากเราเรียก สนามฟุตบอล Old Trafford ของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เป็นเหมือนโรงละครแห่งความฝันของวงการฟุตบอลและแฟนบอลทั่วโลก ‘พวงทองสรรพสินค้า’ ก็เป็นเหมือนโรงละครแห่งชีวิตของ เฮียเล็ก-พิสิษฐ์ วรรณีเวชศิลป์ ผู้ก่อตั้งร้านพวงทองสรรพสินค้า ที่ตั้งใจทำธุรกิจเพื่อลูกค้าทุกคนที่เขารัก แม้ว่าโรงละครแห่งนี้จะไม่ได้มีฟุตบอลหรือมีการแสดงทั่วไป แต่เต็มไปด้วยบทเรียนชีวิตและบทเรียนการตลาดนอกตำราที่คนทำธุรกิจต้องศึกษาไว้ให้ดี ผ่านทั้งคำพูดและคำกลอนที่ร้อยเรียงออกมาอย่างคล้องจองราวกับทุกสิ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน

“ทุกวันนี้ ทำธุรกิจจากพื้นฐานของคำแค่สองคำ คือ จริงจังและจริงใจ ทำทุกอย่างให้มิตรแท้ที่รักและเคารพ” คือประโยคแรกที่เฮียเล็กเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง

“แดดไม่ได้ออกเป็นเงิน ลมไม่ได้โชยมาเป็นทอง แต่เป็นเพราะพี่น้องที่ให้ความเมตตา เรามีแต่ความจริงใจให้ ห้างฯ ก็บ้านนอก เถ้าแก่ก็คนบ้านนอก พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ

“เวลาทำงาน เราต้องยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คิดคด ทรยศ หรือกบฏต่ออาชีพของตัวเอง ถ้ามีคุณธรรมในตัว ชัวร์แน่นอน!”

ชุดประโยคเริ่มต้นของเรื่องราวการสนทนา ถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงที่มุ่งมั่น แววตาเป็นประกาย เราสังเกตเห็นอีกหนึ่งอย่างคือ แต่ละคำ แต่ละประโยค ช่างเต็มไปด้วยคำคล้องจองราวกับบทกลอนที่ร่ายออกจากกวีฝีปากเอก ช่วยให้การถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของร้านพวงทอง ธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่คู่ชาวอำเภอพนมสารคามมา 47 ปี เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าติดตาม

เราเคยได้ยินคำกล่าวว่า ชีวิตจริง ยิ่งกว่าละคร เมื่อได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดของเฮียเล็กและร้านพวงทองแล้ว เราขอให้เชื่อเถอะว่ามันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี
พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี

ละครฉากแรก

ชีวิตวัยเด็ก

“ผมเรียนจบชั้น ม.ศ.3 ที่โรงเรียนพนมอดุลฯ และต้องออกจากโรงเรียน ทั้งๆ ที่เรียนได้ที่หนึ่ง เมื่อออกมาก็ไปทำงานที่แคมป์ทหารฝรั่งที่แสมสาร สัตหีบ ในตำแหน่งคนล้างส้วม เรียกภาษาฝรั่งว่า Janitor นั่นแหละ ไม่ได้รู้สึกอายนะ แต่ดีใจมากกว่าเพราะได้ทำงานสุจริต” มาถึงตรงนี้ เราแอบเห็นเจ้าของเรื่องมีน้ำตาคลอเบาๆ เมื่อเล่าย้อนไปถึงเรื่องราวในอดีต

“ทำงานล้างส้วมได้ไม่ถึงครึ่งปี ก็ย้ายไปเป็นบาร์เทนเดอร์ ไม่เคยเรียนชงเหล้าหรอกนะ แต่อาศัยแอบดูตอนเข้าไปล้างแก้ว เรียกว่าครูพักลักจำเอาจนได้ สมัยนั้นนายกรัฐมนตรีเงินเดือนเก้าพันบาท ทองบาทละสี่ร้อย เราเป็นบาร์เทนเดอร์ ได้ชั่วโมงละ 6.65 บาท ทำงานวันละสิบชั่วโมง เดือนหนึ่งก็ได้พันหน่อยๆ พักเดียวก็เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าบาร์เทนเดอร์ มีลูกน้องห้าคน แต่ทำงานในแคมป์ฝรั่งข้อดีมีเงินทิปเยอะ เดือนหนึ่งได้ประมาณสองแสนบาทแบ่งกันกับลูกน้อง ส่วนตัวเอง ได้เงินเท่าไหร่ส่งให้พ่อแม่ทั้งหมด ทำงานเจ็ดปี มีเงินเก็บสามล้านบาท”

พวกเราทึ่งกับความสามารถในการจดจำตัวเลขทุกอย่างได้อย่างแม่นยำของเฮียเล็ก

เมื่อถึงกำหนดเวลา แคมป์ทหารฝรั่งก็ปิดลง เฮียเล็กเดินทางกลับมาบ้านเกิดพร้อมกับความฝันว่า อยากมีร้านค้าที่ติดแอร์สักร้าน ซึ่งฟังแล้วอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กมากสำหรับสมัยนี้ แต่ถ้าเป็น 40 กว่าปีก่อน การติดแอร์ถือเป็นความแปลกใหม่และทันสมัยที่สุดแล้ว 

“ไม่เคยคิดจะทำอาชีพอื่น ด้วยเพราะตัวเองเป็นคนชอบค้าขาย ก็เลยอยากมีร้านของตัวเอง” เฮียเล็กย้ำ

“ตลอดเวลาเจ็ดปีที่อยู่ในแคมป์ฝรั่ง ได้เห็นความเจริญในแคมป์ที่ก้าวหน้ากว่าชีวิตข้างนอกไปสามสิบปี ร้านค้าในแคมป์มีเครื่องคิดเงิน การติดแอร์ในร้านถือเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่ด้านนอกแคมป์ การติดแอร์สักเครื่องนั้นต้องจ่ายด้วยราคาที่สูงมาก” 

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี, เฮียเล็ก-พิสิษฐ์ วรรณีเวชศิลป์

ฉากที่ 2 

จุดเริ่มต้นของการตลาดนอกตำรา 

“วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2516 ร้านพวงทองสาขาแรกเกิดขึ้นด้วยเงินทุนก้อนแรกหนึ่งแสนบาท แบ่งเป็นซื้อบ้าน เจ็ดหมื่นบาท แต่งร้านสองหมื่นบาท และเหลือเงินแค่หนึ่งหมื่นบาทเท่านั้นสำหรับซื้อของเข้ามาขาย จึงเลือกขายเครื่องหวาย เครื่องจักสาน ให้ชาวบ้านไว้จับปลาหรือใช้ในบ้าน เพราะเห็นว่าตอนนั้นยังไม่มีใครขาย เป็นสินค้าประเภทเดียวที่เงินหนึ่งหมื่นบาทจะสั่งเข้ามาขายแล้วได้ของเต็มร้าน” 

หลังจากร้านแรกเปิดได้ 15 ปี เก็บเงินได้ 1.5 ล้านบาท ก็ต้องเปิดสาขา 2 ด้วยความจำเป็น เนื่องจากที่ตั้งของร้านแรกอยู่ในเขตพื้นที่ของวัด และทางวัดต้องการพื้นที่คืน ร้านพวงทองสาขา 2 จึงเกิดขึ้นด้วยคอนเซปต์ที่ล้ำสมัยที่สุดและเป็นร้านในฝันที่เฮียเล็กเฝ้ารอคอยมานาน นั่นคือการเป็นร้านติดแอร์และอยู่ห่างจากร้านแรกเพียงแค่ 100 เมตร

“10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ร้านพวงทองสรรพสินค้าเปิดร้านเป็นวันแรกด้วยเงินลงทุนแปดแสนบาท ตอนนั้นถนนแถวนี้ยังเป็นดินแดงอยู่เลย แต่ร้านเราติดแอร์ เป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก คนมารอเข้าคิวตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด คนมาทั้งวันจนต้องขอให้เข้าเป็นรอบ เราปิดร้านวันแรกพร้อมกับยอดขายสี่แสนเจ็ดหมื่นห้าพันบาท” เฮียเล่าให้ฟังอย่างออกรสแบบไม่ต้องดูโน้ตใดๆ จนเราอดทึ่งไม่ได้ความแม่นยำในตัวเลขทุกตัวในหัว 

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี

“ต้องคิดแปลก และแตกต่าง ทุกอย่างถึงจะเป็นเงิน แต่ถ้าคิดตามเขา เราจะเป็นรอง”

คือบทเรียนการตลาดแรกของวันนี้ 

“ร้านพวงทองคิดทำอะไรจะต้องแตกต่างจากคนอื่นเสมอ เราคิดในรายละเอียดทุกอย่างตั้งแต่การเรียกสินค้าโปรโมชันว่าเป็นสินค้าพระเอก นางเอก เทวดา นางฟ้า เพราะชื่อเรียกเหล่านี้ชาวบ้านเข้าใจง่ายว่ามาช่วยให้พวกเขามีความสุข เหมือนเทวดามาโปรด เรียกแบบนี้ลูกค้าจำง่าย รู้สึกสนุกและเป็นกันเอง ไม่ต้องไปใช้ภาษาฝรั่งให้ยุ่งยาก”

ให้จากใจ 

“ทุกครั้งที่มีการเปิดร้านวันแรก เราแจกไม่อั้น เพราะเราต้องให้ก่อนถึงจะได้รับ คนเราหายใจเข้าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหายใจออกด้วย” เฮียเล่าถึงกลยุทธ์การตลาดที่คิดขึ้นด้วยตัวเองอย่างสนุก

“ผมเห็นจากพ่อแม่เป็นตัวอย่างของผู้ให้ จึงยึดแนวคิดของการให้ก่อนมาตลอดในการทำงาน และการให้นั้นก็ต้องให้อย่างจริงใจ อย่าเสแสร้งหรือทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราไม่ได้ให้จากใจ“

บทเรียนการตลาดข้อ 2 : ให้ก่อนรับและให้อย่างจริงใจ 

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี

ตลาดนัดติดแอร์

หลังจากเปิดร้านที่สองได้ 8 ปี ร้านพวงทองตลาดนัดติดแอร์หรือสาขา 3 ก็เปิดให้บริการในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2540 ด้วยขนาดร้านที่ใหญ่ขึ้น 

“ร้านใหม่มีรายการขายสินค้ามากขึ้นเพราะเพิ่มของใช้ในบ้านขึ้นมา เช่น จาน ชาม ถ้วย ถัง เครื่องครัว เราเลยตั้งชื่อว่าตลาดนัดติดแอร์ ใครมาเดินที่นี่ก็เหมือนได้ไปตลาดนัด” เมื่อเราดูของที่ขายในร้านก็อดทึ่งไม่ได้จริงๆ ว่า ของขายมากมายขนาดนี้บริหารจัดการอย่างไร

“ของที่ขายในร้านทั้งหมด เราสั่งตรงจากผู้แทนของบริษัท สินค้าต้องเข้าตามตรอก ออกตามประตู ไม่เคยซื้อของที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ลูกค้าสบายใจได้ว่าของทุกชิ้นในร้านมีคุณภาพ ผมสั่งของด้วยตัวเอง คุยกับผู้แทนทุกคนด้วยตัวเอง มีตารางการทำงานชัดเจนทุกวันว่าเวลาไหน จะไปอยู่ที่สาขาไหน ทำอะไร ผู้แทนจะมาพบได้ตอนไหน 

“ตั้งแต่เปิดร้านสาขาแรกมาจนวันนี้ ยังไม่เคยหยุดทำงานแม้แต่วันเดียว ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุดเพราะมีความสุขและสนุกกับการทำงาน เพราะผมมีความสุขที่จะได้รอต้อนรับทุกคนทั้งลูกค้าและผู้แทน ผู้แทนไม่ได้มาขอเงินเรานะ แต่ผู้แทนนี่แหละที่นำสิ่งดีๆ มาให้ เพื่อให้เรามีไว้บริการลูกค้าต่อไป ใครคิดว่าผู้แทนมาขอเงินเรานั้นเข้าใจผิดแล้ว” เฮียเล็กทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด

บทเรียนการตลาดข้อ 3 : เป็นมิตรทั้งกับลูกค้าและคู่ค้า เราจะได้แต่สิ่งดี

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี

ของดีราคาถูก ใครอยากซื้อต้องได้ซื้อ

เมื่อเห็นปีที่เปิดสาขา 3 ว่าเป็น พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจทั้งโลกมีปัญหา เราอดถามไม่ได้ว่า สถานการณ์ตอนนั้นพวงทองฯ เป็นอย่างไรบ้าง

“ในยามวิกฤต เป็นโอกาสที่เราจะได้ช่วยเหลือสังคม” เสียงเฮียเล็กขึงขังทันทีเมื่อพูดถึงเรื่องนี้

“ตอนเปิดร้านสาขาสาม เราจัดรายการแจ็กพอตตลอดเดือน เราแจกตู้เย็น ทีวี พัดลม น้ำมัน น้ำปลา จาน ชาม แจกทุกอย่างที่ลูกค้าใช้แล้วได้ประโยชน์ เราอยากขาย เรามีของดีราคาถูก ใครอยากซื้อต้องได้ซื้อ เราไม่จำกัด วิกฤตทำให้เราขายดีกว่าเดิม เพราะตอนเศรษฐกิจดี คนจะไปเดินห้างฯ แต่เมื่อไหร่ที่มีวิกฤต คนจะกลับมาหาห้างฯ เล็กๆ เราไม่ต้องทำอะไรมาก แค่เตรียมพร้อมต้อนรับให้ดีที่สุด

“การต้อนรับก็ทำอย่างง่ายๆ แค่ไม่ทำให้เขินเมื่อเดินเข้าร้าน พนักงานที่นี่จึงใส่เสื้อยือคอปกเหมือนเสื้อกีฬา เราต้องแต่งตัวให้เข้ากับลูกค้าผู้เป็นมิตรแท้ที่รักและเคารพ อย่าไปแต่งตัวสวยกว่าลูกค้า 

“ถ้าเราทำให้ลูกค้าเดินเข้ามาอย่างเสือ เราจะรวย 

“ถ้าเราทำให้ลูกค้าเดินเข้ามาอย่างหมา เราจะซวย เพราะลูกค้าจะไม่กล้าซื้อของเยอะ” ได้ยินแล้วก็เผลอพยักหน้าเห็นตามเฮียทุกประโยค

บทเรียนการตลาดข้อ 4 : ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา แล้วเขาจะไว้ใจเรา

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี

ฉากที่ 3

ยามศึกเรารบ (กับสงครามการค้าระดับอำเภอ)

อำเภอนี้ไม่เคยมีห้างฯ ต่างชาติมาเปิดบ้างเลยหรือ คือคำถามที่เราอดสงสัยไม่ได้กับการทำธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มองไปทางไหนก็เจอคู่แข่งทั้งนั้น

“ที่จริงก่อนเปิดสาขาสามก็มีสาขาของห้างฯ ต่างชาติมาเปิดแล้วหลายราย แต่มากี่รายก็เจ๊ง เพราะชาวบ้านยังรักและให้ความเมตตากับเรา อุดหนุนเราอยู่” เฮียเล่าอย่างถ่อมตัว 

แล้วตอนนั้น รับมือหรือสู้อย่างไร ถึงทำให้คู่แข่งเหล่านั้นถอยกลับไปหมด

“ใครเข้ามาเราก็ไม่กลัวนะ เรามีหน้าที่ทำงานของตัวเองให้ดีที่สุดก็พอ เราไม่เคยเดินสืบราคา ไม่เคยอยากรู้ว่าเขาทำอะไรบ้าง

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี
พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี

“เราใช้วิธีหมาหมู่รุมสู้ ทำเหมือนรับน้อง ทุกสาขาขนสินค้ามาลดราคาแบบมโหฬารล่วงหน้าก่อนคู่แข่งเปิดร้าน ไม่มีการตั้งรับ เราเทหมดหน้าตักทุกครั้ง ทั้งแจก ทั้งแถม เพื่อรักษาลูกค้าเอาไว้ ห้างฯ ต่างชาติมาเปิดนั้นจะมีค่าดำเนินการสูง ถ้าขายไม่ได้สักระยะหนึ่งและไม่มีกำไร เขาก็ต้องปิดไปเอง ไม่เหมือนเราที่เป็นคนพื้นที่ 

“แต่แม้ว่าจะรับศึกมาได้หลายครั้ง เราก็ไม่เคยประมาท” 

เมื่อได้ไล่เรียงชื่อห้างถิ่นที่เข้ามาเปิดแล้วพ่ายแพ้กลับไปก็ต้องตกใจว่ามีมากมายจริงๆ

บทเรียนการตลาดข้อ 5 : ไม่ประมาทและจงสู้ให้สุดด้วยแนวทางของตัวเอง 

“ที่ตรงนั้นมีคนมาเปิดแล้วปิด เปิดแล้วปิดหลายรอบ จนสุดท้ายเจ้าของตึกก็เอามาขายให้เราถูกๆ เพราะหาคนเช่าไม่ได้แล้ว ร้านตรงนั้นเลยกลายเป็นร้านสาขาสี่ในที่สุด” 

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี
พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี

ฉากที่ 4

ยามสงบเรารัก (หลักการทำงานและดำเนินชีวิต)

เมื่อเราย้อนถามกลับไปถึงชื่อร้าน ‘พวงทอง’ ว่ามีที่มาอย่างไร คำตอบที่ได้ก็พาเราไปสู่อีกฉากสำคัญของละครเรื่องนี้ 

“พวงทองก็ชื่อภรรยาไง” เมื่อพูดถึงชื่อคู่ชีวิต เราเห็นรอยยิ้มกว้างบนใบหน้าของเฮียอย่างชัดเจน

“การเจอคุณพวงทองเหมือนสวรรค์ลิขิต เขาเป็นคนชัยนาทแต่ไปพบกันที่แคมป์ทหารฝรั่ง ไปทำงานเป็นคนขัดรองเท้า เหมือนยาจกสองคนเจอกัน สุดท้ายก็หนีตามกันไป

“ทุกวันนี้คุณพวงทองมีหน้าที่เหมือนเป็นทูตของทางร้านกับเดินสายทำบุญ ช่วยให้ผู้ใหญ่ในจังหวัดเมตตาเรา เวลาจัดงานกิจกรรมใดๆ ของอำเภอหรือจังหวัด ร้านเราก็จะมีส่วนร่วมด้วยทุกครั้ง”

เฮียเล็กมีหลักการทำงานกับการดำเนินชีวิตยังไงบ้าง

“อย่างแรกเลยคือ ใช้หลัก 3 อ กับ 3 ม

อ แรก ครอบครัว ‘อบอุ่น’ โดยเฮียเล็กอธิบายผ่านการร่ายกลอนสดให้พวกเราฟังโดยไม่ต้องดูโพย

“ถ้าเชื่อเมีย ที่เคารพ พบแต่รวย 

ลูกค้าช่วย ด้วยเมตตา พากันซื้อ

ห้างฯ พวงทอง ของพวกเรา เขาร่ำลือ

เถ้าแก่ถือ คือรับฟัง คำสั่งเมีย”

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี

ฟังแล้วก็เป็นจริงตามนั้น เพราะเมื่อดูจากแผ่นคำกลอนที่แปะไว้รอบร้าน จะพบว่ากลอนกว่าครึ่งเขียนถึงคุณพวงทองไว้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน

“อ ต่อมา คือลูกน้องต้องกิน ‘อิ่ม’ ข้อนี้สำคัญมาก เพราะลูกน้องคือคนที่ช่วยเราทำงาน เราต้องดูแลพวกเขาให้ดี ที่นี่เราจ้างแม่ครัว ทำอาหารเลี้ยงพนักงานทุกวัน นอกจากนั้น เรายังให้พนักงานเบิกเงินล่วงหน้าโดยไม่เสียดอกเบี้ยด้วย ที่นี่เลือกรับพนักงานก็ง่ายๆ ดูหน้าตาไม่ผิดปกติก็รับแล้ว 

“อ สุดท้าย ลูกค้าต้อง ‘อารมณ์ดี’ ทำให้ลูกค้ามีความสุขระหว่างเลือกซื้อสินค้า พนักงานทักทายด้วยรอยยิ้ม มีหน้าที่ช่วยเหลือ ในเรื่องที่ลูกค้าต้องการ

“พนักงานยิ้มแย้ม สินค้าถูกและดี สินค้าที่ใช่และชอบ คือคำตอบที่เรามีให้”

ส่วน 3 ม ได้แก่ หนึ่ง ‘สมอง’ กับ 2 ‘มือ’ ใช้ความคิด คิดให้ต่างและเน้นเรื่องการบริการ สอง ‘มุ่งมั่น’ ทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ต้องไปสนใจคู่แข่งอื่น และสาม ‘หมาหมู่’ เฮียเล็กบอกว่า ทุกวันนี้พวงทองฯ มี 5 สาขา แค่ลูกค้าเดินสะดุดมดก็เข้ามาถึงร้านแล้ว

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี
พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี

5 สาขาของพวงทองฯ แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้ลูกค้าไม่เบื่อและรู้ว่าร้านมีทุกอย่างที่เขาต้องการ โดยมีแม้กระทั่งสาขา 5 ที่เปิด 24 ชั่วโมง ใช้ชื่อว่า ‘พวงทองตลอดวันตลอดคืน’ 

“หลักการต่อมา คือเราต้องมีคุณธรรม เมตตาผู้ด้อยกว่า อย่างเช่นถ้าลูกค้าทำข้าวของในร้านเสียหาย เราก็ไม่เก็บเงินลูกค้านะ และเราเอาของไปทิ้งแบบไม่ให้ลูกค้าเห็นด้วย เพราะลูกค้าจะรู้สึกผิดและเสียใจ 

“สุดท้ายคือเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง เพราะเรามีไอเดียอยู่ในหัวตลอดเวลา เมื่อมีไอเดียก็เอาออกมาทำ ถ้าคิดแบบนี้ เราทำอะไรก็ไม่เหนื่อยและมีแรงคิดทำตลอดทุกวัน”

เห็นขยันและสนุกกับการทำงานแบบนี้ เคยคิดจะขยายสาขาไปอำเภออื่นหรือไม่ เราถามอย่างอดสงสัยไม่ได้

“ไม่เคยคิดไปเปิดที่อื่น เราอยู่ในที่ของเราก็พอแล้ว เราอยู่ตรงนี้มีโอกาสเอื้ออารีต่อญาติมิตรที่มาซื้อของเรา เราขายของทำหน้าที่ของเราตรงนี้ให้ดีที่สุด และเราจะไม่สร้างศัตรูเด็ดขาด เพราะตัวเองอยากจะอยู่ให้ได้ถึงร้อยยี่สิบปี”

ฉากสุดท้าย

ก่อนลาจาก

ถ้าวันนี้อยากแนะนำคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจสักข้อหนึ่ง จะแนะนำว่าอะไร

“อยากให้ทำงานตามขั้นบันได จากเล็กไปหาใหญ่ ทำทีละขั้น ก้าวทีละก้าว อย่ามั่นใจมากเปิดร้านใหญ่เกินตัว ถ้าอยากเปิดร้านอาหาร ให้เริ่มจากทำร้านก๋วยเตี๋ยวก่อน และที่สำคัญ เวลาทำงานอะไรอย่าไปเครียด เพราะมันจะเบียดความสุข เราจะไม่สนุกกับการขาย และสุดท้ายก็จะวอดวาย และขอให้ทำงานอย่างจริงจังและจริงใจ” 

นั่นคือข้อคิดสุดท้ายที่เฮียฝากไว้ให้พวกเรา

ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงที่เรานั่งฟังเรื่องราวของธุรกิจในอำเภอเล็กๆ อำเภอหนึ่งของประเทศไทย แต่เรื่องราวที่เราได้ฟังกลับยิ่งใหญ่จนทำให้เราหัวใจพองโต 

ความสำเร็จที่เริ่มต้นจากความเป็นคนขยัน ช่างสังเกต ขยันคิดหาสิ่งแปลกใหม่ รวมถึงการมีความฝันที่ใหญ่และต้องอดทนรอกว่า 15 ปีถึงจะทำให้มันเป็นจริง ทุกสิ่งที่เราได้ฟังทำให้เรามั่นใจว่า ‘ร้านพวงทอง’ จะยืนเป็นหนึ่งเดียวในใจของพี่น้องญาติมิตรในอำเภอพนมสารคามตลอดไปอีกนาน

พวงทองสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่นในฉะเชิงเทราที่มี 5 สาขาและครองใจคนทั้งอำเภอมากว่า 47 ปี

Writer

Avatar

ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์

ชอบตัวเองเวลาอยู่บ้านพอๆ กับสนใจเรื่องราวความเป็นไปของโลกธุรกิจนอกบ้าน เพื่อนำสิ่งที่ได้พบเห็นมาเล่าเรื่องที่ยากให้เข้าใจง่ายผ่านตัวหนังสือ ติดตามผลงานได้ที่ Facebook : Trick of the Trade

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล