7 ปีที่แล้วเมื่อหนัง The Avengers ออกมา ในฉากแรกของหนัง โทนี่ สตาร์ก ใส่เกราะ Iron Man ดำลงไปจัดการกับท่อใต้น้ำ ฉันจำได้ว่าตอนนั้นดูแล้วรู้สึกตราตรึงมาก เพราะมันเท่สุดๆ ไปเลย

มาถึงวันนี้ ฉันเพิ่งได้พบว่าหุ่นยนต์ที่ทำงานใต้น้ำแบบนั้นมีอยู่จริง ถึงรูปร่างภายนอกจะไม่หล่อเท่เท่า Iron Man แต่ความเท่คือการทำงานได้จริงแบบไม่ต้องใช้ CG แสดงแทน แถมสร้างโดยฝีมือคนไทยเองนี่แหละ

นี่คือหนึ่งในผลงานอันแสนภาคภูมิใจของ ‘AI and Robotics Ventures’ หรือ ARV

บริษัทลูกของ ปตท.สผ. แห่งนี้เพิ่งเปิดมาได้ 1 ปีหมาดๆ แต่ก็มีผลงานน่าประทับใจอย่างหุ่นยนต์สำรวจท่อใต้น้ำแบบอัตโนมัติตัวแรกของโลก รวมถึงหุ่นยนต์ซ่อมท่อใต้น้ำ โดรนสำหรับตรวจสอบในที่สูง และโดรนแปรอักษรที่แสดงครั้งแรกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 และในโอกาสสำคัญ

ARV ธุรกิจจากชายผู้รักหุ่นยนต์ชาวไทย ที่สร้างหุ่นยนต์สำรวจท่อใต้น้ำอัตโนมัติตัวแรกของโลก

ผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ของบริษัทอาจดูไกลตัว เพราะเป็นของใช้ในอุตสาหกรรมเสียส่วนใหญ่ แต่พอฟังเรื่องราวเบื้องหลัง ก็ได้เห็นธุรกิจที่เกิดจากความใจรัก ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ 

“เด็กผู้ชายทุกคนก็ต้องเคยฝันจะทำหุ่นยนต์ทั้งนั้นแหละ” ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปของ ARV บอกเรา

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปของ ARV

เขาเป็นหนึ่งในคนที่หลงรักหุ่นยนต์ ตื่นเต้นกับรถแทร็กเตอร์คันใหญ่ๆ และสนุกกับการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในขณะที่คนอื่นอาจสนใจเข้าร่วมชมรมสันทนาการสนุกสนาน ดร.ธนา กลับเป็นหัวหอกตั้งชมรมหุ่นยนต์ โดยที่ไม่รู้เลยว่าไม่นานหลังจากนั้นจะกลายมาเป็นธุรกิจใหม่ที่มีส่วนส่งเสริมธุรกิจหลัก ปตท.สผ.

จากตรงนั้น กลายมาเป็นธุรกิจหุ่นยนต์เปลี่ยนโลกได้อย่างไร พวกเขาเปลี่ยนอะไรไปบ้าง ลองไปฟัง

เปลี่ยนเวลาว่างเป็นเวลาเรียนรู้

ที่จริงแล้ว ดร.ธนา ไม่ได้ทำงานด้านนี้มาก่อน

งานเดิมของเขาในบริษัทคือวิศวกรโครงการ มีหน้าที่คอยดูแลงานออกแบบและก่อสร้างในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่เมื่อช่วง 5 ปีที่แล้ว จู่ๆ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ก็กลายเป็นหัวข้อฮิตระเบิด เกิดบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านนี้จำนวนมาก ธุรกิจหุ่นยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว ที่ประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยเฉพาะในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปของ ARV

เมื่อกระแสแห่งโลกอนาคตมา ชายผู้รักหุ่นยนต์อยู่แล้วก็อยากเข้าไปร่วมแจมด้วย

และในเมื่อ ปตท.สผ. สนับสนุนให้พนักงานมีกิจกรรมชมรมนอกเวลางาน เขาจึงใช้โอกาสนี้เริ่มทำชมรมหุ่นยนต์เสียเลย

ผลงานในช่วงแรกของชมรม คือการชวนพนักงานที่สนใจในหุ่นยนต์ ทั้งที่มีความรู้พื้นฐานและที่ไม่มี มาทำกิจกรรมร่วมกันช่วงเสาร์-อาทิตย์ ประเภทกิจกรรมก็มีตั้งแต่สอนเขียนแอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ ไปจนถึงประกอบและบินโดรนเล่นกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีหลากหลาย บางครั้งพนักงานก็พาครอบครัวมาร่วมสนุกด้วย

อีกด้านของชมรม คืองานวิจัยและทดลองที่ทำให้บริษัทอย่างอิสระ พวกเขามองโจทย์จากงานประจำ แล้วลองออกแบบหุ่นยนต์ที่จะแก้ปัญหาดู

ในช่วงของการเป็นชมรม แม้ ปตท.สผ. จะให้งบประมาณสำหรับการทดลอง แต่ต้นทุนการสร้างหุ่นยนต์นั้นก็ช่างสูงจนต้องแบ่งสรรปันส่วนใช้อย่างจำกัด พวกเขาจึงได้เรียนรู้การบริหารเงินตั้งแต่วันนั้น

เปลี่ยนคนเป็นหุ่นยนต์

ธุรกิจหุ่นยนต์มีหลายแบบ แต่ที่ ดร.ธนา และเพื่อนๆ สนใจ คือแบบ B2B หรือหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคธุรกิจ 

ก่อนโลกจะมีหุ่นยนต์ มีงานในอุตสาหกรรมหลายงานที่มนุษย์ต้องลงมือลงแรงทำเอง ซึ่งหลายสถานการณ์มีความเสี่ยงต่อชีวิตไม่น้อย เช่น การดำน้ำลงไปใต้ทะเลลึกกว่า 60 – 70 เมตร เพื่อซ่อมท่อส่งปิโตรเลียม หรือการประกอบนั่งร้านข้างปล่องเผาก๊าซ (Flare Stack) ที่มีความสูงกว่า 150 เมตร เพี่อสำรวจและซ่อมบำรุง ฟังแล้วก็มีแต่งานเสี่ยงอันตรายทั้งนั้น

เมื่อเทคโนโลยีเริ่มเติบโต ก็เกิดหุ่นยนต์ที่เข้ามาช่วยลดความเสี่ยง ด้วยการบินไปในอากาศ หรือดำลงไปทำงานใต้ทะเลลึกแทนมนุษย์

แต่หุ่นยนต์เหล่านี้เป็นประเภท ROV (Remote-Operated Vehicle หรือหุ่นยนต์ที่ควบคุมระยะไกล) ซึ่งมีข้อจำกัด เมื่อหุ่นยนต์อยู่ใต้น้ำลึกที่ไม่มีสัญญาณผ่านลงไปถึง ระบบการสื่อสารทางไกลใช้ไม่ได้ แปลว่าก็ยังต้องมีสายเชื่อมหุ่นยนต์กับคนควบคุมอยู่บนเรือที่ผิวน้ำ ส่วนเรือก็ต้องมีคนขับ คนดูแล ค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยรวมแล้วนับว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมากอยู่ 

ARV ธุรกิจจากชายผู้รักหุ่นยนต์ชาวไทย ที่สร้างหุ่นยนต์สำรวจท่อใต้น้ำอัตโนมัติตัวแรกของโลก

ด่านใหม่ที่ยังไม่มีใครตีแตก คือการทำหุ่นยนต์ ‘Autonomous’ ‘อัตโนมัติ’ หรือหุ่นยนต์ที่ดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องให้ใครมาติดตามควบคุม

และนี่แหละคือเส้นชัยเส้นใหม่ที่บริษัทหุ่นยนต์ทุกแห่งกำลังวิ่งแข่งเข้าหา

เปลี่ยนตัวตนเป็นข้อได้เปรียบ

การเห็นตลาดนี่แหละที่เขาหยิบมาเป็นอาวุธหลักในการต่อสู้ในวงการนี้

หุ่นยนต์ที่ทำออกมาแล้วมีคนซื้อ คือหุ่นยนต์ที่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้จริง ดังนั้น ถ้าเอาปัญหาที่พบเป็นตัวตั้ง แล้วผลิตหุ่นยนต์ตอบโจทย์เหล่านั้น ก็การันตีการขายได้ไม่น้อยแล้ว 

ดร.ธนา และทีมต่างก็รู้ตัวถึงความโชคดีของตัวเองที่อยู่ใน ปตท.สผ. ได้สัมผัสกับธุรกิจที่คนอื่นไม่มีโอกาสเห็นโดยตรง แถมยังมีกรณีศึกษาในสถานการณ์จริงให้ทำความเข้าใจได้รอบด้าน พวกเขายึดจุดนั้นเป็นหลัก และพยายามสร้างหุ่นยนต์ให้ตอบโจทย์มากที่สุด เพื่อขายให้ ปตท.สผ. และแม้ตอนนี้บริษัทแม่จะเป็นลูกค้าหลัก แต่บริการหุ่นยนต์ของ ARV ก็นำไปใช้ได้กับธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ด้วย

ARV ธุรกิจจากชายผู้รักหุ่นยนต์ชาวไทย ที่สร้างหุ่นยนต์สำรวจท่อใต้น้ำอัตโนมัติตัวแรกของโลก

ไม่ใช่แค่นั้น การอยู่ใต้บริษัทแม่แบบนี้ ทำให้มี ‘สนาม’ (Playground) ให้ลองนำหุ่นยนต์ต้นแบบไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริง เช่น การมีปล่องเผาก๊าซฯ (Flare Stack) ให้ลองบินโดรนไปตรวจสอบ หรือท่อส่งปิโตรเลียมใต้ทะเลสำหรับให้ลองนำหุ่นยนต์ลงไปทำงาน

ARV ธุรกิจจากชายผู้รักหุ่นยนต์ชาวไทย ที่สร้างหุ่นยนต์สำรวจท่อใต้น้ำอัตโนมัติตัวแรกของโลก

ดร.ธนา บอกเราว่า ถ้าเปลี่ยนโจทย์ไป เขาก็ยังจะยึดมั่นตามแนวคิดนี้ เช่นในปัจจุบันที่พวกเขากำลังสนใจปัญหาในอุตสาหกรรมการเกษตรอยู่ แต่ตั้งเป้าว่าจะไม่ทำเทคโนโลยีซ้ำกับที่ตลาดมีอยู่หรือที่ผู้ประกอบการรายย่อยทำแน่นอน

“ถ้าปัญหาไหนมีคนแก้แล้วเราไม่ต้องทำ เราไปแก้ปัญหาที่คนอื่นยังแก้ไม่ได้หรืออาจจะยังไม่มีกำลังที่จะทำดีกว่า” เขาบอกเรา

เปลี่ยนชมรมเป็นธุรกิจ

แม้จะมีข้อได้เปรียบดีๆ อยู่แล้ว แทนที่จะเริ่มจากการตั้งบริษัท พวกเขากลับอยู่เป็นชมรมมาหลายปีจนเพิ่งได้ตั้งบริษัทมาไม่ถึงปีนี่เอง

ดร.ธนา แอบสารภาพว่า ในตอนนั้นเขาเองก็ใจร้อน เมื่อรู้ว่าในตลาดมีบริษัทหุ่นยนต์เกิดขึ้นมาเพียบ ความหวาดหวั่นว่าจะลงมือทำสายเกินไปยุให้เขาอยากทำบริษัทบ้าง แต่ก็ได้รัับคำแนะนำจากหลายๆ ท่านว่าควรต้องสร้างความมั่นใจให้เห็นชัดก่อนด่วนทำลงไป

พวกเขายึดถือแนวคิด ‘รีบล้มตั้งแต่แรกๆ จะได้เจ็บไม่มาก’ ด้วยการเริ่มจากหยิบไอเดียเล็กๆ มาลองทำดูก่อน หยิบมาสัก 10 ไอเดีย อาจเหลือรอดและคลอดเป็นชิ้นงานที่ใช้งานจริงได้แค่ 2 – 3 ไอเดีย ก็ต้องเตรียมรับมือกับทุนต่างๆ ไประหว่างนั้น เมื่อเริ่มมีงานที่ประสบความสำเร็จ ปีกกล้าขาแข็งจนมั่นใจว่าจะไม่ล้มบ่อยแล้ว จึงค่อยเริ่มก้าวให้ใหญ่ขึ้น หรือลงทุนให้เยอะขึ้นนั่นเอง

พวกเขาทำแบบนั้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งโดรนสำรวจปากปล่องเผาก๊าซ (Flare Stack) บนแท่นผลิตปิโตรเลียมสำเร็จออกมาแล้วดูจะใช้ได้จริง นับเป็นผลงานใหญ่ชิ้นแรกของชมรม ทั้งบริษัทแม่และทีมหุ่นยนต์ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า พร้อมแล้วที่จะชวนคนสายอื่นๆ อาทิ โปรแกรมเมอร์ มาสนับสนุนให้ครบวงจร แล้วตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา

“มองกลับไปก็ดีใจนะที่เราไม่รีบร้อนทำไปเลย ถ้าเปิดเป็นบริษัทตั้งแต่แรกเราก็คงยังไม่พร้อม ไม่เหมือนตอนนี้ที่เราพร้อมแล้ว มั่นใจว่าจะทำได้” ดร.ธนาทบทวน

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป

เปลี่ยนจากที่ใหญ่เป็นที่เล็ก

จากการอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ยักษ์อย่าง ปตท.สผ. กลายมาเป็น ARV ที่ตอนนี้มีพนักงานประมาณ 25 คน

ARV ธุรกิจจากชายผู้รักหุ่นยนต์ชาวไทย ที่สร้างหุ่นยนต์สำรวจท่อใต้น้ำอัตโนมัติตัวแรกของโลก

คุณอาจจะพอสัมผัสได้แล้วว่า ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับธุรกิจหุ่นยนต์มีความแตกต่างกันหลายอย่าง ทั้งเรื่องความเสี่ยงที่มากขึ้น เพราะงานบางงานอาจออกแบบนานแล้วแต่ไม่ได้ใช้ ต่างจากปิโตรเลียมที่ไม่ว่าอย่างไรผลิตภัณฑ์ก็มีคนซื้อแน่ๆ หรือสภาวะที่ต้องแข่งกับเวลาอยู่ตลอด เพราะในวงการหุ่นยนต์ ใครทำก่อนได้ก่อน หากทำช้าไปเพียงก้าวเดียว งานที่ทำมาหลายปีก็อาจหมดค่าไปได้เลย

แต่ถ้าเสี่ยง ทำไมคนถึงจะอยากมาทำงานแบบนี้

คำตอบจากปาก ดร.ธนา ก็คือความแปลกใหม่ ที่ทำให้ผู้ร่วมงานได้กลับมารื้อฟื้นความสามารถ และฝึกปรือฝีมือกันตลอดทุกโปรเจกต์ที่ไม่ซ้ำเดิมเลย ยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อเป็นบริษัทเล็กที่มีห้องทดลองให้ใครๆ ก็เข้าถึงได้ อยากลองพรินต์สามมิติ หรือลองเขียนโค้ดอะไรก็ทำได้เลยทันที ทุกคนจึงมองเห็นทุกการเคลื่อนไหวของคนอื่น และทุกการเคลื่อนไหวก็จะช่วยกระตุ้นความอยากลอง อยากทำกันเป็นวัฏจักรไป

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป

เมื่อผลงานของตัวเองประสบความสำเร็จ ผู้มีส่วนร่วมทุกคนก็จะได้สัมผัสเองโดยตรง

เรียกว่า ได้สนิทกับงานที่ทำมากขึ้น

เปลี่ยนฝันให้เป็นจริง

เมื่อถามว่าการจะเป็นนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไร ดร.ธนา ให้มา 2 คำ คือความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าลงมือทำจริง

ความคิดสร้างสรรค์ มีไว้คิดจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่เคยมีคนทำมาก่อน แม้จะต้องอยู่บนความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่ก็ต้องก้าวล้ำไปอีกขั้น เพื่อไม่ให้ซ้ำกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ส่วนความกล้าลงมือทำ คือการกล้าทดลอง กล้าหยิบจับลองผิดลองถูก เพราะหากคิดได้แต่ไม่กล้าทำ ก็ไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่คิดฝันไว้จะเป็นจริงได้อย่างไร

เขาสรุปงานของคนสร้างหุ่นยนต์ไว้อย่างเท่ๆ ว่า “เป็นผู้เชื่อมความฝันกับความจริง”

งานหุ่นยนต์ เหมือนจะนั่งทำคนเดียวได้ แต่ ดร.ธนา บอกว่า “ไม่ได้”

“หุ่นยนต์ประกอบไปด้วยส่วนร่างกาย (Hardware) กับส่วนสมอง (Software) สองส่วนต้องทำงานมีประสิทธิภาพควบคู่กัน หุ่นยนต์ตัวนั้นถึงจะทำงานได้ดี” เขาอธิบาย สื่อความถึงทั้งการสร้างหุ่นยนต์ และการสร้างทีม ที่ต้องมีคนจากหลายด้านมาช่วยกันออกความคิด และออกแรงทำ กว่าจะออกมาเป็นงานที่ครบถ้วนสมบูรณ์รอบด้าน ไม่มีข้อบกพร่อง

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป

ทีมของ ARV เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ บางส่วนมาจากชมรมหุ่นยนต์เมื่อครั้งนั้น แต่บางส่วนก็คือนักศึกษาที่เคยฝึกงานกับ ดร.ธนา มาก่อน

เปลี่ยนโฉมวงการ

เมื่อเราถามว่าตอนไหนในการทำงานที่มีความสุขที่สุด ดร.ธนา ตอบกลับมาว่า ตอนที่มันเห็นผล

ตอนนี้ ARV มีหุ่นยนต์พร้อมให้บริการ 3 ตัว ตัวแรกคือ โดรนสำหรับงานตรวจสอบ ที่จะเน้นการบินห่างและติดกล้องความละเอียดสูงซูมเข้าไปถ่ายภาพของปากปล่องไฟซึ่งมีความร้อนสูงกว่า 400 องศา ตรวจดูการชำรุด โดรนจึงต้องตรวจจับความร้อนได้ ถ้าเข้าใกล้แล้วร้อนไปเมื่อไร ก็จะถอยออกมาเองโดยอัตโนมัติ นี่คือโดรนที่ใช้จริงในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. และเคยนำไปช่วยน้องๆ ทีมหมูป่าที่ติดถ้ำหลวงด้วย โดยบินทำแผนที่ทางอากาศเพื่อหาโพรงเข้า

ผลงานล่าสุดอีกอย่างที่เห็นคือโดรนแปรอักษรที่ใช้แทนการจุดพลุได้ โดรนหลายร้อยตัวบินขึ้นพร้อมกันแล้วแปรอักษรเป็นรูปต่างๆ ตามที่ใช้ซอฟต์แวร์โปรแกรมไว้ ซึ่ง ARV ได้ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับทำขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และงานที่เขาภูมิใจกัน คือหุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สายที่บังคับจากระยะไกลได้ ไม่ต้องมีสายระโยงระยาง ไม่ต้องมีเรือคอยตามอีกต่อไป โดยร่วมคิดค้นกับหลายภาคส่วน รวมถึงสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ด้วย

ตอนนี้ ARV กำลังร่วมมือกับบริษัทในนอร์เวย์ผลิตหุ่นยนต์ที่จะวิเคราะห์และซ่อมท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำได้ และยังมีโดรนดับเพลิงและหุ่นยนต์อีกหลายตัวที่กำลังทำอยู่

“เราจะเป็นเหมือนศูนย์กลางความร่วมมือ เป็นแพลตฟอร์มให้พันธมิตรที่มีไอเดียดีๆ เข้ามาร่วมกันคิดค้น เราจะซัพพอร์ตทั้งความรู้และงบประมาณให้เขา ช่วยกันพัฒนาวงการหุ่นยนต์ไทยให้เติบโตต่อไปได้”

นี่คือผลงานของบริษัทที่ตั้งมายังไม่ครบขวบปีดี ซึ่งเมื่อฟังเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งหมด ก็ปราศจากข้อสงสัยว่าทำงานเจ๋งๆ ขนาดนี้ได้อย่างไร

ARV ธุรกิจจากชายผู้รักหุ่นยนต์ชาวไทย ที่สร้างหุ่นยนต์สำรวจท่อใต้น้ำอัตโนมัติตัวแรกของโลก

Lesson learnt

งานหุ่นยนต์เป็นงานที่ใช้เวลา ไม่ใช่อยู่กับมันครู่เดียวแล้วจะเสร็จ เพราะต้องปรับแก้ให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ ผลงานเล็กๆ บางชิ้นใช้เวลาหลายเดือนหรือเกือบปี ส่วนงานใหญ่ๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจริง ต้องใช้เวลาหลายปี โดยที่ไม่มีกำหนดชัดเจนแน่นอนว่าเมื่อไรคือสำเร็จเสร็จสิ้น หรือจะมีใครทำได้แซงหน้าก่อนหรือไม่

สิ่งสำคัญที่ต้องมีเพื่อให้อยู่ในธุรกิจนี้ได้ คือความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ความรู้สึกย่อท้อมีแต่จะทำให้งานช้าลงเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเชื่อว่าทุกอย่างแก้ไขได้ เป็นไปได้ และต้องลงมือทำจนงานออกมาดีที่สุดในเวลาเร็วที่สุดให้ได้

ใครมีไอเดียดีๆ และสนใจจะเป็นพันธมิตรกับ ARV ติดตามได้ที่ AI and Robotics Ventures หรือ arv.co.th

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan