พลาสติกคือขยะ ต้องลดการใช้ให้สิ้น

พลาสติกคือองค์ประกอบสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยต่อชีวิตผู้คน

2 ประโยคนี้อาจฟังดูขัดแย้งกัน แต่เป็นคำนิยามคู่พลาสติกช่วงปีที่ผ่านมาในสังคม

ในฟากหนึ่ง การผลิต ใช้งาน และกำจัดพลาสติกที่ย่อยสลายเองไม่ได้แบบผิดๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และกระทบสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงในระดับที่มนุษย์ไม่ควรรีรอนิ่งเฉยอีกต่อไป

อีกด้านหนึ่ง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพลาสติกกลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์ในชีวิตประจำวันและการทำงาน โดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 ที่การใช้งานพลาสติกพุ่งสูงขึ้น จากความจำเป็นในการสั่งเดลิเวอรี่ การใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์และความปลอดภัย

เมื่อยังมีการใช้งานอยู่ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การหาวิธีผลิตและบริหารจัดการพลาสติกเหล่านั้นอย่างรับผิดชอบร่วมกันของผู้คนในสังคมและองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดคุณค่าในการใช้งานสูงสุด

หนึ่งในบริษัทที่ตื่นตัวเรื่องนี้เป็นอย่างดี พยายามปรับเปลี่ยนกระบวนการมาอย่างต่อเนื่องคือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากลเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต รวมทั้งอยู่ร่วมกับสรรพสิ่งรอบข้างได้อย่างลงตัว

ช่วงปีที่ผ่านมา GC ผลักดันนวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม หนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้คือ ‘Greater Care Charity by GC & Customers’ ที่ร่วมมือกับบริษัท จีซี มาร์เก็ตติ้ง โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ GCM ผู้ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ และ 84 องค์กรพันธมิตร ผลิตและส่งมอบนวัตกรรมจากพลาสติกให้แก่โรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอย มุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด 19 เสริมกำลังให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ในวันที่ต้องเผชิญความเสี่ยงสูง โดยคำนึงถึงวิธีการจัดการพลาสติกให้เกิดคุณค่าสูงสุดอย่างปลอดภัย

Greater Care Charity โครงการพลิกพลาสติกเป็นนวัตกรรมรับมือโควิด-19 ของ GC และ 84 พันธมิตร

เมื่อพลาสติกสามารถสร้างประโยชน์ในสถานการณ์วิกฤต The Cloud นัดหมายคุยกับ คุณปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ของ GC เพื่อสอบถามถึงการทำงานเบื้องหลังของโครงการนี้ และแนวทางการพัฒนาธุรกิจไปพร้อมกับการสนับสนุนสังคม ผ่านความเชี่ยวชาญขององค์กรชั้นนำระดับประเทศ

เพราะไม่มีใครอยู่รอดได้ด้วยตัวเองเพียงตัวคนเดียวอีกต่อไป วินาทีนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อรักษาชีวิตผู้คนและโลกใบนี้ให้คงอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย

Greater Care Charity โครงการพลิกพลาสติกเป็นนวัตกรรมรับมือโควิด-19 ของ GC และ 84 พันธมิตร

พลาสติกเพื่อการแพทย์

“GC ให้ความสนใจและพัฒนาเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์มานาน” คุณปฏิภาณกล่าว จากทิศทางของบริษัทที่ไม่ต้องการเป็นเพียงผู้ผลิตเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไปเท่านั้น แต่สร้างโซลูชันที่มีความคงทนและคุณค่ามากขึ้น ยกระดับการผลิตพลาสติก เพื่อช่วยตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม โดยอุปกรณ์การแพทย์ถือเป็นแวดวงหนึ่งที่พลาสติกมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง 

เพราะพลาสติกมีคุณสมบัติเรื่องความยืดหยุ่น เบา ทนทาน ขึ้นรูปง่าย ผลิตปริมาณมากได้ในเวลาอันสั้น ป้องกันสารคัดหลั่งซึมผ่าน นำไปฆ่าเชื้อทำความสะอาดต่อได้ จึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ เช่น ชุดกาวน์ หน้ากากอนามัย ชุด PPE ฯลฯ

แม้จะดูไม่ซับซ้อน แต่การผลิตให้ใช้งานได้ในทางการแพทย์ ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่และความใส่ใจในรายละเอียดขั้นสูง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อชีวิตของมนุษย์ ซึ่ง GC เคยผ่านการร่วมมือและร่วมผลิตอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ช่วยรักษาผู้ป่วย รวมถึงอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศมาแล้ว

เมื่อวิกฤตจากโควิด 19 ยืดเยื้อนานขึ้น GC เห็นช่องว่างที่มีอยู่ในสังคม และร่วมเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ เพิ่มเติมจากหลายโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่การแพร่ระบาดในระลอกแรก

Greater Care Charity โครงการพลิกพลาสติกเป็นนวัตกรรมรับมือโควิด-19 ของ GC และ 84 พันธมิตร

“GC เห็นว่าอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่ศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนาม แต่อุปกรณ์ภายในอาจยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เช่น อายุการใช้งานค่อนข้างสั้น ไม่ทนทานต่อสารคัดหลั่ง ทำความสะอาดยาก ซึ่งจริงๆ การช่วยเหลือตรงนี้เป็นเรื่องดีและทำได้เร็ว สิ่งที่มองเห็นว่าทำได้เพิ่ม คือการเข้าไปเสริมสิ่งที่ยังขาดอยู่”

“ปกติเราจัดกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับลูกค้าทุกปี เช่น การจัดงานสัมมนา แต่ปีนี้ไม่เหมาะจะจัดอยู่แล้ว เราจึงคุยกันว่า เอางบประมาณตรงส่วนนี้มาร่วมทำประโยชน์ให้กับสังคมดีกว่า”

เนื่องจาก GC ร่วมงานกับกลุ่มลูกค้าผู้ผลิตพลาสติกที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน ทำงานสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal หรือ SDGs) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การผนึกกำลังจาก 84 องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลากหลายจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“พันธมิตรเราต่างมีปรัชญาการทำธุรกิจแบบเดียวกัน คือเข้าใจเรื่องความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับสมดุลของ 2E1S คือ Economic, Environment และ Social พอเกิดวิกฤตแบบนี้ขึ้น ทุกคนพูดภาษาเดียวกันและเข้าใจทันที” คุณปฏิภาณกล่าว

ผลลัพธ์จากโครงการนี้คือ ผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบให้โรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอย 4 แห่งใน 3 จังหวัด คือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ และระยอง โดยมีตั้งแต่เตียงสนาม 1,000 เตียง ผลิตจากพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene) แบรนด์ InnoPlus ที่ถอดประกอบง่าย ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที รับน้ำหนักได้มากถึง 200 กิโลกรัม ฆ่าเชื้อได้ง่ายด้วยน้ำยาและความร้อน ใช้ซ้ำเพื่อรองรับผู้ป่วยใหม่และนำกลับมารีไซเคิลได้ ดูแลการผลิตโดยบริษัท AEROKLAS

Greater Care Charity โครงการพลิกพลาสติกเป็นนวัตกรรมรับมือโควิด-19 ของ GC และ 84 พันธมิตร
Greater Care Charity โครงการพลิกพลาสติกเป็นนวัตกรรมรับมือโควิด-19 ของ GC และ 84 พันธมิตร

ชุดกาวน์กันน้ำ 10,500 ชุด จากเม็ดพลาสติก PE ผลิตโดย Thai Hospital Products และชุดคลุมปฏิบัติการ 3,600 ชุดสำหรับพื้นที่ที่ความเสี่ยงไม่สูง ผลิตจากเส้นใย PET สามารถนำไปทำความสะอาดและกลับมาใช้ซ้ำได้ร่วม 20 ครั้ง

ล็อกเกอร์เก็บของขนาดกะทัดรัดจากเม็ดพลาสติก LLDPE ที่แข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา 

ถังและถุงขยะป้องกันการติดเชื้อที่มีสีแดงเด่นชัดเจน เพื่อให้คนระมัดระวัง รวมถึงมอบข้าวของเครื่องใช้และขนมที่ผลิตจากข้าวในชุมชนจังหวัดระยองที่ GC ให้การสนับสนุน เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งหมดนี้ ผ่านการคิดอย่างครอบคลุมโดยคำนึงถึงอนาคตระยะยาวไว้ด้วย

Greater Care Charity โครงการพลิกพลาสติกเป็นนวัตกรรมรับมือโควิด-19 ของ GC และ 84 พันธมิตร

“เรานึกถึงการใช้งานในภายหลัง เช่น เตียงที่ผลิตออกมาเป็นพันเตียง ถ้าเกิดโควิด 19 หายไป เราเอาไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้ง่าย ต่อเป็นโต๊ะไว้ทำอย่างอื่นหรือเอาไปรีไซเคิลอีกทีก็ได้ เพราะเป็นพลาสติกประเภทเดียวกันทั้งหมด เก็บรวบรวมไปรีไซเคิลได้โดยตรงเลย”
เมื่อนับรวมการบริจาคทั้งหมด GC และพันธมิตรได้ส่งมอบชุดกาวน์ PE กว่า 4 ล้านชุด เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยอีกมากมาย เข้าถึงมากกว่า 6,181 สถานพยาบาลและหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ และยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสังคมในสิ่งที่ทำได้ ร่วมกับพันธมิตรที่เห็นพ้องต้องกัน

“GC ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เรื่อยๆ โดยดูความต้องการที่เร่งด่วนและสิ่งที่เรามีในปัจจุบัน หากบริษัทใดอยากช่วยเหลือร่วมกัน เราพร้อมเป็นผู้ประสานงานและสนับสนุน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนให้ได้เร็วที่สุด”

Greater Care Charity โครงการพลิกพลาสติกเป็นนวัตกรรมรับมือโควิด-19 ของ GC และ 84 พันธมิตร

Chemistry for Better Living

โครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม GC ยังมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการและวางแผนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวไว้อย่างครอบคลุม

เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์ม YOUเทิร์น เปิดรับพลาสติกประเภท HDPE และ PET ที่ใช้แล้วให้กลับเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาต้นทางเรื่องการทิ้งขยะอย่างกระจัดกระจาย ซึ่งในช่วงโควิด 19 YOUเทิร์น ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อระดมขวดพลาสติกมาผลิตชุด PPE ในโครงการ ‘แยกขวดช่วยหมอ’ อีกด้วย

อีกทั้งอยู่ในช่วงศึกษาเทคโนโลยีสำหรับ Chemical Recycling เพื่อแปรรูปขยะปนเปื้อนที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบปกติ โดยการทำให้พลาสติกกลับไปเป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบตั้งต้นของเคมีภัณฑ์และนำไปผลิตต่อเป็นอย่างอื่นได้ ตามแนวคิด Circular Economy ที่ทำให้ทรัพยากรมีการหมุนเวียนและสร้างคุณค่าสูงสุด

รวมถึงการสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) แบบครบวงจร ใช้วัตถุดิบเป็นน้ำตาลจากอ้อยจากเกษตรกรไทย เพื่อผลิตพลาสติกที่ย่อยสลายได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก แม้จะต้องใช้ต้นทุนสูงในตอนแรกและมีกระบวนการที่ยาวนานกว่า ไม่อาจทดแทนพลาสติกดั้งเดิมได้ทั้งหมด แต่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต ควบคู่ไปกับการผลิตพลาสติกที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นหนทางช่วยลดการปลดปล่อยมลภาวะและก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ เตรียมพร้อมเพื่อรับมือในวันที่สถานการณ์โควิด 19 กลับมาเป็นปกติ และการใช้งานพลาสติกอาจมีปริมาณมากขึ้น

แต่เท่านี้ คงไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อโลกใบนี้

“ทุกคนมีส่วนสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ตั้งแต่การคัดแยกขยะต้นทางเพื่อให้รีไซเคิลได้ง่าย ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ปลายทางที่ผลิตขึ้นมาใหม่ราคาไม่สูงสำหรับผู้ใช้งาน และควรมีหน่วยงานที่กำกับดูแล ออกนโยบายกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ เห็นข้อดีของการปรับเปลี่ยนเชิงธุรกิจ และดำเนินการให้ถูกต้องได้ง่ายขึ้น”

เพื่อให้พลาสติกกลายเป็นที่สิ่งมีคุณค่าต่อมนุษย์ โดยไม่ทำร้ายชีวิตและสิ่งแวดล้อม และเราผ่านพ้นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นไปได้ด้วยกัน

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล