ปตท. คือบริษัทพลังงานแห่งชาติ หลายคนทราบกันดี
แต่ปัจจุบันภารกิจหลักของ ปตท. ไม่ได้มีเพียงเรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานเท่านั้น แต่ยังมีภารกิจที่คำนึงถึงสังคมส่วนรวมที่กว้างกว่าแค่เพียงธุรกิจตัวเอง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในด้านต่างๆ ตามวิสัยทัศน์ปัจจุบันที่ว่า ‘Powering Life with Future Energy and Beyond’
เมื่อธุรกิจไม่อาจดำรงอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวอีกต่อไป แต่ต้องดูแลรับผิดชอบสังคมของทุกคนร่วมกัน และควรวางแผนให้เกิดความยั่งยืนจริง ปตท. ในฐานะองค์กรใหญ่ที่เกี่ยวโยงกับชีวิตผู้คนมากมาย เห็นความสำคัญของเรื่องนี้และจัดตั้งทีมที่คอยดำเนินการอย่างจริงจัง
The Cloud นัดหมายพูดคุยกับ คุณดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ ของ ปตท. เพื่อสอบถามแนวคิดและทิศทางการทำงานเพื่อสังคมของธุรกิจที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศและพนักงานประจำหลายพันคน

หลังจากทำงานในสายธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นเป็นเวลานาน ผู้บริหารหญิงคนนี้พลิกบทบาทมาดูแลหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ช่วยสร้างผลกระทบต่อสังคมควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจ
“ปตท. มีวิสัยทัศน์ว่า องค์กรต้องเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกฝ่ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนขึ้น ด้วยความเชื่อว่าเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้าเกิดสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างไม่ดี เราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน” คุณดวงพรกล่าว
แม้จะอยู่ในสถานการณ์วิกฤตอย่างโควิด-19 ที่เศรษฐกิจฝืดเคือง แต่ ปตท. กลับตัดสินใจจ้างงานเพิ่ม และฝึกฝนทักษะความรู้ให้คนนับหมื่น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น
และนอกจากดูแลงานด้านกิจการเพื่อสังคมแล้ว อีกหน้าที่สำคัญของหน่วยงานนี้ คือการกำกับดูแลภายในองค์กร จัดการเรื่อง GRC (Governance, Risk Management, Compliance) ให้บริษัทดำเนินการไปอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎข้อบังคับต่างๆ
ดูแลทั้งภายในและภายนอก สอดคล้องไปกับค่านิยม ‘SPIRIT + D’ ที่แทนการผลักดันให้พนักงานเป็นคนเก่ง คนดี มีคุณธรรม พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนองค์กร
ธุรกิจพลังงานชั้นนำคิดเรื่องสังคมและมีวิธีการขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ อย่างไร สร้างผลกระทบได้มากน้อยแค่ไหน เราขอชวนคุณมาสำรวจจิตวิญญาณของ ปตท. ไปด้วยกัน

For People & Planet
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ปตท. ดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคมในหลากหลายเรื่อง แต่ช่วงปีที่ผ่านมา ทีมงานของคุณดวงพรเลือกวางแผนและปฏิบัติงานเฉพาะด้านให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิผลที่ชัดเจน
“เรามองว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เรามุ่งเน้นแล้วจะเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและประเทศได้มากที่สุด จนตอนนี้มีความชัดเจนขึ้นว่าคือเรื่องการศึกษา เพราะเป็นการลงทุนในมนุษย์ (People) และสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาโลก (Planet)” คุณดวงพรเล่าสองประเด็นสำคัญที่หยิบยกเป็นเรื่องหลักขององค์กร
“เยาวชนคืออนาคตของประเทศชาติ และในทางเศรษฐกิจ ประเทศเราจำเป็นต้องเปลี่ยนจาก Resource-based หรือการมุ่งเน้นใช้ทรัพยากรให้เกิดผลิตภัณฑ์ กลายเป็น Knowledge-based ที่คิดค้นอะไรที่สร้างคุณค่าใหม่และนวัตกรรม จึงต้องบ่มเพาะพวกเขาด้วยทักษะที่ทำให้สามารถดำเนินชีวิตในอนาคต”


เพื่อดำเนินการตามแนวคิดนี้ เมื่อ พ.ศ. 2558 ปตท. จึงก่อตั้ง ‘โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS)’ โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ และ ‘สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)’ ศูนย์รวมของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนง เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่ประเทศ
รวมถึงช่วยพัฒนาหลักสูตรร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายทั้งหมด 204 โรงเรียนใน 17 จังหวัด โดยเน้นสอดแทรก 4E ที่จำเป็นคือ
‘Energy Literacy’ หรือความเข้าใจด้านพลังงาน เพราะทุกธุรกิจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งสิ้น คนควรทราบว่าต้องใช้พลังงานในรูปแบบใดให้เหมาะสมและประหยัดที่สุด
‘Environmental Awareness’ หรือการตระหนักรู้และสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ที่เราต้องเร่งรักษาไว้ร่วมกัน
‘Entrepreneurship’ หรือความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้เมื่อมีไอเดีย พวกเขาสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอด
และ ‘Ethics and Growth Mindset’ หรือจริยธรรมและการคิดถึงสังคมส่วนรวม เพราะคนควรจะเก่งและดีไปควบคู่กัน
ข้อดีคือ หลักสูตรในโรงเรียนเหล่านี้เกิดขึ้นจากการถ่ายทอดวิชาและประสบการณ์ของผู้คนในแวดวงธุรกิจที่ปฏิบัติงานจริงๆ ทำให้สะท้อนความเป็นจริงของโลกได้เป็นอย่างดี ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนให้พร้อมกับการทำงานในอนาคต

ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานยังจำเป็นต้องปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างทาง ปตท. พยายามปรับเปลี่ยนกระบวนการต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสรรพสิ่งร่วมโลกมากยิ่งขึ้นเสมอมา และแสวงหาหนทางการดูดซับ กักเก็บก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้น เพื่อมุ่งสู่บริษัทที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon)
หนึ่งในวิธีที่ ปตท. เลือกใช้คือการสร้างพื้นที่สีเขียว อาจฟังดูเป็นทางออกทั่วไป แต่พวกเขาทำอย่างจริงจัง ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 โดยปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายรวมแล้วมากกว่า 1 ล้านไร่ทั่วภูมิภาค ได้รับการดูแลมาอย่างต่อเนื่องจากการร่วมมือกับเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนต่อยอดด้วยการจัดตั้งเป็น สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. และศูนย์เรียนรู้ 3 แห่ง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และกรุงเทพมหานคร ทำงานกับชุมชนเพื่อพิทักษ์ผืนป่าและส่งต่อความรู้ให้ประชาชน
นอกเหนือจาก 2 เรื่องหลักด้านบนแล้ว ปตท. ยังมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนแบบไม่เน้นการบริจาคเงิน แต่สร้างความยั่งยืนผ่านการหาโอกาสทางธุรกิจให้ชุมชนอย่างมีเป้าหมาย เพราะสุดท้ายแล้ว ชุมชนต้องยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง
“เมื่อไปทำธุรกิจบนพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชน ต้องช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเจริญเติบโตไปพร้อมกัน ไม่ทำลายหรือสร้างผลกระทบแก่เขา” คุณดวงพรเน้นย้ำความตั้งใจขององค์กร โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือ ‘สานพลังวิสาหกิจ’ หน่วยงานด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของ ปตท. ที่ตั้งขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง
และเมื่อเกิดวิกฤตใหญ่อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปตท. และบริษัทในกลุ่ม มีส่วนร่วมสนับสนุนหน่วยงานทางการแพทย์ ทั้งด้านเครื่องมือ ทุนทรัพย์ และความสามารถ ตั้งแต่เริ่มการระบาดจนถึงปัจจุบัน มูลค่ารวมแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจส่วนหนึ่งของ ปตท. ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานโดยตรง แต่ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมๆ กัน


Restart Thailand
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายบริษัทต้องชะลอการจ้างงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคม ปตท. ซึ่งพอมีทรัพยากรอยู่จึงตัดสินใจไม่นิ่งเฉย จัดตั้งโครงการ ‘Restart Thailand’ เพื่อสร้างโอกาสทางการงานรวมกว่า 25,000 อัตรา ตั้งแต่เมื่อปีก่อน เปิดรับแรงงานทั้งในโครงการก่อสร้าง พนักงานประจำเพิ่มเติม และนักศึกษาจบใหม่ระดับอาชีวศึกษาและปริญญาตรีที่อยากพัฒนาภูมิลำเนาของตนให้ดียิ่งขึ้น
“เรายังคงดำเนินโครงการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจประเทศและสร้างงานในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานจะช่วยให้คนที่ตกงานจากสถานการณ์ยังคงได้พัฒนาตัวเอง เมื่อสถานการณ์ฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติ เขาจะมีประสบการณ์และองค์ความรู้ที่จะไปทำงานอื่นต่อ และโครงการของเราก็ดำเนินการต่อได้เลย”
ในจำนวนการจ้างงานนี้ กว่า 900 คนคือกำลังสำคัญที่เข้ามาช่วยผลักดันโครงการ ‘นวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม’ มุ่งเน้นการใช้ศักยภาพและเทคโนโลยีของ ปตท. ไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชนแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 2 ด้านหลักๆ คือ Smart Farming และ Smart Marketing


“ชุมชมส่วนใหญ่ในเครือข่ายเป็นภาคเกษตรกรรมที่ยังทำงานแบบเดิมอยู่ แต่เขาสามารถเอานวัตกรรมที่เรามีไปใช้ในงานเกษตร มาปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และทำให้เกิดผลิตผลที่ดีขึ้น สิ่งที่ทำคือการคัดเลือกและจ้างนักศึกษาจบใหม่พื้นที่เข้าโครงการ Restart Thailand มาอบรมให้ความรู้ในเรื่องนวัตกรรม อุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้พัฒนาการเกษตรได้ สอนการวิเคราะห์ความคุ้มทุน จากนั้นก็ทำให้เขาลงไปวิเคราะห์พื้นที่จริงและนำเสนอโปรเจกต์ ว่าต้องการลงทุนในอุปกรณ์อะไร เพื่อพัฒนาผลิตผลในด้านไหน คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่
“โดยมีพนักงานกลุ่ม ปตท. ในพื้นที่คอยให้คำแนะนำและประสานงานด้วย” คุณดวงพรเล่าถึงงานด้าน Smart Farming ที่ริเริ่มในยี่สิบห้าพื้นที่นำร่องที่กลุ่ม ปตท. ดูแลอย่างใกล้ชิดและขับเคลื่อนงานตามบริบทของชุมชนที่เป็นอยู่
เช่น บางพื้นที่ต้องจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจขึ้นมาใหม่ เพื่อการบริหารจัดการระยะยาว แต่บางพื้นที่มีความพร้อม เริ่มติดตั้งนวัตกรรมใหม่ๆ ของกลุ่ม ปตท. อย่างโรงเรือนอัจฉริยะที่ตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติด้วยระบบ IoT (Internet of Things) ระบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ หรือโดรนการเกษตร เพื่อใช้งาน ลองปลูกพืชใหม่ๆ และขยายการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ปตท. ไม่ได้ทำเพียงหน่วยงานเดียว แต่ยังจับมือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน สำหรับการตรวจวิเคราะห์สภาพดิน และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA สำหรับงบประมาณสนับสนุนโครงการ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนจริง
“เราไม่ได้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง หลายๆ งานทำคนเดียวอาจจะยาก จึงร่วมมือเป็นพันธมิตรกับพาร์ตเนอร์ที่มีทักษะและองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน เปิดรับการทำงานกับพาร์ตเนอร์ที่มีพันธกิจสอดคล้อง เพื่อให้เกิดอิมแพคที่กว้างขึ้น”


ส่วนทางด้าน Smart Marketing เป็นการเสริมศักยภาพด้านการขายผลิตภัณฑ์ของชุมชน รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยว แม้จะมีสินค้าหรือสถานที่น่าท่องเที่ยวเพียงใด แต่หากขาดกลยุทธ์การขายและประชาสัมพันธ์ในช่องทางที่เหมาะสม ให้คนได้สัมผัสเอกลักษณ์และเสน่ห์ประจำพื้นที่ ก็คงไปไม่ได้ไกล
วิธีการทำงานเรื่องนี้คล้ายกับ Smart Farming คือการให้ความรู้คนในพื้นที่จากโครงการ Restart Thailand ในเรื่องการตลาด จากนั้นให้เขาลงพื้นที่เพื่อสำรวจผลิตภัณฑ์ชุมชน และเสนอผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนา
ทาง ปตท. ยังสร้าง Online Market Platform ‘ชุมชนยิ้มได้’ เพื่อเพิ่มตัวเลือกช่องทางการขายและจัดส่ง สำหรับผลิตภัณฑ์ในโครงการที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วโดยเฉพาะ
ปัจจุบัน มีร้านค้าอยู่บนแพลตฟอร์มราว 195 ร้าน รวมกว่า 672 ผลิตภัณฑ์ ทั้งอาหารแปรรูป ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของตกแต่งและของใช้ สมุนไพรแปรรูป และเครื่องดื่ม
หากใครเป็นสายช้อป อยากสนับสนุนชุมชน ขอชวนลองแวะเวียนไปอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนบนเว็บไซต์ www.ชุมชนยิ้มได้.com กันได้เลย
“ต่อไปจะมีผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มมากขึ้น และหลายพื้นที่จะใช้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น แม้โควิด-19 จะทำให้เกิดอุปสรรคเรื่องการเดินทางและสื่อสารบ้าง แต่ทางทีมที่ทำงานยังมุ่งมั่นเหมือนเดิม” ผู้บริหารหญิงกล่าวถึงความตั้งใจและทุ่มเทของพนักงาน ที่ช่วยประคับประคอง ดูแลกัน เพื่อผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปให้ได้ด้วยกัน

ดูแลทั้งภายนอกและภายใน
แม้ ปตท. จะมีผู้บริหารและทีมที่ดูแลงานด้านกิจการสังคมโดยเฉพาะ แต่หากอยากขับเคลื่อนให้เกิดผลในวงกว้างจริง ความร่วมมือกันของคนทั้งองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ
โชคดีที่พนักงานปัจจุบันของ ปตท. มีความสนใจและพร้อมช่วยเหลือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ภารกิจนี้จึงไม่ยากเกินเอื้อมไปนัก
“เราสังเกตเห็นว่าคนในองค์กรมีใจช่วยเหลือสังคมและจิตสาธารณะอยู่แล้ว จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา แต่อาจมีข้อจำกัดบ้าง เช่น งานเยอะ ไม่มีเวลา แต่ถ้าว่างเมื่อไรก็สนใจที่จะทำ สิ่งที่ทีมเราทำได้ คือการออกแบบและอำนวยความสะดวกให้เขามีโอกาสเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้น” คุณดวงพรกล่าว การสร้างพื้นที่ให้เข้าถึงง่ายและหลากหลาย จะช่วยให้คนในองค์กรได้ช่วยเหลือตามความถนัดและเหมาะสม

นอกจากผลักดันการทำงานเพื่อสังคมรอบข้างแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันที่ต้องทำในการบริหารองค์กรที่ดี คือการกำกับดูแลธรรมาภิบาลขององค์กร ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญที่คุณดวงพรต้องดูแลด้วยเช่นกัน
ถ้าภายนอกดูดี แต่ภายในมีข้อขัดข้อง ก็คงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไรนัก
“เราต้องดูให้กระบวนการทำงานตั้งแต่หน้างานจนถึงระดับผู้บริหารมีประสิทธิภาพ และไม่เกิดช่องว่างให้คนทุจริต ต้องมีการตรวจสอบกันและกันในกระบวนการตัดสินใจทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด” คุณดวงพรเล่าถึงหน้าที่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้ ปตท. เป็นบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคม
ความท้าทายคือ ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งยังอยู่ภายใต้ระเบียบราชการบางส่วน เดิมมีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ค่อยกล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันสูง ปตท. ต้องหาวิธีปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยังรักษาธรรมาภิบาลไว้ครบถ้วน เปิดพื้นที่ให้คนได้ทดลองเสี่ยงหรือทำอะไรที่นอกกรอบเดิมมากขึ้น บนกระบวนการทำงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน
ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้บริหารหญิงคนนี้ต้องทำงาน เพื่อขับเคลื่อนให้ ปตท. ดูแลผู้คนรอบข้างทั้งภายนอกและภายในองค์กรได้อย่างสมบูรณ์
แต่อย่างน้อย เราพอจะวางใจได้ว่า ปตท. จะคำนึงถึงสิ่งนี้อยู่ในกระบวนการของธุรกิจตลอดเวลา

Future and Beyond
ในอนาคต ปตท. ตั้งเป้าไว้ว่า จะไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจพลังงานอย่างที่หลายคนคุ้นเคย แต่ครอบคลุมไปถึงธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์ที่เข้าถึงผู้บริโภคหลากหลายมากขึ้น ทำให้หน่วยงานที่ดูแลกำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ต้องพร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับธุรกิจ โดยไม่หลงลืมที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมอย่างรอบด้านมากกว่าเดิมด้วย
ประเทศไทยยังมีปัญหาอีกหลายมิติที่ต้องได้รับการพัฒนา องค์กรขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรถือเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญที่สามารถช่วยเหลือและรับผิดชอบต่อสังคม น่าติดตามว่าก้าวเดินต่อไปของ ปตท. และองค์กรขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง จะมีทิศทางการดูแลส่วนรวมร่วมกันอย่างไร
ถ้าทุกคนทำงานอย่างมีธรรมาภิบาลและช่วยเหลือกัน เราจะรีสตาร์ทกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ในเร็ววันนี้ และสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตได้ร่วมกัน

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก ปตท.