The Cloud x Designer of the Year

“ออกแบบภายในคือการกั้นผนัง กับให้แสงสว่าง”

อู๋-ภฤศธร สกุลไทย กล่าวว่า โดยเนื้อแท้ของการทำงานออกแบบภายในของมัณฑนากร มีสองอย่างเท่านั้น ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้

ภฤศธร สกุลไทย PIA Interior Co., Ltd.,

อู๋เป็น 1 ใน 6 พาร์ตเนอร์ของบริษัทออกแบบภายในชื่อดังที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในและนอกประเทศมากว่า 30 ปีอย่าง PIA Interior Co., Ltd., ผลงานที่ทำก็มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอู๋เป็นผู้ดูแลหน้าที่ในส่วนของ Hospitality Design หรือการทำงานออกแบบที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ร้านอาหาร บ้านพักอาศัย และคอนโดมิเนียมโดยปกติจะตอบรับลูกค้ารายใหญ่อย่างโรงแรมหรู หรือผู้ลงทุนที่พร้อมเติมงานออกแบบมูลค่าสูงเพื่อสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจของตน อู๋สร้างสรรค์ผลงานออกแบบอย่างดี รวมไปถึงช่วยทำให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโต ถ้าไล่ชื่อผลงานที่อู๋ออกแบบเราก็คงจะคุ้นหูกันไม่มากก็น้อย

ในขณะเดียวกัน หลายโครงการที่อู๋ไปร่วมออกแบบก็เผยให้เห็นอีกด้านของความสนใจของเขา นั่นคือการอยากใช้ความรู้ด้านออกแบบภายในมาแก้ปัญหาเมืองด้วยการปรับปรุงอาคารเก่าในย่านต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นโครงการล้ง 1919 (LHONG 1919) ท่าเรือกลไฟเก่าที่มีสถาปัตยกรรมจีนอายุมากกว่า 160 ปี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถูกปรับปรุงใหม่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาตร์ ประกอบด้วยกิจกรรมเชิงศิลปะและวัฒนธรรมหลากหลาย ที่กลายเป็นพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ในย่านคลองสาน

ล้ง 1919 (LHONG 1919)

หรือโครงการการชุบชีวิตโรงภาพยนตร์ลิโดใจกลางแหล่งช้อปปิ้งสยามสู่ LIDO CONNECT นอกเหนือจากการนำโรงภาพยนตร์กลับมา ที่นี่ยังเปิดพื้นที่เอื้อให้นักดนตรี ศิลปิน หรือคนที่มีฝีมือทางด้านศิลปะไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ได้มีพื้นที่แสดงออก ทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่แสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว

LIDO CONNECT

เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นได้จากความสนใจในศิลปะและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของอู๋ ซึ่งตัวเขาเองเรียกแหล่งแรงบันดาลใจนี้ว่า ‘Creative Content’ อันหมายถึงผลงานสร้างสรรค์อื่นๆ ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ละครเวที และศิลปะแขนงอื่น ที่เขาชื่นชอบ อู๋นำมันมาสังเคราะห์กับงานออกแบบได้อย่างมีมิติจนถูกเสนอชื่อและคัดเลือกให้เป็น Designer of the Year สาขา Interior Design ในปี 2019 นี้เอง

“ออกแบบภายในคือการกั้นผนัง กับให้แสงสว่าง แต่ถ้าผนังที่กั้นนั้นคือต้นไม้แทนที่จะเป็นอิฐ แล้วเพิ่มแสงสว่างเข้าไปให้พื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้ในเมือง เราก็อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาภายในเมืองได้ด้วยรึเปล่า”

ความสนใจส่วนตัวที่ว่านี้เองที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนจากแต่ละงาน กระเพื่อมเป็นความเคลื่อนไหวของย่าน และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้ในระดับเมืองจากผลงานที่ผ่านตา กับบทสนทนาต่อไปนี้ เราจึงได้เห็นว่าการกั้นผนังและใส่แสงสว่างเพียงเล็กน้อยในพื้นที่ของเขา ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเหล่าคนเมืองได้อย่างมหาศาลเพียงใด

จากตึกเก่าสู่หน้าที่ใหม่

เราเริ่มทำความเข้าใจงานของภฤศธรใหม่ ตรงบทบาทของคนที่เรียกว่า มัณฑนากร

“มันมีความสับสนระหว่างสถาปนิกกับมัณฑนากร มัณฑนากรคือนักออกแบบภายใน สถาปนิกคือนักออกแบบอาคาร ซึ่งสมัยก่อนคนเข้าใจว่านักออกแบบภายในเป็น Decorator แต่สมัยนี้ผมว่ามันมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของเมือง 3 ปีที่ผ่านมา เราทำโปรเจกต์รีโนเวตอาคารเก่าและเข้าไปปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในอาคารที่มีแล้วอยู่ในเมือง ด้วยการใส่คอนเทนท์หรือฟังก์ชันใหม่ๆ ลงไปในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น มันก็เลยไม่ได้กระทบแค่ภายในตัวอาคาร แต่มันไปกระทบไลฟ์สไตล์หรือคนอยู่อาศัยโดยรอบด้วย” อู๋อธิบายถึงหน้าที่ของนักออกแบบภายใน

ภฤศธร สกุลไทย PIA Interior Co., Ltd.

ด้วยอาชีพ อู๋กล่าวว่า เป็นธรรมดาของนักออกแบบภายในที่ต้องทำงานกับอาคารเก่า หรือต่อยอดพื้นที่ภายในจากกรอบอาคารที่มีอยู่แล้ว แต่เมื่อได้เจออาคารเก่ายุคต่างๆ มากขึ้นๆ ในบริบทที่ต่างกันไปเรื่อยๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัวเขามองเห็นศักยภาพของอาคารร้างในเมืองที่มีอยู่ดาษดื่น รวมถึงได้เห็นศักยภาพของวิชาชีพนักออกแบบภายในของตน ว่าไม่ใช่แค่คนสร้างภายในสถานที่ให้สวยงาม แต่คือคนที่ชำระพื้นที่ว่างเปล่าให้กลับมามีประโยชน์ใช้สอยใหม่อีกครั้ง 

โดยเฉพาะด้วย Creative Content ที่เขาสนใจเป็นทุนเดิม

“ผมเชื่อว่าธุรกิจมันแข่งกันด้วยคอนเทนต์อยู่แล้ว อย่างห้างกับคอมมิวนิตี้มอลล์ทุกที่มันเหมือนกันหมด คนจะเริ่มหาทางเลือกใหม่ในการใช้เวลาว่าง หรือหาไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ เราก็เลยรู้สึกว่างานที่เราทำมีโอกาสเป็นทางออกของเมืองในยุคต่อๆ ไป แล้วในทุกเมืองมันมีอาคารเก่าอยู่แล้ว เรารู้ว่ามันขาดคนที่จะลงมาทำตรงนี้ เราจึงอยากทำอย่างจริงจัง เราเชื่อว่ามัณฑนากรช่วยเมืองได้ 

ภฤศธร สกุลไทย PIA Interior Co., Ltd.
ภฤศธร สกุลไทย PIA Interior Co., Ltd.

“เมืองมันมีซากเยอะ แทนที่เราจะทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ เราก็คิดว่าจะใช้ของเดิมอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เลยเป็นจุดสนใจ อยากให้วงการออกแบบภายในได้มีภาพหรือจุดยืนที่ชัดขึ้น ว่าเราจ้างมัณฑนากรเพื่อสร้างพื้นที่ภายในให้เป็นสิ่งใหม่ ให้เป็นธุรกิจใหม่ ให้เป็นคอนเทนต์ใหม่ๆ แล้วแต่บริบทหรือคอนเทนต์ที่คุณอยากได้ ไม่ใช่แค่ตกแต่งพื้นที่ภายในใหม่” อู๋เล่าถึงที่มาในความสนใจด้านรีโนเวตอาคารเก่า

จากข้างนอก สู่ข้างใน

อู๋เล่าให้เราฟังถึงหลักการทำงานของเขา ที่ไม่ใช้การเฟ้นหาและนำเสนอตัวตนในฐานะผู้ออกแบบผ่านงานใดงานหนึ่ง แต่งานออกแบบที่ดีจะต้องไร้ซึ่งตัวตนของคนทำ และแสดงตัวตนของผลงานนั้นๆ 

“วิธีการทำงานของเราคือ ก่อนที่จะเริ่มทำโปรเจกต์เราจะสำรวจพื้นที่ การที่เราได้ไปสัมผัสบริบทของที่นั้นๆ รอบๆ 5 กิโล หรือ 10 กิโล ทั้งในเมืองไทยและเมืองนอกนะ เพราะมันจะเห็นมากกว่าการดูออนไลน์ เราต้องไปเห็นว่า ณ ตรงนั้นคนที่นั่นเขากินเขาอยู่กันยังไง”

ภฤศธร สกุลไทย PIA Interior Co., Ltd.

ไม่ว่าจะเป็นที่กุ้ยหลิน คลองสาน หรือใจกลางสยาม ภฤศธรเล่าว่า เขาจะเริ่มทำงานจากการทำความเข้าใจบริบทด้วยการลงพื้นที่เองก่อน ไม่ว่าจะเป็นการไปกินในสิ่งที่คนที่นั่นกิน ดื่มในสิ่งที่คนที่นั่นดื่ม เที่ยวในที่ที่คนที่นั่นเที่ยว และรวมถึงการได้พูดคุยกับคนย่านนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นใคร ทั้งหมดก็เพื่อค้นหาสิ่งที่ย่านนั้นเป็นให้เจอ เพื่อให้งานออกแบบใหม่ผูกพันกับคนในละแวกอย่างไม่ผิดแผก และเพื่อประโยชน์ของคนโดยรอบเป็นสำคัญ

นอกจากการต่อยอดสิ่งที่ที่นั้นเป็น การเติมในสิ่งที่ขาดก็เป็นอีกมิติของการทำงานที่ท้าทายเช่นกัน

“เมื่อเราจะปรับปรุงอาคารเก่า เราจะคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือสภาพอาคาร ความรู้สึกของคน ซึ่งสำคัญมาก และคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ทั้งหมดนี้เราต้องเอามาใช้ในการออกแบบทั้งหมด อย่างล้ง 1919 มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้เขามีชีวิตต่อ เราก็เอาคุณค่าทางธุรกิจเข้าไปสรรค์สร้างให้เขาอยู่รอด

“ส่วนลิโดคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไม่ได้มากมาย แต่คุณค่าทางความรู้สึกมากกว่า เราเลยเลือกที่จะเก็บความรู้สึกมากกว่าสถาปัตยกรรม และดีไซน์สถาปัตยกรรมให้เรียบร้อยขึ้น ทำให้สะอาดสะอ้านขึ้น มุมอับทั้งหลายที่ทำให้มันดูไม่น่าเดินเราก็ทำช่องเปิดให้มีแสงมากขึ้นแทน

“พอมาถึงคอนเทนต์ด้านใน เราก็มองกลับกัน เราไม่ได้ไปหาว่าสยามสแควร์คืออะไร แต่เราหาว่าสยามสแควร์ขาดอะไรมากกว่า คือเขามีทุกอย่างแล้ว แต่กลายเป็นว่าเขาขาดสิ่งที่เป็นโอกาส ทั้งโอกาสด้านพื้นที่สาธารณะสำหรับคนเมือง พื้นที่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ผมบอกไปว่าถ้าเขาทำพื้นที่สาธารณะสำหรับเด็กรุ่นใหม่ คนทั้งหมดจะรักคุณมากเลยนะ แล้วเขาก็ทำจริง ซึ่งผมว่ามันเป็นนิมิตหมายที่ดีมากๆ สำหรับเมือง” อู๋เล่าถึงวิธีการทำงานของเขา

จากอาคาร สู่คุณค่าที่ประเมินไม่ได้

การทำงานด้านปรับปรุงอาคารเก่าหลายๆ ครั้งทำให้อู๋ต้องร่วมงานกับคนหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรโครงสร้าง สถาปนิก นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ รวมไปจนถึงนักบัญชีและนักการตลาดที่มาดูความคุ้มค่าทางธุรกิจ เพราะไม่ใช่ว่าอาคารเก่าทุกอาคารจะเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจใหม่ เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ดินในปัจจุบันแล้ว บางครั้งการทุบอาคารเก่าออกแล้วสร้างใหม่ให้เป็นตึกสูงระฟ้าก็คุ้มค่าต่อการลงทุนมากกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราถามอู๋ว่า โน้มน้าวให้เจ้าของที่ยอมปรับปรุงอาคารเก่ายังไง

ล้ง 1919
ล้ง 1919

“การรีโนเวตตึกมันวุ่นวาย แล้วต้องมาประเมินมูลค่าของอาคารด้วยว่ามันคุ้มกับการจะรีโนเวตไหม หลายครั้งทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ง่ายกว่า คุ้มค่าการลงทุนกว่าด้วย อย่างโครงการล้ง 1919 นี่ไม่คุ้มการลงทุนเลย แต่พอดีที่เจ้าของเขาไม่ได้ต้องการเงิน เขาต้องการคุณค่าด้านด้านจิตใจที่มันจะเชื่อมความเป็นไทย-จีน ซึ่งถ้าทำเป็นห้างหรือโรงแรมมันก็จะไม่มีความรู้สึกนี้”

ในอีดต ล้ง 1919 เคยเป็นท่าเรือกลไฟขนาดราว 6 ไร่ ของตระกูลหวั่งหลี เพื่อนำส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ สำหรับตระกูลหวั่งหลีเองที่นี่ยังเป็นที่เกิดและหยั่งราก รวมไปถึงเป็นศูนย์กลางของบรรพบุรุษจีนโพ้นทะเลหลายต่อหลายตระกูลผู้เคยหอบเสื่อและหมอนขึ้นเทียบฝั่งเพื่อหาโอกาสใหม่ในสยาม

ล้ง 1919
ล้ง 1919

“ผมเชื่อในการออกแบบที่ Emotional Value มากๆ มันเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ คนจะซื้อรถหรือซื้อคอนโดฯ ก็ด้วยความรู้สึกนะ งานออกแบบสำหรับผมตอนนี้มันคือเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ เลย เพราะการเดินเข้าไปในพื้นที่ๆ หนึ่งมันไม่ใช่แค่บรรยากาศแล้ว แต่มันเป็นวิถีชีวิตด้วย” อู๋อธิบายถึงเคล็ดลับในการออกแบบงาน

จากข้างใน สู่ข้างนอก

อู๋มองว่างานที่เขาทำเริ่มจะไม่ใช่การจบอยู่ภายในพื้นที่อาคารเพียงไม่กี่ตารางเมตรแล้ว แต่ต่อไปมันอาจจะกลายเป็นขอบเขต 5 – 10 กิโลเมตรรอบๆ อาคารด้วย นั่นหมายถึงการทำงานที่ไม่ใช่แค่การออกแบบภายในอีกต่อไปแล้ว

“ใจเราก็อยากมองภาพใหญ่เหมือนกัน ปกติคนที่พัฒนาเมืองคือสถาปนิกหรือไม่ก็ภูมิสถาปนิก ด้วยอาชีพของเรามันมีหน้าที่แค่สร้างผนังและใส่ไฟ แต่ถ้าเราไม่คิดว่าผนังมันคืออิฐหรือแผ่นยิปซัมล่ะ ถ้าใช้ต้นไม้มาแบ่งแทนผนัง เพิ่มไฟให้ความสว่าง มันก็ทำได้ใช่ไหม มันคือการออกแบบ ‘การใช้ชีวิต’ ที่อยู่ ‘ภายใน’ บริบทของเมือง อย่างบางย่านบางที่มันซบเซาลงไป การกั้นผนังและการใส่ Creative Content ลงไปก็จะเพิ่มไลฟ์สไตล์และเปลี่ยนบริบทของย่านนั้นๆ ให้มีชีวิตชีวาและร่วมสมัยมากขึ้นได้นะ” อู๋เล่าถึงความฝันในการแก้ปัญหาเมือง

อย่างไรก็ตาม ตึกร้างทุกตึกก็ไม่ได้อยากให้นักออกแบบเข้าไปปรับปรุง ไม่ว่าเขาจะมีเจตนาดีแค่ไหน อู๋เล่าว่า แม้เขาจะมองเห็นศักยภาพมากมายจากหลากหลายอาคารที่ได้ไปสำรวจ แต่อุปสรรคอีกด้านก็มีไม่น้อยเช่นกัน นั่นคือกฎหมายเกี่ยวกับผังเมือง

ภฤศธร สกุลไทย PIA Interior Co., Ltd.

“มันมีเรื่องกฎหมายอาคารที่เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 อยู่ ซึ่งข้อกฎหมายหลายข้อมันไม่ได้อัพเดต อย่างการเปลี่ยนอาคารเก่าให้เป็นอาคารสาธารณะกฎหมายก็กำหนดจำนวนสัดส่วนของห้องน้ำไม่สัมพันธ์กับการใช้งานใหม่ที่จะเกิดขึ้น เช่น การต้องมีห้องน้ำ 60 ห้อง เห้ย เราจะเอาไปไว้ตรงไหนกัน หรือกฎหมายการดัดแปลงอาคารที่เขียนไว้แบบไม่ละเอียดและไม่ครอบคลุมก็ทำให้เสียโอกาสไป อย่างเช่นพื้นที่ใต้สะพาน ใต้ทางด่วน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ ถ้าเราไปกั้นผนังใส่ไฟแล้วเติมคอนเทนต์บางอย่างลงไป มันก็อาจจะทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ต่างๆ ของเมืองได้

“เราไม่ได้พูดถึง Big Development เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ง่ายๆ ที่เป็นแค่ชั่วคราวก็ได้ แต่มันสร้างคุณค่าทางความรู้สึก ดีกว่าปล่อยพื้นที่พวกนี้ทิ้งไว้เฉยๆ” อู๋ทิ้งท้าย

ภฤศธร สกุลไทย PIA Interior Co., Ltd.

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan