ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เป็นการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ ถ่ายทอดผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และศักยภาพที่ทำให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South cooperation) เป็นกลไกหนึ่งที่ผลักดันในความช่วยเหลือดังกล่าว สามารถดำเนินงานประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปไกลจนถึงแอฟริกาได้

โครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในบุรุนดี

โครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัลและบุรุนดี เป็นความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับเซเนกัลและบุรุนดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2552 จากการดำเนินงานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) มีเป้าหมายเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการทำขาเทียมของไทยแบบไร้พรมแดน

หนึ่งในผู้ที่ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้คือ รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (มูลนิธิขาเทียมฯ)

ความตั้งใจในการพัฒนาช่างทำขาเทียม

‘ขาเทียม’ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้พิการในประเทศแถบแอฟริกา โดยปกติมักจะได้รับจากการออกหน่วยพยาบาลของประเทศจากยุโรปและอินเดีย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยเห็นว่า ประเทศแถบแอฟริกาควรมีการพัฒนาเรื่องขาเทียมให้ยั่งยืนเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก

มูลนิธิขาเทียมฯ  ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องการผลิตขาเทียมที่มีคุณภาพและราคาถูก มีความพร้อมในการส่งต่อองค์ความรู้ สนับสนุนประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นหน่วยงานที่ทำขาเทียมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้กับผู้พิการมากกว่า 3,000 ราย

พ.ศ. 2552 นอกจากเซเนกัลแล้ว ทางกระทรวงกลาโหมจากบุรุนดีได้ส่งคำขอความช่วยเหลือด้านการพัฒนาคนด้านการผลิตขาเทียมมายังมูลนิธิขาเทียม

ในการดำเนินการโครงการระยะแรก ไทยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปที่เซเนกัลดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และนำข้อมูลกลับมาเพื่อวางแผนโครงการต่อไป

ไม่เพียงแค่การพัฒนาคนเท่านั้น แต่ในประเทศเหล่านี้ยังมีแผนขยายพื้นที่ให้บริการ สร้างอาคารเพิ่มเติม โดยมีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ช่วยสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ เครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงวัสดุตั้งต้นในการทำขาเทียมอีกด้วย

ความช่วยเหลือจากไทย คือ การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเซเนกัล-บุรุนดี เพื่อพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถ นำไปพัฒนา สร้างแขนขาเทียมเพื่อคนในประเทศต่อไป โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาที่ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

จุดเริ่มต้นความร่วมมือ ไทย-เซเนกัล-บุรุนดี

“โครงการนี้ช่วยสร้างช่างทำขาเทียมให้ประเทศเหล่านี้ ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและยังมีสงครามระหว่างประเทศ จึงมีทหารที่สูญเสียขาเยอะมาก” คุณหมอวัชระบอกเล่าความเป็นมาของโครงการ

“โครงการขาเทียมที่บุรุนดีเกิดขึ้นก่อนผมจะมาช่วยงานที่นี่ เราเคยอบรมช่างไปแล้ว 9 คน ส่วนเซเนกัล ผมได้ร่วมตั้งแต่ต้น จากการพูดคุยกับท่านทูตไทยที่เซเนกัลในตอนแรก เราอยากช่วยให้เขามีทรัพยากรมนุษย์ที่ทำขาเทียมให้คนพิการได้ และวันหนึ่งเขาควรยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง จนสุดท้ายเขาก็ตั้งมูลนิธิทหารผ่านศึก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับมูลนิธิขาเทียมของเราได้ เราทำขาเทียมให้ฟรีสำหรับทุกคน แต่เขาทำให้ทหารพิการฟรี ชาวบ้านก็คิดเงินบ้าง เพื่อความอยู่รอดของมูลนิธิ”

สำหรับโครงการขาเทียมที่เซเนกัลนั้น ได้เริ่มเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ใน พ.ศ. 2553 (เริ่มต้น พ.ศ. 2523) ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเซเนกัล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยร่วมกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ผลิตขาเทียมให้กับมูลนิธิเพื่อทหารทุพพลภาพและพิการ (Fondation des Invalides et Mutilés Militaires du Sénégal) ที่โรงพยาบาลทหาร Ouakam ณ กรุงดาการ์ เพื่อเป็นศูนย์ผลิตขาเทียมสำหรับทหารทุพพลภาพและผู้พิการของเซเนกัลและเป็นการสร้างและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการ รวมทั้งเผยแพร่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ของไทย ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซเนกัลและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในภายใต้กรอบความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South cooperation) และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ได้มีพิธีเปิดศูนย์และส่งมอบศูนย์ให้กับฝ่ายเซเนกัล โดยนาย Modou DIAGNE Fada รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเซเนกัล พร้อมด้วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการกอง Gendarmerie และแม่ทัพภาคที่ 1  เป็นตัวแทนฝ่ายเซเนกัล 

“โดยการตั้งโรงงานผลิตขาเทียมที่เซเนกัลนั้น เราได้เข้าไปดำเนินการตั้งแต่ส่งคนไปสำรวจพื้นที่และหารือเรื่องแผนงาน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรของเซเนกัล นอกจากนี้ ยังได้ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเซเนกัล มาดูงานการผลิตขาเทียมที่ไทยด้วย เพื่อให้ระดับผู้บริหารได้เห็นและเข้าใจว่าการผลิตขาเทียมต้องการมีการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง และตระหนักถึงแนวทางและเหตุผลความจำเป็นในเรื่องขาเทียม นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาบุคลากรให้แก่เจ้าหน้าที่เซเนกัล โดยสนับสนุนทุนศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตร Bachelor of Prosthetics and Orthotics Programme ณ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร มหาวิทยาลัยมหิดล ให้แก่ Mrs. Khadidatou Tall เพื่อจะได้รู้จริงและกลับไปบริหารศูนย์ได้

คุณหมอวัชระ กำลังตรวจผู้ป่วยที่เข้ารับขาเทียม

“ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 เซเนกัลส่งคนมาอบรมกับมูลนิธิฯ แล้ว 7 คน และได้ก่อตั้งโรงงานการทำขาเทียมในประเทศ การทำงานค่อนข้างเป็นไปด้วยดี TICA และมูลนิธิขาเทียมฯ ได้มีการวางแผนร่วมกันว่า ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยเราคือ เราจะเน้นการพัฒนาคน โดยการให้องค์ความรู้เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตนเองได้ และสามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ได้ ทุกประเทศในแอฟริกาก็ต้องการ และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สุดคงจะต้องให้มีศูนย์กลางอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อเป็นตัวถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกาได้  ประกอบกับระยะทางไกล คงจะเป็นเรื่องยากที่เราจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปปฏิบัติงานเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น จึงมีแผนที่จะให้เซเนกัล ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยได้เข้าไปช่วยตั้งศูนย์ผลิตขาเทียมให้แล้ว เป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ประเทศอื่น ๆ ในแถบแอฟริกาตะวันตก ดังนั้น เราจึงเริ่มที่จะพัฒนาบุคลากรของเซเนกัลให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำขาเทียมก่อน”

นอกจากผู้พิการจากเหตุของสงครามแล้ว ประเทศแถบแอฟริกาใต้ก็มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกหลายโรค บางคนอาจถึงขั้นต้องตัดแขนขาที่เป็นแผลทิ้ง และกลายเป็นผู้พิการในเวลาต่อมา

“โรคเบาหวานเป็นโรคทุกระบบ อาการจึงเกิดได้ทั้งหัวใจ ความดัน ไต เส้นเลือดตีบ ตามมาด้วยเส้นประสาทเสีย ซึ่งจะทำให้ไม่มีความรู้สึกที่เท้า เมื่อเกิดแผลผู้ป่วยจะไม่รู้สึก บางทีแผลเน่ามีหนอนอยู่ด้านใน เขาก็ยังไม่รู้เลย พอถูกตัดขาข้างหนึ่ง คุณภาพชีวิตก็แย่ บางคนนั่ง ๆ นอน ๆ แล้วปัญหาอื่น ๆ ก็ตามมา บางคนใช้ขาเดียวเดิน น้ำหนักก็จะไปลงอีกข้างหนึ่ง พอตัดข้างหนึ่งแล้ว ข้างที่เหลืออยู่ก็จะเหลือนิ้วแค่ 2 นิ้วบ้าง 3 นิ้วบ้าง แล้วก็ค่อย ๆ ตัดสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เราพบว่าประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเบาหวานมักถูกตัดขา 2 ข้าง ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างยิ่งเลย เพราะเขาไม่ได้ออกกำลังกาย ภาวะต่าง ๆ ในร่างกายก็ทรุดโทรมลงตามกันไป”

กว่าจะเป็นช่างทำขาเทียม

ปีนี้มูลนิธิขาเทียมฯ มีนักเรียนจากแอฟริกา 5 คน เป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่เซเนกัลและบุรุนดี พวกเขาเดินทางไกล ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้การเดินทางมาประเทศไทยไม่ง่ายอย่างที่เคยเป็นมา นักเรียนทั้ง 5 คนอยู่ระหว่างการเรียนที่เชียงใหม่ ฝึกอบรมในหลักสูตรพื้นฐาน โดยจะได้เรียนรู้การทำทั้งหมด 4 แบบ คือ ขาเทียมระดับข้อเท้า ขาเทียมระดับใต้เข่า ขาเทียมระดับเหนือเข่า และขาเทียมระดับเข่า เพื่อกลับไปทำขาเทียมได้ตามมาตรฐานที่ประเทศของตัวเอง

หลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิขาเทียมฯ ได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่จากแอฟริกาไปแล้วหลายรุ่นและหลายหลักสูตร รวมถึงหลักสูตรยาก ๆ อย่างการต่อขาที่ปรับระดับสะโพก ซึ่งในไทยเองก็ยังมีช่างทำได้น้อยมาก

คุณหมอวัชระ กำลังอบรมความรู้เรื่องขาเทียมแก่นักเรียนทุนจากประเทศเซเนกัลและบุรุนดี

คุณหมอวัชระพูดถึงอุปสรรคในการเรียนรู้ว่า ไม่มีอะไรมากนอกจากเรื่องการสื่อสาร เพราะผู้อบรมใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก จึงสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษไม่คล่องนัก แต่เนื่องจากการเรียนรู้ส่วนใหญ่เป็นการดูและทำตามเพื่อสร้างทักษะ และด้วยความตั้งใจจริงของผู้เรียน ภาษาจึงไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ และเนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตขาเทียมได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ดังนั้น การอบรมนี้จึงเป็นการเติมเต็มเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อองค์ความรู้การผลิตขาเทียมในเซเนกัลจะได้ก้าวทันเทคโนโลยี

รู้สึกดีที่ได้มาเรียนรู้เรื่องขาเทียม

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุนจากโรงพยาบาลทหาร ซึ่งมีคนไข้ที่ต้องการขาเทียมอยู่

Fabrice Ntakayiruta เป็นพยาบาลจากโรงพยาบาลทหาร Kamenge ในบุรุนดี เขาอยากมีประสบการณ์ทำขาเทียมเลยมาเรียนรู้เพิ่มเติม และมีความสุขมาก ๆ ที่ได้มาเรียนรู้การทำขาเทียมในประเทศไทย

Cheikh A.K.D Diakhate นักกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลทหาร Ouakam ในเซเนกัล เขาสนใจขาเทียม และคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ได้มาที่นี่เพื่อเรียนรู้เรื่องขาเทียม

Frank Nzohabonimana นักกายภาพบำบัดฝึกหัดจากบุรุนดีบอกกับเราว่า การได้มาเป็นนักกายภาพบำบัดคือความใฝ่ฝันของเขา การได้ไปทำงานที่โรงพยาบาลทำให้เขาเห็นผู้ป่วยที่ต้องการขาเทียมจำนวนมาก เขาตื่นเต้นที่ได้มาเรียนรู้การทำขาเทียมครั้งนี้ การได้เจอครูที่ดีและการได้มาที่ประเทศไทยจึงทำให้เขามีความสุขมาก

El Hadji Malick Fall เล่าว่า การทำงานเป็นพยาบาลในเซเนกัลทำให้เขาเห็นผู้พิการจำนวนมาก ขาเทียมจึงกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเขา

Venuste Ribakare “ผมได้ประโยชน์เยอะมาก มีความสุขมาก เอาความรู้กลับไปใช้ได้เยอะมาก” พยาบาลจากบุรุนดีคนนี้บอกกับเราด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น

ผู้เข้ารับการอบรมพูดเหมือนกันว่า ประเทศของพวกเขามีผู้พิการจากการทำสงครามจำนวนมาก และในช่วงนี้พวกเขากำลังเรียนรู้เรื่องการทำขาเทียมส่วนเหนือเข่ากันอยู่ ถึงแม้จะมีความยากอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็คิดว่ากำลังเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี เมื่อจบการอบรมแล้ว พวกเขาก็จะกลับไปยังประเทศของตนเพื่อสร้างขาเทียมให้แก่ผู้ป่วยที่มีความต้องการต่อไป

ก้าวต่อไปของโครงการ

“เมื่อจบหลักสูตร นักเรียนกลุ่มนี้ก็จะกลับ แล้วจะมีนักเรียนกลุ่มใหม่มาเรียนรู้ในหลักสูตรที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมถึงเรียนรู้การทำแขนเทียม” คุณหมอวัชระพูดถึงก้าวต่อไปของโครงการ หลังจากช่วงมิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ทางมูลนิธิขาเทียมฯ และ TICA จะยังคงส่งต่อองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

โครงการขาเทียมนับเป็นความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพทางสาธารณสุข ไทย-เซเนกัล-บุรุนดี ที่จะยังคงดำเนินการต่อไป และจะมีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาต่อไปในงาน Global South-South Development Expo 2022 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 – 14 กันยายน พ.ศ. 2565

ภาพ : TICA

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global South-South Development Expo 2022 หรือ GSSD Expo 2022 ร่วมกับสหประชาชาติ (สำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ หรือ UNOSSC และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ ESCAP ) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ นับเป็นการจัดงาน GSSD Expo ครั้งที่ 11 และเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

หัวข้อหลักของงานปีนี้คือ Advancing South-South and Triangular Cooperation for Sustainable COVID-19 Recovery: Towards a Smart and Resilient Future เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ รวมทั้งแบ่งปันความสำเร็จและโครงการด้านการพัฒนาที่โดดเด่นของไทย อาทิ

(1) แนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีส่วนช่วยประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  

(2) โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย ที่คนหนุ่มสาวร่วมส่งเสริมความเข้าใจอันดีและกระชับมิตรภาพระดับประชาชน

(3) ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับมือ ป้องกันและควบคุมสถานการณ์โควิด-19  

และ (4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การฝึกอบรมและจัดสรรทุนการศึกษาในสาขาต่าง ๆ ที่เป็นจุดแข็งของไทยและเป็นประโยชน์แก่ประเทศผู้รับ ทั้งนี้ สามารถเข้าชมนิทรรศการออนไลน์ได้จาก : https://bit.ly/3JVqZGT

Writer

Avatar

ชลณิชา ทะภูมินทร์

นักเล่าเรื่องฝึกหัดกำลังตามหาความฝันที่หล่นหาย คนน่าน-เชียงใหม่ที่รักบ้านเกิดแต่ก็หลงรักการเดินทาง