เพราะมีคนใกล้ตัวอยู่ในแวดวงดนตรี ชื่อของ ProPlugin เลยผ่านมาอยู่ในบทสนทนาอยู่บ่อย ๆ ล่าสุดคือวันก่อนหน้า เขาต้องใช้สายแจ็คทันทีในวันรุ่งขึ้น ติดต่อร้านไปตอนกลางคืนก็สามารถจัดส่งมาให้ได้ทันเวลา

“แนะนำว่า ถ้าอยากได้เสียงที่ดีต้องหาโฟมมารองหน่อย” โจ-ไตรเทพ ศรีกาลรา ผู้ก่อตั้งศูนย์รวมอุปกรณ์ผลิตสื่อและทำดนตรีครบวงจรแห่งนี้ พูดขึ้นขณะเราวางโทรศัพท์ไอโฟนบนโต๊ะเพื่ออัดเสียงสัมภาษณ์ 

ProPlugin ร้านอุปกรณ์เสียงออนไลน์ของพนง.ประจำ สู่ธุรกิจที่กำลังวางแผนเข้าตลาดทุน

เขาจัดหาโฟมมาให้รอง พร้อมอธิบายเหตุผลเรื่องเสียงสะท้อนที่ต้องทำอย่างนี้ และปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะว่า “แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องมีไมค์ ซึ่งเรามีขายครับ”

ชายคนนี้เติบโตมาจากการขาย ครอบครัวของเขาทำร้านขายอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นพื้นฐานความรู้ที่ดีมาก แต่เขาไม่เคยคิดจะสืบทอดธุรกิจ จนกระทั่งวิกฤตต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจชะลอตัวพร้อม ๆ กับที่ธุรกิจขายอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ขาลง เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายแบรนด์มุ่งพัฒนาบริการหลังการขายให้ดีขึ้น ร้านขายอะไหล่แบบนี้จึงไม่จำเป็นกับลูกค้าอีกต่อไปแล้ว ทำให้การเงินของธุรกิจครอบครัวเขามีปัญหา 

ใครจะคิดว่าอีกกว่า 20 ปีถัดมา ความตั้งใจนั้นจะกลายเป็น ProPlugin ร้านขายอุปกรณ์เสียงที่ไม่มีคนไหนในวงการดนตรีหรือวงการคอนเทนต์ไม่รู้จัก และกำลังวางแผนเพื่อเข้าตลาดทุนในเร็ววันนี้

ProPlugin ร้านอุปกรณ์เสียงออนไลน์ของพนง.ประจำ สู่ธุรกิจที่กำลังวางแผนเข้าตลาดทุน
ProPlugin ร้านอุปกรณ์เสียงออนไลน์ของพนง.ประจำ สู่ธุรกิจที่กำลังวางแผนเข้าตลาดทุน

นักการขาย

หลังเรียนจบ โจเริ่มจากการสมัครงานประจำตำแหน่ง ‘พนักงานขาย’ เพราะทางบ้านไม่มีทุนตั้งต้นในการทำธุรกิจให้ เขาเชื่อว่าถ้าวันหนึ่งจะเป็นเจ้าของกิจการที่เก่งกาจ ต้องขายให้เป็น 

หลังจากนั้นก็ลาออก เอาความรู้ที่ได้มาทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งมีหลากหลายตั้งแต่ขายแพ็กเกจที่พัก ตั๋วเครื่องบิน บัตรเติมเงิน รองเท้าผู้หญิง เสื้อยืดผู้ชาย ไปจนถึงกระดาษรองนั่งชักโครก เขาใช้วิธีจับเสือมือเปล่าในการเลือกธุรกิจ อะไรที่ใช้เงินทุนไม่มาก เน้นลงแรงและเวลา โดยไม่มีเป้าหมายหรือแบบแผนที่ชัดเจน 

มันไม่ยั่งยืน

เขาได้กำไรเพียงเล็กน้อยจากธุรกิจเหล่านั้น จึงตัดสินใจกลับไปทำงานประจำครั้งที่ 2 ในตำแหน่ง Sales Executive เป็นผู้วางระบบห้องบันทึกเสียงให้สตูดิโอดัง ๆ อย่างแกรมมี่ อาร์เอส และกันตนา ซึ่งห้องเหล่านี้มีมูลค่าหลักสิบล้าน 

จนวันหนึ่ง ได้อ่านคอลัมน์ในนิตยสารดนตรีเล่มหนึ่งเกี่ยวกับ Home Studio ซึ่งเปิดโลกเขาจากที่เคยทำเฉพาะห้องบันทึกเสียงราคา 8 หลัก 

ProPlugin ร้านอุปกรณ์เสียงออนไลน์ของพนง.ประจำ สู่ธุรกิจที่กำลังวางแผนเข้าตลาดทุน

“มันเริ่มเป็นเทรนด์ในตอนนั้น ห้องเสียงแพงเพราะอุปกรณ์แพง แต่พอเทคโนโลยีพัฒนา เราสามารถทำเพลงบนคอมพิวเตอร์ได้ อุปกรณ์แบบฮาร์ดแวร์เริ่มเปลี่ยนมาเป็นซอฟต์แวร์ เริ่มมีเครื่องมือบันทึกเสียงที่บ้าน ผมเห็นโอกาสและเชื่อในโอกาสนี้ เลยตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจเองอีกครั้ง”

ลูกค้าคนแรกคือ เบล-สุพล พัวศิริรักษ์ 

เดือนแรกขายได้ 12,000 บาท โจใจชื้น ถ้าขายมากขึ้น บวกลบกำไรก็ไม่หนีเงินเดือนประจำนัก

เดือนที่สองขายได้ 2,000 กว่าบาท จนแทบไม่เหลือกำไร

เดือนที่สามขายไม่ได้เลย

โจมีรายชื่อและเบอร์ติดต่อลูกค้าประมาณร้อยคน วิธีการขายของเขาคือโทรหาลูกค้าในลิสต์ทุกเดือน โดยลืมคิดไปว่า อุปกรณ์แบบนี้ไม่ได้ซื้อกันบ่อย ๆ บางชิ้นใช้ไป 3 – 4 ปีถึงเปลี่ยนสักครั้ง 

เขากลับไปทำงานประจำครั้งที่สามพร้อมกับพัฒนา ProPlugin ไปด้วย

ProPlugin ร้านอุปกรณ์เสียงออนไลน์ของพนง.ประจำ สู่ธุรกิจที่กำลังวางแผนเข้าตลาดทุน

กลุ่มเป้าหมายใหม่

เมื่อร้อยรายชื่อนั้นไม่ทำให้สินค้าขายได้อีกต่อไป โจต้องหากลุ่มเป้าหมายใหม่ วิธีที่ง่ายที่สุดในตอนนั้นคือการขายบนเว็บไซต์ซึ่งฮิตที่สุดคือ TARAD.com

การตลาดของเขาไม่ซับซ้อน ใช้วิธีโปรโมตตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ เช่น เว็บบอร์ดคนเล่นกีต้าร์ คนทำเพลง มือกลอง ทำให้มีลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ 

กลางวันเป็นพนักงานบริษัท กลางคืนเป็นผู้ประกอบการ

ทำอย่างนั้นอยู่ 1 ปีจนยอดขายแตะหลักล้านใน 3 เดือน จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ… ครั้งสุดท้าย

สิ่งแรกที่เขาปรับเปลี่ยนคือ สร้างหน้าร้าน เพราะอุปกรณ์ทำเพลงบางชิ้นต้องลองใช้ ลองฟังก่อน เขาใช้ชั้นลอยของร้านอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ที่บ้านเป็นโชว์รูมแรก ลูกค้าเริ่มรู้จักมากขึ้น จนกลายเป็นผู้บุกเบิกเทรนด์ Home Studio ของประเทศไทย

One-stop Solution

จุดเด่นคือความครบวงจร มาที่นี่ที่เดียวได้ของครบ ตัดสินใจได้เลย

เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า สมัยก่อนเวลาจะซื้อไมโครโฟนสักตัว ลูกค้าต้องไปหลายร้านเพื่อลองทุกยี่ห้อ เพราะแต่ละแบรนด์มีตัวแทนจำหน่ายคนละที่ แต่ Pain Point ของลูกค้าคือต้องการเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ของที่ถูกใจที่สุด

ProPlugin ร้านอุปกรณ์เสียงออนไลน์ของพนง.ประจำ สู่ธุรกิจที่กำลังวางแผนเข้าตลาดทุน
ProPlugin ร้านอุปกรณ์เสียงออนไลน์ของพนง.ประจำ สู่ธุรกิจที่กำลังวางแผนเข้าตลาดทุน
ProPlugin ร้านอุปกรณ์เสียงออนไลน์ของพนง.ประจำ สู่ธุรกิจที่กำลังวางแผนเข้าตลาดทุน

“เราวางตัวว่าเป็นมัลติแบรนด์ มีแบรนด์หลากหลาย เป็นมัลติโปรดักซ์ มีสินค้าที่หลากหลาย ทั้งยังเป็นมัลติแชนแนล มีช่องทางหลากหลายทั้งออนไลน์และหน้าร้าน 

“เราเริ่มต้นจากตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ก่อนจะมายุคที่อุปกรณ์ทำเสียงกลายมาเป็นเหมือนเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง แล้วก็เพิ่มสินค้ามาเรื่อย ๆ ตามการบอกเล่าของลูกค้า จากที่เคยขายแค่อุปกรณ์บันทึกเสียง เริ่มมีอุปกรณ์ดีเจ ดีเจก็ผ่านมาตั้งแต่ยุคที่เล่นตามสถานบันเทิง เครื่องราคาหลักแสน มายุค Bedroom DJ ใช้คอมพิวเตอร์เล่นอยู่กับบ้านได้ ยุคหนึ่งเราเคยตามเทรนด์มาก ๆ จนมี Joystick เล่นเกมขาย เคยขาย Tablet ขาย Flash Drive ด้วย 

“แต่สุดท้าย ธุรกิจที่คู่แข่งเยอะแล้วเราไปเป็นหางเสือ ก็จะไม่สามารถกำหนดทิศทางตลาดได้ เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็ว เราตามไม่ทันจนเจ็บตัว ผมเลยเลือกเป็นหัวหมา เป็นผู้เล่นอันดับต้น ๆ ของแวดวงนั้น แล้วโฟกัสจุดเดียวจนกลายมาเป็น ProPlugin ทุกวันนี้”

แต่แค่นั้นไม่ทำให้ ProPlugin อยู่มาได้ถึง 18 ปี เคล็ดลับของความสำเร็จคือการไม่ละทิ้งเป้าหมายใหญ่ซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจ คือ Amplify Your Dreams โจจึงไม่มองว่าตัวเองเป็นเพียงร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับเสียง แต่เชื่อว่าอุปกรณ์ของเขาจะช่วยสนับสนุนฝันให้คนอื่น ๆ ได้ไม่มากก็น้อย

กลุ่มลูกค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนดนตรี มีตั้งแต่ระดับเริ่มต้นเป็นงานอดิเรก ดีเจ ไปจนถึงผู้นำวงการอย่างศิลปิน Big Ass, Bodyslam, The TOYS, Getsunova กลุ่มที่สองคือ Content Creator ที่ตอนนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนทำคลิป TikTok บางคนทำคลิปพอดแคสต์ 

สินค้าที่นี่จึงมีหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลาย และทุกสิ่งที่เลือกทำต้องตอบโจทย์ความเชื่อของเขา

เพื่อนคู่คิด

ก่อนหน้านี้ พนักงานต้องมีประสบการณ์ในด้านดนตรีแบบที่โจเรียกว่า ‘คนดนตรี’ เท่านั้น มาวันนี้กึ่งหนึ่งไม่มีพื้นเพด้านนี้โดยตรง แต่มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม สิ่งที่โจผู้มีประสบการณ์ทางด้านการขายมาก่อนให้ความสำคัญคือ ต้องให้ความรู้คู่การขายไปด้วย เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด 

“เราดูแลลูกค้าเหมือนเพื่อน และจะแนะนำของที่เหมาะสำหรับจุดประสงค์ของเขาเท่านั้น ถ้าสินค้าราคาหนึ่งหมื่นเพียงพอแล้ว เราจะไม่แนะนำสินค้าราคาหนึ่งแสน เช่น Content Creator ไม่จำเป็นต้องใช้ไมค์ราคาแพงมาก เราอาจจะเลือกตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในงบประมาณเขาให้ โดยไม่เอาความกรอบ Preference หรือความชอบส่วนตัวของพนักงานมาเป็นกรอบของลูกค้าและกรอบขององค์กร

“เรามองตัวเองเป็นเพื่อนที่แนะนำสิ่งที่ดีที่สุดให้เพื่อน ให้ข้อมูลอย่างจริงใจ ในทางกลับกัน ทีมเราก็ได้เรียนรู้จากลูกค้าที่มาซื้อด้วย ใช้อันไหนดีเขาก็มาแบ่งปัน พอได้แลกเปลี่ยนกันทั้งสองฝ่าย มันเลยกลายเป็นคอมมูนิตี้ขนาดย่อม ๆ ขึ้นมา”

พนักงานทุกคนมีเป้าหมายในการทำงานตรงกัน คือสนับสนุนความฝันของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดีเจ Content Creator หรือบางคนเป็นผู้เสพเสียงดนตรีที่ฝันอยากใช้วันหยุดอยู่บ้านฟังเพลงที่เขาชอบ เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ProPlugin เลยขยายบริการนอกเหนือจากการขายอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศในวงการนี้ให้เกิดขึ้น

“บริการของเรามีสามขาหลัก ๆ หนึ่ง ProPlugin School เป็นศูนย์กลางการศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคต่าง ๆ ในการสร้างผลงานทางดนตรี คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และเสียงคุณภาพ สอนลูกค้าให้ทำเป็นก่อน

“เมื่อเขาทำเป็นแล้วก็ต้องมีอุปกรณ์ มาสู่ขาที่สองที่ศูนย์รวมอุปกรณ์ผลิตสื่อและดนตรีครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมี Flagship Store ที่อาคารฟอร์จูนทาวน์

“และสาม ProPlugin Party ทันทีที่เขาพร้อมเป็นมืออาชีพ ถ้ามีคนจ้างเราจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง งานเลี้ยงบริษัท หรือแม้แต่เทศกาลดนตรีก็เคยจัด เราก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้ของเขาได้

“ผมเชื่อว่าสุดท้ายวิถีนี้จะกลายเป็น Ecosystem ที่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนลูกค้าของเราให้บรรลุความฝัน From zero to star พร้อมขับเคลื่อนวงการดนตรีต่อไปเรื่อย ๆ”

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ของตัวเองภายใต้ชื่อ ProTone จำหน่ายสายสัญญาณเสียงและกระเป๋าอุปกรณ์ดนตรี และร้าน ProPlugin Hi-Fi ขายเครื่องเสียง เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้ลูกค้าด้วยเช่นกัน

18 ปีที่เปลี่ยนไป

วงการการทำดนตรีเปลี่ยนแปลงตลอด ในทุกปีจะมีอุปกรณ์ใหม่กว่า เทคโนโลยีใหม่กว่า ออกวางจำหน่ายในท้องตลาด

18 ปีของธุรกิจก้าวผ่านอะไรหลาย ๆ อย่าง

จากแต่ก่อน ห้องบันทึกเสียงมีอุปกรณ์เต็มผนัง ปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านั้นพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ที่แทบจะไม่เห็นความแตกต่างของผลลัพธ์ 

เสียงที่เคยเกิดจากเครื่องดนตรีอย่างเดียว ศิลปินก็พัฒนาวิธีการจนที่มาของเสียงอยู่รอบตัวได้ และบางส่วนเป็นเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากอุปกรณ์ล้วน ๆ 

ถ้าวันหนึ่งคนเลิกใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ขึ้นมาจริง ๆ ProPlugin ก็จะปรับตัวตามพฤติกรรมใหม่ของลูกค้า

“จุดเด่นของเราคือเทคโนโลยีมาตั้งแต่วันแรก ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ เราจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ต่อไปสินค้าในร้านอาจไม่ใช่แค่ Physical Product อย่างตอนนี้เราเริ่มทำคลาสออนไลน์ อย่าง ProPlugin Party อาจจะไม่ใช่แค่อีเวนต์ออฟไลน์ แต่เป็นออนไลน์ด้วย หรือในอนาคตถ้าทุกสื่อขึ้นไปบน Metaverse เราก็ต้องหาช่องทางเพื่อสนับสนุน Concent Creator ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าของเรา”

ProPlugin เคยมีสาขาสูงสุด 13 สาขา แต่วันนี้เหลือเพียงที่เดียว เพราะการมีสาขาเยอะ ไม่ได้แปลว่าทุกสาขามีของครบ และลูกค้าจะได้ประสบการณ์ที่ดีเหมือนกัน 

โจมุ่งเรื่องการขายออนไลน์จนมีสาขามากกว่า 10 แห่งบนมาร์เก็ตเพลสต่างๆ และให้ความสำคัญกับ Flagship แห่งเดียวแห่งนี้ โดยพัฒนาให้เป็น Experience Center เน้นการสร้างประสบการณ์ทางตรง แบบที่เขาบอกว่า “พอมันเกี่ยวกับเสียง อ่านรีวิวให้ตาย ก็ไม่เห็นภาพหรอก” 

การตลาดแบบ Omni-channel จึงสำคัญมากสำหรับธุรกิจนี้ ไม่จำเป็นว่าลูกค้าจะต้องซื้อหน้าร้าน เขาอาจจะแค่มาลองใช้แล้วกลับไปซื้อออนไลน์ หรือซื้อกับตัวแทนจำหน่ายบนออนไลน์ก็ได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน ก็มีคลิปรีวิวสินค้าสำหรับลูกค้าที่ไม่สะดวกเดินทางมาที่ร้าน ทำ A/B Testing ให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจ

อยากเติบโต ต้องมองการณ์ใหญ่

คุณทำธุรกิจมาก่อนหน้าหลายอย่าง อะไรที่ทำให้สำเร็จ และครั้งอื่นไม่สำเร็จ – เราถามเขา

“เราต้องลองผิดเยอะกว่า ก่อนจะรู้ว่าลองถูกคือยังไง แต่ไปลองผิดในแบบที่เราไม่ต้องเจ็บตัวมาก ค่อย ๆ เรียนรู้ไปทีละขั้นตอน แบบไหนเวิร์ก แบบไหนไม่เวิร์ก จนเจอสิ่งที่ใช่

“สำคัญคือ เมื่อไปลองผิดมาแล้ว ต้องมาสรุปให้ได้ว่า Lessons Learned คืออะไร สิ่งไหนทำให้ไม่สำเร็จ เพื่อจะได้ไม่ต้องผิดพลาดเหมือนเดิม”

เป้าหมายในอนาคตคือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยเริ่มจากการเข้าตลาด Live Exchange เพื่อหาพาร์ตเนอร์ที่จะทำให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น มีความพร้อมมากขึ้น และเติบโตขึ้นไปสู่ตลาด MAI ใน พ.ศ. 2567

“เราทำให้โมเดลธุรกิจเกิดการวิวัฒนาการ สร้าง Ecosystem ที่ผมบอกในตอนแรก ก่อนจะขยายไปประเทศเพื่อนบ้าน เจาะตลาดไปยังประเทศกลุ่มนี้

“โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว Disruption ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าธุรกิจเรายังอยู่ในสเกลเท่านี้ อนาคตจะถูกกลืนแน่นอน การจะสเกลใหญ่ขึ้น เราจำเป็นต้องมีทีมงานมืออาชีพ 

“ก่อนหน้านี้ ProPlugin บริหารแบบธุรกิจครอบครัว มีความเป็น One-man Show และศูนย์กลางอยู่ที่คนคนเดียว ผมอยากให้องค์กรนี้กลายเป็นองค์กรที่ไม่ต้องพึ่งพาใครคนใดคนหนึ่ง แต่ใช้แบรนด์และระบบนำ ปีที่ผ่านมาจึงมีผู้บริหารระดับ C-level เข้ามาพร้อมกันสี่คนเลย คือ COO, CMO, CTO, CFO รวมกับทีมงานมืออาชีพจากหลากหลายอุตสาหกรรม”

โจทิ้งทายไว้ว่า การจะขับเคลื่อนวงการดนตรีไปข้างหน้า ต้องอาศัยพลังของคนเก่ง ๆ จำนวนมากในการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน

และนั่นคือวิสัยทัศน์ของเจ้าของธุรกิจที่คิดการณ์ใหญ่คนนี้

Lessons Learned

  • ลองผิดเพื่อให้เจอสิ่งที่ถูก แต่เมื่อผิดแล้วต้องวิเคราะห์หาเหตุผลเพื่อที่จะไม่ผิดซ้ำสอง
  • หา Pain Point ของตลาดที่มีอยู่เดิม ตอบโจทย์นั้น แล้วสร้างจุดเด่นธุรกิจที่ไม่เหมือนคนอื่น
  • ประเมินความสามารถของธุรกิจตัวเอง แล้วเลือกทำในทางที่ตัวเองเชื่อและถนัด เหมือนอย่างที่ ProPlugin เลิกขายสินค้า Gadget อื่น ๆ เพื่อมามุ่งเน้นอุปกรณ์เสียงอย่างเดียว
  • คิดการณ์ใหญ่ แล้วค่อย ๆ วางแผนหาแนวทางไปให้ถึงเป้าหมาย
  • มองธุรกิจเป็นมากกว่าการสร้างกำไร ถามตัวเองว่าอยากเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนอะไรให้สังคม เหมือนที่ ProPlugin อยากสนับสนุนให้คนตามความฝัน แล้วทุกอย่างที่เลือกทำหรือทุกการตัดสินใจจะต้องตอบโจทย์นั้นทั้งหมด
  • ปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งไว้
  • ให้ความสำคัญกับคนในองค์กร เหมือนอย่างที่โจบอกไว้ว่า การไปข้างหน้าต้องอาศัยพลังของคนเก่ง ๆ จำนวนมากในการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน

LiVE Platform แพลตฟอร์มเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับ SMEs และ Startups เติบโตและมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน www.live-platforms.com

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ