“ตอนไปเรียนโดนเพื่อนแกล้ง เรียนก็ไม่รู้เรื่อง เลยไม่ไปเรียนแล้ว”

นี่คือคำตอบที่เราได้รับจากน้าเราที่มีความผิดปกติด้านสมองระหว่างที่เราสองคนกำลังนอนดูการ์ตูนช่อง 9 ด้วยกัน ตอนนั้นเราอยู่ชั้นประถมแต่ก็พอจะจำความได้ว่า น้าเราลาออกจากโรงเรียนตอนที่เรียนอยู่ชั้นเดียวกับเรา

เราไม่เคยเข้าใจว่าทำไมน้าถึงอยากลาออกจากโรงเรียน แล้วหันเหชีวิตมาเอาดีด้านการเขียนซองขนมส่งชิงโชควันละหลายซองแทน (สมัยนั้นการส่งซองขนมชิงโชคฮิตพอๆ กับการสุ่มรีทวีตแจกของในทวิตเตอร์) จนกระทั่งวันหนึ่ง พอเราโตขึ้นและได้เห็นสภาพแวดล้อมที่เราเติบโตมา เราก็พอเข้าใจความรู้สึกของน้าเราแล้วว่าทำไม

การเป็นนักเรียนพิการในไทยนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด เวลาเห็นข่าวคนพิการในไทยเรียนจบ เรารู้สึกซูฮกพวกเขาอย่างใจจริงที่ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายเหล่านี้มาได้ เพราะถ้าเขาเป็นนักเรียนที่พิการทางสายตา เขาไม่สามารถอ่านหนังสือเองได้ถ้าไม่มีคนช่วยอ่านให้ ถ้าเขาที่เป็นเด็ก LD (Learning Disorder) ซึ่งไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้ เขาก็ต้องดิ้นรนเอาเอง หรือนักเรียนที่ไม่สามารถเดินเองได้ ก็ต้องเรียกคนมาช่วยยกรถเข็นขึ้นบันได

ผู้พิการ
ผู้พิการ

ไม่ต้องคิดไปไหนไกล ขนาดเราเคยเป็นตะคริวที่ขาแล้วต้องขึ้นห้องเรียนที่อยู่ชั้น 5 ยังลำบากจนเรานึกว่ากำลังปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ไม่ต้องถามเลยว่าความรู้สึกของผู้พิการในไทยที่ต้องรับมือกับสภาพแวดล้อมแบบนี้ทุกวันและเกือบทุกสถานที่ในประเทศไทยจะเหนื่อยขนาดไหน ส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่ได้เพื่อนหรืออาจารย์บางท่านคอยช่วยเหลือ ก็คงเป็นเรื่องยากมากที่พวกเขาจะฝ่าฟันอุปสรรคที่เยอะแยะราวกับกำลังใช้ชีวิตอยู่ใน Hunger Games ไปได้

จากประสบการณ์เหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกว่าโรงเรียนในไทยยังขาดความใส่ใจและความเท่าเทียมถ้าเทียบกับโรงเรียนต่างประเทศ

ในขณะที่ผู้พิการในไทยต้องต่อสู้เพื่อสิทธิตนเองอย่างหนักหน่วง (แต่ก็ยังถูกละเลย) ตัดภาพมาที่อีกซีกโลกหนึ่ง ดินแดนที่คนตาบอดเดินขึ้นรถบัสเองได้ คนนั่งรถเข็นกดปุ่มเปิดประตูอัตโนมัติโดยไม่ต้องง้อคนให้มาผลักประตูให้ และคนธรรมดาอาจโดนค่าปรับถ้าหากเข้าไปรุกล้ำพื้นที่จอดรถของผู้พิการ

ผู้พิการ
ผู้พิการ

นี่แหละ ‘สหรัฐอเมริกา’ ประเทศที่ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีการศึกษาในระดับสูง ตอนได้ยินคนอื่นเล่ามาแบบนี้ เราก็แอบเบะปากนิดหนึ่งว่ามันจะขนาดนั้นเลยเหรอ อวยต่างประเทศมากไปหรือเปล่าจนพอมาเสิร์ชกูเกิลดูเลยทำให้รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เพราะจากข้อมูลในปี 2016 มีสถิติออกมาว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้พิการกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีมากถึง 1 ล้าน 8 แสนคน และยิ่งชัดเจนไปกว่านั้นคือ หนึ่งในล้านคนนั้นก็รวมเพื่อนเราคนหนึ่งอยู่ด้วย

‘เดวิด’ เป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนของเราและเป็นเด็ก LD ที่บกพร่องทางการเขียน หมายความว่า เวลาที่เดวิดเขียนเขาจะใช้เวลานานมากกว่าจะเขียนได้ 1 ประโยคและตัวหนังสือของเขาก็จะใหญ่มาก ถ้าเรานั่งสอบหลังเดวิดเราจะเห็นได้ชัดเจนว่าข้อ 1 ถึง 10 เดวิดตอบอะไรบ้างและถ้ากระดาษแผ่นนั้นเป็นแบบไม่มีเส้นด้วยแล้ว ตัวอักษรของเดวิดจะค่อยๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเหมือนมีใครเอาไฟฉายขยายส่วนของโดราเอมอนมาส่องเลย

ผู้พิการ

การสังเกตไลฟ์สไตล์ของเดวิดทำให้เราเห็นความแตกต่างของผู้พิการในไทยและอเมริกาได้ค่อนข้างชัด ด้วยความที่ประเทศไทยมักปลูกฝังฟิลเตอร์ความน่าสงสารของคนพิการมาโดยตลอด เราเลยมักมีความคิดว่าถ้าเจอคนพิการเราควรเข้าไปช่วยเหลือทันทีเพราะเขาน่าสงสาร แต่ที่อเมริกาคนพิการมักถูกมองในฐานะที่เท่าเทียมกับคนปกติ พวกเขาจึงต้องรู้จักช่วยเหลือตัวเองในระดับหนึ่ง

เวลาเรียนถึงแม้เดวิดจะจดเลกเชอร์ตามไม่ได้ เขาก็จะพยายามหาวิธีเอาตัวรอดด้วยตนเอง เรื่องนี้อาจารย์ทุกคนทราบดี พวกเขาพยายามสนับสนุนเดวิดเท่าที่จะทำได้ พวกเขารู้ว่าเดวิดต้องใช้เวลาเขียน ก็ให้เดวิดมาก่อนเวลาสอบ 30 นาทีเพื่อทำข้อสอบ อนุญาตให้อัดเสียง หรือบางทีก็ทำโน้ตเลกเชอร์มาเตรียมเผื่อไว้ให้ (ซึ่งดีมาก เพราะในเวลาที่อาจารย์แร็พเร็วไปจนฟังไม่ทัน เราก็จะไปเกาะส่วนบุญดูโน้ตของเดวิดแทน)

ผู้พิการ
คัพเค้กที่เดวิดทำมาแจกเพื่อนตอนช่วงฮัลโลวีน

ถึงการเป็นเด็ก LD จะเป็นอุปสรรคในการเรียนบ้าง แต่เดวิดก็เรียนจบปริญญาตรีได้ ปัจจุบันเดวิดทำงานเป็นผู้ช่วยในค่ายของเด็กที่มีความผิดปกติ หน้าที่หลักของเขาคือควบคุมและดูแลให้เด็กในค่ายให้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง บางทีก็ต้องคอยห้ามไม่ให้เกิดเรื่องดราม่าขึ้นในค่าย

ส่วนเรื่องชีวิตส่วนตัว เดวิดชอบเดินทางมาก ด้วยความที่อเมริกาให้สิทธิหลายอย่างกับผู้พิการ เวลาซื้อตั๋วไปเที่ยวที่ไหนเดวิดจึงได้รับส่วนลดด้วยเสมอ พอได้เห็นชีวิตของเดวิด เราก็สงสัยว่าทำไมชีวิตผู้พิการที่อเมริกาถึงต่างกับผู้พิการในไทยขนาดนี้

คำตอบอาจจะดูซีเรียสนิดหนึ่ง แต่หลังจากที่เราไปหาข้อมูลมาเลยพอสรุปได้ว่าที่อเมริกามีกฎหมายที่ครอบคลุมถึงบุคคลกลุ่มนี้ด้วย หลักๆ มีอยู่ 3 กฎด้วยกัน ได้แก่ Americans with Disabilities Act (ADA) ที่ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติรวมถึงการจ้างงาน Individuals with Disabilities Education Act (IDEA) กฎหมายที่การันตีว่าเด็กที่มีความพิการจะได้รับการเข้าถึงการศึกษา และ Section 504 of the Rehabilitation Act กฎหมายที่กำหนดให้เขตการศึกษาต้องจัดหาโรงเรียนสาธารณะที่ฟรีและเหมาะสมให้กับเด็กพิการแต่ละคนในเขต

กฎเหล่านี้เป็นเหมือนอาหารเสริมที่ช่วยสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นข้อดีที่ช่วยปกป้องความรู้สึกทางจิตใจได้เช่นกัน เพราะกฎหมายเหล่านี้ให้สิทธิคนพิการให้ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามที่ทำให้ตนเองไม่สบายใจแก่บุคคลที่ถามเกี่ยวกับความพิการ ถ้าโดนดูถูกขึ้นมาพวกเขาก็ไปร้องเรียนได้

ความแนวอย่างหนึ่งที่เราชอบโรงเรียนอเมริกาคือ บริการช่วยเหลือการเรียนสำหรับคนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้โดยเฉพาะ มีที่ปรึกษาสำหรับผู้พิการ หรือคลาสเรียนพิเศษ พร้อมกับสิทธิที่พวกเขาได้รับ อย่างเช่นมีสิทธิ์ได้เวลาทำข้อสอบมากกว่าคนอื่น ลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนนักเรียนปกติ มีผู้ช่วยจดเลกเชอร์

สิ่งที่เรารู้สึกว่าล้ำมากคือ ปากกา SmartPen ที่ช่วยจดเลกเชอร์ อธิบายแบบง่ายๆ คือ เป็นปากกาที่อัดเสียงระหว่างเลกเชอร์ได้ พอเรากดปุ่มอัดและจดเลกเชอร์ไปพลาง เราก็ไม่จำเป็นต้องจดทั้งหมด เพียงแค่จดคีย์เวิร์ดไม่กี่คำ หลังจากนั้นพอกดปุ่มหยุดอัดเสียง แล้วเอาปากกาไปแตะที่คียเวิร์ดไหน เสียงที่เราอัดไว้จะดังออกมาจากประโยคที่เราจดค้างไว้ตรงนั้นต่อเลย

ผู้พิการ

อีกบริการหนึ่งในคอลเลจที่เราคิดว่าช่วยได้เยอะ คือ Academic Reading Center เป็นเหมือนแล็บเล็กๆ ที่ใช้สื่อและโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องการอ่าน ซึ่งไม่ได้มีไว้ให้แค่เด็ก LD เท่านั้น แต่รวมไปถึงนักเรียนต่างชาติที่ประสบปัญหาแกรมม่าไม่ได้เรื่อง คำศัพท์ไม่กระดิก และแพ้การอ่านประโยคภาษาอังกฤษยาวๆ แบบเราด้วย

แรกเริ่มเราจะต้องเข้าไปทดสอบก่อนว่ามีจุดอ่อนในเรื่องไหน จากนั้นเราจะได้รับแบบฝึกหัดที่ตรงกับจุดนั้น เวลาไม่เข้าใจอะไรเราก็ยกมือเรียกให้ครูผู้ช่วยมาอธิบาย แล็บนี้เปิดให้นักเรียนในโรงเรียนมาใช้บริการได้ฟรี เราใช้แล็บนี้จนเราได้คะแนน TOEFL ถึงตามที่ต้องการเลย แต่การมีบริการช่วยเหลือคนพิการไม่ได้หมายความว่าคนพิการจะได้รับสิทธิพิเศษเหนือบุคคลธรรมดาหมดซะทุกเรื่อง พวกเขาไม่มีสิทธิเอาความพิการมาเป็นข้ออ้างในการแซงคิวหรือเอาเปรียบคนอื่น

เทอมก่อน ระหว่างที่เรายืนรอต่อคิวรับอาหารฟรีก็มีเด็กออทิสติกกับพี่เลี้ยงคนหนึ่งมาต่อคิวด้วย เราคาดว่าน้องน่าจะเพิ่งดู Jurassic Park มา เพราะดูกำลังอินกับบทบาทการเล่นเป็น T-Rex และทำเสียงคำรามแบบไดโนเสาร์อยู่ พอพนักงานมาเห็นเข้า เขาก็ถามพี่เลี้ยงว่าให้เขาไปหยิบอาหารมาให้เลยดีไหม น้องจะได้รับอาหารและไปได้เลย แต่ก่อนจะให้คำตอบ พี่เลี้ยงก็หันมาถามคนที่กำลังต่อคิวรอรับอาหารอยู่ว่า รู้สึกรำคาญน้องหรือเปล่า จะโอเคไหมถ้าให้น้องยืนรอคิวตรงนี้ด้วย ทุกคนบอกว่า พวกเขาโอเค พอทุกคนไม่มีปัญหาอะไร พี่เลี้ยงก็เลยปฏิเสธพนักงานคนนั้นไป เธอให้เหตุผลที่ว่านี่เป็นการสอนน้องให้รู้จักการเข้าคิวและรอคอย

“ถ้าอยากกินคัพเค้กต้องต่อคิว” เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะต่อคิวนานเกือบชั่วโมงน้องก็ไม่มีปัญหากับพยายามเป็น T-Rex ที่รอคัพเค้กฟรีเลย

ระบบการศึกษา การให้บริการ หรือสวัสดิการต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ได้แค่ช่วยให้คนพิการหลายคนมีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น สิ่งนี้อาจทำให้คนธรรมดาหลายคนได้เข้าใจความรู้สึกของพิการและเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เกิดความคิดดีๆ สิ่งดีๆ มาช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกกันและกันก็ได้

Writer & Photographer

Avatar

วิศัลลยา เกื้อกูลความสุข

นักเรียนไทยในต่างแดน มีความฝันว่าอยากทำงานด้านท่องเที่ยวและเล่นดนตรีไปรอบโลก