เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 เกิดอุทกภัยใหญ่ในภาคกลาง น้ำเหนือไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีน ทุ่งข้าวสีทองของสุพรรณบุรีกลายสภาพเป็นทะเลหลวง เมื่อผิวน้ำโดนลมหนาวกระหน่ำใส่ก็เกิดคลื่นแรงราวกับอยู่ริมทะเล ผมหวั่นใจว่างานแห่แม่พระทางน้ำของชุมชนคาทอลิกญวนแห่งอำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี จะจัดได้ตามปกติหรือไม่ เมื่อได้รับคำยืนยันจาก คุณแต๊บ เจ้าหน้าที่ของวัดแม่พระประจักษ์แห่งภูเขาคาร์แมลว่า ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนเริ่มทรงตัวแล้ว ก็ค่อยคลายใจ ชาวบ้านต่างก็เชื่อว่าพระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงปกปักหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้อยู่ พระมารดามารีย์ยังสามารถเสด็จเยี่ยมเยือนชาวคริสตังในชุมชนโดยการแห่ทางเรือได้ตามปกติ

แห่แม่พระมารีย์ทางน้ำ ประเพณีคริสตังญวน อ.สองพี่น้อง สุพรรณบุรี

ชุมชนญวนแห่งสุพรรณบุรี

สุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ สูงมาก ทั้งชาวไทย ลาว จีน กะเหรี่ยง มอญ เขมร ไทยดำ และชุมชนญวน เนื่องจากสมัยโบราณ มีการอพยพย้ายถิ่นและกวาดต้อนผู้คนจากดินแดนต่าง ๆ เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ภาคตะวันตกแห่งนี้ และประกอบร่างสร้างตัวตนขึ้นเป็นชาวไทยในปัจจุบัน ชุมชนญวนแห่งสองพี่น้องก็เช่นกัน เกิดจากการขยายตัวของชุมชนคริสตังแห่งสามเสน หรือ ‘ค่ายนักบุญฟรังซิสเซเวียร์’ ซึ่งแต่เดิมเป็นชุมชนชาวเวียดนามคาทอลิกที่อพยพหลบหนีการเบียดเบียนศาสนาในรัชสมัยพระเจ้ามินมาง จักรพรรดิแห่งเวียดนามผู้ไม่ไว้วางพระทัยในบรรดามิชชันนารี

เมื่อเกิดสงครามอานัมสยามยุทธขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ขุนนางคริสตังไปเกลี้ยกล่อมชาวญวนเหล่านี้ ที่อพยพหนีการเบียดเบียนศาสนามาถึงชายแดนเขมรแล้ว ให้เข้ามาทำมาหากินในดินแดนสยาม โดยรับรองสิทธิในการนับถือศาสนาคริสตังได้อย่างเสรี อย่างไรก็ตาม ชุมชนสามเสนก็เล็กและแคบเกินไปเมื่อชุมชนขยายตัวออก ชาวญวนผู้มีอาชีพทำประมงเป็นหลัก จึงเดินทางอพยพขึ้นเหนือไปหากินตามลำน้ำเจ้าพระยา ขึ้นไปถึงเจ้าเจ็ด บ้านแพน เกาะใหญ่ อยุธยา นครสวรรค์ เกิดชุมชนคริสตังญวนขึ้นตลอดลำแม่น้ำมากมาย เกือบทุกแห่งยังรักษาขนบธรรมเนียมญวนไว้ได้ โดยเฉพาะอาหารการกิน ประเพณี งานศพ หรือคำเรียกในครอบครัว

แห่แม่พระมารีย์ทางน้ำ ประเพณีคริสตังญวน อ.สองพี่น้อง สุพรรณบุรี

อำเภอสองพี่น้องก็เช่นกัน ชุมชนญวนไม่กี่ครอบครัวที่อพยพมายังท้องทุ่งสุพรรณแห่งนี้ก่อร่างสร้างตัวขึ้น เมื่อลงหลักได้มั่นคงแล้วก็เชิญบาทหลวงจากโบสถ์ที่นครชัยศรี (ปัจจุบันคือวัดนักบุญเปโตร สามพราน) ขึ้นมาดูแลประกอบศาสนกิจ

“ญวนสองพี่น้องเขาศรัทธามาก ตื่นก็สวด กินข้าวก็สวด ก่อนนอนก็สวด ลงไปอาบน้ำในท่าก็สวด ไม่กลัวจระเข้กินบ้างเนาะ” ผมนึกถึงคำของชาวบ้านที่สามพราน เมื่อเขาพูดถึงคริสตังแห่งสองพี่น้องด้วยน้ำเสียงติดตลก ในสมัยท่านสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ท่านอภิบาลชาวคริสต์ในสยามด้วยความเคร่งครัด มีการแต่งบทสวดสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต ทั้งกินข้าว เข้านอน หรือแม้แต่กินหมาก เพื่อเพิ่มความไว้วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า ความศรัทธาเหล่านี้ช่วยประคับประคองชุมชนคาทอลิกเล็ก ๆ นี้ให้เติบโตท่ามกลางชนต่างศาสนามาได้นานกว่า 150 ปี

แห่แม่พระมารีย์ทางน้ำ ประเพณีคริสตังญวน อ.สองพี่น้อง สุพรรณบุรี
แห่แม่พระมารีย์ทางน้ำ ประเพณีคริสตังญวน อ.สองพี่น้อง สุพรรณบุรี

แม่พระประจักษ์แห่งภูเขาคาร์แมล

บ้านญวนแห่งนี้ได้ชื่อว่า ‘บ้านแม่พระประจักษ์’ ซึ่งมาจากชื่อเต็ม ๆ ว่า ‘แม่พระประจักษ์แห่งภูเขาคาร์แมล’ ชื่อนี้มาจากสมญานามของกลุ่มนักบวชแห่งภูเขาคาร์แมลในอิสราเอล ซึ่งแต่เดิมเป็นนักรบครูเสดที่เสร็จสิ้นภารกิจและรวมตัวกันถือพรตกันโดยสันโดษในภูเขาคาร์แมล หุบเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ครั้งหนึ่งประกาศกเอลียาห์เคยมีชัยชนะเหนือนักบวชศาสนาบาอัลในยุคพันธสัญญาเดิม โดยพระเป็นเจ้าทรงส่งไฟจากฟ้าลงมาเผาเครื่องบูชาของเอลียาห์ เป็นเครื่องหมายว่าพระเจ้าของอิสราเอลเป็นพระเป็นเจ้าเที่ยงแท้แต่พระองค์เดียว 

นักรบครูเสดที่เข้าไปบำเพ็ญพรตในอารามแห่งนี้ ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นคณะนักบวชนาม ‘คาร์เมไลท์’ ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทยของเราด้วย ในบรรดานักบวชเหล่านี้ นักบุญซีมอน สต๊อก (St. Simon Stock) ได้พบกับพระนางมารีย์ พระมารดาทรงประจักษ์มาพบท่านที่เขาคาร์แมลในศตวรรษที่ 13 และประทานเสื้อพิเศษและ ‘สายจำพวก’ (สายคล้องคอขนาดเล็ก ชาวคาทอลิคเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายของการมอบตนให้อยู่ในความคุ้มครองของพระเป็นเจ้าและพระแม่มารีย์ และใช้เพื่อระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา) ให้กับท่าน เป็นเครื่องหมายในการอุทิศตนรับใช้พระเป็นเจ้าและเป็นคำสัญญาของพระนางว่าจะช่วยเหลือให้พวกเขาเอาชนะบาปผิดต่าง ๆ ในชีวิตได้ และแม้ว่าวัดสองพี่น้องแห่งนี้จะไม่เคยถูกปกครองโดยคณะนักบวชคาร์เมไลท์ แต่ความศรัทธาต่อพระนางมารีย์แห่งภูเขาคาร์แมลคงแพร่หลายมากในช่วงรัชกาลที่ 4 – 5 จึงมีการนำนามนี้มาตั้งเป็นนามอุปถัมภ์ของวัดสองพี่น้องด้วย

แห่แม่พระมารีย์ทางน้ำ ประเพณีคริสตังญวน อ.สองพี่น้อง สุพรรณบุรี
งานแห่แม่พระทางน้ำของชุมชนคาทอลิกญวนแห่งอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ประเพณีที่เกิดหลังสงครามอานัมสยามยุทธ

เมื่อแม่พระเสด็จเยี่ยมชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน

น้ำเจิ่งนองไปทั่วทั้งทุ่งสองพี่น้อง บ้านสองชั้นกลายเป็นบ้านชั้นเดียว หลายหลังเหลือแต่หลังคาและเรือกลายเป็นพาหนะหลักในการเชื่อมบ้านกับถนนสายหลัก แต่ชุมชนคริสตังก็ยังเปี่ยมด้วยพลัง ทุกบ้านเตรียมแท่นบูชาขนาดเล็ก ๆ หน้าตาไทย ๆ จำพวกโต๊ะหมู่บูชาที่เราเห็นตามวัดพุทธ แต่ตั้งรูปแม่พระ ปักดอกไม้ใส่แจกันกับเชิงเทียนสีขาวไว้ที่ชานเรือนหันหน้าลงสู่แม่น้ำท่าจีน ครอบครัวพร้อมหน้ารอคอยให้เรือแห่ของวัดค่อยล่องช้า ๆ นำหน้าขบวนแห่ด้วยเรือประดิษฐานไม้กางเขน พาพระรูปพระแม่มาอวยพรพวกเขา-ปีละครั้ง-ถึงหน้าบ้าน เสียงสวดบทวันทามารีอาดังไปทั่วคุ้งน้ำ ค่อย ๆ แห่จากวัดแม่พระประจักษ์ไปถึงตลาดบางลี่ และทวนกลับไปถึงวัดสองพี่น้อง (วัดพุทธ) ซึ่งมีบ้านคริสตังตั้งกระจัดกระจายไปตลอดทาง

ผมทราบมาว่า เรือที่ใช้แห่นั้น ทางวัดก็ได้รับความช่วยเหลือให้หยิบยืมมาจากวัดพุทธสองพี่น้อง นับว่าเป็นความร่วมมือกันอย่างน่ารักระหว่างต่างศาสนิก

งานแห่แม่พระทางน้ำของชุมชนคาทอลิกญวนแห่งอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ประเพณีที่เกิดหลังสงครามอานัมสยามยุทธ

ธรรมเนียมการแห่แม่พระทางน้ำนั้น คงจะติดมาจากสมัยโบราณที่การคมนาคมส่วนใหญ่ของสยามยังอยู่บนสายน้ำ โบสถ์อื่น ๆ ก็เคยมีประเพณีนี้ เช่น โบสถ์ลำไทร แต่เลิกไปเมื่อถนนกลายเป็นทางสัญจรหลัก เมื่อรถยนต์เข้ามาแทนเรือ บ้านเรือนคริสตังจำนวนมากก็โยกย้ายออกไปตั้งตามถนน การแห่ทางน้ำก็เลิกราไปในราว พ.ศ. 2530 จนกระทั่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในช่วง พ.ศ. 2561 เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ชุมชนบ้านแม่พระประจักษ์เป็นตัวแทนชุมชนจากตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้องเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากชุมชนญวนแห่งนี้ก็มีผลิตภัณฑ์หลักจากท้องถิ่นที่แพร่หลายจำนวนมาก เช่น ปลาหมำแบบญวน เปลญวนที่ใช้ผักตบชวาเป็นวัตถุดิบเสริม เพราะแม่น้ำท่าจีนมักจะตื้นเขินลงเสมอจากการระบาดของผักตบชวา ประเพณีแห่แม่พระทางน้ำจึงถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่อีกครั้ง

งานแห่แม่พระทางน้ำของชุมชนคาทอลิกญวนแห่งอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ประเพณีที่เกิดหลังสงครามอานัมสยามยุทธ
ภาพถ่ายเก่าขบวนแห่แม่พระของวัดพระวิสุทธิวงศ์ ลำไทร ในปี 1950
ภาพ : สารสาสน์ เล่มที่ 30 ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 1950

การจัดพิธีกรรมยังคงดำเนินการด้วยรูปแบบดั้งเดิม เราเห็นชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในชุดอ๋าวหย่ายสีสันสดใส ตั้งรูปแม่พระแห่งลาวาง-เวียดนาม ในชุดอ๋าวหย่ายอุ้มพระกุมารเยซูอยู่หน้าวัดเช่นกัน ความภาคภูมิใจในเชื้อสายเวียดนามยังคงเป็นเสาหลักที่ยึดโยงชุมชนแห่งนี้เข้าด้วยกัน หลังจาก 1 ชั่วโมงกลางทุ่ง แวะโบกไม้โบกมือทักทายกับชุมชนสองฝั่งน้ำแล้ว ทางวัดก็ยังเตรียมโรงทานให้เราทานกันฟรี ๆ หมูหันแบบญวนตัวใหญ่หนังกรอบกับหอยทอดคือเด็ดมาก ไอศกรีมกะทิแบบกะทิล้วน ๆ มันจัดกลมกล่อมมาก มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจำพวกปลาร้า ปลาหมำ เมี่ยงคำ ตะกร้าสานด้วยนะ

ก่อนจะลาจากชุมชนแห่งนี้ ผมเดินไปสวัสดีนักบุญซีมอน สต๊อกกับพระแม่มารีย์ในโบสถ์ หวังว่าปีหน้าจะได้พบกันอีก พร้อมทั้งขอพรให้ทุกครอบครัวปลอดภัยจากอุทกภัยครั้งนี้ด้วย

งานประเพณีแห่แม่พระทางน้ำจะจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนตุลาคม ติดตามข่าวสารได้จากเฟซบุ๊ก วัดแม่พระประจักษ์ สองพี่น้อง

ขอบคุณคุณแต๊บ แอดมินของเพจวัดแม่พระประจักษ์ที่ช่วยเหลือในการลงเรือแห่แม่พระ

Writer & Photographer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช