เรื่องราวนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง เพราะมีความมหัศจรรย์บางอย่างที่ผมเหมือนถูกเลือกให้ได้รับเกียรติเป็นผู้เชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบัน
มันคืออดีตของความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างคนในทีมแข่งรถเล็กๆ ทีมหนึ่ง ที่สร้างชื่อเสียงอันเกรียงไกรให้ประเทศไทยเมื่อกว่า 80 ปีก่อน ทีมที่ว่าคือ ‘White Mouse Garage Racing Team’ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ทีมรถแข่งคอกหนูขาว’
มันคืออดีตความสัมพันธ์ฉันครอบครัว ระหว่างพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (พระองค์จุลฯ) กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช (พระองค์พีระ) และอดีตผู้ช่วยในทีมที่ชื่อ โทนี่ รุดด์ (Tony Rudd)
สิ่งต่างๆ เริ่มต้นจากการที่ผมได้เข้ามาบริหารดูแลสนามพีระเซอร์กิต (Bira Circuit) เมื่อกลางปี 2560
สนามแข่งรถแห่งนี้มีตำนานยิ่งใหญ่มากมาย ด้วยความที่เป็นสนามแข่งรถมาตรฐานแห่งแรกของประเทศ อยู่คู่กับวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยมาอย่างยาวนานกว่า 33 ปี ถือเป็น ‘สนามครู’ ของคนในวงการนี้แทบทุกคน โดยได้ขออนุญาตใช้ชื่อ สนามพีระ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์เจ้าพีระ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนักขับรถแข่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย


วันที่ผมเข้าไปบริหารสนามพีระ คนนอกวงการน้อยคนนักที่จะทราบตำนานความยิ่งใหญ่ของพระองค์พีระและสนามแห่งนี้
จากจุดนี้ ผมพยายามรีแบรนด์สนาม และกำหนดเป้าหมายใหม่โดยใช้แรงบันดาลใจจากความยิ่งใหญ่ในการแข่งรถของพระองค์พีระในอดีต ผมพยายามทำเผยแผ่เรื่องราวความสำเร็จของพระองค์ผ่านโซเชียลมีเดียของสนาม พยายามค้นคว้าหาข้อมูลจากหลายแหล่งทั้งสื่อในและต่างประเทศ เพื่อความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ แต่ทุกครั้งมักพบปัญหาคือไม่อาจมั่นใจได้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
จนมาถึงครั้งล่าสุดที่ทำคอนเทนต์ว่าทำไมสีรถแข่งของพระองค์พีระจึงเป็นสีฟ้า ตอนแรกก็หาข้อมูลยืนยันไม่ได้ จนไปพบข้อมูลจากงานเขียนของฝรั่งคนหนึ่ง ซึ่งอ้างอิงจากหนังสือเก่าที่พระองค์จุลฯ เคยเล่าเรื่องราวการแข่งรถของพระองค์พีระ ผู้ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ โดยพระองค์จุลฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังและให้ความอุปถัมภ์พระองค์พีระ ทั้งสนับสนุนเส้นทางการแข่งรถจนประสบความสำเร็จมากมายในช่วงยุคก่อนสงครามโลก

ผมพบว่าสีฟ้านั้นมาจากความประทับใจที่พระองค์จุลฯ เห็นเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ บาร์บารา กรุต (Barbara Grut) เธอสวมชุดสีฟ้า Hyacinth Blue ในงานราตรี พระองค์จุลฯ ทรงประทับใจมาก ถึงกับขอตัดเศษผ้าชิ้นเล็กๆ จากชุดของเธอผู้นั้น และเอาไปทำสีรถแข่งของพระองค์พีระ ซึ่งต่อมากลายเป็นสีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของรถแข่ง จนเรียกกันว่า Bira Blue
กระทั่งวันหนึ่งผมพาญาติจากออสเตรเลียกับลูกๆ ไปเที่ยวมิวเซียมสยาม วันนั้นที่มิวเซียมสยามมีงานออกร้านขายหนังสือ
คนขายหนังสือร้านที่ผมพบหนังสือชื่อ ดาราทอง ทรงพระนิพนธ์โดยพระองค์จุลฯ แนะนำให้ผมแวะไปดูร้านกาแฟชื่อ White Mouse Bar & Cafe ซอยข้างวังจักรพงษ์ แค่ได้ยินชื่อร้านผมก็ตื่นเต้นแล้ว เพราะมันคือชื่อทีมรถแข่งของพระองค์พีระ
ผมกับญาติรีบเดินไปทันที แต่ร้านปิดแล้ว ผมลองมองผ่านกระจกเข้าไปในร้าน มองเห็นรางๆ ว่ามีถ้วยรางวัลและรูปภาพแปะผนังมากมาย ผมรู้สึกว่าร้านกาแฟร้านนี้ต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ


เนื่องจากร้านปิดแล้ว พวกเราเลยลองเดินไปที่ร้านหนังสือหน้าวังจักรพงษ์ ชื่อร้าน River Books เป็นร้านของสำนักพิมพ์วังจักรพงษ์เอง ด้วยความหวังว่าอาจจะมีหนังสืออะไรน่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระองค์พีระ
เมื่อผมเปิดประตูเข้าไป ก็บังเอิญเจอ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาในพระองค์จุลฯ ผมจำได้ว่าคุณหญิงเคยมาขับรถแข่งของพระองค์พีระที่สนามพีระเมื่อ 30 ปีก่อน และวันนั้นคือวันที่สนามเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ จากสนามพัทยาเซอร์กิต เป็นสนามพีระ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต

ผมแนะนำตัวทันทีว่าผมเป็นผู้บริหารสนามพีระ คุณหญิงบอกว่า จำได้ เคยไปขับรถแข่ง แล้วคุณหญิงก็สั่งให้คนเปิดร้านและพาผมเข้าไปดู ทันทีที่ผมเดินเข้าไปในร้าน สิ่งของตกแต่งต่างๆ ทำให้ผมอึ้ง เพราะมันคือภาพการแข่งขันมากมายซึ่งเป็นโปสเตอร์ที่พระองค์พีระทรงวาดเอง ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์งาน Bangkok Grand Prix ค.ศ. 1939 (สุดท้ายไม่ได้จัดเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2) พวงมาลัยจากรถ หนุมาน และถ้วยรางวัลหลายใบ



หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ ผมพาลูกน้องไปที่ร้านนี้อีกครั้ง พนักงานของร้านบอกว่า แปลกมากที่ผมบังเอิญเจอคุณหญิงในเวลานั้น เพราะปกติท่านจะกลับอังกฤษไปแล้ว ถ้าอยู่ก็น้อยครั้งมากที่จะลงมาที่ร้านหนังสือ เขายังแซวผมเล่นๆ ว่า พระองค์พีระพาคุณมาหรือเปล่า
ผ่านไปอีก 2 สัปดาห์ เรื่องราวแปลกๆ ก็เกิดขึ้นอีก เมื่ออยู่ๆ ผมก็ได้รับอีเมลจาก ริชาร์ด พาร์รามินต์ (Richard Parramint) ส่งมาจากอังกฤษ ทั้งที่ปกติเราแทบไม่เคยได้รับอีเมลของบุคคลทั่วไปจากต่างประเทศ ยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานแข่งขัน

ริชาร์ดเขียนมาเสนอขายของหลายชิ้น พร้อมแนบไฟล์รูปภาพ เขาอ้างว่ารู้จักครอบครัวของโทนี่ รุดด์ ซึ่งโทนี่เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว เมื่อรุ่นลูกค้นของเก่าเก็บของพ่อแล้วพบของเหล่านี้จึงคิดว่ามันควรได้กลับไปอยู่ที่เมืองไทย
ของเหล่านั้นเป็นของที่พระองค์พีระและพระองค์จุลฯ ประทานให้โทนี่เป็นการส่วนพระองค์ ของสำคัญสุดคือ พระมาลาผ้าขับแข่งสีฟ้า ซับพระพักตร์ปักคำว่า BIRA ผ้าพิมพ์ลายรถแข่งปิดหน้าต่างซึ่งเคยอยู่ที่บ้านเก่าของพระองค์จุลฯ ที่เมืองคอร์นวอลล์ (Cornwall) พระราชหัตถเลขาพร้อมลายพระอภิไธยของทั้งพระองค์จุลฯ และพระองค์พีระและหนังสือเก่าหลายเล่มที่ทรงพระนิพนธ์โดยพระองค์จุลฯ



ผมแปลกใจมากๆ ใจยังไม่อยากเชื่อ จึงลองโต้ตอบอีเมลกับริชาร์ดดูว่าเจออีเมลสนามพีระของเราได้ยังไง เขาบอกว่า แค่เสิร์ชในกูเกิล แถมเขายังเล่าประวัติของโทนี่ รุดด์ ว่าเคยเป็นอดีตผู้ช่วยในทีม White Mouse ที่ตอนหลังได้แรงบันดาลใจจนไปเรียนจบวิศวกรรม และกลายเป็นคนสำคัญในตำนานวงการแข่งรถของอังกฤษคนหนึ่ง ทั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทีมรถแข่งดังอย่าง BRM (British Racing Motors) และ Lotus F1 ในอดีต เขาบอกว่า ลองไปเช็กประวัติดูได้ เมื่อผมลองเช็ก มันก็จริงทุกอย่าง

ผมสนใจของเหล่านี้จึงพยายามติดต่อสอบถามเพื่อนๆ ฝรั่งผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการค้าขายของเก่า ว่าผมควรทำยังไงจึงจะพิสูจน์ได้ว่าของเหล่านี้เป็นของจริง แต่ทุกคนให้คำแนะนำไม่ได้ ผมจึงต้องกลับไปไล่ดูภาพสิ่งของอีกครั้ง แล้วก็ไปสะดุดกับจดหมายและการ์ดที่เขียนถึงโทนี่ ลงชื่อว่า Elizabeth Chula Chakrabongse หรือ หม่อมเอลิซาเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา พระชายาในพระองค์จุลฯ คุณแม่ของคุณหญิงนริศรา ผมจึงนึกถึงคุณหญิงทันที ถ้าจะพิสูจน์ว่าของเหล่านี้ว่าเป็นของจริงหรือไม่ คุณหญิงคือผู้ตอบคำถามได้ดีที่สุด

ผมส่งข้อความพร้อมรูปไปให้คุณหญิงดู คุณหญิงตอบกลับมาว่า น่าแปลกใจมาก เพราะนี่คือจดหมายลายมือคุณแม่คุณหญิงจริงๆ และหลังจากทั้งสองท่านได้คุยกัน คุณหญิงยืนยันกับผมว่า ทุกอย่างเป็นของจริง และมาจากครอบครัวโทนี่จริงเช่นกัน



หลังจากแน่ใจในข้อมูลทั้งหมดผมจึงตัดสินใจซื้อของทั้งหมดเอง แล้วแจ้งคุณหญิงว่า จะขอมอบจดหมายที่แม่ของคุณหญิงเขียนถึงโทนี่กลับคืนเป็นสมบัติของคุณหญิง

จนกระทั่งเดือนมีนาคมการซื้อขายจึงเกิดขึ้น ผมขอความช่วยเหลือให้คุณอาซึ่งอยู่เมืองไบรท์ตันช่วยไปรับของให้ สามีคุณอาน่ารักมาก ถึงกับขับรถ 4 ชั่วโมง ไปเมืองนอร์ฟอล์ก (Norfolk) เพื่อรับของจากริชาร์ดและครอบครัวโทนี่ให้ผม
เป็นความบังเอิญที่วันนั้นคือวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562 ตรงกับวันครบรอบ 111 ปี ของ
พระองค์จุลฯ พอดี
หลังจากนั้นช่วงต้นเดือนกรกฎาคมผมจึงรีบบินไปรับของสำคัญทางประวัติศาสตร์ชุดนี้ เพื่อนำกลับมาเมืองไทยให้ทันวันพระราชสมภพของพระองค์พีระในวันที่ 15 เดือนเดียวกัน


จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ผมว่ามันมหัศจรรย์มาก ผมเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เหมือนถูกเลือกให้เป็นคนเชื่อมเรื่องราวในอดีตกับปัจจุบันของคนกลุ่มหนึ่ง
ปกติผมไม่เชื่ออะไรเหล่านี้ แต่สิ่งที่ผมเชื่อเสมอคือ เวลาเราทำสิ่งที่เรารัก เราจะตั้งใจทุ่มเททำอย่างดีที่สุด ด้วยเจตนาที่ดี แม้จะมีอุปสรรค แต่สุดท้ายเราก็จะพบสิ่งดีๆ เช่นกัน


ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมแข่งรถเล็กๆ ทีมหนึ่งในอดีต ผ่านของเก่าแก่อายุกว่า 80 ปี ที่ถูกเก็บรักษาอย่างดีอีกซีกโลก ซึ่งเหมือนมีอะไรกำหนดให้ได้กลับมาหาครอบครัวของเจ้าของยังอีกซีกโลกที่เมืองไทย


แม้อดีตจะผ่านไปนานแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะจบสิ้นลง มันยังมีพลังที่จะสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ในปัจจุบันได้ ยิ่งถ้าอดีตเหล่านั้นเป็นอดีตที่ลึกซึ้งของคนในทีม หรือกลุ่มคนที่มาร่วมทำกิจกรรมที่มีความหลงใหลสุดๆ ร่วมกัน เช่นเดียวกับอดีตของคนในทีม White Mouse Garage Racing Team



จากเรื่องราวที่ผมได้สัมผัส สร้างแรงบันดาลใจให้ผมว่าสนามพีระก็สร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มคนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องหลงใหลแค่การแข่งรถ เพราะสนามพีระเป็นมากกว่าสนามแข่งรถ ที่นี่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม เฉพาะตน เป็นเหมือนครอบครัว ทีมแข่ง ที่เต็มไปด้วยความผูกพัน และวันนี้ก็พร้อมที่จะแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ให้คนอื่นๆ ได้เข้ามาสัมผัสร่วมกัน
