ผมวางกระเป๋ากล้องที่หนักอึ้งบนบ่าลงไว้กับโคนต้นไม้ บนทางเดินสายเล็ก ๆ ที่ลัดเลาะเข้าไปตามริมน้ำ เบื้องล่างลงไปนั้น ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งให้ร่มเงาครึ้มและแผ่รากออกไปยึดเกาะตลิ่งไว้ไม่ให้ถูกสายน้ำที่ถั่งโถมมากัดเซาะให้เลือนหายไปกับสายน้ำที่ไหลเชี่ยวนั้น
ผมกางขาตั้งกล้องอันใหญ่ขึ้นมาแล้วหยิบกล้องตัวโตขึ้นมาประกอบ เมื่อมองภาพผ่านกระจกรับภาพในยามใกล้มืดเช่นนี้ ภาพที่กลับหัวในจอกระจกนั้นก็ริบหรี่แทบจะมองไม่เห็น โดยเฉพาะจากสายตาของคนที่มีอายุเกินครึ่งศตวรรษไปหลายปีอย่างผม
ผมใช้เวลาพักใหญ่ในการจัดองค์ประกอบภาพ และโฟกัสผ่านแว่นขยายที่ผมพกมาด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ภาพที่คมชัด แม้ว่าจะไม่แน่ใจในสายตาของตนเองที่ไม่คมชัดเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อนแล้วก็ตาม ก่อนที่จะปิดหน้ากล้อง ตั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ ก่อนจะกดทดลองชัตเตอร์ดูอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้แน่ใจ แล้วหยิบฟิล์มแผ่นใหญ่ที่ประกอบอยู่ในกล่องสีดำสอดเข้าไปในกล้อง เปิดแผ่นบังแสงออก แล้วกดชัตเตอร์ปิดแผ่นบังแสง แล้วเก็บฟิล์มแผ่นนั้นเก็บเข้ากระเป๋า พร้อมกับจดบันทึกข้อมูลในการถ่ายภาพ เพื่อใช้ประกอบการล้างฟิล์มเมื่อกลับไปถึงบ้าน
ก่อนจะหันไปบอกกับเพื่อนที่กำลังเซตกล้องอยู่ข้าง ๆ กันว่า ถ้าเป็นกล้องดิจิทัลหรือโทรศัพท์มือถือ คงถ่ายไปได้เป็นร้อยภาพแล้ว และก็เห็นภาพที่เราถ่ายแล้วด้วย
เพื่อนผมยิ้ม ๆ แล้วตอบมาด้วยเสียงเรียบ ๆ ว่า “คืนนี้เราก็ตั้งแคมป์พักแรมกันที่นี่ ไม่เห็นจะต้องรีบไปไหน”
ผมไม่ได้ถ่ายภาพด้วยฟิล์มมานานน่าจะเกือบ 20 ปี หลังจากการเข้ามาของกล้องดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงโลกของการถ่ายภาพไป ทั้งที่ 10 กว่าปีก่อนหน้าที่ผมจะเปลี่ยนมาใช้กล้องดิจิทัลนั้น ผมใช้ฟิล์มสไลด์ในการบันทึกภาพผ่านกล้องและเลนส์หลากหลายชนิด ทั้งในซุ้มบังไพรใจกลางป่าลึกหรือบนท้องฟ้าจากช่องหน้าต่างเล็ก ๆ ของเครื่องบินที่เปิดออกได้ หรือแม้กระทั่งในโลกใต้ท้องทะเลที่ถูกจำกัดด้วยจำนวนฟิล์มประมาณ 36 ภาพ ซึ่งอยู่ภายในกล้องที่เราเปลี่ยนฟิล์มใต้น้ำไม่ได้
ด้วยคุณสมบัติของกล้องดิจิทัล ซึ่งเพื่อนของผมคนหนึ่งให้นิยามสั้น ๆ ว่า ‘ประหยัด มากแสง’ (ที่ไม่ใช่นักกอล์ฟแชมป์โลกชาวไทย) มันเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการถ่ายภาพบนโลกนี้ไป เนื่องจากเราถ่ายภาพได้อย่างต่อเนื่อง จำนวนกี่ภาพก็ได้ (ตราบใดที่ยังมีแบตเตอรี่อยู่) และกล้องดิจิทัลสมัยใหม่ก็พัฒนาให้ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ถึง 30 เฟรมต่อวินาที ยิงรัวได้เร็วกว่าปืนกลมือ และไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนของฟิล์ม ใช้ได้ในสภาพแสงที่น้อยจนแทบมองไม่เห็นได้ด้วยการเปลี่ยนค่าความไวแสงแบบที่ไม่มีข้อจำกัดของแสงเหมือนในอดีต แถมยังมองภาพที่ถ่ายไปแล้วได้จากจอแสดงผลและลบภาพที่ไม่ชอบทิ้งไปได้ (ซึ่งในปัจจุบันเราเห็นภาพที่ต้องการจะถ่ายออกมาก่อนที่บันทึกภาพผ่านกล้อง Mirrorless หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำ)
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ไม่มีสาเหตุอะไรที่ทำให้ผมจะหันกลับไปใช้กล้องฟิล์มในการบันทึกภาพอีกต่อไป ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี
ทุกวันนี้ที่บนโลกนี้แทบจะไม่เหลือนิตยสารให้ตีพิมพ์ภาพแล้ว บนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเข้ามาของ Generative AI ที่สร้างภาพได้สมจริงราวกับภาพถ่ายและถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ใช้งานได้โดยไม่ต้องออกไปถ่ายภาพให้เสียเวลา เราไปไหนก็ได้ในทันทีผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ความสับสนอลหม่านและรวดเร็วของยุคสมัยที่สื่อสารกันผ่านโซเชียลมีเดีย วัดผลกันจากยอดไลก์ ยอดแชร์ ภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจที่สร้างขึ้นจาก AI ดึงดูดสายตาและนิ้วโป้งสีฟ้า หัวใจสีแดง จากผู้ชมได้ดีกว่า โดยเฉพาะภาพที่สร้างด้วย AI แล้วนำมาเขียนห้อยท้ายว่า เป็นภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลจากสถาบันใดสถาบันหนึ่งซึ่งก่อตั้งมานานนับร้อยปี
“AI ไม่ได้ทำให้คนตกงาน แต่คนที่ไม่เรียนรู้จัก AI จะตกงาน” เป็นคำยอดฮิตที่ปรากฏเต็มหน้าฟีดในทุกวันนี้
โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคนที่จะเชื่อหรือทำอะไรก็ได้ โดยใช้เครื่องมืออะไรได้ ไม่ว่าจะเอาพู่กันจิ้มซอสหรือกรีดเลือดออกมาวาดภาพแทนสี จะใช้กล้องฟิล์มกระจก กล้องดิจิทัลรุ่นใหม่ล่าสุด หรือว่าโทรศัพท์มือถือ ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดในการปิดกั้นจินตนาการ
แต่เมื่อสุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างลงมาเหมาเข่งกันอยู่ในระบบอัลกอริทึมที่วัดผลจากยอดไลก์ ยอดแชร์ ผลมันก็ออกมาอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
หลาย ๆ คนบอกว่าต้องปรับตัว ต้องรู้จัก AI จึงจะอยู่รอดในโลกที่วัดทุกสิ่งทุกอย่างและขับเคลื่อนด้วยความนิยมจากยอดไลก์ ยอดแชร์ และอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย ซึ่งเข้ามาแทนที่สื่อในโลกเก่าอย่าง หนังสือ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านในการแย่งชิงพื้นที่สื่อจากใครก็ได้ ทำทุกทางเพื่อจะเรียกร้องความสนใจและอัลกอริทึมให้มาตกอยู่ในมือ แม้ว่าจะต้องโกหก ขโมย หรือทำอะไรก็ได้แม้ว่าผิดศีลธรรม เพื่อยอด Engagement สิ่งเดียวที่เป็นสุดยอดปรารถนา เหมือนกับวงแหวนของกอลลัมในภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Rings
สิ่งนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ทำให้ผมหวนกลับมานึกถึงการบันทึกภาพด้วยฟิล์มและกล้อง Large Format เหมือนกับคนในศตวรรษที่แล้วขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ผมเป็นช่างภาพมาทั้งชีวิต ผมเชื่อว่าการได้ออกเดินทางไปเห็นโลก ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ มีโอกาสบันทึกภาพและความทรงจำเพื่อนำกลับมาบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ นั้น เป็นงานที่มีคุณค่าและทำให้ผมเห็นถึงคุณค่าของชีวิต แม้งานที่ผ่านมานั้นจะไม่ได้ทำให้ผมมีฐานะร่ำรวยหรือมีชื่อเสียงระดับโลกขนาดเดินไปไหนใครก็รู้จักก็ตาม
เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมตามหา และไม่ใช่คุณค่าในชีวิตของผม
ทุกวันนี้เรามีภาพและเรื่องราวมากมายเกินไปบนโลกใบนี้ และเราก็ใช้มันอย่างฟุ่มเฟือย ทิ้งขว้าง จนแทบจะมองไม่เห็นคุณค่าของมัน
เมื่อนึกย้อนไปเมื่อต้นศตวรรษก่อน บางคนอาจมีภาพถ่ายเพียงไม่กี่ใบในชีวิต ภาพแต่ละภาพจึงมีคุณค่าและมีความหมาย ในขณะที่ทุกวันนี้เรามีภาพถ่ายมากมายในโทรศัพท์มือถือและฮาร์ดดิสก์ที่กองอยู่เต็มบ้าน แต่ไม่เคยได้เปิดออกมาดู เรามีภาพถ่ายใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ด้วยความเร็ว 30 เฟรมต่อวินาที จนอาจมองไม่เห็นคุณค่าของชัตเตอร์แต่ละครั้งที่กดลงไป
ผมออกเดินทางไปน้ำตกเขาสอยดาวกับเพื่อน เพื่อไปตั้งแคมป์และถ่ายภาพกัน 2 วัน 2 คืน
ผมเตรียมฟิล์มไป 6 ใบ เพื่อนของผมเตรียมฟิล์มไป 10 ใบ
บางครั้งการที่เราจะทำความเข้าใจกับอะไรบางอย่างให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น อาจจะต้องเดินทางย้อนกลับไปทบทวนบางอย่างตั้งแต่จุดเริ่มต้น
ผมเองก็ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเข้าใจอะไรมากมายนัก แต่ผมบอกได้แค่ว่า ผมไม่เคยรู้สึกสนุกกับการถ่ายภาพแบบนี้มานานมากแล้ว
เมื่อมีเวลาและโอกาสที่จะได้นั่งทบทวนความคิดของก่อนจะกดชัตเตอร์ในแต่ละครั้ง หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาที่นั่งคุยกันกับเพื่อนหน้าเต็นท์รอบกองไฟในยามค่ำคืนที่เงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติ
เราเรียกมันว่า ชีวิตที่ดี…

ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาริมสายน้ำที่แผ่รากออกไปยึดเกาะตลิ่งไว้ไม่ให้เลือนหายไปกับกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก ภาพชุดแรก ๆ จากฟิล์มในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาของผมที่บันทึกจากฟิล์มขาวดำ ขนาด 4 x 5 นิ้ว ขอบฟิล์มที่เอียงเนื่องมาจากตอนใส่ฟิล์มไม่ดีหรือว่าแสงที่รั่วมาจากขอบเล็กน้อย ภาพที่ดูธรรมดา แต่กลับเต็มไปด้วยความทรงจำ

ใครหลายคนอาจจะมีนิยามของคำว่า ‘ชีวิตที่ดี’ ที่แตกต่างกันไป ผมบันทึกภาพของ พี่งบ-ธัชรวี หาริกุล เพื่อนรุ่นพี่ของผมกับกล้อง Large Format และรากพูพอนของต้นไม้ใหญ่กลางป่านี้ไว้ ด้วยกล้อง Large Format อีกตัวที่เขายกให้ผมเมื่อ 2 วันก่อน ด้วยคำพูดง่าย ๆ ว่า “พี่มีอยู่หลายตัว แบ่งเอาไปเล่น จะได้ออกไปถ่ายรูปด้วยกัน” เมื่อรู้ว่าผมเริ่มสนใจในกล้องฟิล์มอีกครั้ง การได้ออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้ง ใช้เวลาในธรรมชาติ ในขณะที่ร่างกายของเรายังคงเดินทางไปไหนมาไหนได้ กับเพื่อนในวัยเกินครึ่งศตวรรษกันแล้ว ที่คบหากันมานานเกือบ 20 ปี สำหรับผมถือว่าเป็นพรอย่างหนึ่งของชีวิตมากไปกว่านิ้วโป้งสีฟ้าหรือหัวใจสีแดงในโลกโซเชียล

เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ฟิล์มสไลด์ คืออุปกรณ์หลักในการทำงานของผมในการบันทึกภาพ ไม่ว่าจะในซุ้มบังไพรในป่า ริมหนองน้ำ หรือว่าบนท้องฟ้าในขณะที่อยู่บนเครื่องบินเพื่อถ่ายภาพทางอากาศ แม้กระทั่งในการบันทึกภาพใต้น้ำที่เป็นงานหลักของผม ในการบันทึกภาพต่อเนื่อง บางทีจังหวะที่ดี ๆ เราก็จะกดชัตเตอร์ต่อเนื่องกันอย่างมากก็แค่ 3 – 4 เฟรมเพียงเท่านั้น เพราะข้อจำกัดของฟิล์มที่เราเปลี่ยนฟิล์มใต้น้ำไม่ได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น กว่าที่เราจะเห็นภาพก็ต้องเดินทางกลับมาถึงบ้านแล้วส่งฟิล์มไปล้างก่อน

ภาพฉลามวาฬ ภาพแรกในชีวิตของผม บันทึกมาจากในบริเวณกองหินริเชลิว จังหวัดพังงา ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2538 สังเกตได้จากอุปกรณ์ Housing กันน้ำของกล้องวิดีโอ Hi8 ในมือของ Susan Foreman ช่างภาพบนเรือ M.V. Fantasea ที่ถืออยู่ในมือ ภาพนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท. เมื่อ พ.ศ. 2538

ในช่วงที่ก่อนที่กล้องดิจิทัลจะเข้ามา ผมเคยใช้กล้อง Mamiya RZ ซึ่งเป็นกล้อง Medium Format ขนาด 6 x 7 ที่ใช้ฟิล์มขนาด 120 ที่ถ่ายได้เพียง 10 ภาพมาใช้งาน ซึ่งแม้จะให้ฟิล์มขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดและความคมชัดดีกว่ากล้อง 35 มม. มาก แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่โตและหนักของ Housing กับข้อจำกัดของฟิล์มที่ถ่ายได้เพียง 10 ภาพ ในแต่ละไดฟ์ ทำให้กว่าที่เราจะกดชัตเตอร์แต่ละช็อตต้องคิดแล้วคิดอีก ภาพนี้ผมใช้ตีพิมพ์บ่อยมาก และทุกครั้งก็จะมีร่องรอยการขูดเขียนไว้บนขอบฟิล์มเวลาที่จะประกอบฟิล์มเข้าไปในขั้นตอนการแยกสี