เราเคยพยายามทดลองการใช้ชีวิตแบบ Zero-waste เป็นเวลา 1 วัน ถึงแม้จะเป็นระยะสั้นๆ แต่เราก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

เพราะนอกจากจะต้องกินชาไข่มุกโดยใช้ช้อนสแตนเลสแล้ว เรายังต้องข่มใจห้ามซื้อขนมกรุบกรอบ ลูกอม น้ำอัดลมที่มาในรูปแบบขวดพลาสติก และผลิตภัณฑ์อีกหลายๆ อย่างที่ล้วนขายอยู่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบ Single-use ด้วย ซึ่งสำหรับคนเมืองอย่างเรา บางครั้งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้ชีวิตอย่างมหาศาล

เมื่อการผลิตขยะพลาสติกอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ “เราจะมีชีวิตปลอดขยะได้อย่างไร” แต่เป็น “เราจะจัดการกับขยะพลาสติกแบบ Single-use อย่างไรถึงจะดีต่อโลกใบนี้ที่สุด” มากกว่า

Precious Plastic, ขยะพลาสติก

เราจึงขอมาพูดคุยกับ โดมินิก-ภูวสวัสดิ์ จักรพงศ์ นักสิ่งแวดล้อมลูกครึ่งไทย-อังกฤษ และไดเรกเตอร์ของ Precious Plastic Bangkok โครงการรีไซเคิลพลาสติกที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึงที่มาของโปรเจกต์เปลี่ยนชีวิตของขยะพลาสติกซึ่งใครๆ ก็มองว่าไร้ค่าออกมาเป็นโปรดักต์สุดเก๋ ผ่านกระบวนเวิร์กช็อปในโรงเรียนและชุมชนที่ช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดของคนท้องที่เกี่ยวกับขยะพลาสติกไปทีละเล็กทีละน้อย

เนื่องจากสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก โดมินิกตัดสินใจศึกษาเกี่ยวกับ Environmental Policies ในระดับมหาวิทยาลัยที่สหราชอาณาจักร ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบโลก รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาทั้งในระดับนโยบายภาครัฐ หน่วยงานสังคม และหน่วยงานระหว่างประเทศ

Precious Plastic, ขยะพลาสติก

จนเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เขาย้ายกลับมายังประเทศไทยเพื่อทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเริ่มเล็งเห็นปัญหาขยะพลาสติกที่รุนแรงในประเทศเรา “แทบจะทุกๆ ที่ที่คุณไป ไม่ว่าจะไปช้อปปิ้ง หรือไปทานอาหาร มันมีแต่พลาสติกเต็มไปหมด เราหลีกเลี่ยงมันไม่ได้เลย มันทำให้ผมรู้สึกแย่ เพราะผมเองก็ผูกพันกับประเทศไทยมาก การต้องมาเห็นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นี่ถูกทำลายด้วยมลพิษทางพลาสติกมันน่าเศร้า จนผมรู้สึกว่าตัวเองต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง” โดมินิกพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง

เขาเริ่มจากการจัดการขยะในบ้านตัวเอง รวมถึงย่านที่เขาอยู่อย่างท่าเตียนและวัดพระแก้ว แต่อีกด้านเขาก็คิดว่าการทำเพียงเท่านี้ไม่อาจสร้างผลกระทบต่อคนหมู่มากได้ เมื่อได้รับโอกาสให้เป็นประธานของ Precious Plastic Bangkok เขาจึงรีบตอบรับทันที

Precious Plastic, ขยะพลาสติก

What is Precious Plastic?

สำหรับใครที่สงสัย เราขอเล่าให้ฟังก่อนว่า Precious Plastic คือโปรเจกต์เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในระดับนานาชาติ เริ่มต้นขึ้นจากหนุ่มดัตช์คนหนึ่งชื่อ Dave Hakkens เมื่อปี 2013 โดยคอนเซปต์หลักๆ คือ เดฟได้ออกแบบเครื่องรีไซเคิลพลาสติก แล้วนำแบบนั้นอัพโหลดลงบนอินเทอร์เน็ตทั้งในรูปแบบ Blueprints และ Technical Drawing เพื่อให้ใครก็ได้มาดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีๆ โดยมีวิดีโอที่อธิบายขั้นตอนการสร้างเครื่องรีไซเคิลนี้อย่างละเอียด

เดฟเชื่อว่า ใครๆ ก็สามารถรีไซเคิลพลาสติกของตัวเองและชุมชนของตัวเองได้ง่ายๆ ต่อให้เป็นชุมชนที่อาจจะไม่มีเงินมากก็สามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของตัวเองได้หลังบ้านตัวเอง โดยไม่ต้องเอาไปชั่งกิโลขายให้กับพ่อค้าคนกลางเพื่อนำไปรีไซเคิลอีกที แถมชุมชนยังสามารถรีไซเคิลขยะเหล่านั้นออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เอาไปขายเพื่อสร้างรายได้กลับมาที่ชุมชนอีกด้วย

สำหรับกลุ่ม Precious Plastic Bangkok นั้นจัดตั้งขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยในขณะนี้มีสมาชิกราว 5 – 10 คน ซึ่งเป็นอาสาสมัครทั้งหมด พวกเขาต่อยอดไอเดียของเดฟ โดยการนำโมเดลนี้มาใช้ในกรุงเทพฯ พวกเขาจะเริ่มนำเครื่องรีไซเคิลไปติดตั้งที่แรกในชุมชนบึงพระรามเก้า ทั้งยังร่วมมือกับองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่าง Trash Hero เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านปัญหาพลาสติกในวงกว้าง

Precious Plastic, ขยะพลาสติก Precious Plastic, ขยะพลาสติก

Precious Plastic, ขยะพลาสติก

           

กฎข้อแรกก็คือห้ามทิ้ง

“เมื่อก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทย กระบวนการรีไซเคิลพลาสติกมันซับซ้อนและยุ่งยากมาก ต้องมีคนที่เดินหรือปั่นจักรยานไปเก็บขวดพลาสติก ซึ่งเขาก็ไม่ได้เอาไปรีไซเคิลเอง แต่ต้องเอาไปขายให้พ่อค้าคนกลาง แล้วพ่อค้าคนกลางก็เอาไปขายให้บริษัทอื่นที่ทำเรื่องรีไซเคิลโดยเฉพาะอีกที

Precious Plastic, ขยะพลาสติก

Precious Plastic, ขยะพลาสติก

“แต่ Precious Plastic พยายามทำให้คุณลุงคนนั้นหมุนรถกลับไปที่ชุมชนตัวเองที่มีเครื่องรีไซเคิลพลาสติกอยู่พร้อม แล้วขายขวดให้ชุมชน ซึ่งมันจะได้รับการรีไซเคิลได้เลยในชุมชน โดยเปลี่ยนแปลงให้มันเป็นของที่มีประโยชน์ หรือขายได้ราคา แล้วก็นำกำไรกลับมาที่ชุมชน นั่นแหละคือเป้าหมายของเรา”

สิ่งสำคัญที่กลุ่ม Precious Plastic เน้นคือ คนในชุมชนต้องเปลี่ยนมุมมองว่าพลาสติกไม่ใช่ขยะที่ใช้แล้วต้องโยนทิ้ง แต่มันมีคุณค่ามากพอที่จะมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ได้

“มันฟังดูน่าเหลือเชื่อนะที่คุณจะออกไปเก็บขยะเหลือใช้ที่ถนนหน้าบ้าน แล้วก็เอาไปใส่เครื่องรีไซเคิล จากนั้นมันก็แปลงโฉมออกมาเป็นที่รองแก้วสีสันสดใสที่ขายได้ในราคาประมาณ 150 บาท” เขาหยิบที่รองแก้วรูปหกเหลี่ยมสีฟ้า-ขาวมาให้เราดู ซึ่งหากมองแค่รูปลักษณ์เราคงไม่รู้ว่าที่รองแก้วชิ้นนี้ทำมาจากฝาขวดพลาสติก เพราะนอกจากจะมีมีความคงทน ใช้งานง่ายแล้ว ยังมีลวดลายละเอียดลออที่ดูราวกับเป็นงานศิลปะอีกด้วย

Precious Plastic, ขยะพลาสติก

สวยงามตามท้องเครื่อง

แน่นอนว่าในกระบวนการรีไซเคิล จะต้องมีพระเอกตัวเก่งอย่างเครื่องรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพและใช้งานง่าย ซึ่งในขณะนี้ Precious Plastic Bangkok ได้มีไว้ครอบครองอยู่ 2 เครื่องด้วยกัน 

Precious Plastic, ขยะพลาสติก

หนึ่ง เครื่องบด ซึ่งเป็นสเต็ปแรกในกระบวนการรีไซเคิล โดยผู้ใช้จะต้องใส่ฝาขวดพลาสติกลงไป แล้วเครื่องจะบดฝาขวดเหล่านี้ออกมาเป็นเกล็ดเล็กๆ ในขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร

จากนั้นก็นำเกล็ดพลาสติกไปใส่เครื่องที่ 2 ซึ่งเป็นเครื่องอัดรีดพลาสติก หรือ Extrusion Machine ทำหน้าที่ละลายพลาสติกออกมาเป็นของเหลวในลักษณะเส้น หน้าตาคล้ายกับเส้นสปาเกตตี โดยเส้นสปาเกตตีพลาสติกนี้ก็จะสามารถนำไปใส่ในแม่พิมพ์ เพื่อขึ้นรูปออกมาเป็นสิ่งของได้ เช่น ที่รองแก้ว แก้วน้ำ กล่องใส่ปากกา หรือกระถางต้นไม้

“สิ่งที่เราทำเป็นประจำคือบดพลาสติก เพราะมันสามารถเพิ่มที่เก็บได้เยอะ สมมติว่าคุณมีขวดพลาสติกอยู่ 1 ตัน มันอาจจะกินเนื้อที่รถกระบะทั้งคัน แต่เมื่อคุณบดมัน มันก็จะกินเนื้อที่น้อยกว่านั้นถึง 10 เท่า

“ขณะนี้พวกเรากำลังทดลองว่าเครื่องอัดรีดพลาสติกจะสามารถสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้างที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน และอาจจะเอามาใช้ในงาน 3D Printing ด้วย”

Precious Plastic x Trash Hero

Precious Plastic, ขยะพลาสติก

นอกจากกิจกรรมเวิร์กช็อปในชุมชน ที่ Precious Plastic ตั้งใจจะให้มีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว พวกเขายังร่วมมือกับ Trash Hero กลุ่มอาสาสมัครเก็บขยะตามพื้นที่ต่างๆ ในการสร้างความตระหนักด้านปัญหาขยะให้กับคนทั่วไปด้วย โดยกิจกรรมล่าสุดเพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมาที่ชุมชมบึงพระรามเก้า

“ผมคิดว่า Precious Plastic และ Trash Hero เป็นการร่วมมือกันที่เพอร์เฟกต์มาก เพราะเราเติมเต็มกันและกันได้ดี Trash Hero เขาก็จะออกไปเก็บขยะมา แล้วก็สามารถย้ายมาที่เบสของเรา เพื่อแยกประเภท ทำความสะอาด และรีไซเคิล ทั้งยังคืนกำไรให้ชุมชนนั้นๆ ที่เราไปเก็บขยะมาด้วย”

Precious Plastic, ขยะพลาสติก Precious Plastic, ขยะพลาสติก

ในอีเวนต์ที่ผ่านมา โดมินิกได้เรียนรู้ว่าขยะที่เก็บมาส่วนใหญ่นั้นสกปรกมากและไม่สามารถเอามารีไซเคิลได้ทันทีอย่างที่คิดไว้ เพราะเป็นขยะที่มาจากคลอง ปนเปื้อนไปด้วยขยะอินทรีย์ต่างๆ อีกหลายชั้น จนแทบจะดูไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร “สิ่งนี้ก็ทำให้เราต้องคิดเหมือนกันว่าหลังจากนี้เราควรไปเก็บขยะที่ไหนดี เพราะเราไม่ได้มีทีมที่ใหญ่ถึงขนาดสามารถมานั่งแยกขยะและทำความสะอาดขยะได้ทั้งวัน

“ครั้งนั้นเราเก็บขยะมาได้ประมาณ 600 กิโลกรัม และประมาณครึ่งหนึ่งสามารถเอามารีไซเคิลได้ โดยเก็บหลอดพลาสติกมาได้ทั้งหมด 1,500 หลอด และขวดพลาสติกมากกว่า 900 ขวด ซึ่งถือเป็นจำนวนมากสำหรับคลองๆ หนึ่ง ถ้าเราปล่อยไว้ ขยะเหล่านี้มันก็ไม่ได้ไปไหน มีแต่เน่าอยู่ในคลอง หรือถ้าฝนตกหนักมันก็อาจจะไหลลงเจ้าพระยา แล้วก็ไปจบที่อ่าวไทย และอาจคร่าชีวิตสัตว์ทะเลในที่สุด”

Life in Plastic, It’s Fantastic

ความคาดหวังของ Precious Plastic คือการช่วยเปลี่ยนมุมมองพลาสติกในสายตาของคนทั่วไปได้ โดยไม่ได้มองว่ามันเป็นขยะ แต่เป็นทรัพยากรที่มีค่า สามารถสร้างรายได้ต่อได้

“เราอยากให้คนเห็นว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะยังไงมันก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว เราเห็นพลาสติกอยู่ทุกที่ ซึ่งจริงๆ แล้วพลาสติกเป็นวัสดุที่มีประโยชน์มาก เป็นแพ็กเกจจิ้งที่สะอาดและคงทน และด้วยความที่มันอายุการใช้งานนาน ก็หมายความว่าสามารถเอามารีไซเคิลได้เช่นกัน

“เราขอไม่บอกนะว่าพลาสติกคือศัตรู คือวายร้าย เพราะจริงๆ แล้วพลาสติกมันมีคุณค่า มีประโยชน์ เกินกว่าที่เราจะทิ้งมันลงแม่น้ำ เราควรที่จะเก็บและสะสมมันต่างหาก ก็เลยเรียกมันว่า Precious Plastic ไง (ยิ้ม)”

Precious Plastic, ขยะพลาสติก Precious Plastic, ขยะพลาสติก

ถึงจุดนี้ เราจึงอดถามไม่ได้ว่า ทำไมคนรักสิ่งแวดล้อมอย่างเขาถึงดูรักพลาสติกเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่นักอนุรักษ์คนอื่นๆ จะพยายามหลีกเลี่ยง หรือถึงขั้นเกลียดมันด้วยซ้ำ

“ผมคิดว่า สิ่งที่ผมทำสุดท้ายแล้วมันก็ส่งผลไปถึงการลดขยะพลาสติกนี่แหละ แค่เรามองกันคนละมุม ผมอยากให้พลาสติกที่เกิดจากชุมชนนั้นได้รับการรีไซเคิลอยู่ในชุมชน โดยไม่ต้องไปสร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อมในทางอื่น เพราะฉะนั้น แก่นของเรามันไม่ใช่การซื้อพลาสติกเพิ่ม แต่มันคือการให้คนได้คิดถึงวิธีการอื่นๆ ในการเอาพลาสติกไปใช้ ซึ่งสุดท้ายมันก็ทำให้เราได้ลดการใช้พลาสติก นำมาใช้ซ้ำ และรีไซเคิล

“จุดประสงค์สูงสุดของ Precious Plastic คือการที่โลกนี้ไม่มีพลาสติกให้เรารีไซเคิลอีกแล้ว เช่นเดียวกับจุดหมายขององค์กรเราคือการที่ไม่ต้องมีองค์กรเราอยู่อีกต่อไป ถ้าเราสามารถทำให้คนทุกคนคำนึงถึงคุณค่าของพลาสติกได้ ก็เหมือนเราจบงานได้แล้ว ซึ่งยังเป็นหนทางอีกไกล”

Precious Plastic, ขยะพลาสติก Precious Plastic, ขยะพลาสติก

           

Make a Change

สุดท้ายนี้ โดมินิกยังฝากข้อคิดสำคัญไว้ให้เราว่า “ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยถือเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะจินตนาการ ประเทศเราติดท็อป 6 ของประเทศที่สร้างขยะมากที่สุดในโลก มันไม่ใช่แค่เรื่องขององค์กรใหญ่ หรือภาครัฐที่ต้องแก้ไขเท่านั้น แต่ประชาชนตัวเล็กๆ ก็ต้องช่วยกันด้วย

“รัฐบาลเองก็ต้องเริ่มแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะในประเทศอื่นเราเห็นมามากมายว่านโยบายของรัฐช่วยให้คนในประเทศลดการใช้พลาสติกได้จริงๆ เช่น ในสหราชอาณาจักรที่รัฐบาลเก็บค่าถุงพลาสติกตามห้างร้านต่างๆ และเมื่อผ่านไปแค่ 2 – 3 ปี ตัวเลขการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 86% แค่เพิ่มเงินค่าถุงประมาณไม่กี่บาท

“ไม่ใช่แค่ประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศยากจนอย่างเคนยา หรือประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาเลเซีย เขาก็มีมาตรการลดการใช้พลาสติกแบบ Single-use เช่นกัน แล้วทำไมประเทศไทยจะทำแบบนั้นไม่ได้ล่ะ”

นอกจากนี้ โดมินิกยังเสริมว่า แม้จะไม่ใช่ภาครัฐหรือบริษัทใหญ่โต แต่คนตัวเล็กก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ “ทุกๆ ครั้งที่คุณปฏิเสธการรับถุงพลาสติก มันก็เท่ากับคุณช่วยลดขยะที่จะไปอยู่ในมหาสมุทร แม่น้ำ หรือคลองแล้ว เพราะฉะนั้น ผมคงอยากบอกว่ามันเป็นภารกิจของคนทุกคนที่จะต้องแก้ปัญหานี้ คุณตั้งมันเป็น New Year’s Resolution ก็ได้ ว่าทุกๆ ครั้งที่ไปเที่ยวชายหาดหรือเดินเล่นที่ต่างจังหวัด แค่เก็บเศษขยะที่คุณเห็นไปทิ้ง ไม่ต้องเก็บหมดก็ได้ แค่นิดๆ หน่อยๆ แค่นั้นมันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว”

Precious Plastic, ขยะพลาสติก

ภาพ:  Warawat Bibb Sabhavasu และ Noppol Maiypuang

ติดตามข่าวสารและสมัครเป็นอาสาสมัครของ Precious Plastic ได้ที่ Facebook : Precious Plastic Bangkok

Writer

Avatar

พัทธมน วงษ์รัตนะ

อดีตนักศึกษาเอกภาษาเยอรมันผู้ชอบตีเนียนเป็นคนโลคอลเวลาไปเที่ยว สนใจเรื่องวัฒนธรรม และสนุกกับความคิดค้างๆ คาๆ เวลาได้ดูหนังจบปลายเปิด