วันฟ้าครึ้ม ฝนปรอย กับการเดินลัดเลาะเข้าซอยเพื่อไปยังคลังหนังสือโบราณ

เราจินตนาการถึงความชื้นที่อาจทำให้หนังสือเก่ากรอบ ฉีกขาด บวมน้ำ หรือเสียหาย

แต่หลังจากที่เจ้าของบ้านอย่าง คุณประยงค์ อนันทวงศ์ หรือ ลุงยงค์ นำทางเราเข้ามานั่งบนเก้าอี้ที่ตั้งอยู่ในสวนหย่อมหน้าบ้าน ฝนปรอยที่ว่าก็หยุดตก และเจ้าของบ้านก็นำหนังสือเก่าโบราณสภาพดีออกมาให้เราชมเป็นบุญตา โดยส่วนมากเป็นหนังสืองานศพ

ลุงยงค์ได้รับฉายาจากคนในวงการนักสะสมหนังสือว่าเป็น เจ้าพ่อหนังสืองานศพ ซึ่งหนังสือประเภทนี้จะถูกพิมพ์แจกให้กับผู้มาร่วมงานศพเพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์

ไม่แปลกหากคุณกำลังสงสัยว่า หนังสืองานศพมีประโยชน์อย่างไร และทำไมต้องเก็บจนถึงขั้นได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าพ่อ เราเองก็สงสัยเช่นกัน แต่ก่อนจะไปถึงคำถามนั้น เราเริ่มอุ่นเครื่องบทสนทนาด้วยการถามว่า นอกจากหนังสืองานศพ ลุงยงค์เก็บหนังสืออะไรบ้าง

เขาหัวเราะแล้วบอกว่า “เก็บทุกอย่าง ตั้งแต่หนังสือเซ็กส์จนถึงหนังสือธรรมะ”

“หนังสือเก่าพวกนี้หาไม่ได้แล้ว คนที่มาซื้อไปหลายคน เขาซื้อความรู้ที่หาไม่ได้ในปัจจุบัน เพราะไม่มีการตีพิมพ์อีก โดยเฉพาะความรู้ที่บางครั้งมีอยู่แค่ในหนังสืองานศพเท่านั้น เช่น สูตรอาหารโบราณ คนที่เสียชีวิตอาจเป็นเจ้าของสูตร หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารในยุคก่อน พอเสียชีวิตจึงนำองค์ความรู้ของเขามาพิมพ์ในหนังสืองานศพ ดังนั้นความรู้นี้จึงมีแค่ในหนังสืองานศพ เสียดายว่าหนังสือของผมกระจายอยู่หลายที่ ที่ร้านด้วย ที่บ้านด้วย รวม ๆ ก็ 10,000 – 20,000 เล่ม”

เราเองก็เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ชม (หนึ่งในประเภทที่ไม่ได้ชมคือหนังสือเซ็กส์) แต่ถึงอย่างนั้น หนังสือหลายสิบเล่มที่ลุงยงค์คัดสรรมาให้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการสะสมหนังสือมากว่า 60 ปี แถมยังมีประวัติโชกโชนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่าที่เราคิด

'ประยงค์ อนันทวงศ์' เจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมตั้งแต่หนังสือเซ็กส์จนถึงหนังสือธรรมะ

01
จากเด็กในสวนถึงร้านกาแฟ ร้านตัดผม และธรรมศาสตร์

“ผมเริ่มสะสมหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่บพิตรพิมุข แต่เดิมผมยากจนมาก อยู่ในสวนแห่งนี้แบบอาศัยเขาอยู่ ไม่มีบ้านของตัวเอง ผมเข้าเรียน ป.1 ก็อายุสิบกว่าขวบแล้ว เรียนถึง ป.4 ครูประจำชั้นเห็นว่าผมเรียนใช้ได้จึงไปบอกพ่อให้ผมเรียนมัธยมต่อ พ่อไม่มีเงินแต่เกรงใจครู เพราะเราเช่าที่ของครูอยู่ สุดท้ายผมได้เรียน แต่มีค่าติวก่อนเข้า พ่อไม่มีเงินจ่าย เลยหอบมะพร้าวแห้งแบกไปให้ครูเป็นค่าเรียน”

เจ้าของบ้านเล่าพลางมองไปรอบบริเวณที่แต่ก่อนเคยเป็นสวน หลังเลิกเรียน เด็กชายประยงค์มักจะวิ่งไปยังร้านกาแฟ หรือร้านตัดผมเป็นประจำ เพราะที่นั่นมีหนังสือพิมพ์ให้เขาอ่าน

'ประยงค์ อนันทวงศ์' เจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมตั้งแต่หนังสือเซ็กส์จนถึงหนังสือธรรมะ

ความตั้งใจในการเรียนและการอ่านทำให้เขาสอบเข้าได้ที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่บพิตรพิมุข จักรวรรดิ) โดยเลือกแผนกภาษาต่างประเทศ ภาษาฝรั่งเศส แต่ก่อนหน้านั้น อาจารย์ใหญ่เล็งเห็นว่า เด็กคนนี้หัวดีแต่ยากจนจึงมอบทุนเรียนครูให้

“แต่ทุนนั้นผมยกให้เพื่อนแทน ตอนนั้นผมสอบติดบพิตรพิมุขแล้ว แต่เพื่อนยังไม่ติด ผมก็เลยยกให้เขา อาจารย์ใหญ่แกสะบัดหน้าใส่ เพราะแกไม่พอใจ แกหวังดี แต่อย่างน้อยเพื่อนผมที่ได้ทุน เขาก็ได้เป็นถึงรองผู้อำนวยการเลยนะ” ลุงยงค์ยิ้มเมื่อการเสียสละของเขาทำให้เกิดแม่พิมพ์ของชาติอีกคน เพราะสำหรับคนที่รักในความรู้ การสนับสนุนให้เกิดการส่งต่อความรู้คงจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

เจ้าของวีรกรรมเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนที่เลือกจนถึงปี 2 จากนั้นจึงไปสมัครสอบ ม.8 แม้จะเผชิญหน้ากับความขัดสนจนไม่มีเงินจ่ายค่าสอบ 50 บาท แต่แม่ของเขาก็ไปหยิบยืมเงินมาให้จนได้

“ผมไปสอบที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งน่าจะเป็นปีแรกที่เปิด รีบไปแต่เช้า แต่ดันเจอคนรู้จักบอกว่าเขาไม่ได้สอบที่นี่! ธรรมศาสตร์สอบที่อำนวยศิลป์ พระนคร สุดท้ายผมก็ไปถึงและสอบติดคณะวารสารศาสตร์ได้ที่ 17”

ราวกับเป็นโชคชะตาของนักสะสมหนังสือที่ถูกกำหนดมาแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ทำให้ลุงยงค์ได้เข้าถึงแหล่งหนังสือจำนวนมหาศาลที่สนามหลวง เขาแวะเวียนไปอุดหนุนพ่อค้าแม่ขายตลอดจนรู้จักทุกร้าน เดินตั้งแต่ยังขายแบบแบกะดิน จนทาง กทม. สร้างซุ้มให้ตั้งแผงขายบริเวณอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม และย้ายไปยังจตุจักรในเวลาต่อมา

02
สนามหนังสือ

'ประยงค์ อนันทวงศ์' เจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมตั้งแต่หนังสือเซ็กส์จนถึงหนังสือธรรมะ

“ผมซื้อทุกครั้งเต็มสองมือหลายสิบเล่ม แบกขึ้นรถเมล์ กระเป๋ามาช่วยก็บอกว่าหนัก คนที่เดินซื้อหนังสือสมัยนั้นมีเยอะมาก ตั้งแต่รัฐมนตรี ผู้พิพากษา นักเขียน อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ก็มาเดิน นักเล่นหนังสืออย่าง จรัญ พิกุล, ไพโรจน์ สุวรรณเสถียร ก็มา ผมไปออกหนังสือที่ธรรมศาสตร์ด้วยนะ ได้รับเลือกเป็นบรรณาธิการหนังสือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมปฏิวัติจากขนาดที่เป็นแท็บลอยด์ เอาให้เท่าไทยรัฐ (บรอดชีท) ไปเลย” เจ้าบ้านเล่าอย่างเพลิดเพลิน 

นอกจากที่สนามหลวง ลุงยงค์ยังสะสมหนังสือจากแหล่งอื่นด้วย ทั้งอนุสาวรีย์หมู ริมคลองหลอด เฉลิมบุรี และเชิงสะพานพุทธ บางครั้งก็เดินทางไปถึงบ้านของคนเก็บหนังสือที่บางซื่อ ห้วยขวาง และดินแดง เรียกว่าเดินหาหนังสือทั้งวันทั้งคืน ไม่มีเบื่อ

“ผมได้เงินไปเรียนวันละ 20 บาท บางครั้งหนังสือเล่มไหนที่อยากได้แต่แพง ผมก็ผ่อนเอานะ เพราะชอบจนรู้จักเจ้าของร้านหมดเลย ผมไปเลือกหนังสือที่บ้านของบางคน เขาเอารถขนมาส่งถึงบ้านเราเลย”

เรามองเห็นแพสชันที่แรงแซงทุกสิ่งในตัวของคุณลุงวัย 84 ปีท่านนี้ หลังจากที่เขาเปิดหนังสือไปเล่าไปราวกับให้ตัวเองได้รื้อฟื้นความทรงจำ เราถามเขาอีกครั้งว่า ในวัยหนุ่มเขาเลือกซื้อหนังสือแบบไหนบ้าง ซึ่งคำตอบยังเหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน

“ซื้อทุกอย่าง สนใจทุกอย่าง เพราะผมชอบอ่านหนังสือ”

ช่วงชีวิตสำคัญต่อมาของลุงยงค์คือการเดินเข้าสู่วงการสิ่งพิมพ์ สถานที่ที่เขาได้ต่อยอดความรักและความชอบเป็นรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตและจุนเจือครอบครัว รวมถึงเป็นคลังความรู้และสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ

03
ช่อประยงค์

'ประยงค์ อนันทวงศ์' เจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมตั้งแต่หนังสือเซ็กส์จนถึงหนังสือธรรมะ

เด็กชายในบ้านสวนใฝ่ฝันอยากไปชมกำแพงเมืองจีนสักครั้ง ในที่สุดปักกิ่งก็ได้เป็นจุดหมายปลายทางของจริงเสียที ลุงยงค์ได้รับเลือกจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยให้เดินทางไปยังประเทศจีนเป็นเวลา 15 วัน หลังจากกลับมา เขาใช้ความสนใจที่มีมานานประกอบกับประสบการณ์ที่ได้ไปสัมผัสมาเขียนเป็นหนังสือ 

ก่อนหน้านั้นเขาก็ได้ออกหนังสือชื่อว่า แลหลังจีน เป็นหนังสือสารคดีเกี่ยวกับเทศกาลและประเพณีสำคัญของจีนที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มแรกในประเทศไทย ซึ่งเล่มนี้ได้รับรางวัลสารคดี พ.ศ. 2526 จากสัปดาห์หนังสือแห่งชาติด้วย

เมื่อชื่อเสียงจากนามปากกา ‘ช่อประยงค์’ และ ประยงค์ อนันทวงศ์ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บรรณาธิการนิตยสาร ดิฉัน ก็ได้เชิญเขาไปเขียนคอลัมน์ประจำชื่อ หล่นบนโต๊ะจีน จนออกมาเป็นหนังสือหลายเล่มในชื่อเดียวกัน เพื่อถ่ายทอดตำนาน นิยาย และความเชื่อเกี่ยวกับจีน

“ผมถามบรรณาธิการในงานเลี้ยงว่า ผมไม่รู้จักใครเลย ทำไมจึงเลือกผมมาเขียน เขาบอกว่าเขาไปอ่าน แลหลังจีน แล้วชอบ อ่านสนุก ได้ความรู้ เขาจึงเลือกผมมา หลังจากนั้นก็ได้ไปเป็นบรรณาธิการในหนังสือที่ออกร่วมกันกับเพื่อนคือ นิตยสารกินและเที่ยว ไปทานอาหารตามร้านและเก็บข้อมูลมาเขียน หนึ่งในคนที่ผมได้สัมภาษณ์คือเจ้าของตำแหน่งนางสาวไทยและนางงามจักรวาล อาภัสรา หงสกุล ครั้งแรกที่สัมภาษณ์คือตอนที่ทำงานอยู่นิตยสาร ชัยพฤกษ์

เราถามคุณลุงว่า เก็บนิตยสารกินและเที่ยวเฉพาะเล่มที่ตนเองเขียนไหม เขาตอบว่า “เก็บทุกเล่ม เพราะผมเป็นบรรณาธิการบริหาร”

'ประยงค์ อนันทวงศ์' เจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมตั้งแต่หนังสือเซ็กส์จนถึงหนังสือธรรมะ

ในฐานะนักเขียนและนักสะสม ผลงานที่เขาเคยมอบให้แก่สังคมหวนกลับมาให้รางวัลเขาอีกครั้งใน พ.ศ. 2562 กับการขึ้นเวทีรับรางวัลนราธิป ประจำ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักเขียนและบรรณาธิการอาวุโสที่มีอายุมากกว่า 80 ปี โดยต้องเป็นผู้ที่มีผลงานเป็นที่ยกย่องกว้างขวาง งานดังกล่าวจัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และลุงยงค์ก็ขึ้นรับรางวัลในปีเดียวกับ คุณชวน หลีกภัย

“ตอนไปรับรางวัลนราธิปฯ ก่อนที่จะประกาศคนที่ขึ้นไปรับรางวัล โฆษกเขาจะพูดผลงานก่อน เขาเห็นว่าผมมีหนังสือเกี่ยวกับอาหารการกินของจีนเยอะ เขาเลยบอกว่า ผมคงชอบทานอาหารจีน แต่จริง ๆ ผมไม่ได้ชอบขนาดนั้น (หัวเราะ) ตอนไปเมืองจีนเขาเอาอาหารแบบดั้งเดิมมาเลี้ยง มันก็ใช้ได้ แต่หลายมื้อผมก็เบื่อ”

นักเขียนอาวุโสเล่าติดตลก นอกจากหนังสือที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีเรื่องเกี่ยวกับจีนอีกมากทั้ง นิยายปลายตะเกียบ คัมภีร์การกินของจีน และ เทพเจ้าจีน แต่ลำพังความสามารถของเขาไม่ได้เอาไว้ถ่ายทอดเรื่องจีน ๆ อย่างเดียวนั้น เพราะลุงยงค์ยังเขียนตำราภาษาไทยอย่าง กลอนและวิธีเขียนกลอน นิทานสุภาษิตไทย และ นิทานพื้นบ้านไทย ด้วย

เพื่อให้เราตามทันชื่อหนังสือที่กล่าวไป เขาจึงหันไปคว้าหนังสือเล่มจริงมาให้ดู และนั่นก็เป็นเวลาอันเหมาะสมในการเปิดกรุปล่อยของให้เราชม

'ประยงค์ อนันทวงศ์' เจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมตั้งแต่หนังสือเซ็กส์จนถึงหนังสือธรรมะ
ลุงยงค์และคุณชวน หลีกภัย ผู้รับรางวัลนราธิป ประจำปี 2561 (ในกรอบรูป)
ถ้วยรางวัลประกวดหนังสือเก่า จัดโดย กองอำนวยการตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2) ลุงยงค์คว้ารางวัลชนะเลิศหนังสือเก่าประเภทสารคดี บันเทิงคดี และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ จำนวน 3 รางวัล

04
ปล่อยของ(สะสม)

หนังสือหลายสิบเล่มที่นักสะสมนำมาวางให้ดูมีลักษณะเหมือนกันคือ เก่า กรอบ มีร่องรอยของการเดินทางผ่านกาลเวลา และผ่านมือคนมาหลายยุคหลายรุ่น กระดาษบางเล่มกลายเป็นสีเหลืองนวล แต่บางเล่มกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเราไม่กล้าแม้แต่จะแง้ม พอทราบอายุเท่านั้นก็อยากนำกลับไปในคลังของลุงยงค์ทันที เพราะเล่มที่เราจับอายุเกิน 100 ปีไปแล้ว

“ผมเลือกจากเรื่องที่ชอบ นักเขียนที่ชอบ และหนังสือที่นักเล่นหนังสือนิยมกัน แบ่งคร่าว ๆ เป็นหนังสือที่อายุเกิน 100 ปีขึ้นไป หนังสือลายเซ็น และหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรกในปีที่นักสะสมเกิด อันหลังนี่แล้วแต่ว่าคนสะสมจะเล่นไหม แต่ที่ผมมีเยอะที่สุดคือหนังสืองานศพ”

01 หนังสืองานศพ

'ประยงค์ อนันทวงศ์' เจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมตั้งแต่หนังสือเซ็กส์จนถึงหนังสือธรรมะ

“มีอาจารย์ท่านหนึ่งมาจากปราจีนบุรี แกจะมาทุกอาทิตย์เพื่อซื้อหนังสือ ผมถามเขาว่า อาจารย์มาซื้อหนังสืออะไร แกซื้อหนังสืองานศพอย่างเดียว ผมถามว่าทำไม แกจึงบอกว่า หนึ่ง หนังสืองานศพทำให้เรารู้จักคนตาย รวมไปถึงครอบครัวของเขา สอง เราได้รู้ว่าคนตายมีผลงานอะไรบ้าง สาม หนังสืองานศพเสนอเรื่องทั้งที่ผู้ตายเขียนเอง รวมถึงเรื่องอื่น ๆ อย่างเรื่องที่ผู้ตายเขียนไว้ บางทีไปหาอ่านที่อื่นไม่ได้ เช่น หนังสือของคนทำบาตร การหล่อพระพุทธรูป ทั้งที่เป็นอาชีพและไม่เป็นอาชีพ แต่หาอ่านที่อื่นไม่ได้”

ลุงยงค์เก็บหนังสืองานศพมาตั้งแต่ก่อนพบกับอาจารย์ท่านนี้ โดยหนังสืองานศพเล่มแรกที่ลุงยงค์เก็บคือหนังสือบทสวดมนต์หลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานแจกไปทั่วประเทศ เป็นหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือ พระนางเรือล่ม อัครมเหสีผู้ทรงรักยิ่ง

“ผมเก็บตั้งแต่รุ่นที่เหล่าเจ้านายพิมพ์แจก ไม่ใช่เพราะยศฐาบรรดาศักดิ์อะไรนะ แค่ชอบที่ว่าเขาเอาเรื่องโบราณมาพิมพ์ โดยเฉพาะเรื่องวรรณคดีอย่าง ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี ก็พิมพ์ครบจบเลย นิราศนรินทร์ นิราศหริภุญชัย

เราได้ชมหนังสืองานศพอีกมากมาย ชนิดที่อ่านทั้งปีก็ไม่จบ ยกตัวอย่างอีกเล่มที่ลุงยงค์นำเสนออย่างตั้งใจคือ ตำราไม้ดัด-ก่อเขามอ การจัดทำสวนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระยาปริมาณสินสมรรถ ลงวันที่ 29 มีนาคม 2508

“ท่านนี้เขาสนใจและถนัดงานไม้ดัดไทย พอเขาเสีย ลูก ๆ จึงตกลงกันว่าจะนำองค์ความรู้ที่คุณพ่อมีและเคยเผยแพร่ไปแล้วตอนที่อายุครบ 60 ปี ใน พ.ศ. 2479 มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งในหนังสืองานศพ ผมดูแล้วมันสวยนะ ไม้ดัดแบบโบราณ มีภาพให้ด้วย เขียนอธิบายไว้เสร็จสรรพ ไม้เขน ไม้ป่าข้อม ไม้เอนชายมอ ไม้ตลกราก ปัจจุบันถ้าอยากเห็นแบบนี้เยอะ ๆ ต้องเข้าไปดูแถวพระที่นั่ง เดี๋ยวนี้ไม่ดัดกันแบบนี้แล้ว นี่คือที่เรียกกันว่า เขามอ (รูปแบบหนึ่งของการจัดสวนถาด)”

หากเป็นหนังสือที่มีเจ้านายหรือราชวงศ์พระราชทานจะมีชื่อของผู้มอบให้หรือสั่งพิมพ์อยู่บนปก พร้อมระบุโอกาสในการพิมพ์แจกและปีที่พิมพ์ เพื่อให้ผู้รับเก็บไว้เป็นที่ระลึก 

ส่วนหนังสืองานศพเล่มอื่น ๆ ที่เราเห็นผ่านตามีทั้ง ตำราเสี่ยงทาย พิมพ์แจกในการฌาปนกิจศพ นายไต้ เผ็ง จุณณานนท์ และนางพัน เหล่าวณิชย์ พ.ศ. 2468 ดอกสร้อยสุภาษิต งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฐะปะนีย์ นาครทรรพ คำให้การเรื่องทัพญวน งานพระราชทานเพลิงศพ นายพลตรี พระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) พ.ศ. 2476 ปาฐกถาเรื่องคติฝรั่งเข้ามาเมืองไทย งานพระราชทานเพลิงพระศพ หม่อมเจ้าไตรทิพย์เทพสุต เทวกุล พ.ศ. 2505 นารายน์สิบปางของคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ ต.จ งานฌาปนกิจศพคุณละม้าย เทพหัสดิน ณ อยุธยา พ.ศ. 2499 (ชื่อหนังสือสะกดตามหน้าปก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้จริงในสมัยก่อน)

02 หนังสือลายเซ็น

'ประยงค์ อนันทวงศ์' เจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมตั้งแต่หนังสือเซ็กส์จนถึงหนังสือธรรมะ

พอจะมีความคาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างหนังสืออายุเกิน 100 ปี และหนังสือลายเซ็นที่ลุงยงค์ชื่นชอบและหวงแหนมากที่สุดนั่นคือ พระราชนิพนธ์พระร่วงของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะมีลายพระหัตถ์และพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 6 รวมอยู่ด้วย

เจ้าของสมบัติหยิบหนังสืออายุกว่า 100 ปี ออกมาจากถุงผ้าสีขาว ซึ่งหนังสือสำคัญเล่มนี้มีพี่ชายแท้ ๆ เป็นคนมอบให้ เราบรรจงเปิดหนังสือไปด้านในจึงเห็นพระปรมาภิไธยเขียนไว้ใต้พระราชลัญจกรว่า ราม วชิราวุธ ด้านล่างเป็นตัวพิมพ์เขียนว่า ‘ฉบับพิเศษ มีจำนวน ๕๐๐ ฉบับ ฉบับนี้ที่ ๗๘ ผู้แต่งให้แก่ พระยาพิเชตพิเศษพิสัย’ โดยเลขฉบับและชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานจะเป็นลายพระหัตถ์ที่รัชกาลที่ 6 ทรงเติมเอง

ได้รู้ถึงความพิเศษแบบนี้แล้ว เรายิ่งอยากดูด้านในจึงค่อย ๆ เปิดกระดาษสีน้ำตาลที่มีรอยปรุประปรายไปทีละหน้า ตัวหนังสือยังอ่านได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือภาพประกอบ 4 สียังสมบูรณ์มากหากเทียบกับอายุ เรียกว่าเจ้าของหนังสือรักและดูแลอย่างดี

'ประยงค์ อนันทวงศ์' เจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมตั้งแต่หนังสือเซ็กส์จนถึงหนังสือธรรมะ

อีกสองเล่มที่ลุงยงค์แนะนำคือ หนังสือนิทรรศการศิลปกรรมของ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี และ วิวัฒนาการและศิลปะการจัดโต๊ะอาหาร เครื่องดื่ม และเมนูอาหาร โดย ขวัญแก้ว วัชโรทัย

“หนังสือของคุณชวน แกเป็นคนแปลกที่เซ็นข้างใน” เขาเอ่ยพลางเปิดหนังสือหาลายเซ็นที่เจ้าของเคยเซ็นให้ กว่าจะเจอก็ข้ามไปหลายหน้า “ภาพในเล่มแกวาดเองนะ ไปไหน เห็นใครก็จะวาด เขาเซ็นให้ผม แต่ไม่ได้เขียนว่ามอบให้ประยงค์”

ส่องคุณค่าของหนังสือโบราณผ่านเจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมอนุสรณ์ความรักและความรู้ที่หาไม่ได้อีกแล้ว

“ส่วนเล่ม วิวัฒนาการและศิลปะการจัดโต๊ะอาหาร เล่มนี้สมบูรณ์มาก มีทั้งเรื่องการจัดโต๊ะ วิธีพับผ้าเช็ดมือ การเสิร์ฟอาหารของแต่ละประเทศ การเตรียมเครื่องดื่ม เหล้า ไวน์ วิธีการกิน ลำดับขั้นตอน มีจนถึงความรู้พื้นฐานในครัวและเมนูอาหาร คิดดูสิว่าละเอียดขนาดไหน ตอนนั้นสมเด็จพระพี่นางฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสชมเชยด้วย อันนี้เขียนชัดเจนว่ามอบให้ประยงค์ อนันทวงศ์ ผมชอบเล่มนี้เพราะความรู้ครบถ้วนสมบูรณ์มาก”

ส่องคุณค่าของหนังสือโบราณผ่านเจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมอนุสรณ์ความรักและความรู้ที่หาไม่ได้อีกแล้ว

03 หนังสืออายุเกิน 100 ปี

ส่องคุณค่าของหนังสือโบราณผ่านเจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมอนุสรณ์ความรักและความรู้ที่หาไม่ได้อีกแล้ว

เรามองข้ามหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนบนปกว่า หนังสืออักขราภิธานศรับท์ Dictionany of The Siamese Language by D.B.Bradley Bangkok 1873 เพราะหน้าปกดูใหม่เกินกว่าจะอายุ 100 ปี ลุงยงค์บอกเราว่า เนื้อหาภายในเป็นพจนานุกรมที่อายุเกิน 100 ปีจริง ๆ แต่สำหรับเล่มนี้ที่สันหนังสือเขียนเอาไว้ว่า จัดพิมพ์เลียนแบบ 

ส่วนเล่มสีแดงที่ทับอยู่ด้านบน เล่มนี้รับรองว่าเก่าแก่แน่นอน ขนาดที่หน้าปกซีดจนเราอ่านไม่ออก เมื่อเปิดเข้าไปจึงเห็นตัวอักษรฟอนต์พิมพ์ดีดเขียนว่า จรรยาบ่าว รัตนโกสินทร์ศก 131 หรือเมื่อ 110 ปีที่แล้ว ด้านในจะระบุจรรยาบรรณของบ่าวเอาไว้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ไล่เป็นข้อ ๆ เช่น ข้อ 20 ความอดทนเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรเอาอย่างเช่นคนโบราณเขาทำ เราก็ควรจะทำได้ หนักเอาเบาสู้ อย่าคิดว่าเรี่ยวแรงที่ทำนั้นจะสูญเปล่า ระวังความหยิ่งเย่อเฟ้อฟุ้งไว้มาก ๆ จึงจะดี (เราตัดข้อความมาให้ส่วนหนึ่ง เพราะ 1 ข้อใช้พื้นที่บรรยายไปเกือบ 1 หน้า)

นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่ชื่อเรื่องพอคุ้นเคย อาทิ กาพย์ห่อโคลงนิราศเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร แจกในการกฐินพระราชทานพ.ศ. 2465 โคลงกระทู้วชิรญาณ งานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมช่วง รัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2465 และ ประชุมจารึกอนุสาวรีย์ทรงสร้างในรัชกาลที่ 5 โปรดให้พิมพ์ในการบำเพ็ญพระกุศลสนองคุณ เจ้าจอมมารดาเรือน เมื่อศพครบ 50 วัน พ.ศ. 2465 หรือจะเป็นหนังสือที่ชื่อแปลกตาอย่าง มรโนปายคาถาของพระมหาเปลื้อง (ฉัน์โน) พิมพ์แจกในงานศพวัดบางบาน พ.ศ. 2462 ลุงยงค์ก็สะสมไว้ทั้งหมด

04 หนังสือตราหอ

ส่องคุณค่าของหนังสือโบราณผ่านเจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมอนุสรณ์ความรักและความรู้ที่หาไม่ได้อีกแล้ว

“อันนี้คือตราพระพิฆเนศ ศิลปากร อันนี้ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ ใครเขียนก็จะมีตราของคนนั้นอยู่ พระนางเธอลักษมีลาวัณเป็นพระมเหสีของรัชกาลที่ 6 เป็นพระธิดาพระองค์ที่ 14 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ส่วนอันนี้ของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี แต่เป็นตราวชิรญาณ เพราะพระองค์ไม่ตราส่วนพระองค์ ขณะที่พระนางเธอลักษมีลาวัณเป็นนักประพันธ์ พระองค์สิ้นพระชนม์ เพราะถูกคนสวนในบ้านสังหาร”

นักสะสมผู้เชี่ยวชาญหยิบหนังสือโบราณ 2 เล่มมาเปรียบเทียบให้เราดู ซึ่งจะเห็นได้ว่าตราหอหน้าปกนั้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับนักสะสมว่าจะเล่นตราไหน หรือสนใจอะไรเป็นพิเศษ

“หนังสืองานศพส่วนมากจะเป็นหนังสือตราหอ เช่น ตรามังกรคาบแก้ว ตราวชิรญาณ ตราพระพิฆเนศ เขาจะเรียกว่าหนังสือตราหอ สมัยก่อนต้องไปขออนุญาตเพื่อพิมพ์”

05 หนังสือปีเกิด

ส่องคุณค่าของหนังสือโบราณผ่านเจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมอนุสรณ์ความรักและความรู้ที่หาไม่ได้อีกแล้ว

ลุงยงค์เกิด พ.ศ.2481 ในหมวดนี้ลุงจึงเลือกเก็บหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.2481 ซึ่งวันนี้เรามีโอกาสเห็นเพียง 2 เล่ม

“เล่มนี้ นักเรียน ฉบับนี้ออกมาปีเดียวกับผมเกิด เขาบอกว่าเป็นหนังสือพิมพ์นักเรียนที่ทำขึ้นมาเพื่อนักเรียน ส่วนอีกเล่มเป็นปฏิทินปีขาล พ.ศ.2481 หน้าปกเขียนว่าอภินันทนาการจากห้างพระจันทร์โอสถ มีภาพยักษีขี่เสือ ข้างในก็มีโฆษณาแบบโบราณเลย ขายยามดลูก หน้าแรก ๆ จะมีปฏิทินเว้นว่างไว้ ให้คนเอาไปใช้เขียน ใช้จด ส่วนเนื้อหาจะบอกสาระเรื่องยา ยาอะไรใช้อะไร อาจจะชื่อไม่คุ้นแล้วนะ ยาตัดสำรอก ยาล้างขี้เทา ยาเหลืองชูชีพย์ อันพวกนี้จะมีเขียนไว้ว่าของเด็ก ของผู้ใหญ่ก็ยาบังคับมดลูก”

แท้จริงแล้วหนังสือที่อยู่นอกเหนือจาก 5 หมวดนี้ยังมีอีกมาก แต่ก่อนที่ฝนจะสาดลงมาอีกครั้ง เราขอให้ลุงยงค์เล่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงในวงการ และร้านหนังสือปัจจุบันของเขาให้ฟัง

05
ความชอบที่ถึงเวลาแชร์

ส่องคุณค่าของหนังสือโบราณผ่านเจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมอนุสรณ์ความรักและความรู้ที่หาไม่ได้อีกแล้ว

ยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามา โรงพิมพ์ปิดตัว วงการหนังสือซบเซา ร้านหนังสือเลิกกิจการ จากวังบูรพาที่มีหนังสือให้เลือกสรรเยอะแยะก็หายไปเกือบหมด นั่นคือเรื่องย่อของสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาในสายตาของนักสะสมรุ่นใหญ่

“หนังสือเก่า หนังสือโบราณมีคนสนใจน้อยลงเยอะ คนที่สนใจอายุเยอะก็ทยอยหาย หลังจากที่ผมเก็บหนังสือมาหลายหมื่นเล่ม ผมก็เริ่มแบ่งปันให้คนอื่น เพราะไม่มีที่เก็บ (หัวเราะ) มีบ้างที่ขายแล้วเสียดาย เช่น สยามประเภท ผมมีแบบสมบูรณ์เลย แต่ขายไป บางคนเขาก็มาขอร้องให้ขาย คนที่มาขอดูของผมเพื่อทำงาน เขาบอกว่า หอสมุดแห่งชาติมีอยู่เล่มครึ่ง ผมเสียดาย หลายเล่มของผมมีคนจอง บางอันขายไป คิดว่าเขาจะเอาไปเก็บ แต่เขาเอาไปขายต่อ สมมติซื้อหมื่น เขาเอาไปขายสองหมื่นก็มี”

ยิ่งเก่า ยิ่งหายาก ยิ่งเป็นที่นิยมขึ้นอยู่กับเจ้าของใหม่ที่กำลังตามหา หนังสือหลายเล่มที่ลุงยงค์ขายไปจึงมีมูลค่าตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น โดยหนังสือที่คนมาตามหากันมากที่สุดคือ หนังสืองานศพและตำราอาหาร แต่ลุงยงค์บอกว่า หนังสืองานศพก็มีพ่วงตำราอาหารไปด้วย โดยเฉพาะของเจ้านายหรือคนที่ทำงานในห้องเครื่อง

พ.ศ. 2541 ลุงยงค์และครอบครัวตัดสินใจเปิด ร้านบุ๊ค ขึ้นหลังเกษียณในปีเดียวกัน จุดเริ่มต้นมาจากเพื่อนสนิทผู้ชื่นชอบหนังสือคนหนึ่งมาชักชวนให้ไปเปิดร้าน โดยเขาจะเปิดห้องให้ เป็นการหากิจกรรมให้คนสูงวัยได้มานั่งพบปะพูดคุยกัน

“ร้านแรกอยู่ที่สนามหลวง 2 ต่อมาก็เปิดอีกแห่งที่พระราม 3 ข้างธนาคารกรุงศรีอยุธยา แต่ตอนนี้ปิดชั่วคราว เพราะโควิด-19”

ส่องคุณค่าของหนังสือโบราณผ่านเจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมอนุสรณ์ความรักและความรู้ที่หาไม่ได้อีกแล้ว

ส่วนการออกร้านที่สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หลายคนคงจะคุ้นเคยกับสถานที่จัดอย่างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่บอกเลยว่า คุณลุงขายมานานกว่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่ที่สัปดาห์หนังสือยังจัดอยู่คุรุสภา

“ขายกันริมคลองผดุง เป็นงานที่ล้อกับงานกาชาด พอมีงานกาชาดก็เดินไปที่คุรุสภาได้ สมัยก่อนคนมาดู มาซื้อหนังสือกันเยอะมาก เดี๋ยวนี้น้อยลง แต่ตุลาคมนี้เราจะกลับไปที่ศูนย์สิริกิติ์แล้ว” คราวนี้เป็นภรรยาของลุงยงค์ คุณวรรณา อนันทวงศ์ ที่มาตอบคำถามให้กับเรา เธอคืออีกหนึ่งแรงที่สนับสนุนสามีให้ทำในสิ่งที่รักตลอดมาและตลอดไป เช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัว

ส่องคุณค่าของหนังสือโบราณผ่านเจ้าพ่อหนังสืองานศพ ผู้สะสมอนุสรณ์ความรักและความรู้ที่หาไม่ได้อีกแล้ว

หากใครอยากพบปะพูดคุยกับลุงยงค์เกี่ยวกับหนังสือเก่า หนังสือโบราณ หรือสนใจเสาะหาหนังสือจากกรุสมบัติของลุงยงค์แล้ว สามารถแวะไปพบคุณลุงได้ที่ร้านบุ๊คในสัปดาห์หนังสือที่กำลังจะจัดขึ้น หรือหากใครอยากติดต่อหาหนังสือทางออนไลน์ สามารถเข้าไปได้ที่เพจ ร้านบุ๊ค หนังสือเก่า หนังสือหายาก และหนังสือในความทรงจำ 

ก่อนเราจะขอตัวหนีฝนที่เริ่มตกหนักขึ้นเรื่อย ๆ เราทิ้งความสงสัย (ที่แท้จริงแล้วก็มีคำตอบอยู่ในใจ) ให้กับนักสะสมหนังสือที่อยู่ในวงการมากว่า 60 ปีคนนี้ว่า หนังสือมีความหมายอย่างไรต่อชีวิตของเขา 

คำถามธรรมดาทำให้อีกฝ่ายอยู่ในความเงียบเกือบนาที มีแค่เสียงฝนที่หยดลงบนหลังคา

เราคิดว่าระยะเวลาที่ผ่านมานานเกินครึ่งศตวรรษคงทำให้เขามีความรู้สึกและความผูกพันกับหนังสือมากเกินกว่าจะบรรยาย ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น

“หนังสือมีความหมายต่อชีวิตผมมาก ผมจินตนาการไม่ออกว่าถ้าไม่มีหนังสือจะเป็นอย่างไร ผมอยู่มาถึงทุกวันนี้ก็เพราะหนังสือ บางเล่มคืออนุสรณ์ความรัก ทุกเล่มคืออนุสรณ์ความรู้ ผมได้ความรู้ ได้สมาคม ได้มิตรภาพ ได้มีจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิตก็เพราะหนังสือนี่แหละ”

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์