ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มา 5 ปีแล้ว

5 ปีที่ว่านี้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปทีละน้อย จนในที่สุดเธอตัดสินใจอุทิศชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

การอุทิศชีวิตนี้ไม่ใช่เพียงเพราะหน้าที่ของทูตสันถวไมตรีของ UNHCR เท่านั้น แต่เธอทำด้วยหัวใจ ชีวิต และจิตวิญญาณ

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

ท่ามกลางความกังขามากมายในประเด็นการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เธอตั้งใจตอบทุกคำถามผ่านสารคดีที่เล่าเรื่องราวชีวิตและสภาพความเป็นอยู่จริงของพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ ในการร่วมลงพื้นที่ชายแดนประเทศโคลอมเบียเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ปูและ แมทธิว บราก (Matthew Brag) คู่หมั้นของเธอ จึงเก็บภาพและเรื่องราวชีวิตของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลามาผลิตเป็นสารคดีแนว Human Story ความยาว 20 นาที ชื่อ Sin Fronteras – Venezuela at the Crossroads เพื่อนำเสนอให้คนไทยและคนทั่วโลกเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ลี้ภัยอย่างแท้จริง

ซึ่งหากผู้ชมดูคลิปจบแล้วเกิดความเข้าใจลึกซึ้งจนคำถามที่ว่า ‘ทำไมจะต้องช่วยพวกเขา’ จางหายไปจากใจ นั่นหมายถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ของเธอแล้ว

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

สั่นสะเทือนถึงหัวใจ

ในวัยวันที่เด็กหญิงไปรยา ลุนด์เบิร์ก ยังไม่ล่วงรู้ว่าเมื่อเติบโตในวันข้างหน้า เธอจะมีเส้นทางชีวิตไปทางไหน มี 2 เหตุการณ์ที่นับเป็นเรื่องใหญ่ที่เธอไม่เคยลืม

“ครั้งหนึ่งปูนั่งอยู่ในรถตอนฝนตก มองออกไปเห็นขอทานนั่งตากฝนอยู่ ปูจำได้ว่าปูร้องไห้ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีใครไปช่วยเขาเลย

“อีกครั้งคือตอนอายุสิบสี่ปูไปเดินจตุจักร มีขอทานที่โดนตัดขาคลานอยู่บนพื้น คนเป็นร้อยเดินผ่านเขาโดยไม่สนใจ แต่ปูวิ่งเอาน้ำไปป้อนเขา นัยน์ตาที่เขามองมาเหมือนแปลกใจว่าปูเห็นเขาเป็นคน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ปูคิดว่าทำไมมนุษย์เราช่างโหดร้ายต่อกันและกัน ถ้าวันหนึ่งฉันทำอะไรได้ ก็อยากอุทิศตัวทำงานให้กับคนอื่น”

เด็กหญิงเติบโตขึ้นมา มีโอกาสที่ดีในชีวิต แต่ในใจไม่เคยลืมเรื่องเหล่านี้เลยสักครั้ง คำถามเรื่องความโหดร้ายและไม่เท่าเทียมของมนุษย์ฝังในใจเรื่อยมา เธอกลายเป็นคนชอบติดตามข่าวสารเหตุการณ์สังคมโลก ซึ่งจะได้ยินประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยจากสื่อต่างประเทศเสมอ ยิ่งเติบโตก็ยิ่งได้เห็นภาพความโหดร้ายในโลกใบใหญ่ชัดเจนขึ้น

“ซีเรียมีความขัดแย้งมานานแปดปีแล้ว ช่วงที่คนกลุ่มแรกๆ อพยพไปกรีซ อเมริกา หรือยุโรป มีภาพศพเด็กที่สวมเสื้อชูชีพนอนอยู่บนชายหาด เป็นภาพเปลี่ยนประวัติศาสตร์นะ เพราะเป็นเรื่องที่โหดร้ายมาก ต่อมามีคลิปตอนระเบิดลงที่ซีเรีย มีเด็กอยู่ในรถพยาบาล ตัวเปรอะดิน ใบหน้าเปื้อนเลือด และกำลังช็อกที่สูญเสียพ่อแม่ไปกับตึกที่ถล่มตรงหน้า ปูดูกี่ครั้งก็ร้องไห้ และไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่โหดร้ายอย่างนั้น”

ทุกอย่างคล้ายกับรอจังหวะเวลา วันคืนล่วงมาจนเมื่อ 5 ปีก่อน เธอได้เห็นภาพข่าวใหญ่ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่สั่นสะเทือนหัวใจจนตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

“ปูเห็นภาพพวกเขา (ชาวโรฮีนจา) อยู่ใต้ท้องเรือที่มีน้ำขังท่วมตัว ตรงนั้นมีทั้งคนรุ่นคุณปู่คุณตา เด็กทารก และเด็กตัวเล็กๆ ตอนนั้นปูไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีใครช่วยเขา เลยมองหาองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยตรง ซึ่งก็คือ UNHCR”

ปูเสนอตัวขอเข้ามาเป็นอาสาสมัครของ UNHCR และทุ่มเททำงานด้วยความสมัครใจและเต็มใจ เริ่มแรกเธอได้ลงพื้นศึกษางานและเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเป็นหลัก แต่ด้วยความเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยอย่างดีและมีความมุ่งมั่นในการทำงานมาตลอด ต่อมาเธอจึงได้รับแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีของ UNHCR คนแรกของไทยและเอเชียแปซิฟิก และมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

ทำไมคนเราถึงไม่เท่าเทียมกัน

“ครั้งที่หนักที่สุดและเปลี่ยนทัศนคติของปูคือ ตอนไปจอร์แดนแล้วได้เจอผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย” เธอเริ่มเล่าถึงประสบการณ์การไปค่ายผู้ลี้ภัยต่างแดนเป็นครั้งแรก

เมื่อได้สัมผัสวิถีความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยในค่ายซาตารี ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยซีเรียที่ใหญ่สุดในตะวันออกกลาง และค่ายอัซราคที่ใหญ่เป็นอันดับสอง เธอได้รับรู้ถึงความโหดร้ายสุดขีดของวิกฤตสงคราม ความขัดแย้ง และการประหัตประหาร ที่ส่งผลต่อผู้คนนับล้านที่เคยมีชีวิตปกติสุขของตัวเอง 

ความใหญ่หลวงของปัญหาผู้ลี้ภัยในระดับโลกที่ยืดเยื้อยาวนานเช่นนี้ ทำให้เธอกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ทำไมชีวิตของคนเราถึงไม่มีความเท่าเทียมกัน’

“ตั้งแต่เด็ก ปูชอบอ่านหนังสือปรัชญา ธรรมะ และเป็นคนซีเรียสเรื่องความศรัทธา ความเชื่อ ปูไม่เข้าใจมาโดยตลอดว่า ทำไมปูไหว้ขอแล้วได้ แต่คนเหล่านี้ที่เชื่อว่าก่อนเรือจะล่ม เขาก็ขอไม่ให้ตายเหมือนกัน แต่ทำไมเขาไม่รอด ทำไมมีความไม่เท่าเทียมในโลกนี้ ทำไมปูเกิดมาชีวิตมีครบทุกอย่างแต่เขาไม่มี”

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

ในใจตอนนั้นเธออยากจะยื่นความช่วยเหลือให้พวกเขาโดยตรง เหมือนเช่นที่เคยทำเสมอมากับการช่วยเหลือคนในประเทศไทย แต่กลับทำไม่ได้

“เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เวลาเห็นเรื่องเศร้าหรือโหดร้ายมาก เราก็อยากช่วยเขา และปูเป็นคนที่เชื่อเรื่องการช่วยโดยตรง อยู่ที่เมืองไทยปูมักช่วย Specific Case นี่คือสิ่งที่ปูถนัด และเห็นผลว่าชีวิตเขาดีขึ้นจริง แต่ด้วยบทบาทที่เราไปอย่างชัดเจนในวันนั้น เราช่วยคนคนเดียวไม่ได้ หน้าที่ของเราคือช่วยทุกคนเท่าเทียมกัน

“หลังจากพูดคุยกับผู้ลี้ภัยแล้ว เรากลับออกไปจากค่าย แต่ชีวิตของเขายังต้องสู้ต่อไปอีกสามสิบถึงสี่สิบปี ทางเดียวที่จะดีขึ้นคือ ปูต้องกลับประเทศไทยแล้วนำเงินบริจาคมาให้เขา แต่ถึงอย่างนั้นยอดนี้ก็ต้องถูกแบ่งไปอีกเจ็ดสิบล้านคนทั่วโลก จนเขาได้น้อยมาก อาจจะช่วยแค่ให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไป แต่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นไม่ได้

“ตัวเลขของคนกลุ่มนี้คือเจ็ดสิบล้านคน นี่เราพูดถึงปริมาณคนที่มหาศาลมาก แล้วในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เมื่อครึ่งหนึ่งของเจ็ดสิบล้านคนนี้เป็นเด็ก เด็กที่กำลังสับสน ไม่มีความหวัง และไม่รู้ว่าเขาจะไปที่ไหน มันไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศเดียวแล้วนะ นี่คือวิกฤตของโลก”

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี
เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

สารคดีสะท้อนชีวิต

แน่นอนว่างบประมาณการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของ UNHCR มาจากเงินบริจาคเป็นหลัก แต่การบริจาคที่ยั่งยืนเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานระยะยาวในด้านการช่วยเหลือและฟื้นฟูชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้น ควรมาจากความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้ลี้ภัยอย่างแท้จริง

นี่คือเหตุผลที่ปูวางแผนทำสารคดีเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้ลี้ภัย เพื่อส่งเสริมให้คนเข้าใจและเห็นสภาพความเป็นจริงกลุ่มของคนนี้ ในจังหวะเวลาที่ว่านั้นสอดคล้องพอดีกับช่วงเวลาที่เธอมีกำหนดเดินทางไปเยี่ยมผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากประเทศเวเนซุเอลา ณ ชายแดนประเทศโคลอมเบียในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNHCR

ปูตัดสินใจเลือกเก็บภาพของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในค่ายนั้น โดยมีแมทธิว คู่หมั้นของเธอ ร่วมทำงานกำกับสารคดีเรื่องนี้ด้วย

“เราตั้งใจทำเป็นสารคดีแนว Human Story เพราะน่าจะเข้าถึงคนได้ง่ายที่สุด สังเกตว่าเวลาเราพูดถึงตัวเลข คนมักจะไม่ฟังนัก แต่เมื่อทำเป็นเรื่องราว เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ให้เขาได้เล่าให้คุณฟัง คุณจะรู้สึกและเข้าใจจิตใจของพวกเขาได้มากกว่า”

ความหวังในวันที่แทบสิ้นหวัง

ก่อนเข้าเรื่องการทำงานสารคดีชิ้นนี้ ปูเล่าถึงวิกฤตการณ์ในเวเนซุเอลาที่มีความแตกต่างจากประเทศอื่นให้เราฟัง เธอบอกว่าจุดเริ่มต้นการล่มสลายของประเทศนี้ไม่ได้เกิดจากสงครามประหัตประหารชีวิต แต่เกิดจากความขัดแย้งและความรุนแรงของปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ความยากจน และความขาดแคลนสาธารณูปโภค จนต้องเดินทางออกจากประเทศในสถานะผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ซึ่งนับเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกา และร้ายแรงเป็นอันดับสองของโลกรองจากวิกฤตซีเรีย

นอกเหนือจากต้นเหตุสถานการณ์บ้านเมืองที่เธอพอจินตนาการได้ ความใกล้ชิดทางความรู้สึก ความเชื่อ และวัฒนธรรม ของคนเวเนซุเอลากับคนไทย ยิ่งทำให้เธอเข้าถึงจิตใจของผู้อพยพในค่ายแห่งนี้ได้อย่างลึกซึ้ง

“การมาค่ายแห่งนี้ ปูยอมรับว่ามีหลายเคสที่ทำให้ปูน้ำตาไหลต่อหน้าทีมงาน และกลับโรงแรมไปก็ร้องไห้อยู่หลายชั่วโมง เพราะปูสัมผัสได้ว่า คนเวเนซูเอลาเหมือนคนไทย เขามีความศรัทธา มีศักดิ์ศรี แต่เป็นคนที่สบายๆ เหมือนกับเรา ประเทศของเขามีทรัพยากรเยอะมาก แต่เพราะความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศเขาล่มสลายได้ ไม่มีแล้วไฟฟ้า เงินที่สะสมมาทั้งชีวิตกลายเป็นกระดาษ ไม่มีคุณค่า ทุกอย่างถูกทำลายไปหมด

“ลองนึกว่าถ้าเราคนไทยอยู่ดีๆ ต้องลี้ภัยไปประเทศที่สาม แล้วในชีวิตนี้เราไม่มีวันได้เห็นถนนในเมืองไทยอีกเลย ไม่มีวันที่ได้เห็นวัด ไม่ได้ดูทีวีไทย ไม่ได้ยินเสียงภาษาไทยตามท้องถนน ไม่มีวันได้กลิ่นอาหารไทยที่ทำตามข้างทาง ไม่มีวันได้เห็นมอเตอร์ไซค์หรือตุ๊กตุ๊ก มันคือสิ่งที่เป็นอดีต ลองคิดภาพนั้นว่าเป็นอย่างไร ปูมั่นใจว่าทุกครั้งที่พวกเขาหลับตา เขาฝันถึงอดีต ที่ย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว

“แต่แม้ในเวลาที่เขาสูญเสียทุกอย่าง ปูกลับสัมผัสได้ถึงความหวังของพวกเขา เหมือนกับมีความหวังและความตายอยู่ในห้องเดียวกัน นั่นเป็นสิ่งสะเทือนใจที่ปูลืมไม่ลง”

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

เธอนิ่งไปสักพักหลังจากจบประโยคก่อนหน้า แต่มองจากนัยน์ตาของเธอแล้ว เรารับรู้ได้ว่ายังมีหลายเรื่องราวที่อยากถ่ายทอดออกมา ไม่กี่อึดใจเธอก็ค่อยๆ เรียบเรียงเล่าเรื่องราวของสองผู้ลี้ภัยที่เธอลืมไม่ลง

“ปูได้คุยกับผู้ชายคนหนึ่ง เขาอยู่ในบ้านสังกะสีเล็กๆ นอนอยู่กับพื้นดิน เขาบอกว่าเมื่อก่อนเขาเป็นนักธุรกิจ มีบริษัทของตัวเอง มีบ้านสี่ถึงห้าห้องนอน แต่ตอนนี้เขาต้องมาถักกระเป๋าขาย เขาบอกว่าตอนแรกที่ทำเขาอายมาก เพราะมองว่าตัวเองเคยดีกว่านี้ แต่วันนี้เขาภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ที่ได้มีอาชีพอีกครั้ง

“เขาบอกปูว่า คุณไม่เข้าใจหรอก คนเวลาสูญเสียทุกอย่าง แต่สุดท้ายมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป มันมีคุณค่ามากแค่ไหน ผมอยากขอบคุณที่ประเทศของคุณให้ความสนใจคนที่นี่ ให้เงินบริจาค วันนี้ผมรู้สึกว่าโชคดีมากที่มีบ้านสังกะสีหลังนี้ อย่างน้อยเวลาฝนตกก็มีหลังคากำบังไว้

“อีกเคสหนึ่งที่ปูจำได้ติดตาคือ ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เขานั่งอยู่กับคุณแม่และลูกสาวสามคน เขาเล่าว่าเมื่อก่อนเขามีงานทำมีรายได้ แต่ตอนที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ประเทศกำลังจะล่มสลาย สามีก็ทิ้งเขาไปเลย ต่อมาประเทศไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำคีโมในโรงพยาบาลไม่ได้ จึงต้องหอบหิ้วกันออกมา ถึงตอนนี้ได้บัตรรักษาของทางโคลอมเบีย แต่ก็ไม่มียาแก้ปวด บางวันเลือดไหลไม่หยุด ตอนที่เขาคุยกับปู เขาเอาผ้าเช็ดหน้าตลอด จนสุดท้ายเขาแอบกำผ้าที่ชุ่มเลือดไว้ในมือ

“ผู้หญิงคนนี้อาสามาคุยกับปูเอง เพราะเขาบอกว่า ฉันไม่น่ารอด ไม่น่าจะรักษาทัน แต่เรื่องของฉันอาจจะนำเงินเข้ามาช่วยคนเวเนฯ และช่วยคนแบบฉันได้อีกมากมาย เป็นมะเร็งเจ็บเท่าไหร่ก็ทนได้ สิ่งเดียวที่ฉันต้องการคือ อยากให้คนทั่วโลกช่วยคนเวเนซุเอลา และช่วยคนแบบฉัน เพราะลูกฉันยังเล็ก ฉันไม่อยากตาย แต่ไม่มีทางเลือก แต่ฉันมีความหวังนะ อย่างน้อยเรื่องที่ฉันเล่าไปอาจทำให้คนเอาเงินมาช่วยลูกฉันได้”

เธอหยุดเล่าอีกครั้ง พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “นี่แหละคือสิ่งที่ปูสัมผัสได้ถึงความหวังและความตายที่อยู่ในห้องเดียวกัน”

ขอเพียงความเข้าใจ

หลังจากที่สารคดียาว 20 นาทีนี้แพร่ภาพออกไป เธอไม่ได้หวังให้เกิดกระแสยิ่งใหญ่ สิ่งที่หวังให้เกิดขึ้นมีเพียงความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้ลี้ภัยทั่วโลก เพราะเชื่อว่าเมื่อคนเรามีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หนทางการช่วยเหลือจะตามมา

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี
เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

“ปูอยากให้คนเข้าใจว่า ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยคือมนุษย์ที่เคยมีสัญชาติ มีประเทศชาติของตัวเอง เคยพูดภาษาของตัวเอง เคยได้นับถือศาสนาในผืนแผ่นดินของตัวเอง เคยมีอาชีพ แต่ไม่มีสิ่งนี้แล้ว กลายเป็นบุคคลที่สัญชาติคืออดีต ประเทศชาติและวัฒนธรรมคืออดีต และอนาคตคือสิ่งที่ว่างเปล่า ถ้ามองจากมุมที่เราวัดคุณค่าคนจากสิ่งที่เป็น พวกเขาอาจไม่เหลือคุณค่าอะไรแล้ว แต่สิ่งที่คนไม่ควรลืมคือ เขายังเหลือคุณค่าความเป็นมนุษย์ ยังเหลือความทรงจำและมีความหวังในใจ

“คนที่อยู่ในสภาพเช่นนี้เขาไม่มีทางเลือก ซึ่งหากเลือกได้ ทุกคนตอบเหมือนกันหมดว่า ‘อยากกลับบ้าน’ ซึ่งจะได้เห็นในสารคดี ปูอยากให้คนลบอคติที่ว่าผู้ลี้ภัยคือคนที่ออกจากบ้านตัวเองมาเพราะอยากไปทำงานประเทศนั้นประเทศนี้ เพราะมันไม่ใช่ มันแตกต่างจากความเป็นจริงอย่างมาก

“ดังนั้น การบริจาคให้กับ UNHCR อาจไม่สำคัญเท่ากับการปรับทัศนคติของคุณที่มีต่อผู้ลี้ภัย หากคุณได้ดูสารคดีนี้ แล้วพูดคุยกับเพื่อนหรืออธิบายให้คนอื่นๆ เข้าใจความแตกต่างของ Migrant, Immigrant, Refugee และ Stateless หรือเปลี่ยนข้อความคอมเมนต์ต่างๆ จาก ‘ทำไมต้องไปช่วยเขา’ เป็น ‘เราต้องรีบช่วยพวกเขา’ แทน นี่ถือว่าปูได้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว”

ถึงตรงนี้ เราถามว่าเป้าหมายสูงสุดของการเป็นทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ของเธอคืออะไร

“การทำงานนี้ไปตลอดชีวิต โดยหวังว่าวันหนึ่ง ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และคนไร้สัญชาติ จะได้ในสิ่งที่พวกเขาหวัง ซึ่งปูรู้ว่านั่นคงเป็นฝันที่ใหญ่เกินไป ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน และต้องผ่านอีกกี่ความขัดแย้งเท่าไหร่ ถ้ามนุษย์เราไม่เรียนรู้ถึงบทเรียนที่ผ่านมาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพ” เธอตอบน้ำเสียงจริงจัง

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

ชีวิตที่มีเป้าหมาย

หลังจากที่ปูเล่าเรื่องการทำงานมาพอสมควร เราจึงชวนเธอพูดคุยถึงชีวิตและการเติบโตทางความคิดของเธอบ้าง แต่ดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับไปเชื่อมโยงกับงานเพื่อผู้ลี้ภัยเสมอ

“ปูเปลี่ยนไปเยอะมากจากการทำงานกับ UNHCR ซึ่งต้องขอขอบคุณการทำงานนี้มาก” เธอตอบพลางทิ้งตัวสบายๆ บนโซฟา

“เมื่อก่อนที่เราเป็นดารา ซึ่งเป็นอาชีพของภาพลักษณ์ รูปลักษณ์ ชื่อเสียง และอีโก้ล้วนๆ เมื่ออยู่ใน Bubble นี้ บางครั้งเราคิดว่าเราต้องอยู่ที่หนึ่ง ต้องอยู่ในกระแส เราต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยไม่คิดคำนึงเลยว่าเราเป็นคนที่โชคดีมาก ดาราเป็นคนที่โอกาสวิ่งเข้าหา ไม่ต้องวิ่งไปหาโอกาส เหมือนได้ลาภลอยตลอดเวลา ดาราดังๆ เหมือนกับคนถูกหวยตลอดนะ เพราะมีงานทุกวัน แต่สิ่งเดียวที่เรามัวคิดถึงกันคือ คนนี้ได้งานนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ เหมือนอยู่ในโลกที่ทำให้เราไม่ได้เห็นโลกกว้างไปกว่านี้

“เมื่อได้ทำงานกับ UNHCR ปูมีโอกาสฟังเรื่องราวของมนุษย์เยอะมาก ได้สัมผัสกับมนุษย์ที่แข็งแกร่งที่สุด และเข้าใจการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีอะไรยั่งยืน ไม่มีอะไรถาวร แม้แต่ประเทศชาติ ประวัติศาสตร์ยังสูญหายได้ แล้วนับประสาอะไรกับตัวเรา ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งบอบบางมากนะ แค่ตึกถล่มมาเราก็ตายแล้ว และตายวันนี้พรุ่งนี้ได้ เราสร้างชื่อเสียงไปเพื่ออะไรถ้าชีวิตไม่มีเป้าหมาย ถ้าทำแค่ตัวเอง บอกได้เลยเป็นเรื่องเศร้ามาก เพราะตอนสุดท้ายที่ความงามคุณหมดไป ชื่อเสียงจางหาย ไม่มีใครจำคุณแล้ว คุณค่าของคนคือผลงาน ทุกวันนี้ปูอยากเป็นคนดีกว่าที่ปูเป็นอยู่”

แม้จะพยายามทุ่มเททำงานมากแค่ไหน แต่เธอก็ยังได้ยินข้อกังขาเสมอว่า เธอทำงานนี้เพื่อเหตุผลอะไร

“คนคิดว่าปูมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้ UNHCR ไม่ใช่นะ นี่คือชีวิตของปูเลย ปูอุทิศทั้งชีวิตให้กับงานเพื่อผู้ลี้ภัย และสัญญาว่าไม่ว่าจะเจอเรื่องเลวร้ายอะไร ต้องรับให้ได้ และปูอยากบอกตรงนี้ว่า การทำงานกับ UNHCR ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าทุกอย่าง ปูออกเองทั้งหมด เพราะซีเรียสมากว่าจะต้องไม่ทำให้เงินของผู้บริจาคหายไป เงินส่วนตัวออกไปก็นำมาหักภาษีไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ปูทำจากหัวใจและจิตวิญญาณจริงๆ 

“ตอนนี้ปูมีเป้าหมายในชีวิต คืออยากทำงานให้ถึงที่สุด เพราะจะได้ให้คืนกลับ ปูเชื่อนะว่าการที่เราได้โอกาสแล้วไม่คืน ไม่มีทางยั่งยืน เพราะมันเป็นเหมือนกรรม ได้มาเยอะ แล้วไม่อยากคืน สร้างมาอีกเพื่อได้เพิ่ม ไม่มีทางได้ผล ปูเป็นคนที่เชื่อเรื่องแบบนี้มาโดยตลอด”

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

เมตตา-กรุณาต้องมาจากหัวใจ

แม้ก่อนหน้านี้เธอคิดเพียงแค่อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์และความไม่เท่าเทียม แต่การกระทำด้วยความปรารถนาดีอันจากหัวใจนั้น ทำให้เธอเข้าถึงหลักปรัชญาศาสนาที่เคยศึกษามาตลอดได้อย่างลึกซึ้ง

“พระพุทธศาสนาสอนเราเรื่องความเมตตา-กรุณาเสมอ แต่ลึกๆ แล้วปูว่าคนไม่รู้หรอกว่า ความเมตตาคือการที่เราเห็นสิ่งที่เราไม่เข้าใจ แต่เรารู้สึกเจ็บปวดไปตามเขา และอยากจะช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์

“ปูอยากให้เราลองนั่งมองคนตามท้องถนนเมืองไทยดูสักวัน ลองมองคนที่ขึ้นรถเมล์ท่ามกลางอากาศร้อนๆ หรือมองความเหน็ดเหนื่อยของคนอื่นรอบตัวเรา หรือลองมองดูขอทานที่เดินผ่านทุกวันโดยไม่มองแม้แต่คุณค่าของเขา ไม่เคยระลึกแม้สักวินาทีว่าคนนี้เคยมีพ่อแม่ เคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไปโรงเรียน แล้วถามตัวเองว่าเรารู้สึกไปกับเขาไหม

“ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ แล้วจะเข้าใจว่าสิ่งที่คุณทวีต โกรธ บ่น มันไม่มีความหมายเลย คำพูดที่ไม่ดี เก็บไว้กับตัวเองดีกว่า ถ้าไม่ชอบอะไร ลงมือแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง อยากให้เริ่มการเปลี่ยนแปลงที่การกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูด”

จากที่พูดคุยกันมาถึงตรงนี้ เรารู้สึกว่า ปู ไปรยา ในวันนี้มีความเข้าใจในชีวิตในระดับดีมาก

มีเรื่องไหนชีวิตที่รู้สึกว่ายังทำได้ยากบ้างไหม เราถาม

“เห็นคนอื่นได้ดีแล้วรู้สึกยินดีไปกับเขา” ปูตอบจริงจังทันที ก่อนหัวเราะขำตัวเอง

“มันยาก มันยากมาก” เธอเน้นเสียง “เวลาเห็นคนอื่นได้งานที่เราอยากได้ แล้วฉันก็อยากได้งานนี้เหมือนกัน มันยากนะที่ต้องเปลี่ยนทัศนคติไปยินดีกับเขา นึกออกไหม เพราะปูไม่ใช่นางฟ้า ไม่ใช่พระ ปูยังมีธรรมชาติของมนุษย์ ก็ต้องคอยเตือนสติตัวเองตลอดนะว่า เขาได้ดีใช่ไหม ฉันดีใจกับเขาจังเลย ปูกำลังฝึกอยู่นะ แต่ก็ยังไปไม่ถึงจุดนั้น” เธอหัวเราะอีกครั้ง

ปูยอมรับว่าการทำงานในวงการบันเทิงช่วยให้เธอเข้าใกล้เป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิตได้เร็วขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็เป็นความขัดแย้งกับหลักความศรัทธาที่เธอพยายามปฏิบัติตัวและใจให้เป็นสุขตลอดมา

“วิธีเดียวที่จะช่วยคนได้คือ ปูต้องมีรายได้ เพราะฉะนั้น ปูก็ต้องทำงานในวงการต่อไป จึงทำให้การรักษาเรื่องมุทิตา อุเบกขา ยากมาก เพราะเรายังมีความต้องการที่จะเป็นคนยิ่งใหญ่กว่านี้ มีรายได้มากกว่านี้ เป็น Conflict ในใจมาก ถ้าไม่มีรายได้ก็ช่วยเขาไม่ได้ ถ้าไม่มีชื่อเสียงก็ไม่มีใครฟัง เป็นคนดีตลอดก็ไปไม่ถึงจุดสูงสุด มันยากมากจริงๆ”

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

ลองลืมตาตื่นขึ้นมาด้วยความสุข

เราคุยกับปูจนเกือบครบเวลา ก่อนที่เธอต้องเข้าสู่คิวงานที่แน่นตารางต่อไปทั้งวัน เราตั้งใจจบบทสนทนาในครั้งนั้นด้วยเรื่องราวของความสุขเพื่อปรับอารมณ์ให้เธอผ่อนคลายสบายใจ

ความสุขในวันนี้ของปูเป็นอย่างไร-เราบอกเธอว่านี่คือคำถามสุดท้าย

“ปี 2562 เป็นปีที่แย่ที่สุดในชีวิตของปู” เธอเกริ่นขึ้นก่อนอธิบาย “แต่การได้ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลามาได้ถูกเวลา เมื่อได้เจอพวกเขา ปูใจฮึดสู้อีกครั้ง และหันมามองตัวเองว่า เราเป็นคนโชคดีมากแค่ไหนที่เกิดมาเดินได้ สายตามองเห็น มีการศึกษา มีรูปร่างหน้าตาที่เป็นดาราได้ พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ มีครอบครัวอยู่พร้อมหน้า มีบ้าน มีรถ มีชื่อเสียง มีสุขภาพที่ดี เราคือคนโชคดีจริงๆ ทุกวันนี้ที่ลืมตาตื่นขึ้นมา ปูมีแต่ความรู้สึกว่าขอบคุณ” เธอยิ้มด้วยดวงตาที่เปี่ยมประกายความสุข

ก่อนจบบทสนทนาจริงๆ ในวันนั้น เธอทิ้งท้ายฝากเราทุกคนด้วยความจริงใจอีกครั้งว่า

“ปูอยากให้ทุกคนลองทำดูนะ ทุกเช้าที่ลืมตาตื่นขึ้นมา ให้บอกตัวเองว่า ‘วันนี้ฉันโชคดีจริงๆ’ ลองแบบนี้สักสามสิบวัน แล้วดูว่าชีวิตของคุณเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแค่ไหน เมื่อเรามองว่าตัวเองมีสิ่งดีๆ เราจะพร้อมเป็นผู้ให้ และการเป็นผู้ให้ คุณก็กลายเป็นผู้รับสิ่งดีๆ กลับมาเช่นกัน”

เมื่อ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ออกเดินทางไปเวเนซุเอลาเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยให้เป็นหนังสารคดี

ขอบคุณภาพ : UNHCR

ภาพยนตร์สารคดี Sin Fronteras – Venezuela at the Crossroads จะเปิดให้เข้าชมฟรีในงาน Venezuela Night: Tribute to UNHCR for Refugee and Migrant Crisis วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2563 เวลา 18.00 น. ที่เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ จองบัตรและดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.unhcr.or.th และ Facebook : UNHCR ประเทศไทย

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล