17 พฤศจิกายน 2020
3 K

01

“ผมเคยได้รับหัวข้อ ‘ชาติ’ ในการทำงาน คือมันยากนะ หลังจากที่ผ่านมาและเราเริ่มเข้าใจอะไรมากขึ้น ตอนนั้นผมแอบด่าอาจารย์ในใจ ว่าไม่ควรไปให้โจทย์แบบนี้กับคนทำงานศิลปะ มันตีความได้เยอะ นามธรรมมาก สุดท้ายก็ไม่พ้นการหยิบเอาสัญลักษณ์ทั่วไปมาใช้ เพราะชาติมันเป็นความคิดที่ไม่มีรูป สำหรับผมเป็นฟอนต์เขียนว่า ‘ชาติ’ ด้วยซ้ำ 

“แต่เวลาคนพูดถึง ‘ประชาธิปไตย’ ก็จะมีรูปพานรัฐธรรมนูญลอยขึ้นมาบนหัว นี่คือปัญหาในสังคมไทย เพราะคนเสือกไปจำภาพพานรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นรูปภาพ ไม่ได้มีเนื้อหาเลย มันเลยไปไหนต่อไม่ได้ไง ก็เป็นพานอยู่อย่างนั้นแหละ

“ผมมีภาพจำเหมือนคนกรุงเทพฯ ทั่วไปว่าอีสานจะต้องมีความแห้งแล้ง ชนบท คนกรุงเทพฯ ในยุคเดียวกับผมก็คงเห็นภาพที่ไม่ต่างกันมาก และยังมีมุมมองในการเหยียดจากศูนย์กลางหรือคนกรุงเทพฯ ด้วย มีคนที่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในศูนย์กลางที่เจริญที่สุด แล้วนอกนั้นอยู่ต่ำกว่า ยังมีวิธีมองแบบนี้อยู่แน่นอน แต่ทุกวันนี้เวลาคนวิจารณ์อะไรที่ไม่โอเคว่า ‘ลาวว่ะ’ ผมสะอึกเลยนะ คุณหลุดมาจากไหนเนี่ย”

'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020

ผมยก 2 ส่วนจากการสัมภาษณ์ หม่อม-ประทีป สุธาทองไทย อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาให้อ่าน พร้อมตั้งคำถามว่า “เห็นอะไรซ่อนอยู่ในข้อความข้างต้นบ้าง”

ทดคำตอบไว้ในใจก่อน เพราะต่อไปนี้จะพาไปทำความรู้จักกับศิลปินชายร่างเล็ก เจ้าของนิทรรศการ ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ ที่จัดแสดงจบไปเมื่อกลางปีที่แล้ว

แม้ดูเหมือนช้าที่เราเพิ่งตัดสินใจนัดหมายพูดคุยกับเขา แต่รับรองได้เลยว่าสารัตถะของงานนั้นยังทันสมัย และ ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ ซึ่งยังไม่จบบริบูรณ์นั้น น่าจะช่วยให้คำตอบของปริศนาที่ว่านี้ได้

02

ประทีป 101

หม่อม ประทีป คือคนกรุงเทพฯ และศิลปินโดยกำเนิด ผู้หลงใหลในการวาดภาพเหมือนจริง

เขาเล่าให้เราฟังถึงเสน่ห์ที่ตัวเองสัมผัสได้จากการเขียนภาพเหมือนว่า “จะทำให้เหมือนจริงได้มันยาก เลยท้าทาย การทำได้จึงเหมือนเราจำลองความจริงที่อยู่ในกรอบภาพได้สำเร็จ ดูเหมือนกับว่าเราสามารถจำลองโลกที่เห็นกับสายตามาอยู่ในกรอบภาพ”

โชคดีที่รู้วิถีทางของตัวเองอย่างแน่ชัด เขาจึงเลือกเรียนศิลปะมาตั้งแต่ระดับอาชีวะ แทนที่จะต่อ ม.ปลาย เหมือนนักเรียนคนอื่น แม้การศึกษาจะมาสุดทางที่วิทยาลัยเพาะช่าง แต่ความรักในงานศิลปะยังคงทำงานอยู่ในใจของเขาอย่างแข็งแกร่ง หลังจากที่ทุ่มเทเรียนรู้จนมีทักษะเชี่ยวชาญและเข้าใจการเขียนภาพเหมือนอย่างถ่องแท้แล้ว ความชอบของเขาก็เดินมาถึงจุดอิ่มตัว

“โลกของการเรียนศิลปะแบบขนบที่เน้นเรื่องทักษะฝีมือมากกว่าการแสดงความคิดจบที่เพาะช่าง จริงอยู่ที่มันก็ตรงกับเป้าหมายของเราตอนแรกว่าอยากเขียนภาพเหมือน แต่พอเราทำมันได้ดีมากแล้ว ก็เริ่มคิดว่าศิลปะต้องมีอะไรมากกว่านี้ นอกจากต้องแสดงความงามจากทักษะฝีมือแล้ว มันทำอะไรได้อีกไหม”

'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020

ผ่านไปไม่นาน หม่อมก็ได้เจอกับอาจารย์ที่สอนให้เห็นมิติของการทำงานศิลปะในเชิงความคิด จึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากสำเร็จการศึกษา ทักษะที่เขาเคี่ยวกรำสะสมมาเนิ่นนานก็ทำให้เขาหันเห เบนความสนใจ เปลี่ยนมาใช้ภาษาศิลป์แขนงอื่นสื่อสารดูบ้าง

“ตอนนั้นก็เลยทดลองเพราะเป็นคนชอบถ่ายรูป หันมาทำงานชุดที่เป็นการทดลองเทคนิคภาพถ่าย ซึ่งเป็นจุดให้เราเปลี่ยนสื่อ งานเก่าๆ ก็จะเป็นภาพถ่าย เป็นงานในเชิงเทคนิค ซึ่งสุดท้ายก็อาศัยวิธีมองแบบคนทำงานจิตรกรรมอยู่ดี เหมือนกับที่คนอื่นเขาตั้งข้อสังเกต”

งานศิลปะภาพถ่ายของประทีปขณะนั้น คือเทคนิคการถ่ายภาพที่ใช้ฟิล์มบันทึกภาพวัตถุเดียวกันต่อเนื่องกันหลายๆ เฟรม เมื่อนำมาวางเรียงต่อกันก็จะได้ผลงานภาพถ่ายหนึ่งชิ้นที่เล่าเรื่องได้หลากหลาย เป็นเสมือนจิ๊กซอว์อันเกิดจากการประกอบขึ้นของแต่ละองค์ประกอบย่อย ทว่าไม่ได้นำเสนอภาพรวมอันสมบูรณ์ จริงอยู่ที่ผู้ชมรับรู้ได้ว่าผลงานศิลปะที่ตาไปกระทบสัมผัสคือสิ่งใด แต่ความบิดเบี้ยวของข้อมูลที่ใครๆ ต่างเคยรับรู้และคุ้นชิน ชักชวนให้คนตั้งคำถามเชิงปรัญชาว่าความจริงคือสิ่งใด พาให้ตระหนักถึงขีดจำกัดของปุถุชนในการรับรู้สัจจะอันสูงสุด

'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020
'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020

อาจารย์หม่อมคือศิลปินขนานแท้ เขาจะไม่ผูกตัวเองกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่กำหนดว่าจะใช้สื่อนี้ในการสร้างงานศิลปะไปจนถึงเมื่อไหร่ อยู่ที่ว่าความสนใจและความคิดของเขาจะนำพาไป

“ปกติเวลาผมทำงาน ผมจะไม่ได้ผูกตัวเองว่าผมจะทำงานแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ หรือเราจะทำแบบนี้ตลอดไป แต่ขึ้นอยู่กับการไปค้นหรือไปเจออะไรที่เราสนใจ แล้วก็ให้ตัวไอเดียพาไปมากกว่า สำหรับไอเดียนี้ จะทำด้วยสื่อหรือเทคนิคอะไรดี ฉะนั้น เวลาคิดงาน มันจะไม่ได้เริ่มที่ตัวสื่อหรือเทคนิค”

หลังจากเรียนจบไม่นาน ประทีปก็ต้องย้ายถิ่นฐานลำเนา ไปทำงานที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามอย่างไม่ทันตั้งตัว และเร็วกว่าที่คาดเอาไว้มาก ขณะนั้นเขาคือคนกรุงที่แทบจะไม่เคยรู้จักอีสานมาก่อน เมื่อรู้ว่าต้องย้ายไปมหาสารคาม ยังกลับไปพลิกแผนที่ดูเลยว่าอยู่ส่วนไหนของประเทศ

ศิลปินผู้หลงใหลอีสาน ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นผู้ใหลหลง เพราะเข้าใจว่าอีสานคือภูมิภาคชนบทอันสวยงามและเรียบง่าย ด้วยสาธารณูปโภคที่ยังเดินทางไปไม่ถึง

“ก่อนมาก็มีภาพจำเหมือนคนทั่วไป แต่ผมนิยามตัวเองได้ว่าผมเป็นชนชั้นกลางโรแมนติก คือปีแรกๆ มาเนี่ยเวลาขับรถผ่านทุ่งนาข้าวสีเขียวก็จะเห็นว่าสวยงาม ใหม่ๆ ก็ให้ลูกศิษย์พาไปดูคนทำนา พาไปเกี่ยวข้าว อีสานงดงามเหมือนในหนังสือ ชีวิตของชาวนา ของพระยาอนุมานราชธนยังไงยังงั้นเลย”

'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020

03

ประเทศเล็กที่สมบูรณ์

เมื่อไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง การเข้าใจท้องถิ่นนั้นอย่างละเอียดลึกซึ้งก็เหมือนการหลิ่วตาตามยามเข้าเมืองตาหลิ่ว หลังจากที่เขาเริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับอีสานอย่างลึกซึ้ง หม่อมจึงเห็นว่าอีสานถูกละเลยจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก และมีภาพจำอันบิดเบี้ยวมากแค่ไหน

ทว่ายิ่งค้นคว้า เขาก็ยิ่งเจอเสน่ห์ของห้องสมุดไปพร้อมกัน บรรดาหนังสือเก่าตามชั้นที่เขาพบเจอโดยบังเอิญระหว่างการเดินหาเล่มเป้าหมาย คือสิ่งละอันพันละน้อยที่ชักชวนให้เขาหันมาสนใจศิลปะที่ซ่อนอยู่บนหน้าปกหนังสือเก่า

ด้วยสายตาศิลปิน ประทีปเห็นองค์ประกอบศิลป์มากมายที่โดดเด้งออกมาจากหน้าปก เขาได้ยินคุณค่าในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่หนังสือเหล่านี้ต่างกระซิบกระซาบออกมาผ่านลวดลาย เส้นสาย และสีสัน ที่พันธนาการตัวเองอยู่ด้วยกันบนหน้ากระดาษ หม่อมตกหลุมรักปกหนังสือเก่าเหล่านี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

“เวลาดูปกหนังสือเราจะเห็นสภาพมัน บางเล่มอาจจะเห็นสภาพที่บอบช้ำมากจนดูไม่รู้เรื่อง ผมมีความสนุกในการไล่ดูข้อมูลบนปก บางเล่มอาจจะเป็นชื่อหนังสือ บางเล่มอาจจะเป็นภาพที่มันใช้ประกอบปก ซึ่งจะมีสารแฝงอยู่เสมอ ของพวกนี้สื่อสารอะไรบางอย่างกับเราตลอดเวลา”

อาจารย์ท่านนี้จึงเริ่มเปลี่ยนสถานะปกหนังสือเก่าที่เขาถ่ายสะสมเอาไว้ให้เป็นงานจิตรกรรมภาพเขียนสีน้ำมัน ที่ยังคงสภาพความเสียหายซึ่งกาลเวลาได้ทิ้งร่องรอยไว้ ทั้งยังแฝงไปด้วยบริบททางประวัติศาสตร์และนัยทางการเมืองที่น่าสนใจชวนคิด แรกเริ่มเดิมทีก็เพื่อไปร่วมจัดแสดงในนิทรรศการแห่งหนึ่ง

“หนังสือเล่มแรกๆ ที่เป็นไอเดียให้เอามาวาดคือหนังสือแบบเรียนวิชาสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน สภาพเก่ามาก ตัวหนังสือมันแทบจะอ่านไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว แต่มันกลับพูดถึงสถานการณ์โลกปัจจุบันขณะนั้น ซึ่งขัดแย้งกันมาก ถ้าดูตอนนี้คือความรู้ในเล่มมันหมดอายุไปแล้ว แต่มันก็ยังสะท้อนชุดข้อมูลที่ถูกผลิตออกมาในยุคนั้นอยู่”

แต่พอได้เริ่มเขียน อาจารย์หม่อมก็ยิ่งเห็นว่าภาพปกหนังสือเหล่านี้สื่อสารคุณค่าบางอย่างได้ชัดเจนขึ้น เขาตีกรอบประเด็นของนิทรรศการจนแจ่มแจ้ง คัดเลือกเฉพาะปกหนังสือยุคสงครามเย็น อันเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่เขาให้ความสนใจพิเศษ เพราะเพิ่งพ้นผ่านไปได้ไม่ไกลจากปัจจุบัน ทำความเข้าใจบริบทสังคม ณ ขณะนั้น และมรดกที่ส่งผลกระทบมายังทุกวันนี้ได้ไม่ยาก

ภาพจิตรกรรมเหล่านั้นคือปกสิ่งพิมพ์หลากหลายแขนงที่ล้วนถือกำเนิดในยุคสมัยดังกล่าว ทั้งแบบเรียนของหลวง สมุดแจกฟรีจากรัฐ และนิตยสารจากราชการ ซึ่งล้วนมีสภาพยับเยินยู่ยี่และแพร่สะพัดขจายไปทั่วประเทศ

“มีปกเล่มหนึ่ง ปกหนังสือชื่อ ทหารปฏิวัติทำไม หนังสือเก่ามาก หรือวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่ปกเป็นรูปฤษีในงานวัด แล้วก็มีพาดหัวว่าเมืองไทยกำลังเสื่อม หนังสือพวกนี้เก่า แต่เนื้อหาก็ยังไม่เปลี่ยนไปเลย ทำให้คนมองย้อนกลับไปดูแล้วเห็นว่าบางเรื่องซึ่งเป็นปัญหาที่พูดกันมาหลายสิบปีแล้วยังไม่เปลี่ยนเลย เรายังอยู่กับปัญหาเดิม”

ประทีปหยิบยืมชื่อ ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ หนึ่งในหนังสือหัดอ่านชุด ‘นิทานร้อยบรรทัด’ แบบเรียนยุคสงครามเย็น สมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มาใช้เป็นชื่อนิทรรศการแสดงภาพวาดปกหนังสือเก่า ที่เป็นส่วนสำคัญในการตอกหมุด ฝังภาพจำและชุดความรู้ที่รัฐจัดสรรแกมบังคับเสิร์ฟมาให้ประชาชนเสพ อันเป็นบ่อเกิดแห่งความไม่เข้าใจในสังคมปัจจุบัน เพราะท่ามกลางชาติมหาอำนาจที่ครอบครองดินแดนกว้างใหญ่ ทั้งฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและฝ่ายคอมมิวนิสต์ อะไรเลยจะวิเศษไปกว่าการเชื่อว่า ‘ประเทศเล็กๆ ของเรานี้สมบูรณ์แบบที่สุด’

04

ประเทศเล็กที่ (ยังคง) สมบูรณ์

เป็นความจงใจของศิลปินที่คิดเล่นกับสถานะอันเป็นมายาของภาพปกหนังสืออย่างมีชั้นเชิง เมื่อกลายเป็นงานจิตรกรรมแล้ว ประสิทธิภาพที่ปกเหล่านั้นจะเอื้อนเอ่ยทักทาย และบอกกล่าวอรรถะแก่ผู้ชมได้อย่างตรงไปตรงมาก็มีมากขึ้น ยิ่งศิลปินยังคงสภาพขาดรุ่งริ่งของสรรพองค์ประกอบบนหน้าปกของแบบเรียน อันเป็นโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐเผด็จการไว้ ข้อความที่ภาพจิตรกรรมจะยิงตรงมายังผู้เสพก็ยิ่งแจ่มแจ้ง ชวนให้ตั้งคำถามถึงที่มาของความรู้และอายุขัยของมัน

ภาพเขียนสีน้ำมันเหล่านี้ชวนให้เราตั้งคำถามกับความเข้าใจของตัวเอง สืบค้นไปจนถึงต้นตอและที่มาขององคาพยพต่างๆ ที่มีส่วนหล่อหลอมภาพจำ โดยเฉพาะชนิดที่เป็นเปลือกอันผิวเผินสำหรับภาคอีสาน อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจตามที่รัฐต้องการ เชื้อเชิญให้ผู้ชมใช้วิจารณญาณของตนหาคำตอบว่า แม้วันเวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ‘ประเทศเล็กของเรานี้สมบูรณ์ดีหรือยัง’

เขาไม่ให้คำตอบที่ตายตัวและนำเสนอแนวคิดที่ชัดเจนจบครบในนิทรรศการนั้นคราเดียว ทว่ายังคงใช้แนวคิดและวิถีการทำงานแบบเดียวกันนี้ สร้างสรรค์ผลงานขึ้นอีกชุดสำหรับจัดแสดงในนิทรรศการที่งาน Bangkok Book Festival ซึ่งนอกจากมีส่วนที่จัดจำหน่ายหนังสือแล้ว ยังเชิญศิลปินผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับหนังสือในมิติต่างๆ มาร่วมจัดแสดงงานศิลปะซึ่งเกิดจากหนังสืออีกด้วย เดิมมีกำหนดจัดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่จำต้องเลื่อนไปปีหน้าโดยปริยายเพราะเหตุสถานการณ์โรคระบาด COVID-19

ประทีปเล่าให้เราฟังว่า เขาเพิ่มความพิเศษอันซับซ้อนลงไปในกลวิธีการเรียงร้อยชุดภาพวาดปกหนังสือในคราวนี้ เพื่อการสื่อสารความอันชัดเจน

“เวลาผมเรียงร้อยภาพในนิทรรศการ มันทำให้เกิดการสร้างความหมายและเชื่อมกันระหว่างรูปได้ ผมจะไม่คิดแค่เอาปกไหนมาต่อปกไหน แบบนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากสตอรี่บอร์ด แต่ผมพยายามทำให้เกิดการสร้างความหมาย การอ่านภาพทั้งหมดในนิทรรศการจะต้องอ่านได้หลายแบบ โดยไม่นำให้เขาคิดเชื่อมโยง ฉะนั้น ไอ้การวางแต่ละปกมันทำให้คนคิดบางอย่างได้อย่างหนึ่ง แต่ผมก็จะรีบผลักมันซะว่าไม่ใช่ ด้วยการเอาปกอื่นมาวางต่อ”

'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020

ขณะนั้นที่เราจินตนาการถึงนิทรรศการดังกล่าวอยู่ ก็รู้สึกตื่นเต้นไปกับกลวิธีเทคนิคที่ประทีปเร่งเฉลยให้เราฟังล่วงหน้า คือขณะเดียวกับที่เราพบกับความเสียดายลึกๆ ภายในใจที่เราไม่อาจได้ชื่นชมนิทรรศการอันน่าสนใจนี้ในเร็ววัน

05

สู่ ‘ประชาธิปไตยที่ถาวร’

ฉับพลันนั้นความยินดีก็ได้แผ่ซาบซ่านทาบทั่วไปทั้งสรรพางค์กาย เมื่อประทีปปลอบใจเราว่าไม่จำเป็นต้องรอนานไปจนถึงปีหน้า เพราะปลายปีนี้เขาจะได้มีโอกาสนำผลงานภาพเขียนปกหนังสืออันเป็นอนุสนธิ์จาก ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ ในงาน Khonkaen Manifesto 2020 ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นช่วงเดือนธันวาคมนี้ 

ถ้าใครจำได้ ขอนแก่นมานิเฟสโต้ที่จัดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน โด่งดังขึ้นมาจากสถานที่จัดงานซึ่งเป็นตึกร้างริมถนนมิตรภาพ นำเสนอศิลปะที่ชวนสะท้อนให้เห็นความสำคัญของเมืองขอนแก่น และชวนให้หันกลับมาคิดตั้งคำถามถึงเรื่องพื้นฐานทั่วไปอย่างสิทธิมนุษยชน

ถนอม ชาภักดี ผู้จัดงาน ได้ร่วมกับศิลปินท่านอื่น รีโนเวตอาคารสีขาวริมบึงแก่นนครขึ้นเป็น The Manifesto by MAIELIE สถานที่อันเป็นหมุดหมายสำหรับปฏิบัติการด้านศิลปะอย่างเสรีโดยเฉพาะ และเป็นที่สำหรับจัดงาน Khonkaen Manifesto ในช่วงปลายปีที่จะถึง

คราวนี้ประทีปนำเสนอเซ็ตภาพจิตรกรรมปกหนังสือ ภายใต้ชื่อซึ่งยังคงหยิบยืมมาจากชุดหนังสือหัดอ่าน ‘นิทานร้อยบรรทัด’ ว่า ‘ประชาธิปไตยที่ถาวร’ ผ่านแนวคิดและกลเทคนิควิธีการแบบเดิม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลายเซ็นของเขาไปแล้ว

อาจารย์หม่อมเล่าถึงที่มาที่ไปของชื่ออันแฝงแนวคิดเชิงเสียดสีอยู่ในทีว่า “ดูตลกร้ายตรงที่หนังสือ ประชาธิปไตยที่ถาวร เป็นแบบเรียนในยุคเผด็จการสฤษดิ์ แล้วมันจะเป็นประชาธิปไตยที่ถาวรได้ยังไง”

การค้นคว้าและสะสมหนังสือเก่าทำให้ศิลปินท่านนี้ได้พบเจอปกหนังสือที่น่าสนใจอยู่เรื่อยๆ เขาจึงดำเนินการสร้างสรรค์ผลงานของเขาไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยไม่มีหมุดหมายแห่งเวลาอันเป็นที่สิ้นสุดเป็นเส้นชัย

'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020

“มีหนังสือเก่าที่เราเจออยู่เรื่อยๆ ผมจะเขียนปกที่สนใจอยู่ตลอด การจัดแสดงแต่ละครั้งก็จะเอาเท่าที่ปริมาณและเวลาจะอำนวย แต่พองานจบเราก็ยังคิดอยากทำต่อ เพราะยังมีเซ็ตแบบเรียนหรือหนังสือที่สร้างภาพจำเรื่องท้องถิ่นต่างจังหวัดอยู่อีกมาก”

แรงบันดาลใจอันวิเศษข้อนี้ทำให้อาจารย์ประทีปได้เจอลิสต์หนังสือต้องห้าม ซึ่งจะกลายมาเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่เขาจะนำไปร่วมจัดแสดงครั้งนี้ด้วย

“มีอีกอันที่เป็นเอกสารของทางราชการ คือประกาศรายการหนังสือต้องห้ามที่ถูกนำมารวมเล่มพิมพ์แจก เป็นเอกสารประมาณ พ.ศ. 2521 คือหลัง 6 ตุลา 2519 เหตุการณ์นั้นทำให้มีการสั่งห้ามหนังสือบางประเภท ซึ่งมันสะท้อนแนวคิดบางอย่างของรัฐบาลสมัยนั้น ผมเลยจะหยิบมาวาด”

หนังสืออีกกลุ่มที่จะถูกแต่งแต้มขึ้นเพื่อนำไปจัดแสดงคืออนุสาร อ.ส.ท. ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์จากรัฐสมัยจอมพลสฤษดิ์ เพราะประทีปเห็นอิทธิพลอันเป็นผลพวงที่หนังสือกลุ่มนี้ยังคงทำงานอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยตั้งแต่สมัยนั้นจนกระทั่งปัจจุบัน

“ตอนนั้นสฤษดิ์ตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (อ.ส.ท.) เพราะไทยเหมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับต่างชาติมาก รอบๆ เราเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมดแล้ว รัฐบาลจึงใช้จังหวะและความพร้อม โปรโมตภูมิภาคต่างจังหวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การไปสุรินทร์เพื่อขี่ช้างก็เกิดขึ้นยุคนี้ เขาวาดภาพจำให้มันโรแมนติก ปกปิดภาพความเดือดร้อนและซ่อนเร้นเรื่องคอมมิวนิสต์ไว้เบื้องหลัง”

ใครที่พลาดประเทศเล็กที่สมบูรณ์ครั้งก่อนก็อดใจรออีกนิด แม้คราวนี้อาจารย์หม่อมจะนำไปร่วมจัดแสดงเพียงไม่กี่ปก แต่เชื่อได้เลยว่าพูดน้อยต่อยหนักแน่นอน

06

ดุสิตธานี

การสร้างสรรค์งานศิลปะที่เล่นกับอดีต การเมือง และภาพจำ อันเป็นผลพวงจากเส้นสายแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกาลเวลาและประวัติศาสตร์ น่าจะเป็นเอกลักษณ์ของประทีป สุธาทองไทย ไปแล้วโดยปริยาย

ผลงานชิ้นสำคัญซึ่งกำลังจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งในงาน Bangkok Art Biennale 2020 ที่กำลังแสดงอยู่ คือนิทรรศการชุด ‘ดุสิตธานี’ ที่ The Prelude One Bangkok ซึ่งเป็นประจักษ์หลักฐานที่ชี้ให้เห็นวิถีการทำงานศิลปะอิงประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างสืบเนื่องของศิลปินท่านนี้

“เกิดขึ้นจากที่ผมเห็นว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะของการหาทางออกอะไรบางอย่างในสังคม ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีข้อถกเถียงมากมาย บางอย่างลึกซึ้งไปจนถึงขั้นว่าประชาธิปไตยเป็นยังไง ผมเลยนึกถึงดุสิตธานี เมืองจำลองของรัชกาลที่ 6”

นิทรรศการนำเสนอผังจังหวัดดุสิตธานีและภาพลายเส้นของอาคาร 6 หลังภายในเมือง ซึ่งล้วนเป็นผลิตผลแห่งการอุปโลกน์ขึ้นของประทีปโดยการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น เขาจงใจเล่นกับความจริงจังของเมืองจำลองประชาธิปไตยในอุดมคติแห่งนี้ ที่แม้จะดูคล้ายเพียงการละเล่นของเจ้านายก็ตาม

'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020

“ผมพูดในมิติที่มันเป็นเมืองในจินตนาการมากกว่า การไปบอกว่าดุสิตธานีคือเมืองประชาธิปไตยแสดงว่าทรงพระกรุณามาก ถ้าทุกวันนี้ไปถึงจุดนั้นได้แล้ว เราก็คงจะเฉลิมฉลองกันได้เต็มที่ แต่แล้วมันใช่ไหมล่ะ”

นครแห่งสิทธิและความเท่าเทียมนี้จึงเป็นความฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อของชนชั้นนำไทย ที่รุ่มรวยไปด้วยสภาวะแห่งความสมบูรณ์แบบไปเสียทุกด้าน ทั้งผังเมือง สาธารณูปโภค และวิถีการปกครอง เรียกได้ว่าถอดแบบประเทศประชาธิปไตยในอุดมคติมาอย่างกับแกะ ชวนให้ตั้งคำถามถึงความตั้งใจในการเล่นอย่างจริงจัง

ดุสิตธานีถูกนำเสนอคู่กับภาพวิดีโอมุมสูงของ ‘หมู่บ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ หรือ ‘หมู่บ้านน้อมเกล้า’ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อันเป็นชุมชนของคอมมิวนิสต์ผู้อกหักจากระบอบการปกครองที่ฝ่ายตนปรารถนา หันออกจากป่า มุ่งหน้าสู่เมือง

ภาพทั้งสองคือคู่ปฏิพากย์อันขัดแย้งของความผิดหวังจากคน 2 กลุ่ม ที่แม้เกิดขึ้นด้วยเหตุเดียวกัน แต่กลับมีรูปร่างสาระที่แตกต่างกัน

'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020
'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020

“บ้านน้อมเกล้าก็เป็นเมืองในฝันอีกมิติหนึ่ง พูดถึงสภาพแวดล้อมและชีวิตสมบูรณ์แบบที่แตกต่างจากลักษณะหมู่บ้านทั่วไป เป็นหน้าที่ของคนดูที่เขาจะต้องเชื่อมโยงเมืองจำลองของ ร.6 เข้ากับหมู่บ้านของคอมมิวนิสต์เก่า วันก่อนมีคนไปดูแล้วโพสต์ว่า ‘ดุสิตธานีคือเมืองในฝันของเจ้า บ้านน้อมเกล้าคือเมืองในฝันของบ่าว’ เป็นการคิดถึงเมืองในฝันของคนแต่ละชนชั้น

“ภาพรวมของงานไม่ได้นำเสนออะไรด้านเดียว มีเรื่องอกหักด้วยนะ ดุสิตธานีคือความอกหักของเจ้าที่ไม่มีคนทำต่อ สานต่อ ถูกทิ้งร้างไป ส่วนบ้านน้อมเกล้าก็เป็นความผิดหวังของพวกสังคมนิยมที่ต้องออกจากป่า สุดท้ายนิทรรศการอาจจะไม่ได้นำเสนอภาพสมบูรณ์ของความฝันก็ได้”

อรรถะของประทีปยังคงชัดเจนเหมือนเดิม นิทรรศการนี้นำผู้ชมไปสัมผัสภาพคติอันอุดมของกษัตริย์ไทยก่อนสมัยแห่งการอภิวัฒน์สยาม 2475 เปรียบเทียบเรียบเคียงไปกับภาพความปรารถนาสูงสุดของชนชั้นไพร่ผู้ฝักใฝ่ระบอบการปกครองอีกฝั่ง แล้วค่อยเชื้อเชิญให้ตั้งหลากคำถามในหลายประเด็นสังคม ทั้งเรื่องการปกครอง ความฝันใฝ่ ความปรารถนา และความจริงจัง รับรองได้เลยว่าแต่ละคนจะต้องฉุกคิดคำถามและมีคำตอบในใจต่างกัน

07

คำตอบที่ไม่ตายตัว

ถ้าจะกล่าวโดยกระชับเพื่อประหยัดเวลาอันกระชั้นให้มากที่สุด คงต้องกล่าวว่างานศิลปะของประทีปส่วนมากถือกำเนิดขึ้นจากความสนใจใคร่รู้ส่วนตัวทั้งสิ้น โดยมีเสน่ห์แห่งประวัติศาสตร์ซึ่งเขาได้ทำพันธสัญญารักมาแต่เยาว์วัยเป็นความพิเศษจำเพาะ การศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งและกว้างขวางทำให้เขาเห็นภาพ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นประเด็นให้แก่งานของเขา

“ข้อมูลที่เราสนใจจะขยายจากจุดหนึ่งไปหาอีกจุดหนึ่ง จนวันหนึ่งมันค่อยๆ ขยับไปเติมเต็มกันเอง กลายเป็นงานศิลปะขึ้นมาได้จากชั่วขณะแวบเดียวที่เกิดขึ้นมาว่าอยากทำ โดยที่ไม่ต้องสนใจด้วยซ้ำว่ามันจะสื่อสารอะไรได้ในตอนแรก ต่อมาเราก็ค่อยๆ ตีกรอบ ทำเป็นงานขึ้นมาแต่ละครั้ง”

เพียงความปรารถนาที่ผุดขึ้นมาท่ามเศษเสี้ยวกษณะเดียวในสมอง ก็ก่อเกิดขึ้นมางานศิลปะที่สื่อสารัตถะอันซับซ้อน ทว่าไม่ได้ตอบคำถามใดๆ ด้วยคำตอบตายตัวเพียงหนึ่ง ผู้ชมจึงจำเป็นต้องใช้กำลังแห่งปัจเจกชนในการพิเคราะห์หาเนื้อความของผลงานแต่ละชิ้น

“ไม่ใช่ว่าผมไม่บอกเมสเสจนะ แต่ผมไม่ให้คำตอบที่ตายตัวมากกว่า อย่างผลงานภาพถ่าย อยู่ที่ว่าจะมองอะไรตรงไหนก่อน แต่ละคนก็มองไม่เหมือนกันตามประสบการณ์ เหมือนผมนำเสนอฟอร์มหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมองได้หลายด้าน บางครั้งเห็นก่อนเห็นหลังก็ต้องมาคุยกันว่ามันต่างกันไหม เห็นอันนี้ก่อนกับเห็นอันนี้ที่หลัง แต่ถ้ามาคุยแล้วว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ก็ใช้ได้”

กระโดดถอยย้อนหลังกลับไปในตอนต้น คราวนี้ขอให้ทุกอ่านกลับไปอ่านคำตอบที่ทดเอาไว้

ความไม่ตายตัวคือหนึ่งในสามัญลักษณะของสรรพสิ่งบนโลกนี้ ผมจึงขอแสดงความเสียใจที่สุดท้ายแล้วไม่อาจมีคำเฉลยอันสัมบูรณ์ให้ได้ เช่นเดียวกันกับงานศิลปะของประทีปที่ไม่ชี้ชัดฟันธงลงไปว่าอะไรคืออะไร แต่กระบวนการซึ่งจะทำให้ได้ฉุกคิดและหันมาตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ ที่เขานำเสนอแต่ละคราว คือตะกอนความคิดอันเป็นดอกผลซึ่งน่าอภิรมย์กว่าคำตอบถูกผิดสีขาวดำที่อยู่ตรงกันข้ามเพียง 2 ขั้วเท่านั้น

'ดุสิตธานี' งานศิลปะจากความฝันที่ไม่สมบูรณ์ของไทยโดย ประทีป สุธาทองไทย ใน BAB 2020

ภาพ : ภาณุพงษ์ อันสนธิ์ และ 100 ต้นสน แกลเลอรี่

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey