คุณแจ๊ค-หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์ กำลังคอยผมอยู่ที่หน้าเรือนประเสบัน บ้านปลายเนิน วันนี้เรามีนัดสำคัญเพื่อพาผู้อ่าน The Cloud มาชมสถาปัตยกรรมที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ ‘สมเด็จครู’ ผู้ทรงเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง และผมเชื่อว่าเป็นผลงานฝีพระหัตถ์ที่น้อยคนนักจะมีโอกาสเห็น

“เราจะเริ่มกันตรงไหนก่อนดีครับ” ผมถามคุณแจ๊ค

“ตรงนี้เลยครับ” คุณแจ๊คกล่าว พร้อมนำผมไปยังมะพร้าว 2 ต้น ต้นหนึ่งสูงเสียดฟ้า อีกต้นสูงเพียงครึ่ง แต่กำลังออกผลสีเขียวอ่อนเต็มทะลาย

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย

“ผมอยากให้พี่ดูมะพร้าวสองต้นที่ปลูกอยู่หน้าเรือนประเสบัน ความจริงมันดูไม่สวยเลยนะครับ แล้วยังบังเรือนอีกด้วย (หัวเราะ) ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า ต้นมะพร้าวที่ปลูกอยู่ตรงนี้เป็นเสมือนเป็นสัญลักษณ์ว่า มีเด็กถือกำเนิดขึ้นมาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้านปลายเนิน พอเด็กมีอายุครบเดือน ผู้ใหญ่จะจัดให้มีพิธีทำขวัญเดือนขึ้น มีพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ และมีพราหมณ์นำน้ำมนต์ที่ได้จากพิธีสงฆ์มาประกอบพิธีพราหมณ์ต่อ ซึ่งจะประกอบไปด้วยวัตถุมงคลหลายอย่าง เพื่ออำนวยพรให้แก่เด็กคนนั้น 

“พราหมณ์จะนำต้นมะพร้าวอ่อนปิดกระดาษเงินและทองอย่างละต้นมาด้วย โดยเด็กจะต้องลงไปอาบน้ำในขันที่ใส่น้ำมะพร้าว เสร็จแล้วก็จะนำต้นมะพร้าวไปปลูก เพื่อเป็นการอวยพรให้เด็กคนนั้นเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและแข็งแรง มะพร้าวที่ใช้ในพิธีทำขวัญเดือนของผม ก็ได้นำมาปลูกไว้ที่หน้าเรือนประเสบันหลังนี้”

เรือนประเสบันเป็นเรือนที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบประทานพระโอรสพระองค์ใหญ่ พูดง่ายๆ ก็คือพ่อเป็นผู้ออกแบบและสร้างบ้านให้ลูกชายด้วยตนเอง 

“เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็ได้มีโอกาสย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ที่เรือนประเสบันเมื่อตอนแต่งงาน และกลายมาเป็นผู้ดูแลรักษาสถานที่แห่งนี้สืบต่อจากบรรพบุรุษ ต้นมะพร้าวต้นสูงๆ ที่เห็นอยู่นี้มีอายุสี่สิบเอ็ดปี เป็นต้นของผมเอง ส่วนต้นเตี้ยอายุสิบปี เป็นต้นของลูกชายผม เรื่องราวอันเป็นเกร็ดของครอบครัวที่ผมกำลังถ่ายทอดให้พี่ฟังนี้มีคุณค่าต่อตัวผมมากๆ”

วันนี้ นอกจากคุณแจ๊คแล้ว เรายังได้รับความกรุณาจาก หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์ จิตรพงศ์ คุณแม่ของคุณแจ๊ค และ คุณโต้ง-หม่อมหลวงอนุวาต ไชยันต์ ญาติผู้พี่ของคุณแจ๊ค ผู้เป็นสมาชิกของบ้านปลายเนิน มาร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวหลากมิติอันทรงคุณค่า เกี่ยวกับเรือนประเสบันและบ้านปลายเนินไปพร้อมๆ กัน 

‘บ้านของลูกชาย 

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จมาประทับที่บ้านปลายเนิน ตำบลคลองเตย เมื่อ พ.ศ. 2457 ด้วยต้องพระอัธยาศัยว่าอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง มีอากาศบริสุทธิ์กว่าวังท่าพระอันเคยเป็นที่ประทับ และเหมาะกับพระพลานามัยในขณะนั้น

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นต้นราชสกุลจิตรพงศ์ โดยทรงมีคู่พระบารมี 3 ท่าน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์ปลื้ม (ราชสกุลเดิม ศิริวงศ์) หม่อมมาลัย (สกุลเดิม เศวตามร์) และ หม่อมราชวงศ์โต (ราชสกุลเดิม งอนรถ) ตามลำดับ แต่มิใช่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งต่างจากธรรมเนียมในสมัยนั้นที่นิยมมีภรรยาหลายคน เมื่อหม่อมราชวงศ์ปลื้มสิ้นชีวิต จึงทรงมีหม่อมมาลัย ต่อมาเมื่อหม่อมมาลัยสิ้นชีวิตลงอีก จึงได้ทรงรับหม่อมราชวงศ์โตเป็นคู่พระบารมี

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระโอรสธิดาอันประสูติแต่คู่พระบารมีทั้งสาม เรียงตามลำดับดังนี้

1. พระธิดาที่ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์ปลื้ม คือ หม่อมเจ้าปลื้มจิตร (ท่านหญิงเอื้อย ต่อมาสิ้นชีพิตักษัยเมื่อพระชนม์เพียง 26 ชันษา)

2. พระโอรสที่ประสูติแต่หม่อมมาลัย คือ หม่อมเจ้าเจริญใจ (ท่านชายยี่)

3. พระโอรส-ธิดาที่ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์โต คือ หม่อมเจ้าประโลมจิตร (ท่านหญิงอี่-ต่อมาทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์) หม่อมเจ้าดวงจิตร (ท่านหญิงอาม) หม่อมเจ้ายาใจ (ท่านชายไส-ต่อมาทรงเสกสมรสกับหม่อม Jacqueline Dubois) หม่อมเจ้าเพลารถ (ท่านชายงั่ว-ต่อมาทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้ากุมารีเฉลีมลักษณ์ ดิศกุล) และ หม่อมเจ้ากรณิกา (ท่านหญิงไอ)

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พร้อมพระโอรส-ธิดา
ประทับยืนจากซ้ายไปขวา-หม่อมเจ้ายาใจ (ท่านชายไส), หม่อมเจ้าเจริญใจ (ท่านชายยี่), หม่อมเจ้าประโลมจิตร (ท่านหญิงอี่), หม่อมเจ้าดวงจิตร (ท่านหญิงอาม) 
ประทับนั่งจากซ้ายไปขวาขหม่อมเจ้าเพลารถ (ท่านชายงั่ว) และ หม่อมเจ้ากรณิกา (ท่านหญิงไอ)
ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
หม่อมเจ้าเจริญใจ จิตรพงศ์ พระโอรสพระองค์ใหญ่

หม่อมเจ้าเจริญใจทรงเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษอยู่นาน จนทรงสำเร็จการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเสด็จกลับมารับราชการที่แผนกทางหลวงแผ่นดินเมื่อประมาณ พ.ศ. 2469 คาดว่าเมื่อเสด็จกลับมาและทรงมีครอบครัวแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงทรงออกแบบและสร้างเรือนประเสบันให้เป็น ‘บ้าน’ เพื่อประทานพระโอรสพระองค์นี้ แต่ขณะนั้นเรือนประเสบันไม่ได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย

“ตอนที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จมาประทับที่บ้านปลายเนิน ได้ทรงสร้างอาคารขึ้นจำนวนหนึ่ง เป็นหมู่เรือนซึ่งเป็นลักษณะที่อยู่อาศัยของครอบครัวเล็กๆ คือมีพ่อ หมายถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และลูกๆ คือพระโอรส-ธิดาของพระองค์ท่าน ก็คือท่านปู่ท่านย่าของผม ผมได้ยินผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า เมื่อก่อนหมู่เรือนจะปลูกเรียงกันต่อๆ ไปหลายหลังเหมือนขบวนรถไฟ แต่ไม่ทราบจำนวนว่ามีกี่หลัง 

“ทีนี้เรื่องมันโป๊ะมาก คือวันหนึ่งมีกลุ่มคนที่อนุรักษ์อาคารโบราณได้โพสต์แผนที่โบราณฉบับหนึ่งในเฟซบุ๊ก เพื่อสอบถามถึงอาคารโบราณ ซึ่งเคยตั้งอยู่ในพื้นที่ของการไฟฟ้าข้างๆ บ้านปลายเนิน พอผมได้เห็นแผนที่ฉบับนั้น ผมก็เฮ้ย นี่มันบ้านเรานี่หว่า ก็เลยเอาแผนที่มาดูอย่างละเอียด จากแผนที่จะเห็นเลยว่ามีหมู่เรือนทั้งหมดห้าหลังเรียงต่อๆ กันไป มีเส้นเชื่อมทุกหลังไว้ด้วยกัน นั่นแปลว่ามีชานเชื่อมทุกเรือนต่อกันไปทั้งหมด และยังเห็นที่ตั้งของเรือนประเสบันแต่แรกเริ่มด้วย” คุณแจ๊คอธิบายพร้อมชี้ให้ชมแผนที่สำคัญ ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นของกรมแผนที่ทหารฉบับ พ.ศ. 2475

หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ คุณพ่อของคุณแจ๊ค พระนัดดาหรือหลานปู่ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้เคยบันทึกสภาพบ้านปลายเนินในระยะแรกๆ ไว้ในหนังสือ ก้าวสู่ควอร์เตอร์สุดท้ายแห่งชีวิต ความว่า 

“สภาพของ วังปลายเนิน นั้นแตกต่างจากลักษณะปัจจุบันราวฟ้ากับดิน ถนนพระรามสี่หน้าวังยังเป็นถนนรถเล็กวิ่งสวนกันได้ ตัดตรงคู่ขนานกับ ‘คลองเตย’ (หรือคลองหัวลำโพง) ระหว่างถนนกับคลองมีทางรถไฟสายปากน้ำอยู่ตรงกลาง พื้นที่ละแวกนี้ยังเป็นท้องนาเวิ้งว้างอยู่ มีคูริมถนนอยู่ทั่วไป

“เวลาเลี้ยวเข้าวังต้องข้ามทางรถไฟสายปากน้ำก่อน แล้วจึงมีสะพานคอนกรีตข้ามคลอง เมื่อมองจากหน้าวังจะเห็นต้นไม้ใหญ่ๆ ส่วนมากเป็นต้นก้ามปู ผ่านเข้าไปในวังก็เห็นตำหนักไทยหมู่ใหญ่ตั้งเป็นประธาน มีทางรถยนต์วิ่งเป็นวงรีหน้าตำหนัก มีที่จอดรถในร่มทอดหลังคาต่อเนื่องขึ้นบันไดหน้าที่สวยงามมาก ตำหนักไทยหมู่นี้สมเด็จปู่ท่านทรงประกอบขึ้นจากเรือนไทยเก่าๆ ที่เจ้าของรื้อขาย นำมาปลูกติดต่อกันทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก มีนอกชานเชื่อมต่อกันโดยตลอด วิธีจัดหมู่เรือนไทยเช่นนี้ผิดไปจากประเพณีการปลูกเรือนซึ่งมีมาแต่โบราณ ซึ่งมักจัดเรือนหมู่ใหญ่เป็นกลุ่มรอบชาน หรือล้อมรอบหอนั่งตรงกลาง สมเด็จปู่ท่านทรงจัดหมู่เรือนไม้เสียใหม่ให้เรือนทุกหลังรับลมได้ตามฤดูกาล อยู่สบายยิ่งนัก”

คุณแจ๊คชวนให้ดูแผนที่พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “จากแผนที่ จะเห็นว่าบ้านปลายเนินในยุคแรกมีเรือนอยู่สามกลุ่ม คือ หมู่เรือนที่เราเรียกว่าตำหนักไทย อันเป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และพระโอรส-ธิดาของพระองค์ท่านที่ยังเยาว์พระชันษา มองจากคลองหัวลำโพงเข้ามา ด้านซ้ายจะเป็นเรือนประเสบันของท่านชายเจริญใจ และหมู่เรือนทางด้านขวาเป็นของท่านย่าอี่ ทั้งสองพระองค์เป็นโอรส-ธิดาพระองค์ใหญ่ที่ทรงมีครอบครัวแล้ว จึงแยกเรือนออกมา”

คุณโต้ง หรือ หม่อมหลวงอนุวาต ไชยันต์ ผู้ร่วมการสนทนาอยู่ด้วยกล่าวว่า “ตำแหน่งดั้งเดิมที่เรือนประเสบันเคยตั้งอยู่ ก็คือบริเวณต้นลั่นทมขาวที่ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นหน่อของต้นดั้งเดิม ต้นลั่นทมต้นนี้แหละที่แสดงตำแหน่งของเรือนประเสบัน เพราะตอนเด็กๆ สมัยที่พี่อยู่เรือนประเสบัน ตอนนั้นเรือนประเสบันหันตัวเรือนไปอีกด้าน ต่างกับปัจจุบัน และพี่จำได้ว่ามีต้นลั่นทมต้นนี้ปลูกอยู่ ดังนั้น พี่หวงต้นลั่นทมต้นนี้มาก ห้ามตัดทิ้งเด็ดขาด (หัวเราะ)” 

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
คุณโต้ง-หม่อมหลวงอนุวาต ไชยันต์

คุณโต้งเป็นผู้ที่ทันอาศัยอยู่ที่เรือนประเสบันในตำแหน่งเดิมเมื่อตอนยังเล็ก เพราะหลังจากที่หม่อมเจ้าเจริญใจสิ้นชีพิตักษัยลงใน พ.ศ. 2493 ขณะมีพระชนม์เพียง 52 ชันษา เรือนประเสบันได้กลายมาเป็นที่พำนักของ หม่อมราชวงศ์สาฎก ไชยันต์ คุณพ่อของคุณโต้ง

“พี่จำอะไรมากไม่ได้เพราะยังเด็กมาก และอาศัยอยู่ที่เรือนประเสบันจนอายุประมาณ 5 ปี หลังจากนั้นพ่อก็เสีย แล้วต่อมาก็มีการรื้อและย้ายเรือนประเสบันมายังตำแหน่งปัจจุบัน” คุณโต้งกล่าว

คุณแจ๊คเล่าเสริมว่า “มีรูปที่ท่านปู่ไสและท่านปู่งั่วทรงถ่ายเก็บไว้เยอะมาก และเห็นเรือนประเสบันในบางมุม อย่างรูปนี้จะเห็นพ่อยืนตรงหน้าเรือนประเสบันพอดี ซึ่งถ่ายตอนพ่อกลับมาจากอังกฤษ เป็นช่วงที่มาเยี่ยมบ้าน จะเห็นเรือนประเสบันอยู่ด้านหลัง เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวหลังเล็กๆ เหมือนกระท่อมไม้ แม้จะมีใต้ถุน แต่ก็เตี้ยมากๆ ผิดจากบ้านคนไทยสมัยก่อนซึ่งมักมีใต้ถุนสูง” คุณแจ๊คชวนชมภาพดั้งเดิมที่เห็นบางส่วนของเรือนประเสบัน

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ ถ่ายหน้าภาพเรือนประเสบันสมัยที่ยังตั้งอยู่ในตำแหน่งเดิม ก่อนย้าย สังเกตได้ว่าเป็นเรือนไม้ใต้ถุนเตี้ย 

“อีกรูปเป็นรูปพ่อตอนเด็กๆ กำลังแสดงอิทธิฤทธิ์เป็นคาวบอยอยู่ข้างเรือนประเสบัน (หัวเราะ) รูปนี้ผมอยากให้ลองสังเกตพื้นถนน ซึ่งเป็นซีเมนต์พิมพ์ลายก้างปลา นอกจากรูปนี้ยังมีรูปถ่ายพ่ออีกหลายรูปในบริเวณอื่นๆ ของบ้านปลายเนิน เราจะเห็นถนนที่ทำจากแผ่นซีเมนต์ลายก้างปลาทั้งหมด ซึ่งแผ่นซีเมนต์ลายนี้ช่วยระบายน้ำได้ดีมาก ไม่ทำให้ถนนลื่นเลย ซีเมนต์ลายก้างปลาถือเป็นซิกเนเจอร์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

“ผมได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า ท่านทรงคิดผลิตแผ่นซีเมนต์ลายนี้ขึ้นด้วยพระองค์เอง และคงจะโปรดมาก เพราะนอกจากจะปรากฏอยู่บนแผ่นซีเมนต์ปูพื้นแล้ว เรายังพบภาพตำหนักไทยในสมัยก่อน มีผนังที่เป็นลายก้างปลาในลักษณะเดียวกัน ถ้าสังเกตดูดีๆ ลายก้างปลานี้เหมือนลายผ้าทวีด เป็นลายที่เรียกว่า แฮริ่งโบน ทวีด (Herringbone Tweed) ซึ่งมักนำมาใช้ตัดสูท ตัดเบลซอร์คุณภาพดี เป็นลายผ้าที่ชาวยุโรปนิยม ผมสันนิษฐานว่าท่านก็คงจะโปรดลายนี้ จึงทรงนำมาประดิษฐ์เป็นลายวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในบ้านปลายเนิน”

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
หม่อมราชวงศ์จักรรรถ จิตรพงศ์ ในวัยเด็ก ถ่ายภาพที่ทางเข้าบ้านปลายเนินในยุคแรก เรือนประเสบันอยู่ทางซ้าย ตำหนักไทยอยู่ทางขวา สังเกตถนนที่เป็นซีเมนต์ลายก้างปลา (Herringbone Tweed)
ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
ตำหนักไทยที่ประดับผนังลายก้างปลา

เพื่อช่วยให้จินตนาการถึงบรรยากาศเรือนประเสบันและบ้านปลายเนินในยุคแรกๆ ได้ว่าเป็นอย่างไร ผมจึงขออนุญาตคัดข้อความที่หม่อมราชวงศ์จักรรถเคยบรรยายไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันมาให้อ่าน เชื่อว่าหลายท่านจะอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว ด้วยยากที่จะเชื่อว่าริมถนนพระราม 4 กลางเมืองที่แสนวุ่นวายอย่างกรุงเทพฯ ในวันนี้ ในอดีตกลับแวดล้อมไปด้วยผืนนาป่าไม้และคูคลองอันใสสะอาด

“หลังวังเป็นป่ารก มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด และเป็นที่ผจญภัยของเรารุ่นเล็ก เล่ากันว่าสมัยสงครามพี่สาฎก (หม่อมราชวงศ์สาฎก ไชยันต์-โอรสหม่อมเจ้าประโลมจิตร ไชยันต์) ยิงเสือดาวได้ตัวหนึ่งในป่าหลังวัง เรื่องนี้ไม่น่าเชื่อ เพราะรอบวังเป็นผืนนาทั้งนั้น แต่ก็เป็นเรื่องจริง ผมยืนยันได้เพราะเห็นหนังเสือตัวนี้พร้อมรูกระสุนด้วยตาของตัวเอง เรื่องมีอยู่ว่าทหารญี่ปุ่นลำเลียงสัตว์ป่ามาทางรถไฟ พอรถไฟแล่นมาถึงบริเวณหลังวัง ลูกเสือมันหลุดออกมาจากกรง แล้วเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในป่า สร้างความเดือดร้อนเพราะมันขโมยไก่วังกิน พี่สาฎกเป็นหลานรุ่นใหญ่ จึงต้องรับหน้าที่พรานไปกำจัดเสีย”

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
หม่อมราชวงศ์สาฎก ไชยันต์ โอรสหม่อมเจ้าประโลมจิตร ไชยันต์ คุณพ่อของคุณโต้ง

“ส่วนหน้าวังเรามีวิธีเล่นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสนุกพอกัน คือการกระโดดเล่นน้ำคลอง ผมเล่นป้วนเปี้ยนอยู่ริมคลองและในคลองตั้งแต่น้ำในคลองเตยยังใสสะอาด มีผู้สัญจรไปมาทางเรือสารพัดชนิด ในน้ำมีปลาใหญ่น้อยมากพอที่จะทำเบ็ดหาเหยื่อมาหัดตกปลา หนักเข้าก็ให้เขาสอนวิธีล่าสัตว์ด้วยฉมวกด้ามไม้รวก ซึ่งไม่เคยแทงโดนปลาเลยสักตัวเดียวเช่นกัน” 

คุณโต้งได้ร่วมแบ่งปันความทรงจำด้วยว่า “พี่ยังทันเห็นคลองหัวลำโพงที่หน้าบ้านปลายเนินนะ แต่ไม่ใสสะอาดอย่างที่คุณชายจักรรถเขียนไว้ มันเริ่มมีหมาเน่าลอยมาแล้ว (หัวเราะ)”

ย้ายเรือนประเสบัน

“พอพ่อเสีย ประมาณ พ.ศ. 2512 – 2513 ก็เป็นช่วงที่มีการแบ่งที่ดินสำหรับพระโอรส-ธิดาแต่ละองค์ ซึ่งที่ดินจะเรียงต่อๆ กันจากด้านหน้าริมถนนพระรามสี่ไปจนลึกสุดด้านในของพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการตัดถนนเพื่อเชื่อมที่ดินแต่ละแปลง ให้เป็นทางเข้าออกของสมาชิกทุกคน พื้นที่ถนนสายใหม่จำเป็นต้องตัดผ่านเรือนประเสบัน พี่ก็เลยย้ายออกมาอยู่บ้านหลังใหม่ในที่ดินของท่านย่าอี่ ส่วนประเสบันก็ต้องรื้อลงและหาที่ตั้งใหม่” คุณโต้งเอ่ย

หม่อมราชวงศ์จักรรถได้บรรยายถึงช่วงเวลานี้ไว้ว่า “วังปลายเนินค่อยๆ เปลี่ยนรูปโฉมไปจากเดิมเป็นอันมาก เริ่มจากการรถไฟเลิกวิ่งรถไฟสายปากน้ำแล้วรื้อทางรถไฟออก เหลือแต่ถนนที่เรียกว่า ‘ทางรถไฟเก่าสายปากน้ำ’ จากนั้นทางการก็เริ่มถมคลองเตย เพื่อขยายถนนพระรามสี่ให้เป็นถนนใหญ่ ทำให้ ‘วังปลายเนิน’ ไม่ต้องมีสะพานข้ามคลองเข้าวังอีกต่อไป และทำให้ตำหนักไทยอยู่ใกล้ถนนใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหาจากการสั่นสะเทือนกับมลภาวะเป็นพิษเป็นอย่างมาก เจ้านายท่านจึงตัดสินพระทัยปรับปรุงภายในวังยกใหญ่ เท่ากับปฏิรูปกันใหม่ก็ว่าได้ 

“เริ่มจากการแบ่งที่ดินเป็นแปลงๆ เรียงจากหน้าวังไปหลังวัง มีถนนตลอดขอบที่ดินทางตะวันออกเชื่อมถึงที่ดินทุกแปลงกันหมด หมู่ตำหนักไทยนั้นท่านรื้อลงทั้งหมด และสร้างขึ้นใหม่โดยตั้งลึกเข้าไปในวังประมาณ ห้าสิบเมตร สร้างใหม่เฉพาะตำหนักทรงงานและที่ประทับ โดยยกพื้นให้สูงขึ้นตั้งบนเสาคอนกรีตดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนประเสบันก็ตั้งอยู่ที่เดิมไม่ได้ เพราะจะเกะกะขวางถนนในวังสายใหม่ที่ทำขึ้น”

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์ จิตรพงศ์ ภรรยาหม่อมราชวงศ์จักรรถ คุณแม่ของคุณแจ๊ค

หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์ จิตรพงศ์ ภรรยาหม่อมราชวงศ์จักรรถ คุณแม่ของคุณแจ๊คเล่าเสริมว่า “ที่ดินแปลงที่ประเสบันตั้งอยู่ในปัจจุบันนั้นอยู่ลึกสุด เดิมเป็นที่ดินที่จัดสรรถวายท่านชายเจริญใจและครอบครัว แต่เมื่อท่านสิ้นไปแล้ว โดยมีโอรสอยู่หนึ่งคนคือ หม่อมราชวงศ์อุ่นใจ จิตรพงศ์ ซึ่งมีสุขภาพไม่แข็งแรง และต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 

ในตอนนั้น ท่านป้าอาม (หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์) ทรงตัดสินพระทัยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวของท่านชายเจริญใจ และประทานให้เป็นที่ดินของลูกๆ ของท่านชายงั่ว (หม่อมเจ้าเพลารถ จิตรพงศ์ พระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) โดยเงินที่ทรงซื้อที่ดินมานั้น ได้ประทานให้กับหม่อมราชวงศ์อุ่นใจ เพื่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่นานหลายปีจนสิ้นชีวิต ส่วนตัวเรือนประเสบันนั้น ท่านพ่อ-ท่านชายงั่ว เป็นผู้ซื้อ และประทานเงินก้อนนั้นให้เป็นค่ารักษาตัวของหม่อมราชวงศ์อุ่นใจด้วยเช่นกัน”

การย้ายเรือนประเสบันนั้นเป็นภารกิจสำคัญที่หม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ หรือท่านหญิงไอ พระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับดูแล หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์ได้เล่าต่อไปว่า 

“ท่านอาไอทรงเป็นผู้ที่กำกับการย้ายเรือนประเสบันมาตรงนี้ ความที่เรือนประเสบันเป็นเรือนชั้นเดียว ใต้ถุนเตี้ย เตี้ยจนใช้พื้นที่ไม่ได้ พอย้ายมาก็มีการปรับพื้นที่เสียใหม่ โดยถมดินให้สูงขึ้น จากเรือนชั้นเดียวกลายเป็นเรือนสองชั้น ทำให้ใต้ถุนสูงขึ้นจนใช้พื้นที่ด้านล่างได้ด้วย ทั้งหมดนี้ท่านอาไอทรงเล่าให้ฟัง เพราะท่านโปรดการช่าง การก่อสร้าง และก็ทรงกำกับการเรื่องเหล่านี้ได้ดี”

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย

เรือนประเสบันในตำแหน่งปัจจุบันและการปรับเปลี่ยน

ส่วนที่ 1 งานออกแบบฝีพระหัตถ์ดั้งเดิมในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ส่วนที่ 2 หม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ ทรงกำกับการย้ายเรือนประเสบัน และทรงคิดยกเรือนให้สูงขึ้นเพื่อให้เกิดพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น

ส่วนที่ 3 หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ ออกแบบส่วนขยาย

ส่วนที่ 4 หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์-คุณแจ๊ค ออกแบบส่วนเชื่อมเรือนเดิมและส่วนขยายด้านล่างในลักษณะ Glass Box

“ผมคิดว่าจุดที่น่าสนใจของเรือนประเสบัน เมื่อย้ายตำแหน่งมาสร้างตรงนี้คือการเล่นระดับ ทำให้บ้านมีมิติ มีลูกเล่น บ้านไม่เตี้ยทั้งหลัง ส่วนที่เป็นโถงนี้เรียกว่าห้องกระจก เดิมต้องถือว่าเป็นส่วนที่อยู่นอกบ้านนะครับ เพราะเป็นเหมือนลานหน้าบ้านที่รองรับบันไดที่ทอดลงมาจากห้องนอน ซึ่งต่อมาคุณแม่ได้ทำโครงกระจกล้อมเป็น Glass Box อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ทำให้เกิดเป็นห้องรับแขกและห้องพิธีขึ้นมา 

“ส่วนบริเวณใต้ห้องนอน เมื่อยกสูงขึ้นแล้ว ก็กลายมาเป็นห้องกลาง เป็นพื้นที่ที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อีกมากมาย การเอาบ้านเก่ามาทำใหม่ยากกว่าการสร้างบ้านใหม่ไปเลย นี่คือการแก้ปัญหาเรื่องความเตี้ยของบ้าน พร้อมทั้งปรับพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ใช้สอย อันนี้ผมว่าเจ๋ง” คุณแจ๊คเสริม

ส่องสถาปัตยกรรม

หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์ ผู้ซึ่งเป็นทั้งสถาปนิกและเป็นผู้ดูแลเรือนประเสบัน ก่อนจะกลายมาเป็นเรือนหอของคุณแจ๊คในภายหลัง ได้ร่วมอธิบายความน่าสนใจของเรือนประเสบันให้ผมฟังว่า

“เรือนประเสบันมีความสำคัญในแง่ที่ว่าเป็น ‘บ้าน’ ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ เราอาจคุ้นเคยกับผลงานออกแบบฝีพระหัตถ์ที่เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ของชาติ อาทิ วัดเบญจมบพิตรฯ พระที่นั่งวิมานเมฆ ฯลฯ แต่นี่เป็นการออกแบบบ้าน ซึ่งท่านทรงออกแบบบ้านเพียงไม่กี่หลังเท่านั้น

“ประเสบันเป็นเรือนไม้ทรงฝรั่งที่แตกต่างจากเรือนไทยในสมัยนั้น เพราะปราศจากชานหรือระเบียงล้อมเรือน เป็นสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย งดงาม และลงตัว โดยคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก เรือนหลังเล็กนั้นเหมาะกับท่านชายเจริญใจ ซึ่งท่านเพิ่งทรงมีครอบครัวเล็กๆ และต้องเสด็จออกจากพระนครไปทรงงานในพื้นที่หัวเมืองห่างไกลเป็นส่วนมาก จึงไม่ได้ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ เรือนหลังเล็กนั้นดูแลง่าย มีเพียงห้องบรรทม 1 ห้องและพื้นที่อเนกประสงค์ ซึ่งไม่ใช่ห้องนั่งเล่น แต่ทรงออกแบบให้เป็นโถง เพื่อเป็นพื้นที่ไว้ทำอะไรต่อมิอะไร”

เรือนประเสบันมีอายุใกล้ 100 ปี ในความเรียบง่ายนั้นมี ‘ลูกเล่น’ ที่น่าสนใจรอให้เราได้สังเกตอยู่ หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์ก็ได้กรุณานำชมพร้อมกับเลเซอร์ พอยเตอร์ เพื่อให้ผมสังเกตเห็นได้โดยไม่พลาด

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
ป้ายชื่อเรือน ‘ประเสบัน’ ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงตั้งชื่อเรือนประทานและทรงออกแบบตัวอักษร

“อย่างแรกเลยคือ ตัวอักษรคำว่าประเสบันที่ปรากฏบนป้าย เป็นตัวอักษรที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ ชื่อประเสบันก็เป็นชื่อประทานมาจากพระองค์ท่าน สิ่งที่ควรสังเกตตามมาคือตัวเรือนเป็นเรือนไม้ที่มีฝาเรือนเป็นผนังตีทับแนวตั้ง เพราะช่วยระบายน้ำฝนได้เร็ว และเส้นแนวตั้งช่วยนำสายตาให้รู้สึกว่าบ้านสูงโปร่งยิ่งขึ้น บนผนังยังตีไม้ทับแนว มีการเซาะร่องเพื่อยึดให้มันคง ทั้งนี้เพื่อความแข็งแรงของผนังบ้าน และป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลซึมเข้าบ้านด้วย ไม้ทับแนวเซาะร่องแบบนี้ถือว่าเป็นงานละเอียด

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย

“ทั้งประตูและหน้าต่างเป็นบานลูกฟักแผ่นใหญ่แผ่นเดียว เซาะเป็นลายสวยงาม หน้าต่างบางบานทำเป็นหน้าต่างครึ่งบาน คือในบานเดียวกันมีด้านบนและด้านล่างที่แยกกันเปิดและปิดได้

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย

“ลองสังเกตคาน จะมีไม้ค้ำยันทรงสามเหลี่ยมออกแบบอย่างเรียบง่ายสวยงาม เสาไม้รับน้ำหนักจากคานสู่พื้น ที่โคนเสามีไม้ประกับ เพื่อเสริมความแข็งแรงและเพื่อความสวยงามด้วย

“ส่วนหลังคานั้นมีจั่วยื่นปีกนก บนยอดจั่วประประดับลายอุบะ ซึ่งอุบะลายนี้เหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย”

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย

คุณโต้งได้อธิบายเสริมว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงออกแบบโบสถ์ที่วัดศรีมหาราชา ตำบลศรีราชา ตามคำกราบทูลขอของ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจ้าเมืองชลบุรี ผู้มีศรัทธาจะสร้างโบสถ์หลังนี้ขึ้นใน พ.ศ. 2473 ในครั้งนั้นทรงออกแบบรูปอุบะประดับที่ยอดจั่วที่หน้าบันของโบสถ์ และทรงนำลายเดียวกันนี้มาประดับไว้ที่เรือนประเสบันด้วย น่าเสียดายที่ทางวัดเห็นว่าโบสถ์หลังนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว จึงรื้อโบสถ์เก่าลงแล้วสร้างขึ้นใหม่แทนในเมื่อ พ.ศ. 2509 ลายอุบะฝีพระหัตถ์ทรงออกแบบที่วัดศรีมหาราชาจึงโดนทำลายทิ้งไปด้วย และเหลือปรากฏอยู่เพียงที่เรือนประเสบันเท่านั้น

“พอท่านพ่อท่านแม่ประทานเรือนประเสบันมาให้ครอบครัวคุณชายจักรรถดูแล ก่อนที่จะมาเป็นเรือนหอของแจ๊ค ในช่วงนั้นครอบครัวเราก็ตัดสินใจทำเป็นบ้านเช่า ผู้เช่าส่วนมากเป็นชาวต่างชาติที่ชื่นชอบงานศิลปะ หลายคนเป็นผู้บริหารธนาคารหรือบริษัทนานาชาติ เป็นนักสะสมศิลปวัตถุ เราโชคดีที่ผู้เช่าทุกคนเป็นนักอนุรักษ์ที่ชื่นชอบสถาปัตยกรรมยุคก่อนๆ หลายคนนำของเก่ามาตกแต่งเพิ่มเติมให้เรือนประเสบันสวยงาม และทุกคนล้วนช่วยกันดูแลรักษาเรือนประเสบันเป็นอย่างดี”

ในช่วงที่เรือนประเสบันเป็นบ้านเช่าอยู่นั้น ผู้เช่าบางรายเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคน จึงต้องการให้หาทางขยายเรือนประเสบันให้กว้างขึ้น

“ในตอนนั้นคุณชายจักรรถตัดสินใจอนุรักษ์เรือนประเสบันไว้ตามเดิม ไม่ได้ขยายหรือทำอะไรใหม่ทั้งสิ้น จึงยังคงสภาพเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ แต่คุณชายมาสร้างเรือนเพิ่มขึ้นอีกด้านที่อยู่ถัดไป โดยพยายามนำรายละเอียดอันเป็นเอกลักษณ์ของเรือนประเสบันต้นฉบับมาใช้ในเรือนที่สร้างขึ้นใหม่ด้วย เช่น มีการสร้างบันไดเลียนแบบบันไดต้นฉบับในโถงห้องกระจก หรือการนำไม้ค้ำยันทรงสามเหลี่ยมมาใช้กับเสา เป็นต้น” หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์อธิบาย 

คุณแจ๊คช่วยเล่าเสริมว่า “แรกๆ คุณพ่อก็ออกแบบให้มีการเชื่อมตัวเรือนเดิมกับเรือนใหม่ ด้วยทางเดินที่มีเพียงเฉพาะด้านบนเท่านั้น ต่อมาพอผมมาอยู่ที่นี่ ผมเลยเพิ่มทางเชื่อมชั้นล่างด้วย โดยใช้วิธี Glass Box เช่นเดียวกับที่คุณแม่เคยใช้ในการปรับพื้นที่โถงให้กลายเป็นห้องกระจก”

“แล้วช่วงหนึ่งก็ทำร้านเสื้อ ตอนแรกไม่ได้ตั้งอยู่ที่เรือนประเสบัน แต่อยู่ที่เรือนไม้อีกเรือนหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในบริเวณบ้านปลายเนินเช่นกัน ต่อมามีคนทำงานเยอะขึ้น ลูกค้าก็มีมากขึ้น พอดีกับที่ผู้เช่ารายหนึ่งหมดสัญญาลง เลยย้ายมาทำร้านเสื้อที่เรือนประเสบัน และใช้ชื่อแบรนด์ว่าประเสบันด้วยเช่นกัน ดิฉันเป็นคนชอบทำเสื้อราตรียาว ปักลายสวยๆ ตอนนั้นมีลูกค้าประจำอยู่จำนวนมาก แล้วลูกค้าซึ่งส่วนมากเป็นญาติพี่น้องกันก็ชอบแวะมาหา บอกว่าร้านสวย ใครๆ มาก็ชอบที่นี่” หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์รำลึกถึงความหลัง

“คุณแม่ทำร้านประเสบันอยู่หลายปีก่อนตัดสินใจเลิก จากนั้นก็มีผู้เช่าอีกจำนวนหนึ่ง จนมาถึงยุคที่ผมเรียนจบกลับมาจากเมืองนอกและแต่งงานเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผู้ใหญ่ก็ตัดสินใจให้ผมมาอยู่ที่เรือนประเสบัน และเป็นผู้ดูแลที่นี่”

เรือนประเสบันยังมีสถาปัตยกรรมอันงดงามซ่อนอยู่ภายในตัวเรือนอีกมากมาย คราวนี้คุณแม่ก็ส่งไม้ต่อให้คุณแจ๊คนำผมไปชมภายในเรือน

ห้องกระจก

“สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ท่านไม่ได้ทรงออกแบบให้เรือนประเสบันมีห้องรับแขก แต่ทรงออกแบบให้มีโถงบนที่โล่งหน้าเรือน เพื่อให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ซึ่งก็คือบริเวณนี้ที่เปรียบเสมือนลานหน้าบ้านนั่นเอง เมื่อย้ายเรือนประเสบันมาตรงนี้แล้วจึงกรุกระจกครอบทั้งหมด เพื่อจะได้ใช้พื้นที่เป็นห้องสังสรรค์ ห้องรับแขก และห้องพิธีได้ ที่สำคัญคือ เวลาแขกมาก็สามารถเข้ามาที่ห้องนี้ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านบริเวณที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัว” คุณแจ๊คชวนผมชมส่วนที่เคยอยู่นอกบ้าน แต่วันนี้กลายเป็นส่วนที่มาอยู่ในบ้านไปเรียบร้อยแล้ว

ประเสบัน เรือนไม้ทรงฝรั่งในวังปลายเนินที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ สร้างให้ลูกชาย
บริเวณที่เคยเป็นโถงหน้าเรือน ปัจจุบันคือห้องกระจก ในภาพคือพิธีทำขวัญเดือน ด.ช.รถจักร จิตรพงศ์ ณ อยุธยา บุตรชายคุณแจ๊ค เมื่อ พ.ศ. 2554 จะสังเกตได้ว่าบริเวณที่เคยเป็นพื้นที่นอกบ้านในอดีต กลายมาเป็นพื้นที่ภายในบ้านแล้วในปัจจุบันเมื่อสร้าง Glass Box คลุมพื้นที่

“ห้องนี้คือห้องที่ใช้สำหรับทำพิธีสำคัญอย่างพิธีทำขวัญเดือน นอกจากมะพร้าวเงินและทองแล้ว ในพิธีจะมีเปลไม้โบราณมาตั้งกลางบ้าน เป็นเปลที่มีอยู่คู่กับบ้านปลายเนินมานานแล้วครับ เด็กจะนอนอยู่ในเปลไม้ ญาติผู้ให้ที่มาร่วมงานจะนำหนังสือและอุปกรณ์ด้านศิลปะแขนงต่างๆ มาใส่ไว้ในเปล เพื่ออวยพรให้เด็กคนนั้นโตขึ้นมาเป็นศิลปิน 

“ตอนพิธีทำขวัญเดือนของผมนั้น ประเสบันเป็นบ้านเช่าและมีผู้เช่าอาศัยอยู่พอดี จึงไม่ได้จัดพิธีที่นี่ เพียงแต่นำมะพร้าวมาปลูกไว้หน้าบ้าน นี่คือรูปตอนพิธีทำขวัญเดือนของรถจักร ลูกชายผม ซึ่งจัดขึ้นที่นี่ ไม่เพียงแต่พิธีทำขวัญเดือน พิธีแต่งงานของผมกับภรรยาก็จัดขึ้นที่นี่ด้วยเช่นกัน”

คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ภาพโถงหน้าเรือนประเสบันในอดีต เมื่อยังเป็นพื้นที่ภายนอกบ้าน เด็กหญิงในภาพคือหม่อมหลวงศิริพัสตร์ ไชยันต์ พี่สาวคุณโต้ง

สิ่งที่อื่นๆ ที่คุณแจ๊คชี้ชวนให้ชมก็คือลูกกรงบันได 

“ลูกกรงบนบันไดเป็นลูกกรงไม้เก่าดั้งเดิมที่อยู่คู่กับเรือนประเสบันมาแต่แรก ผมเคยไปโรงไม้เก่าหลังบ้านปลายเนิน แล้วเจอลูกกรงลักษณะเดียวกันเต็มไปหมด สอบถามได้ความว่าเป็นลูกกรงที่รื้อจากอาคารเก่าๆ ในบ้านปลายเนินที่มีการซ่อมบำรุง ผมเริ่มได้ข้อสรุปว่า ลูกกรงแบบนี้น่าจะเป็นลูกกรงที่ใช้กันในเรือนต่างๆ มาตั้งแต่ยุคแรก คล้ายๆ กับแผ่นซีเมนต์ลายก้างปลานั่นเอง และตอนที่คุณพ่อสร้างส่วนใหม่ขึ้นอีกด้าน คุณพ่อก็จำลองลักษณะราวบันไดนี้ไปใช้ตกแต่งส่วนนั้นด้วย เป็นการล้อกันกับส่วนเดิม”

บริเวณส่วนขยายของเรือนประเสบันที่หม่อมราชวงศ์จักรรรถออกแบบนั้น เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่สงวนไว้ให้สำหรับสมาชิกครอบครัวเท่านั้น แต่ในเมื่อผมอยากเห็นบันไดที่หม่อมราชวงศ์จักรรถผู้เป็น ‘หลาน’ ออกแบบตามดีไซน์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ผู้ทรงเป็น ‘ปู่’ คุณแจ๊คเลยนำภาพมาให้ชม

บันไดที่ส่วนขยาย ออกแบบโดยหม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ โดยถอดแบบมาจากเรือนเดิมอีกด้าน และภาพหม่อมราชวงศ์จักรรถเมื่อเป็นสถาปนิก
บันไดที่ส่วนขยาย ออกแบบโดยหม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ โดยถอดแบบมาจากเรือนเดิมอีกด้าน และภาพหม่อมราชวงศ์จักรรถเมื่อเป็นสถาปนิก

“ภาพนี้เป็นภาพงานที่จัดขึ้นในวันที่ผมเดินทางกลับมาหลังเรียนจบจากต่างประเทศ เป็น Welcome Home Party ที่จัดขึ้นที่นี่ มีญาติๆ และแขกคนสนิทมาร่วมงานกันมากมาย ตอนนั้นเราใช้พื้นที่ห้องกระจกเป็นที่สังสรรค์ และใช้พื้นที่ส่วนขยายของเรือนประเสบันให้เป็นที่ถ่ายภาพหมู่กันครับ และนี่เป็นครั้งเดียวที่แขกเข้ามาในบริเวณนี้ กระไดที่เห็นในภาพคือกระไดที่คุณพ่อออกแบบเมื่อสร้างส่วนขยายของเรือนประเสบัน อีกภาพคือภาพคุณพ่อสมัยเรียนจบและทำงานเป็นสถาปนิกครับ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ออกแบบส่วนขยายส่วนนี้” ผมเลยได้ชมทั้งภาพบันได และภาพผู้ออกแบบบันไดสมัยยังเป็นสถาปนิกหนุ่มสุดคูลไปพร้อมๆ กัน

ปัจจุบันเป็นห้องกระจก พื้นที่ของน้องไอน้ำ ลูกสาวของคุณแจ๊ค ในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์ วาดรูป เล่นของเล่น ฯลฯ 

“ผมแบ่งห้องกระจกนี้ให้เป็นพื้นที่ของลูกสาว เขาจะเล่นอะไร วางของเล่นต่างๆ นานาอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เป็นห้องจัดปาร์ตี้ให้ลูก ฯลฯ อะไรที่เป็นโลกส่วนตัวของเขา ดังนั้นอาจรกหน่อยนะคร้าบ ฮ่าๆๆ”

ห้องนอน

คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
โครงไม้บนฝ้าเพดานในห้องนอน

  เราเดินขึ้นบันไดไม้ไปยังชั้นบน เพื่อแวะชมห้องนอนซึ่งเคยเป็นห้องบรรทมของท่านชายเจริญใจ สิ่งที่สะดุดตาผมมากที่สุด ก็คือโครงไม้บนฝ้าเพดานที่สวยงามและโดดเด่น ก่อนหน้านี้หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์ได้แอบบอกใบ้ผมนิดหนึ่งแล้วว่า “อย่าพลาดชมฝ้าเพดานเลยนะ เพราะฝ้าเพดานในห้องนอนมีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ ดูแล้วไม่ขัดตา กลมกลืนกันไปหมด เป็นความสมบูรณ์ในการออกแบบ เหลี่ยมมุมไม้ จังหวะการจัดวางองค์ประกอบ ล้วนเข้ากันและลงตัว” ซึ่งผมเห็นด้วยกับคำกล่าวของคุณหญิงทุกประการ

คุยกับทายาทบ้านปลายเนินที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
มุมนั่งเล่นในเรือนนอน
น้องไอน้ำ-ด.ญ.นิธฐา จิตรพงศ์ ณ อยุธยา บุตรสาวคุณแจ๊ค กับมุมเก็บเสื้อผ้าในเรือนนอน สังเกตโครงไม้บนฝ้าเพดาน
น้องไอน้ำ-ด.ญ.นิธฐา จิตรพงศ์ ณ อยุธยา บุตรสาวคุณแจ๊ค กับมุมเก็บเสื้อผ้าในเรือนนอน สังเกตโครงไม้บนฝ้าเพดาน 

ส่วนเชื่อม (Transition)

“เวลาผมบอกพี่ว่า เมื่อเรือนประเสบันเดิมล้อมกระจกเพื่อปรับสภาพพื้นที่ตอนที่ย้ายมาใหม่ๆ นั้น ทำให้กลายเป็นบ้านในบ้าน ภาพตรงมุมนี้อธิบายได้ดีที่สุด เราจะเห็นหน้าต่างของเรือน ซึ่งเมื่อก่อนเปิดออกมาจะเป็นนอกบ้าน แต่ตอนนี้เข้ามาอยู่ในบ้านแล้ว โดยมีประตูกระจกล้อมอีกที หรือชานเรือนที่เคยอยู่นอกบ้านก็มาอยู่ในบ้านไปแล้ว 

“ผมชอบมุมนี้มาก เป็นส่วนเชื่อมของเรือนดั้งเดิมกับเรือนใหม่ เห็นทั้งอดีตและปัจจุบัน บรรยากาศของเรือนใหม่ก็ปรับให้คล้อยตามกับผู้อาศัยอยู่ในปัจจุบันอย่างผม เห็นมุมกาแฟ เพราะผมชอบศึกษาเรื่องกาแฟ ฯลฯ บริเวณนี้ให้ความรู้สึกของการเชื่อมต่อกันของอดีตกับปัจจุบัน เราสามารถเลือกได้ว่าจะไปมิติเวลาไหน”

คุยกับทายาทบ้านปลายเนินที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ห้องกลาง

คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ห้องกลางคือพื้นที่กิจกรรม

“พื้นที่ใต้ห้องนอนที่ได้จากการยกเรือนประเสบันให้สูงขึ้นตรงนี้ ผมเรียกว่าห้องกลางครับ เดิมเป็นห้องทานข้าวที่มีโต๊ะตัวยาวตั้งอยู่ แต่ผมขอคืนโต๊ะตัวนั้นไป เพื่อจะได้มีพื้นที่ที่ผมสามารถทำอะไรได้มากขึ้น ห้องนี้จะเห็นว่ามีกิจกรรมหลักๆ คือเล่นดนตรีไทย ซึ่งผมถือว่าดนตรีไทยเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับบ้านปลายเนินมาโดยตลอด และเป็นโซนที่ผมว่าสนุกและเถิดเทิงมาก (หัวเราะ) พอตกเย็นผมก็จะซ้อมดนตรีไทยกับลูก คุณพ่อก็จะเดินมาแจมด้วย เป็นวงดนตรี 3 Gen คือปู่ พ่อ และหลาน ร่วมเล่นด้วยกัน และมีครูดนตรีท่านอื่นๆ มาร่วมด้วย” คุณแจ๊คเอ่ยพร้อมรอยยิ้ม

คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
วงปี่พาทย์ 3 Gen มีคุณปู่ คุณพ่อ และคุณหลาน

ความจริงแล้วบ้านปลายเนินมีต้นกำเนิดมาจากดนตรีไทยและการละคร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ร่วมกันคิดค้นการแสดงรูปแบบใหม่ที่สะท้อนความเป็นไทยแต่มีความร่วมสมัย เพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะ ซึ่งมักจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์จากยุโรปที่เสด็จมาเจริญพระราชไมตรีกับสยาม 

ในครั้งนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงร่วมกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ คิดค้นการรำละครรูปแบบใหม่ที่มีทั้งบทรำ บทร้อง และบทเจรจา เพื่อดำเนินเรื่องให้กระชับขึ้น โดยผู้รำจะต้องเป็นผู้ร้องและเจรจาด้วยตนเอง เป็นการถอดแบบมาจากการแสดงโอเปร่าในยุโรป มีการสร้างฉากที่งดงามน่าตื่นตา เพื่อสร้างอรรถรสในการชม ต่างจากละครในราชสำนักสมัยก่อนที่มักจะมีเพียงตั่ง ปราศจากฉากใดๆ โดยผู้ชมจะต้องใช้จินตนาการเอาเอง

การแสดงละครรูปแบบใหม่นี้เกิดขึ้นที่โรงละครวังบ้านหม้อ เรียกขานกันว่าโรงละครดึกดำบรรพ์ ดังนั้นละครที่ทรงคิดค้นขึ้นมาใหม่นี้จึงมีชื่อเรียกว่า ‘ละครดึกดำบรรพ์’ เช่นเดียวกัน ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงปรับบทโขนละครไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รามเกียรติ์ อิเหนา สังข์ทอง พระลอ สังข์ศิลป์ชัย ฯลฯ ให้เป็นบทละครดึกดำบรรพ์ด้วย

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อไม่ต้องรับหน้าที่จัดละครดึกดำบรรพ์แล้ว เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์จึงชักชวนสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มาซื้อที่ดินเพื่อปลูก ‘บ้านตากอากาศ’ อยู่ใกล้ๆ กันที่ตำบลคลองเตย ซึ่งยังอยู่ห่างไกลและเป็นท้องนาอยู่ บ้านตากอากาศหลังนั้นก็คือบ้านปลายเนินในปัจจุบัน

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ประทับยืน) ฉายพระรูปกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ที่หน้าฉากละครดึกดำบรรพ์
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ประทับยืน) ฉายพระรูปกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ที่หน้าฉากละครดึกดำบรรพ์

“รูปที่เห็นนี้เป็นรูปที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฉายพระรูปกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ที่หน้าฉากละครดึกดำบรรพ์ ดนตรีไทยของบ้านปลายเนินมาจากวังบ้านหม้อ เป็นวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งเกิดจากการปรับวงปี่พาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบละครให้มีเสียงนุ่มไพเราะ เพื่อให้เหมาะสมกับการบรรเลงควบคู่ไปกับการขับร้องของผู้รำด้วย ทั้งนี้จะใช้ไม้นวมบรรเลงเครื่องดนตรีแทนไม้แข็ง พระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) เป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ของวังบ้านหม้อ และเป็นผู้ถวายคำแนะนำในการนิพนธ์เพลงแด่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วย ผมดีใจที่ได้รักษาดนตรีไทยให้คงอยู่ต่อไป ในเมื่อเราตั้งใจอนุรักษ์เรือนประเสบันให้อยู่คู่กับบ้านปลายเนินอยู่แล้ว เราก็ควรอนุรักษ์ทางดนตรีไทยของบ้านปลายเนินไว้ด้วยเช่นกัน” คุณแจ๊คกล่าว

นอกจากดนตรีไทยแล้ว ห้องกลางยังเป็นพื้นที่ที่คุณแจ๊คจัดสรรไว้สำหรับกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

“ในเมื่อลูกสาวยึดห้องกระจกไปแล้ว ห้องกลางเลยเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ของผม ก็จะมีมุมทำงาน มุมถ่ายภาพ ผมต้องใช้ไฟและอุปกรณ์ต่างๆ จัดแสงและสินค้าซึ่งเป็นงานของผม มีมุมทานข้าวของครอบครัว ซึ่งก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนเป็นมุมสังสรรค์ได้เวลามีก๊วนเพื่อนๆ มาเยี่ยม และมีส่วนเอาต์ดอร์ที่ผมเก็บพื้นที่ไว้สำหรับกิจกรรมอย่างทำสวน เพาะต้นไม้ ย่างเนื้อ เวลามีเพื่อนๆ มาร่วมปาร์ตี้ ก็ทานข้าวกันตรงนี้ แล้วก็ออกมาย่างเนื้อกันข้างนอกได้ แล้วก็ใช้เต็นท์ทำให้ได้บรรยากาศแบบแคมปิ้งสนุกๆ มีโต๊ะแบบโต๊ะช่างไม้ใหญ่ๆ ตั้งไว้สำหรับทำอะไรได้หลายอย่าง”

คุณประโยชน์ของการยกเรือนประเสบันเดิมให้สูงขึ้นในวันนั้น ก่อให้เกิดพื้นที่ใช้สอยที่เป็นประโยชน์มากมายในวันนี้

คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เรื่องราวหลากหลายที่สะท้อนออกมาจากสิ่งของสะสมที่จัดวางบนชั้นในห้องกลาง

หน้าเรือน

“บริเวณนี้ผมเรียกว่าสวนตะโก เนื่องจากว่าผมชอบไปเดินเที่ยววัดหรือวัง อย่างวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง หรือไม่ว่าวัดไหนๆ ผมจะสังเกตเห็นว่ามีต้นตะโกดัด ใช้ประดับตกแต่งสถานที่ไว้อย่างสวยงาม ผมก็เลยเกิดความคิดว่า เรือนประเสบันก็ควรจะมีอะไรประดับอยู่หน้าบ้านให้สวยงามด้วย ผมเลยเลือกตะโกดัดสวยๆ มาประดับอยู่หน้าบ้านบ้าง โดยผมปลูก บำรุง และตัดแต่งเอง มีส่วนที่ใช้อนุบาลต้นเล็กๆ ให้แข็งแรงก่อนนำประดับที่หน้าบ้าน” คุณแจ๊คชวนผมมมาชมสวนตะโกดัดหน้าเรือนพร้อมเล่าถึงที่มา

คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์ ที่สวนตะโกหน้าเรือนประเสบัน

“ผมหวังว่าอีกหน่อยเวลามีงานจัดขึ้นที่บ้านปลายเนิน อย่างงานวันนริศ หรืองานอะไรก็ตาม เราก็สามารถยกตะโกดัดจากตรงนี้ไปใช้ประดับตกแต่งบริเวณงานได้ ตะโกเป็นไม้ประดับที่คนไทยโบราณชอบ แม้แต่ที่ตำหนักไทย ท่านก็ทรงปลูกต้นตะโกไว้ หากไปดูภาพถ่ายเดิมๆ ก็จะเห็นต้นตะโกเช่นกัน การเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม ช่วยนำภาพในอดีตของสถานที่ให้กลับมาสู่ยุคปัจจุบันได้เช่นกัน” 

วันนี้สวนตะโกของคุณแจ๊คมีต้นไม้แตกต่างกันไปหลายสายพันธุ์ หลายต้น และหลายขนาด ทำหน้าที่คอยประดับเรือนประเสบันให้งดงาม และพร้อมจะนำไปประดับส่วนอื่นๆ ของบ้านปลายเนินเมื่อถึงวาระสำคัญ

คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สวนตะโกหน้าเรือนประเสบัน

เรือนประเสบันในวันนี้และวันหน้า

คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เรือนประเสบันส่วนขยาย

หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์และคุณโต้งร่วมกันสรุปถึงคุณค่าของเรือนประเสบันไว้ว่า

“เรือนประเสบันสะท้อนพระคุณลักษณะของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ดี ท่านเป็นผู้ที่ทรงวางพระองค์เรียบง่าย มัธยัสถ์ เลยทรงออกแบบอะไรให้เรียบง่าย งดงาม และครบประโยชน์ใช้สอย เรือนประเสบันจึงได้สัดส่วนที่ลงตัว และมีลูกเล่นที่เป็นรายละเอียดซ่อนไว้”

เรือนประเสบันเป็นความทรงจำของสมาชิกบ้านปลายเนินหลายต่อหลายคน ไม่ว่าคุณโต้งที่ได้เคยอาศัยและเติบโตมาในบ้านหลังนี้

“พี่เองนั้น แม้จะมีภาพจำที่ไม่ได้แจ่มชัดมาก เพราะยังเล็กอยู่ แต่ก็ผูกพันและยังพอนึกออกถึงช่วงตอนเด็กๆ ที่นั่งเล่นอยู่ตรงลานหน้าบ้านได้ เรือนประเสบันเป็นสถาปัตยกรรมที่อยู่คู่บ้านปลายเนิน และควรจะต้องดูแลให้คงอยู่ตลอดไป” คุณโต้งกล่าว

“คุณชายจักรรถก็จะเล่าเสมอว่า เรือนประเสบันนั้นตั้งอยู่ริมตะวันออกสุดของบ้านปลายเนิน ใกล้รั้วที่จะปีนข้ามไปบ้านที่อยู่ติดๆ กันได้ เลยกลายเป็นทางหนีออกไปดูโทรทัศน์ของคุณชายจักรรถ เพราะท่านพ่อกับท่านแม่ไม่โปรดให้ซื้อโทรทัศน์ไว้ในบ้าน กลัวลูกจะดูแต่รายการต่างๆ จนไม่ทำการบ้าน คุณชายจักรรถก็จะแอบย่องมาที่เรือนประเสบันแล้วมุดรั้วออกไปที่บ้านข้างๆ เพื่อไปดูโทรทัศน์ที่บ้านเพื่อนแทน (หัวเราะ) อันนี้ก็เป็นเกร็ดความทรงจำของคุณชายต่อสถานที่แห่งนี้ในวัยเยาว์ แต่ในวันนี้ เรือนประเสบันคือบ้านของแจ๊คแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของแจ๊คที่จะช่วยดูแลต่อไป” หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์เอ่ย 

“เรือนประเสบันในวันนี้คือบ้านของครอบครัว ครอบครัวที่มีสมาชิกสี่คน มีลูกชายลูกสาวที่ยังอยู่ในวัยซน ลูกจะใช้พื้นที่ยังไงก็เป็นความสุขของเขา ผมปล่อยให้ลูกวางของเล่นได้อย่างสบายใจ บางคนนี่ไม่ได้เลยนะ ต้องตามเก็บตามจัดให้เป็นระเบียบ บ้านจะได้สวย ต้องเนี้ยบ ต้องกริบ แต่ผมปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บ้านที่มีเด็กเล็กๆ ก็ต้องมีของเล่นวางระเกะระกะบ้างเป็นธรรมดา มันสะท้อนความมีชีวิตชีวา และถือว่าเป็นเรือนประเสบันที่ก้าวข้ามมาสู่อีกยุคหนึ่งในวันนี้” 

คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
 Living Heritage
คุยกับทายาท วังปลายเนิน ที่ใช้ชีวิตและเก็บรักษา Living Heritage ที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
บรรยากาศนอกชานเรือนประเสบันในปัจจุบัน

แล้วในอนาคตล่ะ คุณแจ๊คมองภาพเรือนประเสบันไว้อย่างไร

“ตอนนี้ผมพยายามดูแลให้บ้านอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมคิดว่าเมื่อลูกๆ โตแล้ว ผมจะจัดบ้านให้กลับมาเป็นเหมือนวันแรกที่ผมมีโอกาสย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ตอนนั้นเป็นบ้านที่สวยมากๆ และผมจะเลือกนำเครื่องเรือนดั้งเดิมทุกชิ้นมาจัดวางให้เข้ากับตัวเรือนด้วยตัวเอง เพื่อให้ประเสบันยังคงงดงามต่อไป”

วันนี้ดนตรีไทยที่คุณปู่ คุณพ่อ และหลานร่วมกันบรรเลงยังคงส่งเสียงนุ่มนวลไพเราะ เสียงหัวเราะของเด็กๆ ผู้เป็นสมาชิกตัวน้อยๆ แห่งบ้านปลายเนินช่วยเพิ่มความสดใส มีชีวิตชีวา ต้นตะโกดัดยังทำหน้าที่ตกแต่งบริเวณหน้าเรือนให้งดงาม ต้นมะพร้าวที่ผ่านพิธีทำขวัญเดือนยังหยั่งรากลึก และเติบโตอย่างแข็งแรงมั่นคงอยู่หน้าบ้านหลังนี้ บ้านเพียงไม่กี่หลังที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์

หม่อมราชวงศ์พิศพัฒน์ จิตรพงศ์

หม่อมหลวงอนุวาต ไชยันต์

หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์

ข้อมูลอ้างอิง

ก้าวสู่ควอร์เตอร์สุดท้ายแห่งชีวิต โดย หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์

ช่างภาพสมัคร (ใจ) เล่น